ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ขุ้ย ฐิตธัมโม
วัดซับตะเคียน
อ.หนองไผ่จ.เพชรบูรณ์
หลวงปู่ขุ้ย ฐิตธัมโม วัดซับตะเคียน พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งลำน้ำกง ศิษย์เอก สืบสายวิทยาคมจากหลวงพ่อทบ ชนแดน เมืองเพชรบูรณ์
◉ ชาติภูมิ
พระอธิการวิชัยรัตน์ (หลวงปู่ขุ้ย ฐิตธัมโม) วัดซับตะเคียน นามเดิมชื่อ “วิชัยรัตน์ (ขุ้ย) ท่อนทอง” เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๔ ที่บ้านท่ามะทัน ต.ท่าอิบุญ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ โยมบิดาชื่อ “นายทองดี” และมารดาชื่อ “นางทองสุข ท่อนทอง”
ช่วงวัยเยาว์เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่บ้านเกิด พอได้อายุ ๑๒ ปี บิดาถึงแก่กรรมจึงบรรพชาบวชหน้าไฟ พ.ศ.๒๔๗๖ ให้โยมบิดา แต่ด้วยความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า แม้จะเสร็จงานศพบิดาจึงไม่ยินยอมลาสึกขา ขออนุญาตโยมมารดา บวชเรียนต่อไป
ต่อมาได้ทราบถึงกิตติศัพท์ของหลวงพ่อทบ วัดพระพุทธบาทชนแดน อ.ชนแดน เป็นพระเกจิอาจารย์ีที่มีประชาชนเคารพนับถือ จึงเกิดศรัทธา เดินทางจากบ้านเกิดไปยัง อ.ชนแดน เพื่อฝากต้วเป็นลูกศิษย์อยู่รับใช้อุปัฎฐาก ตักน้ำ เถกระโถนน้ำหมาก ล้างบาตร ปัดกราดเสนาสนะ ฯลฯ
ด้วยความเมตตาจาก หลวงพ่อทบ วัดชนแดน จึงได้ถ่ายทอดสรรพวิชาคาถา การทำตะกรุดโทน ลงเลขยันต์คาถาผ้ายันต์และได้ศึกษาปฎิบัติวิชากัมมัฎฐานและกำหนดจิต มีความรู้แก่กล้าตามลำดับ สามารถเสกข้าวสารให้ไก่กิน และศึกษาเรียนรู้ในการจัดสร้างพระกริ่ง พระรูปหล่อ ตามประเพณีโบราณ ผลสัมฤทธิ์ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สามเณรขุ้ยมีความชำนาญอย่างยิ่ง
◉ อุปสมบท
ครั้นเมื่ออายุได้ ๒๒ ปี จึงเข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดศรีมงคล อ.หล่อสัก เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๖ โดยมี พระมหาหยวก เจ้าคณะอำเภอหล่มสัก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการคำปัน เป็นพระกรรมวาจารย์และพระอธิการวันดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายาว่า “ฐิตธมฺโม” มีความหมายว่า “ผู้มีจิตใจตั้งมั่นในธรรม”
ภายหลังอุปสมบท อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ ๒ พรรษา จึงได้กราบลา เดินทางไปจำพรรษายังวัดชนแดน เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิทยาคมและปฏิบัติกัมมัฏฐาน จากหลวงพ่อทบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปฏิบัติธรรมแก่กล้าท่านได้กราบลาหลวงพ่อทบออกเดินทางธุดงวัตรไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
พ.ศ.๒๔๘๖ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลท่าอีบุญ ปกครองพระสงฆ์-สามเณร ได้ระยะหนึ่งเกิดความเบื่อหน่ายจึงได้ขอลาออก และออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ อาทิ แขวงจำปาสัก ประเทศเขมร
ตลอดระยะเวลาในการธุดงควัตร ท่านได้สนทนาธรรมกับพระสายวัดป่าหลายรูป และศึกษาไสยเวทจากอาจารย์เขมรและลาวหลายรูป
พ.ศ.๒๕๑๗ หลวงปู่ขุ้ย ได้เดินธุดงควัตรตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ มุ่งหน้าขึ้นทิศตะวันออก ในที่สุดหลวงปู่ได้เดินทางมายังบ้านท่าด้วง ได้เล็งเห็นความเจริญที่จะเกิดขึ้นแก่หมู่บ้านนี้ในอนาคตประกอบกับมีป่าไม้ แหล่งน้ำไหลผ่าน ท่านจึงได้หยุดธุดงค์ และชักชวนชาวบ้านสร้างวัดขึ้นที่หมู่บ้านซับตะเคียน
บ้านซับตะเคียน เป็นบ้านป่าดงดิบเต็มไปด้วย เสือ ช้าง และสัตว์มีเขี้ยวพิษนานาชนิด เต็มไปด้วยไข้ป่า อยู่ห่างจาก อ.หนองไผ่ กว่า ๔๐ ก.ม. ถ้าจะเดินทางมายังที่ตั้งตัวจังหวัด ต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือนเมื่อชาวบ้านเจ็บไข้ไม่สบาย หลวงปู่ขุ้ย ได้เข้าป่าหาสมุนไพร มารักษาชาวบ้านด้วยตนเอง แทนยาจากในเมือง
เมื่อคราวเกิดโรคห่าระบาด หลวงปู่ขุ้ย ได้นำยาสมุนไพรรักษาชาวบ้านจนหายป่วย เรื่องยาสมุนไพรเป็นที่ขึ้นชื่อมากแม้ถึงทุกวันนี้ ยังมีชาวบ้านที่เจ็บป่วยไปให้ท่านทำการรักษาอยู่ประจำ หลวงปู่ขุ้ยจำพรรษาชักชวนชาวบ้านเข้าวัดฟังธรรม รักษาศีล จนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้าน รวมทั้งได้รับแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดซับตะเคียนแห่งนี้
ด้านวัตถุมงคล หลวงปู่ขุ้ย ได้รับการถ่ายทอดวิชาจาก หลวงพ่อทบ วัดชนแดน บรรดาศิษยานุศิษย์ที่รู้ในกิตติศัพท์ด้านวิทยาอาคมของท่าน จึงได้ขอร้องให้ท่านจัดสร้างวัตถุมงคล เพื่อนำเงินมาจัดสร้างเสนาสนะ ศาลา และอุโบสถ(กำลังจะสร้าง) ฯลฯ
ในด้านการเผยแผ่ธรรม หลวงปู่ขุ้ย เป็นพระที่ทันสมัย ใช้ธรรมะสั่งสอนชาวบ้าน ให้รู้จักทำมาหากินด้วยความสุจริต มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร มิให้ลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุข ใช้ชีวิตอย่างสมถะและพอเพียง ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หลวงปู่ขุ้ย ได้สั่งสอนให้ชาวบ้านได้เจริญภาวนาสมาธิ ให้ยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตาม ศีล ๕ ศีล ๘ หรืออุโบสถศีล อย่างเคร่งครัด ให้เป็นคนคิดดี ทำดี พูดดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน
หลวงปู่ขุ้ย ถือเป็นผู้นำทางคุณธรรมศีลธรรม ของชาวบ้านซับตะเคียนอย่างแท้จริงด้วยความที่เป็นพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ไม่สะสม และยึดติดในอดิเรกลาภ ชาวบ้านทั้งอำเภอ ต่างจังหวัด จึงให้ความเคารพศรัทธา ด้วยกุศลจิตอย่างแท้จริง แม้ล่วงวัย ๘๗ ปี แต่หลวงปู่ขุ้ยยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงไปกิจนิมนต์ไกลๆ ได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย
หลวงปู่บอกว่า ที่ท่านอายุยืน มิเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเพราะว่า ท่านทำสมาธิ เจริญภาวนาและทำจิตใจให้ผ่องใสตลอดเวลา ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง ส่วนมากจะฉันอาหารประเภทผัก ผลไม้เป็นประจำ
หลวงปู่ขุ้ย เป็นพระสายปฏิบัติและเป็นศิษย์รูปสุดท้ายของ หลวงพ่อทบ วัดของท่านอยู่ติดเทือกเขาเพชรบูรณ์ เขตแดนติดต่อ อ.หนองบัวแดง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ถ้าไม่มีกิจนิมนต์ที่ใด ส่วนมากท่านจะอยู่ที่วัดเป็นประจำ นับเป็นพระที่ดีอีกรูปหนึ่งของเมืองมะขามหวาน
◉ มรณภาพ
พระอธิการวิชัยรัตน์ (หลวงปู่ขุ้ย ฐิตธัมโม) ท่านอาพาธด้วยโรคปอดติดเชื้อ เข้ารักษาอาการที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔ กระทั่งในวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔ หลวงปู่ขุ้ย ฐิตธัมโม ได้มรณภาพลงอย่างสงบ เวลา ๑๕.๐๗ น.ตรงกับวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ สิริอายุรวม ๙๐ ปี ๒ เดือน ๒๖ วัน พรรษา ๖๘
ทางวัดได้เก็บสรีระสังขารของท่านอย่างถาวรให้ลูกหลานได้กราบไหว้สักการะ ณ วัดซับตะเคียน ๑๐๐ วัน ทำพิธีเผา (หลอก) เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑ และเคลื่อนย้ายสรีระสังขารบรรจุโลงแก้วไว้ภายในมหาเจดีย์พระธาตุอรหันต์ ๑๐๘ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ตรงกับแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖
◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงปู่ขุ้ย ได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาหลายรุ่น เป็นที่เชื่อถึอในความศักดิ์สิทธิ์ ในด้านเมตตามหานิยม และแคว้นคลาด จึงมีผู้ศรัทธาเลื่อมใส ไปขอบูชามากมายจนชื่อเสียงของท่านโด่งดังไปในหลายจังหวัด
วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมสูงคือ ตะกรุดโทน ตะกรุด ๙ ชั้น รูปหล่อลอยองค์ อีกหลายรุ่น วัตถุมงคลที่สร้างขึ้น มีผู้มาขอบูชาหมดในเวลาไม่นาน และผู้ที่เช่าหาวัตถุมงคลของท่าน ต่างมีประสบการณ์แคล้วคลาดต่างๆ มากมาย
โดยเฉพาะพระกริ่งเพชรกลับ ที่สร้างขึ้นตามตำรับโบราณของหลวงพ่อทบ โดยเฉพาะ “ตะกรุดคู่ชีวิต หลวงปู่ขุ้ย วัดซับตะเคียน” ที่สร้างตามตำนานตะกรุดคู่ชีวิตอมตะ หลวงพ่อเงิน มาสู่ หลวงพ่อพิธ และตกทอดถึง หลวงพ่อทบ ผู้เป็นบูรพาจารย์ แต่ หลวงปู่ขุ้ย ก็ยังอ่อนน้อมถ่อมตนว่า ไม่ทับรอยครูบาอาจารย์ ขอยกถวายความดีบูชาพระคุณบรมครูทุกรูป และด้วยจำนวนสร้างเพียง ๕๐๐ ดอก เอาเป็นว่าภายใน ๒ วัน หมดแล้ว แถมผู้บูชาต่างเกิดประสบการณ์ปาฏิหาริย์มากมาย
● คาถาตะกรุดคู่ชีวิต
แม้จะไม่มีของดีอยู่กับตัว ขอได้สวดอาราธนาไว้ก่อนก็ได้ผลเช่นกัน
ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วว่า “วิโส ทะเย เอ สะ นะมะพะทะ พุทธัง กำบังจิต ธัมมัง กำบังกาย สังฆัง กำบังไว พุทธยะคิ ประสิทธิเม”