ประวัติและปฏิปทา สาธุใหญ่จันเพ็ง จันทะสาโร
วัดผานม หลวงพระบาง สปป.ลาว

สาทุจันเพ็ง จันทสาโร หรือ สาธุใหญ่จันเพ็ง จันทะสาระมหาเถระ อดีตเจ้าอธิการวัดป่าผานม มหาเถระแห่งหลวงพระบาง สปป.ลาว ท่านเป็นเกจิอาจารย์ผู้มีความชำนาญทั้งในด้านวิชาโหราศาสตร์ ไสย์ศาสตร์และแพทย์แผนโบราณ
◉ ชาติภูมิ
สาธุใหญ่จันเพ็ง จันทะสาโร ท่านถือกำเนิดเมื่อเดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2443 หรือ ปี ค.ศ.1900 ณ บ้านนาแดด เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ตามประวัติกล่าวว่า บิดา-มารดาของท่านเป็นชนเผ่าไทลื้อ ไตลื้อ หรือ ชาวลื้อ ซึ่งบรรพบุรุษของท่านได้อพยพมาจากเขตสิบสองปันนา
◉ การอุปสมบท
เมื่อมีอายุครบ 15 ปี ได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร หลังจากนั้นได้มีโอกาสไปศึกษาร่ำเรียนทางด้านพระปริยัติธรรม ที่จังหวัดลำปาง ประเทศไทย และได้อุปสมบท ณ ที่นั่น โดยไม่ปรากฏชื่อวัดและพระอุปัชฌาย์ ทราบเพียงว่าหลังจากเป็นพระภิกษุแล้ว ได้จำพรรษาและศึกษากัมมัฏฐานที่วัดนั้นเป็นเวลาพอสมควร
จากนั้นกราบลาพระอุปัชฌาย์เพื่อออก เดินรุกขมูลเจริญกัมมัฏฐานไปในป่าเพียงลำพัง โดยมุ่งหน้ากลับคืนสู่ภูมิลำเนาเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว
หลังจากนั้นด้วยเหตุใดไม่ทราบ ไม่ปรากฏข้อมูล ท่านได้ลาสมณเพศไปเป็นคฤหัสถ์ ชีวิตสมรส ท่านได้แต่งงานมีครอบครัวกับสาวคนบ้านซาด บ้านนาเดือย ต่อมาภรรยาของท่านได้คลอดลูกแล้วเสียชีวิต ทำให้ท่านเห็นภัยในวัฎฏสงสารเห็นภัยที่เกิดจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ขึ้นมา ทั้งยังเกิดความสลดสังเวชใจเป็นอย่างยิ่งว่า กายของคนเรานี้เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี เป็นรังแห่งโรคเป็นที่เกิดแห่งทุกข์ เมื่อตระหนักได้ดังนั้น สาธุใหญ่จันเพ็ง จันทะสาโร ท่านจึงตัดสินใจกลับเข้าสู่เพศบรรพชิตอีกครั้ง โดยตั้งใจปฏิบัติธรรมเรื่อยมา โดยได้จำพรรษา ณ วัดสังคะโลก ขณะนั้นวัดผานม ซึ่งเป็นวัดบ้านของคนเผ่าไทลื้อ ไตลื้อ หรือ ชาวลื้อ ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เลย บรรดาชาวบ้านจึงได้ไปนิมนต์ท่านสาทุจันเพ็ง จันทสาโร มาจำพรรษาที่วัดผานม
สาธุจันเพ็ง จันทสาโร ท่านได้นำคณะพระสงฆ์สามเณรและชาวบ้านก่อกำแพงวัดด้วยดินเผาจนแล้วเสร็จ ดินเผาที่เหลือจากการก่อกำแพงวัด ท่านได้นำมาก่อสร้างเป็นกุฏิแบบลาว-ฝรั่งประยุกต์ โดยได้ต้นแบบมาจากท่านสาธุใหญ่คำฝั้น สิระสังวะระมหาเถระ วัดสุวันนะคีลี หลวงประบาง ประเทศลาว ซึ่งเป็นหลังที่ 2 ที่วัดผานม และหลังที่ 3 ที่วัดเซียงเงิน สาธุจันเพ็ง จันทสาโร ท่านได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ สิม โบสถ์หรือพระอุโบสถ ของวัดผานมโดยยกให้สูงขึ้นจากเดิม
สาธุใหญ่จันเพ็ง จันทะสาระมหาเถระ เป็นพระที่มีเชื้อสายไทลื้อ มีความรู้ความชำนาญในด้านงานช่าง ท่านได้บูรณะปฏิสังขรณ์ วัดวาอาราม พระพุทธรูป แต่คนทั่วไปในสมัยนั้นและปัจจุบัน รู้จัก ท่านสาธุจันเพ็ง จันทสาโร เพราะท่านมีชื่อเสียงทางด้าน เป็นพระเกจิที่มีคาถาอาคม มีความชำนาญทั้งในด้านวิชาโหราศาสตร์ ไสย์ศาสตร์และแพทย์แผนโบราณ
ผลงานของท่านเมื่อสมัยยังดำรงขันธ์อยู่นั้น สาธุใหญ่จันเพ็ง จันทะสาโร ท่านเป็นผู้ช่วยคอยควบคุมการบูรณะพระธาตุหมากโม วัดวิซุนนะราช หลวงพระบาง , บูรณะพระเจ้าแสนสุก วัดแสนสุขาราม หลวงพระบาง ,สร้างพระเจ้าองค์หลวง วัดธาตุหลวง และอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน
◉ มรณะภาพ
สาธุใหญ่จันเพ็ง จันทะสาโร ท่านได้ถึงแก่มรณภาพ ณ วัดผานม หลวงพระบาง ประเทศลาว เมื่อปี ค.ศ.1978 วันศุกร์เดือนแปด หรือ ตรงกับวันศุกร์ที่ 21 กรกฏาคม พ.ศ.2521 สิริอายุรวม ได้ 77 ปี 7 เดือน 17 วัน





◉ วัตถุมงคล
สาธุใหญ่จันเพ็ง จันทะสาโร ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้มากมายหลายอย่าง ให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาที่ใกล้ชิด ชาวบ้านใกล้เคียง รวมไปถึงบรรดาข้าราชการทหาร ตำรวจ ชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้น เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งสมัยนั้นประเทศลาวอยู่ในยุคสงคราม ในการสร้างวัตถุมงคลแต่ละครั้งของ ท่านสาธุใหญ่จันเพ็ง จันทะสาโร นั้นบางครั้งท่านก็ทำและปลุกเสกเพียงลำพังองค์เดียว แต่บางครั้งก็ร่วมกันสร้างและปลุกเสกร่วมกันหลายคณาจารย์ กับสาธุใหญ่หลายๆองค์ในหลวงพระบางสมัยนั้น อาทิ สาธุใหญ่คำฝั้น วัดคีลี, สาธุใหญ่พูมมี วัดหนองสีคูนเมือง, สาธุใหญ่คำพัน วัดโคมขวาง ที่กล่าวมานี้เป็นคณาจารย์ ที่ได้ร่วมปลุกเสกวัตตถุมงคลร่วมกันกับท่าน สาทุใหญ่จันเพ็ง จันทะสาโร เป็นประจำ นอกจากนี้ก็ยังมีสาธุใหญ่องค์อื่นๆ ที่ยังไม่ได้เอ่ยนาม



สำหรับมวลสารต่างๆ ที่ ท่านสาทุจันเพ็ง จันทะสาโร นำมาสร้างเป็นวัตถุมงคลของท่านในสมัยนั้น มีมากมายหลายอย่าง เป็นต้นว่า การเขียนผง ลบผงใส่กระดานดำ เป็นผงพุทธคุณเป็นส่วนผสมหลัก หรือเรียกว่าเป็นผงวิเศษก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังได้ผสมว่านยาต่างๆ ตามสูตรของท่าน รวมไปถึงไม้มงคลต่างๆ ที่ผสมลงไปเช่นกัน ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นป่าช้างดงเสือ มวลสารต่างๆจึ่งหาได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็น กฤษณา, กาฬพฤกษ์, ใกล้แสงเทียน และอื่นๆ ตามสูตรและกรรมวิธีของท่าน ที่สำคัญคือ ฤกษ์พานาทีไม่ให้มีการคลาดเคลื่อนเด็ดขาด

นอกจากพระผงต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ ท่านสาธุใหญ่จันเพ็ง จันทะสาโร แล้ว สุดยอดวิธีการสร้างเครื่องรางของท่านนั่นคือ “ยันต์น้ำ” (ตะกรุดใต้น้ำ) กล่าวคือในปีหนึ่งๆ จะทำได้เพียงครั้งเดียว และในแต่ละครั้งไม่เกิน 10 ดอก เท่าที่ปรากฏมีเนื้อทองคำ เงิน ทองเหลือง ทองแดง ซึ่งยันต์้น้ำนี้ กรรมวิธีการสร้างจะต้องลงไปจารอักขระอยู่ในน้ำ ในวันขึ้น 15 ค่ำเท่านั้น และจะต้องมีพระเกจิคณาจารย์นั่งปรกป้องกันอีก 4-5 องค์ เมื่อจารอักขระเสร็จจึงยื่นขึ่นมาให้ถือเป็นอันว่าใช้ได้ ตามประวัติเล่าว่า สาธุใหญ่ ที่เคยลน้ำจารอักขระ “ยันต์น้ำ” ในสมัยนั้น มีเพียง สาทุใหญ่จันเพ็ง วัดผานม และ สาทุใหญ่คำพัน วัดโคมขวาง เท่านั้น ส่วนสาธุใหญ่องค์อื่นๆ เพียงนั่งปรกสวดป้องกันเท่านั้น

วัตถุมงคล ที่ชึ้นชื่อของ ท่านสาธุใหญ่จันเพ็ง จันทะสาโร วัดผานม อีกอย่างหนึ่งนั้นคือ ราหูแกะจากกะลาตาเดียว ทาทอง จารอักขระลาว ทั้งหน้าและหลัง (เหตุใดจึงต้องเป็นกะลามะพร้าว เพราะราหูชอบสีดำ อีกทั้งกะลาตาเดียวยังเป็นวัตถุอาถรรพ์) ถือว่าเป็นสุดยอดวิชาของท่าน ที่สืบทอดมาแต่สมัยโบราณ และที่เมืองหลวงพระบางนี้ เป็นต้นกำเนิดวิชาสายนี้มาหลายร้อยปี ก่อนถ่ายทอดไปสู่นครหลวงเวียงจันทร์ มาตั้งแต่สมัยที่เป็นอาณาจักรล้านช้าง แล้วถ่ายทอดมายังอาณาจักรล้านนาประเทศไทย ส่วนวิชาราหูของทางหลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา นั้นได้รับการถ่ายทอดมาจากทางนครหลวงเวียงจันทร์ สปป.ลาวเช่นกัน สำหรับพุทธคุณของ ราหูแกะจากกะลาตาเดียว สาธุใหญ่จันเพ็ง จันทะสาโร นั้นชาวลาวเชื่อกันว่าถ้าใครได้ครอบครองราหูแกะจากกะลาตาเดียวของท่านจะช่วยค้ำคูณชีวิตและครอบครัวตัวเองไม่ให้ตกต่ำ






นอกจากราหูกะลาแกะแล้ว ยังมีพระเครื่อง และเครื่องรางอย่างอื่นเป็นอาทิ เช่น พระปิดตามหาอุดกะลาแกะ ,พระปิดตาฐานผ้าทิพย์เนื้อผงทาทอง หลังจารอักระตัวธรรมลาว, พระสังกัจจายน์เนื้อผง ,พระเจ้า 5 พระองค์เนื้อผงคลุกรัก ,พระปิดตา 28 พระองค์เนื้อผงทาทอง หลังจารอักขระตัวธรรมลาว, พระพุทธซุ้มเรือนแก้วเนื้อผงคลุกรัก ทาทอง หลังจาร ,พระพุทธซุ้มปราสาทเนื้อผง ,พระนาคปรกเนื้อผง เป็นต้น และยังมีอีกหลายพิมพ์ คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 50 พิมพ์ และอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ตะกรุดต่างๆ, เม็ดประคำเนื้อผงใบลาน ,งาแกะ ,เขี้ยวเสือ ,ผ้ายันต์ เครื่องรางจากของทนสิทธิ์ตามธรรมชาติ เป็นต้น





จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่พระเครื่องของท่าน สาธุใหญ่จันเพ็ง จันทะสาโร วัดผานม เนื้อผงนั้น จะมีการคลุกรักทาทอง ด้านหลังจะมีรอยจารอักขระตัวธรรมลาวแทบทุกองค์ ซึ่งมีความเข้มขลังเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีบรรดาพวกพระพุทํธงาแกะ ปิดตางาแกะ ตะกรุด พระปิดตาเนื้อโลหะต่างๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ และเครื่องรางอื่นๆ อีกมาก
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : พระเมืองปทุม ,เพจว่านจำปาสัก ศึกษาและสะสม
https://www.prapantip.com/shop/shop/100814/1/พระเมืองปทุม