ประวัติ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
วัดพระโต บ้านปากแซง
อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี
พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เดิมเรียกชื่อว่า พระเจ้าอินทร์ใสโสม ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระโต บ้านปากแซง อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๘๘๐ เป็นพระพุทธรูปปางมารสะดุ้ง หรือ ปางมารวิชัยลักษณะงดงามมาก สร้างด้วยอิฐขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๙๐ เมตร สูง ๔.๓๖ เมตร ประดิษฐาน แท่นบูชาสูง ๑.๑๙ เมตร เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่และมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของประชาชน ชาวไทยและประชาชนชาวจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) เลื่อมใสศรัทธากราบไหว้บูชาตลอดมา จนกลายเป็นประเพณีที่สำคัญในการนมัสการพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ระหว่างวันขึ้น ๙ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปีและจะมีประชาชนจากทั่วสารทิศเดินทางมานมัสการจำนวนมาก
พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดพระโต บ้านปากแซง อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่เป็นที่เคารพบูชา และประชาชนชาวไทย –ลาว มีความศรัทธา เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองมาหลายร้อยปีตามประวัติที่บอกเล่าต่อกันมา
ในสมัยขอมเรืองอำนาจมีกษัตริย์องค์หนึ่งพระนามว่า “พระยาแข้วเจ็ดถัน” ได้เสด็จร่องเรือมา ตามลำน้ำโขง พอมาถึงบ้านปากแซงได้หยุดประทับแรม ๑ คืน ได้พบกับเจ้ากวนของหมู่บ้าน และได้รับทราบประวัติความเป็นมาของชาวบ้านปากแซงว่าเป็นหมู่บ้านที่มีหาดทรายกลางลำน้ำโขงสวยมากใน ฤดูแล้ง ถ้าปีใดหาดทรายโผล่บริเวณทิศเหนือหรือทิศใต้ของหมู่บ้านประชาชนในหมู่บ้านจะประสบความ ทุกข์ยากเดือดร้อน แต่หากปีใดหาดทรายโผล่ระหว่างหมู่บ้านประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อรับทราบดังนั้น
พระองค์ก็เกิดความศรัทธาในความอัศจรรย์ของหาดทรายแห่งนี้และตรัสว่า “สักวันหนึ่งจะกลับมาสร้างหมู่บ้านนี้ให้เจริญรุ่งเรืองเป็นเมืองใหญ่”
ต่อมาในราว พ.ศ. ๑๑๕๔ พระยาแข้วเจ็ดถัน พร้อมด้วยข้าทาสบริวารได้เดินทางมาที่บ้านปากแซง และมอบหมายให้เจ้าแสง (นายบ้านสมัยนั้น) เป็นผู้นำในการสร้างบ้านแปงเมืองและได้สร้างพระพุทธรูปขึ้น องค์หนึ่งด้วยอิฐผสมปูนขาวมีขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง ๒.๙๐ เมตร สูง ๔.๓๖ เมตร ประดิษฐานบนแท่นบูชากว้าง ๓.๗๔ เมตร ยาว ๓.๘๗ เมตร สูง ๑.๑๙ เมตร และขนานนามว่า “พระอินทร์ใสโสม” (เข้าใจว่าในสมัยโบราณมีความเชื่อเรื่องพระอินทร์ พระพรมในเรื่องความสวยงามและความศักดิ์สิทธิ์ด้วย) การสร้าง พระพุทธรูปแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๑๑๘๐ เนื่องจากเป็นพระพุทธรูป ขนาดใหญ่ ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ” เมื่อเจ้าแสงผู้นำการก่อสร้างถึงแก่กรรมลงชาวบ้านจึงได้สร้าง “หอแสง” ใกล้กับพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อไว้เป็นอนุสรณ์ มีชาวบ้านให้ความเคารพกราบไหว้บูชาเช่นเดียวกัน
วัดพระโตเคยเป็นวัดร้างมาก่อนนับร้อยปีมีการค้นพบโดยควาญช้างและประชาชนในหมู่บ้านได้ พร้อมใจกันบูรณะปฏิสังขรณ์ให้มีความเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับและมีพระภิกษุจำพรรษาเป็นช่วงๆ ลำดับ เจ้าอาวาสดังนี้
๑. ญาซาโกษ
๒. ญาซาพม
๓. ญาท่านโก๋ม
๔. ญาท่านโนม
๕. พระครูหลักธรรม
๖. ญาท่านสอน
๗. ญาท่านโพธิ์
๘. พระครูหมิ่ง
๙. พระครูอิ้ง
๑๐. พระครูกุ
๑๑. ยาท่านคำมา
๑๒. พระสิม
๑๓. พระยัง
๑๔. พระครูพุทธวราภิบาล
๑๕. พระครูพุทธวราธิคุณ
จากหลักฐานการบูรณะวัดพระโตในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ พระครูกุ พร้อมชาวบ้านได้ร่วมกันก่อสร้าง วิหารโดยว่าจ้างช่างชาวญวน ใช้เวลาสร้าง ๓ ปี และจารึกไว้ที่วิหารว่า “ข้าพเจ้าพระครูทองกุสมภารวัดกลางเขมราฐมีท่านพระครูกุเป็นประธานพร้อมด้วยข้าพเจ้าทั้งหลายทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้พร้อมใจกันบริจาคทรัพย์สร้างวิหาร พระเจ้าใหญ่ปากแซงใน ๕ หมู่บ้าน คือ บ้านปากแซง บ้านนาทราย บ้านพะลาน บ้านบก บ้านทุ่งเกลี้ยง ได้จ้างคนอนาม (เวียดนาม) เป็นเงิน ๗๐๐ บาท สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๘ แล้วเสร็จ”
สำหรับวัดพระโตแห่งนี้มีความสำคัญที่ประชาชนคนไทยและชาวจังหวัดอุบลราชธานีมี
ความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นมรดกล้ำค่าทางด้านศาสนาเป็นศูนย์รวมดวงใจชาวพุทธ ทั้งไทย –ลาว ต่างเลื่อมใสศรัทธา กราบไหว้บูชาตลอดมาด้วยพระบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ของ “พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ” จึงเป็นสายสัมพันธ์เชื่อมโยงไทย –ลาว ให้มีความผูกพันตลอดมา
พระครูพุทธวราธิคุณ เจ้าอาวาสวัดพระโต กล่าวว่าเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามบรมราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรที่บ้านปากแซง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ยังความ ปลาบปลื้มปิติยินดีแก่พสกนิกรชาวจังหวัดอุบลราชธานีอย่างยิ่ง
พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อจากอดีตจนถึงปัจจุบันยังคงเป็นปูชนียสถานอันสำคัญ เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นศูนย์รวมดวงใจชาวไทย – ลาว สองฝั่งโขงเชื่อมโยงสู่ความเจริญทางด้านจริยธรรม คุณธรรม และศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันงดงามให้ชุมชนรุ่นหลังได้สืบสานต่อไปอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย