ประวัติและปฏิปทา
พระครูสีหราช
วัดบ้านแก่นท้าว อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม
พระครูสีหราช หรือ หลวงปู่จู อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านแก่นท้าว ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม พระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมภาคอีสาน มีพลังจิตเข้มขลัง วิทยาคมแก่กล้า เป็นบูรพาจารย์ต้นตำรับไสยเวทสายเขมร มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นพระที่มีเมตตาธรรมสูง วิทยาคมแก่กล้า ปฏิปทาอันงดงาม
● ชาติภูมิ
อัตโนประวัติของท่านพระครูสีหราช หรือ หลวงปู่จู อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านแก่นท้าว มีการบันทึกไว้น้อยมาก ทราบเพียงว่า เกิดที่บ้านหนองกก พ.ศ.๒๓๘๕ (ปัจจุบันอยู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ) มีพี่น้องรวม ๑๒ คน เป็นบุตรคนที่ ๓ ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา
เมื่อช่วงวัยเยาว์ได้ช่วยงานในครอบครัวด้วยความขยันขันแข็ง แต่ด้วยความที่จิตใจโน้มเอียงเข้าหาพระธรรม พออายุกว่าสิบปีจึงขอให้บิดา–มารดาพาไปบวชเป็นสามเณรที่วัดในหมู่บ้าน
● อุปสมบท
ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีได้เข้าพิธีอุปสมบท แต่ไม่ทราบชื่อพระอุปัชฌาย์
ศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความขยันขันแข็งอยู่วัดหนองกก ก่อนไปเรียนพระปริยัติธรรมต่อที่สำนักวัดพระโต จ.ศรีสะเกษ ศึกษามูลกัจจายน์ บาลี อักขระโบราณ ไทยน้อย อักษรลาว
มุมานะเล่าเรียนอยู่หลายปี มีความรู้แตกฉานสามารถพูดอ่านเขียนได้คล่องแคล่ว
พระครูสีหราช เป็นผู้มีอุปนิสัยชมชอบความสงบวิเวก ท่านมักจะออกธุดง ควัตรไปแสวงหาความหลุดพ้นตามป่าเขาในภาคอีสาน โดยเฉพาะในป่าประเทศกัมพูชา พร้อมกับได้ศึกษาเล่าเรียนไสยเวทสายเขมร จากพระเกจิเขมรรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงเลื่องลือมากในด้านเมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี กันบ้านกันเมือง
ด้วยความที่เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและมีความรู้คงแก่เรียน บรรดาญาติโยมจึงทำพิธีรดน้ำเป็นญาครู ยกย่องท่านตามประเพณีอีสาน
ในเวลาต่อมาได้เกิดกลียุคโรคห่าระบาด ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก หลวงปู่จูจึงได้พาญาติโยมอพยพหนีโรคระบาดมาอาศัยอยู่ที่เมืองปะหลาน (ปัจจุบัน ต.ปะหลาน อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม)
ชื่นชอบความวิเวก ได้ออกธุดงค์มาถึงป่าขนวน ที่ตั้งของบ้านแก่นท้าว ท่านเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ดีน้ำท่าบริบูรณ์ อยู่ห่างจากตัวเมืองพยัคฆภูมิพิสัยไม่ไกลนัก พ.ศ.๒๔๒๐ ท่านจึงตัดสินใจสร้างวัดขึ้นที่นี่
พ่อใหญ่หนู ศิษย์ผู้ใกล้ชิด เล่าถึงประสบการณ์วัตถุมงคลของหลวงปู่จูว่า หลวงปู่มีชื่อเสียงโด่งดังลงไปถึงกรุงเทพฯ เรื่องมีอยู่ว่าลูกศิษย์ที่เป็นพลทหารชื่อหอย อยู่ที่เมืองโคราช ได้นำชานหมากของหลวงปู่จูติดตัวไป นายทหารผู้บังคับบัญชาได้ทดลองนำไปใช้ปืนกลยิงดู ปรากฏว่าลูกปืนยิงออกแต่ไปตกอยู่ใกล้ๆ ชานหมาก ทั้งที่ห่างเพียงไม่กี่เมตร
นายทหารท่านนั้นทึ่งในพุทธคุณมาก จึงสอบถามที่มา และรายงานไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
พ่อใหญ่หนูยืนยันว่ารัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมหลวงปู่จู ที่วัดแก่นท้าว ประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๒ โดยเสด็จฯ ทางรถไฟมาลงที่จังหวัดสุรินทร์ จากนั้นได้ทรงช้างมายังวัดบ้านแก่นท้าว และได้พระราชทานนามสมณศักดิ์ให้กับหลวงปู่จูว่า “พระครูสีหราช”
ภายหลัง หลวงปู่จู ได้รับพระราชทานนามเป็น “พระครูสีหราช” ท่านยิ่งมีชื่อเสียงโด่งดังขจรไปไกลกว่าเดิม ทำให้มีพระภิกษุมาฝากตัวเป็นศิษย์สืบทอดสายธรรมหลายรูป ต่อมาปรากฏชื่อเสียงโด่งดังทั่วอีสาน เช่น หลวงปู่สาธุ์ สุขธัมโม วัดบ้านเหล่า ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ,หลวงปู่มี กันตสีโล วัดป่าสันติธรรม ต.แวงดง อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนา โดยปัจจัยที่ได้จากการบริจาคนำมาพัฒนาสร้างความเจริญให้กับวัด ไม่ว่าจะเป็นหอไตร พระอุโบสถ เป็นต้น
ทำให้วัดบ้านแก่นท้าวเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
● มรณกาล
ช่วงบั้นปลายชีวิต พระครูสีหราช หรือ หลวงปู่จู อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านแก่นท้าว ท่านอาพาธด้วยโรคชรา และถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ.๒๔๘๑ สิริอายุรวมได้ ๙๖ ปี พรรษา ๗๖
● ด้านวัตถุมงคล
สำหรับ เหรียญพระครูสีหราช มีปรากฏเพียงรุ่นเดียว จัดสร้างโดย หลวงปู่สาธุ์ สุขธัมโม วัดบ้านเหล่า อ.พยัคภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ศิษย์เอกของท่าน จัดสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๒ วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบูชาครู ภายหลังจากพระครูสีหราชมรณภาพไปนานกว่ายี่สิบปี
ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ เนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างมีไม่เกิน ๕๐๐ เหรียญ
○ ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนพระครูสีหราชครึ่งรูป ด้านล่างเขียนว่า “พระครูสีหราช” โค้งลงไปตามขอบเหรียญ
○ ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์ตัวขอมลาว ๓ แถว อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม โดยแถวแรกเขียนว่า “สิ ตา สิ” แถวที่สองเขียนว่า “ตา มะ เส” แถวที่สามเขียนว่า “มะ เส มา” เป็นคาถากันภัย ๑๐ ทิศ ด้านล่างเหรียญเขียนว่า “วัดบ้านแก่นท้าว อ.พยัคฆภูมิพิสัย”
เหรียญรุ่นนี้ หลวงปู่สาธุ์ ประกอบพิธีพุทธาภิเษกปลุกเสกเดี่ยว ๑ ไตรมาส ณ อุโบสถวัดบ้านเหล่า ด้วยความที่ หลวงปู่สาธุ์ ท่านมีพลังจิตแก่กล้า เจตนาการจัดสร้างที่บริสุทธิ์ พุทธคุณจึงโดดเด่นรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นแคล้วคลาด ป้องกันภยันตรายได้รอบทิศ คงกระพัน และเมตตามหานิยม
จัดเป็นเหรียญดังอีกเหรียญหนึ่งของเมืองมหาสารคาม ติดทำเนียบการประกวดพระภาคอีสานมาโดยตลอด แม้จะเป็นเหรียญตาย (พระครูสีหราชมรณภาพแล้ว) แต่ผู้อธิษฐานจิต คือ หลวงปู่สาธุ์ พระเกจิชื่อดังแห่งภาคอีสานใต้
คณะศิษยานุศิษย์หลวงปู่สาธุ์ หรือผู้ที่มีเหรียญรุ่นนี้ในครอบครอง ต่างมีประสบการณ์มากมาย ทำให้เหรียญรุ่นนี้ได้รับความนิยมสูงมาก ในปัจจุบันราคาเช่าหาในพื้นที่ หากเป็นเหรียญสวยคม อยู่ที่หลักพันปลาย สวยน้อยราคาก็อยู่พันกลางไม่ต่ำกว่านี้
เป็นเหรียญหนึ่งที่ชาวมหาสารคาม ให้ความนิยมและปรารถนามีไว้ในครอบครอง