ตำนาน ประวัติ
หลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่น
วัดสังขลิการาม (บ้านโซ่)
อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ
ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า หลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่น สร้างในสมัยเชียงแสนเป็นราชธานี ซึ่งประมาณ ๘๐๐ ปีมาแล้ว เจ้าอนุวงษ์แห่งนคร เวียงจันทน์ได้อัญเชิญพระเจ้าแสนสามหมื่น มาประดิษฐ์สถานไว้ในหอไตร (เวียงจันทน์) เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว
พุทธลักษณะ พระเจ้าแสนสามหมื่น
๑. ความกว้างของบัลลังก์ ชั้นที่ ๑ ๑๕ นิ้ว
๒.ความกว้างของบัลลังก์ ชั้นที่ ๒ ๑๗ นิ้ว
๓. วัดรอบบัลลังก์ ๓๒ นิ้ว
๔. หน้าตักปฏิดากรณ์ ๑๑ นิ้ว
๕. วัดรอบด้วรวมทั้งสองแขน ๑๗.๕ นิ้ว
๖. วัดรอบคอ ๖.๕ นิ้ว
๗. ใบหูยาว ๓ นิ้ว
๘. หน้าผากกว้าง ๒.๕ นิ้ว
๙. หน้าผากจรดปลายคาง ๓ นิ้ว
๑๐.ยอดเศียรยาว ๔ นิ้ว
๑๑. จากบัลลังก์ชั้นที่ ๑ ถึงเศียรสูง ๓๒ นิ้ว
๑๒. หน้าอกระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง ๒ นิ้ว
ลักษณะทั้งหมดนี้วัดไว้เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อปกป้องการสูญหาย กรรมการวัดทั้งหมดและ ชาวบ้านโซ่ ได้พร้อมกันวัดไว้เพื่อเป็นหลักฐานเพื่อเป็นอนุสรณ์ของพระพุทธศาสนาต่อไป
หลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่น ได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์มาอยู่วัดนิโคตร (วัดมณีโคตร) บ้านปากห้วยหรือบ้านปากน้ำ ปัจจุบัน คืออําเภอโพนพิสัย ซึ่งเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๒๓ ชาวบ้านโส่หรือชาวโซ่ ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐาน บ้านเรือนอยู่ในบ้านโซ่ปัจจุบัน ประมาณ ๒๐-๓๐ หลังคาเรือน
ครั้นต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ชาวบ้านปากน้ำ คุ้มวัดจุมพล อําเภอโพนพิสัยในปัจจุบัน ได้อพยพครอบครัวมาอยู่ร่วมกับชาวบ้านโส่ หรือ ชาวบ้านโซ่ ได้ตั้งบ้านเรือน อยู่ริมห้วยซ้ำ ปัจจุบันคือท้ายอ่างเก็บน้ำด้านทิศตะวันตก
ในเวลาต่อมาเห็นว่าบ้านเรือนจะเจริญรุ่งเรืองไปเรื่อย ๆ และสถานที่ตั้งหมู่บ้านก็เป็นที่ต่ำ ไม่พอที่จะขยายบ้านเรือนออกไป จึงพากันย้ายครอบครัวหาที่ตั้งใหม่ และได้พบวัดเก่าแก่โบราณวัดหนึ่งทรุดโทรมมาก แต่ใบเสมายังอยู่ครบจึงพากันบูรณและปฏิสังขรณ์ วัดขึ้นมาใหม่ ในตอนนั้นบริเวณวัดเป็นป่าดงดิบ มีสัตว์ป่าดุร้ายอยู่มาก ดังนั้นพวกชาวบ้านจึงได้พากันสร้างบ้านอยู่ใกล้กับวัด จนต่อมาเมื่อหมู่บ้านได้เจริญขึ้น มีผู้คนอพยพมาอยู่เพิ่มมากขึ้นพระอธิการจันที มังศรี เห็นว่ายังไม่มีพระประธานอยู่ประจําโบสถ์ จึงเดินทางไปอัญเชิญพระเจ้าแสนสามหมื่นซึ่งขณะนั้นประดิษฐ์สถานอยู่ที่วัดนิโคตร (วัดมณีโคตร) ที่วัดนิโคตร นี้มีพระแสนกับหลวงพ่อพระเสี่ยง ประดิษฐ์สถานอยู่
ซึ่งตามประวัติเดิมนั้น ที่นครเวียงจันทน์ในสมันนั้นพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก และในขณะนั้นชาวลาวและชาวไทยมีความ สัมพันธ์อันดีต่อกัน ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๖๙ (สมัยรัชกาลที่ ๓) เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์เป็นกบฏ ทางกรุงเทพฯได้ส่งกองทัพไปปราบ ฝ่ายลาวรู้ว่าทางกองทัพไทยเข้ามาตีเอาเวียงจันทน์ จึงมีผู้นำเอาพระพุทธรูปที่สำคัญไปหลบซ่อนไว้ในถ้ำภูเขาควายใกล้เมืองมหาชัย
ภายหลังได้มีพระบรมราชโองการอัญเชิญเอาพระพุทธรูปที่สำคัญ มาพร้อมกันมี พระใส พระแสน พระเสริม พระสุก และ พระเสี่ยง รวมถึงพระพุทธรูปล้านช้างอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง หลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่น คาดว่าได้ถูกอันเชิญมาพร้อมกันด้วย
โดยได้อัญเชิญลงแพล่องมาตามลําน้ำงึ่ม เหตุที่นําแพล่องมาตามลําน้ำงึ่มนั้น ขณะที่ล่องแพมานั้น ก็เกิดแพแตกแท่นพระสุกได้ จมหายลงไปในน้ำ ที่บริเวณนั้นชาวบ้านจึงเรียกว่าบ้านเวิ่นแท่น และ เมื่อล่องเรือมาถึงปากน้ำงึม เกิดแพแตกอีกคราวนี้พระสุกได้ตกลงน้ำ แต่เมื่อจะนำพระสุกที่ตกน้ำขึ้นแพก็ไม่สามารถนำขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีใดๆ ก็ตามและต่อมาพระสุกก็ได้สูญหายไปไม่มีผู้ใดพบเห็นอีก และบริเวณนั้นจึงได้เรียกว่าเวินสุก
ที่บริเวณพระสุกตกน้ำนั้นเรียกว่าเวินสุก ต่อมาเมื่อซ่อมแพเสร็จแล้ว จึงนําแพล่องมาถึงโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ชาวโพนพิสัยจึงอัญเชิญพระเจ้าแสนสามหมื่น กับพระเสียงไว้ที่วัดนิโคตร หรือวัดปากน้ำห้วยหลวง (ปัจจุบันคือ วัดมณีโคตร) และ เมื่อแพได้ล่องมาถึงหนองคายชาวหนองคายจึงได้อัญเชิญพระใสประดิษฐ์สถานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระ เสริมนั้นได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐ์สถานที่วัดประทุมวรารามกรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อเจ้าอธิการจันที มังศรี ได้ไปอัญเชิญพระเจ้าแสนสามหมื่น จากโพนพิสัยมาประดิษฐ์สถานไว้ที่บ้านโซ่ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ครั้นต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๒ พระเจ้าแสนสามหมื่น ได้ถูกคนร้ายขโมยไปโดยหลบหนีไปทางบ้านหนองยอง ตําบลหนองยอง อําเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ โดยคนร้ายได้นํา พระเจ้าแสนสามหมื่น ไปซ่อนไว้ใต้ต้นดอกเตย นอกหมู่บ้านไกล้กับบ่อน้ำ ซึ่งในเวลานั้นได้มีหญิงชาวบ้านออกไปตักน้ำ พร้อมกับสุนัขหลายตัวเมื่อไป ถึงใต้ต้นดอกเตยที่คนร้ายซ่อนพระเจ้าแสนสามหมื่น ไปซ่อนไว้ ไว้สุนัขก็พากันส่งเสียงเห่าแต่หญิงนางนั้นก็ไม่ได้สนใจ พอกลับมาตักน้ำอีกรอบพวกสุนัขก็ยังเห่าไม่หยุด จึงได้เข้าไปดูเห็นพระเจ้าแสนสามหมื่น ถูกซ่อนอยู่ใต้ต้นดอกเตย นางตกใจกลัวจึงรีบไปบอกชาวบ้าน พวกชาวบ้านก็พากันอัญเชิญไปไว้ที่วัดแล้วก็ประกาศหาเจ้าของ เมื่อชาวบ้านโซ่ทราบข่าวก็ตามไปดูปรากฏว่าเป็นหลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่นจริง จึงได้อัญเชิญกลับมาไว้ที่วัดสังขลิการามเช่นเดิม
ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ หลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่น ได้ถูกคนร้ายขโมยไปอีกครั้งซึ่งครั้งนี้ คนร้ายได้หลบหนีไปทางบ้านหนองทุ่มท่ากะดัน เขตอําเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร โดยนําไปซ่อนไว้ในน้ำห้วยมาย แล้วต่อมาก็นําไปไว้ที่บ้านของตนเอง ที่อําเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พอรุ่งเช้าคนร้ายก็เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ภรรยาได้นําพระเจ้าแสนสามหมื่น ไปฝากไว้ที่วัดใกล้ๆ บ้าน พอตกกลางคืนเจ้าอาวาสไหว้พระ สวดมนต์เสร็จก็เข้าจำวัด
อรุณรุ่งเช้าตื่นขึ้นมาก็ต้องแปลกใจ เพราะนอนเอาหัวลงปลายเท้าและเอาเท้าขึ้นไปเกยหมอน ด้วยเหตุนี้เจ้าอาวาสจึงนําพระเจ้าแสนสามหมื่น ไปฝากไว้ที่สถานีตํารวจอําเภอสว่างแดนดิน ในคืนนั้นนักโทษที่คุมขังอยู่ได้หนีออกไปโดยไม่มีร่องรอยการงัดกุญแจเลย ทําให้ตํารวจบนโรงพักต่างก็กล่าวหาซึ่งกันและกันว่าเป็นผู้ปล่อยให้นักโทษหลบหนีไป แต่เมื่อตํารวจพากันไปอธิฐานต่อหน้าพระเจ้าแสนสามหมื่น ขอให้นักโทษที่หลบหนีไปนั้นอย่าได้หนีไปไกล
วันต่อมาตํารวจก็จับนักโทษกลับมาได้โดยพบว่าเดินวนเวียนอยู่ในตลาดไม่สามารถหาทางออกไปจากตลาดได้ และเมื่อจับนักโทษกลับมาแล้วได้ก็สอบถามว่า หนีออกไปได้อย่างไร ซึ่งนักโทษก็ตอบว่าลูกกรงที่ขังอยู่นั้นแยกห่างออกจากกันเป็นศอก สามารถเดินเข้าออกได้อย่างสบาย ด้วยอภินิหารของหลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่น จึงทําให้ตํารวจและชาวบ้านเกรงกลัว ประกาศหาเจ้าของ ซึ่งต่อมาชาวบ้านโซ่ทราบข่าวก็ได้ส่งหลวงปู่ป้อกับนายเผือก ตรีรัตน์ พร้อมผู้ติดตาม ๔ – ๕ คน ไปรับกลับมา แต่พอนําหลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่นไปขึ้นรถก็ไม่สามารถติดเครื่องยนต์ได้
ดังนั้น คณะผู้ติดตามจึงเก็บดอกไม้แต่งเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ อัญเชิญหลวงพ่อฯพร้อมเทวดาผู้รักษาท่านจึงสามารถเดินทางกลับมาได้ เมื่อมาถึงก็ได้ประกาศให้ชาวบ้านมาสงฆ์น้ำท่าน ก็เกิดอัศจรรย์คือฝนตกลงมาทั้งที่แดดยังออกอยู่ หลังจากนั้นก็อัญเชิญหลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่น ประดิษฐ์สถานที่วัดสังขลิการามจนถึงทุกวันนี้
◎ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาร หลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่น
๑. เมื่อมีการสาบานต่อหลวงพ่อแสนสามหมื่น ถ้าผิดคําสาบานจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงหรือมีอันเป็นไป ภายใน ๗-๑๕ วัน
๒. คนร้ายขโมยหลวงพ่อแสนสามหมื่นไป ๒ ครั้งต่อมาปรากฏว่าคนร้ายที่ขโมยไปเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุทุกคน
๓. หากเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นที่บ้านโซ่ ชาวบ้านจะทําพิธีบวงสรวงพระเจ้าแสนสามหมื่นแล้ว เหตุการณ์ต่างๆ จะกลับคืนสู่ปรกติ
๔. บรรดาผู้พบเห็นทั้งหลาย หากเคารพบูชาจะเกิดผลดี หากหมิ่นประมาทจะมีอันเป็นไป
๕. การถ่ายภาพพ่อแสนสามหมื่น สมัยเมื่อมีการถ่ายภาพครั้งแรกๆ มักถ่ายไม่ติดจนกล้องพัง ต่อมาชาวบ้าน ได้ทําพิธีขอจึงถ่ายภาพติดจนถึงทุกวันนี้
◎ วัตถุมงคล
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อพระเจ้าแสนสามหมื่น วัดบ้านโซ่ (บล็อกนิยม)
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://sophisai.buengkan.doae.go.th/