วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล)

วัดโพธิสมภรณ์
อ.เมือง จ.อุดรธานี

พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)

ชาติกําเนิดและชีวิตปฐมวัย

ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ มีนามเดิมว่า จูม จันทรวงศ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๑ ตรงกับวันขึ้น ๖ ค่ําเดือน ๖ ปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช ๒๔๕๐ เป็นบุตรคนที่ ๓ (ในจํานวน ๙ คน) ของนายคําสิงห์ และนางเขียว จันทรวงศ์ มีอาชีพทํานาทําไร่ ชาติภูมิอยู่บ้านท่าอุเทน อําเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

เด็กชายจูม จันทรวงศ์ เป็นผู้มีอุปนิสัยดี สนใจในการทําบุญทํากุศลตั้งแต่เป็นเด็ก ชอบติดตามบิดามารดาหรือคุณตาคุณยายไปวัด ได้มีโอกาสพบเห็นพระสงฆ์เป็นประจํา เมื่ออายุ ครบเกณฑ์เข้าเรียนหนังสือ ก็ไปเข้าโรงเรียนวัดศรีเทพประดิษฐาราม อําเภอเมือง จังหวัดนครพนม จนจบหลักสูตรประถมศึกษาบริบรูณ์ในสมัยนั้น

หลวงปู่จูม พันธุโล วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี

◎ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา

ต่อมาเมื่อเด็กชายจูม จันทรวงศ์อายุได้ ๑๒ ปี บิดามารดาประสงค์จะให้ลูกชายได้บวช เรียนในพุทธศาสนา จึงได้จัดการให้เด็กชายจูมได้บรรพชาเป็นสามเณร ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๒ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๘ ค่ํา เดือน ๑ (เดือนอ้าย) ปีกุน โดยมีพระครูขันธ์ ขันติโก วัดโพนแก้ว ตําบลท่าอุเทน อําเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูเหลา วัดโพนแก้วเป็นพระอาจารย์ผู้ให้ไตรสรณคมน์และศีล ท่านพระครูสีดา วัดโพนแก้ว เป็นพระอาจารย์ ผู้ให้โอวาทและอบรมสั่งสอนความรู้ทางหลักธรรม เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้อยู่จําพรรษา ณ วัดโพนแก้ว และได้ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม รวมทั้งระเบียบปฏิบัติขนบธรรมเนียมประเพณี ของวัดโพนแก้วเป็นเวลา ๓ ปี

การศึกษาเล่าเรียนของพระสงฆ์ในสมัยนั้นเป็นการเรียนอักษรสมัย คือ อักษรขอม อักษรธรรม และภาษาไทย สามเณรจูม จันทรวงศ์มีความสนใจในการศึกษาเล่าเรียนสามารถเขียนอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม จนเป็นที่รักใคร่ของครูบาอาจารย์ นอกจากนี้ท่านยังได้ ฝึกหัดเทศน์มหาชาติ (เวสสันดรชาดก) เป็นทํานองภาคอีสาน ปรากฏว่า เป็นที่นิยมชมชอบของบรรดาญาติโยมทั้งบ้านใกล้และบ้านไกล

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๕ สามเณรจูม จันทรวงศ์ ได้ย้ายไปอยู่วัดอินทร์แปลง ตําบล ในเมือง อําเภอเมือง จังหวัดนครพนม เพื่อศึกษาเล่าเรียน พระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และจะได้เป็นปัจจัยสําคัญในการศึกษาหลักธรรมชั้นสูงสืบต่อไปแต่ท่านก็อยู่จําพรรษาที่วัดอินทร์แปลง ได้เพียงปีเดียว

พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) วัดศรีเทพประดิษฐาราม
พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) วัดศรีเทพประดิษฐาราม

ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย ซึ่งต่อมาเป็น “พระเทพสิทธาจารย์” และเป็นพระอาจารย์ของสามเณรจูม ท่านมีจิตใจมุ่งมั่นที่จะบําเพ็ญสมณธรรมตามหลักของไตรสิกขา และมีความสนใจเรื่องการปฏิบัติกรรมฐานเป็นพิเศษ ท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย จึงปรารภกับหมู่คณะและสานุศิษย์ว่าจะเดินทางไปกราบขออุบายธรรมปฏิบัติจากพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายสมถกรรมฐาน คือ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ดังนั้น สามเณรจูม และหมู่คณะจึงได้ติดตามพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย เดินทางออกจากจังหวัดนครพนม มุ่งสู่จังหวัดอุบลราชธานี

คณะพระอาจารย์จันทร์และลูกศิษย์ออกเดินทางรอนแรมไปตามป่าดงพงไพร พักไปเรื่อยๆ เมื่อผ่านหมู่บ้าน เนื่องจากการเดินทางในสมัยนั้นยากลําบากเต็มทน นอกจากต้องเดินทางด้วยเท้าเปล่าแล้ว ยังต้องผ่านป่าดงหนาทึบ และบางตอนเป็นภูเขาสูงชันบางตอนเป็นหุบเหวลึก ต้องหาทางหลีกเลี่ยงวกไปวนมา จึงทําให้การเดินทางล่าช้าเมื่อไปถึงจังหวัดอุบลราชธานี พระอาจารย์จันทร์ เขมิโย ได้นําคณะศิษย์เข้ากราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ณ สํานักวัดเลียบ ตําบลในเมือง อําเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และได้ฝากถวายตัว เป็นศิษย์ เพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและแนวกรรมฐาน

ตลอดเวลา ๓ ปี ที่อยู่จําพรรษา ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลฯ สามเณรจูม จันทรวงศ์ ได้รับ การอบรมสั่งสอนจากพระอาจารย์ใหญ่ทั้งสองท่านเป็นอย่างดี จนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัตร ปฏิบัติ จากและแนวทางเจริญกรรมฐานเป็นที่น่าพอใจ เพราะอาศัยเมตตาจิต และโอวาทานุสาสนี้ จากพระอาจารย์ใหญ่ทั้งสอง จึงทําให้อุปนิสัยของสามเณรจูม ยึดมั่นในพระธรรมวินัยประพฤติดี ปฏิบัติชอบ สร้างสมบารมีเรื่อยมาจนได้เป็นพระมหาเถระผู้มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นปูชนียบุคคลของ ชาวอีสานในกาลต่อมา

ภายหลังจากที่ได้ศึกษาธรรมปฏิบัติกรรมฐานกับพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่น เป็นเวลา ๓ ปีแล้ว ในปี พ.ศ.๒๔๔๙ ท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย (พระเทพสิทธาจารย์) จึงได้กราบลาพระอาจารย์ใหญ่ทั้งสอง พาคณะพระภิกษุและสามเณรเดินทางกลับจังหวัดนครพนมอัน เป็นถิ่นมาตุภูมิ ในการเดินทางกลับนั้นก็มีความยากลําบากเหมือนกับตอนเดินทางมา คือต้องเดินทางด้วยเท้า ไม่มียานพาหนะใดๆ ถนนก็ยังไม่มีคงมีแต่หนทางและทางเกวียนที่ลัดเลาะไปตามป่าตามดง เมื่อผ่านหมู่บ้านก็ปักกลดพักแรมเป็นระยะ ๆ หมู่บ้านละ ๒ คืนบ้าง ๓ คืนบ้าง ชาวบ้านรู้ข่าว ก็พากันมาฟังธรรม โดยท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย เป็นผู้แสดงธรรมโปรดญาติโยมทุกหมู่บ้าน ที่ผ่านเข้าไป ประชาชนเกิดศรัทธาปสาทะเป็นอย่างยิ่ง บางแห่งถึงกับนิมนต์คณะของพระอาจารย์จันทร์ ให้พักอยู่หลาย ๆ วันก็มี

ครั้นถึงวันที่ ๘ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๔๙ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๑๕ ค่ํา เดือน ๕ ปีมะเมีย เป็นวันมหาฤกษ์ ที่คณะพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตติกนิกาย เดินทางเข้าเขตจังหวัดนครพนมถึงบ้านหนองขุนจันทร์ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองนครพนม จึงหยุดพักอยู่ที่นั่นก่อน พระยาสุนทรกิจจารักษ์ เจ้าเมืองนครพนมได้ทราบข่าวว่ามีพระผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่นเดินทางมาถึงบ้านหนองขุนจันทร์ก็เกิดความชื่นชมยินดีเป็นอันมาก จึงสั่ง ให้ข้าราชการทุกแผนกประกาศให้ประชาชนทราบ และจัดขบวนออกไปต้อนรับ โดยมีเครื่องประโคมต่าง ๆ มีฆ้อง กลอง ปี พาทย์ เป็นต้น เมื่อไปถึงท่านเจ้าเมืองก็เข้ากราบนมัสการพระสงฆ์เหล่านั้น และนิมนต์ให้ขึ้นนั่งบนเสลี่ยงซึ่งมีชายฉกรรจ์แข็งแรง ๔ คนหามแห่เข้าสู่เมืองนครพนมจนถึง วัดศรีขุนเมือง (ต่อมาเป็นวัดศรีเทพประดิษฐาราม) คณะสงฆ์ลูกศิษย์ของพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่นก็ได้ปักหลักตั้งสํานักสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตติกนิกายอยู่ ณ อารามแห่งนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย (พระเทพสิทธาจารย์) ได้พิจารณาเห็นว่า ลูกศิษย์ทั้ง ๗ คนของท่านคือ สามเณรจูม จันทรวงศ์ สามเณรสังข์ สามเณรเกต สามเณรคํา นายสาร นายสอน และนายอินทร์ ทั้งหมดนี้เป็นผู้มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ สมควรจะทําการอุปสมบทได้แล้ว ท่านพระอาจารย์จันทร์ จึงจัดเตรียมบริขารเครื่องใช้ที่จําเป็นแก่ศิษย์ แล้วพาคณะศิษย์ทั้ง ๗ คน เดินทางจากเมืองนครพนม ไปยังเมืองหนองบัวลําภู จังหวัดอุดรธานี เพื่อเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุสืบต่อไป

แถวหน้าสุด จากซ้าย : พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย),
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล), พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)
แถวกลาง จากซ้าย : หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร,
หลวงปู่กว่า สุมโน, หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต, หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ
แถวหลัง จากซ้าย : หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร,
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน 

ในการเดินทางครั้งนั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ได้เล่าไว้ว่า “เดินทางด้วยเท้าเปล่า จากเมืองนครพนมถึงหนองบัวลําภู จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา ๑๕ วันเต็มๆ ไปถึงแล้วก็พักผ่อน กันพอสมควรวันอุปสมบทคือ วันที่ ๙ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๕๐ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ํา เดือน ๔ ปีมะแม ณ พัทธสีมาวัดมหาชัย ตําบลหนองบัวลําภู อําเภอหนองบัวลําภู จังหวัดอุดรธานี โดยมี ท่านพระครูแสง ธัมมธโร วัดมหาชัย เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูสีมา สีลสัมปันโน วัดจันทราราม (เมืองเก่า) อําเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ ท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย (พระเทพสิทธาจารย์) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับ ฉายาว่า “พนุธโล” การอุปสมบทเสร็จสิ้นเมื่อเวลา ๑๗.๑๐ น.” :

หลังจากที่พระภิกษุจูม พนุธโล ได้อุปสมบทเรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์จันทร์ เขมิโย ก็ได้นําคณะพระนวกะที่เป็นลูกศิษย์ เดินทางกลับจังหวัดนครพนม โดยผ่านเมืองอุดรธานี มุ่งสู่ จังหวัดหนองคาย ลงเรือชะล่า ซึ่งพระยาสุนทรเทพสัจจารักษ์ เจ้าเมืองนครพนมจัดให้มารับที่จังหวัดหนองคาย ล่องเรือไปตามแม่น้ําโขงเป็นเวลา ๑๒ วันเต็ม ๆ ก็ถึงนครพนมจําพรรษาอยู่ที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม (วัดศรีขุนเมือง) ๑ พรรษา

ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ พระภิกษุสามเณรจํานวน ๕ รูป ได้แก่ ๑. พระอาจารย์จันทร์ เขมิโย ๒. พระภิกษุจูม พันธุโล ๓. พระภิกษุสาร สุเมโธ ๔. สามเณรจันทร์ มุตตะเวส และ ๕. สามเณรทัศน์ ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ให้มีความรู้ทางด้าน นักธรรมและบาลีให้ดียิ่งขึ้น การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในสมัยนั้นเต็มไปด้วยความลําบากอาศัยพ่อค้าหมูเป็นผู้นําทาง ผ่านจังหวัดสกลนครขึ้นเขาภูพาน และต้องนอนค้างคืนบนสันเขาภูพานถึง ๒ คืน ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น อําเภอชนบท และหมู่บ้านต่างๆ จนถึงจังหวัดนครราชสีมา ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น ๒๔ วันเมื่อเดินทางถึงนครราชสีมาก็ได้โดยสารรถไฟต่อเข้ากรุงเทพฯ เพราะในสมัยนั้นทางรถไฟมาถึงแค่โคราช ถึงกรุงเทพฯ แล้วได้ไปพักอยู่วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระสาสนโสภณเป็นเจ้าอาวาส ท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย ได้นําคณะเข้ากราบเรียน โดยนําจดหมายฝากจากพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ เจ้าเมืองนครพนม เข้าถวายท่านเจ้าคุณพระสาสนโสภณทราบเจตจํานงแล้ว ก็ได้รับพระภิกษุสามเณรทั้ง ๕ รูปให้อยู่จําพรรษาที่วัด เทพศิรินทราวาส เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมสืบต่อไป

พระภิกษุจูม พันธุโล ได้ศึกษาเล่าเรียพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลี ณ สํานักวัดเทพศิรินทราวาส เป็นเวลาหลายพรรษา พระภิกษุจูมได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ด้วยวิริยะและ อุตสาหะ แม้จะทุกข์ยากลําบาก ก็อดทนต่อสู้เพื่อความรู้ความก้าวหน้า ในที่สุดท่านก็สามารถสอบไล่ ได้นักธรรมชั้นตรี และชั้นโท ต่อมาก็เรียนบาลีไวยากรณ์ และแปลธรรมบท สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค จากความสําเร็จทางการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมนี้ พระมหาจูม พนธุโล จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมที่ “พระครูสังฆวุฒิกร” ซึ่งเป็นฐานานุกรมของพระสาสนโสภณ (เจริญ ญาณวีโร)

ในปี พ.ศ.๒๔๔๘ ปีมะเส็ง เป็นปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ (โพธิ เนตติโพธิ์) มีศักดิ์เป็นมหาอํามาตย์ตรี ซึ่งเป็นสมุหเทศาภิบาล มณฆลอุดรธานี ได้จัดสร้างวัดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง (นอกเหนือไปจาก วัดมัชฌิมาวาส) ได้นิมนต์พระครูธรรมวินยานุยุต เจ้าคณะเมืองอุดรธานี จากวัดมัชฌิมาวาสมาเป็นเจ้าอาวาสวัดที่สร้างใหม่นี้ ต่อมาพระยาศรีสุริยราชวรานุวัติได้ เข้ากราบทูลขอชื่อวัดใหม่ ต่อพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์ทรงประทานนามว่า “วัดโพธิสมภรณ์” ให้เป็นอนุสรณ์แด่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ (โพธิ์ เนตติโพธิ์) ผู้ก่อตั้งจําเดิมแต่นั้นเป็นต้นมา

ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๕๖ พระยาราชานุกูลวิบูลย์ภักดี (อวบ เปาโรหิตย์) ดํารงตําแหน่ง อุปราชมณฆลภาคอีสานและเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรธานี ภายหลังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยามุขมนตรีศรีสมุหพระนครบาลได้พิจารณาเห็นว่า ภายในเขตเทศบาลอุดรธานียังไม่มีวัดฝ่ายธรรมยุตติกนิกาย สมควรจะจัดให้วัดโพธิสมภรณ์เป็นวัดคณะธรรมยุต และในขณะเดียวกันก็ขาดพระภิกษุผู้จะมาเป็นเจ้าอาวาส เนื่องจากเจ้าอาวาสองค์ก่อน (คือ พระครูธรรมวินยานุยุต) ชราภาพมากและญาติโยมได้นิมนต์ให้กลับไปอยู่บ้านเกิดเมืองนอนของท่านคือ วัดศรีเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย ท่านพระยามุขมนตรีฯ (อวบ เปาโรหิตย์) จึงไปปรึกษาหารือกับพระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ และได้นําความขึ้นกราบทูล พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯเพื่อขอพระเปรียญธรรม ๑ รูป จากวัดเทพศิรินทราวาส ไปเป็นเจ้าอาวาส วัดโพธิสมภรณ์

ท่านเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส โดยบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้คัดเลือกพระเปรียญธรรมผู้มีความรู้ความสามารถผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาและจริยาและมีภูมิลําเนาอยู่ภาคอีสาน ปรากฏว่าพระครูสังฆวุฒิกร (จูม พันธุโล น.ธโท, ป.ธ. ๓) ได้รับการคัดเลือก นับว่าเป็นผู้เหมาะสมที่สุดและเป็นที่พอใจของพระยามุขมนตรีฯ อีกด้วย เพราะท่านพระยาฯ มีความสนิทคุ้นเคยและเคย เป็นผู้อุปถัมภ์บํารุงพระครูสังฆวุฒิกร (จูม) มาก่อน

พระครูสังฆวุฒิกร (จูม พนฺธุโล) อยู่จําพรรษาที่วัดเทพศิรินทราวาสเป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี เมื่อได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าและพระสาสนโสภณเช่นนั้น ก็มีความเต็มใจที่ จะสนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มที่ จึงอําลาวัดเทพศิรินทราวาสที่ท่านอยู่จําพรรษามานานถึง ๑๕ ปี เดินทางสู่จังหวัดอุดรธานี ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ อันเป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๖ เป็นต้นมา เมื่อดํารงตําแหน่งเป็นเจ้าอาวาสในฐานะนักปกครองเป็นครั้งแรก พระครูสังฆวุฒิกร (จูม พนธุโล) ก็ได้เร่งพัฒนาวัดโพธิสมภรณ์ให้เจริญรุ่งเรือง ทั้งทางด้านศาสนา สถาน ศาสนศึกษา ศาสนบุคคลและศาสนธรรม

พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนธุโล) มีปฏิปทาอันน่าเลื่อมใส และ ควรยึดถือเป็นแบบอย่างเป็นเอนกประการ ท่านได้อุทิศตนเพื่อทํางานเผยแผ่หลักธรรมคําสอนของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยภาระหน้าที่หลักที่ท่านถือเป็น ธุระสําคัญมี ๔ อย่างด้วยกันคือ

(๑) การปกครอง

(๒) การศึกษา

(๓) การเผยแผ่

(๔) การสาธารณูปการ

ด้านการปกครองนั้น ท่านถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สําคัญของการเป็นผู้นํา จะเห็นได้จากที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์เป็นเวลา ๓๙ ปี เป็นพระอุปัชฌาย์ ๓๙ ปี เป็นผู้รักษาการเจ้า คณะมณฑลอุดรธานี ๓ ปี เป็นเจ้าคณะมณฑลอุดรธานี ๑๔ ปี เป็นสมาชิกสังฆสภา ๑๗ ปี เป็น เจ้าคณะธรรมยุตผู้ช่วยภาค ๓, ๔ และ ๕ รวม ๑๒ ปี ท่านปกครองพระภิกษุสามเณรและอุบาสก อุบาสิกาด้วยหลักพรหมวิหารธรรม เป็นพระเถระที่เคร่งครัดในระเบียบวินัย ส่วนทางด้านการศึกษา พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ก็เอาใจใส่และให้การสนับสนุนด้วยดีตลอดมา ทั้งนี้อาจ เป็นเพราะว่าท่านได้รับการฝึกอบรมสั่งสอนมาจากสํานักเรียนวัดเทพศิรินทราวาส อันเป็นศูนย์กลาง การศึกษาวิชาการทางพระพุทธศาสนา ท่านได้ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรม และแผนกบาลีและท่านเป็นครูสอนปริยัติด้วยตนเอง นับตั้งแต่สมัยที่ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ใหม่ ๆ จนทําให้วัดของท่านมีชื่อเสียงโด่งดัง มีพระภิกษุสามเณรสอบได้ทั้งนักธรรมและ เปรียญธรรมปีละมากๆ

นอกจากการเอาใจใส่ในงานส่วนรวมแล้ว ท่านยังมีปฏิปทาทางด้านวัตรปฏิบัติอันมั่นคง ด้วยดีตลอดมา นั่นคือ

(๑) ฉันภัตตาหารมื้อเดียว หรือที่เรียกว่า “เอกาสนิกังคะ

(๒) ถือไตรจีวร คือใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน

(๓) ปฏิบัติสมถกรรมฐาน กําหนดภาวนา “พุทโธ” เป็นอารมณ์

(๔) ปรารภ ความเพียร ขยันเจริญสมาธิภาวนา และ

(๕) เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว ท่านก็ออกตรวจการ เดินทางไปเยี่ยมเยียนพระภิกษุสามเณรซึ่งอยู่ในเขตปกครองเป็นลักษณะการไปธุดงค์ตลอดหน้าแล้ง

คุณงามความดีที่พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ได้บําเพ็ญมาด้วยวิริยะ อุตสาหะทําให้พระเถระผู้ใหญ่มองเห็นความสําคัญและความสามารถของท่าน จึงได้ยกย่องเทิดทูน ท่านไว้ในตําแหน่งทางสมณศักดิ์ตามลําดับดังนี้

พ.ศ.๒๔๖๓ เป็นพระครูฐานานุกรมของพระสาสนโสภณ (เจริญ ญาณวโร) ในตําแหน่งพระครูสังฆวุฒิกร

พ.ศ.๒๔๖๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรพัดยศที่พระครูชิโนวาทธํารง

พ.ศ.๒๔๗๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระญาณดิลก

พ.ศ.๒๔๗๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชเวที

พ.ศ.๒๔๗๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่พระเทพกวี

พ.ศ.๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมเจดีย์

◎ ธรรมโอวาท

พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนธุโล) ได้แสดงความจริงในอารมณ์ จิตของท่าน และหาวิธีระงับดับอารมณ์นั้น โดยไม่หลงใหลไปกับโลกธรรม อุบายนั้นท่านได้แสดง ไว้ว่า “จิตเป็นธรรมชาติที่กวัดแกว่งดิ้นรน กระสับกระส่าย แต่ไปตามอารมณ์ที่ใคร่ พอใจใน เบญจกามคุณ ถึงกระนั้นก็ได้มีทมะ คือความข่มจิตไว้ ไม่ให้ยินดียินร้ายไปตามอารมณ์ พร้อมทั้งมีสติประคับประคองยกย่องจิตตามอนุรูปสมัยนับว่าได้ผล คือจิตสงบระงับจากนิวรณูปกิเลส เป็นการชั่วคราวบ้าง เป็นระยะยาวนานบ้าง แต่ในบางโอกาสก็ควบคุมได้ยาก ซึ่งเป็นของธรรมดาสําหรับปุถุชน ต่อจากนั้นก็ได้บากบั่นทําจิตของตนให้รู้เท่าทันสภาวธรรมนั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตื่นเต้นไปกับโลกธรรม แต่ว่าระงับได้ในบางขณะเช่น ความรัก ความชัง อันเป็นปฏิปักขธรรมเป็นต้น เหล่านี้ยังปรากฏมีในตนเสมอถึงกระนั้นก็ยังมีปรีชาทราบอยู่เป็นนิตย์ว่า เป็นโลกิยธรรมนําสัตว์ให้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ฝึกหัดดัดนิสัย พยายามถอนตนออกจากโลกียธรรมตามความสามารถ รู้สึกว่าสบายกายสบายใจอันแท้จริง ธรรมนี้เกิดจากข้อวัตรปฏิบัติในการละ พอใจยินดีอย่างยิ่งในความสงบ”

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

และอีกคราวหนึ่งท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์โดยมีพระเถระผู้ใหญ่ รูปหนึ่งติดตามไปด้วย คือ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี วันนั้นท่านได้แสดงธรรมไว้อย่างแยบคาย พอที่จะหยิบยกเอาใจความสําคัญมากล่าวไว้ในที่นี้ดัง ต่อไปนี้

“จิตของพระอริยะเจ้าเยกอาการได้ ๔ อาการคือ

อาการที่ ๑ อโสก จิตของท่านไม่เศร้าโศก ไม่มีปริเทวนา การร้องไห้เสียใจ จิตใจของ ท่านมีความสุขล้วนๆ ส่วนจิตใจของปุถุชนคนธรรมดายังหนาไปด้วยกิเลสเต็มไปด้วยความรัก ความโศกถูกความทุกข์ครอบงํา ความโศกย่อมเกิดจากความรักเป็นเหตุ เมื่อมีความรัก ก็มีความโศก ถ้าตัดความรักเสียแล้ว ความโศกจะมีแต่ที่ไหน

อาการที่ ๒ วิรช จิตของพระอริยเจ้าผ่องแผ้ว ปราศจากฝุ่น ไร้ธุลี คือ ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ คงจะมีแต่พุทธะคือ รู้ ตื่น เบิกบาน

อาการที่ ๓ เขม จิตของพระอริยเจ้ามีแต่ความเกษมสําราญ เพราะปราศจากห้วงน้ําไหล มาท่วมท้นห้วงน้ําใหญ่เรียกว่า โอฆะ” ไม่อาจจะท่วมจิตของพระอริยะเจ้าได้

อาการที่ ๔ จิตของพระอริยะไม่หวั่นไหวไปตามอํานาจกิเลส ไม่ตกอยู่ในห้วงแห่ง อวิชชา จิตของพระอริยะมีแต่อาโลโก สว่างไสวแจ่มแจ้ง ธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เคยพบเคยเห็น ตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อน และไม่เคยฟังจากใครคราวนี้ก็แจ่มแจ้งไปเลยเพราะท่านตัดอวิชชาเสียได้

◎ ปัจฉิมบท

พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์เป็นพระมหาเถระผู้มีบุญบารมีมากรูปหนึ่ง มีคุณธรรมสูง มีวัตรปฏิปทาอันงดงามซึ่งพอที่จะนํามากล่าวได้ดังนี้

๑. ธีโร เป็นนักปราชญ์

๒. ปญฺโญฺ มีปัญญาเฉียบแหลม

๓. พหุสฺสุโต เป็นผู้คงแก่เรียน

๔. โธรยฺโห เป็นผู้เอาจริงเอาจังกับธุระทาง พุทธศาสนา คือ คันถธุระและวิปัสนาธุระ

๕. สีลวา เป็นผู้มีศีลวัตรอันดีงาม

๖. วตวนฺโต เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธุดงควัตร

๗. อริโย เป็นผู้ห่างไกลจากความชั่ว

๘. สุเมโธ เป็นผู้มีปัญญาดี

๙. ตาทิโส เป็นผู้มั่นคงในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๑๐. สปฺปุริโส เป็นผู้มีกาย วาจา และใจอัน สงบเยือกเย็น เป็นสัตบุรุษ พุทธสาวก ผู้ควรแก่การกราบไหว้บูชาโดยแท้

ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เริ่มอาพาธมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๔ จนถึงเดือน มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๕ คณะแพทย์โรงพยาบาลศิริราชได้ถวายการรักษาโดยการผ่าตัดก้อนนิ่วออก รักษาจนหายเป็นปกติแล้วเดินทางกลับวัดโพธิสมภรณ์อุดรธานี ต่อมาปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ท่านเริ่มอาพาธอีก คณะแพทย์ซึ่งมี ศาสตราจารย์ นพ.อวย เกตุสิงห์ เป็นประธานได้นิมนต์ ท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๕ โดยมีพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ร่วมเดินทางไปด้วย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ได้ถวายการรักษาด้วยการผ่าตัดถุงน้ําดีมีก้อน นิ้ว ๑๑ เม็ด อาการดีขึ้นเพียง ๓ วัน ต่อจากนั้นอาการก็ทรุดลงต้องให้ออกซิเจนและน้ําเกลือ วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๕ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ก็ถูกเวทนาอันแรงกล้าครอบงํา แต่ท่านก็มิได้แสดงอาการใดๆ ให้ปรากฏ จนกระทั่งวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๕ พระธรรมเจดีย์ก็ถึงแก่กรรม มรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อเวลา ๑๕.๒๗) นาฬิกา ณ โรงพยาบาลศิริราช ท่านได้ละสังขาร อันไม่มีแก่นสารนี้ไปสิริรวมอายุได้ ๗๔ ปี ๒ เดือน ๑๕ วัน พรรษา ๕๕