ตำนาน ประวัติ พระติ้วพระเทียม
วัดโอกาสศรีบัวบาน
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม
พระติ้ว พระเทียม ซึ่งเป็นพระคู่แฝดแห่งเมืองนครพนม เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาล โดยมีตำนานการสร้างพระติ้วกล่าวไว้ว่า เดิมทีเดียวมีเพียงพระติ้วองค์เดียว ยังไม่มีพระเทียมขึ้นมาเป็นพระคู่แฝด โดยพระติ้วเป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลัก ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓๙ เซนติเมตร สูง ๖๐ เซนติเมตร สันนิษฐานว่าสร้างโดยพระเจ้าศรีโคตรบูรณ์หลวง ราวปี พ.ศ. ๑๒๓๘ ตามตำนานกล่าวว่าในสมัยศรีโคตรบูรณ์เป็นราชธานีนั้น มีอาณาจักรตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง ระหว่างเทือกเขาหินบูน (ลาว) และเทือกเขาภูพาน (ไทย) การเดินทางคมนาคมที่สะดวกที่สุดคือใช้เรือเป็นยานพาหนะหลัก ครั้งนั้นพระองค์จึงสั่งให้นายช่างชาวลาว ไปหาไม้ตะเคียนมาขุดทำเรือ
นายช่างพาสมัครพรรคพวกข้ามแม่น้ำโขงมายังดงเซกา (ปัจจุบันคือบ้านนากลาง ต.นาทราย อ.เมือง จ.นครพนม) เมื่อได้ไม้ตามต้องการจึงทำการขุดเป็นเรือจนสำเร็จ และเตรียมชักลากลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งในสมัยนั้นการชักลากต้องใช้ไม้หมอนกลมตัดเป็นท่อนๆ เพื่อทำเป็นล้อหมุน ไม้ที่ใช้คือไม้ติ้ว ขณะจะชักลากมีไม้ท่อนหนึ่งไม่ยอมให้เรือดังกล่าวทับ กระเด็นออกมาข้างนอกทุกครั้ง นายช่างเห็นว่าเป็นไม้มหัศจรรย์ จึงนำเรื่องเข้ากราบทูลพระเจ้าศรีโคตรฯทรงทราบ
พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ไม้ท่อนนี้เป็นพญาไม้ จึงโปรดให้นายช่างนำไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปแล้วลงรักปิดทอง แล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. ๑๓๒๘ พร้อมให้มีพิธีสมโภชเป็นประพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของนครศรีโคตรบูรณ์ โดยนำประดิษฐานที่วัดธาตุ หรือวัดพระธาตุทับเงา บ้านสำราญ ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ห่างจากตัวเมืองนครพนมราว ๖ กิโลเมตร
ต่อมาในสมัยพระเจ้าขัตติวงศาฯ เจ้าผู้ครองนครศรีโคตรฯ องค์ถัดมา เกิดไฟไหม้หอพระติ้ว ไม่มีใครนำพระติ้วออกมาได้ พระองค์จึงมีรับสั่งให้หาไม้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาแกะเป็นองค์พระแทนองค์เดิม และมีขนาดเท่ากันทุกประการ พร้อมจัดงานสมโภชให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองแทนพระติ้วองค์เก่าที่เข้าใจว่าถูกไฟไหม้ไปแล้ว
เวลาผ่านไป ๒-๓ ปี ชาวบ้านสำราญไปหาปลากลางแม่น้ำโขง เกิดมีลมพายุหมุนเกิดกลางลำน้ำ จึงรีบนำเรือหลบบริเวณหัวดอนเกาะกลางน้ำ และได้แลเห็นวัตถุหนึ่งลอยหมุนวนในน้ำ พอลมสงบจึงออกมาดูพบว่าวัตถุนั้นคือ พระติ้วองค์ก่อนนั่นเอง ต่างพากันยินดีเป็นอย่างยบิ่ง จึงอัญเชิญพระติ้วไปทูลถวายพระเจ้าขัตติวงศา พระองค์มีพระราชศรัทธาประทานทองคำหนัก ๓๐ บาท ให้ช่างบุทองทั่วทั้งองค์ และประทานนามพระองค์เดิมว่าพระติ้ว ส่วนพระติ้วองค์ใหม่นั้นประทานว่า “พระเทียม” จึงเกิดชื่อพระติ้วพระเทียมพระคู่เมืองของศรีโคตรบูรณ์ตลอดมา และเชื่อว่าการที่เกิดลมพายุหมุน เกิดจากอิทธิฤทธิ์ของพญานาคผู้รักษาลำน้ำโขง นำพระติ้วออกจากหอพระขณะเกิดไฟไหม้ ไปเก็บรักษาไว้ในเมืองบาดาล เมื่อถึงเวลาก็นำมาส่งคืน โดยบริเวณหลังอุโบสถวัดธาตุสำราญในปัจจุบัน ชาวบ้านเชื่อว่าตรงนั้นเป็นทางหรือรูที่พญานาคโผล่ออกมานำพระติ้วไป จึงทำร่องรอยไว้เป็นประจักษ์หลักฐาน
กระทั่ง พ.ศ. ๒๒๘๑ พระบรมราชาพรหมา ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครศรีโคตรฯ ทรงมีศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์สำนักสงฆ์วัดศรีบัวบาน จึงสร้างอุโบสถพร้อมพระประธานปางมารวิชัย ลงรักปิดทองทั่วทั้งองค์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๖ เซนติเมตร สูง ๒๒๐ เซนติเมตร โดยถวายสมัญญานามว่า หลวงพ่อพระบรมราชาพรหมา และเห็นว่าวัดธาตุสำราญที่ประดิษฐานพระติ้วพระเทียมไม่ปลอดภัย จึงอัญเชิญพระติ้วพระเทียมมาประดิษฐานไว้ที่วัดศรีบัวบาน และได้เปลี่ยนชื่อจากวัดศรีบัวบาน เป็นวัดโอกาสแต่ยังคงมีสร้อยท้ายตามหลังว่าศรีบัวบานไว้ถึงปัจจุบัน
โดยทุกๆ ปีในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันวิสาขบูชา ชาวจังหวัดนครพนมจะจัดสรงน้ำพระติ้วพระเทียม ที่เป็นประเพณีสืบมา มีความเชื่อและศรัทธาว่าพระติ้วพระเทียมเป็นพระที่สามารถดับทุกข์ สร้างความร่มเย็น และได้นำโอกาสที่ดีๆ เข้ามาในชีวิตของผู้ที่ได้เข้าไปกราบนมัสการ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีของดีอีก เช่น หลวงพ่อศิลา ศาลเจ้าพ่อหมื่น ให้ผู้คนได้กราบไหว้บูชาขอพร เพื่อเป็นศิริมงคลอีกด้วย
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ https://www.banmuang.co.th/