วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ (หลวงปู่คำพันธ์ กัลยาโณ) วัดโอกาส อ.เมือง จ.นครพนม

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่คำพันธ์ กัลยาโณ
วัดโอกาส อ.เมือง จ.นครพนม

พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ (หลวงปู่คำพันธ์ กัลยาโณ) วัดโอกาส อ.เมือง จ.นครพนม
พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ (หลวงปู่คำพันธ์ กัลยาโณ) วัดโอกาส อ.เมือง จ.นครพนม

พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ (หลวงปู่คำพันธ์ กัลยาโณ) วัดโอกาส พระเถระที่มีศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนให้ความเลื่อมใสศรัทธาแห่งเมืองนครพนม

◎ ชาติภูมิ
พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ (หลวงปู่คำพันธ์ กัลยาโณ) วัดโอกาส นามเดิมชื่อ “คำพันธ์ เทพกูล” เกิดเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๔ ที่บ้านไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ครอบครัวประกอบอาชีพชาวไร่ชาวนา

◎ ชีวิตในวัยเยาว์
ขณะมีอายุ ๑๔ ปี บรรพชาเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๘ ที่วัดไตรภูมิ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม โดยมี พระโพธิสาร เป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมที่สำนักเรียนวัดโพธิ์ไชย ในตำบลบ้านเกิด ก่อนย้ายติดตามโยมมารดาไปอยู่บ้านพันลำ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย (ปัจจุบันคือ จ.บึงกาฬ)

◎ อุปสมบท
อายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๔ ที่พัทธสีมาวัดศรีบุญเรือง อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย (ปัจจุบันคือ จ.บึงกาฬ) โดยมี พระครูชัยบุรยาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูปลัดเมฆ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูสมุห์หา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “กลฺยาโณ

มุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ที่สำนักเรียนวัดโสภณธรรมทาน อ.บึงกาฬ สามารถเรียนจบนักธรรมชั้นตรี–โท–เอก ตามลำดับ

ด้วยความเป็นพระนักเทศน์เดี่ยว เทศน์โจทก์ และเทศน์มหาชาติ เมื่อครั้งยังเป็นหัวหน้าพระสงฆ์ออกเผยแผ่อบรมศีลธรรม ที่ จ.หนองคาย ปัจจัยที่ได้รับจากกัณฑ์เทศน์ ท่านได้มอบบำรุงขวัญแก่ทหาร–ตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในคราวเกิดสงครามอินโดจีน

และด้วยความรู้ความสามารถด้านการก่อสร้าง ตลอดจนมีความรู้ความชำนาญอักษรธรรม ลาว ขอม และเป็นพระธรรมกถึก ความสามารถได้แพร่กระจายไปทั่ว

เมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๙ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโอกาสได้ว่างลง จึงได้รับคำสั่งจากเจ้าคณะจังหวัดในขณะนั้นให้มาดำรงตำแหน่ง เนื่องจากวัดนี้เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองนครพนม และตั้งอยู่ย่านการค้าชุมชนใจกลางเมือง กลับปล่อยให้ล้าหลังเสมือนเป็นวัดร้างมานานกว่า ๔๐-๕๐ ปี ประกอบกับได้มีพ่อค้าหัวใสได้ทำหนังสือเสนอขอให้ยุบวัด เพื่อต้องการเอาที่ดินของวัดไปทำประโยชน์ด้านการค้า

ครั้นเมื่อเข้ามาอยู่วัดโอกาส ได้พบเห็นสภาพความทรุดโทรมของวัดที่ไม่มีถาวรวัตถุอะไรเลย จึงได้เริ่มลงมือสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ และกำแพงรอบวัด จัดระเบียบวินัยของพระภิกษุ–สามเณร จนเป็นผลสำเร็จยาวนานกว่า ๓๐ ปี กระทั่ง ญาติโยมในย่านนี้ซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา

จัดตั้งกองทุน “สุนทรกัลยาณพจน์” เพื่อหาดอกผลบำรุงวัด และเจียดเงินส่วนตัว บริจาคไว้เป็นทุนการศึกษาสำนักเรียนวัดมหาธาตุ อ.เมืองนครพนม

พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ (หลวงปู่คำพันธ์ กัลยาโณ) วัดโอกาส อ.เมือง จ.นครพนม
พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ (หลวงปู่คำพันธ์ กัลยาโณ) วัดโอกาส อ.เมือง จ.นครพนม

◎ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดเจริญธรรม อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย (ปัจจุบันคือ จ.บึงกาฬ)
ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ เป็นเจ้าอาวาสวัดกัลยาราม ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เป็นเจ้าคณะตำบลสามผง เป็นพระอุปัชฌาย์
ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นเจ้าอาวาสวัดโอกาส อ.เมือง จ.นครพนม
ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นรองเจ้าคณะอำเภอเมืองนครพนม
ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองนครพนม

◎ ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ.๒๔๙๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นตรี ในราชทินนาม “พระครูสุนทรกัลยาณพจน์
ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะอำเภอชั้นโท ในราชทินนามเดิม
ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นโท ในราชทินนามเดิม
ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม

ในช่วงดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจริญธรรม สร้างศาลาโรงธรรม กุฏิ ๒ ชั้น ๓ หลัง ปฏิสังขรณ์หอพระติ้ว–พระเทียม พระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครพนม และร่วมสร้างโรงเรียนเทศบาล ๑ ตึกอาพาธสงฆ์ โรงพยาบาล เป็นต้น

พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ เป็นพระนักปฏิมากร โดยปั้นภาพนูนเรื่องรามเกียรติ์รอบผนังอุโบสถวัดโอกาส และเป็นรูปพุทธประวัติ พระมาลัย พระเวสสันดร ทศชาติชาดก และปั้นภาพนูนต่ำเล่าเรื่องสามก๊กเป็นตอน ๕๕ ภาพ บนศาลาการเปรียญหลังเก่าของวัดนี้ เพื่อเตือนสติพระเณรและเป็นปริศนาธรรม ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา จนเป็นที่เล่าขานและมีผู้สนใจมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก

◎ มรณภาพ
ในบั้นปลาย ด้วยความไม่เที่ยงในสังขาร พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ (หลวงปู่คำพันธ์ กัลยาโณ) วัดโอกาส ท่านได้มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๗ เวลา ๐๒.๐๐ น. สิริอายุ ๘๔ ปี พรรษา ๖๔

◎ ด้านวัตถุมงคล
○ ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ วัดโอกาส จ.นครพนม โดย พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ (หลวงปู่คำพันธ์ กัลยาโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ ๘ จัดสร้าง “เหรียญพระติ้ว-พระเทียม รุ่น ๑” เพื่อฉลองวิหารประดิษฐาน ลักษณะเป็นเหรียญกลม ไม่มีหูห่วง เนื้อเมฆพัด เป็นโลหะที่ได้จากการเล่นแร่แปรธาตุ ผสมระหว่างตะกั่วและทองแดง

เหรียญ รุ่นแรก พระติ้ว พระเทียม เนื้อเมฆพัด ปี ๒๔๙๙
เหรียญ รุ่นแรก พระติ้ว พระเทียม เนื้อเมฆพัด ปี ๒๔๙๙

ด้านหน้าเหรียญ ซ้ายมือประดิษฐานพระติ้ว และด้านขวามือ พระเทียม ปางมารวิชัยประทับแท่นบนฐานดอกบัว ใต้ฐานสลักตัวหนังสือนูน พระติ้ว พระเทียม รอบวงรีขอบเหรียญเป็นยันต์อักขระ ด้านหลัง กลางเหรียญเป็นลายเส้นนูนภาพอุโบสถ ใกล้กันเป็นวิหารหอคู่ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระติ้ว-พระเทียม ขอบเขียนคำว่า “วิหารพระติ้วพระเทียม วัดโอกาส (ศรีบัวบาน)” ด้านล่างสลักชื่อจังหวัด “นครพนม” เหรียญนี้พุทธคุณด้านแคล้วคลาดทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง จัดเป็นเหรียญหายาก

เหรียญพระติ้วพระเทียม ปี พ.ศ.๒๕๐๐ พระครูสุนทรกัลยาพจน์ อดีต เจ้าอาวาส ได้จัดสร้างเหรียญพระติ้ว-พระเทียม เป็นเหรียญรูปทรงไข่ มีหูห่วง ไว้แจกจ่ายให้ญาติโยมที่มาทำบุญ จัดสร้างจำนวน ๒,๕๐๐ เหรียญ เท่าปี พ.ศ.ที่สร้าง มีเนื้อทองแดงรมดำ เนื้อทองแดงผิวไฟ

เหรียญ พระติ้ว พระเทียม ปี ๒๕๐๐ (เกศคต) บล็อกนิยม
เหรียญ พระติ้ว พระเทียม ปี ๒๕๐๐ (เกศคต) บล็อกนิยม

ด้านหน้าเหรียญ ขอบเหรียญมีเส้นสันนูน ด้านซ้ายประดิษฐานพระติ้ว ด้านขวาประดิษฐานพระเทียม พระพุทธรูปปางมารวิชัย (ตามประวัติ) ประทับบนแท่นฐานดอกบัว ด้านล่างใต้ฐานพระสลักตัวหนังสือคำว่า “พระติ้วพระเทียม

ด้านหลังเหรียญราบแบน กลางเหรียญสลักตัวหนังสือนูน ๒ บรรทัดระบุ “สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐” บรรทัดถัดมา “วัดโอกาศนครพนม

ทั้งนี้ มีจุดสังเกตคือ ด้านหน้าเหรียญ พระติ้วองค์ซ้ายมือ บริเวณเกศคตเอียงงอไปทางซ้าย เนื่อง จากช่างที่แกะบล็อกแกะพลาดโดยไม่ตั้งใจ จึงปล่อยเลยตามเลย เซียนพระเรียกชื่อรุ่นนี้ว่า รุ่นเกศคต เหรียญแท้ถ้าใช้กล้องส่องพระจะพบตำหนิเส้นยาวคล้ายตัววาย เหนือเกศลากมาถึงกึ่งกลางเหรียญระดับใบหู

หลวงปู่จันทร์ เขมิโย พระเกจิชื่อดังแห่งวัดศรีเทพประดิษฐาราม นำเหรียญเข้าพิธีปลุกเสกในอุโบสถ พร้อมกับเหรียญหลวงปู่จันทร์รูปไข่ พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งสร้างจำนวนเท่า พ.ศ.เช่นกัน ทำให้เหรียญมีพุทธคุณเข้มขลังโดดเด่นด้านเมตตามหานิยม เชื่อว่าใครมีไว้ในครอบครองติดตัว จะมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นที่รักเอ็นดูของผู้หลักผู้ใหญ่

○ ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ วัดโอกาส อ.เมือง จ.นครพนม ได้จัดสร้างวัตถุมงคลเป็น เหรียญพระติ้ว–พระเทียม รุ่นหน้าไฟ เพื่อเป็นที่ระลึกงานพระราชทานเพลิง พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ ๘ ไว้แจกจ่ายญาติโยมที่มาทำบุญร่วมงานดังกล่าว ลักษณะเหรียญรูปทรงไข่ มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงรมดำ ประมาณ ๑๐,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญ พระติ้ว พระเทียม รุ่นหน้าไฟ พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ ปี ๒๕๓๗
เหรียญ พระติ้ว พระเทียม รุ่นหน้าไฟ พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ ปี ๒๕๓๗

ด้านหน้าเหรียญ ขอบเหรียญมีเส้นสันนูน ตรงกลางเหรียญประดิษฐานพระพุทธรูปคู่แฝดที่ศักดิ์สิทธิ์ พระติ้ว–พระเทียม ประทับบนแท่นบุษบกกลีบบัวหงาย สังเกตให้ดีพระติ้วจะองค์เล็กและมีความสูงต่ำกว่าพระเทียมเล็กน้อย ด้านล่างมีตัวหนังสือคำว่า “พระติ้ว–พระเทียม