วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่ทองสุข ฐิตปุญโญ วัดป่าวุฑฒาราม อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ทองสุข ฐิตปุญโญ

วัดป่าวุฑฒาราม
อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู

พระครูพันธสมณวัฒน์ (หลวงปู่ทองสุข ฐิตปุญโญ) วัดป่าวุฑฒาราม

พระครูพันธสมณวัฒน์ (หลวงปู่ทองสุข ฐิตปุญโญ) เดิมทีนั้นท่านเกิดที่ อำเภอหนองบัวภู จังหวัดอุดรธานี ซึ่งแต่ก่อนนั้นคืออำเภอหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี ก่อนจะแยกตัวออกมาเป็นจังหวัดในภายหลัง และชีวิตในวัยเด็กของท่านก็เหมือนกับวิถีชีวิตของเด็กต่างจังหวัดทั่วไป คือ เที่ยวเล่น ยิงนก ตกปลา ก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นท่านก็ใช้ชีวิตตามประสาวัยรุ่นบ้านทุ่ง กิน เที่ยว ดื่ม ไม่ได้มีอะไรที่แปลกประหลาดมากนัก

พอครบวัยเกณฑ์ทหารท่านก็ไปคัดเลือกทหาร ปรากฎว่าจับได้ใบดำไม่ได้เป็นทหาร ทีนี้ทางบ้านก็รบเร้าให้ท่านบวชมาตั้งแต่อายุ ๒๐ ท่านบอกว่าท่านขอผัดมาเรื่อยๆ ๓ ปี จนถึงอายุ ๒๓ ก็ไม่อยากขัดทางบ้าน ท่านจึงตัดสินใจบวชให้เมื่อปี พศ๒๕๐๗ และหวังใจว่าจะบวชไม่นานก็สึก เต็มที่ไม่เกินหนึ่งพรรษาเท่านั้น

ท่านบวชที่วัดบ้านเกิดของท่านคือ อหนองบัวลำภู จอุดรธานี (ในขณะนั้น) โดยมีพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายกรรมฐานหลายรูปเป็นครูบาอาจารย์

ด้วยวัยหนุ่ม ทำให้ท่านคิดถึงการใช้ชีวิตแบบปุถุชนธรรมดาสามัญ รอคอยเมื่อครบพรรษาก็ไปกราบขอความเมตตาจากครูบาอาจารย์ว่าขอสึก ปรากฎว่าครูอาจารย์ก็บ่ายเบี่ยงท่านเช่นกัน ท่านบอกว่าขอสึกกับครูบาอาจารย์อยู่ ๓ พรรษา แต่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ก็บ่ายเบี่ยงมาตลอด จนท้ายสุดท่านจึงคิดว่าถ้าเช่นนั้นก็บวชไปแบบนี้ก่อนเรื่อยๆ แต่ไปๆ มาๆ ท่านก็ไม่ได้สึก และครองเพศบรรพชิตมาจนถึงปัจจุบัน

องค์ท่านหลวงปู่ทองสุข ฐิตปุญโญ เมตตาเล่าว่า..

สมัยก่อนนั้น ปฏิบัติกันค่อนข้างหนักและค่อนข้างเอาจริงเอาจรัง ท่านเดินธุดงค์วัตรอยู่ในป่าในเขา บำเพ็ญเพียรแต่ละครั้งก็ค่อนข้างจะทรหดอยู่พอสมควร บ้างเดินทางข้ามจังหวัดไปกราบพ่อแม่ครูบาอาจารย์รุ่นใหญ่ ๆ ที่อยู่คนละภาค คนละพื้นที่ เช่น “หลวงปู่คำดี” อริยเจ้าแห่งวัดถ้ำผาปู่ เมืองเลย “หลวงปู่ขาว” อริยะเจ้าแห่งวัดถ้ำกลองเพล ที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านให้การเคารพยิ่ง รวมไปถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์รุ่นใหญ่ๆ รูปอื่น ๆ ในองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ท่านจะเดินทางไปกราบสักการะ

หลวงปู่บุญ ปัญญาวุฑโฒ
หลวงปู่บุญ ปัญญาวุฑโฒ วัดศรีโนนสังข์

ท่านเป็นศิษย์ของ หลวงปู่บุญ ปัญญาวุฑโฒ วัดศรีโนนสังข์ อดีตเจ้าคณะอำเภอโนนสังข์ จังหวัดอุดรธานี โดยหลวงปู่บุญรูปนี้คือ พระกรรมวาจาจารย์ ของหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ากลองเพล พ่อแม่ครูอาจารย์แห่งวงศ์พระกรรมฐานที่สาธุชนทั่วประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบัน ต่างให้ความเคารพเลื่อมใส ไม่เว้นแม้แต่พระมหากษัตริย์ตลอดจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์

ซึ่งหลวงปู่บุญ ผู้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ของหลวงปู่ขาวนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์รูปหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งแห่งวงศ์พระกรรมฐานในอดีตเช่นกัน

โดย หลวงปู่ทองสุข นั้นได้อยู่ปฏิบัติกับพระอาจารย์ของท่านคือหลวงปู่บุญกว่า ๑๐ ปี นอกจากนั้นแล้วองค์ท่านก็ได้ไปอยู่ปฏิบัติกับพ่อแม่ครูอาจารย์รูปสำคัญ ๆ ต่าง ๆ อีกมากมายอาทิ

หลวงหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม
หลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่
หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล

หลวงปู่ทองสุขท่านมีสหธรรมมิกมากมาย ที่เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นต้นว่า

หลวงปู่ประไพร สุภโร วัดป่าไพรรัตนวณาราม
หลวงปู่วิไลย์ เขมิโย วัดถ้ำพญาช้างเผือก
หลวงปู่น้อย ปัญญาวุโธ วัดป่านานาชาติ
หลวงปู่สมหมาย จิตตปาโล วัดป่าอนาลโย
หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ วัดศรีฐานใน

(ซ้าย) พระเทพมงคลญาณ (หลวงปู่สนธิ์ อนาลโย) วัดพุทธบูชา
(ขวา) หลวงปู่ทองสุข ฐิตปุญโญ วัดป่าวุฑฒาราม
(ซ้าย) หลวงปู่วงศ์ สุภาจาโร (ขวา) หลวงปู่ทองสุข ฐิตปุญโญ

ครั้งหนึ่ง หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ วัดศรีฐานใน พ่อแม่ครูอาจารย์ที่สำคัญยิ่งแห่งวงศ์พระกรรมฐานในยุคปัจจุบัน นั้นได้เคยกล่าวถึงหลวงปู่ทองสุขไว้ว่า..

“..หลวงปู่ทองสุข ท่านคือพระแท้ เป็นช้างเผือก แห่งวงศ์กรรมฐานที่ควรค่าแก่การบูชาอย่างแท้จริง..”

หรือแม้แต่องค์หลวงปู่หลอด ปโมทิโต แห่งวัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนานิคม) ท่านก็มีความคุ้นเคยและสนิทสนมกันเป็นอย่างดีตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ

หลวงปู่ทองสุข ฐิตปุญโญ วัดป่าวุฑฒาราม

องค์หลวงปู่ทองสุข นั้นท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า..องค์ท่านนั้นมีความสนิทกับ องค์หลวงปู่หลอด แห่งวัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนานิคม) ท่านว่าท่านมาที่วัดใหม่ฯ ตั้งแต่ยังไม่มีอะไร มีเพียงกุฏิไม่กี่หลัง ซึ่งจะเรียกว่ากุฏิก็คงจะไม่ถูก เรียกว่าเป็นกระท่อมไม้คงจะเหมาะกว่า ตอนนั้นมีพระภิกษุอยู่ที่วัดไม่กี่รูป ภายในวัดนั้นก็เป็นป่า ด้านหลังเป็นคลอง ด้านหน้าเป็นป่า และแวกนี้เป็นป่าทั้งนั้น ไม่ว่าจะหน้าวัดหรือว่าหลังวัด ไม่ได้มีตึกหรือมีความเจริญอย่างที่เห็นทุกวันนี้

หลวงปู่หลอด ปโมทิโต
หลวงปู่หลอด ปโมทิโต

โดยท่านมาที่วัดใหม่ฯ ช่วยองค์หลวงปู่หลอดสร้างให้เจริญขึ้น ซึ่งเดิมทีนั้นบริเวณวัดใหม่ฯ แห่งนี้นั้นมีผู้บริจาคที่ดินให้กับองค์หลวงปู่วิริยังค์ (ปัจจุบันท่านอยู่วัดธรรมมงคล พระโขนง กทม.) หลวงปู่วิริยังค์มีดำริให้สร้างและพัฒนาวัด

โดยหลวงปู่วิริยังค์ท่านได้นิมนต์หลวงปู่หลอดมาให้เป็นผู้ดูแล เพราะท่านครองวัดอื่นอยู่แล้ว เฉกเช่นที่ องค์หลวงปู่สนธิ์ วัดพุทธบูชา ก็ได้นิมนต์ หลวงตาสมหมาย ให้มาดูแลวัดป่าอนาลโย ประมาณนั้น เมื่อองค์หลวงปู่หลอด ท่านได้เข้ามาอยู่ที่วัดใหม่นั้น องค์หลวงปู่ทองสุข ท่านก็ได้เข้ามาช่วยพัฒนาวัด เทียวไปเทียวมาอยู่เช่นนี้ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน

เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้นว่า องค์ท่านนั้นมีความสนิทกับ องค์หลวงปู่หลอด ถือเป็นสหธรรมมิกรุ่นน้องและเป็นคนบ้านเดียวกันคือ อหนองบัวลำภู ซึ่งแต่ก่อนนั้นคืออำเภอหนึ่งของจอุดรธานี ก่อนจะแยกตัวออกมาเป็นจังหวัดหนองบัวลำภูในภายหลัง

ท่านร่วมสร้างร่วมพัฒนากับองค์หลวงปู่หลอด พระภิกษุ รวมถึงญาติโยมที่มีจิตศรัทธา โดยมีหลวงปู่วิริยังค์เป็นผู้ดูแลกำกับอีกที จากที่ไม่มีอะไร และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก “องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๙ ” และ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนารถ ” เสด็จมาทำพิธีฉลองพระอุโบสถให้ที่ วัดใหม่เสนา แห่งนี้

จนท้ายสุดวัดใหม่ฯ เจริญขึ้นเป็นลำดับอย่างที่เห็นทุกวันนี้ และหลังจากที่องค์หลวงปู่หลอดท่านละขันธ์แล้ว หลวงปู่ทองสุขท่านก็ยังเดินทางมาพักที่วัดใหม่เสนาเมื่อคราวมีกิจในกทมหรือจังหวัดใกล้เคียง เฉกเช่นแต่ตอนที่หลวงปู่หลอดยังอยู่สมัยก่อน

นี่คือคำบอกเล่าที่เกี่ยวกับองค์ท่านและประวัติของวัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนานิคม)

“..ปู่เป็นพระบ้านนอก ไม่ค่อยรู้จักใคร และก็ไม่มีใครค่อยรู้จักหรอก ปู่มีหน้าที่แค่ปฏิบัติตนให้ดี ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ก็เพียงพอแล้วน่ะลูก..”

ถ้อยคำที่แสดงถึงศิลจารวัตรที่สมถะ เรียบง่าย เต็มไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนขององค์หลวงปู่ทองสุข ที่มักจะกล่าวให้ศิษย์ได้ยินอยู่เสมอ ๆ

หลวงปู่ทองสุข ฐิตปุญโญ พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแห่งวัดป่าวุฑฒาราม จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นครูบาอาจารย์ที่ควรค่าแก่การบูชาอย่างยิ่ง เพราะเมตตาของท่านนั้นไม่มีประมาณ ท่านเป็นพระที่พูดน้อย แต่มากด้วยรอยยิ้ม อะไรก็ได้ ไม่เคยขัดศรัทธาใคร ใครมีอะไรที่ต้องการอยากให้ท่านช่วยเหลือท่านช่วยหมด ไม่เคยเลือกชั้นวรรณะ

เป็นพระที่เต็มไปด้วยความเมตตา และอ่อนน้อมถ่อมตน ถึงแม้ท่านจะครองเพศบรรพชิตมามากกว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม

หากจะวัดกันที่พรรษาแล้ว องค์ท่านนั้นถือว่าเป็นพระผู้ใหญ่ระดับพระมหาเถระ เลยก็ว่าได้ แต่ก็อย่างที่ได้เรียนไว้ ว่าท่านไม่มีการถือตัว ไม่มีการโอ้อวด อะไรทั้งนั้น

มีเพียงรอยยิ้มแห่งความเมตตาและหลักคำสอนที่มักจะมีอะไรไว้ให้ขบคิด เป็นอุบายธรรมแบบง่าย ๆ แต่เต็มไปด้วยความแยบคายที่ให้บรรดาญาติโยมได้นำไปใช้ต่อในการดำเนินชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมเท่านั้น

นี่แหละ “เนื้อนาบุญ” ผู้เป็นทายาทแห่งองค์ตถาคต ที่ควรค่าแก่การกราบไหว้บูชา..ผู้มีนามว่า ” หลวงปู่ทองสุข ฐิตปุญโญ “แห่งวัดป่าวุฑฒาราม ต.หนองกุงแก้ว อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู

พระครูพันธสมณวัฒน์ (หลวงปู่ทองสุข ฐิตปุญโญ) วัดป่าวุฑฒาราม

ปัจจุบัน พระครูพันธสมณวัฒน์ (หลวงปู่ทองสุข ฐิตปุญโญ) วัดป่าวุฑฒาราม ตำบลหนองกุงแก้ว อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู เจริญอายุวัฒนมงคล ๗๙ ปี ๕๗ พรรษา (พ.ศ.๒๕๖๓)