ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์พร สุมโน
วัดประชานิยม
อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
พระอาจารย์พร สุมโน ท่านมีนามเดิมว่า สุดชา สายกัณณ์ ท่านเกิดเมื่อวันอังคาร ที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๑ ปีจอ ณ บ้านเขื่องสว่าง อำเภอเขื่องใน จังหวัดยโสธร (ปัจจุบัน จังหวัดอุบลราชธานี)
บิดาชื่อ นายวงษา สายกัณณ์ และมารดาชื่อ ใคร สายกัณณ์
มีพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกัน ๔ คน ท่านเป็นคนที่ ๒
๑. นายพิมพา สายกัณณ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๒. นายสุดชา สายกัณณ์ (พระอาจารย์พร สุมโน มรณภาพแล้ว)
๓. นายจันทา สายกัณณ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๔. นายบุญตา สายกัณณ์ (หลวงปู่บุญ ชินวํโส)
พระอาจารย์พร สุมโน ท่านได้บรรพชา เมื่ออายุ ๑๔ ปี (พ.ศ.๒๔๕๕) ได้บรรพชาเป็นสามเณรฝ่ายมหานิกายที่วัดบ้านเขื่องสว่าง และได้ลาสิกขาเมื่ออายุ ๑๘ ปี (พ.ศ.๒๔๕๙) เนื่องจากสงสารครอบครัวซึ่งไม่มีใครช่วยทำนา ถึงแม้ท่านจะดำรงเพศฆราวาส ท่านก็ยังตั้งปณิธานอยู่เสมอว่า “สักวันหนึ่ง ข้าพเจ้าจะออกบวชปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาให้ได้”
อุปสมบท เมื่ออายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้บรรพชาอุปสมบท เป็นพระภิกษุมหานิกายอยู่ที่วัดเขื่องใน และเมื่ออายุ ๒๕ ปี (พ.ศ.๒๔๖๖) มารดาท่านก็ถึงแก่กรรม ท่านจึงลาสิกขาไปอีกครั้ง และไปมีครอบครัวอยู่ที่บ้านหนองหลวง จังหวัดสกลนคร กับภรรยาชื่อ สอน และมีลูกสาวด้วยกันคนหนึ่ง ชื่อ พุธ
ต่อมาเมื่ออายุได้ ๒๘ ปี (พ.ศ.๒๔๖๙) พระอาจารย์พร สุมโน ได้ข่าวหลวงปู่เสาร์ และคณะพักจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านดงยาง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ส่วนหลวงปู่มั่น และคณะส่วนหนึ่งได้ไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ใกล้กับวัดโพธิ์ชัย ท่านจึงได้ลาครอบครัวมุ่งตรงไปยังสำนักของพระอาจารย์มั่น ที่บ้านสามผง ได้มอบตัวถวายเป็นสานุศิษย์ของท่าน ให้ท่านเป็นอาจารย์สั่งสอนพระธรรมวินัยและการปฏิบัติวิปัสสนา พระอาจารย์มั่นได้ให้ท่านบวชเป็นตาผ้าขาว เพื่อเรียนรู้พระธรรมวินัยและระเบียบปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์และพระศาสนา จากนั้นตาผ้าขาวพรก็ได้ออกติดตามพระอาจารย์มั่นมาโดยตลอด
ประวัติของท่านในตอนนี้ พระอาจารย์พร สุมโน ได้เล่าให้พระอาจารย์ดี ฉันโน ฟัง เมื่อครั้งพำนักอยู่ที่วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานีไว้ดังนี้
“ถ้าหากครูบาอาจารย์ต้องการอยากจะทราบ ก็จะเล่าให้ฟัง ผมเป็นคนทุพพลภาพ ครองบ้านครองเรือนไม่ได้ ผมเคยมีครอบครัวแล้ว มีลูกคนหนึ่ง มาภายหลังนี้ สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์ ทำมาหาเลี้ยงชีพไม่ไหว ก็เลยมอบทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ให้แม่บ้านกับลูกสาวคนหนึ่งให้เขาครอบครอง แล้วก็สั่งเขาว่าอยากมีใหม่ก็มีซะ ฉันก็ไปแล้ว ทีแรกก็ไปอาศัยอยู่ที่วัดบ้านม่วงไข่ ซึ่ง หลวงปู่มั่น อยู่นั่น วันหนึ่งไปล้างถ้วยล้างชามขัดกระถงกระโถน ท่านก็เดินไป
พร! เจ้าอยากบวชไหม
โอ้ย! ถ้าครูบาอาจารย์จะเมตตาสงสาร ก็อยากบวชแล้ว เอ่อ! ถ้างั้นเก็บสิ่งของแล้วไปหาเราที่กุฏิ เด้อ
พอไป ท่านก็เอาผ้าขาวนี้มาตัดกางเกง ตัดเย็บกางเกงเอง กางเกงขาก๊วย แล้วก็ตัดเสื้อ เสื้อก็เสื้อโปโลนี้แหละ พอเสร็จแล้วท่านก็ไปเอามีดโกนมาโกนหัวให้ โกนหัวให้เอง พอโกนหัวเสร็จแล้วให้อาบน้ำอาบท่า เอ้า! ใส่ชุดนี้แล้วก็มาปฏิญาณตนเป็นอุบาสก บวชเป็นตาชีผ้าขาว แล้วก็เป็นชีผ้าขาวอยู่กับท่าน ….”
หลังจากออกพรรษาปี พ.ศ.๒๔๖๙ นั้นแล้ว พระอาจารย์มั่นฯ พระอาจารย์เสาร์ฯ ก็ได้เรียกบรรดาพระอาจารย์ที่เป็นศิษย์ทุกองค์ให้มาประชุมพร้อมกันที่บ้านโนนแดง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม)
ในการประชุมครั้งนี้ ท่านได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน จากนั้น ท่านพระอาจารย์ใหญ่ท่านปรารภถึงเรื่องที่จะนำ “โยมแม่ออก” (มารดาของท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งบวชเป็นชี) ไปส่งมอบให้น้องสาวท่านที่จังหวัดอุบลช่วยดูแล เพราะท่านเห็นโยมแม่ท่านชรามาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถท่านผู้เป็นพระจะดูแลได้แล้ว
เมื่อเสร็จจากการประชุมคณะศิษย์ที่บ้านโนนแดงแล้ว บรรดาพระอาจารย์ที่เป็นศิษย์แต่ละองค์ต่างก็แยกย้ายออกธุดงค์แสวงวิเวกและประกาศธรรมตามที่ต่างๆ ตามอัธยาศัย
ตาผ้าขาวพรก็ได้ติดตามหลวงปู่มั่น และพระเณรอีกกลุ่มใหญ่เดินธุดงค์มุ่งสู่จังหวัดอุบลราชธานี
เมื่อถึง จ.อุบลราชธานีแล้ว หลวงปู่มั่นได้พาโยมมารดาไปอยู่บ้านบ่อชะเนง ตามที่ท่านตั้งใจไว้ และ
ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ก่อนเข้าพรรษา หลวงปู่มั่นก็บรรพชาตาผ้าขาวพรเป็นสามเณรโดย ท่านพระอาจารย์มั่น เป็นพระอุปัชฌาย์เอง และได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “พร” เพราะเนื่องจากมีชื่อซ้ำกัน ๒ คน หลังจากบวชเณรแล้ว ก็ได้อยู่ปฏิบัติหลวงปู่มั่นซึ่งจำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองขอน อ.หัวตะพาน จ.อุบลราชธานี
ออกพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๗๐ หลวงปู่มั่นก็ได้มอบการปกครองคณะสงฆ์ให้แก่หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม แล้วท่านจึงปลีกตัวไปจังหวัดเชียงใหม่ โดยไปกรุงเทพฯ ก่อน
การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ไม่มีข้อมูลว่าตาผ้าขาวพรได้ติดตามหลวงปู่มั่นไปในครั้งนี้ หรือว่าได้ติดตามพระอาจารย์มั่นไปในภายหลัง ปรากฏข้อมูลเพียงว่า
ท่านพระอาจารย์มั่นได้พาตาผ้าขาวพรมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในคณะธรรมยุต เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ที่วัดปทุมวนาราม ปทุมวัน พระนคร โดยมีท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถร (หนู) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดบุญมี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมุห์บัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุมโน“
หลังบวชเป็นพระภิกษุแล้ว พระอาจารย์พร ก็ได้อยู่จำพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๗๑ กับพระอาจารย์มั่น ที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ นั่นเอง
เมื่ออุปสมบทแล้วก็อยู่ในสำนักของท่านพระอาจารย์มั่น เอาใจใส่ปรนนิบัติอุปัฏฐากครูบาอาจารย์มิให้เดือดร้อน อาจาริยวัตร อุปัชฌายวัตร อย่างถูกต้องตามวินัยทุกประการ เมื่อออกพรรษา ในเดือน ๑๒ (พ.ศ.๒๔๗๑) ได้เที่ยวธุดงค์ไปตามท่านพระอาจารย์มั่น จนถึงเชียงใหม่ ได้จำพรรษาด้วยพระอาจารย์มั่นจนตลอด ๓ ปี จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นพิจารณาดูอุปนิสัยและการปฏิบัติของพระอาจารย์พรว่าสมควรพอที่จะออกบำเพ็ญโดยลำพังตัวเองได้แล้ว ท่านจึงเรียกมาสั่งว่า
“พรเอ๊ย! เจ้าก็มีความรู้พอที่จะคุ้มครองตัวเองได้แล้ว ปลีกตัวออกไปปฏิบัติโดยลำพังก็ได้ เปิดโอกาสให้องค์อื่นเขามาปรนนิบัติครูบาอาจารย์บ้าง”
นั่นแหละ จึงจะได้ออกจากสำนักครูบาอาจารย์ นี้คือจารีตประเพณีของพระธุดงคกรรมฐานที่ปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์อาจารย์ในสมัยอดีต ในสมัยที่ท่านอาจารย์เสาร์ ท่านอาจารย์มั่นยังดำรงชีวิตอยู่
ดังนั้น (ปี พ.ศ.๒๔๗๔) ท่านจึงได้ลาท่านพระอาจารย์มั่น เดินทางกลับมาจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อเยี่ยมบิดา และเห็นว่า น้องชายคนสุดท้องที่ชื่อ บุญตา (ซึ่งต่อมาคือ หลวงปู่บุญ ชินวํโส) อายุจวนจะครบบวชแล้ว จึงได้ถามความประสงค์ของน้องชายคนสุดท้องว่า อยากบวชไหม เด็กชายบุญตาจึงตอบพระพี่ชายว่า ถ้าบิดาให้บวชก็บวช ท่านอาจารย์พรจึงได้ไปขออนุญาตจากโยมบิดาว่าจะเอาน้องคนเล็กไปบวช โยมบิดาบอกให้ไปถามน้องก่อน ถ้าเขาอยากบวชก็ไม่ขัดข้อง เมื่อท่านไปถาม เด็กชายบุญตาก็ไม่มีอะไรขัดข้อง
พระอาจารย์พร สุมโน ก็ให้บวชเป็นผ้าขาว ถือศีล ๘ ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติในเพศผ้าขาวไปก่อน แล้วได้พาไปฝึกภาวนาในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นที่เปลี่ยวไกลจากหมู่บ้าน สมัยนั้นสัตว์ป่ามีมาก ท่านอาจารย์พรได้พาไปพักอยู่ตามถ้ำต่าง ตามเงื้อมผา ป่าช้าป่าชัฏ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งผู้คนเกรงขาม เพื่อเป็นการทดสอบดูว่าผ้าขาวบุญตานี้จะอยู่ได้สมกับที่อยากบวชหรือไม่ โดยท่านอาจารย์ให้เหตุผลกับผ้าขาวบุญตาว่า
“ธรรมดาสิ่งทั้งปวงที่จะเป็นประโยชน์และคงทนถาวรได้นานต้องมีการทุบตีหล่อหลอมเสียก่อน จึงจะรู้ว่าจะเป็นของดีหรือของเก๊ เมื่อเป็นของดีก็จะทนอยู่ได้ เมื่อเป็นของเก๊ก็กลับบ้านเสีย ไม่หาญไปกับเราได้”
หลังจากที่ ท่านพระอาจารย์พรได้ธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ กับตาผ้าขาวบุญตา ได้ราว ๑๐ เดือน ท่านอาจารย์จึงได้พาตาผ้าขาวบุญตากลับมายังบ้านเกิดที่อำเภอเขื่องใน ไปพักอยู่ที่วัดป่าศิลาเลข บิดาตลอดทั้งญาติๆ ได้พากันทราบข่าวก็พร้อมกันมาหาและอยากจะให้ผ้าขาวบุญตาบวชเป็นพระ แต่อายุผ้าขาวบุญตายังไม่ครบ ๒๐ ปี พระอาจารย์พร สุมโน จึงให้บรรพชาเป็นสามเณรก่อน ในปี พ.ศ.๒๔๗๔
ต่อมา ในวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๕ จึงได้อุปสมบทสามเณรบุญตาเป็นพระภิกษุ ที่วัดบูรพาราม ซึ่งสมัยนั้นอยู่ในเขตอำเภอวารินชำราบ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดอุบลราชธานี) พระศาสนดิลก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเพ็ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ชินวํโส“
ปีนั้น พระอาจารย์พร สุมโน ได้จำพรรษาที่วัดบูรพาราม พอออกพรรษาแล้วได้พา พระบุญ(ตา) ชินวํโส เที่ยววิเวกไปด้วยกันทางจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ ข้ามไปประเทศเขมร พอใกล้เข้าพรรษาปี พ.ศ.๒๔๗๖ ก็กลับมาทางจังหวัดอุบลราชธานี จำพรรษาที่วัดเลียบ ครั้นออกพรรษาก็ได้เที่ยววิเวกไปทางอำเภออำนาจเจริญ อำเภอมุกดาหาร เที่ยววนเวียนอยู่ตามป่าเขาแถบนั้น พอใกล้เข้าพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๗๗ ก็กลับมาวัดเลียบอีก ออกพรรษาแล้วก็เที่ยววิเวกไปทางสกลนคร อุดรธานี แล้วกลับไปจำพรรษาปี พ.ศ.๒๔๗๘ ที่วัดบ้านบ่อเสนง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ออกพรรษาแล้วก็เที่ยววิเวกกลับไปยังอำเภอเขื่องใน พักอยู่ที่วัดป่าศิลาเลข ๓ เดือน พอถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๑ ก็เข้าไปอยู่กับท่านหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ที่วัดบูรพาราม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และในปีนี้เองปรากฏในประวัติ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย แห่งวัดป่าสาลวัน ที่ท่านได้เล่าไว้ในหนังสือ “ฐานิยตฺเถรวตฺถุ” ไว้ว่า ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ พระอริยคุณาธาร (พระมหาเส็ง ปุสโส) ได้นำสามเณรพุธมาฝากให้เป็นศิษย์พระอาจารย์พร ซึ่งในปีนั้นหลวงปู่บุญ ก็ได้อยู่กับพระอาจารย์พร ที่วัดบูรพารามนี้ด้วย
ระหว่างที่พระอาจารย์พรอยู่ที่ วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานีนั้น ปรากฏเรื่อง “ขำๆ” ตามที่หลวงพ่อพุธได้เล่าไว้ในหนังสือ “ฐานิยตฺเถรวตฺถุ” ไว้ ซึ่งเป็นเรื่องความเข้าใจผิดของหลวงปู่ดี ฉันโน ที่ไม่ทราบว่าพระอาจารย์พรเป็นศิษย์องค์หนึ่งซึ่งได้ติดตามพระอาจารย์มั่น มานานร่วม ๑๐ ปี นึกว่าท่านเป็นเพียงพระธรรมดาและนั่งสมาธิไม่เป็น โดยหลวงพ่อพุธได้เล่าไว้ดังนี้
“ที่นี้มันขำ ๆ อยู่วันหนึ่ง นายโพธิ์ ส่งศรี กับขุนศิริสมานการ โยมโพธิ์บ้านอยู่หน้าไปรษณีย์เมืองอุบลฯ ๒ คนนี่แหละ… หลวงตาพรนี่อยู่วัดบูรพา วัดบูรพาเป็นวัดบ้าน แล้วตอนแรกอาจารย์ดีไปอยู่บ้านท่าบ่อ ที่โรงเรียนกสิกรรมบ้านท่าบ่อ พวกนายโพธิ์ นายขุนศิรินี่แหละ ไปนิมนต์มาอยู่วัดบูรพาฯ ตอนด้านตะวันออก วัดบูรพาฯ เป็นสวนของนายจอม นายจอมก็บริจาคที่สวนนี้ให้ประมาณ ๒ ไร่เศษ ให้เป็นวัดป่า ตอนนั้นให้เป็นวัดป่า ตอนนี้ให้เป็นวัดบ้าน ทีนี้พวกญาติโยมก็แตกตื่นกันไป ไปนั่งสมาธิทุกวัน ๆ
อยู่มาวันหนึ่งนายโพธิ์กับขุนศิรินี้แหละ มากราบท่านหลวงตาพร มาบอกว่า
“ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านมาสอนกรรมฐานเขาอยู่ทุกวันๆ ไม่นึกอยากได้ดิบได้ดีกับเขาบ้างหรือ”
เขาว่าหลวงตาพร
“นี่ อาจารย์ท่านให้มานิมนต์ไป ไปฝึกกรรมฐาน”
“อุ๊ย! ถ้าครูบาอาจารย์จะเมตตาสงสารอย่างนั้นก็ดีแล้ว ที่ไม่กล้าไป ก็ไม่นึกว่าท่านจะเมตตาสงสารถึงขนาดนี้ เออ…ไปเรียนท่าน เดี๋ยวอาตมาจะไป”
พอโยมกลับไปแล้วหลวงตาพรก็เตรียมไป ไปก็เข้าไปกราบหลวงปู่ดี แต่ด้วยความทะนงของอาจารย์กรรมฐาน ก็ถามหลวงตาพรอย่างดูถูกเหยียดหยาม ว่างั้นเถอะ
“พร! ภาวนาเป็นไหม”
“ก็จั๊กจะเป็นหรือไม่เป็นก็สวดมนต์ไหว้พระภาวนาไปอย่างนั้นแหละ ภาวนาก็พุทโธ พุทโธนั่นแหละ แต่ไม่ทราบว่ามันจะถูกต้องหรือเปล่าก็ไม่รู้”
ทีนี้พอเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์ดีก็บอกวิธีให้นั่งสมาธิ นั่งขัดสมาธิเอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง กำหนดจิตนึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ หนแล้วก็นึกว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
อยู่ที่จิต เราจะกำหนดเอาจิตอย่างเดียว เสร็จแล้วพอไหว้พระสวดมนต์เสร็จก็นั่งสมาธิ ท่านก็หันหน้ามา
“เอ้า! พรนั่งสมาธิ”
“เรื่องนั่งสมาธินี้ทำอย่างนี้ใช่ไหมอาจารย์”
พอทำไปจังหวะไหนก็ถาม
“อย่างนี้ถูกต้องไหมอาจารย์”
“เออ! ถูกแล้ว””
เสร็จแล้ว พอนั่งสมาธิ พวกพระพวกเณรอื่น ๆ ระดับครูบาอาจารย์เลิกหมด ญาติโยมก็เลิกหมด วันนั้นหลวงตาพรนั่งอยู่ ๒ ชั่วโมง เสร็จแล้วท่านก็กระดุกกระดิกออกจากสมาธิ
“โอ้! ทำไมนั่งนานแท้ พร”
“เอ้ ความรู้สึกของผมนี้รู้สึกว่ามันไม่นานนะ มันแพล๊บเดียวเท่านั้นเอง มันยังไม่รู้สึกเหนื่อยเลย”
“แล้วมันเป็นอย่างไร จิตมันเป็นอย่างไร”
“เออ! เดี๋ยวจะเล่าถวายครูบาอาจารย์ เป็นอย่างนี้จะถูกต้องหรือเปล่า พอภาวนาพุทโธ ๆ ๆ ไป ๓ คำ จิตมันก็วูบลงไป มันไปนิ่ง สว่าง กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ แล้วมันก็เกิดปีติ พอรู้สึกว่ามันเกิดปีติ เกิดความสุข ความคิดมันก็ฟุ้ง ๆ ๆ ๆ ขึ้นมา แล้วตอนนั้นความตั้งใจอะไรต่างๆ สัญญาเจตนามันหายไปหมด มีแต่ความเป็นเองของจิต แล้วมันก็กำหนดรู้ความคิดที่มันปรุงแต่งขึ้นมาของมันเรื่อยไป”
“แล้วมันคิดอะไรบ้าง”
“สารพัดที่มันจะคิด บางทีมันก็คิดไปโลกไปธรรมสารพัด คิดไปถึงนรก คิดไปถึงสวรรค์ คิดถึงเรื่องชีวิตประจำวันในปัจจุบัน สารพัดที่มันจะคิด จิตในเมื่อมันเข้าสมาธิตามธรรมชาติของมันแล้ว เราไม่มีความสามารถที่จะไปควบคุมมันได้ จริงไหม อาจารย์”
อาจารย์ดีชักงง “มันจะไปไหนมาไหนมันไปเองของมัน บางทีมันกระโดดไปโน่น ไปเมืองสกลนครโน่น บางทีกระโดดไปอำเภอเขื่องฯ บางทีไปยโสธร บางทีไปกรุงเทพฯ สารพัดที่มันจะไป ทั้งที่มันคิดปรุงแต่งขึ้นมานั่น มันเอาระเบียบแบบแผนไม่ได้ แต่ว่าสตินี้มันคอยจ้อง ๆ อยู่ มันจะไปไหนมาไหน ๆ สติตัวนี้ก็ไล่ตาม ๆ ๆ ๆ คอยควบคุม มันเป็นอย่างนี้ มันจะถูกหรือมันจะผิดท่านอาจารย์”
ท่านอาจารย์ดีชักงง ไม่ยอมให้คำตอบ
พอตื่นเช้ามา มากันแต่เช้ามืด ปกติพอเช้ามืดพวกเราก็ทำวัตรเช้ากัน พอมา ท่านอาจารย์ดีก็ถามว่า
“พร! ขอถามหน่อยเถอะว่า เป็นใครมาจากไหน”
“เอ้า! ก็นึกว่าครูบาอาจารย์ทราบดีแล้ว ท่านอาจารย์ก็รู้ดีอยู่แล้วไม่น่าจะถาม”
“เพราะไม่รู้นั่นแหละจึงมาถาม”
“ถ้าหากครูบาอาจารย์ต้องการอยากจะทราบ ก็จะเล่าให้ฟัง ผมเป็นคนทุพพลภาพ ครองบ้านครองเรือนไม่ได้ ผมเคยมีครอบครัวแล้ว มีลูกคนหนึ่ง มาภายหลังนี้ สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์ ทำมาหาเลี้ยงชีพไม่ไหว ก็เลยมอบทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ให้แม่บ้านกับลูกสาวคนหนึ่งให้เขาครอบครอง แล้วก็สั่งเขาว่าอยากมีใหม่ก็มีซะ ฉันก็ไปแล้ว ทีแรกก็ไปอาศัยอยู่ที่วัดบ้านม่วงไข่ ซึ่งหลวงปู่มั่นอยู่นั่น วันหนึ่งไปล้างถ้วยล้างชามขัดกระถงกระโถน ท่านก็เดินไป
พร! เจ้าอยากบวชไหม
โอ้ย! ถ้าครูบาอาจารย์จะเมตตาสงสาร ก็อยากบวชแล้ว เอ่อ! ถ้างั้นเก็บสิ่งของแล้วไปหาเราที่กุฏิ เด้อ
พอไป ท่านก็เอาผ้าขาวนี้มาตัดกางเกง ตัดเย็บกางเกงเอง กางเกงขาก๊วย แล้วก็ตัดเสื้อ เสื้อก็เสื้อโปโลนี้แหละ พอเสร็จแล้วท่านก็ไปเอามีดโกนมาโกนหัวให้ โกนหัวให้เอง พอโกนหัวเสร็จแล้วให้อาบน้ำอาบท่า เอ้า! ใส่ชุดนี้แล้วก็มาปฏิญาณตนเป็นอุบาสก บวชเป็นตาชีผ้าขาว แล้วก็เป็นชีผ้าขาวอยู่กับท่าน ๓ ปี พอเสร็จแล้วท่านก็บวชเป็นเณรให้ เป็นเณรอยู่ ๓ ปี ทีนี้พอเสร็จแล้วก็พาไปกรุงเทพฯ ก็ไปบวชเป็นพระ อยู่ที่วัดสระปทุม ตกลงว่าอยู่ในสำนักของหลวงปู่มั่น ๙ ปี ที่ออกจากท่านมานี้เพราะโยมแม่ที่อำเภอเขื่องในเสียชีวิต เขาโทรเลขไป ก็มาทำศพแม่ หลังจากนั้นก็เลยไม่ได้กลับไปหาท่านอีก เพราะท่านสั่งว่า พรเอ๊ย! เจ้าก็มีความรู้พอที่จะคุ้มครองตัวเองได้แล้ว ปลีกตัวออกไปปฏิบัติโดยลำพังก็ได้ เปิดโอกาสให้องค์อื่นเขามาปรนนิบัติครูบาอาจารย์บ้าง
ก็ยึดเอาคำนั่น คำพูดนั้น พอออกมาแล้วก็เลยไม่กลับไปอีก ภายหลัง เจ้าคุณศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) ก็ให้มาอยู่ที่นี้ที่วัดบูรพาฯ นี้”
พออาจารย์ดีฟังเล่าจบก็
“โอ๊ย! ทำไมไม่บอกให้รู้กันแต่ทีแรก”
“เอ้า! ก็ครูบาอาจารย์ย่อมมีวิจารณญาณ ย่อมดูคนออกว่าใครเป็นอย่างไร มีภูมิจิตภูมิใจตื้นลึกหน้าบางเพียงใด แค่ไหน ครูบาอาจารย์ก็ย่อมรู้อยู่แล้ว”
ทีหลังมาพวกญาติโยมทั้งหลายที่แห่กันไปปฏิบัติธรรม เวลาท่านอาจารย์ดีไม่อยู่ เขาก็นิมนต์อาจารย์พรไปพานั่งสมาธิ แต่ท่านพูดอะไรท่านไม่มีโวหารหรอก พูดเอาแต่หัวใจ
ประวัติของ พระอาจารย์พร สุมโน ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๗๕ – ๒๔๘๑ มีแตกต่างกันเป็น ๒ ทางคือ
จากข้อมูลในประวัติหลวงพ่อบุญ ชินวํโส (น้องชายพระอาจารย์พร สุมโน) ได้เล่าว่า ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๗๕ – ๒๔๘๑ หลวงปู่บุญ ชินวํโส ได้ธุดงค์ติดตามพระอาจารย์พรไปยังสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ จึงเข้าไปอยู่กับท่านหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ที่วัดบูรพาราม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
ส่วนอีกทางหนึ่ง ชื่อของท่านได้ปรากฏในประวัติหลวงปู่แหวน ในช่วงที่หลวงปู่แหวนธุดงค์ไปจังหวัดเชียงใหม่พร้อมกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย เพื่อตามหา พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ จนได้ไปพบพระอาจารย์มั่น ที่ป่าเมี่ยงขุนปั๋ง ซึ่งพระอาจารย์มั่นได้มาพร้อมกับ พระอาจารย์พร สุมโน ต่อมา หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี กับ พระอาจารย์อ่อนสี สุเมโธ ก็ตามขึ้นไปสมทบอีก
เมื่อเห็นว่า มีพระไปอยู่ด้วยกันหลายรูป เกรงว่าจะเป็นภาระหนักแก่ชาวบ้าน หลวงปู่มั่น จึงให้หาทางแยกย้ายกันออกไปวิเวกบริเวณที่ไม่ไกลกันนัก จะมารวมกันเฉพาะวันอุโบสถ เพื่อฟังสวดปาฏิโมกข์แล้วรับการอบรมจากพระอาจารย์ใหญ่ เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับไปที่อยู่ของแต่ละองค์
เมื่อจะใกล้จะเข้าพรรษาต่อไป (พ.ศ.๒๔๗๖) หลวงปู่แหวน กับ หลวงปู่ขาว ได้กราบเรียนพระอาจารย์ใหญ่ ขอกลับออกมาจำพรรษาที่ดอยน้ำมัว หรือดอยนะโม หรือ ฮ่องนะโม (ชื่อสถานที่เดียวกัน) และเมื่อ พระอาจารย์พร สุมโน ทราบเรื่องก็ขอตามไปจำพรรษาด้วย รวมเป็น ๓ องค์
เมื่อเข้าไปกราบลา หลวงปู่มั่นได้พูดเตือนสติศิษย์ทั้งสามว่า “เออ ไปแล้วอย่าไปทิ่มแทงกัน ด้วยหอกด้วยดาบนะ”
หลวงปู่ทั้งสามไม่ค่อยเข้าใจความหมายของคำเตือนนั้น และได้กราบลาเดินทางมาดอยน้ำมัว บ้านทุ่งบวกข้าว ซึ่งเป็นเทือกเขาเดียวกันกับดอยแม่ปั๋ง อยู่ไม่ห่างกันนักอยู่ทางตะวันออก ไปมาหากันได้สบาย ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒๐ นาทีเท่านั้น
ส่วน พระอาจารย์ใหญ่มั่น กับลูกศิษย์องค์อื่นๆ คงอยู่จำพรรษาที่ป่าเมี่ยงขุนปั๋ง นั้น โดยพระอาจารย์ใหญ่พักอยู่ใกล้ถ้ำฤาษี ซึ่งชาวบ้านได้สร้างกุฏิชั่วคราวถวาย
การอยู่จำพรรษาที่ดอยนะโม (น้ำมัว) ของ หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว และ หลวงปู่พร สุมโม เป็นได้ด้วยความเรียบร้อย การภาวนาไม่มีอุปสรรค จิตก้าวหน้าดี เกิดอุบายธรรมแปลกๆ หลายอย่าง
มีเหตุการณ์อยู่วันหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่แหวน กำลังเดินจงกรมอยู่ หลวงปู่ขาว เดินถือไม้กวาดตรงเข้าไปหา เมื่อถึงทางเดินจงกรม หลวงปู่ขาวก็ลงมือกวาดเรื่อยไปตามทางจงกรม กวาดไปจนถึงตรงที่หลวงปู่แหวนเดินอยู่ ก็ยังกวาดไปกวาดมาอยู่ที่เท้าของหลวงปู่แหวน นั่นเอง เสร็จแล้วหลวงปู่ขาว ก็เดินออกไปโดยไม่พูดไม่จา
ครั้งแรก หลวงปู่แหวน นึกขัดเคืองใจอยู่เหมือนกันที่ถูกรบกวน ท่านได้คิดทบทวนดูว่า หลวงปู่ขาว ทำเช่นนั้นเพราะเหตุใด จึงนึกได้ว่าสักครู่ที่ผ่านมา ขณะที่หลวงปู่ขาว นั่งสมาธิอยู่ ท่านใช้ไม้กวาดกวาดบริเวณ คงส่งเสียงดังรบกวนการนั่งสมาธิภาวนาของหลวงปู่ขาว ด้วยเหตุนี้ หลวงปู่ขาวจึงได้มาเตือน ความขัดเคืองใจก็หายไป ทำให้ท่านระมัดระวังยิ่งขึ้น
เหตุการณ์ครั้งที่สอง เมื่อออกพรรษาแล้ว มีโยมนำผ้ามาถวายเพื่อให้ตัดเย็บเป็นจีวร เมื่อลงมือเท่านั้น หลวงปู่ทั้งสามองค์ เกิดความเห็นไม่ตรงกัน องค์หนึ่งเห็นว่าควรตัดขนาดเท่านั้น อีกองค์ว่าเท่านี้จึงจะพอดี ก็เกิดการโต้แย้งกันขึ้นกลายเป็นโต้เถียงเพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน
แม้ไม่มีเหตุรุนแรง แต่ก็หงุดหงิดใจต่อกันพอสมควร
หลังออกพรรษานั้นเอง แคว่น (กำนัน) มี ขึ้นมาหาที่ดอยนะโม กราบเรียนว่าเขาจะไปทำธุระที่ป่าเมี่ยงขุนปั๋ง
หลวงปู่แหวน กับ หลวงปู่ขาว จึงบอกว่าขากลับไปให้แวะนิมนต์และรับ “ครูบาใหญ่ของเรา” ลงมาด้วย
เมื่อแคว่นมี ขึ้นไปนิมนต์ พระอาจารย์ใหญ่ ท่านไม่ขัดข้อง ท่านเก็บบริขารเสร็จ แคว่นมี ก็สะพายบาตรรับท่านเดินทางออกมาพร้อมกัน
เมื่อพระอาจารย์ใหญ่ มาถึงดอยนะโมแล้ว ลูกศิษย์ต่างเข้าไปกราบนมัสการ ตอนนั้นยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ตกเย็น หลังจากทำกิจวัตรเสร็จแล้ว หลวงปู่มั่นก็แสดงธรรมให้การอบรมศิษย์ตามปกติ
การแสดงธรรมในช่วงแรกก็ไม่มีอะไรผิดแปลก พอแสดงไปได้สักพัก เสียงของท่านเริ่มหนักแน่นจริงจังมากขึ้น เนื้อธรรมเต็มได้ด้วยไม้ค้อนที่ประเคนตอกย้ำลงไปที่หัวใจของศิษย์
ท่านกล่าวถึงหมู่คณะที่ขัดแย้งกันว่า รังแต่จะถึงกาลวิบัติ ไม่ยังหมู่คณะให้เจริญ ไม่ยังหมู่คณะให้มั่นคงถาวร ไม่ยังหมู่คณะให้ตั้งอยู่ได้นาน
แล้วท่านก็แสดงอานิสงส์ของความสามัคคีในหมู่คณะเพราะมีทิฏฐิสามัญญตา ร่วมกัน
จบลงด้วยการชี้จุดที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่คณะคือการถือเอาแต่ความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ ไม่เคารพความรู้ความเห็นของผู้อื่น
หลวงปู่แหวน ท่านว่า “เป็นอันว่าเทศน์ของท่านอาจารย์กัณฑ์นั้น ท่านตั้งภาษิตเอาไว้ตั้งแต่สามเดือนที่แล้วมา ก่อนเข้าพรรษา ให้ระวังอย่าไปทิ่มแทงกันด้วยหอกด้วยดาบ คำเทศน์จึงมาอธิบายเอาตอนออกพรรษาแล้วนี้เอง”
เมื่อหลวงปู่มั่น ท่านแสดงธรรมจบลง ท่านก็พูดคุยกับศิษย์เป็นธรรมดา เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พูดคุยถามโน่นถามนี่
เมื่อหลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว หลวงปู่พร หายจากอาการสลบ เพราะถูกตีด้วยธรรมาวุธแล้ว ก็เข้าไปกราบสารภาพผิด ซึ่งหลวงปู่มั่น ก็ไม่ได้แสดงอาการผิดปกติใดๆ ออกมา
“อุบายการแสดงธรรมก็ดี การวางตัวก็ดี การพูดจาปราศรัยก็ดี เป็นกุสโลบายเฉพาะองค์ของหลวงปู่มั่น ยากที่ศิษย์ทั้งหลายจะสังเกต ติดตามได้ทัน ซึ่งจะหาผู้ปฏิบัติได้อย่างองค์ท่านนั้นยากแท้”
ประวัติของท่านตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ไม่มีข้อมูลให้สืบค้น จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งในปีนั้นท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพาราม บ้านโคกสำราญ ตำบลหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
ท่านได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในพิธีอุปสมบทนายผาง แมดสถาน (หลวงปู่ผาง ปริปุณฺโณ) ที่วัดชัยมงคล ตำบลโพนสูง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ในวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๐ เวลา ๑๔.๐๐ น. โดยมี พระครูอดุลสังฆกิจ (หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร) วัดกุดเรือคำ ต.กุดเรือคำ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการพร สุมโน วัดบูรพาราม บ้านโคกสำราญ ตำบลหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการพุฒ ยโส วัดคามวาสี ต.ตาลเนิ้ง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปริปุณฺโณ“
ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ พระอาจารย์พรจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพาราม ปีนี้ พ่อตู้พิมพ์ ซึ่งเป็นอาของ นายกรณ์ อำมะวงศ์ (ต่อมาคือ พระราชญาณมุนี หรือ หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญฺโญ) ก็นำนายกรณ์ซึ่งผิดหวังจากชีวิตครอบครัวมาฝากตัวกับพระอาจารย์พร เพื่อจะบวช ซึ่งพระอาจารย์พรก็ได้รับตัวเอาไว้และได้สอนการขานนาคและได้จัดการให้นาคกรณ์ (หลวงปู่บุญมี) บรรพชาและอุปสมบท ณ อุทกุกเขปสีมา หนองแวง วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านทันสมัย ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ในวันพุธที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ โดยมี พระครูพุฒิวราคม (หลวงปู่พุฒ ยโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ และเมื่อพระกรณ์ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสำเร็จ “นักธรรมชั้นเอก” จากสำนักเรียนวัดศรีสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์พร สุมโน จึงเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “บุญมี” ท่านจึงมีมงคลนามใหม่ว่า “พระบุญมี ฐิตปุญฺโญ” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ พระอาจารย์พร สุมโน ท่านป่วยหนักเกิดอาการอาพาธด้วยโรควัณโรค เวลาไอมีเลือดออกและเจ็บแน่นหน้าอก ท่านจึงได้นำ พระบุญมี ฐิตปุญฺโญ และคณะพระเณร ซึ่งเป็นพระเณรบวชใหม่ ท่านและคณะละวัดบูรพารามไว้เบื้องหลัง มุ่งหน้าสู่วัดป่าประชานิยม บ้านหนองหลวง ตำบลหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เพื่อสะดวกในการเดินทาง ไปรักษาตัว และสะดวกต่อการเดินทางของครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานที่จะมากราบเยี่ยมอาการ อาพาธ ซึ่งก็มีครูบาอาจารย์ทยอยมากราบเยี่ยมเป็นจำนวนมาก
และเมื่อ พระอาจารย์พร สุมโน ได้จัดงานทำบุญอายุขึ้น ในงานนั้นได้มีการนิมนต์พ่อแม่ครูจารย์องค์สำคัญ มาทำงานทำบุญอายุ เช่น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่กู่ ธมฺมทินฺโน พระอาจารย์กว่า สุมโน เป็นต้น ได้มาเยี่ยมและมาทำบุญอายุ พระคณาจารย์ฝ่ายกรรมฐานองค์ใหญ่ ๆ ก็จะเที่ยวเดินธุดงค์ฝ่าดงพระ มาเยี่ยมอาการอาพาธของท่านเสมอ
มรณภาพ
หลวงปู่พร สุมโน ท่านละสังขารเข้าสู่แดนธรรมอันสงบ ณ วัดประชานิยม ในวันอังคารที่ ๑๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑ สิริอายุ ๗๐ ปี ๓๗ พรรษา
เมื่อออกพรรษาแล้วเข้าฤดูแล้งในปีต่อมา วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๒ ทำพิธีถวายเพลิงสรีระสังขาร หลวงปู่พร สุมโน ที่วัดประชานิยม บ้านหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ในงานนั้นได้มีบรรดาครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐาน ได้มาร่วมในงานเป็นจำนวนมาก เช่น หลวงปู่เทสก์ เทสฺรงฺสี หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม หลวงปู่บุญ ชินวํโส พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ หลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม หลวงปู่สุภาพ ธมฺมปญฺโญ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นต้น
และศรัทธาญาติโยมจากทั่วสารทิศ ได้มาตั้งโรงทานบริการ ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้มาร่วมในงาน บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความสงบ ไม่อึกทึกครึกโครม ไม่มีมหรสพ มีแต่การแสดงธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน
ปฏิปทาของพระอาจารย์พร
ในเรื่องปฏิปทาของพระอาจารย์พรนั้น หลวงพ่อพุธได้เล่าไว้ในหนังสือ “ฐานิยตฺเถรวตฺถุ” ว่า…
“วินัยนี่แน่นอนที่สุด…หลวงตาพร… วินัยกับการประหยัด เวลาก่อสร้างนี้ พวกคนก่อสร้างเขาทำปูนตกเพียงแต่เล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านไปเก็บหมด แต่ว่าความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อลูกศิษย์นี่.. ยอด.. หาไม่มีใครเปรียบเทียบ ขนาดเขาเอาน้ำดื่ม น้ำปานะมาแก้วเดียว เอาจอกเล็ก ๆ มาแบ่ง ๆ ๆ ๆ พระเณรเท่าไรให้ได้ฉันทั่วกันหมด หลวงตาองค์นี้เป็นอย่างนั้น อยู่ที่วัดบูรพา”
ความเข้มงวดของ พระอาจารย์พร ในหนังสือประวัติ หลวงปู่บุญมี ฐิตปุญฺโญ ที่พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านได้เล่าไว้ว่า
“ปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ “พ่อตู้อาวพิมพ์” ซึ่งเป็นอาผู้รับอุปการะเลี้ยงดูนายกรณ์มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ด้วยความรักหลานมากจึงเป็นผู้พานายกรณ์ไปเข้านาค และมอบตัวถวายเป็นลูกศิษย์ของ หลวงปู่พร สุมโน
หลังจากถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่พร สุมโน ที่วัดบูรพาราม บ้านโคกสำราญแล้ว นาคกรณ์ ได้เรียนครองนาคอยู่ ๑ เดือนกับหมู่เพื่อนนาคด้วยกัน…”
“หลวงปู่พร ท่านจะเน้นหนักในเรื่องการท่องคำขานนาคมาก ว่าจะต้องออกเสียงให้ถูกต้อง ตรงตามหลักอักขระแบบมคธ เช่น เอ สาหํ ภนฺเต สุจิรปริพฺนิพฺพุตมฺปิ ฯลฯ ต้องว่าให้ได้โดยถูกต้องและแม่นยำ สรณํ คจฺฉามิ ค เปลี่ยนเป็น ก , พ เปลี่ยนเป็น บ เป็นต้น ถ้าว่าไม่ได้หรือไม่ถูกต้องตามแบบ ท่านไม่ให้ผ่าน นาคกรณ์มีความตั้งใจเพียรเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าฝึกซ้อมท่องจำจนเกิดอาการอาเจียนออกมาเลยทีเดียว
ช่วงฤดูใบไม้ร่วงประมาณเดือน ๕ เป็นช่วงที่หมู่นาคเดินทางไปเข้านาค ซึ่งสังเกตเห็นว่า ขณะนั้นเป็นช่วงที่ใบไม้บนต้นไม้ไม่มีแม้แต่สักใบเดียว กว่าที่ว่าหลวงปู่พรท่านจะทำการบวชให้ ก็กลายไปเป็นฤดูที่มีใบไม้ผลิใบเต็มไปจนหมดทั้งต้นแล้ว คือในช่วงราวเดือน ๖ ต่อด้วยเดือน ๗ หรือใกล้ๆ ก่อนจะถึงวันวิสาขบูชานั่นเอง”
อีกเรื่องหนึ่งในหนังสือฉบับเดียวกัน
“หลวงปู่บุญมา คมฺภีรธมฺโม เป็นผู้หนึ่งที่ได้ทราบเรื่องราวของหลวงปู่พร สุมโน ได้เล่าเรื่องความเคร่งครัดในการอบรมวินัยกับพระที่อยู่ในความปกครองไว้ตอนหนึ่งว่า….
“พระอาจารย์คำบุ ธมฺมธโร และเรา (หลวงปู่บุญมา) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ หลังกลับจากไปเที่ยวธุดงค์กลับมาแวะพักกับหลวงปู่พร สุมโนที่วัดประชานิยม เมื่อมาถึงผู้ใดจะมาพูดเสียงดังอย่างเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ต้องพูดซุบซิบ! ๆ อยู่ในรูคอ เสียงพอปานกับเสียงเป็ด พระลูกวัดมากระซิบกระซาบให้ฟังว่า
“เฮาฮ่อง ก่อสิได้ฉันข้าวอิ่มมื่อนี่…พวกเราเพิ่งจะได้มีโอกาสฉันข้าวอิ่มก็วันนี้”
หลวงปู่บุญมาถามขึ้นว่า “สุมื้อเฮ็ดจั่งใด๋อยู่?…แล้วทุกวันไม่อิ่มเหรอ?”
หลวงปู่พรท่าน คอยดูคอยรักษา ท่านกลัวว่าลูกศิษย์ท่านจะตาย (หมายถึงสึก) ท่านคอยรักษาช่วย ท่านไม่ให้ฉันจนอิ่ม พระลูกวัดตอบว่า
“เฮาเห็นครูบาจารย์มา หมู่เพิ่นมา เฮาจั่งค่อยได้ฉันอิ่มมื้อนี่…พวกเราเห็น ครูบาอาจารย์หมู่เพื่อนท่านมาฉันร่วม พวกเราถึงได้ฉันกันอิ่มท้องในวันนี้”
พูดจบก็ “มิดอิ้งติ้ง” (เสียงเงียบกริบ) ราวกับว่าไม่มีผู้คน”
อีกเรื่องหนึ่ง….
“หลวงปู่พรท่านเป็นพระที่ชอบความสงบเป็นอย่างมาก พวกพระบวชใหม่กลัวผี พอค่ำหน่อยต้องเดินย่อง ๆ ลงกุฏิไปหาหมู่พวก กล่าวกันลับหลังว่า
“ปู่เพิ่น บ่ได้ไปไส เพิ่นบ่เห็นดอก…หลวงปู่ท่านไม่ได้ไปไหน ท่านไม่เห็นหรอกว่าพวกเราทำอะไร”
พอถึงตอนเช้า ขึ้นไปบนศาลาก็ถูกท่านต่อว่า “มันย่านผีหลอกมันมาบวชเอาหยัง มันอยู่ไสผีหลอก…มันกลัว ผีหลอกมันจะมาบวชทำไม มันอยู่ที่ไหนผีหลอก”
นับแต่วันนั้นมาพระบวชใหม่เลิกกลัวผีแต่มากลัวหลวงปู่พรแทน”
หลวงปู่พรกับการสร้างวัตถุมงคล
เท่าที่ปรากฏในข้อมูลของวัตถุมงคลที่หลวงปู่พรได้สร้างขึ้นนั้น เท่าที่มีหมุนเวียนอยู่ในวงการก็จะมีแต่เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ที่ท่านสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งเป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ของท่านด้านหลังเป็นยันต์
ส่วนวัตถุมงคลประเภทอื่น เท่าที่ปรากฏในหนังสือประวัติของท่าน มีพระปิดทวาร ผ้ายันต์ และตะกรุด
หลวงปู่บุญมา คมฺภีรธมฺโม ได้เล่าเรื่องวัตถุมงคลและความพิเศษของพระอาจารย์พรไว้ว่า
…..หลวงปู่พร สุมโน ท่านทำอะไรขลังแท้เช่น ท่านทำพระปิดทวาร ทำผ้ายันต์ก็ขลัง ท่านปรารถนามีฤทธิ์เช่นเดียวกันกับพระโมคคัลลาน์ ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันจากท่านพระอาจารย์คำบุ ธมฺมธโร เช่นเดียวกันว่า หลวงปู่พรท่านสามารถสร้างโบสถ์ได้สำเร็จภายในปีเดียว ตั้งแต่คราวปูน ราคาถุงละ ๒๐ บาท ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครทำได้
เรื่องการสร้างโบสถ์นี้รุ่นผู้เฒ่าเล่าให้ลูกหลานฟังว่า โบสถ์สร้างแล้วเรียบร้อย ฝนยังไม่ทันได้ตก หลวงปู่พรก็ว่า
“โบสถ์หลังนี้มันมีรูรั่วน่ะ”
ชาวบ้านก็ค้านว่า “ฝนยังไม่ทันได้ตกหลังคาโบสถ์ จะรั่วได้ยังไร?”
พอฝนตกลงมาหลังคาโบสถ์รั่วจริง ๆ
“เอกซเรย์เก่งแท้ (หมายถึง ญาณวิถี)” คนเขาร่ำลือในสมัยนั้น
พระปิดทวารหรือตะกรุดที่ท่านสร้างนี้หากผู้ใดเอาไปแล้วท่านมีข้อห้ามคือ
๑. ห้ามกินเหล้า
๒. ห้ามพกเวลานอนกับเมีย
หากผู้ใดนำไปแล้วทำไม่ถูกต้อง พระปิดทวารหรือตะกรุดนี้จะลอยกลับคืนมาหาหลวงปู่พรเอง เสียงดังลอยมา หวื้อ!…ป๊อก! ตกลงอยู่ที่ข้างที่นอนของท่าน นี้ก็ได้รับคำยืนยันจากแม่ตู้ศรี
องค์ท่านออกอุทานว่า
“แม่นของบักใด๋หนอ?…พระนี้ใช่เป็นของใครหนอ?”
บางคนไม่กล้ามาเอา เพราะความละอายแก่ใจที่มีต่อท่าน แม่ตู้ศรีมาที่วัดเดินตรงดิ่งเข้ากราบหลวงปู่พร แล้วกราบเรียนท่านว่า
“บักหลอดข้าน้อย เหี่ย ๒ มื้อแล้วหาบ่เห็น ข้าน้อยขออีกแหน่…ตะกรุดน้อยของดิฉันหายไปไหนไม่รู้หายังไงก็ไม่เจอ โยมขออันใหม่ไว้คุ้มครองรักษา”
หลวงปู่พรเลยว่า
“ฮ่วย! มันมาหาเฮาแต่มื้อวาน เอาคืนไปของเจ้า …โอ! มันกลับคืนมาหาเราตั้งแต่เมื่อวาน เอ้า…เอาของเจ้าคืนไป”
หลวงปู่บุญมา เล่าให้ฟังว่า ขณะที่ท่านธุดงค์ไปพักอยู่บ้านถ้ำมูลเพียงผู้เดียว พกพระปิดทวารของหลวงปู่พรไปด้วย ถูกหมากัดแต่กัดไม่เข้า แต่ก็มีรอยแผลบวมขึ้น รู้สึกเจ็บปวดที่แผล ตุ๊บ! ๆ หลังฉันจังหันเสร็จแล้ว ให้เขาไปหามะนาวมาให้ นำมะนาวมาทาที่องค์พระแล้วนำมาแปะใช้ผ้าอาบน้ำพัน นอนพิจารณาดูอาการ พอรู้สึกว่าดีขึ้นก็ผลอยหลับไป รู้สึกตัวตื่นขึ้นอีกครั้ง เย็นขึ้นมาถึงเอว ความเจ็บปวดที่บริเวณแผลที่ถูกหมากัดก็หายสนิทในทันที
หลวงปู่พร เป็นผู้สร้างวัดโคกสำราญ เสร็จแล้วท่านพระอาจารย์สิงห์ สหธมฺโม วัดพระธาตุฝุ่นมาอยู่ แต่ก่อนแถวนี้ไม่มีวัด หากจะบวชต้องไปที่วัดไชยมงคล วัดดอนขี้เหล็ก บ้านเปือย กับวัดประชานิยม เป็นต้น
ศาลาหลังเก่าวัดประชานิยมอยู่นี้ประตูทางเข้ารั้วเป็นไม้กลม ๆ เขาทำไม้เป็นง่ามเอามาฝัง เอามาค้าง ทำเป็นขั้น ๆ กันวัวควายไม่ให้เข้าไปได้ ทำบันไดขึ้นลง แล้วก็เดินขึ้นไปเลย ไม่ได้ทำแบบเปิดปิดเหมือนทุกวันนี้ ที่ขับถ่าย (ห้องน้ำ) ก็ไม่ได้มาอยู่นี้ ตั้งอยู่ริมรั้ว เพราะหากทำใกล้ๆ ก็จะส่งกลิ่นเหม็น เวลาจะไปเข้าห้องน้ำ ก็ใช้บั้งไม้ไผ่กรอกน้ำถือไป ทำก็ทำไว้บนโพน เพราะหากทำในที่ต่ำ น้ำถ่ายแล้วมันจะกระเด็นใส่คน ขุดเป็นหลุมตั้งเสาขึ้นมาเอาไม้พาดขวาง แล้วทำก่อขึ้นเหมือนคอกหมูก่อขึ้นเพื่อไม่ให้หมาลอดเข้าได้ ถ้าไม่ทำอย่างนั้นเวลาถ่ายแล้วส่องดูจะเห็นหมาแย่งกันกินอุจจาระ
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ dharma-gateway.com