วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ (หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ) วัดยางสีสุราช อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม

ประวัติและปฏิปทา
พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ (หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ)
วัดยางสีสุราช อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม

พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ (หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ) วัดยางสีสุราช อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม
พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ (หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ) วัดยางสีสุราช อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม

พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ (หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดยางสีสุราช อดีตรักษาการเจ้าคณะอำเภอยางสีสุราช อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม

● ชาติภูมิ
พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ (หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ) เกิดในสกุล “ปินะถา” เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ ที่บ้านสนามชัย อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม

หลังจากท่านเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ได้ลาออกมาช่วยงานครอบครัวทำไร่ทำนาตามวิถีชีวิตของชาวอีสานด้วยความขยันขันแข็ง

● อุปสมบท
เข้าพิธีอุปสมบท ที่อุโบสถวัดยางสี สุราช อ.ยางสีสุราช โดยมี พระครูจันทรสีตลคุณ (หลวงปู่จันดา) วัดทองนพคุณ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังเป็นพระอุปัชฌาย์ และ หลวงพ่อดำ วัดหนองหิน เป็นพระกรรมวาจาจารย์

จำพรรษาปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่สำนักเรียนวัดบ้านหนองกุง อ.นาเชือก มุมานะศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี–โท–เอก ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังศึกษาการเทศน์ปุจฉา–วิปัสสนา จาก หลวงปู่รอด พรหมสโร วัดบ้านหนองกุง จนมีความชำนาญ

อีกทั้งยังให้ความสนใจด้านวิทยาคม ขณะนั้น หลวงปู่จันดา จันทาโภ เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ มีชื่อเสียงในฐานะพระเกจิชื่อดัง ท่านจึงขอฝากตัวศึกษาวิทยาคม

ซึ่งหลวงปู่จันดา เมตตาถ่ายทอดวิทยาคมให้จนหมดสิ้น รวมทั้งแนะนำการวิปัสสนากัมมัฏฐานและยังสอนอ่านเขียนอักษรขอม อักษรธรรม ทำให้หลวงปู่ตุ่น มีความรู้ในการอ่านเขียนอักขระโบราณอีกแขนงหนึ่ง

ต่อมาวัดยางสีสุราชขาดแคลนพระผู้ใหญ่ที่จะพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรือง จึงนิมนต์ท่านให้มาจำพรรษา

พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ (หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ) ท่านได้อุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนาอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ต่อมาได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส

ต่อมาตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอยางสีสุราชว่างลง จึงได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการเจ้าคณะอำเภอยางสีสุราช และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามที่ พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ในแต่ละวันมีผู้เข้ามากราบนมัสการ รับฟังธรรม และประพรมน้ำพระพุทธมนต์เสริมความเป็นสิริมงคล อย่างไม่ขาดสาย

สำหรับปัจจัยที่ได้จากการบริจาค นำมาพัฒนาวัดยางสีสุราช ให้มีความเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ อาคารเรียนพระปริยัติธรรม กำแพงแก้ว ศาลาการเปรียญ เป็นต้น รวมทั้งบริจาคช่วยสาธารณกุศลช่วยชุมชนท้องถิ่น

วัตรปฏิบัติอีกอย่างคือ ตลอดเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดยางสีสุราชและรักษาการเจ้าคณะอำเภอยางสีสุราช ท่านจะปฏิบัติหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์อย่างเคร่งครัด เป็นแบบอย่างให้คณะสงฆ์ฝ่ายปกครองปฏิบัติตาม รวมทั้งออกเผยแผ่หลักธรรมทางพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ

อบรมศีลธรรมแก่พุทธศาสนิกชนตลอดปีและให้ความสำคัญการศึกษาพระปริยัติธรรม เนื่องเพราะการบวชเรียนเป็นทางเลือกหนึ่งของคนยากคนจนที่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนสูงขึ้น หลวงปู่ตุ่น รับหน้าที่ครูสอนพระปริยัติธรรม หากตั้งใจศึกษาเล่าเรียนท่านจะมีทุนการศึกษาให้พร้อมกับสนับสนุนให้เรียนสูงยิ่งขึ้น ทำให้สำนักเรียนวัดยางสีสุราช ในยุคนั้นมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ละปีมี พระภิกษุสามเณรเดินทางมาศึกษาเล่าเรียนจำนวนมาก

สำหรับหลักธรรมคำสอนที่ พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ (หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ) พร่ำสอนญาติโยมมาโดยตลอดเป็นเรื่องของความไม่เที่ยงของสังขาร สรรพสิ่งในโลกมีเกิด มีเสื่อม มีดับ แต่เมื่อเกิดเป็นมนุษย์สุดแสนที่จะประเสริฐ ดังนั้น ควรดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท

พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ (หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ) วัดยางสีสุราช อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม
พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ (หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ) วัดยางสีสุราช อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม

● มรณกาล
พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ (หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดยางสีสุราช อดีตรักษาการเจ้าคณะอำเภอยางสีสุราช อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม ท่าานได้มรณภาพอย่างสงบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ สิริอายุรวมได้ ๘๕ ปี พรรษา ๖๕

เหรียญรุ่นแรก พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ (หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ) วัดยางสีสุราช ปี ๒๕๑๖
เหรียญรุ่นแรก พระครูภัทรสารวิสุทธิ์ (หลวงปู่ตุ่น ภัททญาโณ) วัดยางสีสุราช ปี ๒๕๑๖