ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์กว่า สุมโน
วัดป่ากลางโนนภู่
ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ท่านพระอาจารย์กว่า สุมโน เดิมชื่อ กว่า เกิดในตระกูล สุวรรณรงค์ ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร นับเป็นญาติที่ใกล้ชิดกัน
บิดาท่านคือ หลวงพรหม (เมฆ สุวรรณรงค์) มารดาชื่อ หล้า สุวรรณรงค์
ท่านเกิดในวันอังคาร แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ท่านมีพี่ชาย คือ พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน แห่งวัดมหาชัย ต.หนองบัว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเกิดในปี พ.ศ.๒๔๔๓ แก่กว่าท่าน ๔ ปี และอ่อนกว่าพระอาจารย์ฝั้นผู้เป็นญาติสนิท ๕ ปี (พระอาจารย์ฝั้นเกิด พ.ศ.๒๔๔๒)
ตระกูลสุวรรณรงค์สืบเชื้อสายมาจากชาวผู้ไทเมืองวังอ่างคำ แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว อพยพเข้ามาในประเทศไทยครั้งสมัยรัชกาลที่สาม มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองพรรณนานิคม และผู้นำการอพยพได้รับพระราชทานยศเป็น พระเสนาณรงค์ เจ้าเมืองพรรณนานิคม ซึ่งยศ “พระเสนาณรงค์” เป็นชื่อยศประจำตำแหน่งเจ้าเมืองพรรณนานิคม ซึ่งก็มีลูกหลานเจ้าเมืองคนแรกสืบตำแหน่งกันต่อมาจนถึง พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) ท่านที่สี่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น เมืองพรรณนานิคมได้เปลี่ยนเป็น อำเภอพรรณนานิคม เจ้าเมืองพรรณานิคมก็เปลี่ยนเป็นนายอำเภอ พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) จึงเป็นนายอำเภอพรรณนานิคมคนแรก และเมื่อมีประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นใช้ จึงเอานามตัว คือ “สุวรรณ์” มารวมกับนามบรรดาศักดิ์คือ “เสนาณรงค์” มาเป็นนามสกุล “สุวรรณรงค์”
น่าสังเกตว่าบิดาของท่านมีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวง” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่า “พระ” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองคือ “พระเสนาณรงค์” เพียงระดับเดียว ตำแหน่ง พระเสนาณรงค์ เป็นตำแหน่งของเจ้าเมือง ระดับหัวเมืองชั้นตรี ปกครองโดยเจ้าผู้ครองนคร ระดับ “พระ” และในสมัยก่อนนั้น เมืองพรรณนานิคมยังใช้ระบบอาชญาสี่อยู่ ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่แบ่งออกเป็น ๔ ชั้น ประกอบด้วย เจ้าเมือง, อุปฮาด (อุปราช), ราชวงศ์ และราชบุตร ซึ่งเทียบตำแหน่งใหม่เมื่อครั้งเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองมาเป็นแบบเทศาภิบาล (มณฑล) ทั่วประเทศ ยกเลิกการปกครองแบบเก่าที่ใช้ระบบอาชญาสี่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ และในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ดังนี้
เมืองต่าง ๆ ให้เรียกว่าอำเภอ ให้เจ้าเมืองเป็นนายอำเภอ ให้อุปฮาดเป็นปลัดอำเภอ ให้ราชวงศ์เป็นสมุห์อำเภอ ให้ราชบุตรเป็นเสมียนอำเภอ
ดังนั้นพอจะอนุมานได้ว่า บิดาของหลวงปู่กว่าเป็นข้าราชการเทียบได้กับระดับ “อุปฮาด” หรือในระบบใหม่คือ “ปลัดอำเภอ” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างจะมีอำนาจมากในสมัยนั้น
ต่อมาในสมัยที่พระอาจารย์ฝั้น, พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่า เจริญวัยเป็นหนุ่มแล้ว เจ้าไชยกุมาร (เม้า) ผู้เป็นบิดาพระอาจารย์ฝั้น และ หลวงพรหมผู้เป็นบิดาพระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่าก็ได้อพยพพร้อมกับครอบครัวอื่น ๆ อีกหลายครอบครัว ออกจากบ้านม่วงไข่ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ออกไปประมาณ ๔ กิโลเมตร ไปตั้งบ้านใหม่ขึ้นอีกหมู่หนึ่ง ให้ชื่อว่า บ้านบะทอง เพราะที่นั่นมีต้นทองหลางใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันต้นทองหลางใหญ่ดังกล่าวได้ตายและผุพังไปสิ้นแล้ว สาเหตุที่อพยพออกจากบ้านม่วงไข่ก็เพราะเห็นว่า สถานที่ใหม่อุดมสมบูรณ์กว่า เหมาะแก่การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เช่นวัว ควาย และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงไหม เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีลำห้วยขนาบอยู่ถึงสองด้าน ด้านหนึ่งคือ ลำห้วยอูนอยู่ทางทิศใต้ ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือลำห้วยปลา อยู่ทางทิศเหนือ
ก่อนอพยพจากบ้านม่วงไข่ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) บิดาของพระอาจารย์ฝั้น ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองลูกบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขมาก่อนแล้ว ครั้นมาตั้งบ้านเรือนกันใหม่ที่บ้านบะทอง ท่านก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไปอีก เพราะลูกบ้านต่างให้ความเคารพนับถือในฐานะที่ท่านเป็นคนที่มีความเมตตาอารี ใจคอกว้างขวางและเยือกเย็นเป็นทีประจักษ์มาช้านาน
การบรรพชาและอุปสมบท
ในพ.ศ.๒๔๖๒ ขณะที่ท่านอายุได้ ๑๕ ปี บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านไร่ (วัดสิทธิบังคม) ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร มีท่านอาญาครูธรรม เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านอาญาครูธรรมนี้เป็นเจ้าอาวาส วัดพระธาตุโพนทอง บ้านบะทอง ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูสกลสมณกิจ เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร และเป็นอุปัชฌาย์ให้กับพระภิกษุกู่ ธัมมทินโน ผู้เป็นพี่ชาย เช่นกัน แต่พระกู่พี่ชายไปบวชที่วัดโพธิ์ชัย (วัดบ้านม่วงไข่) บ้านม่วงไข่ อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร ในปีถัดมา คือปี พ.ศ.๒๔๖๓ ซึ่งเป็นปีที่พระกู่อายุครบ ๒๐ ปี นอกจากนั้น ท่านอาญาครูธรรมผู้นี้ยังถือได้ว่าเป็นอาจารย์กัมมัฏฐานท่านแรกของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร อีกด้วย
สำหรับชื่อวัดที่หลวงปู่กว่า บรรพชาเป็นสามเณรคือวัดบ้านไร่นั้น ได้ค้นตามแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ไม่พบว่ามีชื่อวัดบ้านไร่ อยู่ในสารบบวัดในจังหวัดสกลนคร สันนิษฐานว่าเป็นชื่อเดิมของ วัดสิทธิบังคม ซึ่งเป็นวัดเดียวกับวัดที่ พระอาจารย์ฝั้น บวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งบวชในปีเดียวกับที่หลวงปู่กว่าบวชเป็นเณร
ดังนั้น ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ตำบลพรรณนาก็ได้มีทายาทในตระกูลสุวรรณรงค์ถึง ๓ คนได้สละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศสมณะและเป็นพุทธทายาทที่สำคัญในอนาคต คือ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน และ สามเณรกว่า สุมโน
หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว เข้าใจว่าท่านก็อยู่เล่าเรียนหนังสืออยู่ที่วัดสิทธิบังคมนั้น ร่วมกับพระภิกษุฝั้น อาจาโร ผู้เป็นญาติสนิทที่ได้บวชที่วัดนั้น ในปีเดียวกัน แต่หลังจากออกพรรษาในปีนั้นแล้ว ท่านพระอาจารย์ฝั้นก็ได้ย้ายไปอยู่วัดพระธาตุโพนทอง บ้านบะทอง
พระอาจารย์กว่า และ พระอาจารย์ฝั้น พบพระอาจารย์มั่น
ในปีถัดมาคือ พ.ศ.๒๔๖๓ เป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของท่านทั้งสาม เนื่องจากเป็นปีที่ทำให้ชีวิตในอนาคตของท่านเปลี่ยนไปตลอดกาล ในเดือน ๓ ข้างขึ้น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกหลายรูป ได้ออกจากเสนาสนะป่าบ้านห้วยทราย กิ่งคำชะอี จังหวัดนครพนม เดินธุดงค์ออกขึ้นไปทางทิศเหนือขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงป่าช้าข้างบ้านม่วงไข่ (ปัจจุบันเป็น วัดภูไทสามัคคี) พักที่วัดป่าภูไทสามัคคี ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ญาติโยมทั้งหลายในบ้านม่วงไข่ ได้พากันไปนมัสการ และขอฟังพระธรรมเทศนาของท่าน สำหรับพระภิกษุที่ไปร่วมฟังด้วย มีท่านอาญาครูดี (เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย หรือ วัดบ้านม่วงไข่) พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น ผู้เป็นญาติของท่าน เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจบลง ท่านทั้งสามก็บังเกิดความปีติยินดีและเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ได้พากันปวารณาตัวขอเป็นศิษย์ต่อพระอาจารย์มั่น รับเอาข้อวัตรปฏิบัติ ถือธุดงควัตรโดยเคร่งครัด กับได้ขอติดสอยห้อยตามท่านอาจารย์มั่นไปด้วย
แต่น่าสังเกตว่าสามเณรกว่าไม่ได้รวมอยู่ในผู้ที่ได้ไปฟังธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นด้วย คงด้วยเหตุที่เห็นว่าท่านยังเป็นเณรอายุเพียง ๑๖ ปี และ เมื่อพระกู่ผู้เป็นพี่ชายได้ออกธุดงค์ติดตามท่านพระอาจารย์มั่น ไปพร้อมด้วยพระอาจารย์ฝั้น และ อาญาครูดี สามเณรกว่าก็ไม่ได้ติดตามไปด้วย
ประวัติของพระอาจารย์กว่าในช่วงนี้ไม่มีแหล่งข้อมูลมากนัก แต่สันนิษฐานว่า เมื่อพระอาจารย์กู่ผู้เป็นพี่ชายได้ออกติดตามพระอาจารย์มั่นไปพร้อมกับพระอาจารย์ฝั้นและอาญาครูดี จนกระทั่งไปทันพระอาจารย์มั่นที่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน พระอาจารย์ทั้งสามได้ศึกษาธรรมอยู่กับพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นจึงได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ ที่บ้านหนองดินดำแล้วไปหาพระอาจารย์สิงห์ ที่บ้านหนองหวาย ตำบลเดียวกัน ศึกษาธรรมอยู่กับท่านอีก ๗ วัน จากนั้นก็ได้กลับไปอยู่บ้านตาลเนิ้ง และได้ไปรับฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ ๆ
จากนั้นผู้เรียบเรียงเข้าใจว่า พระอาจารย์กู่ ท่านอาญาครูดีและท่านอาจารย์ฝั้นได้แยกกันออกธุดงค์เพื่อปฏิบัติธรรม ตามวัตรปฏิบัติของท่านพระอาจารย์มั่นที่มักจะไม่ชอบให้ศิษย์อยู่รวมกันเป็นหมู่มาก หรือ อยู่ติดที่ใดที่หนึ่งนานๆ
พระอาจารย์กู่นำสามเณรกว่ากราบพระอาจารย์มั่น
ท่านพระอาจารย์กู่ น่าจะออกธุดงค์เพื่อปฏิบัติธรรมเช่นนั้นจนถึงระยะหนึ่งจึงได้กลับไปบ้านม่วงไข่ และได้นำสามเณรกว่าผู้น้องชายที่พำนักอยู่ที่วัดสิทธิบังคม ออกธุดงค์เพื่อติดตามพระอาจารย์มั่น เพื่อให้สามเณรน้องชายได้มีโอกาสพบและกราบพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และได้ไปทันพระอาจารย์มั่น ณ ที่ใดที่หนึ่งระหว่างทางที่พระอาจารย์มั่นธุดงค์ไปถ้ำผากูด อ.คำชะอี เพื่อไปกราบคารวะพระอาจารย์เสาร์ ผู้เป็นอาจารย์และเยี่ยมโยมมารดาซึ่งบวชเป็นชี และพักอยู่ในบริเวณใกล้กับที่พระอาจารย์เสาร์จำพรรษา และ ไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านห้วยทราย กิ่งอำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบัน สถานที่นั้นเป็นวัดชื่อ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร)
ปีนั้นเป็นปี พ.ศ.๒๔๖๔ บ้านห้วยทรายนี้เป็นบ้านเกิดของ พระอาจารย์จาม มหาปุญโญ ศิษย์พระอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่ง ซึ่งโยมบิดาและโยมมารดาของท่านได้พาท่านไปกราบพระอาจารย์เสาร์ และ พระอาจารย์มั่น ตั้งแต่พระอาจารย์จามอายุ ๖ ปี เมื่อครั้งพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่น มาจำพรรษาที่ถ้ำผากูด ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ และอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.๒๔๖๔ เมื่อท่านอายุได้ ๑๑ ปี ครั้งนี้ท่านยังจำได้ว่า แม่มะแง้ ผู้มารดาได้ทำแกงขนุนถวายพระป่าที่มาจำพรรษาอยู่ที่นั้น ซึ่งในจำนวนนี้มี พระกู่ ธัมมทินโน และสามเณรกว่ารวมอยู่ด้วย ต่อมาท่านได้กราบถวายตัวกับพระอาจารย์มั่นในปี พ.ศ.๒๔๖๙ สุดท้ายท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทรายนี้ ปี พ.ศ.๒๔๖๕ พระกู่ ธัมมทินโน และสามเณรกว่า
จำพรรษากับพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองลาด
ออกพรรษาปี ๒๔๖๔ จากบ้านห้วยทราย ท่านพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่นได้ธุดงค์มาพักที่ป่าริมหนองน้ำบาก ใกล้บ้านหนองลาด ต.หนองลาด อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร (ต่อมาเป็นวัด ชื่อว่า วัดป่าหนองบาก ต่อมาวัดได้ย้ายออกไป ๒ ก.ม. เปลี่ยนชื่อเป็น วัดป่าราษฎร์สามัคคี ส่วนบริเวณวัดเดิมกลายเป็นโรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านหนองลาดวิทยาคาร) พร้อมกับศิษย์กลุ่มใหญ่ และได้จำพรรษาอยู่ ณ ที่นี้ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ พระกู่ ธัมมทินโน และสามเณรกว่าก็จำพรรษาอยู่ด้วย
ออกพรรษาปี พ.ศ.๒๔๖๕ พระกู่ ธัมมทินโน และ สามเณรกว่าก็ได้ติดตาม ท่านพระอาจารย์เสาร์ และ ท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งได้ธุดงค์มาจำพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๖๖ ที่วัดป่ามหาชัย บ้านหนองบัวลำภู อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี (ปัจจุบันคือ จ.หนองบัวลำภู) เพื่อรับการอบรมธรรมปฏิบัติและข้อวัตรปฏิบัติ และในปีนี้พระกู่ ธัมมทินโน ผู้เป็นพี่ชายก็ ได้ญัตติเป็นพระภิกษุธรรมยุติกนิกาย โดยมีพระอดิศัยคุณาธาร (คำ อรโก) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มั่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ณ วัดมหาชัย ต. หนองบัว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
พ.ศ.๒๔๖๗ ท่านพระอาจารย์มั่น ได้มาพักจำพรรษา ที่เสนาสนะ วัดป่าบ้านค้อ (ปัจจุบันคือวัดป่าสาระวารี ม.๓ บ้านค้อ ตำบลบ้านผือ อ.บ้านผือ อุดรธานี คนละวัดกับ วัดบ้านค้อ ม.๗ บ้านค้อ ตำบลเขือน้ำ บ้านผือ อุดรธานี ซึ่งเป็นวัดที่พระอาจารย์ทูล ขิบปปัญโญ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘) ในปีนี้พระเทสก์ เทสรํสี ซึ่งเพิ่งบวชเป็นพรรษาแรก ได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม มากราบพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งแรก รวมทั้งพระอ่อน ญาณสิริ ก็ได้กราบถวายตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นในปีนี้เช่นกัน
พ.ศ.๒๔๖๘ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ เป็นปีที่สามเณรกว่าอายุครบบวช ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายธรรมยุติ ณ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมี เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธโล) เมื่อยังเป็นพระครูสังฆวุฒิกร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระรักและพระบุญเย็น เป็นพระกรรมวาจารย์ และก่อนหน้าที่พระอาจารย์กว่าจะอุปสมบทไม่กี่วัน พระอาจารย์ฝั้น ญาติสนิทของท่านก็ได้รับอนุญาตจากพระอาจารย์มั่นให้ญัตติเป็นพระฝ่ายธรรมยุติกนิกายได้และได้ญัตติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่วัด และพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกันกับพระกว่าผู้น้องชายคือ เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งเป็นที่พระครูสังฆวุฒิกร แต่สำหรับพระอาจารย์ฝั้น มี พระรถ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังจากนั้นพระอาจารย์ฝั้นและพระกว่า ก็เดินทางกลับไปหาพระอาจารย์มั่นที่วัดอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายและจำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นเลย
พระอาจารย์ต่าง ๆ ที่ร่วมจำพรรษาในปีเดียวกันนั้น (พ.ศ.๒๔๖๘) ได้แก่
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน
พระอาจารย์กว่า สุมโน
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ
พระอาจารย์สาร
และยังมีพระภิกษุสามเณรอีกรวมถึง ๑๖ รูป
เมื่อใกล้จะออกพรรษา พระอาจารย์มั่นได้ประชุมหมู่ศิษย์เพื่อเตรียมออกเที่ยวธุดงค์หาที่วิเวก และได้จัดหมู่ศิษย์ออกไปเป็นพวก ๆ โดยจัดพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นให้ไปเป็นชุดเดียวกัน เพราะเห็นว่ามีนิสัยต้องกันมาก นอกนั้นก็จัดเป็นชุด ๆ อีกหลายชุด ส่วนพระอาจารย์กว่าแหล่งข้อมูลไม่ได้กล่าวว่าท่านอยู่ในชุดใด แต่สันนิษฐานได้ว่าท่านคงอยู่ร่วมคณะพระอาจารย์กู่ ผู้เป็นพี่ชาย เช่นเดียวกับคณะที่ออกธุดงค์ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ตามที่จะกล่าวต่อไป
ก่อนออกธุดงค์ พระอาจารย์มั่นได้สั่งไว้ด้วยว่า แต่ละชุดให้เดินธุดงค์เลียบภูเขา ภาวนาวิเวกไปตามแนวภูเขานั้น และแต่ละชุดก็ไม่จำเป็นต้องเดินธุดงค์ไปด้วยกันโดยตลอด ระหว่างทางท่านใดอยากไปพักวิเวก ณ ที่ใด เช่นตามถ้ำซึ่งมีอยู่ตามทางก็ทำได้ เพียงแต่บอกเล่ากันให้ทราบ ในระหว่างพระภิกษุชุดเดียวกัน จะได้นัดหมายไปพบกันข้างหน้าเพื่อเดินธุดงค์ต่อไปได้อีก
ครั้นออกพรรษาแล้ว คณะพระอาจารย์ฝั้นก็ได้ออกธุดงค์ โดยพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า และพระอาจารย์อ่อน ได้ธุดงค์แยกไปทางภูเขาพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ส่วนพระอาจารย์ฝั้น ออกไปทางบ้านนาบง ตำบลสามขา (ปัจจุบันเป็นตำบลกองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย) โดยได้นัดหมายพบกันที่ พระพุทธบาทบัวบก แต่คณะพระอาจารย์กว่าก็ได้คลาดกันกับพระอาจารย์ฝั้นไม่ได้พบกันที่พระพุทธบาทบัวบกตามที่นัดกันไว้ ท่านจึงออกธุดงค์ต่อไปทางบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ เพื่อติดตามท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์มั่นออกเดินธุดงค์มาทางอำเภอสว่างแดนดิน จ.สกลนคร ไปที่ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และที่หนองลาดนี้เองที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้พบกับ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และ พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และ พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิชัย แห่งบ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม อีกทั้งได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าสำนักเรียนนักธรรมและบาลี และเป็นครูใหญ่ท่านแรกของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งตำบลสามผงด้วยเป็นพระอาจารย์ที่มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสมากมาย มีอายุ ๓๙ ปี พรรษาถึง ๑๙ พรรษาแล้ว แต่ก็ยังสนใจที่จะเสาะแสวงหาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ด้วยยังมีข้อข้องใจในการปฏิบัติธรรมที่ค้างคาใจอยู่
ในระยะหลังท่านก็เริ่มได้ยินกิตติศัพท์ชื่อเสียงของพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่น ว่าเป็นผู้มีคุณวิเศษในทางธรรมก็มีความสนใจ ครั้นพอทราบว่าหลวงปู่มั่น มาพักที่บ้านหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ สกลนคร พระอาจารย์เกิ่ง จึงได้ชวนพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร แห่งวัดโพธิ์ชัย ตำบลวาใหญ่ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีอายุแก่กว่าพระอาจารย์เกิ่ง ๑ ปี แต่อายุพรรษาน้อยกว่า ๒ พรรษา พร้อมพระเณรถูกวัดไปฟังเทศน์และสนทนาไต่ถามปัญหาข้ออรรถธรรมที่สงสัยค้างคาใจต่างๆ พร้อมทั้งสังเกตข้อวัตรของหลวงปู่มั่นอย่างใกล้ชิด จนเกิดความอัศจรรย์ใจในข้ออรรถข้อธรรมและจริยาวัตรของท่าน ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส พร้อมทั้งขอถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ปฏิบัติธรรมใกล้ชิด
พระอาจารย์เกิ่ง และ พระอาจารย์สีลา ได้นิมนต์หลวงปู่มั่น ให้ไปโปรดญาติโยมและพักจำพรรษาที่บ้านสามผง ถิ่นที่พำนักของท่าน ท่านพระอาจารย์มั่นตกลงรับนิมนต์ ท่านและคณะซึ่งมีพระอาจารย์กว่ารวมอยู่ด้วยจึงเดินทางมุ่งไปยังบ้านสามผง จ.นครพนม โดยระหว่างทางได้ไปแวะพักที่ บ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย ที่หลวงปู่สิงห์และคณะพักอยู่ แล้วพระอาจารย์มั่นจึงเดินทางต่อไปบ้านสามผงโดยให้พระเทสก์ซึ่งอยู่กับคณะพระอาจารย์สิงห์ตามท่านไปที่บ้านสามผง อ.ศรีสงคราม นครพนม
พ.ศ.๒๔๖๙ ท่านอาจารย์มั่นฯ และพระภิกษุสามเณรหลายรูป จำพรรษาที่เสนาสนะป่า บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
- ท่านอาจารย์สิงห์ กับ ท่านอาจารย์มหาปิ่น จำพรรษากันที่บ้านอากาศ
- ท่านอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน ท่านอาจารย์กว่า สุมโน และ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง
- ท่านอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร จำพรรษาที่บ้านข่า
- ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโร ธุดงค์ออกจากวัดพระงาม อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แล้วก็ไปเชียงคาน จังหวัดเลย ขึ้นไปที่ภูฟ้า ภูหลวง แล้วก็กลับมาจังหวัดอุดรธานี จำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่า บ้านดงยาง อำเภอหนองหาน
พอเดือน ๗ ปี พ.ศ.๒๔๖๙ พระอาจารย์มั่นได้อนุญาตให้ทำญัตติกรรมพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร พร้อมทั้งพระภิกษุที่เป็นศิษย์ของท่านทั้งสองอีกประมาณ ๒๐ องค์ อีกด้วย ในจำนวนพระภิกษุที่มาทำการญัตติ มีพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร ซึ่งครั้งนั้นยังเป็นสามเณรรวมอยู่ด้วยรูปหนึ่ง ที่อุทกุกเขปสีมา (โบสถ์น้ำ) หนองสามผง สำหรับโบสถ์น้ำที่ท่านจัดสร้างขึ้นนี้ ใช้เรือ ๒ ลำลอยเป็นโป๊ะ เอาไม้พื้นปูเป็นแพ แต่ไม่มีหลังคา เหตุที่สร้างโบสถ์น้ำทำสังฆกรรมคราวนี้ ก็เพราะในป่าจะหาโบสถ์ให้ถูกต้องตามพระวินัยไม่ได้ การทำญัตติกรรมครั้งนี้ ได้อาราธนาท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งเป็นพระครูชิโนวาทธำรง มาเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มั่นได้เข้าร่วมนั่งหัตถบาสด้วย หลังจากนั้นอีก ๗ วัน ท่านอาญาครูดี ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์ฝั้นมาก่อน ก็เดินทางมาขอญัตติอีกรูปหนึ่ง ณ ที่เดียวกันนี้
ก่อนเข้าพรรษาประมาณ ๗ วัน กำนันบ้านดอนแดงคอกช้าง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยลูกบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเลื่อมใสศรัทธาในคณะพระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ได้เข้ามาพบ และขอร้องให้พระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง แต่พระอาจารย์มั่นได้รับนิมนต์พระอาจารย์เกิ่งไว้แล้ว ท่านจึงให้พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์กว่า ไปจำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง ตามที่ชาวบ้านปรารถนา
ตามท่านพระอาจารย์มั่นไปอุบลราชธานี
หลังจากออกพรรษาแล้วในปีนี้ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ ก็ได้เรียกบรรดาพระอาจารย์ที่เป็นศิษย์ทุกองค์ประมาณ ๗๐ รูป ให้มาประชุมพร้อมกันที่บ้านดอนแดงคอกช้าง ที่พระอาจารย์กว่า พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้นพักอยู่ ในการประชุมในครั้งนี้ ท่านได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติเกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน และได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแพร่ธรรมและไปโปรดเทศนาญาติโยมที่เมืองอุบล พร้อมกันนั้นก็ได้หารือในการที่จะให้โยมมารดาของพระอาจารย์มั่น ที่ท่านนำมาจากถ้ำผากูดให้ไปอยู่กับน้องสาวที่เมืองอุบลด้วย เพราะท่านชรามากแล้ว อายุ ๗๖ ปีแล้ว จะพาทุลักทุเลอยู่ดงอยู่ป่าต่อไปคงไม่ไหว
พระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ต่างก็รับรองจะพาโยมแม่ของพระอาจารย์มั่นไปส่งถึงเมืองอุบล แต่ต้องไปด้วยเกวียนเดินเท้าไปไม่ไหว เพราะท่านชราภาพมากไม่มีกำลังพอ ที่ประชุมตกลงตามพระอาจารย์มั่นไปเที่ยวธุดงคกรรมฐานตามท้องที่จังหวัดอุบลราชธานีหมดด้วยกันทุกองค์
เมื่อเสร็จจากการประชุมในครั้งนี้ ทุกองค์ต่างก็แยกย้ายกันออกไปธุดงค์หาวิเวกตามสถานที่จังหวัดต่างๆ โดยมิให้มีการนัดแนะว่าจะไปพบกัน ณ สถานที่ใด แต่ด้วยเหตุอะไรไม่ทราบทุก ๆ องค์ก็เผอิญไปพบกันเข้าอีก ที่จังหวัดสกลนคร
สำหรับคณะพระอาจารย์ฝั้นกับพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์กว่า และพระเณรอีก ๒ – ๓ รูป ได้เดินทางออกจากบ้านดอนแดงคอกช้าง เดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ผ่านบ้านตาน บ้านนาหว้า บ้านนางัว – บ้านโพธิสว่าง จนถึงบ้านเชียงเครือ แล้วจึงมาพบกับคณะอื่นๆ ที่สกลนคร
ในขณะนั้นนางนุ่ม ชุวานนท์ ผู้ที่เคยมีความเลื่อมใสในท่านอาจารย์ทั้งสอง (พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์เสาร์) มานานแล้ว และมารดาของนางนุ่ม ได้ถึงแก่กรรมลง กำลังจะจัดการฌาปนกิจ ก็พอดีได้ทราบข่าวท่านอาจารย์ทั้งสอง พร้อมด้วยสานุศิษย์เป็นอันมาก กำลังร่วมกันเดินทางมุ่งหน้าเข้าเขตสกลนคร จึงอาจารย์พร้อมด้วยสานุศิษย์นั้นพักอยู่ เพื่อเป็นการฉลองศรัทธาไม่เฉพาะแต่นางนุ่มเท่านั้น แต่เพื่อฉลองศรัทธาของชาวเมืองสกลนครทั้งมวล ซึ่งชาวเมืองสกลนครทั้งหลายได้เห็นพระปฏิบัติมาอยู่รวมกันมากมายเช่นนั้น ก็ทำให้เกิดศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ได้พากันไปศึกษาธรรมปฏิบัติจนได้รับการช่ำชอง และเป็นนิสัยปัจจัยมาจนทุกวันนี้
ขณะนั้นบิดาของพระพินิจบำรุงราษฎร์ (คาย นิตย์สุภาพ) กรมการเมืองสกลนครถึงแก่กรรม เจ้าภาพก็ได้อาราธนาพระอาจารย์ทั้งสองพร้อมด้วยสานุศิษย์ เพื่อบำเพ็ญกุศล ท่านอาจารย์ทั้งสองก็ให้อุปการะเป็นอย่างดี เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ จึงได้อนุมัติให้พระไปฉันในบ้านได้ ในงานฌาปนกิจศพบิดาของพระพินิจฯ เป็นครั้งแรกตั้งแต่นั้นมา เพราะเบื้องต้นพระคณะกัมมัฏฐานได้รักษาธุดงค์วัตรอย่างเข้มงวดกวดขันจริงๆ ไม่มีการอนุโลมให้รับนิมนต์ไปฉันภัตตาหารในบ้าน
เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์ทั้งสองและสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ไปคนละทิศละทางตามอัธยาศัย
ท่านอาจารย์มั่น ธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมอุปัชฌาย์พิมพ์ ต่อจากนั้นท่านก็ลาพระอุปัชฌาย์พิมพ์ ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมาย ท่านต้องการจะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี
ส่วนคณะพระอาจารย์กว่า พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์อ่อนได้เดินทางออกจากสกลนคร ไปทางอำเภอนาแก ลัดป่าข้ามภูเขาไปยังบ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม แล้วเดินธุดงค์เข้าสู่เขตเมืองอุบล พอไปถึงบ้านหัววัว อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ก็ได้พบกับคณะพระอาจารย์มั่นที่ได้ไปพักรอคอยอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว
ท่านพระอาจารย์มั่นได้รอคอยจนคณะศิษย์ทุกคณะเดินทางมาถึงรวมกันหมดทุกชุดแล้วจึงออกเดินธุดงค์ต่อไป จนกระทั่งไปพักที่บ้านหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี แต่พระอาจารย์มั่นแยกไปที่บ้านหนองขอน ห่างจากบ้านหัวตะพานไปประมาณ ๕๐ เส้น ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่าน
พ.ศ. ๒๔๗๐ จำพรรษาอยู่ที่บ้านบ่อชะเนง
ในพรรษาปี พ.ศ.๒๔๗๐ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้จำพรรษาที่บ้านหนองขอนนี้ ตามที่ชาวบ้านอาราธนา พระที่เป็นศิษยานุศิษย์แต่ละคณะก็แยกกันจำพรรษาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม จำพรรษาอยู่ที่บ้านหัวตะพาน พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์กว่า และ พระอาจารย์กู่จำพรรษาอยู่ที่เดียวกัน คือที่บ้านบ่อชะเนง
คณะพระกรรมฐานโดนขับไล่
แต่ก่อนที่จะเข้าพรรษา ก็เกิดเหตุขึ้นแก่คณะพระอาจารย์มั่นและศิษย์ก็คือ
ระหว่างนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสเถระ อ้วน) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นอพระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะธรรมยุติในภาคอีสาน ท่านออกตรวจการคณะสงฆ์ ท่านได้เรียกเจ้าคณะแขวง อำเภอต่างๆ ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ให้เข้ามาประชุมที่วัดสุปัฏนาราม เมืองอุบลราชธานี เกี่ยวกับเรื่อง ระเบียบ การปกครอง การศึกษาเล่าเรียน และการประพฤติปฏิบัติของคณะสงฆ์ พระภิกษุ สามเณร ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ถูกต้องตามพระวินัย หลังจากการประชุมเสร็จแล้ว สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ท่านได้ทราบข่าวว่าคณะพระกัมมัฏฐานของพระอาจารย์มั่น เดินทางมาพักอยู่ที่บ้านหนองขอน บ่อชะเนง บ้านหัวตะพาน ในเขตท้องที่อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี จึงเรียกเจ้าคณะแขวง อำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ มาถามว่า
“ได้ทราบว่า มีพระอาคันตุกะ คณะกรรมฐาน เดินทางมาพักอยู่ในเขตท้องที่ของความปกครองของเธอหรือ? พวกเธอได้ไปตรวจสอบถามดูหรือเปล่า? เขามาจากไหน? อยู่อย่างไร? ไปอย่างไร?”
พระเจ้าคณะอำเภออำนาจเจริญได้กราบเรียนท่านว่า
“เกล้าฯ มิได้ไปตรวจสอบถามเพราะเนื่องจากพระคณะกรรมฐานเหล่านั้นเขาว่าเป็นลูกศิษย์พระเดชพระคุณ”
(พระอาจารย์สิงห์เป็นสัทธิวิหาริก คือได้รับการบวชโดยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) เป็นพระอุปัชฌาย์)
พอเจ้าคณะแขวงพูดจบ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ก็ขึ้นเสียงดังออกมาทันทีว่า
“บ๊า !…ลูกศิษย์พระเดชพระคุณที่ไหน ข้าไม่รู้ไม่ชี้ ไป๊ !…ไล่มันให้ออกไป ไปบอกพวกโยมอย่าใส่บาตรให้กิน”
แล้วสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ก็สั่ง เจ้าคณะแขวง อำเภอม่วงสามสิบ และอำเภออำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายอำเภอทั้งสองอำเภอ ให้ไปทำการขับไล่พระกรรมฐานคณะนี้ให้ออกไปจากเขตนี้ให้หมด แล้วกำชับให้บอกพวกญาติโยม อย่าเอาข้าวใส่บาตรให้พระกรรมฐานกิน ถ้าใครฝ่าฝืนยังเอาข้าวใส่บาตรให้พระคณะนี้กินแล้วจะจับเอาไปเข้าคุกให้หมด
แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว ยังคงใส่บาตรกันอยู่เป็นปกติ นายอำเภอทราบเรื่องจึงไปพบพระภิกษุคณะนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งมาว่า ในนามของจังหวัด ทางจังหวัดสั่งให้มาขับไล่ พระอาจารย์สิงห์ซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลฯ ได้ตอบโต้ไปว่า ท่านเกิดที่นี่ท่านก็ควรจะอยู่ที่นี่ได้ นายอำเภอไม่ยอม พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ช่วยพูดขอร้องให้มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันบ้าง แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมท่าเดียว จากนั้นก็จดชื่อพระกัมมัฏฐานไว้ทุกองค์ รวมทั้งพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์เที่ยง พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สีลา พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า ฯลฯ จนหมด แม้กระทั่งนามโยมบิดามารดา สถานที่เกิด วัดที่บวช ทั้งหมดมีพระภิกษุสามเณรกว่า ๕๐ รูป และพวกลูกศิษย์ผ้าขาวอีกมากร่วมร้อยคน นายอำเภอต้องใช้เวลาจดตั้งแต่กลางวันจนถึงสองยามจึงเสร็จ ตั้งหน้าตั้งตาจดจนกระทั่งไม่ได้กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วก็กลับไป
ทางฝ่ายพระอาจารย์ก็ประชุมปรึกษากันว่า ทำอย่างไรดีเรื่องนี้จึงจะสงบลงได้ ไม่ลุกลามออกไปเป็นเรื่องใหญ่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นรับเรื่องไปพิจารณาแก้ไข เสร็จการปรึกษาหารือแล้ว พระอาจารย์ฝั้น ก็รีบเดินทางไปพบพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๕๐ เส้น พระอาจารย์มั่น ทราบเรื่องจึงให้พระอาจารย์ฝั้นนั่งพิจารณา พอกำหนดจิตเป็นสมาธิแล้วปรากฏเป็นนิมิตว่า
“แผ่นดินตรงนั้นขาด”
คือแยกออกจากกันเป็นสองข้าง ข้างโน้นก็มาไม่ได้ ข้างนี้ก็ไปไม่ได้ พอดีสว่าง พระอาจารย์ฝั้นจึงเล่าเรื่องที่นิมิตให้พระอาจารย์มั่นฟัง เช้าวันนั้นเอง พระอาจารย์มหาปิ่นกับพระอาจารย์อ่อน ได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบล เพื่อพบกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดชี้แจงว่า ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จากนั้นได้ให้นำจดหมายไปบอกนายอำเภอว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง เรื่องยุ่งยากทั้งหลายจึงได้ยุติลง
เมื่อผ่านพ้นเรื่องนั้นไปด้วยดีแล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้กราบลาพระอาจารย์มั่นออกธุดงค์ ไปเยี่ยมพระอาจารย์ดี ฉนฺโน ที่บ้านกุดแห่ ตำบลกุดเชียงหมี อำเภอเลิงนกทา (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับจังหวัดยโสธร) และได้ทราบจากพระอาจารย์ดีว่า ท่านได้สอนธรรมข้อปฏิบัติให้ญาติโยมทั้งหลายไปแล้ว แต่ญาติโยมบางคนเมื่อปฏิบัติแล้วได้เกิดวิปัสสนูกิเลส มีอันเป็นไปต่าง ๆ พระอาจารย์ฝั้นจึงได้อยู่ช่วยพระอาจารย์ดี แก้ปัญหาดังกล่าว ส่วนพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่ายังคงอยู่ที่บ้านบ่อชะเนง
พระอาจารย์ฝั้นหลังจากได้ช่วยพระอาจารย์ดีแก้ปัญหาพวกญาติโยมแล้ว ท่านก็กลับมาพักอยู่กับพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองขอน โดยตั้งใจไว้ว่า ในปีนี้จะจำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์มั่น แต่ปรากฏว่า ระยะนั้นปรากฏว่าฝนตกชุกมาก พระภิกษุประสบอุปสรรคไม่อาจไปร่วมทำอุโบสถได้สะดวก โดยเฉพาะที่บ้านบ่อชะเนง ไม่มีพระสวดปาฏิโมกข์ได้ พระอาจารย์มั่นจึงได้สั่งให้พระอาจารย์ฝั้นซึ่งสวดปาฏิโมกข์ได้ ไปจำพรรษาเพื่อช่วยพระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่าที่บ้านบ่อชะเนง
ในระหว่างพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง พระอุปัชฌาย์ลุย เจ้าคณะตำบลบ้านเค็งใหญ่ (พระอุปัชฌาย์ลุยผู้นี้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชเณรให้กับสามเณรเทสก์ เรี่ยวแรง หรือ พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี เมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๓) ได้ทราบว่าพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า และพระอาจารย์ฝั้นมาสร้างเสนาสนะป่าเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นในเขตตำบลของท่าน จึงเดินทางไปขับไล่ เพราะไม่ชอบพระกัมมัฏฐาน
พระอุปัชฌาย์ลุยปรารภขึ้นว่า “ผมมาที่นี่เพื่อไล่พวกท่าน และจะไม่ให้มีพระกัมมัฏฐานอยู่ในเขตตำบลนี้ ท่านจะว่าอย่างไร”
พระอาจารย์ฝั้นตอบไปว่า “ท่านมาขับไล่ก็ดีแล้ว กัมมัฏฐานนั้นได้แก่อะไร ได้แก่ เกศา คือ ผม โลมา คือขน นขา คือ เล็บ ทันตา คือ ฟัน และ ตโจ คือ หนัง ท่านเจ้าคณะก็เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย ได้สอนกัมมักฐานแก่พวกกุลบุตรที่เข้ามาบวชเรียนเป็นศิษย์ของท่าน ท่านก็คงสอนกัมมักฐานอย่างนี้ให้เขาไม่ใช่หรือขอรับ แล้วท่านจะมาขับไล่กัมมัฏฐานด้วยวิธีใดกันล่ะ เกศา – โลมา ท่านจะไล่ด้วยวิธีต้มน้ำร้อนลวก แบบฆ่าเป็ดฆ่าไก่ แล้วเอาคีมเอาแหนบมาถอนเช่นนี้หรือ ? ส่วน นขา – ทันตา – และตโจ ท่านจะไล่ด้วยการเอาค้อนตี ตาปูตีเอากระนั้นหรือไร? ถ้าจะไล่กัมมัฏฐานแบบนี้กระผมก็ยินดีให้ไล่นะขอรับ”
พระอุปัชฌาย์ลุยได้ฟังก็โกรธมาก พูดอะไรไม่ออก คว้าย่ามลงจากกุฏิไปเลย
ระหว่างพรรษาปีนั้น พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า กับพระอาจารย์ฝั้น ได้เทศนาสั่งสอนพวกญาติโยมบ้านบ่อชะเนงและบ้านอื่น ๆ ใกล้เคียงมาตลอด ผู้คนต่างก็เลื่อมใสในปฏิปทาของท่านทั้งสองเป็นอย่างมาก ถึงกับให้ลูกชายลูกสาว บวชเป็นพระเป็นเณร และเป็นแม่ชีกันอย่างมากมาย
เมื่อออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์มั่น ได้พาพระภิกษุสามเณร มาที่บ้านบ่อชะเนง แล้วปรึกษาหารือกันในอันที่จะเดินทางเข้าตัวจังหวัดอุบลฯ เพื่อเทศนาสั่งสอนประชาชนตลอดจนญาติโยมที่ศรัทธาต่อไป
ท่านพระอาจารย์มั่น ปลีกวิเวกไปเชียงใหม่
ครั้นออกพรรษาในปี พ.ศ.๒๔๗๐ แล้ว ท่านอาจารย์มั่น ก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้นำโยมแม่ออกท่านไปมอบให้น้องสาวท่านในเมืองอุบล ฯ ท่านและคณะศิษย์พักที่วัดบูรพา คณะสานุศิษย์ ทั้งหลาย อันมีอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร, อาจารย์อ่อน ญาณสิริ, อาจารย์ฝั้น อาจาโร, อาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยศิษย์, อาจารย์หลุย, อาจารย์กว่า สุมโน, อาจารย์คูณ, อาจารย์สีลา อาจารย์ดี (พรรณานิคม), อาจารย์บุญมา (วัดป่าบ้านโนนทัน อุดรธานี ในปัจจุบันนี้ ), อาจารย์ทอง อโสโก, อาจารย์บุญส่ง (บ้านข่า), อาจารย์หล้า, หลวงตาปั่น (อยู่พระบาทคอแก้ง) ก็ได้ติดตามมา บรรดาศิษย์ทั้งหมด มีหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติในเดือน ๓ เพ็ญ อย่างที่เคย ๆ ปฏิบัติกันมา
ในค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนาก็ได้ปรารภขึ้นในใจว่า “จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติ ให้ได้รับความเข้าใจชัดเจน และแจ่มแจ้งเข้าไปอีก แล้วจะได้เอาปฏิปทาอันถูกต้องนั้น ฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้
ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์ และตามปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้น เมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูก ๆ
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติดีทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรม หรืออาจถึงกับป่วยการไม่เป็นประโยชนแก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัย ในพระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลสให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่สมกับว่าพระธรรมวินัยเป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวไนยสัตว์ทั้งหลาย
อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะจะต้องมีภาระการปกครอง ตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่าง ๆ ซึ่งทำให้โอกาสและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ ถ้าแลเราปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวก ซึ่งไม่มีภาระแล้ว ก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้น ผลประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ”
ครั้นท่านปรารภในใจอยู่อย่างนั้นแล้ว ท่านจึงได้เรียกศิษย์ทั้งหลาย มีหลวงปู่สิงห์เป็นต้น มาประชุมกัน ท่านได้แนะนำให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างที่ได้เคยแนะนำสั่งสอนมาแล้วนั้น จึงได้มอบหมายให้อำนาจแต่หลวงปู่สิงห์และท่านมหาปิ่น เป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอนตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป
เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วในการครั้งนั้น ท่านก็กลับไปที่บ้านของท่านอีก ได้แนะนำธรรมปฏิบัติซึ่งท่านได้เคยแนะนำมาก่อนแก่มารดาของท่านจนได้รับความอัศจรรย์อันเป็นภายในอย่างยิ่งมาแล้ว ท่านจึงได้ไปลามารดาของท่าน และได้มอบให้นางหวัน จำปาศีล ผู้น้องสาวเป็นผู้อุปัฏฐากรักษาทุกประการ จากนั้นออกพรรษาแล้วประมาณเดือน ๓ หรือเดือน ๔ ท่านก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ กับเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถระ จำพรรษาที่วัดสระปทุม และออกพรรษาแล้ว ก็ได้ติดตามพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไปจำพรรษายังจังหวัดเชียงใหม่
ประวัติขาดหายไปจนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๘
ประวัติในช่วงต่อจากนี้ไปของพระอาจารย์กว่าได้ขาดตอนไป สันนิษฐานว่าท่านคงจะได้ธุดงค์ตามคณะท่านพระอาจารย์สิงห์ กับพระภิกษุสามเณรรวมกันถึง ๘๐ รูป ท่านพระอาจารย์กู่ผู้เป็นพี่ชายไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งในปี พ.ศ.๒๔๗๑ ระหว่างนี้คณะหลวงปู่สิงห์และพระมหาปิ่น ก็ได้เที่ยวเทศนาอบรมศีลธรรมประชาชนโดยการขอร้องของเจ้าเมืองอุบลฯ เมื่อจวนเข้าพรรษาได้ไปพักจำพรรษาอยู่วัดบ้านหัวงัว อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นบ้านญาติท่าน
ในช่วงที่หลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่นอยู่ที่บ้านหัวงัว ท่านก็ได้ทราบข่าวจาก เจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) เมื่อครั้งยังเป็นพระครูพิศาลอรัญญเขต เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดขอนแก่น เจ้าอาวาสวัดศรีจันทราวาส ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นญาติของท่านด้วย ว่าทางขอนแก่นมีเหตุการณ์ไม่สู้ดี พระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่นได้พิจารณาแล้วตกลงเห็นควรลงไปช่วยหลวงปู่จันทร์ เขมิโย ที่ขอนแก่นเมื่อตกลงดังนั้นแล้ว คณะพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายต่างก็แยกย้ายกันออกเดินทาง โดยกำหนดให้ไปพบกันก่อนเข้าพรรษาที่วัดเหล่างา ขอนแก่น
คณะที่ลงไปขอนแก่นนี้ไม่ทราบว่ามีพระอาจารย์กว่ารวมอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะในการมาเผยแผ่พระศาสนาที่ขอนแก่นนี้ คณะท่านพระอาจารย์สิงห์ก็ได้กระจายเหล่าศิษยานุศิษย์ไปสร้างวัดยังอำเภอต่างๆ เป็นจำนวน ๙ วัด แต่ในรายชื่อพระภิกษุที่อยู่จำพรรษาตามวัดต่างๆ เหล่านั้น ไม่ปรากฏชื่อของท่านพระอาจารย์กว่า หรือแม้กระทั่งพระอาจารย์กู่ผู้เป็นพี่ชายอยู่ในที่ใดเลย
พ.ศ.๒๔๘๘ พระอาจารย์กว่า สุมโน ได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในการบวชให้กับ นาคกง รัตนะ หรือ หลวงปู่กง โฆสโก ซึ่งต่อมา ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นเทพที่พระเทพวิสุทธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร ที่วัดโพธิ์ชัย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร โดยในการบวชดังกล่าวมีพระครูพรรณานิคมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ และมี พระอาจารย์กู่ ธมมทินโน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มรณภาพ
ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของพระอาจารย์มั่น ในปีนั้นเมื่อใกล้จะออกพรรษา เหลืออีกประมาณ ๑๐ วัน พระอาจารย์มั่น ท่านก็ได้บอกพระที่อยู่ใกล้ชิดว่า
“ชีวิตของเราใกล้จะสิ้นแล้ว ให้รีบส่งข่าวไปบอกแก่คณาจารย์ที่เป็นศิษย์เราทั้งใกล้และไกล ให้รีบมาประชุมกันที่บ้านหนองผือนี้ เพื่อจะได้มาฟังธรรมะเป็นครั้งสุดท้าย”
บรรดาพระที่อยู่ใกล้ชิดก็ได้จดหมายบ้าง โทรเลขบ้างไปยังที่อยู่ของพระคณาจารย์เหล่านั้น บรรดาคณาจารย์ทั้งหลายเมื่อได้รับจดหมายบ้าง โทรเลขบ้างแล้ว ต่างก็ได้บอกข่าวแก่กันต่อ ๆ ไปจนทั่ว เมื่อการปวารณาออกพรรษาแล้วต่างองค์ก็รีบเดินทางมุ่งหน้ามาหาอาจารย์มั่นฯ ยังบ้านหนองผือ อันเป็นจุดหมายเดียวกัน แต่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้สั่งให้นำท่านไปยังวัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร
พระอาจารย์กว่า สมัยนั้นท่านจำพรรษาที่บ้านนาหัวช้าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อได้ทราบข่าวก็รีบเดินทางเพื่อมาเฝ้าท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือโดยทันที และเมื่อเหล่าศิษยานุศิษย์ตกลงใจที่จะนำท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส ตามที่ท่านพระอาจารย์มั่นประสงค์ พระอาจารย์กว่าก็ได้ติดตามนำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นไปจังหวัดสกลนครด้วย
ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ คณะศิษย์ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส ใกล้เมืองสกลนคร โดยพาหนะรถยนต์ มาถึงวัดเวลา ๑๒.๐๐ น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ในท่ามกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์เป็นต้น สิริชนมายุของท่านพระอาจารย์ได้ ๘๐ ปี ๘๑ วัน หลังการเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานแห่งองค์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งก็คือวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นวันถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าสุทธาวาส พระอาจารย์กว่า สุมโนก็ได้ไปร่วมงานด้วย
ช่วงปลายชีวิตขององค์หลวงปู่
ในช่วงปลายชีวิตขององค์หลวงปู่กว่า สุมโน เข้าใจว่าท่านได้ย้ายจากสถานที่จำพรรษาที่บ้านนาหัวช้างมาอยู่ประจำที่วัดป่ากลางโนนภู่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ เมื่อคราวหลวงปู่กู่ผู้เป็นพี่ชายอาพาธหนักอยู่ที่วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า โดยหลวงปู่กู่ผู้เป็นพี่ชายท่านได้อาพาธด้วยโรคฝีฝักบัวที่ต้นคอ ซึ่งเป็นโรคประจำตัวท่าน ซึ่งเคยเป็นแล้วก็หายไป ด้วยการที่ท่านอาศัยการปฏิบัติทางจิตเป็นเครื่องระงับ
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๖ นี้หลวงปู่กู่ ได้พิจารณาเห็นอาการป่วยนี้ว่า คงเป็นวิบากกรรม และคงไม่พ้นจากมรณภัยนี้ไปได้ ท่านจึงเร่งทำความเพียร มิได้ลดละในการปฏิบัติด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ตลอดพรรษา
เมื่อออกพรรษารับกฐินเสร็จแล้ว ท่านก็ได้ลาญาติโยมขึ้นไปปฏิบัติสมณกิจที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า ภูพาน ที่ท่านได้มาบูรณะต่อจากที่พระอาจารย์บุตรได้เริ่มเอาไว้ จนกาลล่วงมาได้ ๓ เดือนเศษ อาการโรคกลับกำเริบขึ้นอีก ญาติโยมได้อาราธนาให้ท่านกลับวัดเพื่อจัดแพทย์มาทำการรักษาพยาบาลให้เต็มที่ แต่ท่านไม่ยอมกลับ คงอาศัยอยู่ที่นั้นโดยมีพระอาจารย์กว่า สุมโน ผู้น้องชาย พระประสาน ขันติกโร และสามเณรหนูผู้เฝ้าปฏิบัติอย่างใกล้ชิด ได้เห็นท่านอาจารย์กู่นั่งสมาธิทำความสงบนิ่งอยู่ โดยมิได้หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อมรณะภัย และสิ้นลมหายใจในอิริยาบถที่นั่งสมาธิอย่างสงบ ณ ถ้ำนั้นเองในวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๖
พระอาจารย์กว่า จึงได้ร่วมกับชาวบ้านเชิญศพของท่านบรรจุหีบนำมาไว้ที่วัดป่ากลางโนนภู่ เพื่อบำเพ็ญกุศลและในงานฌาปนกิจศพ ท่านพระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้มาร่วมงานกันมากมาย อาทิเช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโปเป็นต้น จากนั้นท่านจึงได้อยู่ที่วัดป่ากลางโนนภู่เป็นการถาวร
เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๗ หลวงปู่ได้เข้าร่วมในพิธีอุปสมบท พระภิกษุสนธิ์ อนาลโย (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระราชภาวนาพินิจ แห่งวัดพุทธบูชา แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ) ณ พัทธสีมาวัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร โดยมี พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์, องค์ท่านพระอาจารย์กว่า สุมโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสนธิ์ ขนฺตยาคโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
มรณภาพ
ภายหลังจากงานกฐินปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้ ๒ เดือนเศษท่านพระอาจารย์กว่า สุมโน ก็มรณภาพ ด้วยโรคหัวใจวาย ที่วัดป่ากลางโนนภู่ อำเภอพรรณานิคม เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ รวมอายุได้ ๗๒ ปี ๕๑ พรรษา