วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

พระอาจารย์คำมี สุวัณณสิริ วัดสามัคคีธรรม อ.พังโคน จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่คำมี สุวัณณสิริ

วัดสามัคคีธรรม
อ.พังโคน จ.สกลนคร

พระครูศรีภูมานุรักษ์ (หลวงปู่คำมี สุวัณณสิริ) วัดสามัคคีธรรม
พระครูศรีภูมานุรักษ์ (หลวงปู่คำมี สุวัณณสิริ) วัดสามัคคีธรรม ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร

พระอาจารย์คำมี สุวัณณสิริ แห่งวัดสามัคคีธรรม บ้านนาเหมือง ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร เป็นพระป่าสายปฏิบัติในสายของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อีกรูปหนึ่งที่มีวัตรปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบมีเมตตาธรรมสูง มุ่งเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ครองตนอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์สมถะเสมอต้นเสมอปลาย

◎ ชาติภูมิ
พระครูศรีภูมานุรักษ์ (หลวงปู่คำมี สุวัณณสิริ) ชื่อเดิม คำมี นามสกุล สุวรรณศรี เกิดวันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ ปีวอก วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๔ (แต่ตามที่ใช้ปกติปีวอก ๒๔๖๓) ที่บ้านบก หมู่ที่ ๓ ตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อนายเคน สุวรรณศรี มารดาชื่อนางดี สุวรรณศรี สำเร็จการศึกษาชั้น ป.๔ ที่ ร.ร ประชาบาลบ้านก่อ ๑ ตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ และได้ฝากตัวเป็นศิษย์วัดที่บ้านบกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นศิษย์วัดอยู่ ๒ ปี เรียนสวดมนต์น้อยสวดมนต์กลางอักษรธรรม (เรียนแบบต่อหนังสือปากเปล่า) กับอาจารย์พา สาธรพันธ์ และอาจารย์โทน ศรีงาม เจ้าอาวาสตามลำดับกัน ครั้นปลายปี พ.ศ.๒๔๗๘ จบ ป.๔ แล้วบรรพชาเป็นสามเณรที่สีมาวัดบ้านบก ตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี พระอุปัชฌาย์อ่อน สิริจนฺโท วัดบ้านก่อเป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นบรรพชาแล้วอยู่บ้านบกไม่นานก็ได้ติดตามพระอาจารย์เพชร กิตฺติวณฺโท อดีตเจ้าอาวาสวัดบุญญานุสรณ์ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

ไปจำพรรษาที่วัดบ้านก่อ ร่วมกับพระอุปัชฌาย์มีพระอาจารย์สีทา สีดา เป็นพระสอนสวดมนต์ จบพระปาฏิโมกข์ ในปี พ.ศ.๒๔๗๙ และสอบ น.ธ.ตรี ได้ พระมหาพรหมา บุญสร้าง เป็นครูสอน ปี พ.ศ.๒๔๘๐ ได้จำพรรษาและเรียนบาลีไวยากรณ์ที่วัดบ้านก่อ พระอาจารย์มหาสีทน กาญฺจโน เป็นครูสอน และออกพรรษาแล้วท่านนำเที่ยววิเวก ถึงเมืองโขงจำปาศักดิ์ หลี่ผี ปี พ.ศ.๒๔๘๑ จำพรรษาที่วัดสุปัฏนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ได้บรรพชาซ้ำอีก กับพระศรีธรรมาวงศาจารย์ (ทองจันทร์ เกสโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ซ้ำอีกและสอบได้ และในพรรษานี้ป่วยเป็นโรคเหน็บชาตลอดพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๘๒ ออกมาจำพรรษาที่วัดบ้านก่ออีก ๑ พรรษาไม่ได้อะไร ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ได้ติดตามท่านพระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม ไปจำพรรษาที่วัดอรุณรังษี จ.หนองคาย ได้ป่วยเป็นโรคเหน็บชาตลอดพรรษาอีก สอบ น.ธ. โท ได้ในสำนักเรียนวัดบุญญานุสรณ์ จ.อุดรธานี ใน พ.ศ.๒๔๙๒ สอบ น.ธ.เอก ได้ที่สำนักเรียนวัดกุดเรือคำ จ.สกลนคร ใน ปี พ.ศ.๒๔๙๖

◎ การอุปสมบท
ได้อุปสมบทที่อุโบสถวัดศรีเมือง จ.หนองคาย พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต) (ครั้งดำรงตำแหน่งพระครูวิชัยสังฆกิจ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระใบฎีกานาค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาอินทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ สำเร็จญัติจตุตถกรรมเวลา ๑๕.๐๗ น. วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓ ได้รับฉายาว่า “สุวณฺณสิริ

พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต) วัดศรีเมือง
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต) วัดศรีเมือง

ครั้นปี พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๕ ป่วย ได้จำพรรษาที่วัดป่าบ้านค้อ ตำบลบ้านกลาง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้ศึกษาวิปัสนาธุระตามลำพังกับท่านพระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม ปี พ.ศ.๒๔๘๖ จำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ศึกษาวิปัสสนาตามลำพัง ป่วยเป็นไข้ป่ากลางเรื้อรังอยู่นาน ปี พ.ศ.๒๔๘๗ จำพรรษาที่ถ้ำกวาง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น กับท่านพระอาจารย์คำดี ปภาโส ปี พ.ศ.๒๔๘๘ จำพรรษาที่สำนักภูสวรรค์ (ภูตะกา) บ้านหนองบัวน้อย อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ปี พ.ศ.๒๔๘๙ จำพรรษาที่สำนักป่าช้าบ้านต้นผึ้ง หนองคู อำเภอภูเวียง อาศัยศึกษาวิปัสสนาธุระอยุ่กับท่านพระอาจารย์คำดี ปภาโส เป็นเวลา ๓ ปี ปี พ.ศ.๒๔๙๐ จำพรรษาที่วัดป่าศรัทธาราม บ้านห้วยทรายคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ออกพรรษาไปตั้งสำนักสงฆ์ชั่วคราวที่บ้านโคกแฝก-หนองขาม อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และไปพักวิเวกที่ป่าช้าบ้านกกเกลี้ยงบ้านเล้า ให้ชื่อว่าสำนักป่าเวฬุวันขณะนี้สร้างไปแล้ว ปี พ.ศ.๒๔๙๑ ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านบก ตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อโปรดญาติพี่น้องมาตุภูมิ-ปิตุภูมิ

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ออกพรรษาแล้วได้มาปฏิบัติวิปัสสนาธุระกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตโต ที่วัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ) อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ได้ประมาณครึ่งเดือน ในปี พ.ศ.๒๔๙๒-๒๔๙๓ จำพรรษาที่สำนักป่าสุขาวิเวก บ้านหนองบัว ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร เนื่องจากโยมบิดา-มารดา ได้อพยพตามขึ้นมาอาศัยตั้งครอบครัวอยู่ที่บ้านหนองบัวนั้น แต่บังเอิญไม่สมหวัง โยมบิดา-มารดาได้ถึงแก่กรรมไปในปีแรกและปีถัดมา จึงเป็นเหตุให้เสียกำลังใจ ปี พ.ศ.๒๔๙๔ จึงได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดศิริราษฎร์วัฒนา บ้านเจริญศิลป์ ตำบลทุ่งแก อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ได้ปรับปรุงพัฒนาขยายวัดนี้ให้กว้างขวางถึง ๑๐๐ ไร่ วางผัง-ตัดถนน-สร้างกุฏิ และปลูกต้นไม้ผลไม้ไว้ให้เป็นระเบียบพอสมควร และยังได้สร้างศาลาหอฉันไว้ด้วย

ปี พ.ศ.๒๔๙๖ ได้ไปจำพรรษาที่สำนักป่าธาตุศรีทอง บ้านธาตุ ตำบลธาตุทอง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เนื่องจากความต้องการของโยมชาวบ้านธาตุนั้นอยากบูรณะบำรุงดอนธาตุ ซึ่งประชาชนในถิ่นนั้นนับถือเป็นศาลเจ้ามเหศักดิ์อันใหญ่โต จนคนไปทำอะไรบริเวณนั้นไม่ได้ถึงกับหักคอตาย หรือว่ายบกฯ จึงได้ไปช่วยบูรณะพัฒนาภายในด้านศีลธรรมให้เชื่อมเข้าในจิตใจของประชาชน และพัฒนาด้านวัตถุ ให้เป็นที่เจริญสมณะธรรมกรรมฐานเป็นรมณียสถานมาตลอดทุกวันนี้

ครั้นปี พ.ศ.๒๔๙๗ กลับมาจำพรรษาที่วัดศิริราษฎร์วัฒนา บ้านเจริญศิลป์อีก ได้ตั้งสำนัก ศาสนศึกษาปริยัติธรรม น.ธ.ตรี-โท-เอก ขึ้นตั้งแต่บัดนั้น จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๒๑ ปีแล้ว ปี พ.ศ.๒๔๙๘ ได้ไปตั้งวัดศรีสว่างแดนดิน โดยคำบัญชาของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ (อดีตเจ้าคณะมณฑลอุดรธานี) ได้ปรับปรุงพัฒนาวางผัง-ตัดถนนในวัดนี้ตามระเบียบของกรรมการศาสนาที่วางไว้เป็นหลักประกอบ ได้สร้างเสนาสนะ-ปลูกมะม่วงอกร่องไว้มาก ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ๑๓ ปี (พ.ศ.๒๔๙๘-๒๕๑๐)

ปี ๒๕๑๑ ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเจ้าคระอำเภอพรรณนานิคม-วาริชภูมิ (ธ) ตั้งสำนักอยู่ที่วัดสามัคคีธรรม บ้านนาเหมือง ตำบลพังโคน อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร โดยคำบัญชาของเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีระวงค์ (ธมฺมธโร พิมพ์) วัดพระศรีมหาธาตุ พระนคร เจ้าคณะภาค ๘-๙-๑๐-๑๑ (ธ) ในสมัยนั้น รวมประจำอยู่วัดสามัคคีธรรมนี้ ๗ ปีบริบูรณ์ย่างเข้าปีที่ ๘

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร ป.ธ.๖)
วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

◎ งานการปกครอง
ปี พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดศิริราษฎร์วัฒนา
ปี พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสว่างแดนดิน
ปี พ.ศ.๒๕๐๔ เป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นเจ้าอาวาสวัดสามัคคีธรรม และเป็นเจ้าคณะอำเภอพรรณานิคม-วาริชภูมิ (ธ)
ปี พ.ศ.๒๕๑๐ ได้รับสมณศักดิ์ พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี-และชั้นโทตามลำดับ

◎ งานการศึกษา
ปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้ตั้งสำนักศาสนศึกษาปริยัติธรรมที่วัดศิริราษฎร์วัฒนา
ปี พ.ศ.๒๕๐๒ ตั้งศาสนศึกษาปริยัติธรรมขึ้นที่วัดศรีสว่างแดนดิน
ปี พ.ศ.๒๕๑๑ ตั้งสำนักศาสนศึกษาปริยัติธรรมขึ้นที่วัดสามัคคีธรรม จนถึงปัจจุบัน ส่วนเครื่องอุปกรณ์การศึกษาก็เป็นเงาตามตัวขึ้นในที่นั้นๆ
ปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้แต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง น.ธ.ตรี มาตลอดจนถึงทุกวันนี้

◎ งานเผยแพร่
ได้ช่วยอบรมศีลธรรม – เยี่ยมเยือนประชาชนในเขต อำเภอสว่างแดนดิน ในขณะที่เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดิน ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูต อบรมประชาชนในเขตจาริก-ปกครอง แต่ปี พ.ศ.๒๕๐๗ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ได้ ๑๑ ปีแล้ว (ทำทุกปี)

นอกจากนี้ได้ช่วยแก้มิจฉาทิฐิของประชาชนบ้านป่าขาดอนในเรื่องลัทธิ ถือผีสางนางไม้ให้กลับเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย และถือพระไรสรณคมให้มั่นคงยิ่งขึ้น หรือป่วยไข้ ผีสิง ก็ให้อาบน้ำพระพุทธมนต์เป็นต้น

◎ งานสาธารณูปการ
ได้ก่อสร้างบูรณะวัดถาวรวัตถุดังต่อไปนี้ได้
๑. ได้วางผังก่อสร้างวัดศิริราษฏร์วัฒนา บ้านเจริญศิลป์ ตัดถนนรอบวัด ล้อมรั้วในที่ดิน ๑๐๐ ไร่ด้วยลวดหนามหลักไม้แก่น และยังมั่นคงในปัจจุบันนี้ ช่วยงานสร้างอุโบสถ และจัดงานฝังลูกนิมิตเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔
๒. ได้วางผังสร้างวัดศรีสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน สร้างกุฏิ ๒ ชั้นด้วยไม้ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๑ เมตร สร้างถังเก็บน้ำฝน และสร้างสระน้ำใช้ได้อยู่จนปัจจุบันนี้ จากปี พ.ศ.๒๔๙๘-๒๕๑๐ ได้ที่ดิน ๕๔ ไร่
๓. ได้บูรณะและสร้างศาลาการเปรียญวัดธาตุศรีทอง บ้านธาตุ ตำบลธาตุทอง อำเภอวานรนิวาส ในปี พ.ศ.๒๕๐๐
๔. ได้วางผังบูรณะวัดสามัคคีธรรม สร้างกุฏิ-ตัดถนนในวัด และรอบวัด สร้างสระน้ำกว้าง ๖๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ลึก ๓.๕๐ เมตร สร้างศาลาหอฉัน ศาลาที่พักชี สร้างสีมาวิหาร (อุโบสถ) กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๓๖ เมตร (๒ ชั้น) คิดค่าก่อสร้างในระยะ ๗ ปี ประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านห้าแสนบาทเศษ) โดยได้รับอุปการะจากทางการบ้างและจากศาสนิกชนทั่วไปบ้าง ขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

วัดสามัคคีธรรม ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร

สรุปชีวประวัติ พระครูศรีภูมานุรักษ์ (หลวงปู่คำมี สุวัณณสิริ) ชีวิตเป็นฆราวาส ๑๕ ปี เป็นบรรพชิต ๓๙ ปี รวมอายุ ๕๔ ปี พรรษาเป็นพระ ๓๔ พรรษา เป็นสามเณร ๕ ปี เที่ยววิปัสสนาอยู่ ๙ ปี ทำงานส่วนรวมคันถธุระ ๒๕ ปี นับว่าเป็นชีวิตที่ขาดทุนภายใน (ยังประมาทอยู่)

เห็นว่าภาระด้านคันถธุระที่ได้ทำมานี้พอสมควรแก่กำลัง และภาวะชีวิตความเป็นมาและจนเป็นอยู่อีกต่อไป ชักจะไม่ไว้ใจในชีวิต จึงใคร่ขอจารึกประวัตินี้ไว้เพื่อศิษยานุศิษย์ผู้สนใจ จะได้อ่านได้ศึกษา ประพฤติปฏิบัติตามในส่วนที่ดี เพื่อหาที่พึ่งแก่คนอื่นต่อไป ทั้งในปัจจุบันและสัมปรายิกภพข้างหน้าด้วย

◎ มรณภาพ
พระอาจารย์คำมี สุวัณณสิริ ได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อเวลา ๒๓.๒๐ น. วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๐ ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดอุดรธานี การลาขันธ์วาโลกของท่านนี้ นายแพทย์แจ้งว่าสมองของพระอาจารย์คำมีไม่ทำงานอีกต่อไป สาเหตุเกิดจากท่านได้ตรากตรำทำงานฝ่ายคันถธุระเผยแพร่พระศาสนาอย่างหนักจนเกินกำลังของสังขารร่างกายสุดที่จะทนได้ไหว

อาการป่วยได้แสดงออกมาขณะที่พระอาจารย์คำมีกำลังเทศนาธรรม ณ ที่พักสงฆ์ บ้านคำบอน ตำบลน้ำจั่น อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๐ คือท่านหมดสติไปกะทันหันไม่รู้สึกตัวเลย คณะศิษยานุศิษย์ได้ช่วยกันนำท่านส่งโรงพยาบาลอุดรธานี แต่ก็สุดวิสัยที่คณะแพทย์จะเยียวยารักษาได้และท่านก็ถึงแก่มรณภาพไปตามคติธรรมดาของชีวิตซึ่งมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แก่เฒ่าชราแปรเปลี่ยนไปในท่ามกลางและแตกดับสลายไปในทีสุดเหมือนกันหมด สมจริงตามพระพุทธพจน์ว่า

สัพเพ เภทปริยันตัง เอวัง มัจจาน ชิวิตัง

ชีวิตของหมู่สัตว์เหมือนภาชนะดิน ล้วนมีความแตกสลายเป็นที่สุด

สิริอายุของพระอาจารย์คำมี ๖๖ ปี พรรษา ๔๖

เจดีย์ พิพิธภัณฑ์ พระครูศรีภูมานุรักษ์ (หลวงปู่คำมี สุวัณณสิริ) ภายในวัดสามัคคีธรรม
รูปเหมือน พระครูศรีภูมานุรักษ์ (หลวงปู่คำมี สุวัณณสิริ) ภายในเจดีย์พิพิธภัทฑ์ วัดสามัคคีธรรม
อัฐบริขาร เครื่องใช้ต่างๆ พระครูศรีภูมานุรักษ์ (หลวงปู่คำมี สุวัณณสิริ)
ภายในเจดีย์ พิพิธภัณฑ์ วัดสามัคคีธรรม
อัฐบริขาร เครื่องใช้ต่างๆ พระครูศรีภูมานุรักษ์ (หลวงปู่คำมี สุวัณณสิริ)
ภายในเจดีย์ พิพิธภัณฑ์ วัดสามัคคีธรรม
รูปเหมือน พระครูศรีภูมานุรักษ์ (หลวงปู่คำมี สุวัณณสิริ) ภายในวัดสามัคคีธรรม

◎ คติธรรม พระครูศรีภูมานุรักษ์ (หลวงปู่คำมี สุวัณณสิริ)
“..ถ้าไม่ได้ด้วยเล่ห์ จะได้ด้วยกล
ถ้าไม่ได้ด้วยมนต์ จะให้ได้ด้วยคาถา
งานที่มีอุปสรรคมาก ย่อมมีความเจริญมาก
งานที่มีอุปสรรคน้อย ย่อมมีความเจริญน้อย
งานที่ไม่มีอุปสรรค ย่อมไม่มีความเจริญ..”

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ http://watsamakeetham.blogspot.com