ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ช่วง จันทโชโต
วัดบางแพรกใต้
อ.เมือง จ.นนทบุรี
พระครูนนทวุฒาจารย์ (หลวงปู่ช่วง จันทโชโต) วัดบางแพรกใต้ จ.นนทบุรี พระเกจิชื่อดังที่ชาวเมืองนนท์ให้ความคารพนับถือมากองค์หนึ่ง
◉ ชาติภูมิ
พระครูนนทวุฒาจารย์ (หลวงปู่ช่วง จันทโชโต) วัดบางแพรกใต้ เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๐๔ ที่บ้านในคลองบางบัวทอง ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี บิดาชื่อ “นายสิงโต” และมารดาชื่อ “เฟี้ยม เพ็งแจ่ม”
◉ บรรพชาอุปสมบท
เมื่ออายุ ๙ ขวบบิดามารดาได้นำไปฝากเรียนหนังสือกับพระที่วัดขวิด (วัดแสงสิริธรรม) ซึ่งอยู่ในละแวกบ้าน
ต่อมาเมื่ออายุ ๑๒ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่ วัดเขมาภิรตาราม โดยมี พระครูเขมาภิมุขธรรม เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นอายุ ๑๙ ปี ได้ลาสิกขาออกมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ
ต่อมาท่านได้อุปสมบท ที่วัดบางแพรกใต้ จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของโยมบิดา เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๔ โดยมี พระอธิการทับ วัดนครอินทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการศรี วัดบางแพรกใต้ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์เสือ วัดนครอินทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “จันทโชโต”
เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดบางแพรกใต้ โดยศึกษาพระธรรมวินัยและวิปัสสนากรรมฐานกับพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวดของท่านทั้ง ๓ รูปรวมทั้งด้านพุทธาคมต่างๆ ซึ่งท่านทั้ง ๓ รูปมีความเชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงโด่งดังในขณะนั้น
นอกจากนี้ท่านยังได้ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิทยาคมกับ หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง เรื่องวิชาโสฬสมงคลและไตรสรณคม เรียนวิชาทำผ้าประเจียดและธงแดงจากพระธรรมมานุสรี (สว่าง) วัดเทียนถวาย เรียนวิชาทำผงวิเศษ ๕ ประการจาก พระครูนิโรธมุนี วัดตำหนักเหนือ และเรียนวิชาทางคงกระพันชาตรีกับ หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน
ต่อมา พ.ศ.๒๔๓๕ พระอาจารย์ศรี เจ้าอาวาสวัดบางแพรกใต้ มรณภาพลง ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๕๐ หลังจากนั้น ๓ ปีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลสวนใหญ่
หลวงปู่ช่วง ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีศีลจารวัตรงดงามเคร่งครัดในระเบียบวินัย และมีเมตตาธรรมสูงจึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านได้สร้างถาวรวัตถุต่างๆ อาทิ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฏิ หอระฆัง ฯลฯ ทั้งยังได้เอาใจใส่บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ ตลอดมา จนทำให้วัดบางแพรกใต้ คืนสภาพจากความเสื่อมโทรมสู่ความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ดังที่เห็นในอยู่ทุกวันนี้หลวงปู่ช่วง เป็นพระอุปัชฌายะบวช คนมาตั้งแต่บิดาจนถึงคนรุ่นลูกหลานเหลนนับอยู่ในเกณฑ์ยาวถึง ๓-๔ ชั้นแม้ในยามที่ชราภาพ ท่านก็สงเคราะห์อนุเคราะห์ทุกผู้ทุกคน ที่มาขอความช่วยเหลือจากท่านตลอดมา ในเทศกาลออกพรรษาจึงมีลูกศิษย์ของท่านมาให้ท่านช่วยลงกระหม่อมจำนวนมาก โดยท่านจะใช้ดินสอพองที่ทำไว้มาลงให้
เรื่องวัตถุมงคลก็มีผ้าประเจียด, เสื้อยันต์,ตะกรุด พิศมร ผู้ใดต้องการจะต้องนำวัตถุดิบมาขอให้ท่านทำให้ปัจจุบันหาดูได้ยากมาก ท่านเคยสร้างพระเครื่องเนื้อดินสอพองผสมผงวิเศษและใบแคอัดพิมพ์ เมื่อคราวสงครามเอเชียบูรพาปัจจุบันหาชมยากเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ ลูกศิษย์ได้ขออนุญาตสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้นเป็นรุ่นแรก เนื่องในโอกาสทำบุญฉลองอายุครบ ๘๕ ปีประกอบด้วยเหรียญเนื้อเงิน, เนื้อทองแดงและเนื้อฝาบาตร ซึ่งทุกวันนี้เป็นเหรียญยอดนิยม ที่มีผู้แสวงหากันมากจัดเป็นสุดยอดเหรียญดังเหรียญหนึ่งของเมืองนนท์ กิตติศัพท์โด่งดังด้านแคล้วคลาดมหาอุดเป็นยอด
ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูนนทวุฒาจารย์”
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ วัดลานนาบุญได้จัดสร้างเหรียญรูปหลวงปู่ช่วง ออกเป็นที่ระลึกในการจำลองพระคันธาราช
ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ วัดบางแพรกเหนือ ได้มีการยกเครื่องบนก่อสร้างอุโบสถ ในโอกาสนี้คณะกรรมการวัดได้ขออนุญาตหลวงปู่ช่วง เพื่อสร้างเหรียญรูปเหมือนของท่านขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง เป็นรูปอาร์มเหมือนเหรียญรุ่นแรกแต่ย่อขนาดลง
และเหรียญรุ่นสุดท้าย เป็นแบบรูปสามเหลี่ยมสองหน้าด้านหนึ่งเป็นรูปพระพุทธโสธร ด้านหนึ่งเป็นรูปหลวงปู่ ช่วงสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ แต่ทว่ายังไม่ได้นำออกมาแจก จนเมื่อหลวงปู่ช่วง ท่านมรณภาพลง ในปีต่อมาทางวัดจึงได้นำมาแจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน
◉ มรณภาพ
พระครูนนทวุฒาจารย์ (หลวงปู่ช่วง จันทโชโต) วัดบางแพรกใต้ มรณภาพลง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ สิริอายุรวมได้ ๙๔ ปี พรรษา ๗๔
◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมของ หลวงปู่ช่วง เหรียญรุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๔๘๘ ที่ระลึกทำบุญอายุครบ ๘๕ ปี ลักษณะคล้ายเหรียญรูปอาร์ม ด้านหน้าบรรจุรายละเอียดของเหรียญไว้ครบถ้วน ว่าสร้างขึ้นเนื่องในโอกาศอะไร ด้านหลังเป็นยันต์และอักขระขอม ประกอบไปด้วย เนื้อทองเหลือง, ทองแดง และเนื้อเงิน ซึ่งเนื้อเงินบางเหรียญจะเป็นเหรียญแหนบ มักจะเรียกว่าเหรียญแจกกรรมการ
เหรียญรุ่นแรก (เสริม) เนื่องจากบล็อคหลังชำรุดเสียหายจึงแกะบล็อคขึ้นใหม่ แต่ใช้บล็อคหน้าตัวเดิม มีเนื้อทองเหลือง ๔,๐๐๐ เหรียญ เสร็จแล้วนำไปให้หลวงปู่ช่วงปลุกเสก
เหรียญปี พ.ศ.๒๔๙๘ ออกวัดลานนาบุญ จ.นนทบุรี เป็นเหรียญเสมา
เหรียญปี พ.ศ.๒๔๙๗ คล้ายรุ่นแรก ด้านหลังระบุ ที่ระลึกยกเครื่องบนพระอุโบสถ วัดบางแพรกเหนือ จ.นนทบุรี วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๗
เหรียญรุ่นสุดท้าย ปี พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นเหรียญสามเหลี่ยม ๒ หน้า ด้านหนึ่งเป็นหลวงพ่อโสธร อีกด้านหนึ่งเป็นรูปเหมือนเต็มองค์ เป็นเหรียญเนื้อทองแดง