ประวัติและปฏิปทา
พระธรรมบาล (สุ้ย)
วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย)
อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
◎ ชาติภูมิ
ท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ (ท่านเจ้าสุ้ย) หรือที่คส่วนใหญ่รู้จักท่านในนาม พระธรรมบาล (สุ้ย) นามเดิม สุ้ย นับว่าท่านมีรูปร่างทรวดทรงสูงใหญ่สีผิวขาว ท่าทางงามสง่าผ่าเผยมาก วัน เดือน ปีเกิด และนามบิดา มารดา ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ทราบเพียงว่าเกิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ราวปี พ.ศ.๒๓๓๒ท่านได้กำเนิด ที่บ้านกวางคำ ต.เขื่องใน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
◎ การศึกษา บรรพชาและอุปสมบท
พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ หรือ ในนามสมณศักดิ์เมืองอุบลยุคต้น คือ พระธรรมบาล (สุ้ย) เมื่อบรรพชาแล้วได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียนที่วัดหลวงในเขตตัวเมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนั้น โดยการเรียนแบบโบราณ คือ เรียนหนังสือจากอาจารย์ ตามที่อาจารย์บอก หนังสือที่เรียนเป็นหนังสือใบลานจาร (เขียนด้วยเหล็กแหลมคล้ายปากกา) เป็นตัวอักษรลาวหรือตัวอักษรธรรม และอักษรไทน้อย เรียกว่า “หนังสือใหญ่” หนังสือผูกแรก คือปัญญาบารมี ผูกที่ ๒ สัพพสูตรไชย ผูกที่ ๓ หัสสวิชัย ต่อจากนั้นก็ฝึกอ่านหนังสือผูกอื่นๆ ให้ชำนาญแล้วก็เรียนเขียนอักษรธรรม อักษรไทยน้อย พร้อมทั้งท่องบทสวดมนต์ ฝึกหัดเทศน์ธรรมวัตร เทศน์ทำนองอีสานโบราณ เรียนมูลกัจจายน์ซึ่งมี สัททนีติรูปสิทธิประโยชน์ เป็นต้น หลังจากนั้น คงมีคณะเจ้าผู้ครองเมืองอุบลฯ ได้จัดเตรียมกำลังพลไปส่งท่านขณะเป็นสามเณร อายุ ๑๗ ปี ราวปี พ.ศ.๒๓๔๙ ท่านได้เดินทางจากเมืองอุบลฯสู่กรุงเทพฯ เพื่อได้ศึกษาเล่าเรียน ที่กรุงเทพฯ โดยการเดินเท้า เส้นทางสู่กรุงเทพฯ ต้องผ่านดงพญาไฟ (หรือดงพญาเย็นในปัจจุบัน) นับว่าลำบากยิ่งในการเดินทาง เมื่อถึงกรุงเทพแล้วท่านได้เข้าพำนักศึกษาที่สำนักเรียนวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศฯ ราวปี พ.ศ.๒๓๕๒ ขณะนั้นสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) คงเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ
ท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ฯ ได้พำนักศึกษาทั้งปริยัติธรรม และปฎิบัติธรรมพระกรรมฐาน รวมถึงการศึกษาขนบธรรมเนียมของคนกรุงเทพ ข้อวัตรปฎิบัติของพระเถรานุเถระ และการปฏิสันฐานเรียนรู้การปฏิบัติต้อนรับเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน จนได้เปรีญธรรม ๓ ประโยคและมีความแตกฉานยิ่งในอรรถบาลี หลักธรรมในพระไตรปิฏก
◎ แต่งตั้งสมณะศักดิ์
ต่อมาราวปี พ.ศ.๒๓๖๗ เป็นสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรีขึ้นเสวยราชสมบัติ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนธิ์) เป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ในขณะนั้น ด้วยการที่ท่านเจ้าฯมีความรู้แตกฉานในการศึกษายิ่ง และสมณะวัตร การปฏิบัติอันงดงามของท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ฯ เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ จึงได้โปรดเกล้าแต่งตั้งสมณะศักดิ์ให้เป็นพระราชาคณะ มีพระราชทินนามที่ ท่านเจ้าคุณพระอริวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ แล้วโปรดแต่งตั้งให้กลับมารับตำแหน่งเจ้าคณะสงฆ์ชั้นปกครอง ณ เมืองอุบลราชธานี พร้อมทั้งทรงโปรดให้อัญเชิญรอยพระพุทธบาทจำลองจากวัดสระเกศ พระพุทธรูป ตลอดจนเครื่องประกอบสมณศักดิ์ เช่น มีพัดยอด ปักทอง ขวางด้ามงา แต่ไม่มีแฉก และย่ามปักทองขวาง ฝาบาตรมุก และของพระราชทานอื่นๆ มาด้วย
◎ กลับสู่แผ่นดินเมืองดอกบัว ในตำแหน่งสังฆราชแห่งประเทศราช
ท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ นับเป็น เจ้าคุณรูปแรกแห่ง ภาคอีสาน ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ท่านได้กลับมาพำนัก ณ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) โดยทางส่วนบ้านเมืองได้สร้างกุฏิแดง เป็นกุฏิไม้ที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยผสมล้านช้างที่งดงามและโดดเด่นยิ่ง เพื่อใช้เป็นที่จำพรรษาของท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ฯ หลังจากนั้นท่านได้ไปนั่งภาวนาจิต ปฏิธรรมกรรมฐานบริเวณชายดงอู่ผึ่ง เพราะมีสายน้ำไหลผ่านจึงได้สร้างวัดขึ้นคือวัดทุ่งศรีเมือง และ วัดสวนสวรรค์บริเวณทิศตะวันออกของวัดทุ่งศรีเมือง (ภายหลังวัดสวนสรรค์ยุบวัดสร้างเป็นที่พักข้าหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕) ภายในวัดทุ่งศรีเมืองท่านได้สร้างหอพระพุทธบาท ภายในหอพระพุทธบาทยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับชาดกในพระพุทธศาสนา มีลักษณะงดงามตามศิลปะไทยอีกด้วย และหอไตร เป็นศิลปะสกุลช่างไทย ลาว พม่าที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวที่งดงามยิ่ง
ท่านได้นำรูปแบบ การศึกษาพระปริยัติธรรมและการปฏิบัติพระกรรมฐาน การเรียนการสอนภาษาไทย จัดการการกระจายอำนาจบริหารโดยได้มอบหมายให้พระที่ทรงคุณวุฒิ มีความเป็นผู้นำ มีความรู้ทางพระปริยัติธรรมดี จัดการดูแลสำนักเรียนต่างๆ การกระทำเช่นนี้นอกจากจะเป็นการกระจายอำนาจปกครองแล้วยังเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้เกิดแก่ชุมชนในที่ต่างๆของภาคอีสานด้วย
นับว่ายุคนั้นหากใครที่ต้องการเล่าเรียนศึกษาต้องเดินทางมาที่เมืองอุบลดอกบัวแห่งนี้ นี่คือต้นเค้าแห่งความเจริญทางปริยัติธรรม หนังสือไทยศิลปวัฒนธรรมอย่างภาคกลาง ท่านได้นำไปแนะนำประสานให้เกิดความเข้าใจ เกิดความสงบเรียบร้อยเป็นปึกแผ่นในหัวเมืองอีสาน อันเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองอุบลราชธานี เป็นศูนย์กลางการศึกษาทุก ๆ ด้าน จนมีผู้สนใจมาศึกษาเล่าเรียนจากทั่วสารทิศ นอกจากนั้น ท่านยังเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผิดพ้องหมองใจกันของประชาชน และท่านยังเป็นที่ปรึกษาในการปกครองให้ฝ่ายบ้านเมืองให้มีความรักสามัคคีมีธรรมเป็นที่ตั้ง ประชาชนชาวอีสานต่างให้ความเคารพยำเกรงท่านมาก จึงมีคำกล่าวติดปากชาวเมืองอุบลราชธานี ว่า …“ท่านเจ้า”.
ท่านได้กำกับดูแล แพร่เผยการศึกษา ในหัวเมืองอีสาน ได้แก่
“ขุขันธ์ ,สุรินทร์ ,สังขะ ,ศรีสะเกษ ,เดชอุดม ,นครจำปาศักดิ์ ,สาละวัน ,ทองคำใหญ่ ,สีทันดร ,เชียงแตง ,แสนปาง ,อัตตะปือ ,มุกดาหาร ,เขมราช ,โขงเจียม ,สะเมีย ,อุบลราชธานี ,ยโสธร ,นครพนม ,ท่าอุเทน ,สกลนคร ,ไชยบุรี ,กาฬสินธุ์ ,ร้อยเอ็ด ,สุวรรณภู มิ,หนองคาย ,หนองละหาน ,ขอนแก่น ,อุดร ,ชนบท ,ภูเวียง และปากเหือง” จนถึงสิ้นรัชกาลที่ ๓
พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ จึงเป็นพระสงฆ์ยุคแรกที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการศึกษาให้แก่เมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทำให้เมืองอุบลราชธานี เป็นราชธานีแห่งอีสาน รุ่งเรืองด้วยศาสนาศิลปวัฒนธรรม ตลอดสกุลช่างเฉพาะเมืองอุบลสืบต่อมาถึงปัจจุบัน จนได้รับการขนานนามว่า “เมืองนักปราชญ์” เพราะการปฏิบัติงานได้เป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่งขึ้น ต่อมาจึงได้นำสมณศักดิ์ของท่าน มาเป็นพระนามในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช คือ “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติคุณพระมหาเถระผู้มีคุณูปการยิ่ง ต่อการนำพระศาสนามาประสานกับบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุขแก่ผืนแผ่นดิน
อีกประการหนึ่งท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อตีดเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้กล่าวในหนังสือ “กิ่งธรรม” เกี่ยวกับพระอริยวงศาจารย์ ไว้ว่า “ท่านเจ้าคณะ พระอริยวงศาจารย์ และมีสร้อยอยู่ ๒ ตอนว่า ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ ได้ขึ้นมาอยู่จังหวัดอุบลราชธานี และอยู่ที่วัดป่าน้อย เพราะเหตุที่ท่านเป็นพระที่สำคัญของแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ก็ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า หาได้ยากมากในเมืองไทยในเวลานั้น ที่พระสงฆ์ในหัวเมืองจะเป็นชั้นพระราชาคณะ ไม่เหมือนปัจจุบันนี้ และเป็นคนอุบลราชธานีอีกด้วย หลังจากท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดป่าน้อยจนเป็นหลักฐานดีแล้ว ได้ไปสร้างวัดอีกวัดหนึ่ง คือ วัดทุ่งศรีเมือง ทราบว่าท่านไปนั่งกรรมฐานที่นั่น ต่อมาทราบว่าที่วัดทุ่งศรืเมือง ก็มีรอยพระพุทธบาทได้ทราบว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจากวัดสระเกศฯ และได้ทราบจากฝรั่งคนหนึ่งก่อนว่า พระบาทที่วัดทุ่งศรีเมือง เป็นพระบาทที่มาจากวัดสระเกศฯ”
◎ มรณกาล
เมื่อประมาณราวปี พ.ศ.๒๓๙๖ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔ ท่านได้ถึงแก่มรณภาพ ณ ห้องโถงใหญ่ ของกุฏิแดง เก็บศพไว้หลายปี จึงได้ทำรูปนกหัสดีลิงค์ ประกอบหอแก้วบนหลังนก บำเพ็ญกุศลตามประเพณีมีมหรสพตลอด ๗ วัน ๗ คืนเสร็จแล้วเชิญหีบศพรูปนพสูญขึ้นประดิษฐานบนหอแก้ว แล้วชักลากไปสู่ทุ่งศรีเมืองเยื้องไปด้านพายัพ พระราชทานเพลิง ณ ที่นั้น ท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ฯ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น “ปราชญ์” ผู้บุกเบิกของอุบลราชธานีอย่างแท้จริง
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ วัดมณีวนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี