ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่นาค โชติโก
วัดห้วยจระเข้
อ.เมือง จ.นครปฐม
หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม พระอริยสงฆ์ที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ มีศีลาจารวัตรอันงดงาม
◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่นาค โชติโก วัดห้วยจระเข้ เกิดปี พ.ศ.๒๓๕๘ เดิมเป็นคนบ้านไผ่นาค มณฑลนครชัยศรี จ.นครปฐม
◉ อุปสมบท
เมื่ออายุ ๒๑ ปี อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดพระปฐมเจดีย์ ตรงกับปี พ.ศ.๒๓๗๙ โดยมี พระปฐมเจติยานุรักษ์ (กล่ำ) วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการยิ้ว วัดแค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการธูป วัดโคกพระเจดีย์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “โชติโก”
หลังอุปสมบท ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ เรื่อยมา ลุถึงปี พ.ศ.๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเถระ ๔ รูป เพื่อทำหน้าที่รักษาองค์พระปฐมเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ คือ
๑. พระครูปริมานุรักษ์ (นวม พรหมโชติ) วัดสรรเพชญ รักษาด้านทิศตะวันออก
๒. พระครูทักษิณานุกิจ (แจ้ง ธัมมสโร) วัดศิลามูล รักษาด้านทิศใต้
๓. พระครูปัจฉิมทิศบริหาร (นาค โชติโก) วัดห้วยจระเข้ รักษาด้านทิศตะวันตก
๔. พระครูอุตรการบดี (ทา) วัดพะเนียงแตก รักษาด้านทิศเหนือ
หลวงปู่นาค ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูปัจฉิมทิศบริหาร นอกจากทำหน้าที่รักษาองค์พระปฐมเจดีย์ด้านทิศตะวันตกแล้ว ยังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะมณฑลนครชัยศรี เทียบกับสมัยนี้เท่ากับตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม
ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ หลวงปู่นาค ได้สร้างวัดขึ้นใหม่ในพื้นที่ตำบลหนองพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เพื่อให้เป็นวัดบริวารขององค์พระปฐมเจดีย์ (ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ประมาณหนึ่งกิโลเมตร) แล้วเสร็จในปีพ.ศ.๒๔๔๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคารามเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๓ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ ชื่อว่า “วัดนาคโชติการาม” แต่ชาวบ้านมักจะเรียกว่า “วัดใหม่ห้วยจระเข้” และต่อมาก็เป็น “วัดห้วยจระเข้” จนทุกวันนี้ โดยหลวงปู่นาคเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก
หลวงปู่นาค โชติโก เป็นพระที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ มีศีลาจารวัตรอันงดงาม ท่านมีความรู้แตกฉานทั้งหนังสือไทย ขอม และบาลี เพียบพร้อมด้วยเมตตาธรรม-กรุณาธรรม และเป็นพระนักพัฒนาจนเป็นที่เลื่อมใสของบรรดาพระภิกษุ-สามเณร และพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง จึงมีลูกศิษย์มากมาย คราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จพระพาสพระราชวังสนามจันทร์ ทั้งสองพระองค์จะแวะกราบหลวงปู่นาคเป็นประจำ
◉ มรณภาพ
หลวงปู่นาค ปกครองวัดห้วยจระเข้ จนถึงกาลละสังขารเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ด้วยโรคชรา รวมอายุได้ ๙๕ ปี พรรษา ๗๔
◉ ด้านวัตถุมงคล
การสร้างพระปิดตาของ หลวงปู่นาค นั้น ปรากฏหลักฐานว่าท่านเริ่มสร้างปี พ.ศ.๒๔๓๒-๒๔๓๕ ในขณะที่อยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ ปรากฏมีทั้งเนื้อสำริดแก่ทอง เนื้อชินเงิน เนื้อชินเขียว ในระยะแรกพิมพ์ยังไม่มีมาตรฐาน จนภายหลังสามารถสรุปได้ว่านิยมเล่นกัน ๓ พิมพ์ ได้แก่ พิมพ์ท้องแฟบ พิมพ์ท้องป่อง และ พิมพ์หูกระต่าย ยังไม่นับพิมพ์อื่นๆ ที่อาจสร้างไว้อีกต่างหาก
วิธีการลงเหล็กจารนั้นมีเรื่องเล่ากันว่า หลวงปู่นาค นำเอาพระปิดตาที่สร้างเสร็จแล้วไปลงเหล็กจารที่ท่าน้ำข้างวัด โดยจะนำลงไปจารอักขระใต้น้ำ เมื่อจารเสร็จแล้วจะปล่อยให้พระปิดตาลอยขึ้นมาเหนือน้ำเอง โดยมีลูกศิษย์ที่อยู่บนฝั่งคอยเก็บ
นอกจากการจารอักขระพระปิดตาใต้น้ำแล้ว มีวิธีการจารอักขระอีกวิธีหนึ่ง คือ จะไปจารที่กลางทุ่งนา หรือในป่าริมคลองที่มีปูอาศัยอยู่มากๆ เมื่อไปถึงและหารูปูเจอแล้ว ท่านก็จะยืนโดยเอาหัวแม่เท้าขวาอุดที่ปากรูปู จากนั้นจะกำหนดจิตบริกรรมคาถา และลงเหล็กจารไปพร้อมกัน ขณะนั้นทั่วทั้งทุ่งและป่าริมคลองนั้นจะเงียบสงัดทันที เสียงนก หรือแมลงร้องจะไม่มีได้ยิน สัตว์ทุกตัวที่อยู่บริเวณนั้นจะหยุดนิ่งชะงักเป็นจังงังกันหมด
เมื่อท่านผ่อนคลายกำหนดจิตจากการลงอักขระเสร็จแล้ว ทุกอย่างจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก่อนที่จะกลับ หลวงปู่นาคจะทำน้ำมนต์รดที่รูปูนั้น เพื่อเป็นการคลายอาคม หากมิเช่นนั้นปูที่อยู่ในรูจะออกมาไม่ได้ หรือถ้าปูอยู่ข้างนอกก็จะกลับลงรูไม่ได้เหมือนกัน
จากพิธีกรรมการสร้างอันเข้มขลังนี้เอง จึงทำให้พระปิดตาห้วยจระเข้เป็นจักรพรรดิของพระปิดตาเนื้อเมฆพัดทั้งปวง
พระปิดตาหลวงปู่นาค ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มากด้วยพลังพุทธคุณและกระบวนการเล่นแร่แปรธาตุตามตำรับโบราณ พระปิดตาที่ท่านสร้างขึ้น มีพุทธลักษณะงดงาม ด้านศีรษะจะใหญ่ มือใหญ่ โยงก้นแต่ไม่ทะลุไปด้านหลัง มักปรากฏรอยจารของท่าน สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประทับแรม ณ พระราชวังสนามจันทร์ พร้อมด้วยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะเสด็จกราบนมัสการหลวงปู่นาคเป็นประจำ ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่า หลวงปู่นาคได้ถวายพระปิดตาไว้บูชาคู่พระวรกายพระองค์ท่านด้วยเช่นกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก matichonweekly.com