ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ทองมา ถาวโร
วัดสว่างท่าสี
อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
หลวงปู่ทองมา ถาวโร ท่านเป็นพระมหาเถราจารย์ที่มีอายุพรรษามาก และมีพรรษาสูงสุดในจังหวัดร้อยเอ็ด ท่านมรณภาพเมื่อท่านมีอายุได้ ๙๑ ปี อายุพรรษา ๗๑ พรรษา โดยตลอดมากท่านไม่ยอมรับสมณศักดิ์ใดๆ ทั้งสิ้น
◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่ทองมา ถาวโร เกิดเมื่อ วันพุธ เดือน ๙ ปีชวด พ.ศ.๒๔๔๓ ที่บ้านท่าสี ต.เกาะแก้ว อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ในปัจจุบัน (สมัยก่อนเป็น อำเภอ กลมลาไสยแขวงเมืองกาฬสินธุ์ แล้วเปลี่ยนมาเป็น อำเภอโพนทอง จ.ร้อยเอ็ด) หลวงปู่ทองมา เกิดในตระกูล ภูมิวัลย์ บิดา ชื่อนาย แก่นท้าว ภูมิวัลย์ อพยพมาจากนครเวียงจันทร์ประเทศลาว มารดาชื่อ นางหา ภูมิวัลย์ มีอาชีพทำนา ท่านมีพี่น้องร่วมสายโลหิต จำนวน ๘ คน ปัจจุบันเสียชีวิตทั้งหมด เป็นชาย ๔ คน หญิง ๔ คน ท่านเป็นคนลำดับที่ ๒
◉ ปฐมวัย
เด็กชายทองมา ในวัยเด็กมีนิสัยชอบสันโดษ ไม่ค่อยจะซุกซนเหมือนกับเด็กวัยเดียวกัน บิดาและมารดามักจะพาไปทำบุญที่วัดสว่างท่าสีอยู่สม่ำเสมอ พออายุเข้าโรงเรียนได้ พ่อแม่ก็ได้ส่งไปเรียนหนังสือกับญาติที่เมืองกาฬสินธุ์ จนจบชั้น ป.๔ สูงสุดของโรงเรียนในตอนนั้น เด็กชายทองมาเป็นคนเรียนเก่ง ฉลาดเฉลียว เมื่อเรียนจบท่านก็ได้กลับมาที่บ้านท่าสีเหมือนเดิม เด็กชายทองมาเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ชอบช่วยเหลืองานการของบิดามารดาอย่างดี ตอนนี้เด็กชายทองมาก็มีอายุได้ ๑๐ ปี พอกลับมาจากเมืองกาฬสินธุ์ พ่อแม่ก็ส่งให้ไปเรียนหนังสือกับพระอาจารย์เตียง เจ้าอาวาสวัดสว่างท่าสี เด็กชายทองมาได้ตั้งใจเรียนหนังสืออย่างตั้งใจและพออก พอใจอย่างยิ่งที่ได้เรียนธรรมะหรือได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติของพระพุทธองค์ เมื่อเด็กชายทองมา อายุครบ ๑๕ ปี ก็ได้มีครูใหญ่โรงเรียนบ้านเชียงใหม่ มาขอให้นายทองมาไปเป็นครูสอนที่โรงเรียน นายทองมาสอนอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้เป็นระยะเวลา ๓ เดือน ก็ลาออกมาอุปสมบทเป็นสามเณรต่อไป
◉ บรรพชาและอุปสมบท
นายทองมา ภูมิวัลย์ ได้เข้ารับการพรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ ที่วัดบ้านงิ้วโพธิ์ชัย อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด มีพระอธิการคำ เป็นพระอุปัชฌาย์ ตอนเป็นสามเณร ท่านเรียนบุพพสิกขาวรรณา เรียนสวดมนต์น้อย สวดมนต์กลาง สวดมนต์ใหญ่ จนจบ หลังจากนั้นท่านก็กราบลาพระอาจารย์เตียง ไปเรียนต่อนักธรรม ๑-๒-๓ ที่ วัดป่าน้อย จ.อุบลราชธานี แล้วได้ย้ายไปเรียนต่อที่ สำนักเรียน วัดบ้านไผ่ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี โดยเรียนวิชา มูลกัจจายย์ กับพระอาจารย์คำภา จนจบ อายุของสมาเณรทองมาในตอนนี้ก็ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงเดินทางกลับมาอุปสมบท ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ ที่วัดบ้านท่าม่วง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โดยมี พระครูสีลาจารย์วิสุทธ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ สำเร็จเป็นพระภิกษุ เมื่อเวลา ๐๕.๐๐ น. ได้รับฉายาว่า “ถาวโร” แปลว่า “ผู้มั่นคงในธรรม” ภายหลังจากบวชเสร็จแล้วไม่นาน หลวงปู่ก็ได้กลับไปเรียนธรรมะต่อที่วัดบ้านท่าศาลา ต.ชีทวน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี กับพระอาจารย์ชื่อ พระมหาพันธ์ เรียนหลักสูตรเปรียญธรรมประโยค ๑-๒-๓-๔ จนจบ แล้วกราบลาอาจารย์ออกธุดงค์วิเวกต่อไป
◉ ออกธุดงค์
หลวงปู่ทองมา ถาวโร กราบลาพระอาจารย์จากอุบลราชธานีเพื่อจะออกไปธุดงค์วิเวกไปในป่าเขาพงไพร ฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ฝึกจิตให้กล้าแกร่ง เข้มแข็ง หลวงปู่ปรารภว่า การออกเดินธุดงค์ในครั้งนี้หากต้องเจอ กับพยันอันตรายใดๆในป่า ก็จะขออุทิศชีวิตเพื่อธรรมะของพระพุทธองค์ จะขอยึดมั่นในพระรัตนตรัยตราบจนกว่าจะขัดเกลากิเลสให้หมดสิ้นไป แม้ตายก็ขอตายในป่า หลวงปู่มุ่งไปยังนครจำปาสักเป็นที่แรก ระยะทางก็มีแต่ป่าเขา ลำเนาไพร ปักกรด อยู่ตรงนี้ ๓ วันบ้าง ๗ วันบ้าง แล้วแต่สถานที่นั้นๆ บางวันก็เจอทั้งเสือ ทั้งช้าง มาให้เป็นบททดสอบ บางวันก็ไม่มีคนใส่บาตรก็ต้องเก็บผลไม้ที่หล่นมาจากต้นมาฉันพอให้มีแรงในการปฏิบัติธรรม บางคืนบางครั้งก็เจอกับภูตผีปีศาจ มาคอยรบกวนในการปฏิบัติธรรม หลวงปู่ก็ต้องแผ่เมตตาให้ทั้งวันทั้งคืน เวลาอาพาธก็ต้องหาสมุนไพรในป่ามาฉันพอให้บรรเทาอาการลงได้ ถึงกระนั้นเองหลวงปู่ท่านก็ยังมีใจเด็ดเดี่ยว ดุจดังเพชรน้ำหนึ่ง เปรียบเสมือนว่าเพชรจะสวยได้ต้องผ่านการเจียระไน จิตใจของผู้ที่ประเสริฐแล้วนั้น ก็ต้องผ่านการทดสอบเป็นธรรมดา ไปถึงนครจำปาสักท่านก็ได้ไปเรียนวิชาต่างๆ กับพระอาจารย์ที่วัดเมืองกลาง มีพระอาจารย์บุญทา ยอดปราชญ์แห่งนครจำปาสักเป็นเจ้าอาวาส สำนักเรียนอาจารย์บุญทานั้น มีการสอนทั้ง ๒ อย่าง คือปริยัติ กับ ปฏิบัติ หรือ คันถธุระกับวิปัสสนาธุระ หลวงปู่ศึกษาพระธรรมอยู่ที่วัดเมืองกลางอยู่ ๓ ปี ท่านก็กราบลาพระอาจารย์ ออกจาริกธุดงค์ไปยังประเทศเวียดนาม พม่า ลาว บ้างก็ว่าท่านธุดงค์ไปประเทศอินเดียด้วย
◉ ธุดงค์กลับประเทศไทย
หลวงปู่ทองมา ถาวโร ออกธุดงค์ไปหลายที่ ไม่มีใครทราบชัดเจนว่าท่านไปที่ไหนมาบ้าง นอกจากญาติโยมจะถามท่านเองหรือท่านจะเล่าให้ญาติโยมฟัง มีบางครั้งที่ท่านเล่าสั้นๆว่าท่านไป ที่โน้น ที่นี้ บางคนก็จำได้ ก็เล่าต่อๆกันมาให้ฟัง มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่ท่าน ปักกรดอยู่ในป่าเมืองลาวนั้น ท่านก็นั่งภาวนา เสร็จแล้วท่านก็สวดคาถา ระหว่างนั้นเองได้มีเสียงร้องโหยหวน เหมือนเจ็บปวดทรมาน เหลือเกิน หลวงปู่ท่านจึงเข้าฌานดู ปรากฏว่า ที่หลวงปู่ปักกรดอยู่นั้น เคยเป็นหมู่บ้านเก่า สมัยก่อนเกิดโรคระบาดหนักคนตายทั้งหมู่บ้าน ตายไปแล้ววิญญาณก็ยังวนเวียนอยู่ที่เดิม พอได้ยินเสียงหลวงปู่สวดคาถาก็ร้องโหยหวน ทรมาน เพราะคาถาที่หลวงปู่สวดอยู่นั้นเป็นคาถาไล่ผี หลวงปู่จึงได้หยุดสวด และเรียกให้วิญญาณทั้งหลายที่อยู่ในที่แห่งนี้มาฟังธรรม หลวงปู่แผ่เมตตา ให้รับศีลแล้วก็ส่งดวงวิญญาณเหล่านี้ไปเกิดในภพภูมิที่สูงขึ้นต่อไป
◉ จำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุอุโมงค์ จ.ร้อยเอ็ด (ปี พ.ศ.๒๔๘๒ – ๒๔๙๐)
ราวปี พ.ศ.๒๔๘๒ เมื่อหลวงปู่ธุดงค์กลับมาร้อยเอ็ดแล้วนั้น หลวงปู่ยังไม่ได้มาจำพรรษาที่วัดสว่างท่าสีเลย แต่หลวงปู่เลือกที่จะไปจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์สิงห์ (สิงห์ทอง) วัดพระธาตุอุปโมงค์ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นพระธาตุเก่าแก่และมีประวัติความเป็นมาอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อหลวงปู่สิงห์ทองท่านมรณภาพลงแล้ว ท่านก็สั่งให้หลวงปู่ทองมานำพาชาวบ้านบูรณะพระธาตุอุปโมงค์ให้แล้วเสร็จ หลวงปู่ทองมาได้พาชาวบ้านบูรณะพระธาตุอุปโมงค์อยู่เป็นเวลาหลายปีจนเสร็จสิ้น ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่นี่เอง ท่านได้เทศนาสั่งสอนญาติโยม ให้อยู่ในศีลกินในธรรม ด้วยบารมีธรรมและความเมตตาของหลวงปู่ทำให้ชาวบ้านศรัทธาเลื่อมใสหลวงปู่อย่างยิ่ง
ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งได้มีวิญญาณร้าย เที่ยวหลอกหลอนและคอยก่อกวนชาวบ้านจนชาวบ้านนั้นหวาดกลัว มาก หลวงปู่จึงได้เรียกดวงวิญญาณดวงนี้มาถามไถ่ แต่ด้วยดวงวิญาณดวงนี้ไม่เคารพพระสงฆ์องค์เจ้า หลวงปู่จึงได้ใช้คาถาอาคมเรียกวิญญาณตนนี้ มาผูกติดกับต้นมะม่วงหน้าวัด แล้วให้ดื่มน้ำสาบานว่า ต่อจากนี้ไปจะไม่มารบกวนชาวบ้านอีกต่อไป หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นดวงวิญาณดวงนี้อีกเลย มีเพียงตอนกลางคืนที่ยังมีบางคนคนได้ยินเสียงกิ่งไม้ต้นมะม่วงสั่นไหวไปมา ขนก็ลุก พลั้งให้คิดถึงดวงวิญาณที่เคยถูกหลวงปู่ผูกติดกับต้นมะม่วงไม่ได้
◉ กลับวัดสว่างท่าสี วัดบ้านเกิด ( ปี พ.ศ.๒๔๙๐ – มรณภาพ พ.ศ.๒๕๓๔)
ราวปี ๒๔๙๐ พระอาจารย์เตียง เจ้าอาวาสวัดสว่างท่าสี ได้มรณภาพลง ชาวบ้านท่าสี เลยได้ไปนิมนต์หลวงปู่ทองมา ถาวโร ให้มาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดสว่างท่าสี นับตั้งแต่ปี ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ในเวลานี้เองหลวงปู่ทองมา ถาวโร ได้มาจำพรรษอยู่ที่วัดสว่างท่าสีแล้ว หลวงปู่ทองมา ขณะนั้นอายุได้ ๕๒ ปี ๓๒ พรรษา หลวงปู่ท่านได้นำพาสาธุชนทั้งหลาย ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พัฒนาวัดวาอารามทั้งในวัดบ้านเกิดและวัดในจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงวัดใดๆ ที่ได้มาขอความเมตตาให้ท่านเป็นประธานในการบูรณะ ท่านก็ได้เมตตาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เช่น วัดบ้านท่าม่วง จ.ร้อยเอ็ด วัดป่าเมตตาธรรม จ.ร้อยเอ็ด วัดจอมแจ้ง จ.เพชรบูรณ์ วัดบ้านท่ามะเดื่อ จ.ขอนแก่น และอีกหลายๆ วัดที่ ไม่ได้กล่าวถึง เป็นต้น
วัตรปฏิบัติของท่านอีกด้านหนึ่ง คือด้านการส่งเสริมการศึกษา โดยท่านจะเป็นครูผู้สอนให้กับพระภิกษุสามเณร ที่มาบวชเรียนที่วัด ซึ่งในสมัยก่อนนั้นการบวชเป็นพระภิกษุนิยมบวชกันตั้งแต่ ๑ พรรษา ไปขึ้น บางรูปก็ ๒-๓-๔ หรือ มากกว่านี้ ก็เคยมี ส่วนการบวชเณรก็มีสามเณรมาบวชตลอดเวลา เรียกได้ว่าไม่เคยขาดวัดเลย ท่านก็คอยอบรบสั่งสอน รวมถึงส่งไปเรียนหนังสือในตัวเมืองและในกรุงเทพ เลยทีเดียว รวมถึงพระธุดงค์ที่เดินทางมาเรียนวิชาคาถาอาคมกับท่านก็มีเยอะ ชื่อเสียงของท่านเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยคำบอกเล่าแบบปากต่อปาก เพราะความเจริญการสื่อสารในสมัยก่อนล้าหลังมากๆ โทรศัพท์ไม่มี ทีวีมีน้อย วิทยุก็หาได้ยาก ส่วนอินเทอร์เน็ตก็ไม่ต้องไปพูดถึงเลย ผู้คนจะรู้จักหลวงปู่ท่านโดยการบอกเล่าเท่านั้นจริงๆ
◉ ปราบผี โปรดผี
ด้วยอภิญญาที่หลวงพ่อทองมา ถาวโร ที่มีอยู่จริง บางครั้งญาติโยมก็มานิมนต์ให้ท่านไป ปราบผีปอบ สมัยก่อนเรื่องผี เป็นเรื่องที่ชาวบ้านให้ความสำคัญมาก บางพื้นที่ชาวบ้านไหว้ผีแทบจะไม่ไหว้พระเลยก็มี ท่านก็เมตตาไปทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์และให้สร้างหลักพระธรรมในหมู่บ้านนั้นๆ แต่ก็อย่างที่กล่าวมาเมื่อเห็นว่า หมู่บ้านนี้หลวงปู่มาปราบผีปอบได้สำเร็จ เมื่อหมู่บ้านไหนเชื่อว่า ผีปอบ มาคร่าเอาชีวิตของชาวบ้านไป ชาวบ้านก็จะบอกต่อกันไปว่าพระองค์นี้ดี เก่งกล้าบารมี ชาวบ้านก็ต่างก็พากันเดินทางมานิมนต์หลวงปู่ไป ปราบผีปอบ หลวงปู่ท่านก็เดินทางไปโปรดและเมตตาไปเจริญพระพุทธมนต์เทศนาสั่งสอน ทั้งผีและคน ให้ยึดมั่นในศีลในธรรม แล้วก็เมตตาสร้างหลักพระธรรมไว้ให้ชาวบ้านได้กราบสักการะบูชา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้เอาพระธรรมเป็นที่พึ่งอย่าได้เอาผีมาเป็นที่พึ่ง หมู่บ้านนั้นก็กลายเป็นหมู่บ้านธรรมทีนที และอยู่เย็นเป็นสุข ไม่เกิดอาเพศใดๆกับคนในหมู่บ้าน หลายหมู่บ้านหลายจังหวัดทั้งที่มีหลักฐานปรากฏและคำบอกเล่าของชาวบ้านผู้ที่ศรัทธา หมู่บ้านที่ท่านไปเจริญพระพุทธมนต์เมตตาสร้างหลักบ้านหลักพระธรรมก็มีเยอะแยะมากมายหลายจังหวัด เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู อุดรธานี ข่อนแก่น บึงกาฬ เพชรบูรณ์ เป็นต้น
แต่เรื่องก็ไม่ได้จบอยู่เพียงเท่านี้ คือ ความเชื่อของชาวบ้านแต่ละที่ไม่เหมือนกัน บางที่ก็เชื่อเรื่อง ผีบอป ผีตาหลุบ ผีปู่ตา ผีนา ผีฟ้า ผีคอนโบม สาพัดผี แล้วแต่ชาวบ้านจะเรียกขาน หลวงปู่ท่านก็ได้เมตตาไปโปรด ไปปราบ ไปทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์แล้วท่านก็เมตตาสร้างหลักพระธรรมหลักบ้าน ไว้ให้ชาวบ้านกราบสักการบูชาเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน จนนับไม่ถ้วน ชาวบ้านเลยขนานนามท่านว่า “พระผู้พลิกแผ่นดินผี ให้เป็นแผ่นดินธรรม” เก่งกล้าสามารถใน การปราบผี โปรดผี ชื่อเสียงของท่านก็เลยดังกระฉ่อนเลื่องลือไปทั่ว หลังจากนั้นเองญาติโยมก็หลั่งไหลมากราบนมัสการขอพรท่านถึงที่วัดทุกวัน บางคนก็มาขอของดีในการทำมาค้าขาย บางคนก็มาขอของดีในการออกรบสงคราม ปราบโจรผู้ร้าย ให้แคล้วคลาดปลอดภัย ท่านก็ให้ไปด้วยความเมตตาทุกคนเท่าเทียมกัน
◉ รักษาคนบ้า
ยังมีเรื่องนี้น่าทึ่งไปกว่านั้นคือ เรื่องหลวงปู่รักษาคนบ้าให้หาย คือ คนบ้า วิกลจริต ทั้งที่เชื่อว่าโดนของ (คุณไสย์) ของเขมร ท่านก็ให้การักษาอยู่ที่วัดจนอาการหายดี จนเป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ญาติๆ และชาวบ้านที่พบเห็นจนกลายเป็นเรื่องปรกติไปเลย หากชาวบ้านใกล้วัดได้ยินสียงร้องตะโกนแสดงว่าในวัดต้องมีคนบ้า คือกำลังไล่จับคนบ้ากันอย่างอลหม่าน บางคนถึงขนาดต้องใส่โซ่คล้องไว้ติดกับเสาวัดก็เคยมี หรือบางครั้งได้ยินเสียงร้องโหยหวน ร้องห่มร้องไห้ นั้นแหละรู้เลยว่าหลวงปู่กำลังไล่ผีออกจากคน ฟังดูแล้วอาจะเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ หรือเป็นเรื่องที่งมงายสำหรับคนที่ไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ แต่ชาวบ้านญาติโยมที่อยู่ในเหตุการณ์ยืนยันเอาหัวเป็นประกันว่าเรื่องแบบนี้ คือเรื่องจริง !
◉ ปัจฉิมวัย
ภายหลัง หลวงปู่ทองมา ถาวโร ย่างเข้าสู่ปัจฉิมวัยหรือวัยชราภาพ อายุท่านได้ประมาณ ๗๐ ปี แต่ร่างกายท่านก็ยังคงแข็งแรงความจำดีเป็นเลิศ หากชาวบ้านจะมานิมนต์ท่านไปที่ไหนท่านก็จะไปทันทีไม่เคยปฏิเสธเลย ถ้าท่านไม่ติดกิจธุระ หากท่านไม่ได้เดินทางไปไหน ท่านก็จะมาคอยโปรดญาติโยมที่กุฎีหน้าห้องของท่านอยู่ทุกวัน เวลานี้ที่วัดของท่านจะมีญาติโยมมาคอยกราบนมัสการทุกๆวัน เดินทางมาจากทั่วสารทิศ เช่น ขอนแก่น อุดร หนองบัวลำภู อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ยโสธร ศรีษะเกษ สุรินทร์ ฯ รวมไปถึงญาติโยมที่อยู่ประเทศลาวก็เคยมานมัสการท่านเลย เวลานอนพักผ่อนของท่านแทบจะไม่มี หรือมีน้อย กว่าจะโปรดญาติโยมเสร็จเวลาก็ล่วงเข้าไป ๑ ทุ่ม ๒ ทุ่มแล้ว ท่านถึงได้มีเวลาสรงน้ำ สวดมนต์ เจริญ ศีลภาวนา แผ่เมตตา ให้ลูกหลานลูกเผิ่งลูกเทียน กว่าจะได้หลับจริงก็โน้นแหละ ๕ ทุ่ม เทียงคืน บางวัน ตี ๒ ก็มี แล้วหลวงปู่ท่านก็ต้องตื่นตีแต่เช้า เพื่อมาทำวัตรเช้า พอฉันข้าวสร็จ ก็มาโปรดญาติโยมที่เดินทางจากต่างถิ่น ที่พวกเขามารอตั้งแต่เช้า เพราะทุกคนที่มาต่างก็รู้ดีว่าถ้ามาสายแล้วผู้คนจะเยอะรอคิวก็นานแบบนี้ หลวงปู่ท่านก็ได้เมตตาช่วยเหลือทุกคนโดยที่ไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายเลย แล้วแต่ญาติโยมจะบริจาคทำบุญ ๙ บาท ๑๐ บาท ตามกำลังศรัทธา ที่สำคัญหลวงปู่ท่านไม่เคยหลบเลี่ยงไปไหนเลยแม้จะเหน็ดเหนื่อยสักเพียงไรท่านก็จะไม่เคยบ่นแม้แต่น้อย หน้าตาของหลวงปู่อิ่มเอิบอยู่เสมอ ท่านบอกเสมอว่าเขาเดือดร้อนเขาจึงมาพึ่งพระ เราต้องช่วยเหลือเขาถึงจะถูกต้อง เพราะเฮาเป็นพระของชาวบ้าน และที่สำคัญไปกว่านั้น หลวงปู่ท่านมีความเมตตากับทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่เลือกว่าจะยากดีมีจน จะเป็นคนใกล้ชิดหรือญาติโยมที่มาจากต่างถิ่น ท่านเมตตาทุกคนเท่าเทียมกันหมด ณ ตอนนี้ผู้คนชาวบ้านทั้งหลาย ได้ขนานนามท่านว่า ท่านคือ “พระโพธิสัตว์” มาโปรดผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก เดือดเนื้อร้อนใจ เป็นร่มโพธิ์ทองให้พุทธศาสนิกชนได้อาศัยร่มใบบุญบารมี ของท่านมาจนถึงทุกวันนี้
ในวัย ๘๐ ปี หลวงปู่ท่านเริ่มชราภาพอย่างเห็นได้ชัดเจน เวลาท่านเดินเหินก็ต้องใช้ไม้เท้าค้ำยัน และมีคนคอยดูแลใกล้ชิดตลอด
หลวงปู่ทองมา ถาวโร ท่านมีศิษยานุศิษย์เยอะโดยเฉพาะสามเณรที่บวชเรียนที่วัด ที่ได้คอยอุปฐากหลวงปู่ คอยพยุง คอยดูแลอยู่ตลอดเวลา บางครั้งถ้ามีอาการอาพาธก็ต้องได้นั่งรถเข็น โดยมีสามเณรและญาติโยมคอยสับเปลี่ยนดูแลท่านอย่างใกล้ชิด รวมถึง คุณวิชาหลานของท่านเอง ที่ได้คอยดูแลอยู่ไม่ห่างเลย
ในวัย ๙๐ ปี หลวงปู่ทองมา ถาวโร ท่านมีอาการอาพาธอย่างรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาที่ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น หลายครั้ง และต้องได้นั่งรถเข็น ประกอบกับท่านก็ชราภาพมากแล้ว ชาวบ้านญาติโยมทั้งหลายพอทราบข่าว ก็ได้เดินทางมาเยี่ยมท่านที่วัดมาการบสักการะท่านเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว ท่านรักษาอาการอยู่ใน รพ.ศรีนครินทร์ อยู่หลายครั้ง อาการอาพาธของท่านก็ยังไม่ดีขึ้น สร้างความกังวลแก่ศิษยานุศิษย์และชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง ทุกคนที่ทราบข่าวต่างก็สวดมนต์ภาวนาขอพรพระรัตนรัยและสิ่งสักสิทธ์ทั้งหลาย บันดาลอนุภาพให้หลวงปู่ใหญ่ของพวกเรา หายจากอาการอาพาธและอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มธรรมให้แก่พวกเขาให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
◉ อวสาน สังขารไม่เที่ยง
เวลา ๐๘.๐๐ น. วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๔ เสียงกลองเพลจากวัด ตีดังกึกก้องไปทั่วสารทิศ ได้ยินไปถึงสรวงสวรรค์เบื้องบน ชาวบ้านที่กำลังทำนา ทำไร่ ประกอบกิจอันใดต่างพากันหยุดทันที บัดนี้ต้นโพธิ์ใหญ่ของพวกพวกเราได้หักโค่นลงแล้วหลวงปู่ใหญ่อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราได้จากพวกเฮาไปแล้ว น้ำตาชาวบ้านหลั่งรินปานสายฝน ผู้ที่กำลังอยู่ท้องทุ่งนาก็ต่างรีบเข้ามา กราบสักการหลวงปู่แสดงความอาลัยกราบขอขมาลาโทษ ศิษยานุศิษย์ที่ได้ทราบข่าวก็ต่างทยอยเดินทางมากราบสักการะสังขารของหลวงปู่ตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน หลวงปู่ของพวกเราสิ้นแล้ว หลวงปู่ของพวกเราสิ้นแล้ว น้ำตาแห่งความศรัทธาของบรรดาศิษยานุศิษย์ ไหลรินลงมาราวกลับแม่น้ำในมหานทีก็ไม่ปาน สิริรวมอายุหลวงปู่ได้ ๙๑ ปี พรรษา ๗๑
สังขารของ หลวงปู่ทองมา ถาวโร ถูกเก็บเอาไว้ ณ ศาลาวัดสว่างท่าสี เป็นเวลา ๕ เดือน เพื่อให้สานุศิษย์ พ่อค้า ประชาชน ทั้งหลายได้เดินทางเข้ามากราบสักการะโดยทั่วกัน และได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๕ ณ เมรุชั่วคราว บริเวณวัดสว่างท่าสี และจุดที่พระราชทานเพลิงศพนี้ได้กลายมาเป็นมณฑปหลวงปู่ทองมาและบรรจุเถ้าอัฐิและรูปหล่อหลวงปู่ ไว้ให้สานุศิษย์ได้กราบไหว้สักการบูชามาจนถึง ทุกวันนี้ ญาติโยมทั้งหลายสามารถเดินทางมากราบนมัสการขอพร หลวงปู่ทองมาได้ทุกวัน
ทุกๆปี ทางชาวบ้านญาติโยมบ้านท่าสี – หนองสำราญ จะจัดงานทำบุญใหญ่ประจำปี ในระหว่างช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือ ต้นเดือนมีนาคม แล้วแต่ทางวัดจะได้ออกประกาศตามสมควร ชาวบ้านจะเรียกงานบุญนี้ว่า “งานบุญหลวงปู่ใหญ่” เนื่องจากว่า หลวงปู่ทองมาท่านได้พาญาติโยมที่นี้ จัดงานบุญนี้ขึ้นมาเป็นประจำทุกๆปี จนกลายเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิง : หนังสือประวัติที่เขียนโดยพระครูวิมล สังวรคุณ วัดป่าเมตตาธรรม ปี พ.ศ.๒๕๔๐,หนังสือประวัติที่เขียนโดยคุณถนอม อนุกูล ปี ๒๕๑๘,หนังสือประวิติที่เขียนโดยคุณอรุณ ประดับสินธุ์ ปี พ.ศ.๒๕๔๔