วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปุญฺโญ) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ

ประวัติและปฏิปทา
พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺญเถร)

วัดปทุมวนาราม (อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๕)
แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺญเถร)

พระปัญญา พิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺญเถร) เกิดเมื่อวันพุธที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๐๘ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีระกา เวลา ๐๘.๐๐ น. ณ ตำบลวัดกลาง ในเมืองอุบลราชธานี นามบิดา ขุนประเทสพานิช (จีน) นามมารดา ทุมมา

บรรพชาอุปสมบท
พ.ศ.๒๔๒๐ อายุได้ ๑๒ ปี บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักท่านบุดสี วัดใต้เทิง จังหวัดอุบลราชธานี

พ.ศ.๒๔๒๙ อายได้ ๒๒ ปีอุปสมบทในสำนักท่านบุดสี วัดใต้เทิง

พ.ศ.๒๔๓๓ ท่านพร้อมด้วยพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และพระอาจารย์ประชา ได้ไปทำทัฬหีกรรมญัติติเป็นพระธรรมยุติที่ วัดศรีทอง (ปัจจุบันคือ วัดศรีอุบลรัตนาราม) จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูคำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

การศึกษาด้านคันถธุระ
เมื่ออายุได้ ๘-๑๒ ปี ได้ศึกษาหาความรู้ตามที่นิยมในสมัยนั้นกับบิดาและในสำนักของท่านบุดสี มิตธรรมวงสา วัดใต้เทิง หลังจากอุปสมบทได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักท่านเจ้าคุณพระอริยกวี วัดศรีทองและท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เริ่มตั้งแต่บาลีไวยากรณ์ แปลธรรมบทแปลคัมภีร์ภิกขุวิภังค์ มหาวรรคและจุลวรรค เว้นภิกขุณีวิภังค์และปริวาร จนแปลวิสุทธิมรรคจบสมาธินิเทศ ที่ท่านให้เรียนเช่นนี้ ท่านกล่าวว่า ผู้ที่จะเป็นครูบาอาจารย์ปกครองหมู่คณะหรือปฏิบัติกิจวัตรในพระศาสนาได้ ต้องให้มีความรู้ในสิกขาวินัยและมูลแห่งกรรมฐานพอสมควรจึงจะเป็นผู้ยังหมู่ ให้งามในพระธรรมวินัยได้ดี ต่อมาท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ จะส่งให้เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เพื่อสอบเอาชั้นเปรียญต่อไป แต่ท่านไม่ยอมเข้ามา เพราะรักในการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน

การศึกษาด้านวิปัสสนาธุระ
ต่อมาได้ศึกษาสมถและวิปัสสนากในสำนัก ท่านเจ้าคุณพระอริยกวี และพระครูทาผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้พร้อมกับพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่น เที่ยวเดินธุดงค์ไปตามป่าเขา เพื่อแสวงหาที่วิเวกปฏิบัติธรรมทรมานกิเลส ไม่ได้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต่อมาได้พร้อมกับพระครูทาและพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม ถึง ๒ พรรษา เพื่อศึกษาสมถและวิปัสสนากับท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถร (สิงห์) อดีตเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม รูปที่ ๓ แล้วกลับไปเดินธุดงค์ต่อ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๕๖ ก่อนจะได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามท่านพร้อมด้วย พระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่น ได้มาจำพรรษาที่วัดบรมนิวาส ๑ พรรษา เมื่อเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามว่างลง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามสืบมา

ตำแหน่งหน้าที่การงาน
พ.ศ.๒๔๕๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร
พ.ศ.๒๔๖๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

สมณศักดิ์
พ.ศ.๒๔๕๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูปทุมธรรมธาดา
พ.ศ.๒๔๖๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ “พระปัญญาพิศาลเถร” ในงานพระบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๗

ผลงาน
ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่วัดปทุมวนารามมาก ทั้งด้านการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและด้านการศึกษา เสนาสนะกุฏิสงฆ์ที่พระภิกษุสามเณรอาศัยอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยมากสร้างขึ้นในสมัยท่านเป็นเจ้าอาวาส เช่น กุฏิยมราช (ตลับสุขุม) กุฏิอ้นอุทิส กุฏิเลื่อนตันทัศน์ กุฏิสุทธิอาศรม กุฏิมาวิตตศาลา และโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นต้น

ด้านการศึกษานับว่าเจริญรุ่งเรืองมากเพราะก่อนหน้านั้น เจ้าอาวาสรูปก่อน ๆ ท่านเน้นเรื่องการปฏิบัติสมถวิปัสสนา ไม่มีการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม เมื่อท่านมาเป็นเจ้าอาวาสได้ริเริ่มให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยในระยะแรกได้ส่งพระภิกษุสามเณรไปเรียนที่วัดบรมนิวาสและวัดราชาธิวาส เมื่อมีพระนักธรรมและเปรียญเกิดขึ้นจึงจัดการเรียนการสอนขึ้นที่วัดเริ่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๕ แต่เวลาส่งบัญชีเข้าสอบยังส่งในนามสำนักเรียนวัดบรมนิวาส จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๔ จึงขอตั้งเป็นสำนักเรียนวัดปทุมวนาราม นับตั้งแต่นั้นมาการศึกษาพระปริยัติธรรมก็เจริญรุ่งเรือง มีผู้สอบนักธรรมและเปรียญได้มากที่ได้ถึงเปรียญ ๗ เปรียญ ๘ ก็หลายรูป ทั้งนี้ก็เป็นเพราะท่านได้คอยดูแลเอาใจใส่ รูปไหนไม่สนใจศึกษาท่านจะเรียกมาตักเตือนและบังคับให้เรียน สามเณรรูปใดไม่ได้นักธรรม ท่านจะไม่ยอมเป็นอุปัชฌาย์บวชให้ และรูปไหนไม่สนใจปฏิบัติธุดงควัตรท่านก็ไม่ให้อยู่วัด การศึกษาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติในสมัยท่านเป็นเจ้าอาวาสจึงนับว่าเจริญ ถึงขีดสุด

ปฏิปทา
ก่อนที่จะมาเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามนั้น พระปัญญาพิศาลเถร (หนู จิตปญฺญเถร) เป็นพระกรรมฐานมาก่อน เป็นสหธรรมิกที่คุ้นเคยกันดียิ่งกับพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ท่านเคยเดินธุดงค์ร่วมกับพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ไปตามป่าเขาลำเนาไพรในหลายจังหวัด เพื่อแสวงหาความวิเวกและปฏิบัติธรรม จึงทำให้ท่านเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ชอบวิเวก ไม่ชอบคลุกคลีด้วยปริวารชนจนเกินไปเคร่งครัดหนักแน่นในพระธรรมวินัย เป็นคนพูดน้อยถ้าจะพูดอะไรกับใคร ๆ ก็พูดตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม มีจิตใจเมตตาโอบอ้อมอารีแก่ทุกคนประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พระภิกษุ สามเณรและคนทั่วไป

มรณภาพ
ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺญเถร) ได้มรณภาพด้วยโรคชรา ที่ตึกวชิรญาณวงศ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๗ เวลา ๐๙.๐๓ น. โดยอาการสงบ ในท่ามกลางสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี พรรษา ๕๘