วันศุกร์, 25 ตุลาคม 2567

หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญโญ วัดประชานิยม ต.หนองหลวง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา
พระราชญาณมุนี (หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญโญ)

วัดประชานิยม
ต.หนองหลวง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญโญ วัดป่าประชานิยม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร


หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญโญ ท่านมีนามเดิมว่า “กรณ์ อำมะวงศ์” ท่านถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๑

อุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ณ วัดชัยมงคล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร โดยมี พระอธิการพุฒ ยโสธโร วัดคามวาสี เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบวชเสร็จแล้ว หลวงปู่บุญมี และหมู่คณะได้รับฟังปฐมโอวาทอันประเสริฐของ พระอุปัชฌาย์พุฒ ยโส ซึ่งองค์ท่านได้ให้โอวาทความว่า…

“ภิกษุใดรักษาศีล ศีลย่อมรักษาผู้นั้น ภิกษุใดมีกาย วาจา ใจสํารวมเรียบร้อย ภิกษุนั้นย่อมไม่มีเวรมีภัยแก่ใครๆ ไม่มีใครลงโทษและกฎหมายก็ไม่ลงโทษ นับได้ว่าเป็นนักบวชที่ดี

ภิกษุใดเจริญสมาธิ สมาธิย่อมรักษาผู้นั้น ให้ใจสะอาดผ่องใส เย็นกายเย็นใจเป็นสุขสบาย ใจหายจากรักโกรธหลง

ภิกษุใดอบรมปัญญา ปัญญาย่อมรักษาผู้นั้นให้เป็นคนฉลาดรู้เท่าทันกลมารยาของกิเลส หากเร่ง ความพากเพียรพยายามยิ่งขึ้นย่อมพ้นไปจากทุกข์”

หลังจาก หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญฺโญ อุปสมบทรับฟังโอวาทจากพระอุปัชฌาย์เสร็จแล้ว หลวงปู่พร สุมโน จึงนําคณะพระเณรบวชใหม่ เดินทางกลับมาจําพรรษาอยู่ที่วัดบูรพาราม บ้านโคกสําราญ ต.หนองหลวง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญฺโญ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติอยู่ในคลองพระกรรมฐานสาย ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อย่างเคร่งครัด ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสําเร็จ “นักธรรมชั้นเอก” จากสำนักเรียนวัดศรีสว่างแดนดิน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร พระอาจารย์พร สุมโน ผู้เป็นอาจารย์เห็นความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งของพระกรณ์ จึงเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “บุญมี” ท่านจึงมีมงคลนามใหม่ “พระบุญมี ฐิตปุญฺโญ” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ท่านพระอาจารย์พร สุมโน ท่านให้โอวาทธรรมแก่พระเณรบวชใหม่ ความตอนหนึ่งว่า “ให้ตั้งใจประกอบความพากความเพียร เดินจงกรม สมาธิ ภาวนา รักษาจิตให้สงบให้ได้ ชีวิตของเราวนเวียนเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ติดของเก่า ไปเกิดบนสวรรค์ก็ติดสวรรค์ ไปเกิดเป็นเดรัจฉานก็ติดความเป็นสัตว์เดรัจฉาน มาเกิดเป็นมนุษย์ก็ติดความเป็นมนุษย์ ติดของเก่า ติดกิน ติดนอน ติดสืบพันธ์ แม้ปู่ย่าตายายของเราล้วนแต่ติดของเก่า พระพุทธเจ้า พระปัจเจก พระอรหันต์ เมื่อท่านยังไม่ตรัสรู้ก็ติดเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่มีฝั่งไม่มีแดน ไม่มีต้น ไม่มีปลาย ให้ใช้ตบะความเพียรอย่างยิ่งที่จะถอนของเก่าออก จึงจะพ้นทุกข์”

วัดบูรพาราม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร นําโดยพระอาจารย์พร สุมโน ในพรรษาแรกมีพระภิกษุสามเณรร่วมจําพรรษาทั้งหมด ๙ รูป ได้แก่ พระภิกษุ ๕ รูปและสามเณร ๔ รูป มีข้อวัตรปฏิบัติ คือ เวลาประมาณ ตี ๔ ถึง ตี ๕ ปัดกวาดทำความสะอาดบริเวณศาลา เสร็จแล้วสวดมนต์ทําวัตรเช้า ออกบิณฑบาต

วัดบูรพาราม มีหลวงปู่บุญ ชินวโส เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เดิมเป็นศาลา ๒ ชั้น ทําด้วยไม้ แบบบ้าน เรือนชั้นครึ่ง ปัจจุบันถูกรื้อสร้างขึ้นใหม่ สมัยก่อนมีบ้านเรือนอาศัยอยู่ประมาณ ๖๐ หลังคาเรือน ระยะทางในการบิณฑบาต รวมไปกลับ ๑ กิโลเมตร ในวันพระ ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ มีญาติโยมอยู่จําศีลรวมทั้งที่เป็นโยมผู้หญิงและโยมผู้ชายในราวกว่า ๔๐ คน ในอดีตหลวงปู่บุญ เป็นผู้นําในการก่อสร้างร่วมกับชาวบ้านหนองหลวง ชาวบ้านโคกสําราญ ชาวบ้านนาทม ป่าไม้ในสมัยนั้นเป็นไม้ธรรมชาติ ได้แก่ ไม้จิก ไม้กุง ไม้ดู่ ไม้แดง ฯลฯ มีดาษดื่นทั่วไปในบริเวณวัดนั้น

ในบันทึกพระบุญมี (หลวงปู่บุญมี) ได้บันทึกพระธรรมคําสอนไว้เตือนตนเองในคราวอุปสมบทใหม่ว่า

อตฺตาหิ โจทยตฺตานํ ถ้าหากตนพลาดพลั้งประมาทแห่งคําสอน
ให้รีบถอนมันเสียหมั่นเตือนตนไว้ อย่าให้หลงใหลเพ้อละเมอฝันพันเกี่ยว
ให้มันเหลียวเหลียดข้างทางซ้ายฝ่ายขวา อย่าให้ตนเกลือกกลั้วตกอยู่ในความหลง
ให้พวกเจ้าปลงปัญญาฮ่ำคะนิงตนบ้าง บางทีมันสิหล่มตกตมสิขึ้นยาก
ให้พรากตนออกห่างเว้นไกลจากอกุศล มีสติเตือนตนเมื่อคราวมันพลั้ง
อย่าให้ยังเหลือของหมองมโนริโอ้อ่าว จําไว้เด้อพวกชาวพี่น้องให้เตือนตนบ้างอยู่เสมอ ๆ

โอวาทธรรมพระอาจารย์พร สุมโน สอนสั่ง
ปีพ.ศ.๒๔๙๔ พระอาจารย์พร สุมโน ท่านป่วยหนักเกิดอาการอาพาธด้วยโรควัณโรค เวลาไอมีเลือดออกและเจ็บแน่นหน้าอก ท่านจึงได้นําพระบุญมี ฐิตปุญฺโญ และคณะพระเณร ซึ่งเป็นพระเณรบวชใหม่ ท่านและคณะละวัดบูรพารามไว้เบื้องหลัง มุ่งหน้าสู่วัดป่าประชานิยม บ้านหนองหลวง ต.หนองหลวง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เพื่อสะดวกในการเดินทางไปรักษาตัว และสะดวกต่อการเดินทางของครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานที่จะมากราบเยี่ยมอาการอาพาธ ซึ่งก็มีครูบาอาจารย์ทยอยมากราบเยี่ยมเป็นจํานวนมาก

หลวงปู่บุญ มีในขณะนั้นเป็นพระนวกะได้ตั้งใจศึกษาวินัยไตรสิกขา ศึกษาพระปาฏิโมกข์ได้ พอสมควร เมื่อออกพรรษาแล้วเป็นฤดูกาลออกเที่ยวของพระกรรมฐาน หลวงปู่พรได้กล่าวถึงการ ออกธุดงค์ซึ่งมีความสําคัญยิ่งสําหรับพระสาวกที่ปรารถนาความพ้นทุกข์ ยกตนเพื่อพ้นหล่มลึกคือ อวิชชา และกล่าวถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์กรรมฐานองค์สําคัญศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แต่ละท่านแต่ละองค์ล้วนมีความเด็ดเดี่ยวเด็ดขาด ไม่ยอมเสียชาติที่ได้เกิดมาบวชในพระพุทธศาสนา จักต้องบําเพ็ญภาวนาให้รู้ดํารู้แดงแรงฤทธิ์ของกิเลสตัณหาที่ครอบครองหัวใจมาช้านาน รีบบําเพ็ญภาวนาหาสิ่งที่ประเสริฐ จะมานั่งนอนรอป่วยรอเจ็บรอตายกันอยู่ใย

พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านมีอวัยวะทุกส่วนเหมือนกะเรา เป็นชาติมนุษย์เหมือนกัน ท่านก็สําเร็จได้ เราก็อาจทําสําเร็จได้เหมือนกัน ธรรมะย่อมเกิดจากที่วิเวกในป่าช้า ในป่าดงดิบ ในเงื้อมเขา เงาไพรสณฑ์ ประกอบด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด เป็นธรรมที่เป็นแก่นสาร ช้าง เสือ หมี ภูตผี เทวดา งู ป่าช้า อสรพิษต่าง ๆ พระโยคาวจรเจ้า ท่านเสียสละชีวิตเพื่อธรรมอันประเสริฐนี้ หากยังไม่สิ้นกิเลสเกิดชาติใหม่ ก็ยังปฏิบัติต่อไปอีกไม่นานจักต้อง พ้นทุกข์

ให้ปักใจให้แม่นมั่นเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม เราทําดีได้ดี ทําชั่วได้ชั่ว ธรรมของพระพุทธเจ้า ประกาศอยู่เช่นนั้น สว่างไสวไม่ปิดบังลี้ลับ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ เห็น ความจริงอริยสัจอยู่เช่นนั้น มีแต่กิเลสเท่านั้นที่ปิดบังหัวใจของเรา เส้นผมบังภูเขา หากจิตไม่เกิดสลดสังเวชในกิเลสตัณหาที่พาเวียนเกิดเวียนตาย ตายซ้ำตายซาก ทับถมหัวใจจนกระดิกหาพระธรรมไม่ได้ โง่หลงประพฤติตามอํานาจของกิเลส ย่อมนําตัวไปสู่ทุคติได้โดยง่าย ต้องอย่าประมาท บุคคลจะข้ามห้วงน้ำได้เพราะศรัทธา ข้ามมหาสมุทรได้เพราะไม่ประมาท จะล่วงทุกข์เพราะความเพียร ย่อมบริสุทธิ์เพราะปัญญา บุคคลที่ไม่ประมาทแม้มีชีวิตเพียงราตรีเดียวย่อมประเสริฐกว่าผู้ประมาท มีชีวิตตั้ง ๑๐๐ ปี

อย่าประมาท เป็นคุณสมบัติอันล้ำค่า ไม่อ้างกาลอ้างเวลา วันเดือนปีเป็นเงินเป็นทอง เหตุนั้นให้หมุนตัวเป็นเกลียว ภาวนา “พุทโธ” หาที่พึ่ง นั้นเป็นการดีเป็นพระที่ดีงดงามในพระพุทธศาสนา

อคฺคํ ฐานํ มนุสฺเสสุ อัตภาพมนุษย์เป็นของเลิศ ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าก็เป็นของเลิศ ย่อมยังการปฏิบัติให้ถึงชั้นสวรรค์นิพพานได้

ฉะนั้น อย่ามีความประมาทโดยการทํากายวาจาใจให้ตกไปในทางที่ชั่ว กล่าวคือ อบายภูมิทั้ง ๔ ให้พึงระลึกถึงกายวาจาใจเพาะปลูกอริยทรัพย์ไว้ในศาสนา อันเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง เราเกิดมา เป็นมนุษย์เป็นผู้ได้กายสมบัติ วาจาใจสมบัติ อย่าทําลายสมบัติอันนั้น โดยทําให้ตนต้องตกต่ำถึงทุคติ

ถึงพระอาจารย์พร สุมโน จะแสดงธรรมอันเลิศด้วยอุบายอันแยบยลให้ฟังเพียงใดก็ตาม พระบุญมี ฐิตปุญฺโญ ก็เพียงก้มหน้ารับฟังแต่โดยดี แต่อํานาจของกิเลสยิ่งใหญ่เกินจะต้าน ด้วยอินทรีย์ สติสมาธิยังอ่อนหัด ท่านนั่งสมาธิเดินจงกรมอย่างที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนสักปานใดก็ยังไม่สามารถ ระงับใจมิให้คิดฟุ้งซ่านได้ จิตใจกระสันอยากสึกเป็นกําลัง คิดถึงบ้าน คิดถึงลูกเมียไร่นา คิดแต่ว่าตัวอาภัพอับวาสนาในทางธรรม จึงตัดสินใจเข้าไปกราบเรียนปรึกษากับหลวงปู่พร เล่าปัญหาภายในใจให้ท่านทราบ หลวงปู่พรท่านเมตตาปลอบประโลมด้วยอุบายต่างๆ แล้วหลวงปู่พร ท่านก็เล่าเรื่อง อดีตประวัติของท่านให้ฟังว่า ท่านได้ผ่านช่วงชีวิตที่ยากลําบากมาไม่แพ้กัน อดทนไว้ก่อนอย่าใจร้อน จะสึกวันใดก็ได้ ให้ลองออกกรรมฐานดู ไม่แน่ท่านอาจจะมีนิสัยวาสนา “วาสนาอยู่ที่ไหนท่านรู้มั้ย? วาสนาก็อยู่ที่การกระทําของเราเอง” ท่านว่า

ท่านทั้งหลาย! ธรรมดาอาจารย์ย่อมเหนือลูกศิษย์อยู่หลายขุม หลวงปู่พร จึงออกอุบาย ดุพระบุญมีอย่างรุนแรง ไม่ยอมให้ลาสิกขาแต่โดยง่าย ถ้าจะสึกก็จงธุดงค์ไปหาหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่ภูค้อ อําเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานีเสียก่อน

เที่ยวธุดงค์ครั้งแรกพบหลวงปู่ขาว อนาลโย
เป็นที่ทราบกันดีว่า หลวงปู่ขาว อนาลโย เพชรน้ําหนึ่งแห่งวงศ์พระกรรมฐาน ท่านพักแรมภาวนาอยู่ที่ภูค้อ บ้านดงเศรษฐี ซึ่งเป็นภูเขาลูกเล็กๆ เป็นป่าเต็งรัง มีลานหินทรายสลับกับป่าธรรมชาติ อยู่ห่างจากหมู่บ้านราว ๓ กิโลเมตร มีบ้านเรือนราว ๑๐ หลังคาเรือน สัตว์ป่ายังมีมาก ขณะพระออกเดินบิณฑบาต ไก่ป่าตามทางบินว่อน หลวงปู่ขาวท่านพักอยู่กับพระเณรราว ๑๐ รูป

พระบุญมีทราบดังนั้นจึงออกเที่ยวธุดงค์ไปยังวัดภูค้อ บ้านดงเศรษฐี ต.ผาสุก อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี สถานที่แห่งนี้ “เข็ดขวาง” คือเจ้าที่แรงเป็นป่าแห่งเดียวที่ยังคงเหลือในบริเวณแถบนั้น เพราะถ้าหากใครอาจหาญคิดจะเข้าไปตัดต้นไม้ในป่านั้น มีอันต้องได้รับอันตรายถึงชีวิต เพียงแค่คิดเท่านั้นก็มีอันเป็นไปแล้ว แม้พระธรรมดาทั่วไปที่พลังจิตอ่อน ศีลธรรมเสื่อมทราม เข้าไปในป่าแห่งนี้ก็จะมีอาการวิปริตวิปลาส เป็นบ้ามาแล้วก็หลายราย เว้นแต่หลวงปู่ขาวเท่านั้นที่ “ท่านมาอยู่ได้อย่างสบาย

ด้วยบารมีของหลวงปู่ขาว พระที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสํานักท่าน ปฏิบัติก็พลอยอยู่เย็นสบายเช่นเดียวกัน เว้นพระรูปใดที่ไม่เชื่อฟังหลวงปู่ขาว ท่านก็อาจจะบอกให้ผีเหล่านั้นไปดัดนิสัยพระรูป นั้นให้เข็ดหลาบจําไปจนวันตาย กุฏิหลวงปู่ขาวเป็นเพิงหญ้าเล็กๆ ส่วนพระไม่มีกุฏิได้อาศัยอยู่ตาม เพิงหิน เงื้อมหิน พลาญหิน ที่นอนจําวัดใช้ใบไม้ปูแทนเสื่อแล้วใช้ผ้าอาบน้ำปูทับอีกชั้นหนึ่ง ใช้เชือกผูกกับต้นไม้ต้นหนึ่งโยงไปยังต้นไม้อีกต้นหนึ่งกางกลด หลวงปู่ขาวท่านสอนเป็นธรรมสั้น ๆ เตือนใจ เสมอว่า…

“ผู้ใดเห็นตนจะพ้นโลก ผู้ใดเห็นโศกจะพ้นรัก ผู้ใดเห็นมรรคจะได้ผล คือเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา การฟังธรรม ไม่จําเป็นจะต้องฟังจากครูจากอาจารย์เสมอไป อะไรดี อะไรชั่ว ก็น้อมเข้ามาสอนตน ก็จักได้อุบายธรรมอันเลิศเหมือนกัน”

คําสอนสั้นๆ เพียงเท่านี้เมื่อฟังถึงกับน้ำตาร่วง ถึงอกถึงใจราวกับว่าหลวงปู่ขาวถอดชีวิตทั้งชีวิตของท่านมาวางไว้ตรงหน้า แล้วยังคลี่คลายออกให้ดูทุกสัดส่วน

พระบุญมี ตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่างเต็มที่ หลวงปู่ขาวท่านมีทางจงกรมสามสาย เดินทั้งในเวลาเช้าสายบ่ายเย็น ท่านก็เอาอย่างนั้นบ้าง ท่านตั้งจิตไว้ว่า

“หากพระพุทธศาสนานี้เป็นของจริง เป็นของกลาง ไม่เป็นของใคร เป็นคุณประโยชน์อันกว้างใหญ่ ข้าพเจ้าขอตั้งจิตประพฤติปฏิบัติ เอาชีวิตเข้าแลก เพื่อให้เห็นความจริงอันประเสริฐ”

หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญโญ ได้บันทึกประวัติของท่านตอนออกกรรมฐานไว้ว่า
คําว่าภาวนานั้นปันเป็นหลายอย่าง แต่พระองค์กล่าวอ้างว่ามีหน่อยบ่หลาย
หมายเอากัมมัฏฐานตั้งวางใจให้แน่วแน่ บ่ให้แวให้เวิ่งวนขุ่นมุ่นพระทัย
สิเอาไฟหรือน้ำดินลมมาล่ำ บริกรรมนึกไว้ใจนั้นให้แน่นอน
อย่าให้ถอยหลังลั้งลังเลเป็นใจต่าง วางพระทัยต่อตั้งหวังแจ้งแห่งนิพพาน
ทั้งสันดานพร้อมของเฮาอย่าให้เก่า อย่าให้หมองหม่นเศร่าเหงาง้วงห่วงกาม
ยามเวลาสินอนนั้นให้วันทาหัวบ่อน ให้นึกถึงคําสอนของพระองค์กล่าวไว้ ให้เห็นแจ้งสู่แลง
ทําจิตใจให้แจ้งเบื่อหน่ายคลายกําหนัด กลายจากสงสารวัฏโลกคนบนพื้น ฯ

ท่านรักษาจิตไม่ให้ห่างพุทโธ สติตามจิตตลอด ๒๔ ชั่วโมงเว้นก็แต่ตอนหลับเท่านั้น ปรากฏว่าจิตสงบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อกราบเรียนหลวงปู่ขาว ท่านก็บอกว่า “ให้เร่งความเพียร ต่อไป ท่านเดินถูกทางแล้ว” คําสอนหลวงปู่ขาวยิ่งเป็นพลังให้ท่านพากเพียรอย่างไม่หยุดหย่อน

ได้พบเพื่อนสหธรรมิกเที่ยวธุดงค์ด้วยกัน
ขณะที่ หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญโญ พักปฏิบัติเรียนกรรมฐานในสํานักภูค้อกับหลวงปู่ขาวนานเป็นเดือน ได้มีพระรูปหนึ่งซึ่งมีพรรษาอ่อนกว่าท่านอยู่ ๑ พรรษา คือ พระบุญมา (หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม วัดป่าสีห์พนม จ.สกลนคร) ได้เดินธุดงค์มายังภูค้อ ท่านทั้งสองสนทนาธรรมอย่างถูกจริตนิสัย ด้วยตั้งอยู่ในวัยหนุ่มเลือดกรรมฐานพล่านไปทั่วร่างกายและจิตใจ ด้วยอาหารบิณฑบาตลําบากหากอยู่นานหลายรูปจะเป็นความลําบากแก่หลวงปู่ขาว เพราะเหมือนมาแย่งอาหารท่านฉัน พระหนุ่มทั้ง ๒ คือ พระบุญมี และพระบุญมา จึงชักชวนกันออกธุดงค์โดยไม่สนใจใยดีกับความทุกข์ยากลําบาก มุ่งภาวนาหาที่พึ่งให้ตนเองให้จงได้ ก่อนออกเดินธุดงค์ต่อไปภายใน ๗ วัน จักทําข้อวัตรขนน้ำขึ้นถวายหลวงปู่ขาว อนาลโย ให้สําเร็จเสียก่อน จึงจักเดินทางต่อไป

เมื่อดําริดังนี้แล้วท่านทั้งสองจึงพากันใช้ปั๊บหามน้ำขึ้นไปเทใส่อ่างหลุมหินซึ่งมีขนาดใหญ่ ประมาณเท่ากับตุ่มแดง ๒ ตุ่มรวมกัน แม้เส้นทางในการขนน้ำจะมีหญ้าเพ็กขึ้นสูงท่วมหัวก็ไม่มีระย่นระย่อ ช่วยกันหามน้ำขึ้นมาเทใส่อ่างหินจนเต็มแล้ว จึงเข้าไปขอโอกาสกราบลาหลวงปู่ขาวเพื่อ ออกเที่ยวธุดงค์ภาวนาต่อไป

หลวงปู่บุญมา ได้เล่าการเที่ยวธุดงค์ในครั้งนั้นให้ฟังดังนี้ว่า
ปี พ.ศ.๒๔๙๖ เราคิดอยากสึกจึงเดินธุดงค์มายังภูค้อ ได้พบหลวงปู่ขาว อนาลโย และท่านอาจารย์บุญมี ฐิตปุญโญ ท่านเป็นพระไม่ค่อยพูด ท่านเป็นพระประเภทพูดน้อยต่อยหนัก เมื่อมาถึงหลวงปู่ขาวท่านรู้วาระจิต เพียงก้มกราบองค์ท่านเท่านั้น ท่านพูดเหมือนตะโกนเสียงดังๆ ว่า “ทําไมถึงอยากสึก? ส่งจิตออกนอกทําไม? ออก! มันก็ออกมาจากหั่น มันยังจะกลับเข้าไปสู่ที่เดิมของเก่ามัน…ออกมันก็ออกมาจากอวัยวะผู้หญิง มันยังคิดจะกลับเข้าไปสู่ที่เดิมของเก่า (อวัยวะ ผู้หญิง) …มันเกิดมันตายกี่ชาติไม่รู้จักเข็ดหลาบ”

เมื่อเข้าสู่ที่พักท่านอาจารย์บุญมี (หลวงปู่บุญมี) ได้เตือนเราว่า “ผีกองกอยก็มี เสือก็มี ให้ท่านระวังตัวนะ” เราเกิดความกลัวมากสวดมนต์ครบทุกบทจนไม่รู้ว่าจะสวดบทไหนอีก เพราะมันสวดไปหมดแล้ว ความกลัวมันขึ้นสมอง สถานที่แบบนี้ดีเหลือหลาย ใครขี้เกียจคร้านมีแต่ตาย หรือไม่ก็เป็นบ้าไปเท่านั้น นั่นธรรมชาติมันดัดสันดานพวกเรา ไม่ต้องมีใครมาบอกให้เดินจงกรม นั่งสมาธิหากแต่ทําเองเพราะจิตเมื่อเกิดความกลัวมันจะหาที่พึ่ง ที่พึ่งจะพึ่งอะไรได้เมื่ออยู่เพียงผู้เดียวในป่า นอกจากพระธรรมเท่านั้น เสียงดังแกร๊ก! ๆ ก็นึกแต่ว่าผีมันจะมากินหัว คิดไปว่ามันจะไปกินหัวใครก็ไม่คิด คิดแต่ว่ามันจะมากินแต่หัวเราผู้เดียว มีแต่นั่งตัวสั่นงันงกเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา จิตกับพุทโธแนบสนิทอยู่กับดวงใจไม่มีเผลอ

ในฤดูหนาว พระอาจารย์บุญมี เรา และครูบา ๑ รูป มีสามเณรติดตาม ๑ รูป รวมเป็น ๔ รูป คิดหาแต่ท้องถ้ำเพื่อเจริญภาวนา มีมือถือกาน้ำ แบกกลด สะพายบาตร ออกเดินทางผ่านป่าเขาอันรกชัฏมุ่งหน้าสู่เทือกเขาภูพาน ถ้ำปล่อง บ้านทุ่งเชือก ต.คําบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ในตอนแรกตกลงกันไว้ว่าเมื่อถึงวันอุโบสถจะหวนกลับมาลงอุโบสถและรับฟังโอวาทธรรมจากหลวงปู่ขาว แต่ก็ไม่อาจมาได้เนื่องจากว่าอยู่ไกล อีกทั้งเส้นทางเดินก็มุดลอดไปตามป่าดงพงหนาม เดินผ่านป่าหญ้าก็แทบมองไม่เห็นกันแล้ว ถ้ำบ้านทุ่งเชือก สุดแสนจะสงบสงัด อากาศหนาวเย็น ให้สามเณรก่อกองไฟไว้ริมหน้าผา ยามหนาวลมพัดเสียงดัง ตี้ง! ๆ ให้เณรไปตัดเพ็ก กอเพ็กที่สูงท่วมหัว นําไม้ไผ่รวกซึ่งมีแต่ลําใหญ่เท่าต้นขามาตอกเป็นเสา แล้วนําไม้เพ็กวางเรียงซ้อนทําเป็นฝากั้นลม จึงจะสามารถจุดไฟบริเวณหน้าถ้ำได้

พระอาจารย์บุญมี และเราเห็นทําเลสัปปายะ มีกุฏิกํามะลอ (จะพังแหล่มิพังแหล่) ที่พระอาจารย์สวด เขมิโย มาสร้างไว้ จึงตกลงกันไว้ว่าเมื่อเราได้รับโอวาทจากพ่อแม่ครูอาจารย์ขาวแล้ว กราบลาท่านมาเพื่อตั้งใจปฏิบัติ คราวนี้เราจะต้องจริงจังเป็นพิเศษ เราห่างท่านแต่ตัว ส่วนจิตของท่านนั้นคอยจ้องดูเราอยู่ กลางคืนซึ่งเป็นช่วงวิเวกสงบสงัดอากาศหนาวเย็นจับขั้วหัวใจเช่นนี้ ชีวิตไม่แน่นอน เราควรจะถือเนสัชชิกคือการไม่นอน ให้การเจริญภาวนาเป็นไปในอริยบท ทั้ง ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง เท่านั้น ส่วนกลางวันพักบ้างแต่ไม่ให้มากนัก ให้หลีกลี้หนีไปหาที่สงบสงัดสันโดษ ของใครของมัน โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวคลุกคลีคุยสนทนากัน

ปรากฏว่าจิตหมุนไปไม่มีกลางวันกลางคืน ตั้งอยู่ในปัจจุบัน ท่านอาจารย์บุญมีไปอยู่ทางหน้าผาด้านโน้น เราอยู่ทางหน้าผาด้านนี้ สามเณรก่อกองไฟเป็นสัญญาณอยู่ตรงกลางหน้าถ้ำนั้น หากใครหนาวก็เดินมาผิงไฟพอให้ร่างกายได้รับความอบอุ่นจากนั้นก็ออกเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา สละชีวิตแลกธรรม หากไม่ตายก็จะได้เจอกันตอนฟ้าสาง จิตได้กําลังเป็นอย่างมากจึงเร่งความเพียร ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย พอมีโอกาสก็สนทนาธรรมเล่าสิ่งที่ปรากฏขึ้นภายในจิตสู่กันฟัง เมื่อต่างองค์ ต่างตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ไม่มีใครเป็นภาระของใคร ธรรมก็ยิ่งหมุนเป็นเกลียวเพื่อตัดกิเลสทั้งหลาย

วันหนึ่งเรา (หลวงปู่บุญมา) เป็นพระบวชใหม่ยังไม่รู้เรื่องอะไร ถ้าจะเทียบก็ไม่ต่างอะไรกับ เอาวัวเอาควายมาฝึก นั่งสมาธิในตอนกลางวันที่กุฏิกํามะลอด้านหลังถ้ำ จิตสงบตัวหาย เหมือนโลกดับ จึงนํามาเล่าให้พระเพื่อนฟัง ท่านก็ว่า “นั่นแหละจิตสงบ จิตได้กําลัง ให้เร่งเข้าๆ”

ออกจากที่นั้นแล้วจึงเดินทางไปบ้านผาต่างล่าง แต่คณะเดินหลงป่าไปกันไม่ถูก เดินตามรอยเมย (วัวป่า) รอยช้างหักไม้เหยียบตามข้างทางเกลื่อน พวกเราหลงทางเข้าไปจนถึง ดงหลุบหวาย ซึ่งเป็นป่าดงทึบ เวลาก็จวนจะค่ำมืด พระอาจารย์บุญมีและเณรที่ติดตามเป็นไข้หนักถึงขนาดตัวสั่น น้ำสําหรับฉันก็หมด จึงคอยฟังเสียงเขียดร้อง โอด! ๆ ๆ ถ้ามีเขียดร้องที่ไหนแสดงว่าที่นั้นเป็น แหล่งน้ำ จึงจุดไฟเดินตามเสียงนั้นไปตามร่องเขาก็ได้พบแหล่งน้ำ หมู่คณะจึงหยุดพักกางกลดใกล้ แหล่งน้ำกลางป่านั้น

คืนนั้นผ่านไปด้วยดี พอรุ่งสางได้ยินเสียงไก่ป่าร้อง ไก่ป่ามันร้องตัวเดียวก็ทราบได้ว่ายังอยู่ ห่างไกลจากหมู่บ้าน จึงพากันรีบแต่งบริขารเดินทางต่อไป หนทางคดเคี้ยวเลี้ยวลดไปมา ขึ้นโคกลงห้วย เร่งฝีเท้ากันเต็มที่ พอตะวันเกือบถึงฟ้าก็มาถึงหนองน้ำเขาเรียกว่า “อ่างเก็บน้ำห้วยลําพันขาด” หมู่บ้านหนองกุงทับม้า ต.หนองกุงทับม้า อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี จึงเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านในเวลาเพล ให้สามเณรก่อกองไฟรอ ณ ที่พัก เผื่อว่าบิณฑบาตได้หมกปลาร้าดิบกลับมา จะได้ให้สามเณรทําให้สุก สมัยก่อนอาหารมีแต่ปลาร้าเพราะอยู่ในป่าอดอยากของกิน ชาวบ้านเห็นพระธุดงค์จึงออกมาใส่บาตร ถวายอาหารบิณฑบาตเป็น “ซิ่นหลอด” คือเนื้อตากแห้งหนึ่งมัดขนาดเท่าแขน จึงให้สามเณรตําถั่วฝักยาวฉันกับปิ้งเนื้อแห้ง

ฤดนั้นเป็นฤดูเก็บเกี่ยว อากาศเย็นสบาย ด้วยความหิวกระหายที่เดินทางเหนื่อยล้ามาช้านาน ตําถั่วใส่พริกกับเกลือธรรมดาที่แทบจะไม่มีเครื่องปรุง ปรากฏว่าเอร็ดอร่อย ฉันกันแบบว่าดึงหูก็ไม่มีใครอยากถอยออก พระกรรมฐานรูปหนึ่งกล่าวติดตลกขึ้นว่า “ความหิว..ทําให้ตาลายอย่างยิ่ง”

จากนั้นคณะธุดงค์จึงเดินต่อไปก็ไปบ้านญาติของครูบาโทน บ้านนายาง ถึงพลาญหินแห่งหนึ่งกว้างขวางดีตั้งอยู่กลางโคก นั่งพักหายเมื่อยแล้ว จึงเดินมุ่งหน้าต่อไปยัง บ้านบ่อแก ซึ่งมีพระไปสร้างศาลาอยู่ก่อนแล้วแต่ไม่มีผู้อยู่ ก่อนหน้านี้พระอาจารย์เพ็ง เตชพโล กับ พระอาจารย์ คําบุ ธัมมธโร เคยเดินทางธุดงค์มาพักภาวนา

พระอาจารย์บุญมี เรา และคณะไปพักอยู่ที่นั่น ได้ ๒ ถึง ๓ คืน มีสาวภูไทไปเอาฟืนอยู่แถบนั้น ลําเต้ยเล่นหูเล่นตาใส่แล้วพูดขึ้นว่า “หางตายาคูเอย หางตาญาซาเอ้ย..ญาคู ญาซา มองตาฉันสิ” พระอาจารย์ทั้ง ๒ ถึงกับอุทานว่า “ฮ่วย! บ่แม่นแนวมันสิตายเด้นั่น ฮิพากันหนีเด้อ…แบบนี้ไม่ใช่เรื่องแล้ว มันจะพากันมาตายนะเนี่ย ให้พากันรีบหนีเถอะพวกเรา” ว่าแล้วก็พากันรีบออกเดินทางจากที่แห่งนั้น หนีตายจากผู้หญิงแบบไม่คิดชีวิต อันตรายจากช้างเสือ เป็นอันตรายเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบอันตรายที่เกิดจากสตรี คําร้องลํามีความว่า “เจ้าหัวสิก เจ้าหัวซู้ เจ้าหัวหยู้ เจ้าหัวหมา ยาคู ยาซา มีต๊ะหมาทั้งนั้น” “ปได้ฮิมาหนี…ไม่ได้นะแบบนี้ ไปพวกเราให้รีบหนี”

จากนั้นก็ออกเดินทางมาพักอยู่บ้านนายาง ข้างริมห้วย อาศัยป่าไผ่บงเป็นที่หลบพักภาวนา ตามลําห้วยมีชาวบ้านใช้จั่นดักปลา ปลาช่อนตัวใหญ่ติดจั่นดิ้นเสียงดัง กึก! ๆ ท่านและคณะได้แต่เพียงมองไม่อาจช่วยเหลืออะไรมันได้ ขณะนั้นเป็นฤดูตัดอ้อย ชาวบ้านเมื่อตัดอ้อยแล้วหีบน้ำอ้อย นำใส่ปี๊บมาถวาย เพื่อรอคอยหลานครูบาโทนซึ่งมีศรัทธาจะตามไปบวชเป็นสามเณร จึงได้พักคอยอยู่ ณ ที่แห่งนี้ประมาณครึ่งเดือน

ในสมัยนั้นพระกรรมฐานท่านปรารภถึงถ้ำ เพราะเสนาสนะที่พักหลบแดดฝนไม่ค่อยมี อาศัย ถ้ำย่อมเป็นที่สะดวกสบายแก่การปฏิบัติ พอมองเห็นภูเขาก็ให้รู้สึก “ห่าวฮึดขนาด!” (ใจมันคึกคัก ขึ้นมาทันที) จึงเดินข้ามแม่น้ำป่าวมุ่งหน้าเข้าสู่ ถ้ำพระภูโน บ้านโนนดู่ อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ พักได้ไม่กี่วัน เนื่องจากเป็นฤดูแล้งขาดแคลนน้ำ จึงออกเดินทางตัดสินใจเดินข้ามดงมูล อ.หนองกรุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ดงมูลเป็นดงที่อุดมด้วยป่าไม้และสัตว์ป่าเป็นอย่างยิ่ง “เมย”(วัวป่า) และช้างป่ามีเป็นจํานวนมาก (ปัจจุบันดงมูล มีแต่คําเล่าขาน ธรรมชาติป่าไม่มีแล้ว) เดินข้ามดงมูลทะลุผ่านดงมูลด้วยความยากลําบากแล้วไปพักที่กลางทุ่งนา ต่างองค์ต่างรูปหาที่พักภาวนา พอถึงเช้ามีแต่เสียงไก่ป่าร้องไม่มีเสียงไก่บ้านเลย เป็นนิมิตหมายว่า บ้านที่พักอาศัยของผู้คนยังอยู่ห่างไกลออกไปอีก จึงเดินต่อไปตั้งแต่เช้าพอสายๆ ถึงบ้านยางโล้น ต.โคกภู อ.ภูพาน จ.สกลนคร บิณฑบาตอาศัยที่บ้านยางโล้น เมื่อกลับจากบิณฑบาตชาวบ้านยางโล้นตามมาจังหันเป็นจํานวนมาก ยืนล้อมหน้าล้อมหลัง ต่างก็ขอหวยขอบัตรขอเบอร์ ไม่เห็นมีใครสนใจในศีลในธรรม

พระรูปหนึ่งพูดขึ้นว่า “โอ้ย! อยู่ไปก็ไม่ได้ภาวนาหรอกหากเป็นเช่นนี้” คณะพระกรรมฐานอันมีพระโทน พระบุญมี (หลวงปู่บุญมี) พระบุญมา (หลวงปู่บุญมา) และสามเณร เห็นท่าไม่ดีอย่างนั้น คงจะไม่สงบสงัด ไม่สะดวกสบายแก่การภาวนาเป็นแน่แท้ ยังไม่มีโอกาสแม้ขึ้นไปเที่ยวภาวนาบนถ้ำ จึงเดินธุดงค์ข้ามภูเขาต่อไปยังบ้านหัวนาคํา ต.หัวนาคํา อ.กระนวน จ.ขอนแก่น สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลูกคลื่น เป็นลอนลาดเนินเขา ดินเป็นดินร่วนปนทราย ซึ่งอยู่คนละฟากภูกับเขาสวนกวาง

เมื่อถึงบ้านหัวนาคํา มีญาติโยมท่านหนึ่งมากราบเรียนว่า ตนนั้นได้รับความเดือดร้อนมานานหลายปี มีที่นาแต่ก็ไม่สามารถจะทํามาหากินได้ เพราะเจ้าที่แข็ง เฮี้ยน! เป็นนาเหี้ย! จึงขอนิมนต์พระกรรมฐานให้ไปพักที่ท้องนา ทําร้านพักเล็กๆ ถวายและทําการอุปัฏฐากเป็นอย่างดี คณะพระ กรรมฐานจึงได้พักที่นั้นเป็นเวลาครึ่งเดือน

จากนั้นจึงเดินข้ามภูเขาลูกใหญ่อุทยานแห่งชาติน้ำหลวง เขต จ.ขอนแก่น ข้ามไปยังบ้านทมป่าข่า อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี ซึ่งมีพระอาจารย์สอน เป็นเจ้าอาวาส พระอาจารย์สอนนี้ท่านเคยอยู่จําพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านทันสมัย อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ซึ่งเป็นวัดที่พระบุญมี(หลวงปู่บุญมี) บวช จึงเกิดความสนิทสนมในสายธรรมเป็นคณะพระกรรมฐาน จึงพักปฏิบัติธรรม ณ เสนาสนะป่าบ้านทมป่าข่า เป็นเวลาเดือนครึ่ง ญาติโยมมีจิตศรัทธาถวายจตุปัจจัยไทยทานเพื่อเป็นเสบียงเดินทางในการธุดงค์ต่อไปอย่างสมบูรณ์

คณะพระธุดงค์นําโดย พระโทน พระบุญมา (หลวงปู่บุญมา) และสามเณรจึงออกเดินทางต่อไปยังถ้ำผาบิ้ง แต่พระบุญมี (หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญฺโญ) ท่านคงยับยั้งอยู่จําพรรษาในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ร่วมกับท่านพระอาจารย์สอน ที่วัดป่าบ้านทมป่าข่า ต.ทมนางาม อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี

การเดินธุดงค์ออกสู่ป่าเขาตามแนวที่พระบรมศาสดาที่ทรงประทานไว้นั้น ตั้งแต่ออกพรรษา ปีหนึ่งจรดเข้าพรรษาอีกปีหนึ่ง เป็นการกระทําที่ทําได้โดยยาก นับเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ความทุกข์ยากทางกาย ทําให้จิตใจของท่านแกร่งขึ้นเพราะได้พิจารณาในธรรมทั้งหลายไปพร้อมในขณะนั้น ผู้ที่สามารถประพฤติธุดงค์ได้ล้วนเป็นผู้ไม่ติดอยู่ในโลกามิส ละกิเลสตัวขี้เกียจซึ่งเป็นสิ่งเลวที่ติดอยู่ในนิสัยสันดานได้เป็นอย่างยอดเยี่ยม การอยู่ป่าย่อมต่างกับการอยู่บ้านเป็นอย่างมาก แม้การกินก็อดอยากลําบากแค้น แต่ดวงจิตพระกรรมฐานนั้น เด่นดวงด้วยแสงแห่งพระธรรม การอยู่รุกขมูลร่มไม้ แสดงถึงความเป็นผู้ไม่อาลัยในชีวิตและความเป็นอยู่

การธุดงค์ของพระบุญมีและเพื่อนสหธรรมิก เหมือนการออกรบ การออกรบย่อมได้รับ บาดเจ็บที่น่าหวาดกลัว แต่หากบาดเจ็บแล้วยังได้รับชัยชนะกลับมา ความเหนื่อยล้าย่อมปลาสนาการไปสิ้น ปรากฏว่า “บ่าที่ใช้แบกบริขาร” ของพระกรรมฐานที่ทําตามคําสอนของหลวงปู่ขาว อนาลโย ด้าน ดํา แหล่ จนพระบางรูปพูดเป็นภาษาอีสานว่า “จะแม่นแหล่ปานหีม้าเน้าะบ่าเจ้า” ทําเอาวงศ์กรรมฐานน้อยๆ หัวเราะกันครืนๆ ในสภาหนูแห่งนั้น

วิธีแบกบริขารหลายชิ้นและหนักผ่านป่าเขาท่านอธิบายไว้อย่างนี้ คือใช้ผ้าอาบน้ำฝนมัด “ขอด” (ขมวด) ไว้ทั้ง ๒ ด้าน ทําเป็นปุ่มไว้แล้วผูกใส่ร่างกายจึงออกเดินไป ผ้ามันไม่ตกเพราะมัน “คาส่วง” คือติดที่บั้นเอว บ่าข้างหนึ่งก็สะพายบาตร ทั้ง ๒ น่าใช้ครบหมด ผู้ใดปวดบ่าก็ช่วยกัน พอตกถึงเวลาค่ำหากผู้ใดเดินอยู่ตามหลังหมู่เพื่อน แม้ถูกหนามเกาะตามร่างก็จะสลัด ฟึ้ด! ไปต่อทันที ไม่เช่นนั้นจะเดินไม่ทันหมู่เพื่อน หลังจากคณะธุดงค์มาถึงจุดสุดท้ายคือวัดป่าบ้านทมป่าข่า สังขารา อนิจจา สังขารไม่เที่ยงหนอ แม้ยังไม่ตายก็จําต้องจาก ต่างองค์ต่างแยกสังขารของตนไปในสายทางธรรมตามนิสัยวาสนาแห่งตนเอง หากมีวาสนาคงจักได้พบกันอีกในวันข้างหน้า ดังนี้

หลังจากนั้น ท่านพระอาจารย์บุญมี ฐิตปุญฺโญ ได้กลับมาศึกษาอบรมธรรมปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่พร สุมโน พระอาจารย์ของท่าน ท่านได้เป็นกำลังช่วยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและได้อยู่อุปัฏฐากรับใช้ตอบแทนคุณพ่อแม่ครูอาจารย์ จนกระทั่งหลวงปู่พร สุมโน มรณภาพตรงกับวันอังคารที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๑ สิริอายุ ๗๐ ปี ๓๗ พรรษา และได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดงานถวายเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่พร สุมโน ในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ ในงานนร้มีพ่อแม่ครูอาจารย์ชั้นเถระผู้ใหญ่ มาร่วมงานมากมาย เช่น หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี , หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ , หลวงปู่ฝั้น อาจาโร , หลวงปู่บัว สิริปุณโณ , หลวงปู่บุญ ชินวังโส , หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นต้น

วัดป่าประชานิยม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
รูปเหมือน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ณ วัดป่าประชานิยม บ้านหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

ด้วยความสามารถในการเผยแผ่ธรรมและการปกครองคณะสงฆ์ ท่านพระอาจารย์บุญมี ฐิตปุญฺโญ ท่านได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดประชานิยม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ จากนั้นก็ได้เป็นเจ้าคณะตำบลสว่างแดนดิน (ธ) เจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดิน (ธ) แต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ รองเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธ) โดย พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธ) พ.ศ.๒๕๒๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูบุญสาสน์โกศล พ.ศ.๒๕๔๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระพิศาลศาสนกิจ และ พ.ศ.๒๕๔๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระราชญาณมุนี

หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญฺโญ
วัดป่าประชานิยม บ้านหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
พระราชญาณมุนี (หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญโญ) วัดประชานิยม

มรณภาพ
หลังจากที่ธาตุขันธ์ของหลวงปู่ท่านต่อสู่กับโรคร้ายมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ องค์หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญฺโญ ได้ละสังขารด้วยอาการสงบ ตรงกับวันอังคารที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙ เมื่อเวลา ๐๔.๓๘ น.

สิริอายุ ๘๗ ปี ๑๑ เดือน ๔ วัน พรรษา ๖๖

พระราชญาณมุนี (หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญโญ) วัดประชานิยม
พระราชญาณมุนี (หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญโญ) วัดประชานิยม

หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญโญ พระผู้ตั้งมั่นอยู่ในบุญแห่งวัดประชานิยม ต.หนองหลวง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ท่านเป็นพระแท้ที่เคร่งครัดในพระวินัยอย่างยิ่ง ถือสันโดษ ชอบนั่งปฏิบัติกรรมฐานตลอดเวลา ท่านชอบออกบิณฑบาตโปรดญาติโยมเสมอมิเคยขาด อีกทั้งเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม แม้กระทั่งพระสายกรรมฐานด้วยกันยังกล่าวยกย่อง และให้ความเลื่อมใสศรัทธาในฐานะ

พระดีที่กราบไหว้ได้สนิทใจ