ประวัติและปฏิปทา
พระครูวิมลภาวนาคุณ (หลวงปู่คูณ สุเมโธ)
วัดป่าภูทอง
ต.บ้านผือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่คูณ สุเมโธ ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่สอ พันธุโล และหลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ผู้มีเมตตาธรรม ที่มีความเพียรเป็นเลิศ ปฏิบัติธรรมขั้นอุกฤตตั้งตาพรรษาแรก คือท่านทำความเพียรโดยลดอาหาร ฉันแต่น้อย และถืออริยบท ๓ ยืน เดิน นั่ง และไม่ล้มตัวลงนอน ภาวนาทั้งกลางวันกลางคืน เป็นระยะเวลาตลอดพรรษา ท่านปฏิบัติอยู่อย่างนี้ พรรษาแล้วพรรษาเล่า โดยไม่ระย่อถ้อถอย พอช่วงหน้าแล้งก็ออกธุดงค์ ถือความวิเวก สันโดษ ไปในที่ห่างไกล ทุรกันดาร อยู่กับชาวป่า ชาวเขา ชาวดอย
หลวงปู่คูณ สุเมโธ กล่าวให้ลูกศิษย์ฟังว่า…
“พรรษา ๕ เราตั้งหลักได้แล้วนะ พอพรรษา ๑๒ ใจของเราก็สบายแล้ว..”
หลวงปู่คูณ เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง เป็นเนื้อนาบุญของโลก ท่านมีเมตตาสูง อารมณ์ดี มีรอยยิ้มอันเยือกเย็น ใจเย็น เรียบง่าย ไม่ชอบพิธี ไม่สะสมปัจจัย มีมาใช้ไป แต่ใช้ในสิ่งเป็นประโยชน์ ท่านสงเคราะห์โลกตามแบบปฏิปาขององค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่พาดำเนิน ผู้ที่ได้อยู่ใกล้ชิด หรือได้สัมผัสพบเจอเพียงครั้งเดียว ก็ได้รับความเมตตาอันอบอุ่นจากบารมีธรรมขององค์ท่านเสมอ
หลวงปู่คูณ สุเมโธ ท่านถือกำเนิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๖ ตรงกับแรม ๑๐ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะแม ณ บ้านหนองแสง ต.สิงห์ อ.เมือง จ.ยโสธร ในสกุล “ชูรัตน์”
โยมบิดาชื่อ คุณพ่อบุญธรรม ชูรัตน์ และโยมมารดาชื่อ คุณแม่จันทร์ ชูรัตน์
เมื่ออายุได้ ๒๓ ปี ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดศรีธรรมาราม อ.เมือง จ.ยโสธร ตรงกับเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๐๙ โดยมี พระครูทัศนประกาศ (หลวงปู่คำบุ จันทสิริ) เจ้าอาวาสวัดป่าสำราญนิเวศ จ.อำนาจเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระอาจารย์จำปี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพระมหาวิสุทธิ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุเมโธ” แปลว่า “ผู้มีปัญญาดี ผู้มีความรู้ดี”
จากนั้นจึงไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติธรรมอยู่ ณ วัดป่าหนองแสง ต.สิงห์ อ.เมือง จ.ยโสธร ได้ ๖ เดือน ช่วงนั้นหลวงปู่สอ พันธุโล ได้แวะมาที่บ้านเกิด คือบ้านหนองแสง และได้ชักชวนให้พระอาจารย์คูณ ออกเที่ยววิเวกด้วยกัน หลวงปู่สอ พันธุโล เป็นผู้นำอบรมสั่งสอนการภาวนา และได้พาท่านไปฟังธรรมะภาคปฏิบัติกับหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อยู่ ๑ อาทิตย์ หลวงปู่ขาว ท่านเน้นสอบอบรมด้านจิตใจ
◎ นิมิตหลวงตามหาบัว มาสั่งสอนให้เร่งความเพียร
หลังจากได้ฟังธรรมกับหลวงปู่ขาว อนาลโย แล้ว หลวงปู่สอ พันธุโล ได้พาพระอาจารย์คูณ สเมโธ ไปกราบรับฟังโอวาทธรรมจากหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดป่าบ้านตาด หลวงตามหาบัว ท่านเน้นหนักในการภาวนา รักษาจิตรักษาใจ เพียรฝึกจิตฝึกใจในทุกอริยบท ให้เร่งทำความเพียรให้เต็มที่ ทั้งเดินจงกรม นั่งภาวนา ขนาดพระคูณ จะล้มตัวเอนกายลงนอน ซักพักก็ได้ปรากฏนิมิตเห็นหลวงตามหาบัว เปิดประตูเข้ามาดุ “มันจะมานอนเฝ้าอะไร” พระอาจารย์คูณได้ฟังดังนั้น จึงตอบในนิมิตไปว่า “เอ้า ไม่นอนก็ไม่นอน” หลวงตามหาบัว ย้ำเตือนไปว่า “ไม่ให้นอน ตายเป็นตาย” ในระยะนั้นพระอาจารย์คูณ ได้เห็นนิมิตหลวงตามหาบัว มาตักเตือนอยู่ทุกๆคืน ท่านว่า ท่านเกรงกลัวหลวงตามหาบัวมาก “กลัวหลวงตามหาบัว เหมือนยังกับกลัวเสือ” จึงได้เร่งความเพียรตั้งสัจจาธิษฐานถือเนสันชิก อยู่ในอริยบท ๓ ยืน เดิน นั่ง โดยไม่เอนกายนอนเลยตลอดไตรมาส ในช่วงเข้าพรรษาแรกนั้น
ตลอดพรรษา พระอาจารย์คูณ ได้อุบายธรรมจากหลวงปู่สอ พันธุโล มาคอยอบรมสั่งสอนย้ำเตือนว่า “ท่านคูณต้องพิจารณาทุกข์ให้มันเห็นทุกข์ ให้มันเบื่อทุกข์ เมื่อจะเดินจงกรม พระคูณ ก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าจะเดินจงกรม ทำความเพียรไปจนกว่าเดือนจะตก จึงจะหยุดเดินจงกรม” กิเลสที่ฝังตัวอยู่ในจิตก็คอยมาหลอกว่า “หยุดเถอะ พอเถอะ ไม่ไหว” พระคูณ ท่านก็ใช้สติกับจิตข่มกิเลสไว้ โดยรำลึกถึงคำสอนครูบาอาจารย์ หลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่สอ พันธุโล ซึ่งท่านจะเน้นกำชับพระคูณ ให้เป็นผู้ประพฤติให้มีสัจจะ ตั้งใจจริงจัง ถ้าทำอะไรก็ต้องให้ได้อย่างนั้น ถ้าได้พูดลั่นวาจาไปแล้ว ก็ต้องให้ได้อย่างนั้น พูดจริง ปฏิบัติจริง จริงจึงจะเห็นผลจริง
ในการทำความพากเพียรในพรรษาแรกนั้น กลางคืนก็อดนอน พากเพียร ฝึกสติอย่างหนัก กลางวันก็ปฏิบัติด้านกิจของสงฆ์ บิณฑบาต ทำความสะอาดกวาดลานวัด อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ พอตกกลางคืนก็เร่งความเพียรต่อ ท่านว่า “ความทุกข์ทรมานนั้น สาหัสสากรรจ์มาก เจ็บปวดทรมานที่สุด ทรมานอย่างยิ่ง มันอยากจะนอน อยากให้มันหลับก็ไม่กล้าหลับ กลัวเสียสัจจะ เอ้า..ไม่นอนหล่ะ ถ้ามันจะล้มตัวนอน ก็พามันลุกหนีจากที่นอน” ท่านทำความเพียรอย่างอุกฤษ์นี้จนครบสัจจะ ๓ เดือน
◎ การปฏิบัติเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฏ์
ครั้นถึงฤดูเข้าพรรษาที่ ๕ พระอาจารย์คูณ สุเมโธ จึงได้อธิษฐานเข้าพรรษาจำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร ณ วัดป่าแก้วชุมพล ต.ค้อใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ครั้นได้รับฟังธรรมอุบายแก้กิเลสของหลวงพ่อสิงห์ทองแล้ว พระอาจารย์คูณ ก็เร่งความเพียรอย่างหนักหน่วง อธิษฐานจิตถือเนสันชิกอยู่ในอริยบท ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง ไม่ยอมนอนตลอดพรรษา ๓ เดือน เร่งความเพียรบำเพ็ญภาวนาโดยการนั่งสมาธิสลับเดินจงกรมโดยอธิษฐานจิตไม่ยอมนอนทั้งกลางวันกลางคืน อดนอนผ่อนอาหาร เพื่อให้มีสติทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเวลาจะเป็นกลางวันหรือกลางคืนท่านก็ไม่ยอมลดละให้ขาดวรรคขาดตอน บางครั้งก็ไปทำความเพียรภาวนา ทรมานจิตด้วยการไปเดินจงกรมในป่าช้า จนถึงรุ่งสว่างก็มี
วันเวลาผ่านไป วันแล้ววันเล่าที่ท่านพำนักอยู่ปฏิบัติธรรมในสำนักของหลวงพ่อสิงห์ทอง พระอาจารย์คูณ ท่านก็ยังปฏิบัติเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ตลอด ท่านได้เล่าถึงการบำเพ็ญเพียรทางจิตว่า “นั่งภาวนาต่อสู้กับเวทนาอยู่อย่างนั้น มันเป็นอย่างไร ถึงจะไม่เห็นทุกข์ ทุกข์มันปรากฏให้เห็นอยู่นี่ ดูซิ พิจารณาดูซิ นั่งสมาธิท่าเดียวตลอด ทำวัตรเดินจงกรมได้นิดหน่อย แล้วจึงเข้านั่งสมาธิ บำเพ็ญนั่งสมาธิภาวนาอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่หัวค่ำจนสว่าง เราผ่านเวทนาได้ในครั้งนี้เอง”
ในความรู้สึกก่อนที่จะผ่านเวทนาได้เหมือนรู้สึกว่าขามันจะขาดออกจากกัน “มึงขาดก็ขาดออกไปว่ะ มันไม่ใช่ขาของเจ้าของหรอก พิจารณาทั้งกาย จนจิตมีความรู้สึกว่าตัวเองตายไปแล้ว จะผ่านเวทนาจนมาได้พระธรรมผุดขึ้นในใจ ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะ ธัมมันติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา เราได้ปัญญาในใจตนเองว่า ไม่ว่าสุขก็ดี ไม่ว่าทุกข์ก็ดี หากมันเกิดขึ้น มีทุกข์ก็ต้องมีดับ เวทนาก็เช่นกัน ความทุกข์มาก ๆ มันมีเกิดขึ้น มันก็มีดับของมันเอง”
ในช่วงที่อยู่ร่วมสำนักกับพระอาจารย์สิงห์ทอง อาการจิตตกไม่กำเริบอีกต่อไป อารมณ์ต่าง ๆ เข้ามาก็พิจารณา นิมิตต่าง ๆ เกิดขึ้นก็ไม่สนใจ จิตสงบปลอดโปร่งโล่งสบาย ทำให้พระอาจารย์คูณ ท่านก้าวหน้า พิจารณาได้หมดจด พิจารณาจิตขาดจากกาย จนได้พระธรรมขึ้นมาจากใจ ไม่หวั่นเกรงใด ๆ ตลอดสามโลกธาตุ ไม่มีความสงสัย ขาดสะบั้นจากจิต หายจากอาการเร่าร้อนได้ดับสนิทลงเหมือนถ่านไฟมอดลง และสลายหายไป ณ วัดป่าแก้วชุมพล ในพรรษาที่ ๑๒ ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๒๐
“ท่านพระอาจารย์คูณ จึงมักพูดเสมอว่า เรามาได้ธรรมกับท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง”
หลังจากพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร มรณภาพแล้วเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ ท่านพระอาจารย์คูณ สุเมโธ ก็ธุดงค์ขึ้นไปทางภาคเหนือ ท่านได้ไปจำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์เย็น ที่หมู่บ้านชาวเขาบนดอย หากแต่อยู่ห่างกันคนละสำนัก ในพรรษานี้พระอาจารย์คูณ ได้มาอยู่ร่วมกับชาวบ้านชาวกระเหรี่ยง และบ้านมูเซอ ซึ่งมีบ้านละ ๒ หลังคาเรือนเท่านั้น โดยมีธารน้ำไหลผ่านอยู่ตรงกลางไม่ได้อาศัยร่วมกัน การบิณฑบาตท่านก็รับบาตรทั้งชาวกระเหรี่ยง และชาวมูเซอ แต่หากวันไหนฝนตก ท่านก็บิณฑบาตเฉพาะบ้านกระเหรี่ยงเท่านั้น
พระอาจารย์คูณ ท่านพำนักอยู่เพียงรูปเดียว ด้านการปฏิบัติธรรมภาวนาเป็นไปสะดวกราบรื่น เพราะไม่ต้องมีภาระมาก พวกชาวเขามูเซอ และชาวกระเหรี่ยงก็จะพาลูกหลานมาให้ท่านช่วยสอนหนังสือภาษาไทยให้ ในเรื่องการทำความเพียร ท่านก็อดนอนผ่อนอาหาร ทำความเพียรถือเนสันชิกตลอดทั้งพรรษา บ้างก็อดอาหารนาน ๑๕ วัน การพิจารณาธรรมเป็นไปตามลำดับ พรรษานี้ท่านรู้สึกดูดดื่มในรสพระธรรม เร่งปฏิบัติตามมรรค พระอาจารย์คูณ ท่านว่า “ปฏิบัติตนในหลักมรรคสามัคคี แล้วก็รวมได้จึงได้พ้นทุกข์”
◎ หลวงปู่คูณ สุเมโธ พระอริยสงฆ์ผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม
หลวงปู่คูณ สุเมโธ ท่านเป็นที่รักใคร่ของชาวบ้าน และศิษยานุศิษย์ ความที่หลวงปู่คูณ เป็นผู้มีเมตตาสูงมาก อารมณ์ดี ใจเย็น เรียบง่าย ไม่ชอบพิธี ไม่สะสมปัจจัย มีมาใช้ไป แต่ใช้ในสิ่งเป็นประโยชน์ เช่น ช่วยเหลือวัด และโรงเรียนที่ขาดแคลน ท่านได้สร้างสาธารณะประโยชน์มากมาย ดำเนินตามรอยธรรมตามปฏิปทาของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน อีกทั้งท่านได้เห็นคุณประโยชน์ในการศึกษาได้ช่วยอุปถัมภ์โรงเรียนในเขตบ้านภูทอง และบ้านภูดิน และอุปการะให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนกว่า ๒๐ คน คนไหนตั้งใจเรียน ท่านก็ส่งเสียให้เรียนเท่าที่เขาจะเรียนได้ ใครมาขออะไร หน่วยงานไหนเขาจำเป็นเดือดร้อนก็มาขอ ท่านก็เมตตาไม่ปฏิเสธ บางที่ไม่มีปัจจัยเลย เห็นเขาจำเป็นก็รับคำให้เลย ส่วนการก่อสร้างในวัดท่านก็บอกว่าชาวบ้านได้งานทำด้วย
◎ เมตตาแม้วาระสุดท้าย
หลวงปู่คูณ สุเมโธ ท่านเมตตาลูกศิษย์ชาวมาเลย์ ที่มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์อยู่ศึกษาข้อวัตรเป็นผ้าขาวและบวชอยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านมาถึง ๕ พรรษาแล้ว ศิษย์ท่านนี้มีความประสงค์ที่จะกลับไปเยี่ยมเยียนโยมพ่อ โยมแม่ ที่ประเทศมาเลเซีย จึงมากราบขออนุญาตหลวงปู่คูณ สุเมโธ เมื่อหลวงปู่คูณ ท่านทราบ ท่านก็บอกว่าจะพาไปเอง เพราะครอบครัวของครูบานี้ มีศรัทธาที่ดี หลวงปู่จึงตั้งใจจะไปโปรดด้วยตนเอง จึงได้ร่วมเดินทางกันไปประเทศมาเลเซีย ในเช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖ หลวงปู่คูณ สุเมโธ และพระติดตาม ๒ รูป ได้เมตตาไปฉันเช้าที่บ้านลูกศิษย์ที่หาดใหญ่ มีญาติโยม ๑๐๐ กว่าคน มาถวายจังหัน หลวงปู่คูณ ท่านพูดว่า “วันนี้คนหาดใหญ่จะได้บุญใหญ่ นอกจากสังฆทานแล้ว ยังได้ทัศนามัย บุญวันนี้เรามาโปรดลูกหลานทางนี้ให้ได้เชื้อธรรมไว้ เพราะที่ใต้มีพระมาน้อย วันนี้ให้ทุกคนได้บุญใหญ่” แล้วหลวงปู่คูณ ยังเมตตาอบรมกรรมฐานอีกด้วย
◎ การมรณภาพ
เมื่อหลวงปู่คูณ ท่านเมตตาโปรดชาวหาดใหญ่เสร็จ จึงเดินกลับออกมาประมาณ ๑๐ โมงกว่า จากนั้นหลวงปู่คูณ ได้ไปกราบนมัสการหลวงปู่พระมหาจิต จิตตฺวโร ที่วัดภูเขาล้อม(ควนจง)บ้านควนจง ต.นาหม่อม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สนทนากับหลวงปู่มหาจิตประมาณ ๓๐ นาที หลวงปู่มหาจิต ถามว่า “จิตจ้าบ่” (จิตสว่างรึเปล่า) หลวงปู่คูณ ตอบว่า “จ้าครับผม” จากนั้นท่านไปกราบพระประธานแล้วนั่งในพระอุโบสถราว ๒๐ นาที จึงออกเดินทางจากวัดควนจงเวลา ๑๒.๒๒ น. พอถึงด่านที่ปาดังเบซาร์ ท่านบอกให้คนขับพาไปดูวัดเขารูปช้าง ซึ่งต้องแยกจากด่านฯไป ๑๓ กิโลเมตร ไปถึงก็เข้าห้องน้ำ แล้วหลวงปู่คูณ จับแขนพระที่อุปัฏฐากเดินไปศาลา บอกว่านวดให้เราหน่อย ท่านล้มตัวนอน ลมตี ซักครู่ ท่านก็เรอลมออกมา ๒ ครั้งท่านก็ละสังขารลงด้วยอาการสงบ
หลวงปู่คูณ สุเมโธ ท่านได้เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานในวันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อเวลาประมาณเวลา ๑๔.๓๐น. ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ณ วัดเขารูปช้าง(วัดจีน) ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา สิริอายุรวม ๗๐ ปี ๒ เดือน ๑๑ วัน พรรษา ๔๗
◎ พินัยกรรม-พินัยวาจา
หลวงปู่คูณ สุเมโธ ท่านเคยปรารภให้ลูกศิษย์ฟังว่า “..อย่างนี้สมฐานะเรา เราชอบ หากเราตาย อย่าเอาอะไรๆที่มันยุ่งยากๆมานะ ..เอาอะไรก็ได้มาห่อร่างเราแล้วเอาไปเลย…”
อีกคำพูด ท่านจะพูดอยู่เป็นประจำว่า ..” เรานี่ตายง่ายนะ ..เราตายนี่..ไม่ต้องได้เข้าโรงพยาบาลเลยนะ…” และ ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคมนี้เอง หลวงปู่คูณปรารภที่กรุงเทพด้วยและบนเครื่องบินอีกว่า…”เราไปที่วัดเหมือนมีโลงศพหรืองานศพคนเต็มวัดเลย..”
คัดลอกมาจากหนังสือ “ธรรมค้ำคูณ พระครูวิมลภาวนาคุณ (หลวงปู่คูณ สุเมโธ) วัดป่าภูทอง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ” ; พิมพ์ปี ๒๕๕๖
◎ โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่คูณ สุเมโธ
“..ครูบาอาจารย์บ่อยู่ก็บ่เป็นหยัง คำสอนของเพิ่นยังมีอยู่ ให้พากันปฏิบัติตามคำสอนของเพิ่น ก็เหมือนกันกับเพิ่นอยู่นำเฮานั่นหล่ะ..”
“..โลกใบนี้เต็มไปด้วยคนดีทั้งนั้น เพราะไม่มีใครบอกว่าตัวเองไม่ดี ต่างว่าตัวเองดีทุกคน จนคนดีเต็มโลกหมดแล้วะ..”
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน