ประวัติและปฏิปทา
พระราชสุทธาจารย์ (หลวงปู่พรหมา โชติโก)
วัดศรีเทพประดิษฐาราม
อ.เมือง จ.นครพนม
พระราชสุทธาจารย์ (หลวงปู่พรหมา โชติโก) มีนามเดิมว่า พรหมมา นามสกุล มิฆวาฬ เกิดวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๐ ตรงกับวันอังคาร แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะแม เวลาเกิดประมาณ ๐๗.๓๐ น. ที่บ้านหนองหอยทุ่ง ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โยมบิดาชื่อ นายสา โยมมารดาชื่อ นางคำดี
ชีวิตในวัยเยาว์ ด้วยครอบครัวเป็นโยมอุปัฏฐากวัด จึงคลุกคลีผูกพันอยู่กับวัด เรียนหนังสือกับน้าชาย สอนให้อ่านหนังสือไทยน้อย หรือหนังสือลาว จากวรรณคดีอีสาน
บรรพชาอุปสมบท
เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี เดือน ๘ ก่อนเข้าพรรษาไม่กี่วัน ได้เข้าพิธีบรรพชา เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๖ ที่วัดศิลามงคล บ้านหลักศิลา ตำบลพระกลาง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พระสีหา เป็นพระอุปัชฌาย์
กระทั่งอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๐ ที่อุโบสถวัดโพนแก้ว อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม พระครูสีลสัมบัน (จันทร์ เขมิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูชิโนวาทธำรง (จูม พนฺธุโล) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูมานะชัยมุนี (สิงคำ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
การศึกษา
ภายหลังอุปสมบท ศึกษาพระปริยัติธรรม ที่สำนักเรียนวัดศรีเทพฯ ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ สอบได้นักธรรมชั้นเอก ก่อนย้ายไปเรียนที่วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี
ในปี พ.ศ.๒๔๗๒ ย้ายไปเรียนที่วัดพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม แต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ไม่ได้สอบ จึงกลับมาที่วัดศิลามงคลตามเดิม เพื่อช่วยสร้างโบสถ์จนแล้วเสร็จ พ.ศ.๒๔๗๔ และสอบได้นักธรรมชั้นเอก พ.ศ.๒๔๘๑ สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค จากนั้นสอบเทียบได้ ม.๓ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ.๒๔๘๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะวินัยธรรม เขต ๖ ภาค ๓
พ.ศ.๒๔๙๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ในคณะธรรมยุต
พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอศรีสงคราม (ธ)
พ.ศ.๒๕๐๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครพนม (ธ)
พ.ศ.๒๕๑๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม
การปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นพระอุปัชฌาย์ในคณะธรรมยุต
พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นเจ้าคณะอำเภอศรีสงคราม (ธ)
พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครพนม (ธ)
พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม ธ.
หลวงปู่พรหมา โชติโก ท่านชอบค้นคว้าตำราเรียน ทั้งหนังสือขอม และวิชาความรู้ทางโลกหลายอย่าง อาทิ ช่างโยธา ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง เป็นต้น และเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ที่มีฝีมือชำนาญด้าน ช่างแกะสลักไม้ลวดลายต่างๆ
ผลงานด้านสาธารณูปโภค
ได้สร้างโรงเรียนนักธรรม และ บาลีขึ้น ปัจจุบัน คือ ตึกสารภาณนุสรณ์และยังปรับปรุงเสนาสนะซ่อมแซมโรงเรียนพระปริยัติธรรม ศาลาการเปรียญ และศาลาเทพสิทธาคม ๑-๓ ซ่อมแซมอุโบสถ กุฏิ ซุ้มกำแพงแก้ว กำแพงรอบวัด เมรุ เป็นต้น
ด้านการศึกษา
เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวงชั้นตรีส่วนภูมิภาค (ธ) ร่วมกับคณะสงฆ์ในจังหวัดรางวัลให้แก่นักเรียนที่สอบไล่ได้ทั้งนักธรรม-บาลี
ส่วนงานด้านเผยแผ่
หลวงปู่พรหมา ท่านเป็นผู้ให้การอบรมภิกษุสามเณร อบรมกัมมัฏฐาน อบรมจิตตภาวนาตลอดทั้งปี ซึ่งท่านยังเป็นนักแสดงธรรมที่เทศนาอบรมญาติโยม ชุมชน ครอบครัว และเยาวชน ให้เห็นโทษภัยของยาเสพติด
อีกทั้ง ยังสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตามลำดับ หลังจากขยายการศึกษาพระปริยัติธรรมไปในสำนักเรียนตามวัดในอำเภอต่างๆ
ในช่วงชีวิตแม้ท่านไม่เคยเจ็บป่วยด้วยโรคภัยร้ายแรง แต่ด้วยสังขารที่ร่วงโรยตามวัย ต่อมาท่านได้อาพาธนานกว่า ๑ เดือน
มรณกาล
พระราชสุทธาจารย์ (หลวงปู่พรหมา โชติโก) มรณภาพอย่างสงบเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๕ ภายในกุฏิตึกสารภาณนุสรณ์ สิริรวมอายุได้ ๙๕ ปี พรรษา ๗๕