ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ถัน อุตฺตรปญฺโญ
วัดศิริปัญญาราม
อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร
หลวงปู่ถัน อุตฺตรปญฺโญ ท่านถือกำเนิด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ในสกุล ”ไชยยศ” เกิดที่บ้านโพนยังคำ ตำบลโนนหอม อำเภอธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร บิดา ชื่อนายลาว มารดาชื่อนางยิ่ง ปู่ชื่อพุทธเสน ย่าชื่อ นางแทน มีพี่น้องร่วมท้อง ๙ คน ชาย ๕ คน หญิง ๔ คน ชื่อนายสอน นายสี นางหวา นายเริง นายเถิง นางทอง นายปุ้ม นางดอน ครั้นอยู่มาการทำนาก็ไม่ สะดวก บิดามารดาจึงได้อพยพครอบครัวมาอยู่บ้าน หว้าน ตำบลมาย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร (ปัจจุบันเป็นเขตอำเภอบ้านม่วง)
หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับสมัยนั้น เมื่ออายุ ๑๑ ปี ก็มีจิตศรัทธาคิดอยากบวชในพระพุทธศาสนา จึงได้ขอลาบิดามารดา บิดามารดาก็อนุญาต จึงได้ไปอยู่กับอาจารย์ปิ่น ๑ ปี ได้ศึกษาเล่าเรียน ตัวธรรม และ สวดมนต์เช้า-เย็น คล่องแคล่วแล้ว อาจารย์เห็นว่าจะ บรรพชาเป็นสามเณรได้แล้ว บิดามารดาได้หาบริขาร ผ้าสบง จีวรพร้อมบริบูรณ์แล้วจึงได้บรรพชาที่วัดบ้านหว้าน ตำบลมาย อำเภอวานรนิวาส สมัยนั้น โดยมีพระอาจารย์ปิ่น เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาและจำพรรษาที่วัดบ้านหว้านได้ ๑ พรรษา
แล้วก็ได้ย้ายและจำพรรษาวัดศรีดอกกาว บ้านม่วงกับพระอาจารย์แก้ว ๑ พรรษา
จำพรรษาที่วัดบ้านมาย ตำบลมาย กับหลวงปู่ธรรมมนตรี ๑ พรรษา
หลังจากนั้นได้มีความประสงค์ที่จะธุดงค์กรรมฐานติดตาม พระอาจารย์บุญ พระอาจารย์ผาง ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสกลนคร - อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม และได้ข้ามแม่น้ำโขงไปยังแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว ต่อมาก็ได้ข้ามกลับมาจำพรรษาตามวัดต่าง ๆ ทางอำเภอบึงกาฬ อำเภอท่าอุเทน อำเภอนาแก ในขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาธรรมะ เล่าเรียนหลักสูตรมูล แต่ก็ไม่จบ จากนั้นได้กลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านหว้านอีกครั้งหนึ่ง พี่สาวท่านได้ถึงแก่กรรม หลังจากออกพรรษาแล้ว ได้ธุดงค์สถานตามที่ต่าง ๆ ลัดเลาะตามฝั่งโขงตั้งแต่หนองคายไปยังนครพนม และกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านหนองปลาน้อย ตำบลโนนหอม อำเภอเมืองสกลนคร
หลังจากออกพรรษาก็ลาสิกขากลับบ้านหว้าน เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เมื่อไม่ได้รับการเกณฑ์ให้เป็นทหาร ก็ช่วยครอบครัวทำไร่ทำสวน ก่อนจะถึงวัดเข้าพรรษาก็ได้ตัดสินใจอุปสมบทตามคำขอของพระครูนามฯ ที่วัดศรีดอกกาว บ้านม่วง โดยมี พระครูอินตา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูจันทร์ดี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูจันทรา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อุปสมบทได้ ๒ พรรษา ก็ได้ลาสิกขาบท
ภายหลังได้แต่งงานกับนางก้าน บุตรสาวนายจันทกุมาร-นางตี้ อยู่ที่บ้านม่วง มีธิดาด้วยกัน ๑๒ คน ต่อมาได้ย้ายครอบครัวมาทำนาทำสวนที่บ้านบ่อแก้ว ได้พัฒนาปรับปรุงบ้านให้มีถนนหนทาง ปลูกเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำมาหากินเลี้ยงชีพด้วยการทำนาทำสวนอย่างไม่ท้อถอย
ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้มี หลวงพ่อจารย์คำ มาวิเวกจึงได้ขอนิมนต์ให้ท่านหาบอกตั้งวัดให้ ได้ร่วมกับญาติพี่น้องตั้งวัดและสร้างกุฎิขึ้้น ๒ หลังถวายหลวงพ่อคำฯ
ต่อมาได้นิมนต์หลวงพ่อจารย์ธรรมฯ ที่วัดป่าบ้านพังโคน มาเป็นประธานสงฆ์อยู่ในวัด
ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รวมพรรคพวกในหมู่บ้าน ๑๒ คน
ทำคอกช้างเพื่อต้อนช้างป่าเข้าคอกที่บ้านดงสีชมพูบ่ออาน - บ้านหนองตอ ได้ช้าง ๙ ตัวแล้วนำมาแบ่งกัน หลังจากแบ่งช้างกันแล้ว วันต่อมาภรรยาเกิดท้องร่วงอย่างรุนแรง จนรุ่งเช้าก็ยังไม่หาย เลยฝากช้างไว้กับพวกหมู่ แล้วเอาภรรยาขึ้นเกวียนกลับบ้าน อยู่ได้ ๒ วันต่อมาภรรยาได้ถึงแก่กรรม
เมื่อภรรยาถึงแก่กรรมก็เกิดความสังเวชสลดจิต
ตอนกลางคืนก็ไปนอนที่โบสถ์วัด ได้พิจารณาเห็นกองทุกข์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายอันเป็นทุกข์ จึงคิดว่าจะสละเพศฆารวาส สรรพสิ่งของไร่นามอบให้ลูกหลาน เพื่อเข้าอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติตนของตนให้เป็นบุญกุศลต่อไปภายภาคหน้า คิดแล้ว ตกลงแน่นอนแล้ว ตอนเช้าจึงได้ลาญาติมิตร พี่น้อง ลูกหลาน แล้วลงไปติดต่อบูชาผ้าที่วัด ได้แล้วก็กลับขึ้นมาบนเรือน พร้อมด้วยอาจารย์หลวงพ่อธรรม ตกลงโกนผมเลยทันที บรรพชาต่อหน้าศพภรรยา อนิจจาบังสุกุล ตื่นมาตอนเช้าวันใหม่ จึงได้ช่วยกันกับญาติพี่น้องเอาศพภรรยาไปบรรจุ
ตอนเย็นได้นิมนต์พระสวดพุทธมนต์บ้านและถวายภัตราหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์สามเณร สำเร็จแล้ว ก็ได้จัดแจงหาเครื่องบริขาร ๘ จนครบ แล้วจึงเดินทางออกจากบ้านม่วง ไปถึงวัดบ้านกุดเรือคำ ในเดือน ๖ ตรงกับวัน วิสาขบูชาพอดี ได้มอบตัวอุปสมบท ต่ออุปัชฌาย์ พระครูอดุลสังฆกิจ ท่านพระอาจารย์คำฟอง เขมจาโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพระอาจารย์ลี ฐิตธัมโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อุปสมบทเมื่ออายุ ๕๖ ปี ตรงกับวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ เวลา ๑๐.๓๕ น. ที่วัดกุดเรือคำ ตำบลคูสะคาม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ภาค ๙ เป็นอันว่าสำเร็จการอุปสมบท
ตื่นรุ่งเช้าบิณฑบาต ฉันข้าวตอนเช้าแล้วก็ได้กราบลา อุปปัชฌาย์กลับพร้อมพวกญาติโยม มุ่งไปยังบ้านบ่อแก้ว พอถึงเวลาเข้าพรรษาก็ได้จำพรรษาที่วัดบ้านบ่อแก้ว พร้อมด้วยหลวงพ่อสิงห์ และหลวงพ่อธรรม ในพรรษานั้นได้ตั้งสัจจะอธิษฐานทำความเพียร เดินจงกลมตลอดคืนบ้าง ค่อนคืนบ้าง เมื่อเดือน ๙ เพ่งได้พุทธนิมิตปรากฏว่า ตัวหนึ่งใหญ่สูงมาเทียบจึงได้ขึ้นขี่บนหลังม้า ม้าก็พาวิ่งไป ปรากฏว่าเลาะเลียบหนองหาร สกลนคร จนตกใจตื่นขึ้น จึงได้บำเพ็ญบริกรรมต่อไปอีก
ได้พุทธนิมิตอีกเมื่อเดือน ๑๐ ปรากฏมีควายตัวหนึ่ง มีผ้ารองนั่งที่บนหลัง ก็เลยขึ้นขี่หลังควาย ควายก็พาเดินไปตามถนนใหญ่ ถนนนั้นเป็นที่สะอาดกว้างขวางเวิ้งว้าง มีหมู่บ้านหลังคาสดสวยงดงามคล้ายกับบ้านเทพทั้งหมด เป็นที่น่าสะออนวอนใจ มีความรื่นเริงใจ แล้วก็รู้สึกตื่นขึ้นจึงภาวนาบริกรรมต่อไปอีก ตกถึงเดือน ๑๑ ออกพรรษา ปวารณาแล้วได้เดิน ไปบ้านมาย พักอยู่ ๑ คืน ตอนเช้าบิณฑบาต ฉันแล้วก็ได้เดินทางกับโยมบ้านมายหลายคน เข้าไปนมัสการฟังเทศนาของท่านพระอาจารย์ขาว อนาลโย พร้อมด้วย ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ ในเวลานั้น ที่วัดดงหม้อทอง ได้ศึกษาอบรมสมถะกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ที่ดงหม้อทองได้ ๑ เดือน จึงลาอาจารย์ขาวกลับบ้านบ่อแก้ว
ถึงบ้านบ่อแก้วในราว ๓ วัน มีโยมทิดคง บ้านคำอ้อ มานิมนต์ไปทำบุญให้บุตรธิดาของท่าน เมื่อสำเร็จงานนี้แล้ว บังเอิญพวก อาจารย์ภู อาจารย์อ่อน ได้มาพักอยู่ที่ดงหนองแอก ตอนกลางคืนมีเสือร้องอยู่รอบข้างตลอด ทนอยู่ไม่ได้ กลัวอันตรายจึงได้พร้อมกันวิ่งออกพร้อมด้วยโยม ๓-๔ คน ไปพักอยู่ที่วัดบ้านหนองแอก บังเอิญในวันนั้นพ่อออก (โยม) มอม และผู้ใหญ่สาได้ไปพบที่บ้านคำอ้อได้เล่าประวัติเรื่อง เสือวุ่นวายพระอาจารย์ภูอยู่ไม่ได้ ดังนั้นหมวดข้าพเจ้าจึงรับนิมนต์กลับพร้อมกับข้าพเจ้าด้วย เพื่อจะได้เข้าไปดูที่เสือรบกวน ก็เลยได้มากับโยมมอม และผู้ใหญ่สา พักอยู่ที่หนองแอก ตื่นเช้าฉันอาหารเสร็จแล้วก็ได้พร้อมกันเตรียม พร้า ขวาน เสียม เข้าไปด้วย อาจารย์ภูกับพวกนอนรวมกันเป็น กลุ่ม ๆ ไม่สามารถห่างออกจากกันได้เลย แต่ส่วนตัวข้าพเจ้า ได้ห่างออกจากหมู่ไปบริกรรมอยู่คนเดียว ตกดึกประมาณ ๖ ทุ่ม ปรากฏว่ามีพวกเทพทั้งหลายได้ย้ายครอบครัวออกจากในที่นั้น จึงถามเขาว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน เขาตอบว่า จะไปอยู่ที่ปากกระดิงแม่น้ำโขง ตื่นเช้ามาก็เห็นว่าเหมาะจะเป็น ที่พักของสงฆ์และที่ทำความเพียร จึงได้ให้ญาติโยมหาไม้ต้นเสาปลูกกุฏิในวันนั้นจนสำเร็จหนึ่งหลัง สองวันได้สองหลัง เลยได้ อยู่ทำความเพียรจนเข้าพรรษาพร้อมอาจารย์ภู และหลวงพ่อสิงห์ ตลอดพรรษา ในปีนั้นได้เกิดปัญญารู้เหตุผลบริบูรณ์ด้วยจิตที่ฝึก ฝน ออกพรรษาแล้วจึงกลับบ้านบ่อแก้ว
เมื่อออกจากบ้านบ่อแก้วแล้วได้เดินวิเวกธุดงค์ไปทาง ภูวัว อำเภอบึงกาฬจนถึงเดือน ๖ จึงกลับลงมาบ้านบ่อแก้ว บังเอิญมีโยมชื่อว่า นายฮ้อยมัง ทำสวนอยู่ที่วังหินแม่ช้าง บ้านนาเต่ามานิมนต์ให้ไปจำพรรษาอยู่ด้วย เลยรับนิมนต์ของโยมมัง ไปอยู่ที่วังหินแม่ช้าง อยู่ที่ร่มไม้วันหนึ่ง วันที่สองโยมมัง ยังได้ทำกระต๊อบถวาย ให้เป็นที่พักบริกรรมภาวนาตลอด ๓ เดือน
เมื่อออกพรรษาแล้วได้ชักชวนญาติโยมทางบ้านนา เต่าให้มีศรัทธาสร้างมหากฐินไปถวายที่วัดดงหม้อทอง ได้ช่วยกัน จัดหาเครื่องบริขารจนพร้อมสมบูรณ์ พอถึงเดือน ๑๒ เพ็ง จึงได้พาญาติโยม บ้านนาเต่า วังยาว ดอนคำ บ้านบ่อแก้ว นำขบวนแห่กฐินไปถวายที่วัดดงหม้อทอง และได้ฟังพระธรรมเทศนาของท่านหลวงปู่ขาว อนาลโย พวกญาติโยมก็มีความเบิกบานใจต่อการให้ทานในครั้งนั้นเป็นอันดี
เดือนธันวาคมได้ออกจากวังหินแม่ช้าง เดินวิเวกธุดงค์ กลับขึ้นภูวัวอีก ได้ไปพักอยู่ที่ถ้ำฝุ่น มีโยมหนาเป็นผู้อุปฐาก และมีโยมบ้านวังแดนมาส่งข้าวปลาอาหารอยู่ตลอด ถึงเดือน ๗ จึงได้กลับลงมาบ้านบ่อแก้ว
อยู่มาได้ประมาณ ๑๐ กว่าวัน มีญาติโยมชาวบ้านหนองแอกหลายคนไปนิมนต์มาจำพรรษาที่เสนาสนะเก่า ได้รับนิมนต์ และเดินทางมาพร้อมทั้งญาติโยมด้วยในวันนั้น มาถึงเมื่อเดือน ๘ เพ็ญ
พรรษานั้นมีพระเณร ๔-๕ องค์ มีพวกญาติโยมมาจำศีลอุโบสถมากมาย ออกพรรษาแล้วได้ลาญาติโยมไปเดิน วิเวกธุดงค์ทางปากแม่น้ำโขงฝั่งซ้ายแล้วย้อนกลับมา ภูลังกาตลอดแล้ง แล้วกลับมาบ้านบ่อแก้วอีก อยู่ไม่นาน เท่าไรมีพ่อขาวจันทร์มา คนบ้านถ่อนหนามแท่งได้เดินทาง มาพักที่วัดบ้านบ่อแก้วได้ศึกษาหาความรู้ในด้านธรรมะ อ้อนวอนขอให้ข้าพเจ้าพาเดินวิเวกธุดงค์ไปทางภูวัว ก็เลยตกลงได้ไปพร้อมกัน ไปถึงภูวัวว่าจะจำพรรษาอยู่ที่ภูวัว แต่อยู่ได้เดือนกว่า ผ้าขาวจันทร์มาที่ติดตามมาด้วย ก็เกิดไข้ขึ้นกระวนกระวาย เห็นจะอยู่ไม่ได้ จึงได้กลับลงมาจากภูวัว มาพักอยู่ที่บ้านทุ่งชายจก ๒ คืน
ตื่นเช้าจึงออกเดินทางต่อพร้อมด้วยญาติโยม ที่ตามมาส่งยังบ้านนาสะแบง ญาติโยมท้ายบ้านนาสะแบงได้มาพักอยู่บ้านท่าเชียงเครือ ให้พวกหมอยาเขาใส่ยาพยาบาล จนหายอาพาธเจ็บไข้ จึงพร้อมกันลงมาเดินทางมาพักที่ บ้านโคกสว่าง ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอบึงกาฬ ญาติโยมชาวบ้านทุกๆ คนในหมู่บ้านนั้น เห็นไม่มีพระอยู่ในวัด จึงขอนิมนต์ให้จำพรรษาที่วัดนั้นด้วย แต่อยู่องค์เดียวไม่ได้ ไม่มีพวกหมู่ พวกญาติโยมจึงอ้อนวอนขอผ้าขาวจันทร์มาไปอุปสมบทที่วัดบ้านกุดเรือคำ พ่อขาวจันทร์มาก็ยินยอมจะอุปสมบทให้ ได้พร้อมกันหาเครื่องบริขารครบบริบูรณ์ แล้วก็ได้เดินทางออกจากบ้านไปหลายคน มาถึงบ้านกุดเรือคำจึงได้มอบผ้าขาวจันทร์มาให้แก่ท่านอุปปัชฌายะ เมื่อสำเร็จการบวชแล้ว จึงกลับมาที่บ้านโคกสว่างได้ ๓ วัน ก็เข้าพรรษา
เมื่อออกพรรษาแล้ว เดือนมกราคมถึงงานสอบธรรมสนามหลวง ก็ได้พร้อมกันมาเป็นกรรมการในงานสอบนี้ที่วัดกุดเรือคำ จึงได้พบปะกันกับท่านอาจารย์สมชาย คนจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งได้มาจำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองทุ่ม เลยได้ศึกษาในทางการปฏิบัติซึ่งกันและกัน
ท่านอาจารย์สมชายได้ชักชวนว่าไปวิเวกด้วยกันไหมคุณพ่อ ผมจะไปทางพระบาทโพนสัน ก็ได้ตกลงว่าจะไปกับท่านอาจารย์ด้วย เสร็จการสอบแล้ว ก็บอกกันว่าให้ไปพบกันที่พระบาทโพนสัน ท่านก็กลับมาที่บ้านหนองทุ่ม ข้าพเจ้าก็กลับบ้านโคกสว่าง ได้ตกลงกันกับพวกญาติโยม หลายคน หาบข้าวปลาอาหารไปทำบุญที่รอยพระบาทมีเด็ก ๔ คนไปด้วย ออกเดินทางไปตลอด ๑ คืน จึงไปพบอาจารย์สมชายที่พระบาทโพนสัน สำเร็จการให้ทานในงานพระบาทแล้วก็ได้พร้อมกันออกวิเวกเดินธุดงค์ ไปตามภูเขาเหล่ากอ ที่บ้านต่างๆ เลาะแม่น้ำโขงกระทั่งถึงนครเวียงจันทร์ ได้ขึ้นไปพักที่ภูเขาควาย และภูง ได้ทำความเพียรอยู่ตลอดหลายเดือนจึงได้กลับลงมาที่ฟากโขงกล้ำขวา พักอยู่ที่วัดป่าคอยของ ท่านพระอาจารย์บัวพา ที่บ้านศรีเชียงใหม่อยู่ ๑ เดือน จึงได้ลาพระอาจารย์บัวพาออกเดินวิเวกธุดงค์เลาะแม่น้ำโขงไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ได้ไปพักอยู่ ที่หินหมากเป้ง บ้านกวกซวก และด่านเล็บเงือกได้ทำความเพียรอยู่ที่นั้นนานประมาณ ๒ เดือน จึงข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งซ้ายอีก อยู่ที่ถ้ำพระใกล้แม่น้ำโขง และด่านคอกม้า มีโยมชื่อว่า พ่อเลียนบ้านห้วยห่อมได้นำอาหารถวายบิณฑบาตทุกวัน ประมาณ ๑ เดือน
จวนจะเข้าพรรษาได้พร้อมกันเข้าในนครเวียงจันทร์ ไปพักอยู่ที่วัดดงนาโซก อาจารย์อ่อนศรี ได้บวชเด็ก ๔ คนนั้นให้เป็นผ้าขาวอยู่ด้วยกัน ในปีนั้นมีพระเณร จำพรรษาอยู่ด้วยกัน ๒๒ องค์ ถึงเมื่อเดือน ๘ เข้าพรรษา ท่านอาจารย์อ่อนศรีเลยเกิดอาพาธบวมไปนานสัก ๑๐ กว่าวัน ก็ถึงแก่มรณภาพ จึงพร้อมกันเก็บศพของท่านตลอดไตรมาส ถึงเดือน ๔ ก็ได้ฌาปนกิจศพของท่านสำเร็จแล้วได้พร้อมกัน กลับลงมาเลาะแม่น้ำโขงวิเวกอยู่ที่ภูง บำเพ็ญอยู่ที่นั้นหลายวัน ออกจากภงแล้วได้มาเยี่ยมมิตรสหายที่ปากชันแล้วเลยข้ามแม่น้ำโขงมาที่อำเภอบึงกาฬ พักอยู่ราว ๒-๓ วัน ที่บ้านท่า ได้ออกจากท่าได้เดินทางไปพักที่ภูงูอีก ในราว ๑ เดือน ได้กลับลงมาที่สำนักสงฆ์ฝั่งประเทศไทยช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๐ จึงได้ชักชวนญาติโยมทำกิจวัตร หัดเดินจงกลมภาวนา แนะนำพร่ำสอนในทางสัมมาปฏิบัติ
ต่อมาในเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ ได้แนะนำแผ่ยายในการกุศลให้ทานในทางพระพุทธศาสนา ได้ลงมติกันสร้างศาลาการเปรียญขึ้นไว้ใน สำนักสงฆ์ ภายหลังจึงกลายมาเป็นวัดป่าศิริปัญญาราม
ปี พ.ศ.๒๕๒๐ คณะศิษยานุศิษย์เห็นว่าร่างกายของหลวงปู่ถัน ก็เริ่มร่วงโรยตามกาลเวลา จึงได้นิมนต์มาอยู่ที่บ้านโพนไค โดยชาวบ้านได้สร้างวัดป่าโพนไคถวาย
ตลอดชีวิตเพศบรรพชิตหลวงปู่ถันที่เคร่งครัดพระธรรมวินัยแล้วยังมีศิษยานุศิษย์และญาติโยมเคารพนับถือมากขึ้น
ต่อมาเมื่อหลวงปู่ได้อาพาธและละสังขารเมื่อ
วันศุกร์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๗ สิริอายุ ๘๗ ปี ๓๒ พรรษา คณะศิษยานุศิษย์จึงได้สร้างพิพิธภัณฑ์เพื่ออัญเชิญรูปเหมือนเท่าองค์จริงพร้อมอัฐบริขารของหลวงปู่เท่าที่รวบรวมไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ภายในวัดป่าบ้านโพนไค ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร
◉ ประวัติการสร้างเหรียญ
เหรียญหลวงปู่ถันนั้น ปรากฏการสร้างเพียง ครั้งเดียวคือ เหรียญรุ่นแรกปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ลักษณะเป็นเหรียญกลมรี เนื้อทองแดง รมดำ (ภาพด้านล่าง) ไม่ทราบจำนวนการสร้างที่แน่ชัด ข้อมูลว่า คณะศิษย์ที่สร้างได้นำขึ้นไปถวายพระอาจารย์ฝั้นให้ท่านอธิษฐานจิตให้อีกวาระ
◉ บรรณานุกรมอ้างอิง : คัดลอกมาจากหนังสือวินัยสะดวก ที่ระลึกเนื่องในงานฉลองวิหารและทำบุญอายุครบ ๘๐ ปี หลวงปู่ถัน อุตฺตรปัญโญ วัดศิริปัญญารามอำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร วันที่ ๒๙-๓๐ มกราคม ๒๕๒๐ และ
อ้างอิงข้อมูลจาก โยมอุปัฏฐากวัด ลุงแสวง แสงหาญ บ้านเลขที่ ๑๕๑ หมู่ที่ ๗ บ้านสมานสามัคคี ตำบลมาย อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร
ขอขอบคุณ ข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน