ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่คำพันธ์ จันทูปโม (พระจันโทปมาจารย์) วัดศรีวิชัย
พระอริยสงฆ์ผู้มีจิตผ่องใสดั่งดวงจันทร์เพ็ญ
หลวงปู่คำพันธ์ ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง ท่านมีเมตตาต่อศิษย์ และผู้พบเห็นแม้เพียงครั้งแรกก็รู้สึกเย็นเมื่ออยู่ใกล้องค์ท่าน หลวงปู่คำพันธ์ ท่านเป็นหนึ่งในศิษย์หลวงปู่วัง ฐิติสาโร เทพเจ้าแห่งภูลังกา สมัยที่หลวงปู่คำพันธ์ อยู่ปฏิบัติธรรมที่ภูลังกา สมัยนั้นถือได้ว่ากันดาร อาหารการขบฉันไม่สู้จะสมบูรณ์นัก การเดินทางเป็นไปด้วยความลำบาก ต้องมีความพากเพียรมากในการแสวงหาโมกธรรมในสถานที่นั้น เพราะนอกจากจะมีสัตว์ป่าดุร้ายมากมายแล้ว ยังมีไข้ป่า และภูลังกาถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีภูมิเจ้าที่เจ้าป่าเจ้าเขาคุ้มครองดูแลอยู่ด้วย ใครทำเล่น ๆ ไม่พากเพียรเร่งภาวนามักจะประสบสิ่งที่ไม่น่าพอใจมาปรากฏให้พบเห็นเสมอ ๆ พระสงฆ์พ่อแม่ครูบาอาจารย์สมัยก่อนจึงต้องอุตสาหะฟันฝ่าอุปสรรคอดหลับอดนอน ทุกข์บ้างหิวบ้าง สู้ร้อนทนแดดทนฝนเพื่อให้ได้อรรถธรรมนั้นมา
หลวงปู่คำพันธ์ จันทูปโม เดิมทีองค์ท่านสืบเชื้อสายมาจากฝั่งลาว บิดา มารดาของท่านดำรงชีพเป็นชาวเรือ โดยอาศัยอยู่ในเรือ มีถิ่นฐานอยู่ที่ลำน้ำงึม อพยพเรื่อยมาทางแม่น้ำโขง และมาตั้งรกรากใช้ชีวิตดำรงชีพอยู่ที่สายน้ำลำน้ำสงคราม จ.นครพนม องค์ท่านเมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบ มารดาได้พาไปบรรพชาเป็นสามเณร จากนั้นท่านได้ติดตามหลวงปู่พุฒ ธุดงค์กรรมฐานไปที่ฝั่งลาว เมืองหลวงพระบาง ปฏิบัติธรรมอยู่กับธรรมชาติใช้ชีวิตอยู่ตามชายป่า จนกระทั้งเป็นไข้มาเลเลียก็มี
ธุดงค์สู่ประเทศลาว
เมื่อออกพรรษาในปีนั้นพระอาจารย์พุฒจะไปธุดงค์ทางประเทศลาว เพราะท่านเคยไปธุดงค์แถวเมืองท่าแขก เวียงจันทน์ขึ้นไปถึง หลวงพระบางอยู่เสมอ ท่านจึงสั่งให้โยมชาวบ้านพากันฟันไม้เสาศาลา การเปรียญคอย แล้วท่านจะกลับมาปลูกศาลาต่อไป โยมแม่จึงขอให้สามเณรคำพันธ์ไปด้วย เพื่อจะให้ไปเยี่ยมญาติทางพ่อทางแม่ที่บ้านปากซี เมืองหลวงพระบาง ดังนั้นท่านจึงพากันออกจากวัดแพงศรีไปด้วยกัน ถึงที่บ้านหมูม่นอันเป็นบ้านโยมพ่อโยมแม่ของพระอาจารย์พุฒพัก ๑ คืน ตื่นขึ้นจึงเดินทางไปบ้านนาดี ขึ้นภูลังกาข้ามไปบ้านแพงพักวัดสิงห์ทอง ๑ คืน แล้วข้ามน้ำโขงขึ้นไปฝั่งลาวที่พระบาทโพนแพง พักอยู่นั่น ๔ คืนแล้วนั่งรถโดยสารสองแถว ซึ่งมีน้อยที่สุด เพราะบางวันก็ไม่มี ถ้ามีก็มี ๒ คัน ๓ คันเท่านั้น จากวัดพระบาทโพนแพงไปเมืองเวียงจันทน์เจ้าของรถเห็นหนังสือสุทธิจึงไม่เก็บค่าโดยสาร พักที่วัดอูบมุง ในเวียงจันทน์นั้น ๒ คืน แล้วนั่งรถโดยสารไปเมืองหลวงพระบาง เมื่อไปถึงเมืองซองจึงลงรถที่นั่น จากนั้นท่านก็พาไปธุดงค์ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่พระอาจารย์พุฒเคยไปมา จากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง โดยมากก็เป็นหมู่บ้านไม่ใหญ่ที่เป็นอยู่อย่างธรรมชาติ
โดนไข้มาลาเรียเล่นงาน
ประมาณ ๒ เดือนต่อมาได้เป็นไข้มาลาเรีย คือไข้ป่าหรือไข้จับสั่น บางวันก็ไข้บางวันก็หาย จนร่างกายทรุดโทรม วันหนึ่งไข้หนักและไข้นาน พระเณรก็ไม่รู้ จะทำอย่างไร เพราะไม่มียา จึงเอาขี้ผึ้งใส่น้ำมาให้ฉัน เมื่อฉันแล้วก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะไม่ใช่ยาแก้ไข้ป่า ต่อมาพระอาจารย์พุฒจึงพาไปเมืองซองฝากไว้กับพระในวัดนั้น (ชื่อว่าวัดอะไรจำไม่ได้) ฝากกับโยมผู้มีหลักฐานดีผู้หนึ่ง แล้วพระอาจารย์พุฒก็ออกเที่ยวไปที่หลายแห่งแล้วกลับมาเยี่ยมคราวหนึ่ง เห็นว่าเป็นไข้ไม่มียากิน จึงตกลงกันว่าการไปบ้านปากซีเมืองหลวงพระบางนั้นควรงดไว้ก่อน จึงนำกลับไปเมืองเวียงจันทน์ทั้งๆ ที่เป็นไข้อยู่ นั่งรถตามถนนลูกรัง รถโดยสารเป็นรถแบบโบราณ คือตัวเรือนรถทำด้วยไม้ ที่พิงหลังก็ทำด้วยไม้ ที่นั่งก็ทำด้วยไม้ เมื่อขับมาประมาณ ๑ ชั่วโมง ได้อาเจียนออก ไม่มีอาหารในท้องเลย รู้สึกเหนื่อย จนถึงเวียงจันทน์ลงที่วัดอูบมุง ท่านจึงขอฝากกับเจ้าอาวาสวัด อูบมุง ชื่อพระมหาอ่ำ (ท่านเป็นคนบ้านพานพร้าว อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย) ท่านก็รับไว้อยู่ ๒ วัน พระอาจารย์พุฒก็ออกไปจากวัดอูบมุง จากนั้นไม่รู้ว่าท่านไปไหนเลย จึงได้อยู่กับพระมหาอ่ำ
เมื่อกลับมาประเทศไทย หลวงปู่คำพันธ์ องค์ท่านได้ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่วัง ฐิติสาโร พระผู้มีอภิญญาญาณศิษย์หลวงปู่เสาร์-หลวงปู่มั่น (ในสมัยก่อนหลวงปู่มั่น มักใช้ให้หลวงปู่วัง ไปทำลายความเชื่อผิด ๆ เรื่องการถือผี บางครั้งถึงกับรื้อถอนศาลปู่ตาทิ้งเลย) หลวงปู่คำพันธ์ สมัยเมื่อเป็นสามเณร ได้ติดตามขึ้นไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่ ถ้ำชัยมงคล บนภูลังกา จ.นครพนม ซึ่งศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกับองค์ท่าน ได้แก่ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม และหลวงปู่โง่น โสรโย
จำพรรษาบนภูลังกา
พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโรไปอยู่จำพรรษาที่ถ้ำชัยมงคลซึ่งอยู่หลังภูลังกา ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันคือ อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ) ในปีนั้นมีสามเณร ๓ รูป คืออาตมา สามเณรสุบรรณ ชมพูพื้น สามเณรใส ทิธรรมมา รวมเป็น ๔ รูปกับท่านอาจารย์วัง ถ้ำนี้อยู่บนหลังเขาภูลังกาทางทิศตะวันตก ถ้าลงไปบิณฑบาตจากบ้านโนนหนามแท่ง บ้านโพธิ์หมากแข้ง ต้องเดินตามทางคนผ่านดง ภูลังกา ไปประมาณ ๖ กิโลเมตร จึงจะถึงหมู่บ้าน ทดลองไปบิณฑบาตแล้วไกลเกินไป จึงนำเอาอาหารแห้งไปไว้ที่ถ้ำให้โยมและเณรทำถวายท่าน
อุบายปราบความง่วง
ในการไปอยู่ภูลังกาท่านก็สอนให้ทำความเพียรด้านจิตใจเดินจงกรม นั่งสมาธิตามที่ท่านได้บำเพ็ญมาอย่างโชกโชน แต่เราผู้ปฏิบัติ ก็ไม่ได้สมใจนึกเท่าที่ควร นั่งสมาธิก็มีแต่โงกง่วงสัปหงกอยู่เรื่อย จึงคิดจะหาทางปราบไม่ให้โงกง่วง วันหนึ่งจึงขึ้นไปบนหลังถ้ำ ซึ่งมีลานหินกว้างยาวพอเดินจงกรมได้สะดวก หรือจะนั่งสมาธิตามที่แจ้งหรือร่มไม้ก็สะดวกดี เลือกเอาที่ใกล้หน้าผาชันสูงมากห่างหน้าผาประมาณ ๒ วา มีที่นั่งเหมาะอยู่ จึงตกลงไปนั่งที่นั่น ถ้าสัปหงกไปทางหน้าก็คงจะเลื่อนไหลตกหน้าผาได้ จึงนั่งลงที่ตรงนั้นแล้วบอกตัวเองว่า นี่หน้าผาชันอันตราย ถ้าเจ้าจะนั่งโงกง่วงอยู่ แล้วชะโงกไปข้างหน้าก็มีหวังตกหน้าผา คงไม่มีชีวิตเหลืออยู่แล้ว หลังจากเดินจงกรมแล้วก็เข้าไปนั่งที่หมายไว้ ได้นั่งไปนานเกือบชั่วโมง สติก็ประคองใจให้อยู่ตามอารมณ์ที่ต้องการอยู่ได้ เพราะกลัวตาย ต่อจากนั้นร่างกายคงเดินจงกรมมานาน และนั่งร่วมชั่วโมงแล้วสติเผลอนิดเดียวเกิดง่วงสัปหงกจนได้ แต่สัปหงกคราวนี้แทนที่จะโยกคว่ำไปทางหน้ากลับสัปหงกหงายหลังเกือบล้ม ตกใจตื่นจากง่วงจึงคิดว่าเกือบตาย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องตายแท้ๆ มันยังง่วงอยู่ได้ จึงเลิกนั่งเลยวันนั้น แต่เป็นการเรียนรู้ที่ได้ผลดีมากเพราะไม่ง่วงอีกเลย ถ้ายังง่วงอีกจะพาไปนั่งที่นั่นอีก เข็ดหลาบได้ผลดี แต่ความเพียรก็ไม่ลดละ แต้ก็ล้มลุกคลุกคลานไม่สงบตามที่ต้องการ
มาตุคามมาเยือน
ในระยะนั้นอยู่ถ้ำชัยมงคลกับท่านทั้ง ๓ เณร เณรนั้นอายุ ๑๘-๑๙ ปี กิเลสต่างมาวุ่นวายทำให้จิตใจปั่นป่วน จะอยู่จะไปเท่ากัน วันหนึ่งท่านอาจารย์ได้ถามว่าเณรใดจะสึกจะอยู่ เรากราบเรียนท่านว่ายังบอกไม่ถูกว่าจะอยู่หรือจะสึก เราพูดเพราะหลงความงามนั่นแหละ เรื่องสวยเรื่องงามนี้ แม้ว่าในใจเราจะเฉย แต่ก็แปลกกับความงามน่ารักของเพศตรงข้าม
มีคราวหนึ่งตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ขณะอยู่วัดอูบมุง เมืองเวียงจันทน์ จะลงไปอาบน้ำโขงกับเพื่อนเณร ๔ รูป ทางนั้นต้องผ่านบ้านของชาวบ้านหลายหลัง เมื่อเดินไปถึงกลางบ้าน นางสาวบุญเรือง เอาแขนสองข้างอ้อมเป็นวงรอบตัวเรา เพราะเกิดนึกสนุกอย่างไรไมทราบแถมบอกว่า อย่าไหวนะ ถ้าไม่เช่นนั้นจะกอดเลย เราก็หดตัวอยู่ในอ้อมแขนของเขา ไม่รู้จะทำอย่างไร เรื่องรักเรื่องใคร่ไม่มีในขณะนั้น แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร อ้อมอยู่นานประมาณ ๔ นาที จึงปล่อยเราไปแปลกมาก
อีกคราวหนึ่ง ได้ไปร่วมเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้าน เมื่อเสร็จงานจะกลับวัด เดินมาทางกลางบ้านของงาน มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งแกมีลูกสาว จึงพูดขึ้นท่ามกลางคนทั้งหลายนั้นว่า เณรน้อยจะหมายไว้เป็นลูกเขยจงจำไว้ ไม่รู้ทำไมโยมนั้นจึงกล้าพูดคำเช่นนั้นในกลางชุมชน เพราะแกเกิดความรักความคิดอย่างไรจึงพูดเช่นนั้น เราก็เก้อเขินอายในใจด้วย
ส่วนอีก ๒ เณร บอกท่านอาจารย์ว่าจะอยู่ ต่อมาก็พากันสึกทั้งสองรูป เราผู้ไม่ได้บอกท่านกลับอยู่ได้ นี้ไม่แน่นอนเหมือนกัน
จากสามเณรสู่ภิกษุหนุ่ม
ถึง พ.ศ. ๒๔๙๑ อายุได้ ๒๐ ปี ท่านอาจารย์ได้ส่งเราไปทางเรือกลไฟ จากบ้านแพงไปนครพนม เป็นคู่กันกับเณรวันดี แสงโพธิ์ ไปบวชพระที่ วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม ในเดือนมกราคม ท่านพระอาจารย์ที่วัดบอกว่า ผู้เกิดเดือนพฤษภาคมบวชได้ ส่วนผู้เกิดเดือนพฤศจิกายนนั้นใกล้จะเข้าพรรษาจึงมาบวชได้ ดังนั้นจึงบวชได้เฉพาะสามเณรวันดี ส่วนอาตมาเห็นว่าเมื่อกลับไปแล้วจะกลับมาลำบาก เพราะเป็นฤดูฝน จึงไม่ได้ไปตามที่ท่านแนะ รอจนออกพรรษาแล้วจึงลงจากถ้ำชัยมงคล เดินทางไปวัดศรีเทพประดิษฐารามเพื่อไปสอบนักธรรมเอกด้วย จึงอุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๑ เวลา ๑๓.๕๐ น. โดยมีท่านเจ้าคุณพระสารภาณมุนี (จันทร์ เขมิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ สุดท้ายท่านมีสมณศักดิ์เป็น พระเทพสิทธาจารย์ ท่านพระครูวิจิตรวินัยการ (พรหมา โชติโก) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ภายหลังท่านมีสมณศักดิ์เป็น พระราชสุทธาจารย์ และปรากฏว่าสอบนักธรรมเอกได้ในปีนั้นนั่นเอง
กลับมาอยู่วัดศรีวิชัย
พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านพระอาจารย์วัง ได้สั่งให้ไปอยู่วัดศรีวิชัย เพราะปีนั้นวัดว่างจากพระ ไม่มีพระมาจำพรรษา ท่านเป็นห่วงวัดและญาติโยม เพราะท่านเป็นผู้ริเริ่มสร้างเป็นวัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านจึงให้อาตมาพร้อมด้วย พระวันดี อโสโก พระดอน ขันติโก สามเณรและเด็กวัดให้ลงไปอยู่วัด ซึ่งปีนั้นอาตมามีพรรษาได้ ๓ พรรษา เมื่อไปอยู่วัดแล้วร่วมจำพรรษาด้วยกันทั้งหมด ในกลางพรรษานั้น ท่านหลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก ได้ขอให้สอนนักธรรมตรีที่วัดโพธิ์ชัย เมื่อมาอยู่ที่วัดศรีวิชัยแล้ว ก็ไม่ได้ไปจำพรรษาที่อื่นเลย ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้
หาอุบายแก้ความกลัวผี
ในการบำเพ็ญจิตภาวนานั้นก็ไม่ลดละ คงบำเพ็ญมาตลอดตามแนวทางที่ครูบาอาจารย์ได้แนะนำสั่งสอนมาได้รับความสงบบ้างในบางวัน วันหนึ่งเวลาประมาณ ๕ ทุ่ม หลังจากเดินจงกรมแล้วจะไปเยี่ยมที่เผาศพซึ่งกำลังเผาศพอยู่ เพื่อจะให้จิตสงบหายกลัวผี ซึ่งมีอยู่มากตามปกติ เมื่อเดินไปใกล้จะถึงที่เผาศพอยู่ประมาณ ๑๐ เมตร มีความกลัวมาก กลัวจนสุดขีด ขาแข็งก้าวเท้าเดินไม่ออก ได้ยืนกับที่ยืนนิ่งอยู่นาน จึงคิดว่ากลัวทำไม เราได้ขอฝากตัวถวายชีวิตต่อพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ในสามแดนโลกธาตุนี้ ไม่มีใครจะเหนือพระองค์ไปได้ แม้แต่พระอินทร์ พระพรหม เทวดา ผีสางนางไม้ มนุษย์ยอมกราบไหว้ทั้งหมด เอ้าตายเป็นตาย จากนั้นก็ยืนนิ่งไปเลยนานเท่าไรไม่ได้กำหนด เมื่อถอนจากความสงบแล้ว จิตเบิกบานหายจากกลัวผีเป็นปลิดทิ้งเลย แล้วจึงเดินต่อไปหาศพ พิจารณาถึงการตายของเราแล้วว่าจะต้องเป็นเช่นนี้ ในวันหนึ่งแน่นอน ได้ธรรมะมากพอสมควรแล้วจึงเดินกลับกุฏิ
พัฒนาวัดศรีวิชัย
ในกาลต่อมาเมื่อมีพระเณรมาจำพรรษาอยู่ด้วยมากขึ้น จึงซ่อมหลังคาศาลาโรงธรรมขึ้น เพราะปลวกกัดหลังคาเสียหาย ก็พาโยมจัดซ่อมขึ้น พร้อมทั้งกุฏิก็ชำรุดและกุฏิไม่พอ จึงให้โยมชาวบ้านช่วยกันจัดซ่อมและสร้างใหม่ขึ้น ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้สร้างศาลาถาวรขึ้นใหม่ ก่อด้วยอิฐต่อด้วยเสาไม้ทรงไทย กว้าง ๑๑.๑๕ เมตร ยาว ๑๘.๕๐ เมตร มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ ซื้อแบบพิมพ์มาทดลองเอง ซื้อทั้งหมด ๔๗,๖๕๐ บาท ทำอยู่ ๒ ปีเศษจึงสำเร็จ และได้ฉลองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙
สู่ถ้ำชัยมงคลพิสูจน์ข่าวลือเรื่องผี
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๙ นั้นได้มีเสียงเล่าลือว่า ที่ถ้ำชัยมงคลมีผีเฝ้าถ้ำอยู่โดยเข้าใจว่าคงเป็นพระอาจารย์วัง และพระวันดีผู้เป็นลูกศิษย์ ซึ่งได้มรณภาพที่นั่น นี่เป็นคำบอกเล่าของพระอาจารย์กุล อภิชาโต บ้านโพธิ์หมากแข้ง ซึ่งเป็นพระวัดบ้าน และเป็นผู้ที่เคารพรักใคร่ของพระอาจารย์วัง อยู่มาก จึงบอกให้เราทราบ ได้ปรึกษากันว่าคำเล่าลืออย่างนี้ไม่ดีแน่ จึงตกลงกันไปกับท่าน เมื่อไปถึงบ้านโพธิ์หมากแข้งแล้วพักหนึ่งคืน วันต่อมาได้ชักชวนญาติโยมประมาณ ๑๕ คนขึ้นไปสู้ถ้ำชัยมงคล ได้ค้างคืนอยู่นั่น ๓ คืน แต่ละวันแต่ละคืนได้พากันทำวัตรสวดมนต์ แล้วทำบุญอุทิศไปให้ ครูบาอาจารย์ เทวดาอารักษ์ สรรพสัตว์ด้วย แล้วนั่งภาวนาพอสมควร แล้วหยุดพัก อธิษฐานว่า ถ้ามีอะไรเป็นจริงตามคำเล่าลือก็ขอให้มีมาปรากฏทางใดทางหนึ่งให้ทราบ แต่แล้วทั้ง ๓ คืน ก็ไม่มีอะไรมาปรากฏให้รู้ จึงมีความเห็นว่า เป็นเพราะถ้ำไม่มีพระอยู่เป็นประจำ ผู้ไปอาศัยก็ว้าเหว่เปล่าเปลี่ยว จึงสร้างความคิดขึ้นหลอกตัวเองไปต่าง ๆ นานา
หลวงปู่คำพันธ์ ท่านเป็นพระผูมีความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ของท่านจึงได้ปรารภสร้างพระอุโบสถ ๒ ชั้น เพื่อบรรจุพระอัฐิขององค์หลวงปู่วัง ฐิติสาโร ไว้เป็นอนุสรณ์ เพื่อเป็นการตอบบุญสนองคุณ ดังคำกล่าวที่หลวงปู่คำพันธ์ เคยพูดไว้ว่า
“เราได้รำลึกถึงอุปการคุณที่พระอาจารย์ ได้มีแก่พวกเรามามากมาย จึงขอสร้างอุโบสถนี้(ในภาพ) เป็นอนุสรณ์ให้ได้ และได้ยกมือขนตั้งสัจจาธิษฐานว่า จะขอสร้างให้เสร็จให้ได้ แม้จะนานกี่ปี หรือสูญสิ้นทุนทรัพย์ไปเท่าไหร่ก็ตาม ก็จะมุ่งมั่นสร้างไปให้เสร็จให้ได้”
สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท ที่ พระครูอดุลธรรมภาณ
พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระจันโทปมาจารย์
การปกครอง
พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็น เจ้าคณะอำเภอศรีสงคราม บ้านแพง นาทม นาหว้า (ธ)
พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็น พระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็น เจ้าอาวาสวัดศรีวิชัย
พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอศรีสงคราม บ้านแพง นาทม นาหว้า (ธ) ถึงปัจจุบัน
ด้านการศึกษา
พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นครูสอนปริยัติธรรมชั้นตรี-โท-เอก-จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวงจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นประธานสอบธรรมสนามหลวงที่สำนักเรียน วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม จนถึงปัจจุบัน
ด้านการเผยแผ่
พ.ศ.๒๕๐๘-๒๕๑๐ เป็นพระธรรมฑูต
พ.ศ.๒๕๐๖ จนถึงปัจจุบัน เป็นพระอาจารย์สอนภาวนาสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ในสำนัก และตามวัดต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตการปกครอง
ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนทั้งโรงเรียนประถม และมัธยมศึกษาในเขตตำบลสามผง และใกล้เคียงสมัครสอบธรรมศึกษาชั้นตรี-โท-เอก- ทุกปี แต่ละปีจะมีผู้สมัครสอบเป็นจำนวนมาก
ด้านสาธารณประโยชน์
พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นผู้เริ่มโครงการสร้างทำนบห้วยอาประชาน้อมเกล้า และได้ชักชวนชาวบ้านศรีเวินชัย และหมู่บ้านใกล้เคียงร่วมกันบริจาคในการก่อสร้าง จนแล้วเสร็จขนาดของทำนบ ฐานกว้าง ๓๐ เมตร ผิวจราจรกว้าง ๖ เมตร สูง ๙ เมตร ยาว ๖๐๐ เมตร เก็บกักน้ำได้ ระยะทาง ๘ กิโลเมตร ส่งผลให้ ชาวบ้าน ศรีเวินชัย และหมู่บ้านใกล้เคียง ได้รับประโยชน์อย่างมากมายมหาศาล ทั้งทางด้านการเกษตรโดยมีพื้นที่ในการปลูกข้าวนาปรังจำนวนถึง ๓,๐๐๐ไร่ ของบ้านศรีเวินฃัย และบ้านดอนเตย อำเภอนาทม และการประมง เป็นที่ทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวบ้านตลอดทั้งปี
ได้ก่อสร้างศาสนวัตถุเป็นจำนวนมาก อาทิ อุโบสถ ๒ ชั้น สิมอิสานวัดพระเนาว์ (วัดบ้าน) กุฎีสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ร.ร.พระปริยัติธรรม และเสนาสนะต่าง ๆ อีกมากมาย
หลวงปู่คำพันธ์ จันทูปโม “พระอริยสงฆ์ผู้มีจิตผ่องใสดั่งดวงจันทร์เพ็ญ” ท่านได้ละสังขารลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๕ เวลา ๐๗.๐๓ น. ณ กุฏิห้องปลอดเชื้อขององค์ท่าน ภายในวัดศรีวิชัย บ้านศรีเวินชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม สิริรวมอายุได้ ๘๓ ปี ๓ เดือน ๑๗ วัน พรรษา ๖๓