ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่จ้อย
วัดบางช้างเหนือ
อ.สามพราน จ.นครปฐม
หลวงปู่จ้อย วัดบางช้างเหนือ พระเกจิอาจารย์ยุคเก่ารูปหนึ่งผู้ทรงวิทยาคม และเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว แห่งเมืองนครปฐม
◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่จ้อย วัดบางช้างเหนือ ประมาณต้นแผ่นดินของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ราวปี พ.ศ.๒๓๖๐ ได้มีเด็กชายคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมาแถบแม่น้ำนครชัยศรี (แม่น้ำท่าจีน ) พื้นเพบริเวณนี้ได้ ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีชื่อว่า “จ้อย” ชีวิตในเยาว์วัยไม่มีหลักฐานปรากฏแน่นอน ทราบว่าเป็นบุตร “นายนาค” กับ “นางจิ๋ว สุขบำรุง” มีพี่น้องร่วมสายโลหิต ๓ คน
๑.นางพุ่ม
๒.นายเมฆ
๓.นายจ้อย (หลวงปู่จ้อย วัดบางช้างเหนือ)
นายจ้อย สมัยเยาว์วัยมีอุปนิสัยสนใจทางด้านวิชาอาคมต่างๆเป็นอันมาก เมื่ออายุครบบวชได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา ใช้ชีวิตอยู่ในสมณเพศด้วยการร่ำเรียนคาถาอาคม จนกิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่ว มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ที่มีชื่อเสียงเด่นๆ ๒ รูป คือ
๑. พระภิกษุรุ่ง
๒. พระภิกษุพรหม บัวโต (โยมบิดาหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นฆราวาสมีมาก ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปเกือบหมดแล้ว)
ตามข่าวเล่าลือเกี่ยวกับบุญญาภินิหารของหลวงปู่จ้อย ในระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่ มีผู้เล่าลือว่าเดิมที่เดียวบริเวณหน้าวัดบางช้างเหนือติดริมฝั่งแม่น้ำมีกอไผ่มาก เป็นที่อาศัยของนกทั้งหลาย เป็นที่ต้องใจของนักฉมังปืนที่จะได้ทดสอบฝีมือ มีอยู่ครั้งหนึ่งหลวงปู่มาพบเข้าท่านก็อนุญาตให้ยิงนกได้ แต่ยิงเท่าไรก็ยิงไม่ออกเป็นที่น่าอัศจรรย์แก่นักยิงปืนและผู้พบเห็นเป็นจำนวนมาก ต่อมากอไผ่เหล่านั้นก็ถูกทลายเอามาทำเครื่องลางของขลังจนหมดสิ้น โดยที่ทางวัดไม่ต้องขุดไม่ต้องถอนแต่อย่างใด
น้ำมนต์ หลวงปู่จ้อย ว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์กันนักแล ใช้รักษาได้สารพัดโรค ใครเจ็บไข้ได้ป่วยต่างก็มาขอน้ำมนต์ของหลวงปู่จ้อยไปรักษา เจ๊กคนหนึ่งภรรยากำลังตั้งครรภ์ใกล้คลอด พอครบกำหนดภรรยาเจ็บท้อง มีอาการเจ็บปวดรุนแรงมาก เพราะไม่สามารถคลอดบุตรออกมาได้ จึงรีบพายเรือมาหาเพื่อขอน้ำมนต์จากท่าน พอมาถึงก็เล่าเรื่องภรรยาของตนให้ท่านฟัง พร้อมทั้งขอน้ำมนต์ หลวงปู่บอกว่าน้ำมนต์เสร็จแล้ว เจ๊กคนนั้นตกใจ เพราะเอาขวดใส่น้ำไปให้ท่านทำน้ำมนต์ ยังไม่เห็นท่านปลุกเสกเวทมนตร์อะไรเลย กลับบอกว่าเสร็จแล้ว จึงลาท่านกลับและคิดว่าน้ำในขวดนั้นต้องไม่ใช่น้ำมนต์แน่ จึงเอาไปเททิ้ง เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ เพราะเทเท่าไรก็เทไม่ออก จึงคิดว่าเป็นน้ำมนต์แน่ รีบกลับนำไปให้ภรรยา ปรากฏว่าพอภรรยาดื่มเข้าไปสักครู่เดียวก็คลอดบุตรได้ง่ายดาย สร้างความศรัทธาเชื่อถือกันมาจนทุกวันนี้
อีกเรื่องหนึ่ง สมัยนั้นมีเรือกลไฟซึ่งมีไม่มากนัก บรรทุกสัมภาระจากเหนือล่องมาทางใต้ถึงปากน้ำท่าจีนเมืองสมุทรสาคร ซึ่งจะต้องผ่านวัดบางช้างเหนือเป็นประจำ ครั้งหนึ่งหลวงปู่ชี้ให้ศิษย์ดูว่า ทำไม เรือจึงแล่นอยู่กับที่เป็นเวลานาน พวกลูกศิษย์ต่างประหลาดใจไปตามๆกัน อีกครู่หนึ่งท่านบอกว่าแล่นไปได้ เรือจึงสามารถเคลื่อนไป นับว่าวาจาของท่านศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก เป็นที่ประจักษ์แก่ศิษย์ทั้งหลาย
หลวงปู่จ้อย มีคาถาอาคมทางเมตตามหานิยม พ่อค้าแม่ค้าท่องบ่นคาถาของท่านแล้ว ซื้อง่ายขายดี มีกำไร ได้พยายามสืบหาคาถานั้น แต่ไม่มีผู้ใดจดจำได้ แน่ที่น่าเสียดาย
ในบั้นปลายชีวิตท่าน มีเรื่องสุราเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นที่โจษขานกันว่า ท่านชอบสุราจนถึงถูกสอบสวนจากพระสงฆ์ผู้ใหญ่ บางท่านเล่าว่าหลวงปู่ได้รับเชิญจากทางเมืองหลวงคือฝ่ายวังหน้าให้ไปจำพรรษาเป็นเวลาได้ปีเศษ ต่อหน้าผู้คนทั้งหลายที่เป็นเจ้านาย เจ้าพระยาท่านได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ท่านได้ดื่มน้ำบริสุทธิ์ธรรมดา แต่คนฝ่ายตรงข้ามกลับเห็นว่าดื่มสุรา เพราะเรื่องสุราเกี่ยวข้องกับชีวิตของท่านอย่างนี้ ฉะนั้นเวลา ผู้คนซึ่งมาบนบานศาลกล่าวกับหลวงปู่ จึงมีเครื่อง เซ่นไหว้ พร้อมทั้งมีสุรามาด้วย ตราบเท่าทุกวันนี้
ชีวิตของหลวงปู่ยืนยาว ผู้เล่าบางท่านบอกว่าเคยเห็นท่านตอนชราภาพมากแล้ว มรณภาพ ประมาณ พ.ศ.๒๔๔๐ – ๒๔๔๒ อายุได้ ๘๐ ปี เรื่องอภินิหารต่างๆ มีผู้รับรองกันว่าเป็นเรื่องจริงเล่าสืบกันมา ชีวิตของท่านอาจพิสดารโลดโผนกว่านี้ เนื่องจากไม่มีผู้ใดจดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอาจคลาดเคลื่อนหรือขาดหายตอนสำคัญๆไป หลวงปู่จ้อย เป็นเจ้าอาวาสรูปหนึ่งของวัดบางช้างเหนือ ในช่วง พ.ศ.๒๔๐๐ ถึง พ.ศ.๒๔๔๒
หลังจากหลวงปู่จ้อยมรณภาพแล้ว ๕๐ ปี เหตุการณ์ต่างๆที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่ยังมีผู้กล่าวขานสืบมาไม่ขาดสาย ได้มีลูกศิษย์ที่เคารพนับถือและเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่ได้ร่วมกันสร้างองค์หลวงปู่จ้อยเป็นที่ระลึก โดยมีนายเจือ ไหลวารินทร์ เป็นนายช่างปฏิมากรใหญ่ ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยเห็นหลวงปู่เป็นผู้ติและเสริมแต่งจน ได้หุ่นอันแท้จริงของหลวงปู่แล้วจึงหล่อรูปท่านไว้กราบไหว้บูชา
ศาลหลวงปู่จ้อยเดิมเล็กมาก สร้างไว้ตั้งแต่วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๕ ไม่สวยงาม คับแคบ อีกทั้งมีประชาชนมาเคารพสักการะหลวงปู่เพิ่มขึ้น มีความเชื่อศรัทธา เพราะต่างก็ได้รับผลสำเร็จต่างๆ ตามความประสงค์เป็นที่น่าอัศจรรย์ มีงานมีการก็บนไม่ให้ฝนตก ของหายก็ได้คืน ประชาชนถิ่นนี้และถิ่นใกล้เคียงนับถือหลวงปู่มาก ดังนั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ทางวัดจึงจัดสร้างศาลาหลังใหม่ให้ท่าน โดยมีพี่น้องประชาชนช่วยกันบริจาคเป็นจำนวนเงินประมาณ ๗๐,๐๐๐ บาท เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเป็นประธานทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธปฏิมาประธานวัดบางช้างเหนือ ได้เสด็จเข้าวิหารหลวงปู่จ้อย ทรงจุดธูป เทียน บูชาสักการะด้วย
ข้อเขียนตอนหนึ่งของ “สด กูรมะโรหิต” มีว่า “หลวงปู่จ้อยเชี่ยวชาญทางการรักษาโรคด้วยน้ำมนต์และวิชาอยู่ยงคงกระพัน มีวาจาสิทธิ์ สั่งให้วัตถุหยุดหรือเคลื่อนไหวได้ เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป ในทางการค้ามีคาถาให้ท่องบ่น สามารถทำให้เกิดความเจริญได้ทันตาเห็น” อีกตอนหนึ่งว่า “ เรื่อโดยสารวิ่งรับ-ส่งคนและบรรทุกสินค้า ซึ่งต้องวิ่งผ่านศาล ถ้าวันไหนไม่จุดธูปบูชาบอกเล่าและเบาเครื่องเวลาผ่านจะต้องมีอันเป็นไปเสมอ เช่น เครื่องดับไม่ยอมทำงาน คราวหนึ่งไม่นานมานี้ นายทหารคนหนึ่งที่ห้องส่งวิทยุกรมการรักษาดินแดน นั่งฟุบไปกับโต๊ะคล้ายสลบไป พอฟื้นขึ้นมาก็บอกว่าพวกที่มาส่งวิทยุไม่ได้มากันแค่นี้วิญญาณหลวงปู่จ้อยได้ตามมาด้วย ชาวไร่องุ่นสามพราน ถ้าต้องการให้องุ่นงามก็พากันไปบนบานศาลกล่าว มักจะพบกับความอุดมสมบูรณ์ สมความตั้งใจ การขอฝนหรือห้ามฝน ชาวบ้านก็ใช้วิธีบนหลวงปู่ ทุกคนที่สามพรานพากันประหลาดใจที่ทุกๆ ปีหลังงานวัดฝนจะตกใหญ่เป็นการล้างวัดให้สะอาด เพราะระหว่างงานมีของสกปรกตกเรี่ยราด หลวงปู่เกลียดงิ้ว เกลียดหนังตะลุง โดยมากโรงงิ้ว โรงหนังตะลุง มักจะพังเพราะเกิดพายุพัด ส่วนโบสถ์ ศาลาการเปรียญพายุไม่แตะต้อง
◉ วัตถุมงคล
วัตถุมงคล วัดบางช้างเหนือ ที่มีการจัดสร้างโดยประวัติความเป็นมาในการจัดสร้างพระเครื่องชุดนี้นั้นมีดังต่อไปนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ พล.ต.ท.ประชา บูรณธนิต นายตำรวจมือปราบหนึ่งในอัศวินแหวนเพชรและคุณนายปราณี บูรณธนิต ได้มีความประสงค์ที่จะจัดสร้างองค์พระพุทธชินราชน้อยจำลองขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๕ นิ้วและองค์พระร่วงพระโรจนฤทธิ์จำลองสูง ๕ ศอกขึ้นเพื่อประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดบางช้างเหนือ ถวายเป็นพุทธบูชาและเนื่องในงานทำบุญอายุครบ ๗๒ ปี ของคุณแม่เขียว ชาญศิลป์ มารดาของคุณนายปราณี โดยในพิธีการหล่อพระครั้งนี้ พล.ต.ท.ประชา บูรณธนิต ท่านยังได้สร้างพระเครื่องขึ้นมาชุดหนึ่ง อันประกอบไปด้วย
๑.พระท่ากระดาน เนื้อชินตะกั่ว จำลองพิมพ์จากพระท่ากระดานกรุศรีสวัสดิ์ที่ท่านศรัทธาและบูชาติดตัวอยู่ตลอด โดยได้นำก้อนตะกั่วสนิมแดงของกรุศรีสวัสดิ์มาเป็นชนวนหลอมการสร้างพระครั้งนี้ด้วย
๒.เหรียญปั๊มเสมาพระพุทธชินราชน้อยจำลอง
๓.เหรียญปั๊มเสมาหลวงปู่จ้อย วัดบางช้างเหนือ อีกทั้งยังได้อาราธนาพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นมาร่วมพิธีพุทธาภิเษกด้วยกันหลายรูป อาทิเช่น
● ท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม (หลวงพ่อโชติ) วัดพระปฐมเจดีย์ฯ
● พระโสภณสมาจารย์ (หลวงพ่อเหรียญ) วัดหนองบัว
● พระครูไพโรจน์มันตราคม (หลวงพ่อรุ่ง) วัดท่ากระบือ
● พระครูทักษิณานุกิจ (หลวงพ่อเงิน) วัดดอนยายหอม
● พระครูภาวนาสังวรคุณ (หลวงพ่อเต๋) วัดสามง่าม
● พระครูประสาธน์วิทยาคม (หลวงพ่อนอ) วัดกลางท่าเรือ
● พระครูธรรมาภิราม (หลวงพ่อบุญธรรม) วัดพระปฐมเจดีย์
● พระอาจารย์เสถียร (หลวงพ่อเณร) วัดไชยยืด
● หลวงพ่อหลาย วัดราษฎร์บำรุง จ.ชลบุรี
● พระอาจารย์สำเนียง อยู่สถาพร วัดเวฬุวันฯ
มีบทบันทึกอีกอย่างที่ต้องบอกให้ทุกท่านทราบคือ เกิดเหตุอัศจรรย์ภายในปะรำพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องวัดบางช้างเหนือชุดนี้คือ ขณะที่ท่านพระครูไพโรจน์มันตราคม(รุ่ง) วัดท่ากระบือ กำลังนั่งปรกปลุกเสกพระเครื่องชุดนี้อยู่ พระท่ากระดานและพระเครื่องจำนวนหนึ่งที่กองอยู่เบื้องหน้าหลวงพ่อรุ่งได้ลุกตั้งขึ้นเรียงกันเป็นแถว จนเป็นที่ประหลาดใจแก่ผู้ที่เข้าร่วมในพิธี โดยเหตุการณ์นี้เป็นคำบอกเล่าของพระครูจุ๊น วิจักขโณ อดีตรองเจ้าอาวาสวัดบางช้างเหนือ ได้เมตตาเล่าให้ผมและพ.ต.ท.วินัย บำรุงกิจ(ยศในขณะนั้น)ฟังเมื่อพ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งท่านได้อยู่ร่วมพิธีพุทธาภิเษกและเหตุอัศจรรย์ในครั้งนั้นด้วย ท่านได้ยืนยันย้ำชัดเจนอีกว่าหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือได้มาร่วมปลุกเสกพระเครื่องชุดนี้อย่างแน่นอน เพราะหลวงพ่อรุ่งท่านได้มาจำวัดที่กุฏิของท่านหนึ่งคืน ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีแล้ว พอรุ่งเช้าจึงเดินทางกลับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก watbangchangnua.wordpress.com