ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์อังคาร อัคคธัมโม
วัดป่าน้ำโจน
ต.พันชาลี อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
พระอาจารย์อังคาร อัคคธัมโม ท่านเป็นชาวสกลนครโดยกำเนิด ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร แห่งวัดประชาชุมพลพัฒนาราม (วัดป่าบ้านหนองใหญ่) บ้านหนองใหญ่ ต.บ้านจั่น อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ช่วงที่ออกธุดงค์เพื่อจะขึ้นไปพำนักในถ้ำแถบจังหวัดลำปาง ได้ผ่านพิษณุโลกและพักปักกลดที่สวนมะม่วงของโยมคนหนึ่ง จึงเป็นโอกาสให้คุณยายนันทนา นาคอินทร์ ได้รับฟังธรรมจากท่าน และด้วยเหตุที่ซาบซึ้งในรสพระธรรมและศรัทธาในปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดของพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งคุณยายไม่เคยพบมาก่อน คุณยายจึงบริจาคที่ดินเพื่อสร้างวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน และนิมนต์พระอาจารย์อังคาร มาพำนักจำพรรษาอย่างถาวรจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ท่านพระอาจารย์อังคาร เป็นผู้มีอุปนิสัยพูดตรงโผงผางแต่อ่อนถ่อมตน จริงใจและมีเมตตาธรรม ชอบเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่นอยู่เป็นนิจ เป็นผู้มีปฏิปทามักน้อยสันโดษ ธรรมะที่ท่านพระอาจารย์สอนเป็นธรรมะที่ค่อนข้างทันสมัย สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่มีเหตุมีผลฟังง่ายและเข้าใจง่าย ไม่มีเวทมนต์กลคาถาสะเดาะเคราะห์ ต่ออายุ เครื่องรางของขลัง มีแต่เรื่องของเหตุและผล เรื่องของปัญญาล้วนๆ เมื่อฟังแล้วต้องพิจารณาและทดลองปฏิบัติดูก่อน แล้วค่อยว่ากัน จะเชื่อ หรือ ไม่เชื่อ ซึ่งตรงตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ปัจจุบัน พระอาจารย์อังคาร อัคคธัมโม เจ้าอาวาสวัดป่าน้ำโจน ต.พันชาลี อ.วังทอง จ.พิษณุโลก อายุ ๖๒ ปี พรรษา ๓๒ (เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๓)
วัดป่าน้ำโจน ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ เป็นสถานที่สัปปายะเหมาะกับนักปฏิบัติ นักภาวนา มากพอควร บริเวณวัดเป็นป่าร่มรื่นและสงบเย็น มีคนเข้า-ออกน้อยมาก ไม่มีไฟฟ้า ใช้การจุดเทียนเพื่อให้แสงสว่าง กุฏิหลังคามุงแฝก กว้างประมาณ ๒ x ๓ เมตร ผนังทั้ง ๔ ด้านใช้ผ้าจีวรเก่าเป็นม่านรูดเปิด-ปิด มีทางจงกรมที่เป็นส่วนตัวทุกกุฏิ เป็นวัดที่เน้นให้ผู้ไปปฏิบัติมีความมักน้อยสันโดด มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการสู้รบกับกิเลส-ตัญหาของตนเอง และเน้นให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะรู้จักเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ทางไปวัดค่อนข้างซับซ้อน
ธรรมะที่พระอาจารย์อังคาร อัคคธัมโม สอนเป็นธรรมะที่ค่อนข้างทันสมัยสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีเหตุมีผล ต้องพิจารณาและทดลองปฏิบัติก่อนแล้วจึงเชื่อ ซึ่งตรงตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติท่านหนึ่งมีโอกาสไปพักค้างปฏิบัติที่วัดป่าน้ำโจนเป็นเวลา ๑ สัปดาห์
มีความเห็นว่าตัวพระอาจารย์เองมีความสามารถในการนำหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามาอธิบายหลักวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ ในขณะที่การปฏิบัติยังยึดหลักพระป่าสายหลวงปู่มั่น เบอร์โทรศัพท์ของ คุณยายนันทนา นาคอินทร์ หรือคุณจุ๋ม ซึ่งพักค้างอยู่ที่วัดป่าน้ำโจน คือ 089-4387-648, 081-886-8761
◎ โอวาทธรรม พระอาจารย์อังคาร อัคคธัมโม เจ้าอาวาสวัดป่าน้ำโจน ต.พันชาลี อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
“…เราไม่สามารถที่จะไปบังคับสรรพสิ่งให้ได้ดั่งใจเราทุกอย่างไป หรอก…เรามีสิทธิ์เพียงแค่รู้จักกับบริหารจัดการตัวเอง ให้สามารถอยู่ร่วมกับสรรพสิ่งให้ได้เท่านั้น…”
“…รุกขมูลเสนาสนัง เมื่อบวชแล้วท่านจงไปอยู่ในป่า ในเขา ในถ้ำ ในหุบ ในเหว ป่าช้ารกชัฏบ้านร้างเรือนว่าง เพื่ออาศัยสถานที่อันสงบสงัดนั้นทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด….”
“…ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการบิณฑบาต ฉันวันละมื้อไม่ได้ไปหลอกลวงต้มตุ๋น ปล้น จี้ หรือลักขโมยใคร…”
“…อาหารนี้เราฉันเพียงเพื่อประทังชีวิต พอได้มีกำลังวังชาทำความพากความเพียร ไม่ได้ฉันเพื่อความเอร็ดอร่อย เพื่อบำรุงบำเรอกามราคะให้เพิ่มพูน…”
“…น้ำปานะ คือ น้ำคั้นจากผลไม้ หรือน้ำอ้อย น้ำตาล น้ำหวาน น้ำผึ้ง ฯลฯ เหล่านี้เราฉันเพียงเพื่อประทังความอ่อนระโหย ไม่ได้ฉันเพื่อความอร่อยปากอร่อยลิ้นแต่อย่างใด…”
“…ธรรมะแห่งการอยู่ร่วม… สถานที่ใดแม้จะด้อยคุณค่าแต่ถ้ามีคนที่มีคุณภาพเข้าไปอยู่ สถานที่นั้นก็จะต้องมีคุณค่าคุณภาพตามไปด้วย ในทางกลับกันต่อให้สถานที่มีคุณภาพขนาดไหนหากมีคนที่ด้อยคุณภาพเข้าไปอยู่ ไม่นานสถานที่แห่งนั้นย่อมจะต้องด้อยคุณค่าคุณภาพตามไปด้วย…”
“…กาสาวะ = น้ำฝาด …พัสตร์ = ผ้า…กาสาวพัสตร์ = ผ้าย้อมน้ำฝาด …ผ้านี้เรานุ่งห่มเพียงเพื่อป้องกันความอุจจาด ป้องกันความร้อน ความหนาว ป้องกันเหลือบ ยุง ริ้นไร เท่านั้น หาได้ต้องการอวดอ้างความร่ำรวยหรูหราไม่…จีวร = ผ้าห่ม สบง = ผ้านุ่ง สังฆาฏิ= ผ้าห่มซ้อนกันหนาว…”
“…เสนาสนะนี้มีไว้เพียงเพื่อพักผ่อนบรรเทาธาตุขันธ์เท่านั้น…มิได้มีไว้เพื่อความหรูหราโอ่อ่า..หรืออวดอ้าง..กุฏิ…”
“…การทำการงานชอบ …ความเพียรชอบ…สติชอบ ก็คือ งานถอดงานถอน เพียรถอดเพียรถอน สติจดจ่ออยู่กับการถอดถอนกิเลสอาสวะออกจากจิตจากใจตัวเองนั่นแหละ…พระกำลังทำงานในที่ทำงานของท่าน เดินจงกรม…”
“…สัมมาสมาธิ…สมาธิ ต้องรู้สมาธิ…ผู้ไม่มีปัญญาย่อมไม่รู้จักสมาธิ…ผู้ไม่มีสมาธิก็ย่อมไม่มีปัญญา…”