วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่ฉลวย อชิโต วัดป่าโนนหินเสื่อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ฉลวย อชิโต

วัดป่าโนนหินเสื่อ
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

หลวงปู่ฉลวย อชิโต วัดป่าโนนหินเสื่อ
หลวงปู่ฉลวย อชิโต วัดป่าโนนหินเสื่อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

องค์หลวงปู่ฉลวย นั้น องค์ท่านถือได้ว่า เป็นหนึ่งในพ่อแม่ครูอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แห่งวงศ์พระกรรมฐานในยุคปัจจุบัน

หลวงปู่ฉลวย อชิโต ท่านยังเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ผู้มีศักดิ์เป็นหลานแท้ ๆ ของ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จันทปัชโชโต) วัดนรนารถสุนทริการาม กรุงเทพฯ สมเด็จพระราชาคณะที่องค์หลวงตามหาบัวฯ ให้ความเคารพเป็นอย่างมาก และ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต จ.หนองคาย พ่อแม่ครูอาจารย์พระมาหาเถระ แห่งวงศ์พระกรรมฐานอีกด้วย โดยหลวงปู่เหรีญนั้นองค์ท่านได้รับรองคุณธรรมแหลวงปู่ฉลวยไว้แล้วว่า..”ท่านฉลวย การประพฤติปฏิบัติของท่านนั้น สมควรอยู่เพื่อช่วยเผยแพร่สัจธรรมความจริงได้แล้ว เพราะกำลังจิตแก่กล้า เอาตัวรอดได้แล้ว..”

หลวงปู่ฉลวย อชิโต ท่านเป็นหลานของหลวงปู่เหรียญผู้เป็นหลวงลุง หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ นั้นเป็นพระศิษย์กรรมฐานรุ่นแรกของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ร่วมกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี  , หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

พระอาจารย์ฉลวย ท่านเป็นศิษย์ผู้ดําเนินตามแนวทางพระกรรมฐานจากท่านพระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ แห่งวัดอรัญบรรพต จ.หนองคาย

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต

ทายาทผู้ประพฤติสืบต่อหลักธรรมคําสั่งสอน ด้วยระเบียบ วินัยอย่างเคร่งครัดนี้ ปัจจุบัน กําลังจะหายากลงทุกวัน ๆ

พระอาจารย์ฉลวย อชิโต องค์นี้ ท่านมีปฏิปทาที่น่าเคารพบูชาอยู่มาก ความเป็นผู้รักความสงบ รักสันโดษ โดยใช้ชีวิตแบบสมถะ ไม่เดือดร้อนวุ่นวายกับ เอกลาภทั้งหลายทั้งปวง ท่านเคยปรารภอยู่เสมอ ๆ ว่า.. “คนเราเกิดมา ถ้ายังไม่ละทิ้งความอยากอยู่แล้ว ก็ยากนักหนา ที่จะบําเพ็ญตนให้พ้นทุกข์ได้
พระพุทธเจ้าของเรา พระองค์ทรงสอน ให้มีการปล่อย-ละเท่านั้น แต่ถ้าหากยังยึดมั่นถือมั่น อยู่แล้วละก็ อย่าไปหาเลยความสงบน่ะ หาไม่พบหรอก…สมาธิจะ เกิดขึ้นได้อย่างไง ก็เมื่อมันยัง อยากโน่นอยากนีอยู่!”

พระอาจารย์ฉลวย อชิโต ท่านมีนามเดิมว่า ฉลวย พิชิตชัย เกิดเมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๑๑ ปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๘๕ ณ ในเขตอําเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัด หนองคาย บิดาชื่อ นายโฮม พิชิตชัย มารดาชื่อ นางพันธ์ พิชิตชัย ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓ คน เป็นหญิง ๒ (เสีย ชีวิตไปแล้วทั้ง ๒ คน) และชาย ๑ คือตัวท่านเอง

ท่านเป็นบุตรคนสุดท้องของบิดามารดา ซึ่งย่อมจะต้องการ ความรักความอบอุ่นจากท่าน ทั้งสองมาก แต่ชีวิตในวัยเด็กของท่านนั้นอาภัพยิ่ง เพราะบิดาผู้เป็นกําลังอันสําคัญของครอบครัวได้มาเสียชีวิตลง เมื่อท่านมีอายุได้ ๔ ปี เท่านั้น การสูญเสียบิดาของท่านไปในครั้งนี้ นําความทุกข์โศก มาสู่ผู้เป็นมารดาและท่านเป็นอย่างยิ่ง แต่ต่อมาเมื่อท่านอายุ ได้ ๘ ปี มารดาของท่านก็ได้เข้าพิธีแต่งงานใหม่

อันนิสัยของเด็กผู้ชาย โดยมากแล้วจะรักหวงแหนมารดาเป็นที่สุด… นี่แหละทําให้ท่านรู้จักรสชาติของความทุกข์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ก่อนที่ท่านจะบรรพชาเป็นสามเณร ท่านได้เข้าศึกษาเล่าเรียน จบชั้นประถมปีที่ ๖ จากโรงเรียนประจําอําเภอศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

พออายุท่านได้ ๑๑ ปีบริบูรณ์ ท่านได้รับอนุญาตให้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดช้างเผือกสังกัดคณะมหานิกาย บวชเข้ามาแล้ว ก็มีงานที่ได้รับมอบหมายจากครูบาอาจารย์เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปวันหนึ่ง ๆ นอก จากนั้นก็ท่องหนังสือเจ็ดตํานานเท่านั้น ท่านมีใจรักชีวิตนักบวชมากกว่าจะสึกออกมาใช้ชีวิตในเพศฆราวาส เพราะการที่ดําเนินชีวิต ทางโลกมีแต่ความทุกข์และความดิ้นรน ยิ่งมองเห็นชีวิตครอบครัว ของท่านในอดีตสมัยเป็นเด็กเล็ก ๆ ด้วยแล้ว ทําให้จิตใจสลดแทบกลั้น น้ำตาไม่อยู่

ดังนั้น การบวชเป็นสามเณรในครั้งนี้ ท่านสามารถบวชได้ ๔ ปี จนอายุย่างเข้า ๒๐ ปี ในระหว่างที่พระอาจารย์ฉลวย บวชเป็นสามเณรอยู่นั้น ท่านมีโอกาสได้พบกับท่านพระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ แห่งสํานักสงฆ์ผาชัน ต่อมาสํานักแห่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นทางการว่า วัดอรัญบรรพต จ.หนองคาย

พระอาจารย์ฉลวย มีความเคารพนับถือพึงพอใจในปฏิปทาของท่าน จึงขออยู่จําพรรษาด้วย พร้อมทั้งได้รับการอบรมพระกรรมฐานด้วย ครั้นเมื่ออายุได้ ๒๐ ปีเต็ม พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ ได้นําสามเณรฉลวย ไปอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดพระงามศรีมงคล โดยมี พระครูศีลขันธ์สังวร (หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ) เป็นพระอุปัชฌาย์

หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ (พระครูสีลขันธ์สังวร) วัดพระงามศรีมงคล
หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ (พระครูสีลขันธ์สังวร) วัดพระงามศรีมงคล

เมื่ออุปสมบทครั้งแรก ท่านอาพาธหนักมีอาการผอมแห้งแรงน้อย จนหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ต้องอาราธนาให้ท่านลาสิกขาไปรักษาตัวให้หายดีก่อน แล้วค่อยมาบวชใหม่ เพราะตัวยาที่ต้องใช้ มีส่วนผสมของสุราเป็นอาบัติ ข้อห้ามของพระภิกษุ

พระอาจารย์ฉลวย ท่านบวชพระ ๒ ครั้ง ครั้งแรกท่านบวชได้ ๔ พรรษา ก็ต้องลาสิกขาบทออกไป ด้วยวิบากกรรมยังไม่สิ้น เกิดเจ็บป่วยอย่างรุนแรง จนต้องตายไป ๑ วัน ๑ คืน คณะญาติของท่านมานั่งร้องไห้อยู่นอกกุฏิเต็มไปหมด

หลวงปู่ฉลวย ท่านเมตตาเล่าว่า..ตอนหนุ่ม ๆ หลวงปู่ท่านมีสุขภาพไม่แข็งแรงเจ็บป่วยด้วยหลายโรค จนหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต จ.หนองคาย ต้องอาราธนาให้ท่านลาสิกขา เพื่อไปรักษาตัวให้หายดีเสียก่อน เพราะตัวยาพื้นบ้าน ที่จะใช้รักษาต้องมีเหล้าเป็นกระสายยา ครั้งหนึ่งหลวงปู่ฉลวยอาพาธหนัก ถึงขั้นหมดสติไป ๓ วัน เนื่องจากปอดไม่ทำงาน คณะสงฆ์และญาติโยม เตรียมจัดงานฌาปนกิจ แต่หลวงปู่เหรียญคงจะทราบด้วยญาณวิถี จึงห้ามว่าอย่าเพิ่งเผา

เมื่อครบ ๓ วัน หลวงปู่ฉลวย กลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ อย่างน่าอัศจรรย์ ในระหว่าง ๓ วันนี้ มโนวิญญาณได้เห็นภาพต่างๆ เหมือนจอฉายหนัง ย้อนกลับไปในอดีตชาติของตัวเอง เป็นร้อยๆชาติ ได้ประกอบทั้งกรรมดี และกรรมชั่วไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือการผ่าท้องผู้หญิงทั้งเป็น เพื่อนำลูกในท้องมาทำเป็นกุมารทอง ตามหลักไสยศาสตร์ ด้วยผลกรรมนี้ทำให้หลวงปู่ต้องรับการผ่าตัด ลำไส้ถึงสามครั้ง

ภายหลังจากได้รักษาตัวจนหายสนิทดีแล้ว ท่านจึงเข้าบวช เป็นพระภิกษุสงฆ์อีกครั้ง ในครั้งที่สองนี้ ได้รับเมตตาจากท่านพระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ เป็น พระอุปัชฌาย์บวชให้ ได้รับฉายาว่า “อชิโตภิกขุ

เมื่อพระอาจารย์ฉลวย อชิโต บวชเข้ามาแล้วท่านได้เร่งเจริญภาวนาอย่างหนัก ท่านไม่อาลัยชีวิตอีกต่อไป แม้โรคภัยจะกําเริบขึ้นมาอีกก็ตาม ท่านจะขอยอม ตายในผ้าเหลือง ไม่ยอมลาสิกขาบทอีกเป็นคํารบสอง

ฉะนั้น ท่านได้ขอสมาทาน ถือข้อธุดงควัตรตลอดชีวิต เตรียมเครื่องบริขารที่จะเดินธุดงคกรรมฐาน ด้วยจิตใจของนักต่อสู้กิเลส ตัณหา อุปาทาน ให้ถึงที่สุด!

พระอาจารย์ฉลวย อชิโต ท่านได้รับอุบายธรรมปฏิบัติจากครูบาอาจารย์ฝ่ายสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์และเป็นศิษย์ในสาย ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อีกหลายท่าน อาทิ

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
หลวงปู่บัวพา ปัญญาพาโส
หลวงปู่หลอด ปโมทิโต เป็นต้น

พระอาจารย์ฉลวย อชิโต ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ ที่มีความสันโดษมักน้อย ท่านถือการบําเพ็ญเพียรมุ่งค้นคว้าหาสัจธรรมเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้รับการอบรม สั่งสอนมาดีจนมีกําลังจิตแก่กล้า อาจหาญสมกับพระนักกรรมฐาน

ท่านกล่าวธรรมโดยย่อว่า….
“..คนเราเกิดมาเพราะอวิชชา เป็นต้นเหตุ เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ไม่ว่าชายหรือหญิง ควรที่จะปฏิบัติภาวนา เพื่อฆ่าเสียซึ่งกิเลสทั้งปวง เราเอาธรรมะของ พระพุทธเจ้า มาดับอวิชชาความ โง่เซอะเหล่านี้ให้จงได้ไม่เหลือวิสัย..”

ภายหลังจาก พระอาจารย์ ฉลวย อชิโต เดินธุดงค์ย้อนกลับมาถิ่นเดิมแล้ว พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ ได้สั่งมอบหมายให้ท่านพระอาจารย์ฉลวย ไปอยู่ปกครอง ดูแลพระภิกษุ-สามเณร อันเป็นวัดสาขาชื่อ วัดป่าชิตานุสรณ์ ต.หนองปลาปาก อ.ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย

เมื่อท่านได้รับมอบหมายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้แล้ว ท่านได้ ทําการก่อสร้างเสนาสนะ เช่น กุฏิ ศาลา ถนน เป็นต้น แต่เดิมนั้นเสนาสนะโดย ส่วนมากจะปลูกแบบง่าย ๆ อาศัยแฝกและหญ้าคามุงบังเท่านั้น จะเป็นกุฏิที่ถาวรก็ไม่กี่หลัง

อย่างไรก็ตาม พระอาจารย์ฉลวย อชิโต ได้กล่าวไว้ว่า..
“ที่อยู่ที่อาศัยนั้นอย่าถือว่าเป็นเรื่องสําคัญ เพราะมันเป็นสิ่งของนอกกาย ส่วนที่สําคัญยิ่งเราทั้งหลายควรเอาใจใส่ให้มาก ๆ คือ จิตใจที่มีธรรมะ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้แหละเป็นเลิศ..!”

ท่านเป็นพระนักปฏิบัติ และพระนักพัฒนาคนมากกว่าวัตถุ มีผลงานการเทศนาธรรม ตามสถานที่ต่าง ๆ มาหลายสิบปี จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เช่น รายการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ททบ.๕ ในสมัยก่อน และเทศน์ทางสถานีของวัดสังฆทาน

ท่านเป็นพระรับแขก ที่ไม่รังเกียจที่จะคุยกับโยมเป็นเวลานานๆ เพราะการสนทนากัน จะช่วยตอบข้อซักถามต่าง ๆ ให้เป็นที่กระจ่าง ทั้งทางโลกและทางธรรม

น้อยคนที่จะรู้ว่า หลวงปู่ฉลวย อชิโต เป็นพระอีกรูปหนึ่งที่มีความผูกพัน กับวัดใหม่เสนา (ลาดพร้าว-วังหิน) และ “องค์หลวงปู่หลอด ปโมทิโต” มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่หลวงปู่หลอด ยังเป็นเจ้าอาวาส ที่วัดอรัญญวาสี อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย จวบจนหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ได้อาราธนาหลวงปู่หลอด มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดใหม่เสนา หลวงปู่ฉลวย ก็ได้ติดตามมาด้วย เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒

ท่านเล่าถึงการปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษณ์ ที่ถ้ำผาดัก จ.หนองคาย ๑๕ วัน ฉันภัตตาหารทีหนึ่ง กว่าจะเดินลงมาเจอหมู่บ้าน ต้องใช้เวลา ๒ ชั่วโมง นั่งสมาธิภาวนาอย่างไม่คิดชีวิต ไม่ฉันภัตตาหารและน้ำ จนเวลาล่วงเลยไป ๕ วัน เสมือนหนึ่งว่าเวลาผ่านไปแค่ ๑ วัน สิ่งอำนวยความสะดวก
แม้กระทั่งไฟฉายและเทียนไข ก็ไม่มีให้ใช้ ต้องใช้แสงเดือนต่างแสงไฟ อีกทั้งสัตว์ป่า เช่น เสือและช้างก็ยังชุกชุม

ท่านเล่าถึงการปฏิบัติของครูบาอาจารย์ในสมัยก่อนว่า หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ จะให้ลูกศิษย์นั่งสมาธิวันละ ๓ ชั่วโมง เสร็จแล้วต่อด้วยเดินจงกรม

หลวงปู่หลอด ปโมทิโต จะปลุกลูกศิษย์มานั่งสมาธิ สวดมนต์ตั้งแต่ตี ๔ ซึ่งข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงามเหล่านี้ ปัจจุบันค่อยๆจางคลายลงไปพร้อมกับกาลเวลา

หลวงปู่ฉลวย อชิโต วัดป่าโนนหินเสื่อ
หลวงปู่ฉลวย อชิโต วัดป่าโนนหินเสื่อ
หลวงปู่ฉลวย อชิโต วัดป่าโนนหินเสื่อ
หลวงปู่ฉลวย อชิโต วัดป่าโนนหินเสื่อ

ปัจจุบัน หลวงปู่ฉลวย อชิโต ท่านได้มาจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าโนนหินเสื่อ ต. พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ท่านมีอายุ ๗๘ ปี พรรษา ๔๘ (พ.ศ.๒๕๖๓)
(รวมอุปสมบทเป็นพระตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ลาสิกขาไปรักษาตัวกลับมาบวชอุปสมบทใหม่ ปีพุทธศักราชปี ๒๕๑๓ รวมเป็น ๕๓ พรรษา)