ประวัติและปฏิปทา
พ่อท่านแต่ง นันทสโร
วัดนันทาราม
อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี
พ่อท่านแต่ง นันทสโร วัดนันทาราม พระเกจิคณาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมรูปหนึ่ง มีความรู้ทางด้านไสยศาสตร์มากมายแห่งเมืองสุราษฎร์ฯ
◉ ชาติภูมิ
พระสมุห์แต่ง นนฺทสโร (พ่อท่านแต่ง) วัดนันทาราม นามเดิมชื่อ “แต่ง สังข์เทพ” เกิดเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘/๘ ปีมะโรง (เดือน ๘ สองหน) ณ บ้านน้อยศรี (น้อยสี) แขวงโฉลก เมืองไชยา ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ ม.๓ ต.ท่าเคย อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี บิดาชื่อ “นายแช่ม สังข์เทพ” และมารดาชื่อ “นางกิม สังข์เทพ” มีพี่สาว ๑ คน ชื่อ “นางชู แก้วชำนาญ”
◉ ชีวิตในวัยปฐม
บิดามารดาได้ส่งท่านให้เข้าศึกษาอักขระสมัย ขอม-ไทย ในสำนักเรียนของพระทองพิม ภทฺทมุนี (หลวงพ่อสมุห์ทองพิม) วัดหัวสวน (สมัยนั้นคือวัดริ่ว ตั้งอยู่ทิศใต้ถัดจากวัดหัวสวนในปัจจุบัน) จนจบหลักสูตรอ่านออกเขียนได้
◉ บรรพชา
เมื่อเรียนจบหลักสูตรอักขระสมัยแล้วได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดหัวสวน โดยพระทองพิม (หลวงพ่อสมุห์ทองพิม) เป็นผู้ให้ศีลนำทางสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ต่อมาได้ลาสิกขาจากสามเณรดำรงชีวิตฆราวาสช่วยครอบครัวทำมาหากิน
◉ อุปสมบท
เมื่ออายุได้ ๒๘ ปี พ.ศ.๒๔๕๑ ณ พัทธสีมาวัดหัวสวน โดยมี พระครูพิศาลคณะกิจ (จ้วน) เจ้าคณะแขวงท่าข้าม(พุนพิน) วัดพุนพินใต้ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดเกตุ เกสโร เจ้าคณะแขวงลิเล็ด วัดเขาศรีวิชัย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสมุห์นวล มณีโสภโน วัดประดู่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “นนฺทสโร” แปลว่า “ผู้มีความยินดียิ่งในธรรม”
◉ เล่าขานพ่อท่านแต่งวัดนันทาราม
เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วท่านได้จำพรรษา ณ วัดหัวสวน ศึกษาวิชาภาษาไทยเพิ่มเติมจนจบหลักสูตรชั้นมูล ๓ ได้เป็นครูช่วยสอนในโรงเรียนประชาบาลควบคู่ไปกับการศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัย และวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงพ่อทองพิม ภทฺทมุนี จนมีความรู้พอตัว ต่อมาได้ไปจำพรรษา ณ วัดอัมพาราม (วัดม่วง) ได้ศึกษาวิชาเพิ่มเติมจากพ่อท่านนุ้ย สุวณฺโณ เช่นวิชาโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และวิชาแพทย์แผนโบราณ วิชารักษาคนโดนของ(คุณไสย) ศึกษาจนมีความรู้ความชำนาญดีแล้วได้ติดตามพระอาจารย์ทั้ง ๒ ออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆเช่น พุทธสถานในประเทศพม่า และดินแดนพุทธภูมิประเทศอินเดีย เป็นต้น กลับมาจากธุดงค์จำพรรษาที่วัดหัวสวนอยู่ระยะหนึ่ง
ต่อมาท่านได้กราบลาพระอาจารย์เพื่อที่จะออกธุดงค์อีกครั้ง โดยธุดงค์ไปเพียงผู้เดียว โดยเดินทางมุ่งไปยังอำเภอพนมในปัจจุบัน เส้นทางที่ท่านธุดงค์ เช่น ป่าแถบในมุย ป่าแถบอำเภอคีรีรัฐนิคมและอำเภอบ้านตาขุน จนชาวบ้านเกิดความศรัทธาได้นิมนต์ท่านให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสองพี่น้อง อ.พนม ท่านได้บริหารงานวางแผนผังการก่อสร้างวัดได้สวยงามเหมาะสมมาก เป็นเจ้าอาวาสได้ ๓ ปี
ต่อมาทางวัดใหม่ขี้ลม มีพระอธิการปาน อานนฺโท เป็นเจ้าอาวาสอยู่ แต่ท่านชรามาก ชาวบ้านและญาติๆ ของท่านได้ติดต่อวิงวอนนิมนต์ท่านจากวัดสองพี่น้อง อ.พนม ให้มาช่วยปกครองและพัฒนาวัดใหม่ขี้ลม ท่านก็รับนิมนต์ เดินทางกลับมาวัดใหม่ขี้ลม ต่อมาพระอธิการปาน มรณภาพ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่ขี้ลม
วัดใหม่ขี้ลม เป็นชื่อเรียกของชาวบ้านตามลักษณะภูมิประเทศ คือ วัดตั้งอยู่กลางทุ่งนา มีลมพัดเชี่ยว ชาวบ้านเรียกวัดขี้ลมบ้าง วัดใหม่บ้าง ท่านได้พัฒนาวัดใหม่ขี้ลมจนเจริญขึ้นในหลายๆด้าน สร้างอุโบสถหลังใหม่ทำด้วยไม้ยกสูงโปร่งไม่มีผนัง สร้างกุฏิ ศาลา ปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ ต่อมาท่านได้ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนขื่อวัด โดยใช้ชื่อฉายา นนฺทสโร ของท่านเป็นเครื่องพิจารณาต่อพระเทพรัตนกวี (เกตุ ธมฺมวโร) วัดไตรธรรมารามพระอารามหลวง เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เปลี่ยนชื่อวัดจาก วัดใหม่ขี้ลม เป็น “วัดนันทาราม”
พระสมุห์แต่ง นนฺทสโร ท่านเป็นที่เคารพศรัทธานับถือของคนทั้งปวง ท่านเป็นพระที่สมถะ ถ่อมตัว ไม่โอ้อวดวิชา มีความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเกิดจากการบำเพ็ญสมณธรรม โดยเคร่งครัดในธรรมวินัย บวกกับการปฏิบัติธรรมจนเกิดอภิญญา โดยสำเร็จธรรมในขั้นสูง ท่านมีวาจาสิทธิ์ รอบรู้โหราศาสตร์ ทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ เป็นที่กล่าวขานและจดจำของบุคคลทั่วไป ถึงอภิญญาภินิหารที่ประสบพบเจอ ท่านมีความสามารถหลายอย่าง รอบรู้สรรพวิชา เช่น การรักษาโรคด้วยวิธีแผนโบราณโดยใช้สมุนไพร วิชาดูฤกษ์ยาม วิชาการรักษาผู้โดนคุณไสย เป็นต้น ซึ่งท่านก็ได้สงเคราะห์แก่บรรดาชนคนทั่วไปที่มาขอพึ่งบารมี
พ่อท่านแต่ง ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีจิตใจดี มีเมตตา เป็นกันเองกับทุกชนชั้น ท่านมีความสามารถพิเศษด้านการแต่งกลอน ซึ่งกลอนที่ท่านประพันธ์ขึ้นจะเป็นกลอนประเภท หนังตะลุง โนรา และมีผู้เอาไปใช้ทำการแสดง ด้วย ซึ่งเป็นความสามารถด้านภาษาไทยที่ท่านได้ศึกษาไว้ตั้งแต่พรรษาต้นๆ อีกทั้งเป็นการแสดงการละเล่นของท้องถิ่นภาคใต้ และในสมัยนั้น นายหนังตะลุง และนายโรงโนรา จะมาหาท่านเป็นประจำ เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ เพราะท่านมีความขลัง อีกทั้งยังทำการแสดงหนังตะลุง และโนรา ขึ้นในวัดบ่อยๆ เพื่อเป็นการแก้บน หรือเพื่อตอบแทนบุญคุณของท่าน ชาวบ้านใกล้เคียงก็ได้มาชมอยู่บ่อยครั้ง
ด้านสาธารณูปการท่านก็มีมากมาย เช่น จัดตั้งสำนักเรียนพระธรรมขึ้นในวัดนันทาราม เพื่อให้ภิกษุและสามเณรได้เรียนวิชาธรรม โดยท่านเป็นครูผู้สอนนักธรรม สร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นที่วัดนันทาราม และ บ้านท่าแซะ เป็นผู้บุกเบิกสร้างสำนักสงฆ์บ้านท่าแซะโดยร่วมกับพระครูประณม ปภสฺสโร วัดบางคราม จนพัฒนามาเป็นวัดท่าแซะ อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน ท่านยังร่วมสร้างถนนและสะพานข้ามคูคลองต่างๆในพื้นที่อำเภอท่าฉาง อีกทั้งยังช่วยอนุเคราะห์ยาสมุนไพรสามัญโดยแท้เพื่อรักษาโรคและอาการต่างๆโดยท่านอนุเคราะห์แก่ประชาชนโดยทั่วไป เป็นต้น นับว่าท่านคือพระของประชาชนคนท่าฉางโดยแท้
◉ ตำแหน่ง/สมณศักดิ์
วันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนันทาราม ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ ฐานานุกรม ที่ พระสมุห์แต่ง นนฺทสโร
◉ มรณภาพ
พ่อท่านแต่ง นนฺทสโร ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีอายุยืนเกินร้อยปี โดยถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา ณ กุฏิของท่านวัดนันทาราม เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๔ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีวอก สิริอายุ ๑๐๑ ปี ๗๓ พรรษา ตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่ระยะหนึ่ง สังขารท่านไม่เน่าไม่เปื่อย แห้งสนิท จากนั้นได้นำสรีระสังขารบรรจุโดยโบกปูนทับ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๔ ต่อมา พ.ศ.๒๕๕๕ ได้ย้ายสังขารท่านออกมาบรรจุใส่ในโลงแก้ว ประดิษฐานในมณฑปตราบจนปัจจุบัน
◉ ด้านวัตถุมงคล
พ่อท่านแต่ง นนฺทสโร ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงด้านการสร้างตะกรุดพิสมร ซึ่งท่านสร้างมานาน โดยใช้ตะกั่ว มีหลายขนาด ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น ตะกรุดประจำวันทั้ง ๗ มหาอุด ฝนแสนห่า พิชัยสงคราม คู่ชีวิต สาริกา เป็นต้น ซึ่งท่านจะเป็นผู้จารและอธิษฐานจิตปลุกเสกด้วยตัวท่านเอง ต่อมาเมื่อท่านชรา จะมีลูกศิษย์คอยจารให้แล้วให้ท่านปลุกเสก ลูกศิษย์ผู้เคารพศรัทธาได้นำไปใช้ เกิดประสบการณ์มากมายโดดเด่นในทุกๆด้าน โดยเฉพาะด้านมหาอุด คงกระพัน แคล้วคลาดอันตราย นอกจากนี้ยังมีวัตถุมงคลประเภทเหรียญที่สร้างขึ้นเป็นรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ รูปเหมือนหล่อโบราณ พ.ศ.๒๕๐๘ แหวน พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นต้น อีกทั้งรูปหล่อเหมือนนั่งสมาธิเท่าองค์จริงที่ประดิษฐานในมณฑปเบื้องหน้าสังขารท่านนั้นสร้างในสมัยท่านยังดำรงสังขารอยู่ กล่าวคือ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ พร้อมกับเหรียญรุ่น ๒ ของท่าน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณจักรกฤษณ์ แขกฮู้ ผู้เรียบเรียง