วันเสาร์, 26 ตุลาคม 2567

หลวงปู่คำแสน อินฺทจกฺโก (พระครูสุคันธศีล) ครูบาคำแสนใหญ่ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่คำแสน อินฺทจกฺโก (พระครูสุคันธศีล) ครูบาคำแสนใหญ่ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่

หลวงปู่คำแสน วัดสวนดอก
หลวงปู่คำแสน วัดสวนดอก

หลวงปู่คําแสน ท่านเป็น พระผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามเยี่ยงพระอริยสาวกภูมิ คือศึกษา พระธรรมวินัยและภาคปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา กําหนดสติควบคู่กับจิตเป็นอารมณ์อันหนึ่งที่ สามารถรู้ภัยแห่งวัฏสงสารนี้ได้ อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน

หลวงปู่คําแสน แห่งวัดสวนดอก ท่านเป็นพระสุปฏิปันโนอันบริสุทธิ์องค์หนึ่ง จิตใจที่ฝึกอบรมมาดีแล้วนั้น จะส่งกระแสออกมาโดยอาศัยการดูรู้เห็น ปฏิปทาของท่านเท่านั้น

หลวงปู่คําแสน อินทจักโก (เป็นชื่อที่ประชาชนโดยทั่วไปเรียกท่าน) เดิมท่านชื่อ ทิม นามสกุล รังษี เกิดเมื่อวันอาทิตย์แรม ๔ ค่ํา เดือน ๓ ปีชวด

ตรงกับวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๑ ณ ตําบลศรีภูมิ อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

บิดาชื่อ นายแก้ว มารดาชื่อ นาง คําป้อ รังษี

อายุได้ ๑๐ ปี บิดามารดา ได้นําไปฝากวัด เป็นเด็กวัดเสีย ๒ ปี พออายุได้ ๑๒ ปีเต็ม ท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดป่าพร้าวใน ซึ่งวัดนี้มีพระอาจารย์ชื่อดังอยู่รูปหนึ่ง คือ พระอธิการขัติยะ ท่านมีความชํานาญในเรื่องเวทมนตร์คาถามาก และยังมี ความชํานาญทางด้านสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

นอกจากนี้แล้ว หลวงปู่คําแสน (ทิม) อินทจักโก ท่านยังได้ไปศึกษาธรรมะอยู่กับ ครูบาอริยะ แห่งวัดดับภัย ซึ่งท่านต้อง เดินทางไปศึกษาอยู่ด้วยความอุตสาหะมานะยิ่ง

ต่อมาหลวงปู่คําแสน ขณะเป็นสามเณรท่านได้เดินทางไปศึกษาพระกรรมฐานกับ ครู บาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย

หลวงปู่คําแสน แห่งวัดสวนดอก เคยเล่าว่า

อาตมามีอายุน้อยกว่าท่าน ๑๐ ปี เคยไปศึกษาธรรมภาวนาอยู่ แต่ไม่เคยได้อยู่จําพรรษากับท่าน ไปมาหาสู่ขออุบายธรรมปฏิบัติทางจิตกับท่านเท่านั้น ส่วนลึกของจิตใจนั้น ท่านมีความเคารพนับถือครูบาศรีวิชัยมาก และได้ไปมาหาสู่กันรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี”

หลวงปู่คําแสน แห่งวัดสวนดอก ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปี ก็ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัด ป่าพร้าวใน เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๑ โดยมี พระอาจารย์สิทธิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์คํา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์กลิ้ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อินทจักโก

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว หลวงปู่คําแสน ได้รับการศึกษาพระธรรมวินัยจากครูบาอาจารย์ต่อไปอีก จนมีความสามารถยิ่งองค์หนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

หลวงปู่คําแสน ก็มิได้ว่างเว้นแห่งองค์ภาวนา ท่านถือการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะหลักธรรมที่ท่านได้รับมาจากครูบาอาจารย์นั้น ท่านถือเป็นเครื่องดํา เนินหลักปฏิบัติของท่านมีดังนี้

ศีลบริสุทธิ์ ถือสัจจะบริสุทธิ์ ถือหลักพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ อันบริสุทธิ์เพื่อเสริมสร้างบารมีธรรม

หลวงปู่เคยพูดว่า

สัจจะบารมีนี้สําคัญ ถ้ามีสัจจะแล้วทําอะไร ปฏิบัติอะไร ก็จะได้ผลเสมอ แม้เรากําลังน้อยทําไม่ไหว ก็ยังมีสิ่งที่มองไม่เห็นตัวท่าน ช่วยประคองให้จนได้พบกับความสําเร็จนะ เออ..เออ…สร้างให้ดีสร้างให้จบ มันก็จะสิ้นทุกข์ ไม่ยากไม่ลําบาก อีกต่อไป ทำดีไปเถิดดีเองแหละ

ปฏิปทาของหลวงปู่คําแสน แห่งวัดสวนดอกนี้ น่ารักมาก ท่านมีนิสัยที่สุภาพอ่อนโยน วาจา ใจเรียบร้อย การปฏิบัติทางจิตเข้มแข็งน่านิยม วินัยเคร่งครัดมาก พระภิกษุรูปใดถ้าถูกหลวงปู่ตําหนิได้แล้ว เห็นทีต้องอาบน้ํา มนต์ ๑๐๘ วัดเป็นแน่

หลวงปู่เป็นพระที่พูดน้อย ชอบความมีระเบียบ รักความสงบ น้ําใจนั้นล้ําเลิศประเสริฐแท้ ท่านไม่มีความเบื่อหน่ายให้ได้เห็น ขณะบุคคลต่างๆ เข้านมัสการท่าน จิตใจที่เปี่ยมล้นด้วยเมตตา จนได้รับความเคารพจากประชาชนโดยทั่วไป

ท่านจะนั่งคอยด้วยปฏิปทาที่ ละมุนละไม ยิ้มแย้มแจ่มใสบริสุทธิ์ ซึ่งทุกคนที่เดินทางเข้านมัสการ จะได้พบกับความชื่นอกชื่นใจ

คําสอนของหลวงปู่นั้น ท่านเน้นหนักในเรื่องศีล ปุถุชนธรรมดา โดยทั่วไปมมักจะละเมิดศีล ๕ ข้อ นี้เป็นส่วนมาก

ท่านเคยสอนว่า ศีลเป็นรากแก้วของชีวิต จะทําดีมีชื่อเสียงได้ก็ด้วยศีลธรรมนี้เอง ใครมีศีล ผู้นั้นเป็นเทวดา ผู้ใดรักษาศีลได้มั่นคง ผู้นั้นมีสติสัมปชัญญะแล้ว เพราะศีลนี้ทําให้ กาย วาจา ใจ ของมนุษย์สูงขึ้น

ถ้ายังมุ่งหวังอยากได้สมาธิ ก็ต้องมีศีล อยากได้ปัญญาก็รักษาศีลเสียก่อน ได้ศีลแล้ว ธรรมะ จะเกิดขึ้นในตัวเราเอง

ธรรมอยู่ที่ไหนล่ะ อยู่ที่ใจ อยู่ที่ตัวเรานี้ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ มันเป็นเรื่องเฉพาะตัว มีเป็นธรรมดา จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ของใครของมันนะ

ธรรมอยู่ในกายเรานี้แล้วทุกอย่าง สติปัญญา เอามาเป็นเครื่องวัด วัดมันไปทุกๆ วัน เราจะได้รู้ ว่าอะไรตกต่ําบ้าง เมื่อตกต่ําเราก็รีบสร้างให้ปกติอย่าพร่องบุญกุศล เป็นของดีบริสุทธิ์…จําไว้นะ

เมื่อท่านบวชได้เพียงพรรษาเดียว ท่านก็ได้รับนิมนต์ให้ไป รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่ง และจากแห่งหนึ่งไปอยู่จําพรรษาอีกวัดหนึ่ง รวมความว่า ท่านเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมาหลายวัด เป็นเวลานานถึง ๑๐ พรรษา ซึ่งท่านไปอยู่วัดละพรรษา หรือสองพรรษาอย่างนี้เป็นต้น

ต่อมา…หลวงปู่ได้มาอยู่เป็น เจ้าอาวาสวัดสวนดอก ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นวัดโบราณ จะเอาพระหนุ่มมาอยู่ก็ไม่ไหวทางคณะสงฆ์ เห็นคุณลักษณะเด่นของหลวงปู่คําแสน ที่จะอยู่วัดปกครองดูแล ได้ จึงนิมนต์มาอยู่จําพรรษาตั้ง แต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นต้นมา

สมัยที่หลวงปู่คําแสน ยังมีชีวิตอยู่ พระภิกษุสามเณรภายในวัด ต้องมีความเคร่งครัดพระธรรมวินัยมาก เพราะท่านมีกฎข้อบังคับเหมือนวัดที่ปฏิบัติอื่น ๆ จึงทําให้วัดวาอารามมีสง่าราศีขึ้น จนเป็นที่รู้จักในหมู่ชนทุกชั้น

หลวงปู่คําแสน แห่งวัดสวนดอกองค์นี้ ท่านเป็นพระสุปฏิปันโนรูปหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

วันที่ท่านมรณภาพ ท่านรู้ตัวมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ที่สุด ท่านได้ห่มผ้าจีวรเป็นปริมณฑล เข้าที่เจริญสมาธิภาวนา ก่อนจะล้มตัวลงนอนราบกับพื้นหน้าพระ ปฏิมากรนั้น ท่านได้เรียกสามเณรที่อยู่ใกล้ๆ มาประคองลงนอน แล้วท่านก็หลับตาลงสงบนิ่ง

มือขวาท่านตกลูกประคําใน ช่วงเม็ดที่ ๓ หมายถึง คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระอริยสงฆ์ นี้เป็นที่มั่นเป็นที่พึ่งทางใจของท่าน แล้วจิตของท่านก็ทิ้ง สังขารไปอย่างสงบ จิตพ้นโลก ไปอย่างผู้มีสติปัญญาเพียบพร้อม ด้วยธรรมทุกประการ

หลวงปู่คำแสน ได้มรณภาพด้วยความสงบ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๒๔.๐๐ น. รวมอายุได้ ๘๘ ปี ๓ เดือน