วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่ทิวา อาภากโร พระมหาเถระผู้เป็นธรรมทายาทหลวงปู่หลุย จันทสาโร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ทิวา อาภากโร

หลวงปู่ทิวา อาภากโร

พระมหาเถระผู้เป็นธรรมทายาทหลวงปู่หลุย จันทสาโร

หลวงปู่ทิวา อาภากโร ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ท่านเป็นอดีตนายทหารเรือออกบวชเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ โดยมี ท่านเจ้าคุณพระราชมุนี (หลวงปู่โฮม โสภโณ) เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ ณ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร จากนั้นหลวงปู่โฮม ได้ส่งตัวท่านไปอบรมธรรมอยู่กับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ที่วัดเขาไทรสายยัณห์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่โฮม เป็นผู้สร้าง และคุณหลวงปริญญาโยควิบูลย์ บิดาของท่านพระอาจารย์ทิวา เป็นโยมอุปัฏฐากอยู่

ภายหลังจากท่านบวชได้ ๑ พรรษา ท่านก็ได้ลาออกจากราชการทหารเรือเลยทีเดียว เพราะท่านต้องการพ้นทุกข์ และ ออกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามพ่อแม่ ครูอาจารย์ คือ หลวงปู่หลุย จันทสาโร ศิษย์ในสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพระธรรมทูต ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๔ และท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพุทธเบญจพล เมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมันนี


หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย พระอาจารย์รูปแรกผู้สอนอำนาจจิตแก่ท่านพระอาจารย์ทิวา
(คัดลอกมาจากประวัติหลวงปู่สมชาย วัดเขาสุกิม) ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ จำพรรษาที่วัดเขาไทรสายัณห์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

…ตลอดระยะเวลาที่อยู่วัดเขาไทรสายัณห์นี้ ก็ได้คุณหลวงปริญญาโยควิบูลย์ และได้คุณหมอเรืองเป็นผู้อุปถัมภ์ ซึ่งในปีนี้ คุณหลวงปริญญาโยควิบูลย์ ก็ได้อุปสมบทบุตรชาย คือ เรือตรีทิวา เมื่อทำการอุปสมบทแล้วก็ได้นำมาฝากให้ศึกษาธรรมจากหลวงปู่ และปีนี้ พันเอกพิเศษ อาจารย์ณรงค์ แสงมณี ก็ได้อุปสมบทและได้มาจำพรรษาด้วยกัน หลังจากออกพรรษาแล้วอาจารย์ณรงค์ แสงมณี ก็ลาสิกขาไปปฏิบัติราชการต่อ ส่วนพระอาจารย์ทิวา อาภากโร ได้รับผลจากการบวชปฏิบัติธรรมมีความซาบซึ้งมาก จึงได้ลาออกราชการขอรับใช้พระศาสนามาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้

ในระหว่างพรรษานี้ก็มีเหตุการณ์เรื่องราวที่สมควรบันทึกไว้ให้บรรดาศิษยานุศิษย์รุ่นหลังๆ ได้มีโอกาสศึกษาเป็นแนวทางว่า ในอดีตบรรดาศิษย์รุ่นต้นๆ นั้นได้รับการอบรมได้รับการทรมานจากหลวงปู่มาอย่างไรบ้างเพื่อไว้สดับสติปัญญาบ้าง ดังนี้

◎ สะกดจิตหนึ่งต่อสอง
พันเอกพิเศษ อาจารย์ณรงค์ แสงมณี ภายหลังจากลาสิกขาออกมาแล้วก็ได้รับใช้ประเทศชาติด้วยความสามารถพิเศษประจำตัวที่มีอยู่ กล่าวคือ
๑. มีความสามารถยิงธนู ได้แม่นยำ มีความเชี่ยวชาญเรื่องการยิงธนูจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอุปนายกสมาคมยิงธนูแห่งประเทศไทย
๒. มีความสามารถยิงปืนได้แม่นยำทั้งปืนสั้น และปืนยาว เคยเปิดสถานฝึกสอนการยิงปืนเอกชน ที่พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อเกษียณอายุราชการและหยุดกิจการส่วนตัวจึงพักผ่อนอยู่กับบ้าน และมาช่วยหลวงปู่พัฒนาวัดเป็นครั้งคราว

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ เข้ามาช่วยหลวงปู่ ควบคุมการขุดสระน้ำหน้าวัดเขาสุกิม วางแบบแปลนและควบคุมคนงานก่อสร้างเกาะกลางสระน้ำ เป็นต้น ตกตอนเย็นหลังจากเลิกงานอาจารย์ณรงค์ ก็จะขึ้นสวดมนต์ทำวัตรร่วมกับพระภิกษุ สามเณร เมื่อมีเวลาว่าง ก็มักจะเล่าเรื่องอดีตสมัยที่บวชพระอยู่กับหลวงปู่ที่วัดเขาไทรสายัณห์ให้พระหนุ่มเณรน้อยรุ่นหลังๆ ได้รับฟังอยู่เสมอๆ วันหนึ่ง หลังจากทำวัตรเสร็จ อาจารย์ณรงค์ เล่าว่า…

ผม (ณรงค์ แสงมณี) และท่านพระอาจารย์ทิวา บวชคู่นาคกัน เป็นลูกศิษย์ท่านเจ้าคุณพระราชมุนี (โฮม) วัดปทุมวนาราม ท่านเป็นผู้สร้างวัดเขาไทรสายัณห์ อีกอย่างหนึ่งท่านก็รู้จักกับท่านอาจารย์ใหญ่ (หลวงปู่สมชาย) ของเรามาก่อนแล้ว ท่านบอกพวกผมว่า บวชแล้วจะเอาไปฝากปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านอาจารย์สมชาย ที่วัดเขาไทรสายัณห์

พวกผมยังไม่รู้จักว่าอาจารย์สมชาย เป็นใคร มีอะไรดีหรือ ถึงขนาดระดับท่านเจ้าคุณราชมุนี ผู้มีชื่อเสียงในเมืองกรุงยังจะต้องเอาพวกผมมาฝากให้ท่านอาจารย์สมชายฝึกฝนอบรม ? ทั้งผมและท่านพระอาจารย์ทิวาเมื่อมาแล้วก็เฝ้าสังเกตดูว่าอาจารย์สมชาย ที่ท่านเจ้าคุณราชมุนียกย่องนั้นท่านมีดีอะไร ?..

ดูภายนอกท่านก็ไม่แปลกอะไรไปจากพระทั่วๆ ไป ยอมรับตรงที่ท่านสำรวม เรียบร้อย ทำความเพียรทั้งวันทั้งคืน ไม่ค่อยหลับไม่ค่อยนอน อาหารก็ไม่ค่อยฉัน ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง ท่านจึงจะฉันสักครั้งหนึ่ง แต่ท่านทำงานขนหินขนปูนช่วยก่อสร้างวัดได้อย่างคนปกติทั่วไป นานๆ ท่านก็อบรมพวกผมครั้งหนึ่ง

วันหนึ่งท่านอบรมเสร็จแล้ว ท่านก็พูดมาถึงเรื่องการทำสมาธิว่า

“..มีอำนาจ มีพลัง ถ้าทำได้ดีแล้วสามารถนำเอาพลังของอำนาจสมาธิจิตนั้นมาทำประโยชน์ได้หลายอย่างบุคคลที่มีความสามารถด้านต่างๆ เช่น ยิงปืน ยิงธนูได้แม่นยำ ก็อาศัยสมาธิหรืออำนาจจิตเข้าช่วย…”

ผมเถียงขึ้นมาทันทีว่า ..อำนาจสมาธิหรืออำนาจจิตนั้นผมไม่รู้จัก แต่ที่ผมยิงปืนหรือยิงธนูได้แม่นนี้ผมใช้ความสามารถส่วนตัวของผมเอง ..ผมเถียงด้วยทิฐิและความโง่ของผมนั่นเอง

ท่านอาจารย์จึงกล่าวต่อว่า “คุณมีสมาธิอยู่ตลอดเวลาแต่คุณไม่รู้มากกว่า ถ้าคุณไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ คุณจะมานั่งฟังอยู่อย่างนี้ไม่ได้ คุณจะต้องทำอะไรอย่างสัตว์ทั่วๆ ไปอำนาจสมาธินำมาใช้บังคับกิริยาอาการให้สงบเสงี่ยมเรียบร้อย หรือนำมาใช้ในอาชีพการงานได้เป็นอย่างดี..รวมทั้ง สามารถนำมาสะกดจิตคนก็ได้อย่างนักจิตวิทยา เป็นต้น นำมาสะกดหรือบังคับสัตว์ต่างๆ ก็ได้ สัตว์ตัวเล็กเราไม่ต้องใช้พลังจิตมากก็สามารถบังคับได้ ผมเคยเอาอำนาจจิตของผมทดลองบังคับให้สุนัขเดินหน้า ถอยหลัง และทำอย่างอื่นตามที่ผมสั่งได้…”

ในขณะที่ท่านอาจารย์กล่าวอยู่นั้น ได้มีฝูงมดดำตัวโตๆ ชักแถวเดินออกจากรูมาเป็นร้อย ๆ ตัวซึ่งอยู่บริเวณที่นั่งคุยกันอยู่นั้น ด้วยความอยากเห็นกับตาของผมว่า..ที่ท่านอาจารย์พูดนั้นจะเป็นจริงอย่างไร หรือบอกตรงๆ ว่าอยากทดสอบท่านนั่นเองว่า ท่านจะทำได้จริงอย่างที่ท่านพูดหรือไม่ เพราะส่วนมากเห็นมีแต่ประเภทพูดได้ทำไม่ได้เสียมากกว่า ผมจึงพูดไปอย่างนั้นๆ เอง ไม่ได้นึกหวังผลอะไรหรอกครับ! ผมกราบเรียนท่านอาจารย์ต่อไปว่า..ที่ท่านอาจารย์พูดมาทั้งหมดนั้นผมก็เคยศึกษามา แต่ไม่เคยเห็นใครทำได้..ส่วนมากก็เป็นลูกคุยกันเสียมากกว่า

ท่านอาจารย์พูดสวนผมขึ้นมาทันทีว่า…คุณดูมดฝูงนี้ก็แล้วกัน !..

ผมและท่านอาจารย์ทิวาหันไปมองดูมดฝูงที่กำลังชักแถวเดินอยู่นั้นอย่างพร้อมกัน มดทั้งฝูงนับจำนวนเป็นร้อยๆ ที่กำลังมุ่งหน้าเดินไปข้างหน้า ต้องหยุดอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหวใด ๆ เหมือนไม่มีชีวิตทุกตัวหยุดนิ่งไปเลย..

ครู่ต่อมาท่านอาจารย์ท่านบอกว่า “ถอยหลัง”..

เป็นสิ่งที่เหลือเชื่อจริงๆ ที่ฝูงมดเดินถอยหลังกลับเข้ารูโดยไม่ได้กลับตัว นี่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ครั้งแรกที่ผมพบเห็นจากท่านอาจารย์ใหญ่ของเรา…

ท่านอาจารย์ทิวานั่งอยู่ในเหตุการณ์ด้วยกันฟังจบแล้ว ไม่ทราบท่านคิดอย่างไร ท่านจึงพูดขึ้นว่า..

“ขอโอกาสครับท่านอาจารย์ ผมมีความมั่นใจว่าจิตของผมแข็งไม่มีใครสามารถสะกดจิตผมได้ ผมเคยทดลองให้นักสะกดจิตชาวฝรั่งระดับด๊อกเตอร์สะกดผมมาแล้ว ไม่สามารถทำอะไรผมได้เลยแม้แต่คนเดียว..”

ท่านอาจารย์สมชายกล่าวว่า.. นั่นมันด๊อกเตอร์ แต่ถ้าผมสะกดท่านได้ จะว่าอย่างไร?

พระอาจารย์ทิวาตอบด้วยอารมณ์ทิฐิว่า..ผมจะยอมเป็นศิษย์ท่านอาจารย์ตลอดชีวิต จะไม่ยอมสึกเลย

ท่านอาจารย์สมชาย กล่าวต่อว่า..ท่านรูปเดียวไม่พอมือผมหรอก ผมต่อให้ท่านหาผู้ช่วยได้อีก ๑ รูป รวมเป็น ๒ รูป ..

ผม (อ.ณรงค์) กล่าวขึ้นทันทีเลยว่า..ผมขออาสาเป็นผู้ช่วยเองครับ แต่มีข้อแม้ว่า ท่านอาจารย์ต้องสะกดผมคราวเดียวสองรูปก่อน เสร็จแล้วถ้าท่านอาจารย์สะกดผมทั้งสองรูปไม่ได้ในคราวเดียว
ผมทั้งสองจะช่วยกันสะกดท่านอาจารย์ เรียกว่า สองต่อหนึ่งนั่นเอง อย่างนี้ได้ไหมครับ?..

ผมพูดออกไปด้วยความกล้าๆ กลัวๆ แต่ก็อยากลอง อยากรู้จึงเสนอตัวไป

ท่านอาจารย์ถามอีกว่า.. แล้วพวกคุณจะพร้อมให้เริ่มเมื่อไร ?

พระอาจารย์ทิวากล่าว..คืนนี้สี่ทุ่ม ท่านกล่าวออกไปด้วยความมั่นใจของท่าน

ท่านอาจารย์กล่าวต่อว่า..โดยมีกติกาอย่างนี้..เราจะสะกดกันโดยไม่ต้องเห็นหน้ากัน ให้ท่านทั้งสองรูปกลับไปเตรียมตัวที่กุฏิอย่างเต็มที่ จะนั่งสมาธิเตรียมตัวก็ได้ จะเดินจงกรม หรือจะทำอะไรก็ได้ ที่คิดว่าพลังจิตของผมจะไปสะกดท่านไม่ได้ และ เมื่อเข็มนาฬิกาตรงสี่ทุ่มปุ๊บ ผมจะสะกดให้ท่านล้มลงทันที จะไม่ให้อวัยวะร่างกายของท่านเคลื่อนไหวได้เลย ผมจะสะกดจนกว่าท่านจะยอมแพ้จึงจะคลายพลังจิตออกจากการสะกดให้นั่นถือว่า..ท่านแพ้ผม… ถ้าถึงเวลาแล้วผมทำอะไรท่านไม่ได้เป็นอันว่า …ผมแพ้ท่าน… และก็เป็นโอกาสที่ท่านทั้งสององค์จะต้องสะกดผมจนกว่าผมจะยอมแพ้…

คืนนั้นหลังจากตกลงกันเสร็จแล้วผมกับท่านอาจารย์ทิวาก็นัดกันว่าก่อนสี่ทุ่มคืนนี้เราทั้งสองรูปจะต้องนั่งสมาธิให้จิตสงบแข็งแกร่งที่สุดเพื่อเตรียมตัวรับมืออย่างเต็มที่ คงไม่มีใครที่ไหนสามารถมาทำอะไรได้ ต่างคนต่างเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่

“…สี่ทุ่มตรง ผมหงายหลังทั้งๆ ที่ขายังขัดสมาธิอยู่นั่นเอง ผมรู้ตัวว่าผมถูกสะกดแล้ว ผมก็ดิ้นๆ พยายามดิ้นเพื่อให้ร่างกายเคลื่อนไหว พยายามที่จะลุกขึ้นนั่ง พยายามที่จะร้องเรียกท่านอาจารย์ทิวา แต่ก็ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง ผมพยามยามดิ้นอยู่พักใหญ่ ชักเริ่มหายใจไม่ออกแล้ว เหงื่อเม็ดโตๆ เริ่มออกมาท่วมตัวผมแล้ว จิตใจผมรู้หมดทุกอย่าง แต่ร่างกายอึดอัดเหมือนถูกจับมัด จะขยับส่วนไหนก็ไม่ได้ทั้งสิ้น ผมเห็นท่าจะไม่ไหวแน่แล้ว ขืนทนต่อไปต้องขาดใจตายแน่ จิตตัวผู้รู้ของผมจึงบอกว่า ยอมแพ้แล้วครับท่านอาจารย์.! “

เท่านั้นเอง อาการอึดอัดของผมเริ่มหายใจปกติขึ้น ค่อยๆ คืนสู่สภาพปกติ ผมจึงนึกถึงท่านอาจารย์ทิวา ว่าอาการจะเหมือนอย่างผมไหม?… จึงรีบเดินไปที่กุฏิท่านอาจารย์ทิวา อาการคงไม่ต่างกัน แต่จิตท่านแข็งกว่าผม ท่านยังไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ “…เสียงดิ้น ตึงตังๆ อยู่ในกุฏิ เสียงลมหายใจดัง ฟืดฟาดๆ จิตท่านแข็งจริงๆ ท่านต่อสู่ทางพลังจิตกับท่านอาจารย์อยู่ได้ถึง ๔๐ นาที ผลสุดท้ายเห็นท่าจะไม่ไหวจริงๆ แล้ว ก็ต้องยอมแพ้โดยดุษฎี เหมือนอย่างผม…”

หลังจากที่ท่านอาจารย์คลายพลังจิตออกจากการสะกดท่านอาจารย์ทิวาแล้ว พวกผมก็เอาผ้าชุบน้ำเข้าไปเช็ดตัวให้ เห็นเหงื่อท่านอาจารย์ทิวาเปียกไปทั้งตัวเหมือนกับเพิ่งสรงน้ำเสร็จใหม่ๆ หลังจากนั้น ผมและท่านอาจารย์ทิวาก็นำดอกไม้ธูปเทียนเดินไปที่กุฏิท่านอาจารย์กราบขอขมาลาโทษที่ล่วงเกินท่าน ยอมรับท่านเป็นครูบาอาจารย์ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงทุกวันนี้แหละครับ พันเอกพิเศษ อาจารย์ณรงค์ แสงมณี เล่าจบลงด้วยความสนอกสนใจของพระภิกษุสามเณรเป็นอย่างมากทีเดียวสำหรับเรื่องนี้

ภายหลังจากเหตุการณ์ทดลองพลังจิตระหว่างศิษย์กับอาจารย์ในครั้งนั้นผ่านไปแล้ว ทั้งผม และท่านอาจารย์ทิวา ไม่ว่าท่านอาจารย์จะบอกอะไร สอนอะไร ให้ทำอะไร เป็นอันว่ายอมทำตามทุกอย่างโดยที่ไม่มีทิฐิมานะภายในจิตใจใดๆ ทั้งสิ้น

ท่านอาจารย์ทิวาหลังจากท่านบวชได้ ๑ พรรษา ท่านก็ได้ลาออกจากราชการทหารเรือเลยทีเดียว เพราะท่านต้องการพ้นทุกข์ ท่านเป็นลูกผู้ดีมีสกุล ทั้งรวยทั้งหล่อ เป็นนักเรียนเมืองนอก ผ่านมาหมดทุกอย่าง ท่านจึงมุ่งทางธรรมอย่างเดียว ผมก็อนุโมทนากับท่านด้วย แต่ผมเองก็อยากอยู่ในทางธรรมเหมือนกัน เคยถามท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านบอกว่า “คุณอยากอยู่ ก็อยู่ไม่ได้หรอก เพราะยังไม่หมดกรรม ต้องออกไปรับใช้ประเทศชาติ ” ก็จริงอย่างท่านว่า ผมก็ต้องออกมารับใช้ประเทศชาติจนเกษียณอายุนี่แหละครับ….

(ฐานข้อมูล โดย พันเอกพิเศษอาจารย์ณรงค์ แสงมณี)

◎ พันธสัญญา อยู่จำพรรษาและอุปัฏฐากหลวงปู่หลุย จันทสาโร
ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ จำพรรษาที่ สวนปทุมธานี ต.สวนพริกไทย อ.เมือง จ.ปทุมธานี

หลวงปู่หลุย จันทสาโร ท่านได้วิเวกไปตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นลำดับจนใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษาปี ๒๕๒๐ ท่านก็มาพักโปรด “ชาวจังหวัดภาคใต้” อันเป็นสำนวนของท่าน อยู่ที่วัดควนเจดีย์ จังหวัดสงขลา ปรากฏว่าในระหว่างนั้นท่านอาพาธมีอาการเจ็บที่คอ ได้รักษากันอยู่นานแต่ไม่หาย ท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร จึงได้เดินทางไปรับท่านกลับมาที่กรุงเทพฯ และขอให้ท่านเลือกสถานที่จำพรรษาในกรุงเทพฯทั้งนี้ นอกจากการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ยังต้องการหมอนวดเส้นเป็นพิเศษที่จะรักษาอาการอาพาธของท่านได้ ท่านบอกว่า แม้แต่จะเอี้ยวคอก็รู้สึกเจ็บมากแต่ถึงกระนั้น หลวงปู่หลุย ท่านก็จะไม่ค่อยฉันยาสักเท่าใด

ในเรื่องเกี่ยวกับอาพาธนี้ หลวงปู่หลุย จันทสาโร ท่านมีข้อสัญญาตกลงกับท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร ซึ่งหลวงปู่หลุยเล่าว่า ท่านบังคับให้ท่านพระอาจารย์ทิวาเซ็นสัญญากับท่านก่อน ท่านจึงจะยอมมากรุงเทพฯ ด้วย เป็นสัญญาสุภาพบุรุษ โดยต่างองค์ต่างก็เป็นอนาคาริกไม่มีที่อยู่ เดินทางไปเรื่อย ๆ ไม่มีลูกศิษย์ปฏิบัติใกล้ชิด ไปองค์เดียวตลอด ดังนั้นหากองค์ใดองค์หนึ่งเกิดอาพาธขึ้น อีกองค์จะต้องเดินทางมาดูแลกัน อันนี้เป็นอุบายของท่านพระอาจารย์ทิวา ถ้าท่านไม่ยอมรับสัญญาสุภาพบุรุษจากหลวงปู่เช่นนั้น หลวงปู่ก็คงไม่ยอมรับความปรารถนาดีจากท่านพระอาจารย์ทิวาเป็นแน่แท้ คือหมายความว่า ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันว่า เมื่อหลวงปู่หลุยอาพาธ ท่านพระอาจารย์ทิวาขอเข้ามาดูแลท่าน และในกรณีกลับกัน ท่านพระอาจารย์ทิวาก็ต้องยอมรับว่า เมื่อท่านเกิดอาพาธขึ้นบ้าง หลวงปู่ก็จะต้องไปดูแลเช่นกัน เป็นการที่หลวงปู่ถือว่า เท่าเทียมกันไม่เอาเปรียบกัน โดยหลวงปู่หลุย ท่านไม่ได้คำนึงถึงเลยว่า ท่านนั้นเป็นเถระผู้ใหญ่ ซึ่งมีพรรษาถึง ๕๓ พรรษาแล้ว ในขณะที่ท่านพระอาจารย์ทิวาเพียง ๒๐ พรรษา แต่หลวงปู่ก็ถือว่าเท่าเทียมกัน อันนี้เป็นคุณธรรมอีกประการหนึ่งที่หลวงปู่ได้แสดงให้เห็นว่าท่านไม่เคยถือว่า องค์ท่านเองเป็นพระเถระผู้ใหญ่เลย

สถานที่ซึ่งท่านเลือกเป็นที่จำพรรษาในปีนั้นคือ ที่สวนปทุมธานี เป็นที่สวนซึ่ง คุณประชา และ คุณไขศรี ตันศิริ ได้ซื้อไว้ส่วนหนึ่ง และในบริเวณสวนที่ติดต่อกันนั้น เป็นของ คุณมานพ กับ คุณอารี สุภาพันธุ์ สภาพบริเวณนั้นคล้ายป่า ทั้งนี้เพราะเจ้าของที่ซื้อแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร อีกทั้งมีคูน้ำลัดเลาะในบริเวณ สงบ สงัดเหมาะแก่การเจริญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง

ความจริงท่านเคยมาพักอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะไปจำพรรษาที่จันทบุรีในปี ๒๕๑๘ ท่านพอใจสถานที่นี้มาก และกล่าวว่า ที่นี่เป็นสถานที่มงคล ภาวนาดี

เจ้าของที่ได้จัดสร้างกุฏิสองหลัง แยกกันอยู่กุฏิละด้าน หลังหนึ่งสำหรับเป็นที่พักของหลวงปู่ และอีกหลังหนึ่งเป็นที่พักของท่านพระอาจารย์ทิวา พรรษานั้นท่านจำพรรษากันเพียงลำพังสององค์ โดยมีข้อตกลงว่า หลังจากที่ท่านพระอาจารย์ทิวาถวายยาตามกำหนดเวลาอันควรแล้ว และเมื่อฉันจังหันแล้ว ต่างองค์จะแยกกันไปวิเวกเจริญภาวนาอยู่ในที่ของตน ไม่มาวุ่นวายเกี่ยวข้องกัน ต่างองค์ต่างอยู่ ไม่รบกวนกันให้เวลาแต่ละองค์ได้ปรารภความเพียรอย่างเต็มที่ ต่อเมื่อถึงตอนค่ำ หากว่ามีญาติโยมมากราบนมัสการ จึงจะออกมาทำวัตรสวดมนต์พร้อมกัน หากไม่มีทั้งสององค์ก็จะอยู่แต่ในที่ของท่าน เพียงแต่ท่านพระอาจารย์ทิวาคอยดูแลถวายยาตามกำหนดเวลาเท่านั้น

ตอนปลายพรรษานั้นเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียน(คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต) ได้มีโอกาสไปกราบท่าน ได้กิตติศัพท์ของท่าน ได้ไปกราบท่านพระอาจารย์ทิวาที่เรือนพักของท่านก่อน ท่านก็บอกว่า ให้มารอที่ศาลาซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารชั่วคราว พื้นดูเหมือนระยะนั้นจะไม่ได้ราดซีเมนต์ด้วยซ้ำ แต่มีที่ตั้งพระพุทธรูป มีแคร่สำหรับพระสงฆ์ที่จะนั่งฉันจังหัน เราก็ปูเสื่อรออยู่ที่พื้น ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็มองไปรอบ ๆ ด้วยความชื่นชมด้วยได้กลิ่นดอกจำปาหอมตลบอบอวลไปหมด เงยหน้าขึ้นไปก็มองเห็นเชือกที่ท่านขึงเป็นราวไว้ เข้าใจว่า ก่อนหน้านั้นก็คงมีผู้ที่ได้ไปกราบท่าน และได้ถวายพวงมาลัยเป็นพุทธบูชา ท่านให้แขวนไว้ตามรายเป็นพวง ๆ ไป มองดูว่าอุบะของพวงมาลัยเหล่านั้นจะมีอุบะพวงใดที่มีดอกจำปาบ้าง แต่ก็แปลกใจมากที่ไม่เห็นดอกจำปาตามอุบะเหล่านั้นเลย แต่เหตุใดทั้งบริเวณจึงมีกลิ่นจำปา และกลิ่นถึงได้หอมมากเช่นนั้น ลุกขึ้นเดินอยู่รอบศาลาแล้วก็มองไปในป่า

ท่านอาจารย์ทิวาซึ่งตามมาจากกุฏิ ท่านก็เห็นเราเดินวน ๆ อยู่จึงถามว่า นั่นผู้เขียนเดินดูอะไร ก็กราบเรียนท่านว่า เดินมองหาต้นจำปาเจ้าค่ะ เพราะได้กลิ่นหอมมากเหลือเกิน ไม่ทราบว่าเจ้าของสวนไปปลูกไว้ที่ตรงไหน

ท่านก็หัวเราะ บอกว่าที่นี่นั้นไม่มีต้นจำปา

ผู้เขียน(คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต) สงสัยว่า ถ้าเช่นนั้นกลิ่นจำปาจะมาจากที่ไหน

ท่านไม่ตอบโดยตรง แต่กล่าวว่า “เรื่องพรรค์นี้ อาตมาไม่ค่อยพบ คุณพบบ่อย…” หมายความว่า คงเป็นเรื่อง “พิเศษ”แล้ว ระยะนั้นผู้เขียนเริ่มทราบแล้ว เพราะได้พบสิ่งที่พิเศษ ไม่อยากจะเรียกว่า “ปาฏิหาริย์”
…ทำนองที่ว่าบางครั้งเราไปกราบครูบาอาจารย์องค์ใด ที่คิดว่าท่านผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ และมีจิตบริสุทธิ์นั้นมักจะมีกลิ่นหอมพิเศษให้เราได้กลิ่นอยู่เสมอ ดอกไม้ไนบริเวณนั้นไม่มี ป่าใกล้นั้นก็ไม่มีต้นไม้ชนิดนั้นอยู่ แต่กลิ่นดอกไม้ประเภทนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นได้ บางครั้งอาจจะเป็นมะลิหรือจำปา หรือเป็นจำปีหรือกุหลาบ หรือแม้แต่มีกลิ่นพิเศษซึ่งไม่อาจจะตอบได้ว่าเป็นกลิ่นของดอกไม้ใด และบางครั้งก็อาจจะ เป็นกลิ่นของดอกไม้ที่มีเสียงบอกขึ้นมาชัดว่าดอกไม้นี้ไม่มีในโลกนี้

คราวนี้ก็เช่นกัน การที่ได้กลิ่นหอมดอกไม้เป็นพิเศษ ในวาระแรกที่จะได้กราบ ทำให้ผู้เขียนอดแอบคิดขึ้นในใจไม่ได้ว่า ท่านองค์นี้ย่อมทรงศีลบริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์อย่าว่าแต่มนุษย์จะบูชาเลย แม้แต่เทพยดาก็ยังมาบูชาด้วย ทำให้เราพลอยได้กลิ่นหอมของดอกไม้ทิพย์ด้วย

(คัดลอกจาก : หนังสือประวัติหลวงปู่หลุย จันทสาโร เขียนบันทึกโดยคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต)

หลวงปู่ทิวา อาภากโร
หลวงปู่ทิวา อาภากโร

ปัจจุบัน หลวงปู่ทิวา อาภากโร ท่านมีอายุ ๘๗ ปี พรรษา ๖๒ (วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓) ท่านจำพรรษาอยู่ ณ ที่พักสงฆ์เสริมรังษี ต.หนองย่างเสือ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ท่านเมตตาอบรมธรรมะและการปฏิบัติธรรมให้แก่ศิษยานุศิษย์และผู้สนใจ ในแบบวิปัสสนายานิก ในระบบของอานาปานสติ ตามแนวทางขององค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร

โอวาทธรรมหลวงปู่ทิวา อาภากโร

“..ไม่ตื่นตระหนก มีสติ ไม่ประมาท จะอยู่ที่ไหนก็ตาย เราเกิดมาเพื่อตาย ไม่มีใครเกิดมาแล้วไม่ตายซักคน เกิดเท่าไหร่ตายเท่านั้น ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาทองที่จะพิจารณาความตายดีที่สุด เราจะตายแบบคนทั่วไป หรือเราจะตายไปพร้อมบุญและกุศลคุณความดี..”

“..วัดอยู่ที่ไหน ศาสนาไม่ได้อยู่ที่วัด ศาสนาไม่ได้อยู่ที่ตำราคัมภีร์ วัดอยู่ที่ใจเรานี่ ศาสนาก็อยู่ที่ใจเรานี่ ฉะนั้นให้เรามาค้นดูที่ใจ มาศึกษาดูที่ใจ ฤาษีตนหนึ่งในสมัยพุทธกาลมีฤทธิ์มาก มีอภิญญามาก ต้องการดูที่สุดของโลกที่สุดของจักรวาล จึงเหาะขึ้นไปในอากาศด้วยความเร็ว เหาะไปอยู่ร้อยปีจนตายไปในอากาศ ก็ไม่เจอที่สุดของโลกของจักรวาล เมื่อตายไป ไปบังเกิดเป็นพรหม ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงได้กราบเรียนถามพระพุทธเจ้าว่า ที่สุดของโลกที่สุดของจักรวาลอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ที่สุดของโลกที่สุดของจักรวาล อยู่ที่ใจเรานี่ ให้เข้ามาดูที่ใจ มาค้นดูศึกษาดูที่ใจ วัดทั้งหลายนั้นจึงยังไม่ใช่ศาสนา แต่ศาสนาคือวัด วัดดูที่ใจเรานี่..”

ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน