วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ขาว อนาลโย

วัดถ้ำกลองเพล
อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู

หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ํากลองเพล

ชาติกําเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ํากลองเพล อําเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลําภู นามเดิม ของท่านชื่อ ขาว โคระถา เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๑ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๑๐ ค่ํา เดือนอ้าย ปีชวด ที่บ้านบ่อชะเนง ต.หนองแก้ว อ.เมือง จ.อํานาจเจริญ

โยมบิดาชื่อ พั่ว โยมมารดาชื่อ รอด โคระถา ท่านมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นคนที่ ๔ อาชีพหลักของครอบครัวคือ ทํานาและค้าขาย เมื่อหลวงปู่ขาวยังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น ก็ดํารงชีพตามวิสัยของฆราวาสทั้งหลาย เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี บิดามารดาได้จัดให้มีครอบครัว ภรรยาของท่านชื่อ นางมี และได้มีบุตรด้วยกัน ๓ คน

ท่านพระอาจารย์มหาบัวเล่าว่า.. หลวงปู่ขาว มีนิสัยเด็ดเดี่ยวเอาจริงเอาจังมาก มาตั้งแต่เป็นฆราวาส เมื่อบวชแล้วนิสัยเอาจริงเอาจังจึงติดตัวมา ยิ่งบวชในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาจริงที่สอนให้คนทําจริงในสิ่งที่ควรทําด้วยแล้ว ท่านยิ่งรู้สึกซาบซึ้งในหลักธรรมมากขึ้นโดยลําดับ

หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล

เกี่ยวกับอาชีพการงาน เมื่อครั้งหลวงปู่ยังเป็นฆราวาส ท่านพระอาจารย์มหาบัวได้เรียบเรียง เป็นคําพูดของหลวงปู่ไว้ในคําถามคําตอบปัญหาธรรม ในหนังสือ “อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ” ของหลวงปู่ ดังนี้

“อันว่าสกุลสูงสกุลต่ํานั้น บรรดาสัตว์โลกผู้อยู่ใต้อํานาจกฎแห่งกรรม ย่อมมีทางเกิดได้ด้วยกัน อย่าว่าแต่ปู่คนเดียวเลย แม้แต่ภพชาติสูงต่ํานั้นเป็นสายทางเดินของสัตว์โลก ผู้มีกรรมจําต้องเดินต้องผ่านเหมือนกันหมด คนมีวาสนามากก็ผ่าน คนมีวาสนาน้อยก็ผ่าน ภพกําเนิดสกุลต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว เช่นหลานเป็นพระเจ้าฟ้าเจ้าคุณมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ หลานจากที่นี้ไปกรุงเทพฯ ด้วยเท้าก็ดี ด้วยรถยนต์รถไฟก็ดี ด้วยเรือเหาะเรือบินก็ดี หลานจําต้องผ่านดินฟ้าอากาศ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่สูงๆ ต่ํา ๆ ซึ่งมีอยู่ตามรายทางเรื่อยไป จนถึงจุดที่หมายคือกรุงเทพฯ โดยไม่อาจสงสัย”

“การเกิดในสุกลสูงๆ ต่ํา ๆ ตลอดภพชาติต่างๆ กันนั้น สัตว์โลกเกิดตามวาระกรรม ของตนมาถึง แม้จะทรงบุญหนักศักดิ์ใหญ่ แต่เมื่อถึงวาระกรรมของตนที่ควรจะเสวยอย่างไร ก็จําต้องเสวยตามรายทาง คือภพชาตินั้นๆ เท่าที่ปูมาเกิดในสกุลชาวนาปู่ก็ไม่เสียอกเสียใจ ไม่น้อยเนื้อต่ําใจ เพราะปู่ถือว่า ปู่มาเกิดตามวาระกรรมของปู่เองจึงไม่ตําหนิติเตียนบิดามารดาผู้ให้กําเนิด ตลอดญาติมิตรพี่น้องที่เกิดร่วมและใกล้ชิดสนิทกันว่ามาให้โทษปู่ มันเป็นกรรมของใครของเรา ดังธรรมท่านสอนไว้ไม่มีผิด ไม่มีที่คัดค้านปูยอมรับธรรมท่านอย่างซึ้งใจไม่มี วันถอนเลย”

“สกุลชาวนานั้นมันต่ําต้อยที่ตรงไหน คนทั้งโลกได้อาศัยข้าวในท้องนาของชาวนา ตลอดมา จึงพยุงชีวิตร่างกายมารอดมิใช่หรือ ที่ถูกตามความจริงควรชมเชยว่า สกุลชาวนาคือ สกุลเลี้ยงโลก คือสกุลพ่อสกุลแม่ของมนุษย์ทั้งโลก ด้วยความเป็นคนกตัญญรู้บุญคุณ ของสิ่งเลี้ยงดูของผู้เลี้ยงดู แล้วสกุลชาวนานั้นต่ําที่ตรงไหนลองว่ามาซิ…ถ้าตําหนิว่าเขาต่ําจริง เราคนสกุลสูงและสูงๆ ก็อย่ากินข้าวและเผือกมันของเขาซิ มันจะเสียเกียรติของคนลืมตน เย่อหยิ่ง ปล่อยให้ตายเสียจะได้ไม่หนักโลกของชาวนาที่หาข้าวมาให้กิน กินแล้วไม่รู้จักบุญคุณ”

“คราวเป็นฆราวาสมันก็คิดบ้า ๆ เหมือนโลกตื่นลมเขาเหมือนกัน ว่าตนเป็นลูกชาวนาวาสนาน้อย คิดอยากเป็นเจ้าเป็นนายกับเขาเหมือนกัน อย่างน้อยไปเป็นครูสอนนักเรียนก็ยังดี แต่เราคนจนหาเลี้ยงแม่ เลี้ยงน้อง พอรู้สึกตัวว่ามีฐานะยากจนไม่มีเวลาเรียนและไม่มีทุนเรียนหนังสือ ดังนี้แล้วก็หยุดคิด หยุดกังวลใจกับเรื่องนี้ พอมาบวชปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ ความรู้สึกกับธรรมเริ่มซึมซาบเข้าถึงกันวันละเล็กละน้อย ความที่เคยคิดว่าตนเป็นคนอาภัพวาสนาเป็น ลูกชาวนาก็ค่อย ๆ หายไป ๆ จนกลายเป็นความรู้สึกว่า จะเกิดในสกุลใดก็คือสกุลมนุษย์ที่ต้องตะเกียกตะกายหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพื่อความอยู่รอดเหมือนๆ กันไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าทุกวันนี้ ซึ่งแก่มากแล้ว มันเลยมีความรู้สึกไปคนละโลกและรู้สึกไปในแง่ที่โลกเขาไม่ค่อยคิด หรือไม่คิดกันเสียแล้วทุกวันนี้”

เมื่ออายุของหลวงปู่มากขึ้น ก็ให้เกิดความเบื่อหน่ายในความเป็นอยู่และความวุ่นวายต่าง ๆ ของทางโลก จิตใจให้รุ่มร้อนอยากจะหาที่สงบ เพื่อทําจิตให้เงียบสงัด พ้นจากความวุ่นวายทั้งหลาย ชีวิตในทางโลกของหลวงปู่ไม่ค่อยราบรื่นนัก เหตุการณ์สําคัญอันหนึ่ง ท่านพระอาจารย์มหาบัวได้ เรียบเรียงเป็นคําพูดของหลวงปู่สอนหลานไว้ดังนี้

“ปู่จะพูดตรงไปตรงมาและสรุปความย่อ ๆ เลยนะหลาน เดิมเป็นคนขยันขันแข็ง รับผิดชอบต่อครอบครัวอย่างจริงใจ แต่การทํามาหาเลี้ยงครอบครัวไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่อยากให้เป็น ขาด ๆ เขิน ๆ ซึ่งทําให้คิดสงสารครอบครัวอยู่ไม่วาย จึงคิดและตัดสินใจลงไปรับจ้างทํานาทางภาคกลาง พอได้เงินแล้วก็กลับมาบ้าน แต่เจ้ากรรมมาเจอเมียมีชู้ ตอนนี้ปู่เกือบเสียคนไปทั้งคนอย่างไม่คาดฝัน”

“ก็มาเจอเมียกําลังเริงรักหักสวาท อยู่กับชายชุ้อย่างตําตาละซิหลาน ใครจะทนได้ ปู่จึงเกือบเสียคนไป คือขณะนั้นเองขณะที่แอบอ้อมมาดูตามคําบอกเล่าของชาวบ้านเวลา เงียบๆ ดึกสงัดพร้อมกับดาบอันคมกริบอยู่ในมือ เงือดเงื้อดาบสุดแรงเกิด จะฟาดฟันลงให้ขาดสะบั้นไปทั้งเมียทั้งชายชู้ แต่เผอิญชายชู้มองเห็นก่อน ยกมือขึ้นไหว้ปู่จนตัวสั่นเทาๆ ขอชีวิตชีวาไว้ พร้อมทั้งยอมสารภาพความผิดที่ทําลงไปทุกอย่าง ขณะจิตสะดุดขึ้นเตือนว่าเขายอมแล้ว อย่าทําๆ จะเป็นความเสียหายเพิ่มเข้าอีกโดยไม่มีผลดีอะไรเกิดขึ้นเลย ประกอบกับใจเกิดความสงสารชายชู้ผู้กลัวตายสุดขีด ใจเลยอ่อนลง แล้วเรียกร้องให้ชาวบ้านมาดูเหตุการณ์ ในขณะนั้นจนหายสงสัยในข้อเท็จจริงทั่วหน้ากันแล้ว ประชุมญาติและผู้ใหญ่บ้านจะเอาเรื่องอย่างหนัก ชายชู้ยอมรับทุกอย่าง จึงปรับไหมด้วยเงิน พร้อมกับประกาศยกเมียให้ชายชู้นั้น อย่างเปิดเผยในชุมนุมชน ตัดกรรมตัดเวรหายห่วงไปเสียที หลังจากนั้นมีแต่สลดสังเวชใจเป็นกําลัง คิดเรื่องอะไรในโลกไม่มีความลงใจติดใจที่จะทําที่จะอยู่แบบโลกเขาอยู่กันต่อไป ใจหมุนไปทางบวชเพื่อหนีโลกอันโสมมนี้ให้พ้นมันโดยถ่ายเดียว อย่างอื่นใจไม่ยอมรับเลย มีการออกบวชหนีโลกเพื่อความพ้นทุกข์ไปนิพพานตามเสด็จพระพุทธเจ้าพระสาวกท่านอย่างเดียวเท่านั้น เป็นที่ลงใจและสมัครใจอย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรมาขัดแย้ง ปู่จึงได้มาบวชและปฏิบัติธรรมอย่างถึงใจเรื่อยมาจนปัจจุบันนี้ นี่แลสาเหตุที่จะให้ออกบวชอย่างรวดเร็ว เพราะความสังเวช เบื่อหน่ายประทับใจจริงและตอนนี้แลเป็นตอนที่ปู่บวชด้วยศรัทธาความอยากบวชจริง ไม่มี อะไรจะห้ามไว้ได้ เนื่องจากความเบื่อหน่ายในเหตุการณ์ที่ประสบมา และคิดกว้างขวางเท่าไร ก็ยิ่งเกิดความเบื่อหน่ายมากขึ้น ถึงกับต้องบวชดังใจหมาย”

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา

ชีวิตสมณะของหลวงปู่ขาว อนาลโย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๒ เมื่ออายุ ๓๑ ปี โดยอุปสมบท ที่วัดโพธิ์ศรี บ้านบ่อชะเนง ต.หนองแก้ว อ.เมือง จ.อํานาจเจริญ โดยมีท่านพระครูพุฒิศักดิ์เป็น พระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์บุญจันทร์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงปู่ได้ จําพรรษาที่วัดโพธิ์ศรีเป็นเวลา ๖ พรรษา เนื่องจากหลวงปู่ได้บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทา ของพระอาจารย์มั่น หลวงปู่จึงได้ญัตติเป็นพระธรรมยุติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ อายุได้ ๓๗ ปี ณ พันธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้ว ได้จําพรรษาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีเป็นเวลา ๘ ปี จากนั้นหลวงปู่ได้เดินธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่น ปฏิบัติธรรมไปยังสถานที่ต่างๆ ประวัติการเดินธุดงค์ของหลวงปู่ขาวนั้น ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมปนโนได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือ “ปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะ” ตั้งแต่หน้า ๑๘๕ ถึงหน้า ๒๓๖ อย่างละเอียดละออโดยไม่ได้เอ่ยนามว่าเป็นใครแต่หลาย ๆ ท่านเชื่อว่าเป็นปฏิปทาของหลวงปู่ขาว (เช่น อานนท์ เนินอุไร เขียนในหนังสือทิพย์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๕ ประจําเดือน มีนาคม ๒๕๓๓ “หลวงปู่ขาว อนาลโย)

ท่านพระอาจารย์มหาบัวเล่าไว้ใน ปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐานว่า “ตอนก่อนปฏิบัติกรรมฐาน ก็ทราบว่าท่านเคยได้รับอารมณ์เขย่าก่อกวนใจนานาประการ ที่จะให้เป็นอุปสรรคต่อการบําเพ็ญจากคนทั้งหลาย ทั้งเป็นพระทั้งเป็นฆราวาสว่า เวลานี้มรรคผลนิพพานหมดเขต หมดสมัยไปนานแล้ว ใครจะบําเพ็ญถูกต้องดีงามตามพระวินัยเพียงไร ก็ไม่สามารถบรรลุผล สําเร็จตามใจหวังได้ บ้างว่าการบําเพ็ญภาวนาทําให้คนเป็นบ้า …บ้างว่าสมัยนี้เขาไม่มีพระธุดงค์กรรมฐานกันหรอก นอกจากพระธุดงค์กรรมฐานที่จําหน่ายตะกรุดคาถาวิชาอาคมของขลังต่างๆ ส่วนพระธุดงค์กรรมฐานที่ดําเนินตามทางพระธุดงค์นั้นไม่มีแล้วสําหรับทุกวันนี้ อย่าไปทําให้เสียเวลาและเหนื่อยเปล่าเลย..สําหรับท่านเองไม่ยอมฟังเสียงใคร แต่ไม่คัดค้านให้ เป็นความกระเทือนใจกันเปล่า ๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสองฝ่าย ในความรู้สึกที่ฝังลึกอยู่ภายในท่านที่ว่า….(ผู้) ที่พูดหว่านล้อมกีดกันไม่ให้เราออกกรรมฐานด้วยอุบายต่างๆ นี้ มิใช่ผู้วิเศษวิโสอะไรเลย…. เราจะต้องออกปฏิบัติกรรมฐานโดยถ่ายเดียวในไม่ช้านี้ และจะค้นหาของจริงตามหลักธรรมที่ประทานไว้จนสุดกําลังความสามารถขาดดิ้นสิ้นซากเมื่อพร้อมแล้ว ท่านก็ออกเดินธุดงค์ในท่ามกลางประชาชนและครูอาจารย์ทั้งหลายที่กําลังชุมนุมกันอยู่ในวัดเวลานั้น เวลาจะไปท่านพูดสั่งเสียด้วยความจริงใจ…ว่า เมื่อกระผมและอาตมาไปแล้วถ้าสอนตัวเองไม่ได้เต็มภูมิจิตภูมิธรรมตราบใด จะไม่มาให้ท่านทั้งหลายเห็นหน้าตราบนั้นเสร็จแล้ว ก็ลาพระอาจารย์นักปราชญ์ทั้งหลายออกเดินทางท่ามกลางประชาชนจํานวนมาก มุ่งหน้าไปทางพระธาตุพนม..บุกป่าฝ่าดงมาจนถึงพระธาตุพนม ลุถึงอุดรฯ หนองคาย เพื่อตามหาท่านอาจารย์มั่น ซึ่งทราบว่าท่านจําพรรษาอยู่ที่อําเภอท่าบ่อ ได้พักอบรมกับท่านชั่วระยะเท่านั้นท่านก็หนีจากเราไปทางเชียงใหม่ หายเงียบไปเลย….. จึงพยายามตามหลังท่านไปโดยเที่ยวธุดงค์ กรรมฐานไปเรื่อยๆ ตามลําน้ําแม่โขง จนลุถึงเชียงใหม่และเที่ยวบําเพ็ญอยู่ตามอําเภอต่างๆ จนได้พบและได้ฟังการอบรมจากท่าน (อาจารย์มั่น) จริงๆ แต่ท่านไม่ค่อยให้ใครอยู่ด้วย ท่านชอบอยู่เฉพาะองค์เดียว ท่าน (หลวงปู่ขาว) ว่า ท่านก็พยายามไปอยู่ในแถวใกล้เคียงท่าน (อาจารย์มั่น) พอไปมาหาสู่เพื่อรับโอวาทได้ในคราวจําเป็น เมื่อเข้าไปเรียนศึกษาข้ออรรถข้อธรรม ท่านก็เมตตาสั่งสอนอย่างเต็มภูมิไม่มีปิดบังลี้ลับ…เมื่ออยู่นานไปบางปีท่านก็เมตตาให้เข้าไปจําพรรษาด้วย…ใจนับวันเจริญขึ้นโดยลําดับ ทั้งด้านสมาธิและด้านปัญญา มีความเพลิดเพลินในความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืนไม่มีเวลาอิ่มพอ”

หลวงปู่ขาว เมื่ออยู่ในวัยแข็งแรง เป็นนักท่องเที่ยวกรรมฐานชั้นเยี่ยม ท่านออกเดินทางทุกปีและได้สมบุกสมบันไปแทบทุกภาคของประเทศ หลวงปู่เคยเดินธุดงค์ร่วมกันกับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้สหายทางธรรมของท่านที่มีชื่อเสียงก็มีหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และหลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นอาทิ

หลวงปู่ขาว ได้สร้างบารมีอยู่ในป่าในเขาเป็นเวลายาวนาน ท่านได้ประสบการณ์เกี่ยวกับป่ามากมาย สัตว์ป่า เช่น ลิง ค่าง ช้าง เสือ กับพระธุดงค์นั้นต่างฝ่ายต่างหลีกกันไม่ค่อยจะพ้น พระธุดงค์ท่านรักการเดินป่า สิงสาราสัตว์ มันก็จําเป็นต้องเร่ร่อนออกหากินตามเรื่องของมัน

ดังนั้น การเผชิญหน้ากันอย่างไม่คาดฝันของทั้งสองฝ่ายจึงมีขึ้นเสมอๆ และการพบกันแต่ละครั้งต้องมี เรื่องตื่นเต้นเล่าสู่กันฟังต่อ ๆ มาไม่จบ เวลาหลวงปู่นึกถึงอะไรสิ่งนั้นมักจะมาตามความรําพึงนึกคิดเสมอ เช่น นึกถึงช้างว่าหายหน้าไปไหนเป็นปี ๆ แล้ว ไม่เห็นผ่านมาทางนี้บ้าง พอตกกลางคืนดึกๆ ช้างตัวนั้นก็มาหาจริงๆ และเดินตรงมายังกุฏิที่ท่านพักอยู่ พอให้ท่านทราบว่าเขามาหาแล้วก็กลับ เข้าป่าไป เวลาหลวงปู่ถึงนึกถึงเสือก็เหมือนกัน เพียงนึกถึงเสือตอนกลางวัน พอตกกลางคืนเสื้อ ก็มาเพ่นพ่านภายในวัด และบริเวณที่ท่านพักอยู่

คุณหมออวย เกตุสิงห์ เขียนไว้ในประวัติอาพาธ ซึ่งเป็นภาคผนวกของหนังสืออนาลโยวาทว่า “พอเรียนถามท่านถึงลักษณะป่าเขาลําเนาไพรในแง่ที่พระธุดงค์สนใจท่านจะเล่าอย่างสนุกสนาน และละเอียดลออทุกแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตแคว้นภาคอีสานและภาคเหนือ ท่านได้สัญจรซ้ํา ๆ ด้วยความสนใจเป็นพิเศษ…ไม่ต้องสงสัยว่าในสมัยนั้นสุขภาพของท่านจะอยู่ในระดับยอดเยี่ยม เพราะได้ดําเนินชีวิตอย่างอุดม ไม่ปรากฏว่าท่านมีโรคประจําตัวอย่างใดที่สําคัญ นอกจากเป็นไข้ป่าซึ่งเป็นของธรรมดาสําหรับพระธุดงค์กรรมฐานทุกองค์ กับโรคกระเพาะปัสสาวะ อักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจจะเป็นผลของโรคนิ้วตั้งแต่สมัยหนุ่ม ๆ”

เวลาหลวงปู่ไม่สบายอยู่ในป่าในเขา มักจะไม่ใช้หยูกยาอะไรเลย จะใช้แต่ธรรมโอสถซึ่ง ได้ผลทั้งทางร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน หลวงปู่เคยระงับไขด้วยวิธีภาวนามาหลายครั้ง จนเป็นที่มั่นใจต่อการพิจารณาเวลาไม่สบาย

ท่านพระอาจารย์มหาบัว เล่าถึงหลวงปู่ขาวไว้ใน “ปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ว่าหลวงปู่ได้บรรลุธรรมชั้นสุดยอดในราวพรรษาที่ ๑๖ – ๑๗ ใน สถานที่มีนามว่า โรงขอด” แห่งอําเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่” ท่านเขียนไว้ว่า “เย็นวันหนึ่ง เมื่อปัดกวาดเสร็จท่าน (หลวงปู่ขาว) ออกจากที่พักไปสรงน้ําได้เห็นข้าวในไร่ชาวเขากําลังสุก เหลืองอร่าม ทําให้เกิดปัญหาขึ้นมาในขณะนั้นว่า ข้าวมันงอกขึ้นมาเพราะมีอะไรเป็นเชื้อพาให้เกิด ใจที่พาให้เกิดตายอยู่ไม่หยุด ก็น่าจะมีอะไรเป็นเชื้ออยู่ภายในเช่นเดียวกันกับเมล็ดข้าว เชื้อนั้นถ้าไม่ถูกทําลายเสียใจให้สิ้นไป จะต้องพาให้เกิดตายอยู่ไม่หยุด ก็อะไรเป็นเชื้อของใจเล่า ถ้าไม่ใช่กิเลศอวิชชา ตัณหาอุปาทาน คิดทบทวนไปมาโดยถืออวิชชาเป็นเป้าหมายแห่งการ วิพากษ์วิจารณ์ พิจารณาย้อนหน้าถอยหลัง อนุโลมปฏิโลมด้วยความสนใจอยากรู้ตัวจริงแห่งอวิชชา นับแต่หัวค่ําจนดึกไม่ลดละการพิจารณาระหว่างอวิชชากับใจ จวนสว่างจึงตัดสินกันลงได้ด้วยปัญญา อวิชชาขาดกระเด็น ออกจากใจไม่มีอะไรเหลือ การพิจารณาข้าวก็มายุติกันที่ข้าวสุกหมดการงอกอีกต่อไปการพิจารณาจิตก็มายุติกันที่อวิชชาดับ กลายเป็นจิตสุกขึ้นมา เช่นเดียวกับข้าวสุก จิตหมดการก่อกําเนิดเกิดในภพต่างๆ อย่างประจักษ์ใจ สิ่งที่เหลือให้ชมอย่างสมใจ คือความบริสุทธิ์แห่งจิตล้วนๆ ในกระท่อมกลางเขามีชาวป่าเป็นอุปัฏฐากดูแล ขณะที่จิตผ่านดงหนาป่ากิเลศวัฏฏไปได้ แล้วเกิดความอัศจรรย์อยู่คนเดียวตอนสว่าง พระอาทิตย์ ก็เริ่มสว่างบนฟ้า ใจก็เริ่มสว่างจากอวิชชาขึ้นสู่ธรรมอัศจรรย์ ถึงวิมุตติหลุดพ้นในเวลาเดียวกัน กับพระอาทิตย์อุทัย ช่างเป็นฤกษ์งามยามวิเศษเอาเสียจริงๆ”

หลวงปู่ขาวได้ธุดงค์จาริกไปตามถิ่นที่ต่าง ๆ จนกระทั่งในที่สุดก็มาพํานักจําพรรษาอยู่ที่ วัดป่าถ้ํากลองเพล อําเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลําภู เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ จวบจนกระทั่งมรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๖ มีเรื่องเล่ากันว่า อาณาบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดถ้ํากลองเพล แต่เดิมนั้นเป็นป่ารกชัฏ ซึ่งมีโขลงช้างและสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ ในปัจจุบันวัดแห่งนี้ยังคงธรรมชาติที่สงบเงียบและงดงามและการคมนาคมที่สะดวกกว่าแต่ก่อนมาก วัดนี้อยู่ห่างจากตัวเมือง อุดรฯ เพียง ๓๐ กิโลเมตรกว่าๆ เท่านั้น

หลวงปู่ขาวเป็นผู้มีปฏิปทาเป็นเลิศ ปกติหลวงปู่จะมีทางเดินจงกรมสามสาย สายหนึ่งเดิน เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า สายที่สองเดินบูชาพระธรรม สายที่สามเดินบูชาพระสงฆ์ หลวงปู่เดินจงกรม ตามเวลาเป็นประจําไม่ขาด หลวงปู่จะตื่นจากจําวัดราวสามนาฬิกาแล้วทําความเพียรจนถึงเวลาโคจรบิณฑบาต หลังจากฉันเสร็จแล้ว จะเดินจงกรมราวหนึ่งถึงสองชั่วโมง จากนั้นจะเข้าห้องพักทําภาวนาต่อไปจนถึงบ่ายสองโมง ถ้าไม่มีธุระอื่นก็จะเข้าทางจงกรมทําความเพียรต่อจนถึงเวลาปัดกวาดลานวัด เมื่อสรงน้ําเสร็จหลวงปู่ก็จะเดินจงกรมจนถึงสี่หรือห้าทุ่มจึงหยุด แล้วเข้าที่สวดมนต์ภาวนา จนถึงเวลาจําวัดจึงได้พักผ่อนร่างกาย

คุณหมออวย เกตุสิงห์ ได้เล่าเกี่ยวกับปัจฉิมกาลของหลวงปู่ไว้ในภาคผนวกในหนังสือ อนาลโยวาท ว่า “ท่านอาจารย์เป็นคนทุพพลภาพอยู่ถึงเก้าปี ถ้าเป็นคนธรรมดาสุขภาพจิตคงจะ เสื่อม แต่เรื่องเช่นนี้ไม่ปรากฏเลยในกรณีของท่าน อารมณ์ของท่านยังดีเหมือนแต่ก่อนนิสัยรื่นเริงและชอบติดตลกยังเห็นอยู่ได้ ทั้งในการกระทําและคําพูด..เมตตาธรรมยังเด่นและ สะดุดตาสะดุดใจทุกคนที่ได้นมัสการท่าน หลายคนกล่าวว่าเพียงแต่เห็นยิ้มของท่านก็เย็นใจ แล้วใครขออะไรท่านก็ให้ และให้โดยไม่ได้นึกถึงตัวเอง…หลังจากเป็นอัมพาตร่างกายของท่านอาจารย์เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากขาดการเคลื่อนไหว (เดิน) และเบื่ออาหาร เนื่องจากท่านฉันเนื้อสัตว์น้อย กล้ามเนื้อจึงล็บทําให้อ่อนแรงยิ่งขึ้น แม้ผิวหนังก็เสื่อมสภาพกลายเป็นเยื่อบางใสคล้ายกระดาษแก้ว มองลอดเห็นหลอดเลือดใหญ่น้อยข้างใต้ได้ชัดเจน.. ในระยะสามปีสุดท้าย นัยน์ตาของท่านอาจารย์ได้มืดสนิทเพราะต้อแก้วตา (ต้อกระจก) หูก็ตึงมากเพราะหินปูนจับกระดูก ท่านอาจารย์ไม่ได้แสดงความเดือดร้อนอันใดเป็นแต่พูดปลงเป็นธรรมสังเวชว่า ตาก็บอด หูหนวก กระดูกก็หนัก แม้ภายหลังที่ท่านสละโลกนี้ไปแล้ว ดูเหมือนความเมตตาของท่านอาจารย์ยังสามารถส่งผลให้แก่ผู้ที่มีศรัทธาในท่าน พอข่าวแพร่สะพัดว่าท่านสิ้นและมีอายุได้ ๙๖ ปี พวกนักเสี่ยงโชคจํานวนมากก็พากันซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล (และหวยเถื่อน) เลขท้าย ๙๖ แล้วสลากกินแบ่งงวดนั้นก็ออกเลขท้าย ๙๖ จริงๆ สี่ห้าปีก่อนท่านจะสิ้น มีพระในวัดถ้ํากลองเพลรูปหนึ่ง (พระสุจิต) กราบลาไปหาที่วิเวกปฏิบัติธรรมทางภาคเหนือ ท่านอนุโมทนาและให้พรพร้อมด้วยคําลงท้ายว่า เราจะตายอายุเก้าสิบหก ระวังกลับมาให้ทัน

ธรรมโอวาท

ธรรมโอวาทของหลวงปู่ขาวได้รับการรวบรวมจากเทปบันทึกเสียงโดยคุณหมออวย เกตุสิงห์ ไว้ในหนังสือ “อนาลโยวาท” ซึ่งมีทั้งหมด ๒๓ กัณฑ์ คือ กัณฑ์ที่ ๑ ถึง ๒๒ เป็นธรรมเทศนาของหลวงปู่ ส่วนกัณฑ์ที่ ๒๓ ซึ่งเป็นกัณฑ์พิเศษเป็นของพระอาจารย์จันทา ถาวโร บรรยายเกี่ยวกับการปฏิบัติกรรมฐานกับหลวงปู่ ดังนั้นอนาลโยวาทจึงเป็นหนังสือที่มีความสําคัญมาก เป็นที่รวมธรรมะข้อประพฤติปฏิบัติของหลวงปู่เพื่อให้ผู้ที่ต้องการปฏิบัติธรรมได้ศึกษาค้นคว้า

ส่วนคติธรรมต่าง ๆ จากวัดถ้ํากลองเพล คุณหมอสุเมธ นราประเสริฐกุล ได้รวบรวมไว้ ในหนังสือ “พระธรรมเทศนา พระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย” ซึ่งรวมเอากัณฑ์ที่ ๑ ถึง ๒๒ จากหนังสืออนาลโยวาทเข้าไว้ด้วย

ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ที่ได้เทศน์โปรดพระเณรและญาติ โยมบ้านบ่อชะเนง (ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน)

“จนก็จนลืมตาย ทําไมเกิดมาไม่เหมือนกันล่ะ ไม่เหมือนกันคือความประพฤติผู้นี้เขา ประพฤติดี เขามีการรักษาศีล มีการให้ทาน มีการสดับรับฟัง เขาจึงมีปัญญาดี มีการศึกษาเล่าเรียนดี อยู่ไหนก็มีแต่กรรมดี เท่านั้นแหละ กรรมจําแนกสัตว์ให้ดีให้ชั่วต่างๆ กันมันเป็นเพราะกรรม พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์ว่าตายแล้วสูญหรือตายแล้วเกิดอีก ถ้ามันยังทํากรรมอยู่ก็ต้องได้รับผลกรรมทั้งกรรมดีกรรมชั่ว มันต้องได้รับผลตอบแทน ครั้นทําแล้วจะไม่ได้รับผล ตอบแทนนั้นไม่มี คิดดู เหมือนเขามายืมปัจจัยเราไป ยืมแล้วเขาก็ต้องตอบแทน ครั้นไม่ตอบแทนก็ต้องเป็นถ้อยเป็นความกัน ทําแต่ความเดือนร้อน เขาจะต้องตอบแทนทุกสิ่งทุกอย่าง คิดดูเหมือนพวกเราเหมือนกัน ทํากรรมกันอยู่ผู้นั้นก็ต้องตอบแทนเรา ทําดีผลดีก็ตอบแทน ทําชั่วผลร้ายก็ตอบแทนเราให้ได้รับความลําบาก มันตอบแทนกันอยู่อย่างนั้นเพราะเหตุนั้นพวกเราควรทําให้เป็นกุศล ควรรักษาศีลให้สมบูรณ์ ศีลสมบูรณ์แล้วเราก็อบรมทําสมาธิต่อไป มันจะมีความสงบสงัดมันจะรวม มันขัดข้องก็ที่อาการของศีลเราอย่างใดอย่างหนึ่ง มันผิดพลาดมันขัดข้องมันจึงไม่รวม ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ก็เหมือนกัน การรักษาศีลเหมือนกับการ ปราบ (ปรับ) พื้นที่ที่เขาจะปลูกบ้านปลูกช่อง เขาก็ต้องปราบ (ปรับ) พื้นที่เสียก่อนเขาจึงปลูกลงไป อันนี้ฉันใดก็ดี ถ้าพวกเรารักษาศีลให้บริบูรณ์แล้วเหมือนปราบพื้นที่ จิตมันจึงไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีหลักมีตออะไร ปลูกลงไปมันก็ไม่มีอะไรเดือดร้อน จิตมันจะรวมอยู่เพราะมันเย็นมันราบรื่นดีมันเรียบไม่มีลุ่มดอน พากันทําไป อริยาบถทั้งสี่ นั่ง นอนยืน เดิน พระพุทธเจ้าไม่ห้าม แล้วก็ไม่ใช่เป็นของหนักของเบา เลือกในใจจะเอาอะไรก็ตาม แล้วแต่ความถนัด แล้วแต่จริตของเรา มันถูกกับจริตอันใดมันสะดวกใจสบายใจ หายใจดี ไม่ขัดข้องฝืดเคือง อันนั้นควรเอาเป็นอารมณ์ของใจ พุทโธ พุทโธ หมายความว่าให้ใจยึดเอาพุทโธเป็นอารมณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้จิตออกไปสู่อารมณ์ภายนอก อารมณ์ภายนอกมันก็ไปจดจ่ออยู่กับรูปเสียง กลิ่นรสสัมผัสความถูกต้องทางกาย ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ไปจดจ่ออยู่ที่นั่น จิตมันไม่ลง นี่แหละ

เรียกว่ามาร เรียกว่ามารคือไม่มีสติ อย่าให้มันไปคอยควบคุมไว้ ให้มาอยู่กับผู้รู้ ให้มาเอา พระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ หรือจะเอาพระธรรมเป็นอารมณ์ธัมโม ธัมโม ก็ตาม สังโฆก็ตาม หรือ อัฐิ ๆ กระดูก ๆ ก็ตาม ระลึกอยู่นั่งอยู่ก็ตามใจนอนอยู่ก็ตาม เดินอยู่ก็ตาม เอามันอยู่อย่างนั้น หลับไปแล้วก็แล้วไป นั่นเป็นของไม่เหน็ดไม่เหนื่อย พระพุทธเจ้าก็ว่าอยู่ ผู้ที่ภาวนาจิตสงบลงชั่วช้างพับหู งูแลบลิ้น ชั่วไก่กินน้ําหนึ่งอานิสงส์อักโขอักขังตั้งใจทําไป มันลงไปบางครั้งลงไปมี ๓ ขั้นสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ชณิกสมาธิเราบริกรรมไป พุทโธ ก็ตามอะไรก็ตาม จิตสงบไปสบายไปสักหน่อยมันก็ถอนขึ้นมา ก็คิดไปอารมณ์เก่าของมันนี่ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิลงไปนานหน่อยก็ถอนขึ้นมาไปสู่อารมณ์อีก ภาวนาอยู่ไป ๆ มา ๆ อย่า หยุดอย่าหย่อน แล้วมันจะค่อยเป็นไปหรอก ทําไป ทําไป จะให้มันเสียมันไม่เสีย เป็นก็ไม่ว่า ไม่เป็นก็ไม่ว่าแล้วแต่เขา อย่าไปนึก อันเรื่องเราทําทุกสิ่งทุกอย่างมีกรรมอะไรก็ตาม เราก็จะเอา เนื้อและเลือดและชีวิตจิตใจถวายบูชาพระพุทธเจ้า ถวายบูชาพระธรรม ถวายบูชาพระสงฆ์ต่างหาก ความอยากนี่พึ่งเข้าใจว่านั้นแหละหน้าตาของตัณหา อยากให้มันเป็น อยากให้มันลงโดยเร็ว อันนี้แหละนิวรณ์ตัวร้าย ให้ตั้งใจว่า ไม่เป็นก็ไม่ว่าหรอก เราจะเอาชีวิตจิตใจถวายบูชา พระพุทธเจ้า บูชาพระธรรม บูชาพระสงฆ์ตลอดวันตาย นี่ก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เราอยากนั่นก็เป็นตัณหายืนขวางหน้าอยู่จิตจึงไม่ลง”

หลวงปู่ขาว อนาลโย

ปัจฉิมบท

การที่จะพรรณนาถึงเมตตาธรรมและตปธรรมของหลวงปู่ขาวแล้วน่าจะไม่มีที่ไหนจะบรรยายได้ดีเท่าที่ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน บรรยายไว้ใน หนังสือ “ปฏิปทาของ พระธุดงค์กรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะ” หน้า ๑๕๔-๒๓๖ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

“ท่านอาจารย์องค์นี้มีความเด็ดเดี่ยวมาก การนั่งภาวนาตลอดสว่างท่านทําได้อย่างสบาย… ถ้าไม่เป็นผู้มีใจกล้าหาญกัดเหล็กกัดเพชรจริง ๆ จะทําไม่ได้ จึงขอชมเชยอนุโมทนาท่านอย่าง ถึงใจ…ท่านเป็นที่แน่ใจในองค์ท่านเองร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าเป็นผู้สิ้นภพสิ้นชาติอย่างประจักษ์ใจ ทั้งที่ยังครองขันธ์อยู่”

และมีความอีกตอนหนึ่งว่า

“พระอาจารย์องค์นี้ท่านเป็นพระที่พร้อมจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่โลกผู้เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ไม่มีความบกพร่องทั้งมารยาทการแสดง ออกทั้งอาการ ทั้งความรู้ทางภายในที่ฝังเพชรน้ําหนึ่งไว้อย่างลึกลับยากจะค้นพบได้อย่างง่ายดาย ถ้าไม่รอดตายก็ไม่อาจรู้ได้ เฉพาะองค์ท่าน ผู้เขียนลอบขโมยถวายนามท่านว่า เพชรน้ําหนึ่ง ในวงกรรมฐานสายท่านอาจารย์มั่น มาเกือบ ๓๐ ปี แล้ว โดยไม่กระดากอายคนหาว่าบ้าเลย เพราะเกิดจากศรัทธาของตัวเอง”

สุดท้ายขอนําข้อเขียนของคุณหมออวย เกตุสิงห์ ในภาคผนวกของหนังสืออนาลโยวาท ความว่า

“วันหนึ่งมีชายแปลกหน้าผู้หนึ่งเป็นคนวัยฉกรรจ์ ปรากฏกายขึ้นที่วัด และขอเข้า นมัสการท่านอาจารย์ พอได้พบก็ตรงเข้าไปกราบถึงที่เท้า แล้วเอ่ยปากขอบพระคุณที่ท่านช่วย เขาให้พ้นจากโทษมหันต์ ทุกคนงงงันไปหมด เพราะไม่เคยเห็นผู้นั้นมาก่อน ท่านอาจารย์นั่งฟังโดยดุษณียภาพ ชายนั้นเล่าว่า เขาเป็นทหารไปรบที่ประเทศลาวอยู่เป็นเวลานาน พอกลับมาบ้านก็ได้รู้เรื่องว่าภรรยานอกใจ เขาโกรธแค้นมาก เตรียมปืนจะไปยิงให้ตายทั้งชายชู้ด้วย ได้ไปแวะร้านเหล้า ดื่มจนเมาหลับไปแล้วก็ฝันว่า มีพระแก่องค์หนึ่งมาขอบิณฑบาตความอาฆาต โกรธแค้น และเทศน์ให้ฟังถึงปานกรรมของการฆ่า จนชายนั้นยอมยกความพยาบาทให้ และ ถามพระนั้นว่าท่านชื่ออะไรมาจากไหน พระบอกว่าเราชื่อขาวมาแต่เมืองอุดรฯ พอตื่นชายนั้น ก็ตัดสินใจออกเดินทางมาเสาะหาท่านอาจารย์ จนได้พบที่วัดท่านอาจารย์อนุโมทนาแล้วอบรม ต่อไปให้เข้าใจหลักกรรม ตลอดจนผลของการงดเว้นจากการฆ่า ทําให้ชายผู้นั้นซาบซึ้งในรสพระธรรม จนตัดสินใจที่จะอุปสมบทต่อไป เรื่องนี้เป็นหลักฐานว่า ความเมตตาของท่านอาจารย์ เป็นเรื่องจริงจังเพียงใด และกินอาณาบริเวณได้กว้างขวางเพียงใด ถ้าไม่เกิดเหตุที่เล่านี้ก็คงไม่มี ใครรู้ความจริง”

อนุสรณ์สถานที่ถือว่าสําคัญที่สุดของหลวงปู่ขาวน่าจะได้แก่วัดถ้ํากลองเพล อันเป็นสถานที่ ที่หลวงปู่พํานักจําพรรษามาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๑ จนกระทั่งมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ วัดถ้ํากลองเพล มีเนื้อที่กว้างใหญ่มาก (ประมาณพันกว่าไร่) ส่วนใหญ่เป็นป่าร่มรื่นตั้งอยู่บนที่ลาดสันเขา มีโขดหิน ก้อนหินขนาดใหญ่มากมาย ป่าโขดหินและเพิงผาเป็นธรรมชาติที่สวยงามมาก ด้านหลังเป็นอ่างเก็บ น้ําชื่อ อ่างอาราม เป็นโครงการชลประทานพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จุดเด่น ของวัดถ้ํากลองเพลคือ พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงปู่ขาว อนาลโย สร้างเสร็จตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑ เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะสวยงามควรแก่การศึกษาและเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง “ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ”