ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ถวิล จิณณธัมโม
วัดธรรมหรรษาราม (วัดยางระหง)
อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
หลวงปู่ถวิล จิณณธัมโม ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถร , ท่านพ่อลี ธัมมธโร และเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโทฺ , ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
◎ ชาติภูมิ
ท่านพระอาจารย์ถวิล จิณณธัมโม เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๓ ปีวอก อันเป็นปีที่ สมเด็จพระศรีพัชรรินทราบรมราชินีนาถ (พระราชมารดาของ รัชกาลที่ ๖ และ รัชกาลที่ ๗ ) เสด็จสวรรคต ณ ที่ ต.หนองบัว อ.เมือง จ.จันทบุรี สมัยเด็กท่านเติบโตมาท่ามกลางป่าเขาเรือกสวนผลไม้ อาทิ เงาะ ทุเรียน สมัยเป็นฆราวาสก่อนที่จะได้เข้ามาบวช หนุ่มถวิล ได้ไปรับใช้ชาติบ้านเมืองเป็นทหารออกทำศึกกับข้าศึกที่เมืองเชียงตุง ครั้นพอปลดประจำการ ท่านจึงมีสภาพเป็น “ทหารผ่านศึก” เขาปล่อยให้กลับบ้าน แต่ทางการมาส่งแค่ จ.ลำปาง เท่านั้น
ท่านพระอาจารย์ถวิล เล่าเชิงขบขันว่า “อาตมามองหารถไม่มีก็เลยต้องออสตีน” จากลำปางจนถึงบางกอก โน้นสมัย…นายควง อภัยวงศ์ อ.ปรีดี พนมยงค์ จากกรุงเทพฯ เดินเรื่อยมาถึงเมืองชล-ระยอง บุกป่าฝ่าดงไปทะลุเอาที่จันทบุรี พอมาถึงก็เข้าวัดป่าคลองกุ้งเลย ป่วยเป็นไข้ป่า เล่นเอาเกือบตาย ได้ท่านพ่อลี ธัมมธโร (วัดอโศการาม) มาดูอาการไข้ แล้วเอายาให้กิน ภายหลังจากหายโรคแล้วก็เดินทางกลับบ้าน
ครั้นไปถึงบ้านมารดาและญาติๆ ลงมติว่าจะให้หนุ่มถวิลบวช แต่ทุกคนก็ได้ยินคำปฏิเสธจากหนุ่มถวิลว่า “ไม่บวช” ยังไงก็ไม่บวช มารดาพี่น้องทุกคนต่างอ่อนอกอ่อนใจไปตามๆ กัน จึงพากันไปนมัสการ ท่านพ่อลี ที่วัดป่าคลองกุ้งให้ช่วยเหลือ ท่านพ่อลี จึงมีจดหมายเรียกตัวหนุมถวิลให้ไปหาที่วัด หนุ่มถวิลมีความเคารพในองค์ท่านพ่อลีมากจึงไม่ขัดขืน เดินทางมาที่วัด บรรดาญาติโยมก็มากันเต็มศาลาเหมือนนัดกันไว้ ท่านจึงพูดว่าเจ้าต้องบวช “ไม่มากก็น้อย เจ้าจะต้องบวช” ก็เลยต้องฝืนใจรับปากไปว่าบวชก็บวช ครั้นถึงวันอุปสมบท หนุ่มถวิลก็ได้รับความเมตตาจากท่านพ่อลี จัดการบวชให้ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๙ โดยมีพระอมรโมลี วัดจันทนาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร วัดป่าคลองกุ้ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูพิพัฒน์วิหารการ วัดจันทนาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ณ วัดคลองกุ้ง อ.เมือง จ.จันทบุรี ได้รับฉายาว่า “จิณณธัมโม” ท่านตั้งใจว่าจะขอบวชเพียง ๓ เดือนเท่านั้น
พระอาจารย์ถวิล ท่านมีวาสนาได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์อันประเสริฐอย่างท่านพ่อลี ครั้นเมื่อครบ ๓ เดือนท่านจึงเข้าไปกราบเรียนกับท่านพ่อลี เพื่อลาสิกขาบท แต่ท่านพ่อลี ท่านเล็งรู้ด้วยญาณว่า… พระถวิล เกิดมาเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนา ท่านจึงพูดว่า เฮ้ย…ไปบุกป่าเสียก่อน ฝึกสมาธิสัก ๒ เดือนแล้วค่อยมาลาใหม่ ในที่สุด พระอาจารย์ถวิลจึงจำใจปฏิบัติตาม โดยท่านพ่อลีสั่งให้ท่านพระอาจารย์เฟื่อง เป็นผู้นำพระอาจารย์ถวิล แบกกรด สะพายบาตร เข้าป่า นับว่าเป็นอุบายให้เข้าถึงธรรมะของพ่อแม่ครูบาอาจารย์
ท่านพระอาจารย์เฟื่อง ได้พาพระอาจารย์ถวิลไปปักกลดในป่าช้าแห่งหนึ่งมีศพคนตายขึ้นอืดพองไปทั้งตัว ส่งกลิ่นอย่างขนาดหนัก อาจารย์เฟื่องท่านว่า “เอาตรงนี้แหละ กลางวันก็หอม กลางคืนก็หอม” พอปักกลดเรียบร้อย ท่านก็ให้เดินจงกรม หลังจากเดินจงกรมแล้ว ก็นั่งสมาธิต่อ จิตเกิดรวมขนาดหนัก รู้สึกตัวเองนั่งแข็งเป็นเหล็ก มีสติทุกขณะจิต ดูเหมือนเต็มเปี่ยมในทุกอริยาบถ
พระอาจารย์เฟื่องและพระอาจารย์ถวิล บุกป่าฝ่าดงไปหลายแห่ง ต่างเร่งบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก ไม่เคยทิ้งอริยาบถใดให้เคลื่อนจากองค์ภาวนา บัดนี้พระอาจารย์ถวิล จิณณธัมโม ได้พบของดีแล้ว ความคิดที่อยากจะสึกออกไปใช้ชีวิตทางโลกดูเหมือนจะลืมไปเสียแล้ว จิตใจมีแต่ความอิ่มเอิบ เบิกบานในศีล สมาธิ และปัญญาที่ได้ และเมื่อธุดงค์กลับมาที่วัดคลองกุ้งก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องที่จะขอลาสึกอีกเลย
ต่อมาภายหลังจากออกพรรษาแล้ว บรรดาศิษย์ของท่านพ่อลี ได้ปรารภกันถึงกิตติศัพท์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และครั้นพอได้ยินชื่อเท่านั้นก็เกิดมีความรู้สึกศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง จึงเข้าไปกราบลาท่านพ่อลี เพื่อแจ้งความประสงค์ว่าจะไปกราบพระอาจารย์มั่นที่สกลนคร แต่ท่านพ่อลี พูดเพียงประโยคเดียวว่า “ยังไม่ให้ไป”
พระอาจารย์ถวิล จึงต้องอยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมที่วัดคลองกุ้งต่อไป และเมื่อได้โอกาสท่านและคณะอีก ๔ องค์ ก็ได้เข้าไปขออนุญาตอีกเป็นครั้งที่ ๒ ท่านพ่อลีพิจารณาแล้วจึงได้อนุญาต จากนั้นท่านพ่อลี ได้กล่าวอบรมเมตตาสั่งสอนแนวทางการดำเนินชีวิตในป่าดงพงไพร ที่เต็มไปด้วยอันตรายนานาชนิด โดยให้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
จากนั้นคณะธุดงค์ก็ได้เริ่มออกเดินทางผ่านทางระยอง-ชลบุรี-กรุงเทพฯ แต่ละแห่งพักอยู่ไม่เกิน ๒ วัน ถึงกรุงเทพฯ ก็ได้ไปพักที่บ้านตระกูล “ว่องวานิช” แล้วเดินทางมุ่งหน้าไปภาคอีสานด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ขอเพียงได้กราบเท้าหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สักครั้งเดียวก็พอใจแล้ว
พระอาจารย์ถวิล จิณณธัมโม กล่าวไว้ว่า การเดินธุดงคกรรมฐานต้องอาศัยสติ เดิน ยืน นั่ง นอนต้องมีสติมันจึงจะบังเกิดผลแห่งการภาวนา ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯถึงโคราช ๑๗-๑๘ วันเข้ารายงานตัวที่วัดป่าสาละวัน ซึ่งเป็นศูนย์พระกรรมฐานและได้พบพระผู้ใหญ่หลายๆ องค์ จากนั้นก็ออกเดินธุดงค์มุ่งหน้าไป จ.อุดรธานี พักอยู่ที่ จ.อุดรธานี ๒-๓ วัน ก็ไปต่อ
แต่การเดินธุดงค์แบบไม่ค่อยจะรู้หนทาง จึงเป็นเหตุให้คณะธุดงค์ของพระอาจารย์ถวิล หลงป่าไปทะลุยัง อ.วานรนิวาส แถวๆ บ้านกูดแฮด อนึ่งเวลาก็จวนเจียนจะเข้าพรรษา จึงต้องอยู่จำพรรษาที่ อ.วานรนิวาส เสีย ๑ พรรษา ในระหว่างที่จำพรรษาที่นั่น ก็ได้มีโอกาสพบกับท่านพระอาจารย์อุ่น และท่านพระอาจารย์อุ่น ได้นำคณะของท่านพระอาจารย์ถวิล มาอยู่จำพรรษากับหลวงปู่กงมา จิรปุญโญ อีก ๑ พรรษา
◎ หลวงปู่อว้าน เขมโก เล่าสมัยท่านเป็นเด็กได้กราบหลวงปู่มั่น และท่านพระอาจารย์ถวิล
ท่านพระอาจารย์มั่นที่ได้พบตอนเด็ก อาตมาออกโรงเรียนแล้ว ก็ได้ติดตาม หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ ไปกราบ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ไปพักที่นั่น ๓ คืน พักกับหลวงปู่กงมา พอไปถึงท่านพระอาจารย์มั่นบ่นเกี่ยวกับ พระอาจารย์ถวิล จิณณธัมโม ซึ่งท่านเอาปูนซีเมนต์หุ้มต้นเสากันมดไม่ให้ขึ้น ท่านบ่นแล้วบ่นเล่าว่า “ไม่ดี ๆ”
เช้ามา หลวงปู่กงมาก็พาหมู่ทุบแล้วก็ทำใหม่ พระอาจารย์ถวิลก็มาช่วยทำอีกอย่างเก่า ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเดินดูตามลูกกรงส่องมาดู ท่านว่า “ท่านถวิล มันเฮ็ดหยังคือไก่เขี่ยเนี่ย” ท่านพูดให้พระอาจารย์ถวิลองค์เดียว ตอนอาตมาเป็นเด็กก็ได้ยิน ได้ช่วยท่านก่อปูนด้วย แต่ไม่รู้จักความหมาย
ต่อเมื่ออาตมาเข้ามาบวชคราวนี้ ก็ได้นำคำพูดคำนั้น มาศึกษาดู แปลว่ายังไง ก็พระอาจารย์ถวิลท่านเก่งทางปูน ท่านเป็นช่างปูน แต่ทำให้ท่านพระอาจารย์มั่นติแล้วติเล่า นำมาศึกษาดู ก็ได้ความว่า…ท่านเตือนสติ ท่านให้มีสติสำรวม ส่งจิตไปอื่นไม่ได้ แล้วถ้าส่งจิตไปเพื่อความสวยความงามนั้นไม่ได้ ท่านพระอาจารย์มั่นอนุญาตให้ทำได้ ถ้าทำเพื่อให้แข็งแรง ทนทาน ตั้งอยู่ได้นาน แต่ถ้าจะเพ่งเพื่อความสวยความงามไว้อวด คนอื่นอย่างนั้นไม่ได้
ท่านพระอาจารย์ถวิล จิณณธัมโม มีอะไรๆ ที่พิเศษอยู่มาก แต่ท่านไม่พูด ไม่กล้าที่จะพูดอวดใคร ท่านว่า “เรื่องลี้ลับในพระศาสนานี้มีจริง ต้องปฏิบัติเองจึงจะรู้” ..ภายหลังจากพระอาจารย์ถวิล จิณณธัมโม อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ก็มีเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นคือ …ท่านทั้งสองเหมือนเป็นดังคู่ทดสอบพลังจิตซึ่งกันและกัน ซึ่งก็เป็นผลแห่งพระกรรมฐานนั่นเอง
วันหนึ่ง หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านนั่งสมาธิ ท่านนั่งไปอยู่ชั่วครู่ ก็มีอาการตัวลอยขึ้น ร่างกายทุกส่วนเหมือนไร้น้ำหนัก ตัวท่านลอยขึ้นๆจากพื้นประมาณหนึ่งเมตรเห็นจะได้ แล้วค่อยๆวนเวียนไปรอบๆ ห้องปฏิบัติพระกรรมฐาน การลอยตัวได้ขณะที่นั่งสมาธิ พระอาจารย์ถวิล ก็ไม่น้อยหน้ากว่ากัน ท่านสามารถนั่งจนตัวลอยไปรอบๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์เลยทีเดียว
เมื่อบั้นปลายชีวิตท่านพระอาจารย์ถวิล จิณณธัมโม อาพาธ จิตท่านบรรลุธรรมถึงขั้นอนาคามีผลแล้วแต่ติดอยู่แค่นั้น พิจารณาไปไหนต่อไม่ได้ จึงได้เขียนจดหมายกราบเรียนหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ไปที่วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี หลวงตามหาบัวท่านก็เมตตาเขียนจดหมายสอนข้อธรรมตอบกลับมาให้ท่านพระอาจารย์ถวิล ได้พิจารณาข้อธรรมขั้นที่สูงขึ้นไป
◎ มรณภาพ
หลวงปู่ถวิล จิณณธัมโม มรณภาพลงด้วยอาการสงบเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๘ สิรวมอายุ ๖๖ ปี ๒๙ วัน พรรษา ๔๐
◎ โอวาทธรรม หลวงปู่ถวิล จิณณธัมโม (พระครูอรัญญาภิรัต) วัดธรรมหรรษาราม อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
“…เมื่อผู้ใดได้ฝึกสอนอบรมจิตใจให้แก่กล้าแล้ว รับรองว่าต้องได้ผล ปัจจุบันนี้เกรงว่าจะไม่เอาจริงและไม่เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาปล่ะซิ จึงเที่ยวก่อกรรมกันไม่ว่างเว้นครั้นพอมีภัยจวนตัวเข้า ก็พึ่งหาพระ ก็กรรมมันไล่ถึงตัวแล้วใครจะไปช่วยได้เล่า…”