ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ทิม อิสริโก
วัดละหารไร่
อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
พระครูภาวนาภิรัติ (หลวงปู่ทิม อิสริโก) พระเกจิดังแห่ง วัดละหารไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ต้นตำรับวัตถุมงคลผงพรายกุมาร อันเลื่องชื่อ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ท่านจะละสังขารไปแล้ว แต่ความเลื่อมใสศรัทธายังมิได้เสื่อมคลาย
หลวงปู่ทิม อิสริโก อดีตเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ ยอดพระคณาจารย์ที่มีพลังจิตแก่กล้ารูปหนึ่งของภาคตะวันออก ท่านเป็นคนถือสันโดษ ถือสมถะ ไม่ยึดติดทรัพย์สินใดๆ ท่านฉันอาหารเพียงมื้อเดียวและไม่ฉันเนื้อสัตว์ ท่านสามารถตัดกิเลสออกไปทั้งปวง
◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่ทิม อิสริโก มีนามเดิมชื่อ “ทิม งามศรี” ท่านเกิดเมื่อ ปีมะแม วันศุกร์ เดือน ๗ ตรงกับวันที่ ๑๖ เดือน มิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๒ เกิดที่บ้านหัวทุ่งตาบุตร หมู่ที่ ๒ ต.ละหาร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี) บิดา-มารดา ชื่อ “นายแจ้ งามศรี” และ “นางอินทร์ งามศรี”
มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันเป็นชายทั้ง ๓ คน ท่านเป็นคนกลาง และยังเป็นหลานของ “หลวงปู่สังข์” โดยมารดาของท่านเป็นน้องสาวหลวงปู่สังข์
หลวงปู่สังข์ ผู้นี้เป็นพระปรมาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคมอย่างยิ่งในสมัยนั้น และยังเป็นผู้ก่อตั้ง “วัดละหารไร่” ขึ้น เป็นพระที่เรืองวิทยาอาคมมาก ว่ากันถึงขนาดว่า น้ำลายที่ท่านถมถ้าถูกพื้นๆ จะแตก จนเมื่อทางจังหวัดทราบถึงความเก่งกล้าในวิทยาอาคมของท่าน จึงนิมนต์มาอยู่ที่วัดเก๋งจีน และได้สร้างพระเนื้อตะกั่ววัดเก๋งจีนขึ้น
หากแต่ก่อนที่จะไปอยู่วัดเก๋งจีนนั้น หลวงปู่สังข์ได้ทิ้งตำราและวิทยาการต่างๆ ไว้ที่วัดละหารไร่ทั้งหมด เพราะท่านไม่หวงแหนในวิชาของท่านแต่อย่างใด ท่านกล่าวว่า “ใครมีปัญญาก็ค้นคว้าเอาเอง” นี่จึงเป็นที่มาว่า เหตุใดหลวงปู่ทิมจึงได้มวิชาแก่กล้าในกาลต่อมาเช่นกัน
◉ ปฐมวัย
ต่อมาเมื่อมีอายุเจริญวัยได้ ๑๗ ปี นายแจ้ผู้เป็นบิดาได้นำตัวของหลวงปู่ทิมไปฝากไว้กับท่านพ่อสิงห์ ที่วัดได้เล่าเรียนหนังสือกับท่านพ่อสิงห์พระอาจารย์เป็นเวลาประมาณ ๑ ปี
จนเมื่อมีความสามารถเรียนรู้จนเข้าใจเขียนได้อ่านออกดีแล้ว นายแจ้ผู้เป็นบิดาของท่าน จึงได้ไปกราบนมัสการท่านพ่อสิงห์ขอตัวหลวงปู่ทิมให้กลับมาอยู่ที่บ้านเช่นเดิมเพราะไม่มีคนช่วยงาน หลวงปู่ทิมจึงได้ลาสิกขาออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานอย่างมีความกตัญญูกตเวที
ในวัยหนุ่มของหลวงปู่ทิมนั้น ท่านเป็นคนคะนองเอาการอยู่ โดยท่านจะเป็นคนไปหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัวด้วยการยิงนกตกปลาและออกเที่ยวล่าสัตว์ใหญ่ เพื่อนำไปขาย ซึ่งท่านทำไปด้วยความคึกคะนองประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวของท่าน
จนเมื่อท่านอายุได้ ๑๙ ปี ท่านจึงถูกคัดเลือกเป็นทหารและได้เข้าประจำการที่กรุงเทพฯ เป็นเวลาถึง ๔ ปีเศษ จึงได้รับการปลดปล่อยกลับมาอยู่ที่บ้านตามเดิม แต่เมื่อกลับมาอยู่บ้านได้ไม่นาน บิดาของท่านจึงได้จัดการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ
◉ วัยบวชเรียน
ที่สุด หลวงปู่ทิมอุปสมบท เมื่อวันที่ ๗ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๙ โดยมีพระคุณเจ้าท่านพระครูขาว วัดทับมาเป็นพระอุปัชฌายะ พระอาจารย์เกตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สิงห์ (พระอาจารย์ของท่าน ในขณะที่ท่านได้ศึกษาครั้งแรก) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ณ พัทธสีมา วัดละหารไร่
ตอนนั้น ท่านได้ฉายาว่า “อิสริโก” เมื่อท่านบวชเป็นพระภิกษุแล้วท่านก็มาอยู่ที่วัดกับพระอาจารย์สิงห์ได้ ๑ พรรษา ขณะที่ท่านอยู่กับพระอาจารย์สิงห์นั้น ท่านได้ค้นคว้าและศึกษาตำราของหลวงปู่สังข์ที่ได้ทิ้งไว้ให้ตามตู้พระไตรปิฎก
นอกจากนี้ หลวงปู่ทิม อิสริโก ยังตั้งใจที่จะฝึกฝนตนเองด้วยการออกธุดงค์ ซึ่งโดยมากพระในรุ่นเดียวกันไม่ค่อยทำกัน เพราะต้องการศึกษาในทางพระปริยัติธรรมมากกว่า
หลวงปู่ทิมเมื่ออยู่ครบพรรษาแล้ว จึงขออนุญาตและมนัสการกราบลาอาจารย์ออกธุดงค์ไปหลายจังหวัดเป็นเวลา ๓ ปี จึงตัดสินใจเดินทางกลับมายังจังหวัดชลบุรี บ้านเกิด
ตอนแรกท่านจำพรรษาอยู่ที่ “วัดนามะตูม” เป็นเวลา ๒ พรรษา โดยระหว่างนั้น ยังร่ำเรียนวิชากับเกจิอาจารย์หลายอาจารย์ด้วยกัน รวมทั้งฆราวาส โยมเริ่ม โยมรอด และโยมสาย
นอกจากนั้นยังศึกษาตำราซึ่งตกทอดมาจากหลวงปู่สังข์เฒ่า เจ้าอาวาสวัดเก๋งจีนซึ่งเป็นลุงแท้ๆ ของหลวงปู่ทิม เป็นเวลา ๒ ปี เศษ และต่อมาท่านจึงกลับมาอยู่ที่วัดละหารไร่หรือ (วัดไร่วารี) ตามเดิม
◉ แสงสว่างที่วัดละหารไร่
ในยุคนั้น วัดละหารไร่ ซึ่งเดิมชื่อ “วัดไร่วารี” เนื่องจากมีน้ำอยู่ล้อมรอบ ว่ากันว่าเป็นที่กันดารมาก ถ้าจะไปต้องบุกป่าฝ่าดงพอสมคใร และอาจหลงทางได้ โดยในสมัยนั้นยังไม่มีถนน มีแต่ทางเดินแคบๆ เท่านั้น
หลวงปู่ท่านจึงพัฒนาวัดขนานใหญ่ ด้วยความร่วมมือจากญาติโยมในท้องถิ่น จนต่อมาคณะสงฆ์ได้มอบหมายให้ท่านเป็น “พระอธิการทิม อิสริโก” เจ้าอาวาสวัดละหารไร่
ต่อมาท่านยังได้ก่อสร้างเสนาสนะ บูรณะซ่อมแซมกุฏิ และอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น ก่อสร้างพระอุโบสถขึ้น ๑ หลัง และในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ได้จัดให้มีการเปิดโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อสอนกุลบุตรกุลธิดาของประชาชน โดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นสถานที่สอน
โดยในการนี้ ชาวบ้านต่างให้ความร่วมมือกับหลวงพ่ออย่างดี มีอาคารเรียน ๑ หลัง ตามแบบ ป.๑ ข. โดยใช้เวลาการก่อสร้างเพียง ๘ เดือนก็แล้วเสร็จเรียบร้อย
ต่อมาท่านก็ชักชวนชาวบ้านช่วยกันพัฒนาก่อสร้างสะพานข้ามคลองอีกหลายแห่ง สร้างหอฉันและศาลาการเปรียญสำเร็จ ด้วยเงินกว่า ๔ ล้านกว่า
ด้วยผลงานดังกล่าว ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร และในปี พ.ศ.๒๕๐๗ ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็น “พระครูภาวนาภิรัติ”
◉ เป็นที่เคารพตลอดกาล
ในครั้งแรกท่านไม่ใยดีกับยศตำแหน่งที่ทางการคณะสงฆ์ได้มอบให้ และถูกทางคณะสงฆ์เร่งรัดให้ท่านเดินทางไปรับพัดยศที่จังหวัด ซึ่งท่านก็ไม่ไปรับ
จนกระทั่งชาวบ้านรู้ข่าว จำต้องพร้อมใจกันจัดขบวนแห่ไปรับพัดยศ และตราตั้งมาถวายให้กับท่านถึงวัด ท่านจึงต้องจำยอมรับอย่างเสียมิได้
อย่างที่เกริ่นไปว่า หลวงปู่ทิม อิสริโก ท่านเป็นพระที่น่าเคารพและบูชาเป็นอย่างยิ่ง นั่นเพราะท่านเป็นพระที่ยึดมั่นในพระธรรมและวินัยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระมักน้อย สันโดษ ไม่ยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส
ทั้งนี้ ท่านฉันเช้าประมาณ ๗ โมงเช้าและน้ำชาก็เวลา ๔ โมงเย็น ถ้าเลยเวลาหลวงปู่ไม่ยอมฉันแม้แต่น้ำชา ท่านฉันข้าวมื้อเดียวมาประมาณ ๔๗ ปี โดยงดเนื้อสัตว์จำพวก เนื้อ หมู เป็ด ไก่ หรืออาหารคาวทุกชนิด ว่ากันว่าแม้แต่น้ำปลาก็ไม่ฉัน แต่อาหารที่ท่านฉันเป็น ผัก ถั่ว หรือเส้นแกงร้อน น้ำพริกกับเกลือป่นอย่างนี้ตลอดมา
◉ มรณภาพ
พระครูภาวนาภิรัติ (หลวงปู่ทิม อิสริโก) ท่านได้มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อเวลา ๒๓.๐๐ น. ของวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๘ ณ หน้าหอสวดมนต์ วัดละหารไร่ หลังจากที่ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา เป็นเวลา ๒๓ วัน
คณะศิษย์ได้จัดพิธีศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดละหารไร่ หลังจากทำบุญ ๑๐๐ วัน อุทิศส่วนกุศลให้กับหลวงปู่ทิมแล้ว ได้เก็บศพไว้ที่ศาลาภาวนาภิรัต ศาลาการเปรียญ วัดละหารไร่ จนกระทั่งได้ทำการพระราชทานเพลิงศพท่านไปเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๖ ตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมสิริอายุได้ ๙๖ ปี พรรษา ๖๙
◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลของ หลวงปู่ทิม อิสริโก มีการสร้างทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นพระผง พระปิดตา พระกริ่ง เหรียญ รูปเหมือน ตะกรุด ผ้ายันต์ ฯลฯ แต่ละอย่างแต่ละรุ่น ล้วนได้รับความศรัทธาสนใจจากลูกศิษย์ลูกหา ชาวบ้าน และนักสะสมพระเครื่องทั่วประเทศ เนื่องจากมีประสบการณ์ในทุกด้าน โด่งดังไปทั่ว
อีกทั้งยังมีการนำรูปแบบพิมพ์ทรงองค์พระและชื่อพระเครื่องของท่าน ไปสร้างเลียนแบบโดยพระเกจิอาจารย์อื่นๆ มากมาย พระเครื่องของ หลวงปู่ทิม ที่โด่งดังสุดๆ อาทิ พระขุนแผนผงพรายกุมาร, พระกริ่งชินบัญชร, เหรียญเจริญพรบน, เหรียญเจริญพรล่าง, พระนาคปรกใบมะขาม (ปรกจ้อย) ฯลฯ
พระกริ่งชินบัญชร หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ จ.ระยอง ปี พ.ศ.๒๕๑๗ (ต้นกำเนิดของคำว่า “พระกริ่งชินบัญชร” ที่ได้รับความนิยมกันมาก จนมีพระเกจิอาจารย์ท่านอื่นๆ นำชื่อนี้ไปสร้างตามแบบอย่างหลายสำนัก)
พระกริ่งชินบัญชร หลวงปู่ทิม อิสริโก ประกอบพิธีเททองหล่อแบบโบราณ ที่ลานวัดละหารไร่ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๗ โดย หลวงปู่ทิม เป็นผู้เททองด้วยตัวท่านเอง พุทธลักษณะของพระกริ่งชินบัญชร ถอดแบบจาก พระกริ่งใหญ่ ของเมืองจีน โดยประยุกต์ให้งดงามยิ่งขึ้น สร้างด้วย เนื้อทองคำ จำนวน ๑๓ องค์ ทุกองค์ตอกเลขไทยตั้งแต่ ๑-๑๓ ไว้ที่ใต้ฐานซึ่งปิดด้วยแผ่นทองคำ พร้อมกับโค้ดรูป “ศาลา” ด้านหลังองค์พระตอกโค้ดตัวขอม “นะ” ทุกองค์พระกริ่งเนื้อทองคำ มีการเช่าหาแพงที่สุด
นอกจากนี้ยังมีการสร้าง พระกริ่งชินบัญชร เนื้อนวโลหะ ใต้ฐานปิดด้วยแผ่นเงิน ตอกโค้ดรูป “ศาลา” และโค้ดตัว “นะ” ที่ด้านหลัง มีทั้งตอกหมายเลขและไม่ได้ตอกหมายเลข เ และ พระกริ่งชินบัญชร เนื้อนวโลหะ ใต้ฐานปิดด้วยแผ่นทองแดง สร้าง ๒,๕๙๕ องค์ ตอกหมายเลขทุกองค์ พระกริ่งรุ่นนี้ หลวงปู่ทิม เททองหล่อ ที่ลานวัดละหารไร่ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๗ เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ร่วมบริจาคเงินบูรณะเสนาสนะวัดละหารไร่ พุทธลักษณะ เป็นพระกริ่งที่ถอดแบบมาจาก พระกริ่งใหญ่ของจีน ที่มีความงดงามมาก หลวงปู่ทิม ปลุกเสก ๗ วัน ๗ คืน