วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

พระครูพิศาลศีลคุณ (หลวงปู่บุญสิงห์ สีหนาโท) วัดศรีธรรมาราม อ.เมือง จ.ยโสธร

ประวัติและปฏิปทา
พระครูพิศาลศีลคุณ (หลวงปู่บุญสิงห์ สีหนาโท)

วัดศรีธรรมาราม
อ.เมือง จ.ยโสธร

พระครูพิศาลศีลคุณ (หลวงปู่บุญสิงห์ สีหนาโท)
วัดศรีธรรมาราม อ.เมือง จ.ยโสธร

หลวงปู่บุญสิงห์ สีหนาโท ท่านเกิดที่บ้านเหล่าเมย ต.ทรายมูล อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบัน จังหวัดยโสธร) เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๘

บิดาชื่อ นายพิมพ์ และมารดาชื่อ นางบัน มูลสาร มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๘ คนคือ
๑. นายโต
๒. นายโด
๓. บุญสิงห์ มูลสาร (พระครูพิศาลศีลคุณ, หลวงปู่บุญสิงห์ สีหนาโท)
๔. นางสี
๕. นางมี
๖. นางทองมาก
๗. นายนาค มูลสาร
๘. นายบัวลา มูลสาร

เมื่อเป็นฆราวาส มีความรู้จบ ป.๕ เคยบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ วัดบ้านโคกยาว แล้วมาอยู่กับพระครูสิริสมณวัตร (โฮม โชติสิริ) เจ้าอาวาสวัดสิงห์ท่า ในเมืองยโสธร รวมเป็นเวลา ๓ ปี

หลวงปู่โฮม โชติสิริ รูปนี้ตามประวัติเท่าที่มีข้อมูลว่ากันว่าท่านเรียนวิชาธรรมเก้าโกฎิ จากหลวงปู่สำเด็จลุน จำปาสัก ประเทศลาว พ่อใหญ่ครูประสิทธิ์ ผุดผ่อง เล่าให้ฟังว่าสมัยเป็นเด็ก สังกะลีวัด ได้ไปขโมยมะม่วงในวัด หลวงปู่โฮม ท่านเป็นคนดุ ท่านจะยิงกระสุนใส่ แม้จะบังต้นไม้ยังโดนได้ ซึ่งเรียกวิชายิงกระสุนคด

อยู่ได้เพราะมีอาจารย์ผู้นำดี
เรื่องเล่าสมัยอยู่ด้วย “ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ สีหนาโท” (ท่านเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และเป็นพระอาจารย์รูปแรกของพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร) ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ สีหนาโท องค์นี้บวชที่วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา เป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ท่านเกิดที่บ้านหัวเมย ทุกวันนี้เข้าใจว่าเป็นอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เดิมท่านเป็นครูประชาบาล ต่อมาท่านได้ลาออก

นิสัยของท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ เป็นคนพูดน้อยและไม่เคยดุใครเลย ท่านขยันทำความเพียรมาก ปกติพอฉันจังหันเสร็จท่านมักจะเข้าที่เดินจงกรม ท่านเดินได้ตลอดวัน ไปเลิกเอาเวลาประมาณบ่าย ๔ โมง ซึ่งเป็นเวลาทำกิจวัตรปัดกวาดลานวัด และตักน้ำใช้ น้ำฉัน เป็นต้น

สมัยที่ท่านยังไม่ได้บวชพระ ยังเป็นตาปะขาวอยู่ ได้ฝึกหัดด้านสมาธิภาวนากับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ที่วัดป่าสาลวัน ท่านเคยอดอาหารติดต่อกันเป็นเวลา ๑๔ วันเพื่อทำความเพียรให้จิตสงบ

ในช่วงเวลาที่อดอาหารนั้น ท่านได้ทำข้อวัตร คือ ท่านตักน้ำใส่ตุ่ม ใส่โอ่ง ใส่ไหให้ครูบาอาจารย์ในวัดทุกวัน โดยท่านตั้งใจไว้ว่า ตราบใดที่ยังรู้สึกว่าการหาบน้ำยังหนักอยู่จะไม่ยอมหยุด จะทำอยู่อย่างนั้น เมื่อเต็มหมดโอ่ง ตามตุ่ม ตามไหแล้ว ท่านก็รดน้ำต้นไม้ต่อ ทำจนว่าไม่มีความรู้สึกหนัก หาบน้ำข้างละ ๑ ปีบ ท่านว่าเหมือนเดินไปตัวเปล่าแล้วท่านจึงได้หยุด ท่านเป็นคนที่พูดน้อยแต่ทำจริง (อย่างที่ว่าพูดน้อยแต่ต่อยมาก)

ทั้งนี้หมายความว่า การที่ผู้ประสงค์จะบวชเป็นพระกรรมฐาน สมัยก่อนนั้นครูบาอาจารย์จะทดสอบด้านสมาธิภาวนาให้เป็นที่พอใจ แล้วจึงอนุญาตให้บวชเป็นพระได้ บางราย ๓ ปีก็มี

ในประวัติของ “พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร” เล่าไว้ว่า เมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้มาอยู่ในความดูแลของท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ ได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านว่าการทำความเพียรไม่ให้ถือเอาเวลา ให้ถือเอาความสงบเป็นสำคัญ

ให้ทำความเพียรไปจนกระทั่งจิตสงบลงรวมจึงหยุด หมายความว่า ไม่ว่าจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนา จะเป็นเวลากี่ชั่วโมงก็ตาม ถ้าจิตยังไม่สงบแล้วห้ามเลิก คือ ท่านทำของท่านแบบนั้น ถ้าในกรณีจำเป็น เช่น จะต้องไปบิณฑบาต ฉันจังหัน เมื่อเสร็จกิจแล้วให้เข้าที่ภาวนาต่อจนกว่าจิตจะลงรวมได้จึงจะหยุดพักผ่อน

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเคยเล่าให้ “ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธัมโม” ฟังว่า มีคราวหนึ่งท่านพาเดินทางไปธุระ เดินไปตลอดวัน เวลาพักก็พักในโบสถ์ด้วยกัน ท่านเตือนว่า อย่าเพิ่งนอนเลย ให้ทำจิตให้สงบก่อน ถ้านอนเลยมันจะนอนมาก ถ้าได้พักจิตให้สงบก่อนแล้ว นอนหลับนิดเดียวก็อิ่ม

ท่านเตือนอย่างนั้น แล้วต่างองค์ต่างก็ลงเดินจงกรม พอเหนื่อยก็เข้ามาพัก แต่ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ ท่านยังไม่เข้ามา ท่านยังเดินจงกรมอยู่ นั่งภาวนาไปพอสมควรแล้วก็ล้มนอนลง เวลาตื่นขึ้นมามองเห็นท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ท่านนั่งสมาธิอยู่ เลยไม่ทราบว่าท่านนอนเมื่อไร ท่านทำให้เห็นเป็นตัวอย่างอย่างนั้นเสมอๆ

ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู ได้เคยเล่าให้ฟังครั้งสมัยที่ท่านยังเป็นสามเณรบุญเพ็ง จันใด อยู่ว่า ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ได้ชวนไปภาวนาที่ป่าช้า (ป่าช้าบ้านศรีฐาน) ท่านพาเดินจงกรม

ทีแรกก็คิดในใจว่าจะเดินแข่งกะท่าน ว่าคนแก่จะเดินเก่งขนาดไหน แต่พอเดินไปๆ เจ้าหนุ่มน้อยเหนื่อย สู้ไม่ไหว ก็เลยขึ้นแคร่นอน พอตื่นขึ้นมาก็เห็นท่านยังเดินอยู่ จนจะถึงเวลาปัดกวาด คือ ๔-๕ โมงเย็น ท่านจึงพากลับ ไม่ใช่แต่เฉพาะเดินจงกรม เวลาท่านนั่งภาวนา ท่านก็นั่งได้ทั้งวันอีกแหละ เพราะทำไม่ถอย
ทางเดินจงกรมของท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ มีอยู่ ๓ เส้น แต่ละเส้นเดินจนเป็นร่องลึก ต้องได้ถมกันอยู่บ่อยๆ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองกล่าวว่า ท่านอยู่ได้เพราะมีอาจารย์ผู้นำดี ท่านปฏิบัติดีให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทำให้ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองมีความมานะ พยายามเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนาตามแบบฉบับของพระอาจารย์ของท่าน เวลากลางคืนเมื่อไปจับเส้นถวายท่าน ถ้าวันไหนจิตไม่สงบ ท่านจะพูดธรรมะในด้านอสุภกรรมฐานให้ฟัง ถ้าวันไหนภาวนาดี จิตสงบ ท่านพระอาจารย์จะนิ่ง ไม่พูดอะไร

ที่มาของบทความ: คัดมาจากประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร”
วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

พระครูพิศาลศีลคุณ (หลวงปู่บุญสิงห์ สีหนาโท) ท่านได้มรณภาพลงเมื่อ วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๗