วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่ทองมา สุตธัมโม วัดป่าทรงศิลา (ถ้ำกวาง) อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น

ประวัติและปฏิปทา
พระครูศีลาจารนิวิฏฐ์
(หลวงปู่ทองมา สุตธัมโม)

วัดป่าทรงศิลา (ถ้ำกวาง)
ต.เมืองเก่าพัฒนา อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น

หลวงปู่ทองมา สุตธัมโม

ชาติภูมิ
พระครูศีลาจารนิวิฏฐ์ (หลวงปู่ทองมา สุตธัมโม) เดิมท่านชื่อ ทองมา นามสกุล วัดพุดธา ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดพุดชา ท่านถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๘ ปีกุล ณ บ้านหินร่อง ต.ในเมือง (ปัจจุบันคือ เมืองเก่าพัฒนา) อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เรียนจบชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ ๔ อ่านออกเขียนได้ เมื่อเรียนจบได้ช่วยพ่อแม่ทำนาอย่างขยันขันแข็ง

หลวงปู่ทองมา สุตธมฺโม

เข้าสู่ผ้ากาสาวพัสตร์
เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี ได้ข่าวว่ามีพระกัมมัฏฐานมาบำเพ็ญภาวนาที่ถ้ำบก บ้านหม้อหนองนาคำ ชื่อ พระอาจารย์คำดี ปภาโส แห่งวัดถ้ำผาปู่ จ.เลย โยมบิดาจึงนำไปฝากกับท่าน โชคดีท่านเมตตารับไว้ ต่อมาท่านได้พาเดินทางไปวัดคำหวายยาง (วัดป่าคีรีวัน) เป็นเวลา ๑ เดือน จึงได้พาไปบรรพชาเป็นสามเณรในเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๗ ที่วัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น โดยมีท่านเจ้าคุณพระพิศาสารคุณ (ภายหลังได้รับสมณศักดิ์เป็น พระเทพบัณฑิต) หรือหลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบวชแล้วได้ไปอยู่วัดป่าชัยวันอยู่ระยะหนึ่ง

เมื่อเข้าพรรษาในปีนั้น หลวงปู่คำดี ได้พาสามเณรไปอยู่จำพรรษาวัดศิริธรรม อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ในพรรษานี้ได้รับการฝึกอบรมภาวนา ไม่มีการเรียนทางปริยัติ ซึ่งเป็นความประสงค์ของหลวงปู่คำดี ท่านต้องการให้ฝึกปฏิบัติเท่านั้น

อุปสมบท
ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ สามเณรทองมามีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบท ณ วัดศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยมีท่านเจ้าคุณพระพิศาสารคุณ (ภายหลังได้รับสมณศักดิ์เป็น พระเทพบัณฑิต) หรือหลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุพจน์ประกาศ (ต่อมาเป็น เจ้าคุณพระราชสุเมธี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูศรีธรรมาลังการ (ต่อมาเป็น เจ้าคุณพระชินวงศาจารย์) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วจึงเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าศิริธรรม อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น เป็นระยะเวลา ๓ ปี โดยมาหลวงปู่สิงห์ กาญจโน เป็นอาจารย์อบรมในเรื่องการภาวนาปฏิบัติกิจวัตรอย่างเคร่งครัด

พ.ศ.๒๕๐๐ ย้ายไปจําพรรษาที่วัดคําหวายยางหรือวัดป่าคีรีวัน ต.ป่าหวายนั่ง อ.บ้านฝาง หลวงพ่อมหาบุญมาชัย เป็นเจ้าอาวาส วัดนี้เป็นวัดที่หลวงปู่คําดี ปภาโส สร้างไว้ มีพระภิกษุสามเณรและแม่ชีตลอดถึงอุบาสกอุบาสิกามาปฏิบัติทํากันจํานวนมาก เป็นลักษณะเชิงเขาเตี้ยๆ สุดด้านทิศใต้ของเทือก เขาภูพานคํา อยู่ห่างไกลชุมชนสมัยนั้น ๕-๖ กิโลเมตร เป็นสถานที่สงบเงียบ อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ไม้สัตว์ป่ามากมาย เช่น เสือ งูเหลือม งูจงอาง มีให้เห็นอยู่เสมอ ในปีนั้นจําพรรษามีพระ ๕ รูป สามเณร ๑ รูป การออกบิณฑบาตต้องเดินไกลและไปหลายสายเช่น บ้านโคกงาม บ้านคําหญ้าแดง บ้านปากช่อง บ้านหนองผือ ที่นี่พระภิกษุทองมาได้นิมิตรว่า มีขโมยมาเอาพุทธรูปในพระอุโบสถ พระพุทธรูปองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปปางทุกรกิริยา เขาได้ยกออกไปทางหน้าต่าง จึงถามเขาว่า เอาพระพุทธรูปไปทําไม เขาตอบว่า องค์ นี้ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ท่านจึงบอกเขาว่านี่แหละคือวัตถุแทนพระพุทธเจ้า แต่เขาก็ยกไป หลังจากได้นิมิต ๒ วัน ก็ปรากฏว่าท่านเจ้าอาวาสได้ย้ายพระพุทธรูปดังกล่าวไปไว้ที่อื่นโดยให้เหตุผลดังปรากฏในนิมิต

ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ พระภิกษุทองมาย้ายไปจําพรรษาที่วัดป่าอรัญวิโมกข์ บ้านเม็ง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ๑ พรรษา พอออกพรรษาได้ข่าวว่า ท่านพระอาจารย์สิงห์ กาญจโน ที่เคยอยู่ร่วมกันที่วัดป่าศิริธรรม บ้านหนองบัว อาพาธ เป็นอัมพฤก ด้วยความผูกพันในครูบาอาจารย์ จึงตามไปหาท่านที่วัดป่าชัยวัน เมืองขอนแก่น ได้อยู่ดูแลปรนนิบัติเป็นเวลานานจนอาการอาพาธหายเป็นปกติ

ไปจังหวัดเลย วัดถ้ำผาปู่
ขณะที่พระภิกษุทองมา พักอยู่ปรนนิบัติพระอาจารย์สิงห์ ที่วัดป่าชัยวันนั้น ใน พ.ศ.๒๕๐๒ ช่วงฤดูพรรษาใกล้เข้ามา หลวงปู่คําดี ปภาโส แวะไปวัดป่าชัยวัน พระภิกษุทองมามีโอกาสเข้าไปกราบนมัสการ หลวงปู่คำดี ได้ถามสารทุกข์ และการปฏิบัติภาวนาต่าง ๆ และสุดท้ายชวนไปอยู่จําพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่ได้ ตกลงตัดสินใจไปจังหวัดเลย ซึ่งถือเป็นการไปครั้งแรกในชีวิต เมื่อไปถึงวัดถ้ำผาปู่

ขณะนั้นยังไม่ได้เป็นวัดโดยสมบูรณ์จะว่าเป็นสํานักสงฆ์ก็ได้ เพราะมีสภาพป่าไม้รกชัฏ บริเวณถ้ำยังคงเป็นธรรมชาติ ไม่มีการตกแต่งต่อเติมโดยฝีมือมนุษย์แต่ประการใด และอยู่ไกลหมู่บ้านมากจึงลําบากมาก ด้วยน้ำฉัน น้ำใช้อยู่ห่างไกล แต่ละวันพระเณรต้องช่วยกันหามหรือคอน กว่าจะเพียงพอต้องเดินหลายเที่ยว อาหารบิณฑบาตก็ขาดแคลน เสนาสนะที่ถาวรยังไม่มี มีแต่ลักษณะกระท่อมชั่วคราว ถึงอย่างนั้นก็ต้องช่วยกันสร้างที่พัก โดยมีญาติโยมมาช่วยบ้าง

ในระยะแรกๆ เพื่อนสหธรรมิกผู้ร่วมบุกเบิกกันเท่าที่จําได้ เช่น พระอาจารย์ท่อน (หลวงปู่ท่อน ญาณธโร วัดป่าศรีอภัยวัน) พระอาจารย์สีทน สีลธโน พระอาจารย์เผย วิริโย หลวงพ่อเหง้า หลวงปู่ศรี พระวัน พระอาจารย์เปียง หลวงปู่กลิ่น หลวงปู่สังข์ หลวงตาสุข หลวงตาเสน พระเวช พระสวาท พระคํา สามเณรวิน ส่วนอุบาสิกามี แม่ชีถุง แม่ชีลุน แม่สุข แม่น้อย อุบาสกมี พ่อหำกา พ่อสมพงษ์ คณะบุคคลดังกล่าวนี้คือผู้ช่วยกันบุกเบิกร่วมสุขร่วมทุกข์กัน สนิทสนมเคารพนับถือมาจนถึงปัจจุบัน แต่มีหลายท่านมรณภาพ ล้มหายตายจาก หรือสึกหาลาเพศไปแล้วก็ไม่อาจทราบได้

อาพาธเป็นไข้มาเลเรีย มรณภัยมาเตือน
กล่าวถึงในช่วงพรรษาแรก พระภิกษุทองมาได้นิมิตว่า.. พญานาค ขนาดใหญ่ขึ้นไปข้างกุฏิ ด้วยความตกใจกลัวได้ตกลงไปในสระน้ำขนาดใหญ่ ดําผุดดําว่าย ขณะนั้นเห็นพี่สาวและพี่ชายกําลังยืนบนขอบสระ จึงร้องบอกให้เข้ามาช่วย ทั้งสองบอกว่าช่วยไม่ได้ ใครตกลงไปก็ต้องช่วยตัวเอง เป็นอันว่าจะพึ่งใครไม่ได้ แม้แต่พี่น้อง จึงใช้ความพยายามตะเกียกตะกายพยุงตัวเองปืนขึ้นฝั่งอย่างทุลักทุเลจนได้ ออกจากสมาธิแล้วก็นั่งพิจารณาตีความในปริศนาของนิมิต ตีความอย่างไรก็ไม่ออก แต่อยู่ ๒-๓ วัน เกิดไม่สบายเป็นไข้ตัวร้อนหนาวสั่น อาการอย่างนั้นก็คือไข้มาเลเรีย หนักเข้ามีอาการลงกระเพาะฉัน อาหารไม่ได้ เป็นไข้วันเว้นวันอยู่ไม่หาย นอนซมหมดเรี่ยวแรง หลวงปู่คําดี ท่านเป็นห่วงได้มาเยี่ยมเป็นประจํา โดยนั่งอยู่ทางหัวนอน ถามอาการว่า..

“เออ…คุณทอง เป็นอย่างไรหนอ จะไหวหรือเปล่าหนอ”

ท่านได้เทศน์ให้ฟัง ให้พิจารณาลมหายใจ และให้สมมติ ตนเองเป็นศพถูกยกขึ้นบนเชิงตะกอน เตรียมเผาถูกไฟไหม้กลายเป็นเถ้าถ่านหาตัวหาตนไม่ได้ ฝ่ายเพื่อนสหธรรมิก ซึ่งมีพระอาจารย์ท่อน ถาณธโร พระอาจารย์สีทน สีลธโน ก็ช่วยหายามาฉีดรักษาเป็นห่วงในยามเจ็บไข้ได้ป่วย รวมทั้งญาติโยม แม่ชีกุง พ่อเป่า พ่อสถิตย์ ทายกบ้านนาอ้อ ช่วยกันอุปถัมภ์ จนสบายหายป่วย ไม่มีวันลืมเลือน เมื่อหายป่วยก็ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะฟื้นตัว ขนาดผมร่วงจนเกือบหมด การเจ็บป่วยคราวนี้เป็นสัญญาณเตือนว่า เราจะนิ่งนอนใจต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ทุกอย่างไม่แน่นอน ไม่ควรประมาทควรรีบเร่ง ความเพียร

ออกพรรษาได้ขออนุญาตหลวงปู่คําดี ปภาโส ไปออกวิเวก มีพระอาจารย์ท่อน พระอาจารย์กอง พระอาจารย์สีทน พระสวาท พระประเวช เดินธุดงค์ ไปพักภาวนา ที่บ้านสูบ พักอยู่ประมาณ ๑๕ วัน ต่อไปบ้านผาพอด พักภาวนาอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้กลับไปบ้านสูบ ในระหว่างทางไม่สบายด้วยโรคมีอาการ ปัสสาวะไม่ออก พระอาจารย์ท่อนได้ทําหน้าที่หมอฉีดยาให้ ๑ เข็ม ปรากฏว่า อาการหายเป็นปกติ

ที่ป่าช้าป่าติ้วบ้านสูบนี้ คณะญาติโยมก็อยากจะให้สร้างวัดป่าขึ้น กําลังจะลงมือ ก็มีคณะพระเจ้าถิ่นขัดขวางไม่อยากให้สร้าง เรื่องราวจะไปกันใหญ่ ฝ่ายพระอาจารย์ท่อน ท่านให้เหตุผลอธิบายให้ฟังว่า ความจริงก็ไม่อยากสร้าง แต่ขัดศรัทธาญาติโยมไม่ได้ เมื่อมีศรัทธาก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรขัดการสร้างวัดวาอารามมีแต่ประโยชน์ไม่มีโทษ มีหลายวัดจะได้ช่วยกันอบรมสั่งสอน อีกประการหนึ่ง เมื่อสร้างแล้วเวลาจะย้ายก็ไม่เอาไปด้วย พวกท่านอยู่ที่นี่และจะเป็นผู้ดูแลรักษาต่อไป เมื่อได้ฟังเหตุผลดังนี้ เขาก็เงียบยอมจํานนไม่คัดค้านอีก จึงลงมือสร้างจนเกิดเป็นวัดป่าขึ้นตั้งแต่บัดนั้นมา จากนั้นก็เดินทางกลับวัดถ้ำผาปู่

ภาวนาเห็นเปรตเฒ่าพรมตีนโต
พ.ศ.๒๕๐๖ ระหว่างเดือนมีนาคม – มิถุนายน พระภิกษุทองมา ได้ขออนุญาตไปออกวิเวกไปถ้ำกวาง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น มีพระอาจารย์สีทน หลวงปู่พวง พระสวาท พระเลิศ พระอาจารย์เต็ม พระอาจารย์ผาง ทั้งหมดมุ่งสู่วัดถ้ำกวาง แยกย้ายกันพักตามผาถ้ำเท่าที่จะสะดวก พระภิกษุทองมาได้เลือกเอาถ้ำด้านทิศตะวันออก (กุฏิพระอาจารย์บุญพร้อม) เย็นวันหนึ่งหลังจากเดินจงกลมแล้วได้นั่งสมาธิต่อไป ขณะนั้นเป็นเวลา ๕ โมงเย็นแล้ว พลันก็ได้ยินเสียงสายลมพัดมาอย่างแรง ใบไม้ต้นไม้ลู่ไปตามแรงลม จํากัดเฉพาะบริเวณที่ตรงนั้นเท่านั้นที่อื่นไม่มีลม ลมพัดใกล้เข้ามาแรงขึ้นเรื่อยๆ เล่นเอาพระภิกษุทองมา อดไม่ได้จึงถอนออกจากสมาธิลืมตาดู แต่ ไม่ปรากฏมีอะไร ได้นั่งสมาธิต่อไปจนมืด ได้เพ่งพิจารณาเป็นเพราะอันใดหนอ จึงได้รู้ว่าวิญญาณเปรต ที่ชื่อ เฒ่าพรมตีนโต มาหลอกหลอนให้สะดุ้งกลัว เพื่อแสดงให้รู้ว่า ถิ่นนี้เป็นถิ่นของตนเองใครจะมาครอบครองไม่ได้เมื่อรู้ดังนี้ จึงตั้งใจแผ่เมตตาเจาะจงให้เปรตเฒ่าพรมตีนโต เปรตตนนี้เที่ยวแสดงตนให้ผู้คนเห็นอยู่เสมอ เพราะวิญญาณของตนที่ขโมยพระพุทธรูปจากถ้ำพระแห่งนี้ไป วิญญาณเป็นเปรตเสวยกรรมจนถึงบัดนี้

รุ่งเช้าคณะที่มาวิเวกด้วยกันต่างก็พูดกันถึงเหตุการณ์ที่ประสบเห็น ที่มีลักษณะแตกต่างกันไปต่างๆนานา ซึ่งสมัยนั้นยอมรับว่าวิญญาณภูตผีปีศาจ เจ้าป่าเจ้าเขา มีรุนแรงให้เห็นเกือบทุกคน ปัจจุบันหลวงปู่ได้จํากัดสถานที่ให้อยู่และแผ่เมตตาให้เสมอ ซึ่งเขาก็พอใจระดับหนึ่งแล้ว พักภาวนาอยู่ที่นี่ ๔ เดือน คณะจึงเดินทางกลับวัดถ้ำผาปู่ ซึ่งการมาครั้งนี้ถือเป็นการมาเพื่อชิมลางของพระภิกษุทองมา พร้อมมาเยี่ยมญาติโยมชาวบ้านหินร่องไปด้วย

วิเวกขึ้นภาคเหนือ
ไปวิเวกภาคเหนือ พ.ศ.๒๕๐๙ ระหว่างอยู่วัดถ้ำผาปู่จังหวัดเลย พระภิกษุทองมาได้ ขออนุญาตออกวิเวกไปอําเภอหล่มสัก คราวนี้มีพระไปด้วยกันคือ พระอาจารย์เปี่ยง เป็นหัวหน้า ๔ รูป จําไม่ได้เดินไปถึงอําเภอหล่มสักพักภาวนาที่วัดป่าสามัคคี บ้านหนองบัว พัก ๕ วัน จากนั้นนั่งรถยนต์ขึ้นภาคเหนือ ไปพักที่วัดป่าสามัคคี อ.แม่ทะ จ.ลําปาง วัดนี้ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการามเป็นผู้สร้าง พักภาวนานานพอสมควรจึงไปต่อที่อําเภอเกาะคา พักที่วัดป่าสําราญนิวาส กราบท่านพระอาจารย์หลวง กตปุญโญ ภาวนาอยู่ระยะหนึ่งเดินทางต่อไปที่เชียงใหม่ ไปพักที่วัดสันติธรรมกราบท่านพระอาจารย์อินทร์ กุสลจิตฺโต (หรือพระครูสันตยาธิคุณ) ได้มีโอกาสไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ และชมภูพิงค์ราชนิเวศน์ ขากลับนั่งรถจากเชียงใหม่มาลงที่อําเภอหล่มสัก ตอนนี้เดินธุดงค์มาเรื่อย ๆ ค่ำไหนก็พักภาวนา ถึงอําเภอวังสะพุงใช้เวลา ๑๐ วัน พักที่วัดโนนสว่าง และจําพรรษาอยู่ที่นี่ ๑ พรรษา

เมื่อออกพรรษาแล้ว ออกวิเวกไปบ้านโคกแฝก ซึ่งเป็นที่หลวงปู่หลุย จันทสาโร สร้างไว้ เดินทางต่อไปบ้านโคกมนจะไปกราบและพักปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม เผอิญช่วงนั้นหลวงปู่ชอบไม่อยู่ ทราบว่าท่านวิเวกที่บ้านม่วงไข่ จึงได้เข้าไปกราบท่านพระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต ได้มีโอกาสสนทนาธรรมและพักภาวนาเป็นเวลาหลายวัน ในคืนหนึ่งพระภิกษุทองมาได้นิมิต มีโยมคนหนึ่งมาหาและเขย่าตัวท่าน จึงกําหนดจิตลงไป จึงได้ทราบว่าเป็นวิญญาณของโยมที่อยู่บ้านวังม่วง

พระครูสีลาจารนิวิฏฐ์ หลวงปู่ทองมา สุตธัมโม วัดป่าทรงศิลา (ถ้ำกวาง)

พอรุ่งเช้า ปรากฏมีคนมานิมนต์ไปสวดงานศพคนที่เสียชีวิตเมื่อคืนนี้ หลังจากที่ญาติทําฌาปนกิจเก็บกระดูกแล้ว ในคืนนั้นก็ได้มีนิมิตอีก คราวนี้เป็นลักษณะที่มีขบวนแห่ผู้คนมามากมาย ทุกคนล้วนแต่แต่งตัวสวยงาม เสียงฆ้องกลองเสียงพิณดังใกล้เข้ามาๆ มีโยมคนเดิมเข้ามาใกล้กุฏิท่าน ภิกษุทองมาได้เรียกให้ขึ้นไปพักนอนด้วยกัน แต่เขาไม่ขึ้น ท่านบอกว่าเขาจะแสดงฤทธิ์ให้ดู ว่าแล้วก็ได้แสดงฤทธิ์สว่างไสว เป็นกลุ่มไฟมีควันขึ้นเป็นลํา ในนิมิตก็ทราบว่า ชื่อพ่อบุญ ตายเพราะโรคในท้อง ในตอนที่มีชีวิต อยู่ชอบทําบุญ รักษาศีลภาวนากับหลวงปู่ชอบ ฐานสโมเป็นประจํา ขบวนแห่นั้นเป็นพวกเทวดาจากสวรรค์ มาต้อนรับอนุโมทนาเพื่อไปเสวยผลบุญพร้อมกัน จากเหตุการณ์ที่ปรากฏในนิมิต วันต่อมาลูกชายของโยมคนนี้ไปที่วัด ได้สอบถามรายละเอียดก็เป็นจริงดังนิมิต นอกจากนี้วิญญาณของผู้ตายยังไปเข้าฝันลูกสาวบอกว่าให้ไปใช้หนี้ที่ติดไว้ ๕ บาท ลูกสาวไปถามเจ้าหนี้ก็ปรากฎว่าเป็นจริง จากอุบาสกคนนี้ ทําให้เชื่อได้ว่าวิญญาณมีจริง บาป-บุญมีจริง สวรรค์นรกมีจริง ทําให้คิดถึงเรื่องธรรมิกะอุบาสกในพระธรรมบท อุบาสกคนนี้เป็นผู้ใจบุญสุนทาน ยินดีในทาน รักษาศีลตลอด ต่อมาเวลาใกล้ตายเกิดนิมิตให้ระลึกถึง แต่บุญที่ได้ทําไว้ มีเทวดานําพาหนะอันเป็นทิพย์ต้อนรับ

ขณะนั้น ลูกหลานได้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดพุทธมนต์เพื่อต่ออายุ พระสวดยังไม่จบ อุบาสกคนนี้ก็พูด ขึ้นว่า “หยุดก่อน รอก่อน” ทําเอาพระสงฆ์หยุดสวดและพากันกลับวัด อุบาสกไม่เห็นพระสวดต่อไป จึงถามว่า “พระไปใหน” ได้ทราบว่า พระกลับวัดไปแล้ว ฝ่ายพระสงฆ์เมื่อกลับถึงวัดถูกพระพุทธเจ้าตรัสถาม แล้วจึงตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกไม่ได้เพ้อและไม่ได้บอกให้พวกเธอกลับดอก แต่เขาบอกเทวดาที่นํารถทิพย์ ยานทิพย์ มาต้อนรับให้ไปเสวยผลบุญในสวรรค์” พระพุทธองค์จึงตรัสพระคาถาว่า “อิธ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ อุภยตฺถ นนฺทติ” ผู้ประกอบบุญกุศล แม้มีชีวิตอยู่ก็บันเทิง (มีความสุข) ละจากนี้ไปก็บันเทิง ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง ส่วนผู้ทําบาปทําความเดือดร้อนแก่ตนและคนอื่น มีชีวิตอยู่ในโลกก็เศร้าโศก ตายไปก็เศร้าโศกย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง แล้วตรัสพระคาถาว่า “อิธ โสจติ เปจฺจ โสจติ อุภัยตฺถ โสจติ

พ.ศ.๒๕๑๐ กลับเข้าวัดถ้ำผาปู่และจําพรรษาตามปกติ ตลอดเวลาที่อยู่ภายใต้ร่มโพธิ์ร่มไทรของหลวงปู่คำดี ปภาโส ภิกษุทองมาได้รับเมตตาประสบการณ์ความรู้มากมาย ถือเป็นกําไรชีวิตอันมหาศาล รวมทั้งได้เสวนาคบหาสมาคมกับพ่อแม่ครูอาจารย์ ผู้เป็นบัณฑิตมากมาย นับว่าเป็นมงคลอันสูงสุดในชีวิตของตน เพราะจังหวัดเลย เป็นแหล่งผลิตครูอาจารย์สายกรรมฐานที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวพุทธทั่วไป เช่น หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ หลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ หลวงปู่ซามา อจุตฺโต หลวงปู่ท่อน ญาณธโร พระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต และอีกหลายองค์ที่นํามากล่าวไม่หมด ท่านเหล่านี้แม้ไม่ได้เกิดที่นี่โดยชาติ แต่ก็ถือว่าเกิดโดยธรรม มีพ่อแม่ครูอาจารย์คนเดียวกันเป็นแบบพิมพ์อันเดียว สิ่งที่ได้จากหลวงปู่คําดี ปภาโส มากมายมหาศาลไม่อาจจะพรรณาที่พระอาจารย์ทองมา นําไปใช้อบรมตน อบรมคนอื่นจนทุกวันนี้ ไม่ถึงหนึ่งในร้อยของพ่อแม่ครูอาจารย์ ที่เอ่ยนามดังกล่าวข้างต้นเลย ขอหมอบ ขอกราบ ขอไหว้พระคุณนี้ไปตลอดชีวิตจะหาไม่

ตามรอยปฏิปทาหลวงปู่คำดี ปภาโส
หลวงปู่คําดีท่านมักจะสอนให้นั่งสมาธิ ทําใจให้สงบให้ดูจิตตัวเอง อย่าไปดูผู้อื่น ให้พิจารณาอัตภาพร่างกายเพราะร่างกายนี้มันไม่ใช้ของเรา มันอยู่ในกฏอนิจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเราสอนเราไม่ได้ เราจะไปสอนคนอื่นก็ไม่ได้ ต้องสอนใจเราก่อน ให้ใจเรามีคุณธรรมก่อน ให้ใจมีธัมโม ให้ใจเราเป็นพุทโธก่อน ถ้าใจเรายังไม่เป็นพุทโธ เรายังไม่รู้ เรายังไม่ตื่น เราจะไปสอนคนอื่นให้รู้ ให้ตื่นก็ไม่ได้ เอาตัวเองก่อน เดินจงกรมเป็นก่อน นั่งสมาธิเป็นก่อน รักษาศีลได้ก่อน ถ้ารักษาศีลยังไม่ได้ นั่งสมาธิยังไม่ได้ เดินจงกรม ยังไม่เป็น จะไปสอนคนอื่นได้ยังไง ต้องสอนตัวเองดูตัวเอง อย่าไปดูผู้อื่น ตัวเองเป็นยังไง รู้จักตัวไหม รู้จักจิตเจ้าของไหม รู้จักอัตภาพร่างกายไหม อัตภาพร่างกายมันมีอะไร อยู่ในตัวเราอันไหนมันเที่ยง อันไหนมันไม่เที่ยง ทุกส่วนสัดและธาตุธรรมชาติของมัน ภายนอกมันไม่เที่ยงอยู่แล้ว ธาตุภายในคือร่าง กาย ผม ขน เล็บ ฟัน เป็นธาตุดิน ความอบอุ่นในร่างกายคือธาตุไฟ ลมพัด ลมหายใจ คือธาตุลม ถ้าเราหลงเรา เราก็หลงคนอื่น ถ้าเราไม่หลงเรา เราก็ไม่หลงคนอื่น ถ้าเรารู้เรา เราก็รู้คนอื่น ให้มองดูที่ตัวเรา อย่าไปมองที่คนอื่น นี่ ท่านสอนอย่างนี้ ความรู้ที่มีอยู่ในตําราให้เก็บไว้ก่อน อย่าเอามาดู อย่าเอา มาพูด ให้มันเกิดขึ้นเอง ปัจจัตตัง อย่าเอาตํารามาพูด ตําราให้เก็บไว้ในตู้ ให้เร่งความเพียรอย่างเดียว ประสบความเพียรเดินจงกรม นั่งสมาธิ ขัดเกลาร่างกาย เอาจิตให้อยู่ อย่าปล่อยจิตปล่อยใจ อย่าส่งจิตส่งใจไปที่อื่น ท่านเน้นแต่เรื่องจิตใจ ทรมานร่างกาย ถ้าร่างกายไม่ได้ทรมาน ไม่ได้ประกอบความ พากเพียรอัตภาพร่างกายเข้มแข็ง ก็เกิดกิเลสเกิดตัณหา เกิดความโลภ ความ โกรธ ความหลง ไม่เห็นอรรถเห็นธรรม ธรรมะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่เร่งความเพียร เห็นแก่หลับแก่นอน เห็นแต่บริโภคขบฉัน แต่ไม่เห็นอรรธเห็นธรรม จะเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารให้เร่งความพากความเพียร เป็นธรรมที่สั้นๆ แต่จําใส่ใจจนทุกวันนี้

กลับวัดถ้ำกวาง สู่มาตุภูมิ
พ.ศ.๒๕๑๑ ก่อนออกไปวิเวก ๒-๓ วัน ได้เข้าไปกราบขออนุญาตหลวงปู่คำดี เอาไว้ก่อน ท่านจะขัดข้องหรือไม่ประการใดในคําปราถนานั้น ได้เรียนท่านว่า ปีนี้จะขอไปวิเวก จุดหมายปลายทางก็คือ วัดถ้ำกวาง อําเภอภูเวียง บ้านเกิดเมืองนอน ไปคราวนี้อาจจะไม่ได้กลับคืนมาจําพรรษากับพ่อแม่ครูอาจารย์ ในใจก็เต้นตึก ๆ ทั้งอาลัยอาวรณ์ครูอาจารย์เพื่อนสหธรรมิก หลวงปู่นั่งพิจารณาและมองหน้าพระอาจารย์ทองมาแล้วพูดขึ้นเย็น ๆ ว่า คุณทองจะกลับไปภูเวียง ถ้ํำกวาง ขอฝากไว้อย่าทิ้งพระเพื่อนสหธรรมิกที่ไปด้วยกัน ให้ตั้งใจทําความเพียรภาวนา เพราะที่วัดถ้ํำกวาง งูเยอะ ถ้าตั้งใจภาวนาถึงจะเหยียบหลังมันก็ไม่ถนัด ท่านว่าอย่างนั้น
ดังนั้น เมื่อวันไปวิเวกจริง จึงได้พร้อมเพื่อนสหธรรมมิกไปกราบลาองค์หลวงปู่คำดี ไปวิเวกคราวนี้พระอาจารย์มหาบุญทัน ปุญฺญทัตโต พระคํา พระถวิล สามเณรสุภาพ เดินทางไปบ้านม่วงไข่กราบหลวงปู่ชอบ ฐานสโม พักภาวนา ๔ คืน จึงเดินทางต่อไปบ้านกกกอก บ้านหมากแข้ง ผ่านอําเภอวังสะพุง ไปถ้ำผาบิ้ง กราบหลวงปู่หลุย จันทสาโร พักภาวนา ๑ เดือน ต่อแต่นั้นจึงได้แยกกันกับท่านพระอาจารย์มหาบุญทัน ท่านกลับวัดถ้ำผาปู่ ส่วนท่านอาจารย์ทองมา พระถวิล พระคํา สามเณรสุภาพ ได้นั่งจากวังสะพุง ถึงบ้านสัมพันธ์ ชุมแพ แล้วพากันแวะกราบคารวะศพหลวงปู่พระครูธรรมธร (เขียน) ที่วัดสว่างอารมณ์ เสร็จแล้วได้เดิน ข้ามเขาภูเวียงตรงช่องชาติ จนถึงวัดถ้ำกวาง บ้านหินร่อง เป็นเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๑๑ ที่วัดถ้ำกวางขณะนั้น มีคณะพระมาวิเวกก่อนแล้ว ๑๓ รูป มีพระอาจารย์บุญตา (พระครูญาณวีราภรณ์) กับคณะรู้สึกดีใจมาก แต่อยู่มาประมาณ ๑ เดือน คณะของพระอาจารย์บุญตา จึงกลับไปอําเภอศรีบุญเรือง ในปีนั้นก็มีพระอาจารย์ทองอินทร์ กตปุญโญ (ปัจจุบัน วัดป่ากุง จ.ร้อยเอ็ด) พระถวิล สามเณรสุภาพ

พระครูสีลาจารนิวิฏฐ์ หลวงปู่ทองมา สุตธัมโม วัดป่าทรงศิลา (ถ้ำกวาง)

กล่าวถึงวัดถ้ำกวาง สมัยนั้นยังเป็นสํานักสงฆ์มีเสนาสนะไม่กี่หลัง ส่วนมากเป็นกระท่อมแบบชั่วคราว หลังคามุงหญ้าฝาแถบตอง (ฝากันด้วยใบไม้) ลําบาก ด้วยน้ำฉันน้ำใช้ต้องขุดบ่ออยู่ไกล มีไข้มาเลเรียชุกชุม ตั้งอยู่เชิงเขาภูเวียงด้านทิศใต้ สมบูรณ์ด้วยป่าไม้เบญจพันธุ์ ขอกล่าวเฉพาะบริเวณที่สําคัญ

ถ้ำกวาง เป็นที่มาของการตั้งชื่อวัด เพราะเดิมเป็นที่ซ่อนตัวของกวาง เย็นสบาย เงียบสงบมีร่มเงา ในฤดูฝนสามารถอยู่ได้ ถือเป็นมงคลสถานที่ หลวงปู่คําดี ปภาโสท่านได้นิมิตในสมาธิเมื่อคราวมาวิเวกที่ถ้ำบกภูเวียง แล้วท่านได้เดินหาจนพบเห็นของจริงดังในนิมิต จึงได้นามต่อท้ายว่า “ถ้ำกวางนิมิตร” หลวงปู่ได้ภาวนาที่ถ้ำนี้เป็นเวลานาน หน้าถ้ำท่านไปสร้างกุฏิเอาไว้ ต่อมาได้บํารุงซ่อมแซมและต่อเติมเพื่อรักษามูลมรดกของครูอาจารย์มาใช้จนทุกวันนี้

ในพรรษาแรกพระอาจารย์ทองมา ก็ได้อาศัยถ้ำและกุฏินี้ภาวนา หลวงปู่บัว สิริปุณโณ วัดป่าหนองแซง ท่านเคยมาภาวนาสมัยที่ท่านยังเป็นตาผ้าขาว เป็นเงิบหินสูง ๒ เมตร ลึก ๓ เมตร ตกแต่งปูนยาแนวกันน้ำฝนไหลเข้าถ้ำพออยู่ได้ อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ถ้ำส่องดาวเป็นที่พักสงฆ์อยู่ตะวันออกใกล้ถ้ำกวาง หลังถ้ำเป็นหินเป็นที่โล่ง กลางคืนมองเห็นดวงดาวบนท้องฟ้า หินลาดหน้าถ้ำพระเป็นบริเวณลานหินลาดเอียงจากเทือกเขากว้าง มีก้อนหินใหญ่ ๓ ก้อน วางซ้อนทับกันเป็นรูปลักษณะคล้ายรถถัง มีกุฏิหลังหนึ่ง เรียกกุฏิจําปาหรือกุฎหน้าถ้ำ หลวงปู่จันทร์ เขมปัตโต กับพระครูธรรมธร (เขียน) สร้างเอาไว้สมัยที่ท่านมาพักวิเวก

ถ้ำพระ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ใช้เป็นที่ทําวัตรสวดมนต์แทนศาลา ในสมัยแรกๆ ลักษณะเป็นซอกหินขนาดใหญ่มีลําธารไหลผ่านหน้าถ้ำ ฤดูฝนน้ำไหลจากภูเขาเกิดการเซาะหินเป็นลําธารลึกเป็นร่องน้ำ เป็นต้นน้ำไหลสู่ลําน้ำบอง เป็นที่มาของการตั้งชื่อบ้านหินร่อง สมัยก่อนใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาของอําเภอภูเวียง มีพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตัก ๓๐-๔๐ นิ้ว ๒ องค์ ศักดิ์สิทธิ์ ทุกปีจึงมีการจัดงานสมโภชจนเป็นประเพณี ขอฟ้า ขอฝน ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ใครปรารถนาอะไรก็มาอธิษฐานกันตรงนี้ ปัจจุบัน นี้ชาวบ้านยังรักษาประเพณีนี้สืบต่อมา แต่พระพุทธรูปองค์ที่หนึ่งถูกคนใจบาปขโมยไป ได้แสดงปฏิหารย์หนักยกไม่ขึ้น พวกโจรยกมืออธิษฐาน ขอให้ยกไปได้สําเร็จ โดยบอกว่าจะไม่ขอเกิดมาเป็นคน แล้วเขาก็สามารถยกไปได้ แล้วพากันนําไปเผาทําลาย เพื่อเอาทองไปขายหรือทําเครื่องประดับ หลังจากกรรมอันชั่วช้าแล้ว พวกเขาก็ได้รับผลกรรมกันทุกคน หลังตายแล้วปรากฏ วิญญาณเป็นเปรตมาปรากฏอยู่ ตามถ้ำเที่ยวหลอกหลอนผี จนเป็นที่กล่าวขานเป็นตํานาน ไม่แต่เพียงเท่านี้ กรรมยังส่งผลสืบต่อไปยังลูกหลานที่เกิดมาทีหลัง ให้เป็นคนง่อยเบี้ยเสียขาพิกลพิการ ไปทั้งวงษาคณาญาติ นี่คือกรรมที่ลักพระพุทธรูป และทําลายพระจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวอานิสงส์ของการสร้าง พระพุทธรูปนั้นมากมาย และในขณะเดียวกันการลักการทําลายพระพุทธรูป ก็บาปหนัก

ส่วนพระพุทธรูปองค์ที่สอง ถูกลักไปถึง ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ก็สามารถตามกลับมาได้ที่บ้านหนองคู ครั้งที่สองถูกหลักไปอีก แต่ตามกลับมาได้ที่ดงเค็ง เมื่อเห็นว่าไม่ปลอดภัยพ่อใหญ่อ่วม กับพวกจึงได้นําไปเก็บรักษาที่วัดจันทาราม บ้านเมืองเก่า เก็บไว้ที่ศาลาพวกโจรได้จี้เอากับพระผู้รักษาจนได้ ขณะนั้นเมื่อชาวบ้านทราบได้พากันค้นหา ตามหากันแทบพลิกแผ่นดิน บ้างก็ร้องไห้เสียดายอาลัยอาวรณ์ ที่พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหายไป ชะรอยเทพดาจะไม่เข้าข้างคนใจร้าย ดลบันดาลให้คนลักขโมยไปเกิดอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์คว่ำ คนซ้อนท้ายอุ้มพระพุทธรูปได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถนําเอาพระพุทธรูปไปได้ จึงได้เอาพระไปซ่อนไว้ที่กองฟางบ้านหนองกุงคชสาร ชาวบ้านตามหาจนพบได้พระพุทธรูปคืนไปทําพิธีแห่อย่างใหญ่โต ส่วนคนขโมยภายหลังตํารวจก็สามารถสืบทราบและจับตัวมาลงโทษจําคุกเป็นเวลานาน

กล่าวถึงพระพุทธรูปหลังจากได้คืนแล้ว ชาวบ้านได้คิดหาวิธีที่จะรักษาไว้ให้ปลอดภัยที่ดีที่สุด จึงได้ตกลงสร้างหอประดิษฐานไว้หน้าวัดจันทาราม สูงประมาณ ๖ เมตร มีกรงเหล็กแข็งแกร่งหนาแน่นมั่นคง ใครที่ต้องการกราบไว้นมัสการก็สามารถกราบได้ทีหอพระจนทุกวันนี้ ที่นํามาเขียนไว้ก็เพื่อเตือนความจํา อนุชนรุ่นหลังได้สังวรณ์ระวังว่าบาป-บุญมีจริง ไม่ต้อง รอชาติหน้า บริเวณ ลาดจําปาหรือหลังถ้ำพระ เป็นหินกว้างประมาณ ๒ ไร่ ลักษณะเอียง ๔๐ องศา หากมองลงมาจะสามารถเห็นเทือกเขาภูเวียงด้านทิศเหนือตะวันออกและตะวันตก ได้ชัดเจนสวยงาม บรรยากาศดีมาก มีก้อนหินขนาดใหญ่ สถานที่แห่งนี้ถือเป็นที่ขึ้นไปชมทิวทัศน์ เมื่อขึ้นไปก็หายเหนื่อย อากาศบริสุทธิ์ประหนึ่งเทพเนรมิต

วัดถ้ำกวางอดีตถึงปัจจุบัน

  • พ.ศ.๒๔๗๕ คณะพระกัมมัฏฐานเดินมาวิเวก ๒-๓ รูป ชาวบ้านช่วย กันสร้างกุฏิชั่วคราว ๒-๓ หลัง
  • พ.ศ.๒๔๘๑ หลวงปู่คําดี ปภาโส มาวิเวกที่อําเภอภูเวียง พักภาวนา ที่ถ้ำบก-ถ้ำภูตากา วัดอรัญญิกาวาสหนองบัว และได้นิมิตเห็นถ้ำกวาง จึงเดินทางมาพักภาวนา ท่านได้อยู่จําพรรษาจนถึง พ.ศ.๒๔๘๖ รวมเวลา ๕ ปี ได้วางพื้นฐานอบรมชาวบ้าน-ชาวภูเวียง ทั้งพระภิกษุ สามเณร แม่ชี ถือเป็นโชควาสนาของชาวอําเภอภูเวียง ได้รู้จักพระกรรมฐาน รู้วิธีการปฏิบัติอุปถัมภ์วัดวาอาราม คําสวดมนต์ไหว้พระตลอดการภาวนา เข้าวัดจําศีลจนถึงทุกวันนี้
  • พ.ศ.๒๔๘๗ พระอาจารย์บุญมา กับคณะ ๔ รูป มาวิเวกและจําพรรษา แล้วก็จากไป
  • พ.ศ.๒๔๙๑ พระอาจารย์คํามี (ไม่ทราบนามฉายา)
  • พ.ศ.๒๔๙๔ พระอาจารย์เนตร (ไม่ทราบนามฉายา)
  • พ.ศ.๒๔๙๖ พระอาจารย์จันทร์ เขมปัตโต และพระครูธรรมธร (เขียน)
  • พ.ศ.๒๕๐๐ พระอาจารย์บุรุษ (ไม่ทราบนามฉายา)
  • พ.ศ.๒๕๐๑ หลวงตาถ่างและ สามเณรสมศรี
  • พ.ศ.๒๕๐๒ พระอาจารย์ชุน และสามเณร ๒ รูป
  • พ.ศ.๒๕๐๘ พระอาจารย์วิรัตน์ (ไม่ทราบนามฉายา)
  • พ.ศ.๒๕๑๑ พระอาจารย์ทองมา สุตธัมโม เดินทางมาบุกเบิกค่อยๆ สร้างเสนาสนะมาเรื่อยๆ ท่านมักจะพูดเสมอว่า “นกน้อยทำรังแต่พอตัว” ไม่สร้างภาระหนักให้แก่ตนเองและชาวบ้าน มีมาก็สร้างไม่มีก็แล้วไป ไม่ดิ้นรนวิ่งเต้นจนเกินตัว ชอบอยู่อย่างสันโดษ ไม่เน้นการก่อสร้าง แต่ให้ภาวนาให้มาก
  • พ.ศ.๒๕๒๕ หลวงปู่ทองมา สุตธัมโม ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูศีลาจารนิวิฏฐ์”
พระครูสีลาจารนิวิฏฐ์ หลวงปู่ทองมา สุตธัมโม วัดป่าทรงศิลา (ถ้ำกวาง)

หลวงปู่ทองมา อยู่พัฒนาวัดป่าถ้ำกวาง (ภายหลังเปลี่ยนเป็นวัดป่าทรงศิลา เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๖๒ และละสังขารลงอย่างสงบภายใต้ผ้ากาสาวพัสตร์เข้าสู่พรรษาที่ ๖๕ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒ เมื่อเวลา ๑๙.๕๓ น. สิริอายุ ๘๔ ปี ๒ เดือน ๗ วัน

อัฐิธาตุ หลวงปู่ทองมา สุตธมฺโม
อัฐิธาตุ หลวงปู่ทองมา สุตธมฺโม