วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ พระอริยเจ้าผู้มีกายและจิตสมควรแก่วิมุติธรรม

ประวัติและปฏิปทา พระอาจารย์จวน กุลเชฏโร วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) บ้านคำแคนพัฒนา ต.นาสะแบง อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโร
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดภูทอก

“พระอริยเจ้าผู้มีกายและจิตสมควรแก่วิมุติธรรม”

พระเดชพระคุณพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ พระอริยเจ้าผู้ถึงพร้อมด้วยสาวกบารมีญาณ เกิดมาเพื่อบรรลุธรรมในปัจจุบันชาติ ท่านมีนิสัยโน้มน้อมมาทางพระธรรม ตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อได้ฟังธรรมจากพระกรรมฐาน จิตสงบรวมเป็นหนึ่ง สามารถแยกกายและจิตได้ ท่านจึงได้สละทรัพย์ และบ้านเรือนออกบวช

ท่านเป็นผู้มีความเพียรพยายามเป็นเลิศ มีสติในการแก้ไขกิเลสเฉียบพลัน อุบายธรรมและปฏิปทาเป็นปัจเจก แปลกจากครูบาอาจารย์รูปอื่น

ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ ท่านจําพรรษาอยู่ที่ถ้ําพวง อําเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ได้เกิดจิตปฏิพัทธ์หญิงสาวคนหนึ่ง จึงคิดหาอุบายแก้ไข โดยยกภาษิตโบราณมาเทียบสิ่งที่ท่านหลงใหลอยู่ว่า

หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) 

“เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง ยังเอากระดูก มาแขวนคอ”

ท่านจึงคิดดัดนิสัยของตนเองที่ไปหลงรักผู้หญิงเข้า ด้วยการเอากระดูกช้างมาแขวนคอห้อยต่องแต่ง ท่านตั้งใจมั่นว่า

“ตราบใดที่ใจยังตัดใจอาลัยรักในสตรีไม่ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน ออกบิณฑบาตร ฉันข้าว ก็จะเอากระดูกช้างแขวนคอไว้ ตราบนั้น”

ไม่ว่าท่านจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือรับกิจนิมนต์ไปในหมู่บ้านก็ตาม ท่านเอากระดูกช้างแขวนคอไว้ตลอด จนชาวบ้านทั้งหลายเขาเล่าลือกันว่า “ท่านเป็นบ้า”

เมื่อท่านปฏิบัติอย่างนี้ เกิดความละอายใจเห็นโทษภัยในความลุ่มหลง จิตก็คลายความกําหนัดรักใคร่ในหญิงนั้น เมื่อ หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้ถามถึงเหตุที่ท่านทําเช่นนั้น ท่านได้กราบเรียนดังที่กล่าวมาแล้ว หลวงปู่ขาว กล่าวชมว่า

“อุบายนี้ดีนักแล”

จิตของท่านจึงมุ่งไปสู่ความหลุดพ้น โจนทะยานทําลายกองกิเลส ดั่งสายน้ําพุ่งลงจากยอดเขาสูงลงสู่พื้นล่าง ท่านชอบท่องเที่ยว และแสวงหาครูบาอาจารย์ที่อยู่ตามป่าเขาลึก ๆ เช่น เข้าไปศึกษาธรรมกับท่านพระอาจารย์หล้า ขันติโก พระอริยเจ้าผู้อยู่แต่เพียงโดดเดี่ยวบนสันเทือกเขาภูพาน

ในหลวง ร.๙ กับ พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

ท่านมีสหธรรมิกคือ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร ได้รับอบรมในทางธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และ หลวงปู่ขาว อนาลโย

ท่านได้รับการยกย่องจากท่านพระอาจารย์มั่น ว่า

“กาเยนะ วาจายะ วะเจตวิสุทธิยา ท่านจวน! เป็นผู้มีกายและจิตสมควรแก่ข้อปฏิบัติธรรม เป็นผู้สามารถรวมจิตที่เดียวถึงฐีติจิต”

ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ตรงกับวัน เสาร์ แรม ๑๐ ค่ํา เดือน ๘ ปีวอก ณ บ้านเหล่ามันแกว บ้านเลขที่ ๒๘ หมู่ที่ ๑๒ ตําบลดงมะยาง อําเภอเมือง จังหวัดอํานาจเจริญ

เป็นบุตรของ นายลา และ นางแหวะ วงศ์จันทร์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๗ คนท่านเป็นบุตรคนที่ ๖

เมื่อท่านอายุได้ ๑๔-๑๕ ปี ได้พบพระธุดงค์มาปักกลดอยู่ใกล้บ้านก็บังเกิดความเลื่อมใสตั้งปณิธานว่าต่อไปจะบวชอย่างท่านบ้าง พระธุดงค์ได้มอบหนังสือ “ไตรสรณคมน์” ของท่าน พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ไว้ให้ เมื่อท่านได้อ่านแล้วบังเกิด ความคิดเลื่อมใสศรัทธา ได้พยายามปฏิบัติตาม เริ่มสวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิ บริกรรมภาวนาจิตรวมเป็นหนึ่ง จิตอยู่เฉพาะจิต กายอยู่เฉพาะกาย เวทนาใดก็ไม่มีปรากฎเลย

ไฟปาฏิหาริย์เกิดขึ้นเมื่อพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
บ้วนปาก หลังจากท่านฉันภัตตาหารเสร็จ
ไฟปาฏิหาริย์เกิดขึ้นเมื่อพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
บ้วนปาก หลังจากท่านฉันภัตตาหารเสร็จ

หลังจากจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ อายุย่างเข้า ๑๘ ปี ท่านได้เข้าทําราชการกรมทางหลวงแผ่นดินอยู่เป็นเวลา ๔ ปี

ภายหลังระหว่างทํางานได้รับหนังสือ “จตุราลักษณ์” ของ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล เมื่อท่านอ่านไปถึงบทมรณานุสติ จิตก็สลดสังเวชว่า “เราก็ต้องตาย”

เมื่ออายุเพียง ๒๐ ปี ท่านสละเงินที่เก็บหอมรอมริบ ระหว่างทํางานอยู่กรมทางหลวงทั้งหมดเป็นเจ้าภาพสร้างมหากฐินคนเดียว สร้างพระประธาน สร้างห้องน้ําถวายสงฆ์จนเงินหมด

เมื่อท่านอายุ ๒๑ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ที่วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง ตําบลดงมะยาง อําเภอเมือง จังหวัดอํานาจเจริญ พระอาจารย์บุ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาแจ้ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า “กลฺยาณธมฺโม” ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรม และสอบได้นักธรรมตรีในพรรษานั้น และ ต่อมาก็ได้ลาสิกขา

หลังจากสึกมาเป็นฆราวาสแล้วท่านได้เดินทาง ไปแสวงหาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานธรรมยุต และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ณ วัดป่าสําราญนิเวศน์ อําเภอเมือง จังหวัดอํานาจเจริญ โดยมี พระครูทัศนวิสุทธิ (มหาดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “กุลเชฏฺโฐ”

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้ท่องปาฏิโมกข์ และเจ็ดตํานานจบภายในเวลาหนึ่งเดือน

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ พรรษาที่ ๓ ท่านจําพรรษาที่วัดบ้านนาจิกดอนเมย บ้านหนองปลิง ตําบลนาจิก ได้อธิษฐานทําความเพียรจะไม่นอนและไม่ฉันตลอดพรรษา

ท่านอธิษฐานจิตว่า “ถ้ายังมีบุญวาสนาอยู่ในพรหมจรรย์แล้ว ขอให้ได้นิมิตเห็นท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต”

หลังจากนั้น ๓ วัน ท่านได้นิมิตว่า ได้เดินทางไปสู่สํานัก ท่านพระอาจารย์มั่น เห็นท่านกําลังกวาดลานวัดอยู่ พอเห็นก็รู้ว่านี่คือท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเหลือบมาเห็นเข้าก็ทักพระอาจารย์จวนอย่างดีใจว่า

“อ้อ….ท่านจวนมาแล้ว ท่านจวนมาแล้ว”

มีความรู้สึกคล้ายกับพ่อเห็นลูก ลูกเห็นพ่อ พอท่านตรงเข้าไปจะกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่นก็โก่งหลัง บอกให้ท่านขึ้นขี่หลังเหมือนขี่ม้า แล้วท่านจึงพาเหาะขึ้นบนอากาศจนลิบเมฆ แล้วพามาลงที่กลางภูเขาลูกหนึ่ง แล้วบอกว่า

“เอาละ ลงนี่แหละ พอดีพอควรแล้ว”

ท่านพิจารณาเกิดปีติยินดีว่า คงจะมีวาสนาบารมีอยู่ในเพศพรหมจรรย์ จึงเร่งทําความเพียรต่อไป

แถวหน้า จากซ้าย : พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม
และสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร)
บันทึกภาพ ณ “อนิมิสเจดีย์” พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

หลังออกพรรษาได้ ๕ วัน พระอริยคุณาธาร (มหาเส็ง ปุสโส) ได้เดินทางมาที่วัดป่าบ้านนาจิก พระอุปัชฌาย์จึงได้ฝากท่านกับ พระอริยคุณาธาร ขอให้ช่วยนําไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นด้วย

(จากซ้าย) หลวงปู่ขาว อนาลโย , พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ พรรษาที่ ๔ ท่านจึงได้ติดตามท่าน เจ้าคุณอริยคุณาธารไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

ขณะที่ท่านอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือใหม่ ๆ ใจก็อดคิดตามประสาปุถุชนไม่ได้ว่า “เขาเล่าลือกันว่า ท่านพระอาจารย์ใหญ่เป็นพระอรหันต์ เราก็ไม่ทราบว่าจริงไม่หรือ ถ้าเป็นอรหันต์จริง คืนนี้ก็ให้มีปาฏิหาริย์ให้เห็นปรากฏด้วย”

ในคืนวันนั้นเอง พอท่านภาวนา ก็ปรากฏนิมิตเห็นท่านพระอาจารย์มั่นเดินจงกรมอยู่บนอากาศ และแสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา และเวลานอนหลับก็ยังฝันเห็นท่านเดินอยู่บนอากาศเช่นเดียวกัน ท่านจึงยกมือไหว้และกล่าวขอขมาว่าเชื่อแล้ว

หลังจากวันนั้น ท่านก็เกิดคิดขึ้นมาอีกว่า

“เอ… เขาว่าท่าน อาจารย์ใหญ่รู้วาระจิตของลูกศิษย์ทุกคน จริงไหมหนอ? เราน่า จะทดลองดู ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่รู้วาระจิตของเรา ขอให้ท่านอาจารย์ใหญ่มาหา เราที่กุฏิคืนวันนี้เถอะ”

พอท่านคิดได้ประเดี๋ยวเดียว ก็ได้ยินเสียงไม้เท้าเคาะใกล้เข้ามา และกระแทกเปรี้ยงเข้าที่ฝากุฏิของท่าน พร้อมกับเสียงของ ท่านพระอาจารย์มั่น เอ็ดลั่นว่า

“ท่านจวน…ทําไมจึงไปคิดอย่างนั้น นั่นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ รําคาญเรานี่”

พรรษาที่ ๕-๖ ปี พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๑ จําพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ คืนหนึ่ง ขณะนั่งภาวนาในโบสถ์มีนิมิตเกิดขึ้นว่ามีพระเถระรูปหนึ่งได้มาให้โอวาทตักเตือนว่า

“ท่านจวน ท่านอย่าวางแผ่นดิน เพราะความประพฤติของท่านยังไม่สม่ําเสมอ”

ท่านได้มาพิจารณาดู แผ่นดินแปลว่า ให้มีความหนักแน่น เหมือนแผ่นดิน เมื่อถูกกระทบกระเทือนจากอารมณ์ก็อย่าวอกแวก ตั้งใจให้เป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวฟุ้งซ่าน ท่านจึงได้เขียนจดหมาย กราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นถึงนิมิตในครั้งนี้

ท่านพระอาจารย์มั่นได้ตอบจดหมายมาว่า

“ถึงท่านจวนที่อาลัยยิ่ง…ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมได้แนะนําให้ท่านนั้น ขอให้ท่านจงตั้ง อกตั้งใจประพฤติปฏิบัติดําเนินไปตามคําที่ผมแนะนํา อย่าได้ประมาท เพื่อจะได้เป็นเกียรติยศแก่พระพุทธศาสนาต่อไป”

ในหลวง กับ พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
จากซ้าย พระอาจารย์วัน อุตฺตโม, พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

หลังจากนั้นท่านได้ออกวิเวกอาศัยอยู่บนดอยกับชาวเขาเผ่าต่างๆ ทางภาคเหนือติดกับเขตพม่า เข้าเขตจังหวัดเชียงตุง ประเทศพม่า แล้วกลับมาทางภาคอีสาน

เมื่อกลับมาได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดบ้านหนองผือ จังหวัดสกลนคร ท่านอาจารย์มั่นได้ถามว่าการภาวนาเป็นอย่างไรบ้าง ท่านได้กราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่น ว่า

“ไม่ดีเหมือนอยู่กับพ่อแม่ครูบาอาจารย์”

ท่านอาจารย์มั่นจึงบอกว่า

“ต่อไปให้ภาวนาอยู่ทางภาคอีสานนี้แหละ อย่าไปที่อื่นอีกเลย”

หลังจากนั้นท่านก็ท่องเที่ยวธุดงค์อยู่ป่าเขาถ้ําทางภาคอีสานมาโดยตลอด

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วชุมพล

พรรษาที่ ๒๗-๓๘ ปี พุทธศักราช ๒๕๑๒-๒๕๒๓ ท่านได้สร้างวัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อําเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬ) ให้เป็นศาสนสถานที่สําคัญสําหรับผู้มุ่งปฏิบัติธรรม ด้วยวัตร ปฏิบัติอันงดงามของท่าน และความสวยงามของภูทอก เมื่อใครได้ไปสัมผัสแล้วต่างก็เกิดซาบซึ้งศรัทธากันถ้วนหน้า

คุณหญิงไขศรี ณ ศีลวันต์
ถวายเครื่องไทยทานแด่หลวงพ่อวัน อุตฺตโม,
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร,
พระอาจารย์หนู สุจิตฺโต และพระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม
ที่บ้านของท่าน เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๕
ต่อมา หลวงพ่อวัน อุตฺตโม, พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ,
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร, พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม
และคุณหญิงไขศรี ณ ศีลวันต์ ก็ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก
ที่ท้องนาทุ่งรังสิต เขตหมู่ที่ ๔ ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในวันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓
๒๗ เมษายน ๒๕๒๓
เครื่องบินเดินอากาศไทยตก เสียชีวิต ๔๐ ราย สูญเสียพระเถระผู้ใหญ่ ๕ รูป
พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่โดยสารมากับเครื่องลำดังกล่าว ถึงแก่มรณภาพ ๕ รูปพร้อมกัน
๑. พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
๒. พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน บ้านโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู
๓. พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดภูทอก อำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย
๔. พระอาจารย์วัน อุตตฺโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
๕. พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี บ้านต้าย อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก ณ ท้องนาทุ่งรังสิต หมู่ที่ ๔ ตําบลคลองหลวง อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พร้อมกับ พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม , พระอาจารย์วัน อุตฺตโม , พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร , พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม

สิริรวมอายุ ๕๙ ปี ๕ เดือน ๑๘ วัน พรรษา ๓๘