วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงปู่ทองใบ ปภัสสโร วัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม) อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ทองใบ ปภัสสโร

วัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม)
ต.คำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

พระราชสิทธาจารย์ (หลวงปู่ทองใบ ปภัสสโร) วัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม)

พระราชสิทธาจารย์ (หลวงปู่ทองใบ ปภัสสโร) ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่เป็นองค์ประธานสงฆ์ของวัดนาหลวง ท่านเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งวัดเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าจนมีศิษยานุศิษย์มากมาย มีความสามารถพิเศษในเชิงวาทศิลป์ การแสดงธรรมทุกครั้งจึงมีผู้เข้าร่วมรับฟังอย่างล้นหลาม ด้วยนิสัยและบุคลิกลักษณะที่สมถะสันโดษต้องการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ปรารถนาตำแหน่งฐานะที่สำคัญใด ๆ ท่านจึงขอเป็นประธานสงฆ์คอยให้คำปรึกษาในการบริหารงานในวัด ประวัติของท่านมีโดยสังเขปดังนี้

◎ ชาติภูมิ
พระราชสิทธาจารย์ (หลวงปู่ทองใบ ปภัสสโร) นามเดิมชื่อ ทองใบ แน่นอุดร เกิดเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๙ โยมบิดาชื่อ นายบุญ แน่นอุดร มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านโนน ตำบลป่าฝา อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด และโยมมารดาชื่อ นางศรี ชินามน มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านนามน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวน ๘ คน ซึ่งเป็นชาย ๖ คน หญิง ๒ คน เมื่อเยาว์วัยมีจิตใจใฝ่ในทางธรรมรบเร้าบิดามารดาว่าอยากไปอยู่วัดตั้งแต่ อายุ ๔ ขวบ แต่บิดามารดาเห็นว่ายังเด็กเกินไปจึงรอไว้ก่อน จนอายุ ๗ ขวบ เป็นเวลาที่ต้องเข้าเรียนหนังสือจึงได้ไปอยู่วัดพร้อมกับเรียนหนังสือจนจบ การศึกษาภาคบังคับคือชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔

◎ บรรพชาอุปสมบท
ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดนามน บ้านนามน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของโยมมารดา ชีวิตการเป็นพระภิกษุท่านได้ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรม ตรี โท เอก จากสำนักเรียนวัดสะแคนนามน กิ่งอำเภอนามน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ มีตำแหน่งหน้าที่การงาน ดังนี้
พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดสุขวนาราม ตำบลคำบง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นเจ้าคณะตำบลคำบง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นรองเจ้าคณะอำเภอบ้านผือ
พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นรองเจ้าคณะอำเภอบ้านผือ รูปที่ ๑

◎ ในด้านการศึกษาปฏิบัติธรรมของท่านนั้น ท่านแสวงหาและศึกษาอบรมจากพระอริยสงฆ์หลายท่าน ดังนี้
พ.ศ. ๒๕๐๘ อยู่กับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ และหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
พ.ศ. ๒๕๐๙ อยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่เพชร
พ.ศ. ๒๕๑๐ อยู่กับหลวงปู่ชา สุภัทโท
พ.ศ. ๒๕๑๑ อยู่กับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร (รอบสอง)
พ.ศ. ๒๕๑๒ อยู่กับหลวงปู่สด
พ.ศ. ๒๕๑๓ อยู่กับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล, หลวงปู่หล้า
พ.ศ. ๒๕๑๔ อยู่กับท่านพุทธทาส (รอบสอง)
พ.ศ. ๒๕๑๕ อยู่กับหลวงพ่อปัญญา วัดชลประทาน, หลวงปู่อาจ จังหวัดชลบุรี, หลวงปู่อาจ วัดมหาธาตุ และวัดเพลงวิปัสสนา
พ.ศ. ๒๕๑๖ – ๒๕๑๗ ท่านได้อยู่ปฏิบัติกรรมฐานในถ้ำโพธิสัตว์ จังหวัดสระบุรี

หลังจากนั้น ท่านได้ออกธุดงค์ทั่วไทย และยังไปถึงประเทศใกล้เคียงคือ ลาว เขมร พม่า และมาเลเซีย

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๓๐ ท่านได้สมาทานเข้าห้องบำเพ็ญภาวนา ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างอุกฤษฎ์ในอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง ที่วัดไทยทรงธรรม บ้านคำบง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี การปฏิบัติวิปัสสนาในห้องกรรมฐานนี้ จะสลับกับการออกธุดงค์ ดังนี้
อยู่ในห้องกรรมฐาน ๗ เดือน ออกธุดงค์ ๕ เดือน
อยู่ในห้องกรรมฐาน ๙ เดือน ออกธุดงค์ ๓ เดือน
อยู่ในห้องกรรมฐาน ๑๑ เดือน ออกธุดงค์ ๑ เดือน
พ.ศ. ๒๕๒๙ บำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ อำเภอภูหลวง
พ.ศ. ๒๕๓๐ บำเพ็ญภาวนา อยู่ที่ ถ้ำผาป่าไร่ (ถ้ำพญานาค) อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์

เมื่อครบ ๑๒ ปีแล้ว ท่านจึงออกเผยแพร่ธรรมเป็นเวลา ๑๐ ปี (๒๕๓๓-๒๕๔๓) มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม)

ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ท่านได้ตั้งสัจจะบารมีว่าจะถืออิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง งดอิริยาบถนอนเป็นเวลา ๓๐ ปี และท่านได้ถือปฏิบัติมาตลอดจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ท่านจำเป็นต้องนอน ทั้งนี้เพราะอาพาธต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยโรคกระดูกสันหลังทับ เส้นประสาท ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สาเหตุการอาพาธครั้งนี้สันนิษฐานว่าท่านกรำงานหนักเกินไป

ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอบ้านผือ แล้วเริ่มออกทำงานด้านการเผยแผ่พุทธธรรม โดยนำพระภิกษุสามเณรที่เป็นศิษยานุศิษย์ภายในวัดออกเผยแผ่ปีละ ๕ เดือนเป็นระยะเวลา ๑๐ ปี เริ่มจาก พ.ศ.๒๕๓๓ จนถึง ปี พ.ศ.๒๕๔๒

ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ ท่านได้ตั้งสัจจบารมีว่าจะไม่รับกิจนิมนต์ใดเพื่อทำพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นเวลา ๑๓ ปี จนถึง พ.ศ.๒๕๕๕ ทั้งนี้ เพื่อจะเป็นการทำกิจในการอบรมและสั่งสอนพระภิกษุสามเณรในวัดและประชาชนทุก หมู่เหล่าที่จะเข้ามาอบรมวิปัสสนากรรมฐานและฟังพระธรรมเทศนา ณ วัดนาหลวง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์

◎ การศึกษา
พระราชสิทธาจารย์ (หลวงปู่ทองใบ ปภัสสโร) ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรกตามระเบียบการศึกษาภาค บังคับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ หลังจากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือใบลานหลักสูตร อักขระ สันยะโต (มูลกระจายน์) จำนวน ๗ ผูก คือ สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ จนสำเร็จ ทำให้ ท่านแตกฉานในด้านอักษรศาสตร์ แม้กระนั้นท่านก็มิได้หยุดนิ่ง ได้ขวนขวายเล่าเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณ มีความสามารถในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง มีความขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันท่านได้ฟื้นฟูความรู้เรื่องพืชสมุนไพร โดยให้บรรดาลูกศิษย์ คณะญาติโยมสร้างสวนสมุนไพรขึ้น

◎ ผลงานหนังสือ
พระราชสิทธาจารย์ นอกจากจะเผยแผ่ธรรมด้วยมุขปาฐะแล้วยังได้เรียบเรียงคำ สอนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้หลายเล่ม เช่น ธรรมธารา เล่ม ๑-๒ และ ขันธ์ ๕ คือกองทุกข์ ละขันธ์ ๕ ละกองทุกข์ ในชุดเดียวกัน พ้นภัยด้วยธรรม มาตา ปิตุธรรม ธัมโม วิภาโค ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนั้น หนังสือ และเอกสารคำสอนต่าง ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนมรดกธรรมของท่านได้ถูกลูกศิษย์ลูกหา รวบรวม จัดทำเป็นรูปเล่ม ต่างกรรม ต่างวาระกัน ดังจะเห็นได้มากขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งมีการนำสื่อสมัยใหม่มาใช้ เพื่อช่วยเก็บหลักฐาน สะสมความรู้ และเรียบเรียงให้อยู่ในรูปแบบ วีซีดี ดีวีดี เทป และแม้กระทั่ง อยู่ในรูปแบบ MP3

◎ ลำดับสมณศักดิ์
ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ เป็น พระครูประภัสสรสุทธิคุณ
ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ เป็น พระภาวนาวิสุทธาจารย์
ในปี พ.ศ.๒๕๕๕๒ เป็น พระราชสิทธาจารย์

พระราชสิทธาจารย์ (หลวงปู่ทองใบ ปภัสสโร) วัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม)

ปัจจุบัน พระราชสิทธาจารย์ (หลวงปู่ทองใบ ปภัสสโร) ปฏิบัติหน้าที่เป็นองค์ประธานสงฆ์ของวัดนาหลวง ยังคงมุ่งมั่นเผยแผ่ธรรมให้กับพุทธศาสนิกชน อย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะโครงการแสดงธรรมทุกวันเสาร์ที่ ๒ ของเดือน เป็นกิจกรรมสำคัญที่พระราชสิทธาจารย์เปิดโอภาสให้มีการปุจฉา วิสัชนา ด้วยคุณงามความดีที่ท่านได้สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน สมควรที่จะได้รับการยกย่องสรรเสริญจากมหาชนทั้งหลายว่าเป็นพระอริยสงฆ์เป็น “ปูชนียบุคคลบนภูย่าอู่” โดยแท้

โอวาทธรรม …หลวงปู่ทองใบ ปภัสสโร…
“…คนพาลถึงจะรู้แค่ไหนก็คือคนพาล เหมือนเอาสายสร้อยไปใส่คอเป็ดมันก็คือเป็ด เอาไปใส่คอหมูก็คือหมู เอาไปใส่คอแมวก็คือแมว มันจะเป็นรสชาติอะไร ความรู้จากคนพาลก็ไม่แตกต่างกัน งูเห่าเอาไปไว้บนยอดฟ้ามันก็คืองูเห่า..”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง