วันเสาร์, 26 ตุลาคม 2567

หลวงตาแหวน ทยาลุโก วัดป่าหนองนกกด ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา หลวงตาแหวน ทยาลุโก วัดป่าหนองนกกด บ้านหนองนกกด ตำบลไฮหย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร

หลวงตาแหวน ทยาลุโก วัดป่าหนองนกกด ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร

พระครูสันตยาภิวัฒน์ (หลวงตาแหวน ทยาลุโก) เป็นปฐมเจ้าอาวาสจาก พ.ศ.๒๕๔๖ ถึงปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านั้นครูบาอาจารย์ได้เข้ามาปฏิบัติธรรม และแยกย้ายกันออกไปปฏิบัติธรรมในสถานที่ต่างๆ อาทิ พระอาจารย์เสริฐ ซึ่งในภายหลังเป็น เจ้าคณะอำเภอโซ่พิสัย

หลวงตาแหวน นามเดิมชื่อว่า วสันต์ นามสกุล อ่อนสุระทุม เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๗ ปีวอก ณ บ้านอุ่มเหม้า ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร

โยมบิดามีนามว่า นายบัวพา โยมมารดามีนามว่า นางบุญพา มีพี่น้อง ๗ คน ผู้ชาย ๔ คน ผู้หญิง ๓ คน หลวงพ่อเป็นคนสุดท้องน้องสุดท้าย หรือเป็นลูกคนที่ ๗ ของครอบครัวนั่นเอง

หลวงตาแหวน ทยาลุโก วัดป่าหนองนกกด ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร

สำหรับชื่อของ หลวงตาแหวน นั้น ตามทะเบียนสำมะโนประชากรหรือทะเบียนราษฎร์ พ่อแม่ตั้งชื่อว่า วสันต์ นามนี้เป็นมงคลนาม และ ชื่อทางราชการ ผู้คนไม่ค่อยรู้จักแน่นอน เนื่องจากประวัติการปฏิบัติธรรมต่างๆ นั้นยังไม่เคยออกสู่สายตาชาวบ้าน เพิ่งจะเปิดเผยที่นี้เป็นครั้งแรก และ ท่านมีข้อแม้ว่าประสบการณ์อภินิหารต่างๆ นั้นไม่ต้องลงหรอกไม่งาม ซึ่งผู้เขียนได้กราบนมัสการท่านกลับว่า ควรจะมีบ้างตามที่คนเขียนเห็นสมควร สำหรับชื่อ แหวน นั้นเป็นชื่อเรียกเล่นๆ กันมาแต่เด็กๆ จนเรียกติดปากญาติโยมมาจนถึงปัจจุบัน หากไปถามหา หลวงตาแหวน วัดป่าหนองนกกด ทุกคนรู้จักหมดทั้ง จ.สกลนคร หากแต่ว่าใครไปถามหา หลวงพ่อวสันต์ สงสัยว่าจะไม่มีคนรู้จักนามนี้เช่นกัน เพราะผู้คนที่ไปหานั้นจะพูดกันเสียงเดียวว่าไปกราบ หลวงตาแหวน พระอาจารย์แหวน บ้านหนองนกกด กันทั้งสิ้น ซึ่งจากนี้ไปผู้เรียบเรียงบทความจะเรียกนามท่านว่า หลวงตาแหวน เพื่อสะดวกในการเขียน

สำหรับ หลวงตาแหวน นั้นท่านมีภารกิจนิมนต์ไม่ค่อยว่าง เช้าออกไปฉันเช้า บวชนาค โดยเฉพาะวันที่ผู้เขียนไปกราบท่าน เช้าออกไปบวชนาค กลับถึงวัดไปสวดมนต์ที่หนองคาย ช่วงเย็นๆ ค่ำๆ กลับมาเจริญพระพุทธมนต์ที่ จ.สกลนคร ตามด้วยใน อ.พังโคน หลวงตาแหวน ท่านปรารภกับผู้เรียบเรียงบทความว่า กลับถึง วัดป่าหนองนกกด คงเที่ยงคืน เนื่องจาก หลวงตาแหวน เป็นผู้มีเมตตาสูง ในวัดนั้นจะคลาคล่ำไปด้วยญาติโยมที่มาขอบารมีจากท่าน เจิมรถ รดน้ำมนต์ มานิมนต์ไปในกิจต่างๆ ตลอด เนื่องจากท่านเป็นพระเถระที่มีเมตตาเป็นที่ตั้ง ยิ้มแย้มตลอดเวลาขณะปฏิสันถารอยู่กับญาติโยมทุกคน ไม่เลือกหน้าว่าคนนั้นจะมาจากไหน ความเป็นอยู่อย่างไร เพราะท่านมีเมตตาเป็นที่ตั้งกับทุกคน

การศึกษา
การศึกษาเบื้องต้น หลวงตาแหวน ท่านเรียนหนังสือจบชั้น ป.๔ ที่ โรงเรียนบ้านอุ่มเหม้า ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ในหมู่บ้าน แล้วออกมาช่วยงานบ้านระยะหนึ่ง
เมื่อเรียนจบภาคบังคับ (ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔) ท่านก็ออกมาช่วยบิดาและมารดาทำนา ทำไร่ ตามวิถีชีวิตชาวชนบทอีสาน และได้ศึกษาต่อ จนจบ ม.ศ.๓

บรรพชา
พ.ศ.๒๕๐๐ ขณะนั้นอายุได้ ๑๒ ปี จึงได้บวชเป็นสามเณรที่ วัดอิสระธรรม ต.วาใหญ่ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร โดยมี หลวงปู่สีลา อิสฺสโร วัดอิสสรธรรม เป็นพระอุปัชฌาย์ สำหรับ หลวงปู่สีลา นั้นท่านเป็นศิษย์สาย พระอาจารย์มั่น รุ่นเดียวกับ พระอาจารย์ฝั้น เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้วได้ศึกษาพระธรรมพระวินัยปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อสิลา ๒ พรรษา ท่านสอนการภาวนาว่า มรณัง คือ การระลึกความตายตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ตั้งตนอยู่ในความประมาท หลวงพ่อสิลาแม้จะเป็นศิษย์ในสาย พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น ก็จริงอยู่ ท่านจะไม่ค่อยสอนคำภาวนาว่า พุทโธ เป็นการภาวนา แต่จะให้ภาวนาว่า มรนัง คือระลึกถึงความตาย เป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท อยู่กับหลวงปู่สีลา ๒ พรรษา แล้วไปจำพรรษาที่จังหวัดหนองคาย ก่อนที่จะเข้ากรุงเทพฯ

หลังจากนั้นท่านได้เข้าศึกษาและสอบเทียบวัดระดับการศึกษาที่ วัดพระยาธรรม ธนบุรี ระดับชั้นประถมตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น (ป.๗ และ ม.ศ.๓)
พ.ศ.๒๕๐๐ สอบได้นักธรรมตรี พ.ศ.๒๕๐๓ สอบได้นักธรรมชั้นโท พ.ศ.๒๕๐๖ สอบได้นักธรรมชั้นเอก หลวงตาแหวน เคยเรียนบาลีเช่นกัน แต่สอบไม่ผ่าน เพราะในยุคนั้นต้องสอบเปรียญ ๓ ประโยคทีเดียว ไม่แบ่งว่าที่มหา ป.ธ.๑-๒ เช่น ปัจจุบัน แล้วจึงสอบ ป.ธ.๓ ได้ เรียกว่า ท่านมหา ท่านจึงไม่ได้เรียนต่อ มุ่งปฏิบัติธรรมนั่งกรรมฐานเพียงอย่างเดียว เพราะในยุคนั้นต้องเรียนบาลีไวยากรณ์และแปลธรรมบทได้ จึงสอบ ป.ธ.๓ ได้

หลวงตาแหวน ทยาลุโก วัดป่าคลองกุ้ง ปี พ.ศ.๒๕๐๙

อุปสมบท
อายุได้ ๒๐ ปี ท่านก็ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ ณ วัดจันทนาราม อ.เมือง จ.จันทบุรี โดยมี พระเทพสุทธิโมลี วัดจันทนาราม จ.จันทบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์พระคำพันธ์ ปญฺญาวโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์พระครูสมุห์ทองสุก สุจิตฺโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังจากนั้นได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับครูบาอาจารย์และปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดตลอดมา

หลวงตาแหวน ทยาลุโก วัดป่าหนองนกกด ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร

ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ หลวงตาแหวน ทยาลุโก จึงได้ปลีกวิเวกและธุดงค์ ภาคเหนือ ,ภาคใต้,ภาคตะวันออก พระสายกรรมฐานที่เคยได้ศึกษาธรรม อาทิ เช่น
หลวงปู่สีลา อิสฺสโร ,
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท
หลวงปู่อุ่น อุตตโม,
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ฯลฯ

ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้ออกไปสร้างที่พักสงฆ์ หนองนกกด ได้พัฒนาที่พักสงฆ์แห่งนี้ จนได้รับการตั้งเป็นวัด ถูกต้องตามกฎกรรมการศาสนา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปีนั้นด้วย ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาส วัดหนองนกกด และเป็นเจ้าคณะตำบลพังโคนเขต ๑๑ (ธ) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑

หลวงตาแหวน ทยาลุโก วัดป่าหนองนกกด ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร

ปัจจุบันนี้ องค์หลวงตาแหวน ทยาลุโก สิริอายุ ๗๖ ปี พรรษา ๕๕ พำนักจำพรรษาอยู่ที่ วัดป่าหนองนกกด บ้านหนองนกกด ตำบลไฮหย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร

หลวงตาแหวน ทยาลุโก วัดป่าหนองนกกด อ.พังโคน จ.สกลนคร

ประวัติวัดป่าหนองนกกด
วัดป่าหนองนกกด ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ หมู่บ้านหนองนกกด ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิกาย สร้างเป็นสำนักสงฆ์ หรือที่พักพระในฝ่ายอรัญญวาสีของ พระอาจารย์เสาร์ และ พระอาจารย์มั่น ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ บนเนื้อที่ ๓๒ ไร่ ผู้มอบถวายที่ดินสร้างเป็นสำนักสงฆ์คือ คุณแม่บุญชู ทองประทุม ในขณะนั้นสำนักสงฆ์แห่งนี้มีเพียงกุฏิหลังเล็กๆ สำหรับพระหลบแดดบังฝนเท่านั้น หลังคามุงด้วยหญ้าคาเพื่อการเจริญภาวนา ต่อมาสร้างกุฏิหลังใหญ่ สำหรับพระหนุ่มเณรน้อยขึ้นอีกหลัง ในยุคนั้น พระอาจารย์เสริฐ ได้มาพักและจำพรรษาในสำนักสงฆ์แห่งนี้ ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะอำเภอโซ่พิสัย และได้สร้างขึ้นเป็นวัดเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ ระบบนิเวศน์ของวัดตั้งอยู่บนเกาะกลาง หมู่บ้านหนองนกกด ด้านทิศตะวันออกคือ บึง หรือสระปลาโดหรือ ปลาชะโดนั่นเอง ส่วนด้านทิศตะวันตกบึงหรือ สระหนองควายด่อน หรือภาคกลางเรียกว่า หนองควายเผือก นั่นเอง ส่วนหนองนกกดนั้น เป็นบึงขนาดเล็กเนื้อที่ของบึงแห่งนี้ประมาณ ๑ ไร่โดยประมาณ เมื่อเบิกป่าฝ่าดงผู้คนเข้าอยู่บ้านหนองนกกดนั้นไม่เกิน ๑๐ หลังคาเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ ผู้ที่ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในสถานที่แห่งนี้ จะเป็นคนแถบบ้านอุ่มเหม้า เนื่องจากอยู่ห่างออกไปไม่มากนัก การเดินทางไป วัดป่าหนองนกกด เมื่อผ่าน อ.พังโคน เลี้ยวเข้าเส้นทางไปบ้านอุ่มเหม้า จะมีป้ายบอกทางเข้า วัดป่าหนองนกกด อยู่ทางขวามือให้เลี้ยวเข้าไปอีกประมาณ ไม่น่าจะเกิน ๕-๖ กม. ก็จะถึง วัดป่าหนองนกกด หรือจะโทรศัพท์สอบถามเส้นทางที่ ๐๘-๕๖๙๒-๗๒๓๙ จาก พระอาจารย์บุญปอง

หนองนกกด แม้จะเป็นหนองน้ำขนาดไม่ใหญ่นัก แต่เป็นแหล่งที่มีพันธุ์ปลาน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์หลากหลายพันธุ์ปลานานาชนิด ในขณะนั้นมี นกกระปูด ซึ่งชาวบ้านภาษาพื้นเมืองเรียกว่า นกกด หาจับปลากินชุกชุมมาก ในขณะนั้นจึงเรียกบึงแห่งนั้นหรือสระแห่งนั้นว่า หนองนกกด ตราบเท่าปัจจุบัน เมื่อผู้คนย้ายถิ่นเข้าไปตั้งรกรากในที่แห่งนั้นจึงเรียกว่า บ้านหนองนกกด ตามชื่อหนองหรือบึงแห่งนั้นไปโดยปริยาย