ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่จันดา จันทาโภ
วัดทองนพคุณ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม
หลวงปู่จันดา จันทาโภ (พระครูจันทสีตลคุณ) อดีตเจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย และเป็นอดีตเจ้าอาวาส วัดทองนพคุณ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม พระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่ในศรัทธา อีกทั้งยังเป็นพระอุปัชฌาย์ของอดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายรูป
◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่จันดา จันทาโภ (พระครูจันทสีตลคุณ) นามเดิมชื่อ “จันดา อุทปา” เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๑๗ ณ บ้านดงบัง หมู่ที่ ๔ ต.ภารแอ่น อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม บิดาชื่อ “นายอุด อุทปา” และมารดาชื่อ “นางง้อม อุทปา” ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา
ในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ขณะอายุได้ ๑๕ ปี บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านขมิ้น ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม แล้วพำนักอยู่ที่วัดบ้านดงบัง บ้านเกิด
◉ อุปสมบท
ครั้นพออายุครบบวช ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๗ ที่อุโบสถวัดบ้านดงบัง ต.ภารแอ่น อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม โดยมี พระเป่ม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระค้อ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระคำมี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “จนฺทาโภ”
จากนั้นเดินทางไปยังสำนักเรียนวัดบ้านดอนหลี่ อ.พยัคฆภูมิพิสัย มุมานะศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมด้วยความขยันขันแข็ง ในเวลาไม่นาน สำเร็จการศึกษามูลกัจจายน์ ซึ่งยุคสมัยนั้นการศึกษาของวงการสงฆ์ยังไม่เจริญเช่นปัจจุบัน สำนักเรียนก็มีน้อย ครูอาจารย์ที่มีภูมิความรู้จะอบรมสั่งสอนยังมีไม่มาก
พระภิกษุ–สามเณรที่ต้องการศึกษา เล่าเรียน ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการแสวงหาที่เรียน
สำหรับหลวงปู่จันดา ที่สามารถเรียนจบมูลกัจจายน์ จึงนับได้ว่าเป็นผู้มีภูมิความรู้มากรูปหนึ่งในยุคสมัยนั้น ดังจะเห็นได้ว่าต่อมาไม่นานได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านหนองพอก
วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๓ ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย และวันที่ ๖ พฤษจิกายน พ.ศ.๒๔๗๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “พระครูจันทสีตลคุณ”
หลังจากที่มีตำแหน่งทางปกครอง ปฏิบัติหน้าที่งานด้านปกครองคณะสงฆ์ ยึดหลักเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง ด้วยหลักพรหมวิหาร ๔ และปฏิบัติศาสนกิจตามหลักพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการศึกษาให้แก่พระภิกษุ–สามเณร โดยท่านเปิดสำนักเรียนขึ้นที่วัดทองนพคุณ จนเป็นสำนักเรียนใหญ่มีชื่อเสียงโด่งดัง ในแต่ละปีจะมีพระภิกษุ–สามเณรศึกษาเล่าเรียนจำนวนมาก โดยท่านทำหน้าที่เป็นครูสอนเอง และยังร่วมกับญาติโยมพัฒนาวัดทองนพคุณให้เจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์รวมใจของชุมชนดังปรากฏในปัจจุบัน
ในช่วงสมัยนั้นพระอุปัชฌาย์มีน้อยมาก ผู้ที่มีความประสงค์จะบรรพชาหรืออุปสมบทในเขตพื้นที่ใกล้เคียงต่างเดินทางมาบวชกับท่านที่อุโบสถวัดทองนพคุณ มีหลักฐานตัวเลขนับแต่ที่ท่านรับหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์จนถึงวันมรณภาพ บรรพชา ๓,๒๕๐ รูป และอุปสมบท ๔,๐๕๐ รูป
นับว่าเป็นผู้มีศิษย์มากรูปหนึ่งในจำนวนอุปสัมปทาเปกขะมีหลายรูปที่ต่อมาเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง อาทิ หลวงปู่มี กันตสีโล วัดป่าสันติธรรม อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม, หลวงปู่สุ่ย ถิรธัมโม วัดหนองขาม อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม, หลวงปู่ถิน สารานุโม วัดบ้านดงเมืองน้อย จ.มหาสารคาม, หลวงปู่เสือ อดีตเจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเป็นพระที่มีผลงานการเผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์สัมมา สัมพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่อง เทศนาสั่งสอนอบรมให้พุทธศาสนิกชนยึดหลักศีล ๕ ในการดำเนินชีวิต มีความกตัญญูต่อ บิดา มารดา ครู อาจารย์ และผู้มีพระคุณ จะทำให้ชีวิตพานพบแต่ความดีงาม และเจริญรุ่งเรือง
◉ มรณภาพ
หลังจากตรากตรำรับใช้พระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน ช่วงบั้นปลายของชีวิตหลวงปู่อาพาธบ่อยครั้ง วาระสุดท้ายถึงจะอาพาธหนักแต่ท่านยังมีสติ เรียกคณะศิษย์มาประชุม พร้อมให้โอวาทโดยใจความสั้นๆ ว่า “สังขารร่างกายมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีป่วย แล้วมีความตายเป็นบั้นสุดท้าย ไม่มีสัตว์ใดล่วงพ้นความตายไปได้แม้แต่คนเดียว ดังนี้ ท่านผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายเอ๋ย! จงประพฤติธรรมและวินัยให้เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นจนเต็มความสามารถเทอญ”
สุดท้าย หลวงปู่จันดา จันทาโภ (พระครูจันทสีตลคุณ) ท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๔ สิริอายุรวมได้ ๗๘ ปี พรรษา ๕๘ จัดงานพระราชทานเพลิงศพ ที่เมรุวัดทองนพคุณ วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๕
◉ ด้านวัตถุมงคล
เหรียญรุ่นแรก พระครูจันทสีตลคุณ (หลวงปู่จันดา จนฺทาโภ) จัดสร้างเมื่อปี พ.ศ ๒๔๙๕ อดีตเจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อดีตเจ้าอาวาสทองนพคุณ ลักษณะเป็นเหรียญเสมา เท่าที่พบมีเนื้อทองแดง มีทั้งกะไหล่ทอง และไม่กะไหล่