ประวัติและปฏิปทา
พระครูพินิตพยัคฆภูมิ (อุดม อหิงสโก)
วัดทองนพคุณ (วัดใน) อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม
พระครูพินิตพยัคฆภูมิ (อุดม อหิงสโก) หลวงปู่แดง, หลวงปู่เสือ อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ (วัดใน) อดีตเจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
◉ ชาติภูมิ
พระครูพินิตพยัคฆภูมิ (อุดม อหิงสโก) นามเดิมชื่อ “อุดม มะลัยโคตร” เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๐ บ้างก็ว่า พ.ศ.๒๔๔๘ ณ บ้านหนองหัวหมู หมู่๑๙ ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม บิดาชื่อ “นายทวม” และมารดาชื่อ “นางยม มะลัยโคตร”
◉ บรรพชาอุปสมบท
บรรพชา ที่ วัดรัตนมานิตย์ ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๖
อุปสมบท ที่วัดรัตนมานิตย์ ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๐ โดยมี พระครูจันดี วัดโพธาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระทูล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระขุลี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อหิงสโก”
◉ การศึกษา
เรียนหนังสือ ที่โรงเรียนประชาบาลหนองหัวหมู ๒ (อังคณานุสรณ์) ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม สอบไล่ได้ชั้นประถม ปีที่๒
หลังจากอุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาวิชาธรรม สอบนักธรรมชั้นตรี ได้เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ สอบนักธรรมชั้นโท ได้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ ที่สำนักเรียนวัดหนองตาวันนา ตำบลหนองตาเดื้อง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี สอบนักธรรมชั้นเอกได้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ ที่สำนักเรียน วัดทองนพคุณ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
เมื่อก่อนได้จำพรรษาอยู่วัดรัตนมานิตย์ บ้านหนองหัวหมู ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ได้ย้ายไปอยู่วัดหนองตาวันนา ตำบลหนองตาเดื้อง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เพื่อไปศึกษาพระธรรมวินัย แล้วย้ายไปอยู่วัดหนองจอกใหญ่ ตำบลโคกแย้ อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เพื่อเป็นอาจารย์สอนนักธรรม และได้ย้ายกับมาอยู่วัดหนองตาวันนา เป็นอาจารย์สอนนักธรรม แล้วย้ายมาอยู่วัดหนองนพคุณ ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ด้วยเหตุเจ้าคณะอำเภอขอร้องไปเป็นทางการ เพื่อให้เป็นอาจารย์อาจารย์สอนนักธรรมประจำสำนักเรียนวัดทองนพคุณ
พ.ศ.๒๔๖๔ จบชั้น ป.๒ ที่โรงเรียนบ้านประชาบาลหนองหัวหมู (อังคณานุสรณ์) ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
พ.ศ.๒๔๗๐ สอบได้นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ.๒๔๗๕ สอบได้นักธรรมชั้นโท สำนักเรียนวัดหนองตาวันนา จังหวัดสระบุรี
พ.ศ.๒๔๘๖ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดทองนพคุณ สำนักเรียนคณะจังหวัดมหาสารคาม
การศึกษาพิเศษ มูลกระจายน์-บัญชี-ลูกคิด
ความชำนาญการพิเศษ การก่อสร้าง, การออกแบบ
◉ ตำแหน่ง,งานปกครอง
ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอ เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๒
ตำแหน่งองค์การศึกษาอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๑
เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๔
ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๔
ดำรงตำแหน่งองค์การปกครอง เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๕
ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๕
ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เมื่อ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๖
ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๖
◉ งานการศึกษา
พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นครูสอนปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดทองนพคุณ ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นครูสอนปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดรัตนมานิตย์
พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นครูสอนปริยัติธรรมวัดบ้านหนองขาม
พ.ศ.๒๔๙๓ ได้เป็นประธานนำข้อสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี โท เอก ไปเปิดสอบที่วัดบ้านหม้อ
พ.ศ.๒๔๙๕ ได้เป็นประธานนำข้อสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี โท เอก ไปเปิดยังหน่วยสอบที่ วัดโนนรัง ตำบลบ้านกู่ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
พ.ศ.๒๔๙๖ ได้เป็นประธานนำข้อสอบไปเปิดยังหน่วยสอบ วัดอัมพวัน ตำบลราษฎร์เจริญ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
พ.ศ.๒๔๙๗ ได้เป็นประธานนำข้อสอบนักธรรมชั้นตรี โท เอกไปเปิดยังหน่วยสอบ โรงเรียนบ้านยางสีสุราช
พ.ศ.๒๕๐๓ ได้จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัตธรรมแผนกบาลีขึ้นที่ วัดทองนพคุณ ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๓๒ ได้เป็นประธานเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ตามวัดต่างๆในเขตปกครองอำเภอ พร้อมทั้งได้อบรมครูสอนปริยัติธรรมในสำนักเรียนต่างๆ ให้มีความเข้าใจในการเรียนการสอน
◉ งานเผยแผ่
พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นพระธรรมทูตประจำอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ได้ออกปฏิบัติเผยแผ่ศีลธรรม จริยธรรมให้แก่ประชาชนในเขตปกครองอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เพื่อให้เข้าใจหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา
ให้ประชาชนได้นำไปฏิบัติในภารกิจประจำวัน เพื่อแก้ปัญหาสังคมให้ดียิ่งขึ้น
พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นประธานสงฆ์ออกเผยแผ่ธรรมะแก่พระภิกษุ-สามเณรประชาชนในเขตปกครองและอำเภอไกล้เคียง
พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๓๒ เป็นพระธรรมกถึกออกเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชนในเขตปกครองและอำเภอไกล้เคียง
◉ งานสาธารณูปการ
พ.ศ.๒๕๐๐ ได้เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น ๑ หลัง ที่วัดทองนพคุณ
พ.ศ.๒๕๐๓ ได้เป็นประธานในการก่อสร้างกำแพงวัด สร้างด้วยอิฐถือปูน สูง ๒ เมตร ยาว ๑๕๒ เมตร สิ้นค่าก่อสร้าง ๒๔,๐๐๐ บาท (สองหมื่นสี่พันบาทถ้วน)
พ.ศ.๒๕๐๔ ได้เป็นประธานสร้างกุฏิขึ้น ๑ หลัง สร้างด้วยเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ลักษณะทรงมะลิลา ขนาดกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๖ เมตร ลังคามุงสังกะสี สิ้นค่าก่อสร้าง ๘๔,๕๐๐บาท (แปดหมื่นสี่พันห้าร้อยบาท)
พ.ศ.๒๕๐๖ ได้เป็นประธานก่อสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น ๑ หลัง ลักษณะทรงมะลิลา กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตรสิ้นค่าก่อสร้าง ๔๔,๕๐๐ บาท(สี่หมื่นสี่พันห้าร้อยบาทถ้วน)
พ.ศ.๒๕๑๐ ได้เป็นประธานสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น ๑ หลังสร้างด้วยเสาคอนกรีตเสริมเหล็กต่อด้วยเสาไม้ หลังคามุงสังกะสี ลักษณะทรงมะลิลา กว้าง ๖ เมตรยาว ๑๒ เมตร สิ้นค่าก่อสร้าง ๖๔,๕๕๐ บาท (หกหมื่นสี่พันห้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน)
พ.ศ.๒๕๑๓ ได้เป็นประธานก่อสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น ๑ หลังสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ลักษณะทรงไทย ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๖ เมตร หลังคามุงสังกะสีสิ้นค่าก่อสร้าง ๖๖,๕๕๐ บาท (หกหมื่นหกพันห้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน)
พ.ศ.๒๕๑๖เป็นประก่อสร้างศาลาการเปรียญขึ้น ๑ หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างแบบ ๒ ชั้น ลักษณะทรงไทย ลังคามุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ ขนาดกว้าง ๒๑ เมตร ยาว ๔๗ เมตร สิ้นค่าก่อสร้าง ๑,๕๔๔,๕๐๐บาท (หนึ่งล้านห้าแสนสี่หมื่นสี่พันห้าร้อยบาทถ้วน)
พ.ศ.๒๕๓๑ เป็นประธานในการบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถหลังเก่าที่ชำรุดไปด้วยภัยธรรมชาติ สิ้นค่าบูรณะปฏิสังขรณ์ ๒๘๘,๕๕๐บาท (สองแสนแปดหมื่นแปดพันห้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน)
พ.ศ.๒๕๓๖ เป็นประธานก่อสร้างศาลาสามัคคีธรรมสังเวช สร้างด้วยอิฐถือปูนแบบชั้นเดียวลักษณะทรงไทย หลังคามุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ ขนาด ๑๖ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑,๕๘๔,๖๐๐บาท (หนึ่งล้านห้าแสนแปดหมื่นสี่พันหกร้อยบาทถ้วน)
◉ การบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์
๑. ได้เป็นประธานนำพระภิกษุ-สามเณร และประชาชนชาวอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ทำความสะอาดบริเวณวัดและที่สาธารณะ ให้เกิดความสวยงาม ตลอดทั้งมีการตัดถนนภายในวัดทองนพคุณให้เป็นสัดส่วนดีงาม
๒.ไ ด้เป็นประธานนำพระภิกษุสามเณร และประชาชนชาวอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ปลูกไม้ยืนต้นทำเป็นสวนป่าถาวร ในที่ธรณีสงฆ์ของวัดทองนพคุณ
๓. ได้เป็นกรรมการร่วมก่อตั้งมูลนิธิสงฆ์อาพาธ ที่โรงพยาบาลสงฆ์อาพาธ จังหวัดมหาสารคาม
๔. เมื่อต้นเดือน สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๘ ในสมัยนายอำเภอ นายอุไร หล่าสกุล ซึ่งขณะนั้นที่ว่าการอำเภอได้ถูกรื้อเพื่อก่อสร้างที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ ทางราชการไม่มีสถานที่เหมาะสมที่จะอาศัยปฏิบัติหน้าที่ราชการให้บริการประชาชน หลวงปู่พระครูพินิตพยัคฆภูมิ ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยหลวงปู่ได้อนุเคราะห์ให้ใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานที่ราชการ เป็น “ที่ว่าการอำเภอชั่วคราว” ทางราชการได้อาศัยใบบุญหลวงปู่เป็นเวลา ๑ ปีเศษ จึงได้ย้ายสถานที่ไปปฏิบัติราชการ ณ ที่ว่าการอำเภอหลังใหม่
◉ งานพิเศษ
พ.ศ.๒๔๙๕-๒๔๙๖ เจ้าคณะภาค ๙ ได้เรียกประชุมเกี่ยวกับการอบรมพระอุปัชฌาย์ และยังได้อบรมการปกครอง,การศึกษา,การเผยแผ่,สาธารณูปการ ให้เข้าใจสอดคล้องการกิจการพระศาสนาให้ดียิ่งขึ้น
พ.ศ.๒๕๐๓ ได้ร่วมอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กทม.
และได้จัดหาที่ดินอีก ๑ แปลง มี ๙ ไร่เศษ ที่แห่งนี้ได้พบหลักฐานเป็นโบราณวัตถุปรากฏอยู่เช่น ใบเสมา หิน กรวด ที่อยู่รอบเนื้อที่บริเวณดังกล่าว ส่วนจะนานเท่าใดนั้นไม่สามารถทราบได้ สภาพพื้นที่ดังกล่าวมีน้ำล้อมรอบ จึงจัดให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ที่สัญจรไป-มา ให้ได้รับความร่มรื่น
พ.ศ.๒๕๒๕ ได้เป็นประธานนำพัฒนากรอำเภอ เกษตรอำเภอ ออกอบรมเผยแผ่ให้ความรู้แก่กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน กลุ่มเกษตร ในการพัฒนาหมู่บ้าน ในเขตปกครองให้เข้าใจในการทำการเกษตร การทำปุ๋ยหมัก
พ.ศ.๒๕๒๖ ได้เข้าร่วมประชุมอบรมพระนักพัฒนา คณะสงฆ์จัดขึ้น ณ วัดนาควิชัย อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
พ.ศ.๒๕๒๗ ได้ร่วมประชุมโครงการพระสงฆ์กับการพัฒนา แม่ทัพภาคที่ ๒ จัดขึ้น ณ วัดพายัพ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
◉ อุปนิสัยของหลวงปู่
คนมองว่าหลวงปู่เป็นคนปากร้าย ดุด่าเก่ง พูดจาไม่ไพเราะ ใครไปหาหลวงปู่มักจะถูกด่ากลับไปทุกคน จึงไม่ค่อยจะมีใครไปหาหลวงปู่ ร้ายกว่านั้น ยังมีคนตั้งชื่อให้หลวงปู่ว่า “หลวงตาเสือ” หรือ “หลวงปู่เสือ” อีกด้วย
จริงๆแล้วหลวงปู่ท่านเป็นคนพูดเสียงดังฟังชัด ท่านเป็นคนพูดตรงๆ อะไรผิดอะไรถูกหลวงปู่ก็จะไม่พูดอ้อมค้อม ลักษณะนิสัยหลวงปู่เป็นคนจริงจัง แต่ในส่วนลึกๆ หลวงปู่เป็นคนมีจิตใจโอบอ้อมอารี มีเมตตาให้ความรักความเมตตากับทุกคน เว้นกับคนที่ประพฤติไม่ดี นอกลู่นอกทางไปพบหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะอบรมสั่งสอนดุด่าว่ากล่าว ไม่เฉพาะแต่ฆราวาส แม้ภิกขุสามเณรที่ประพฤตินอกลู่นอกทาง หลวงปู่ก็จับสึกไปหลายรูป คนไม่ดีไม่สุจิตรจึงกล่าวร้ายและไม่ชอบหลวงปู่
หลวงปู่ได้บวชเรียนมานาน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลวงปู่ได้ประกอบคุณงามความดีทั้งในด้านพุทธจักรและอาณาจักรมากมาย ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาและอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์คณะสงฆ์และประชาชนให้ประพฤติดีงามมาตลอด
หลวงปู่พระครูพินิตพยัคฆภูมิ เป็นพระเถระผู้รัตตัญญู มีความรู้สามารถในด้านการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ การสาธารณูปการ การศึกษาสงเคราะห์ การสาธารณสงเคราะห์ เป็นเจ้าคณะอำเภอที่ดำรงตำแหน่งมานานที่สุด ท่านเป็นผู้มีพรรษายุกาลในจังหวัดมหาสารคาม ท่านเป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง แม้ท่านจะมีอายุมากถึง ๙๐ ปีกว่า การไปมายังคล่องแคล่วเหมือนคนหนุ่ม การอาพาธป่วยไข้ก็มีน้อย การปฏิบัติศาสนกิจในด้านต่างๆนั้นท่านเอาใจใส่ในหน้าที่สม่ำเสมอ ท่านเป็นพระสังฆาธิการระดับอำเภอ ปกครองหมู่คนผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาด้วยพรหมวิหารธรรม จึงเป็นที่เคารพนับของพระภิกษุสามเณรและประชาชนโดยทั่วไป นอกจากนี้ท่านยังมีการปกครองแบบพุทธวิธี คือแบบ ปัคคัยหะและนิคคัยหะ มีการยกย่องผู้ประพฤติดี และมีการข่มขี่ผู้ประพฤติชั่ว เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งสงฆ์ทั้งปวง อำเภอพยัคฆภูมิพิสัยก็เป็นอำเภอที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ในเขตจังหวัดมหาสารคาม
หลวงปู่เป็นผู้มีประสบการณ์การด้านการปกครองเป็นอย่างดียิ่ง และประสบการณ์ในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-บาลี ท่านได้ส่งเสริมการศึกษาแผนกธรรมบาลีมาด้วยดี ปฏิบัติศาสนกิจตลอดชีวิตของท่าน โดยมิได้มอบหมายงานหรือหน้าที่ให้แก่ผู้ใดทำแทน ก็เป็นการปลูกจิตสำนึกในตำแหน่งหน้าที่ของท่าน แม้ว่าสังขารจะไม่อำนวยตอนไกล้มรณภาพ แต่จิตใจของท่านยังเข้มแข็งต่อการปฏิบัติหน้าที่ ท่านทำให้เป็นเนติธรรม หรือทิฏฐานุคติแก่อนุชน แท้จริงท่านเป็นผู้มีคูณูปการต่อพระพุทธศาสนา แม้ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาวธรรมมีประจำสังขารทั้งปวง แต่ท่านก็ไม่ได้ประมาทในสภาวธรรมนั้น จึงมีสติสัมปชัญญะในการประกอบศาสนกิจด้วยความสังวร ความมักน้อยสันโดษในปัจจัย ๔ และความสามัคคีในกิจของสงฆ์ท่านได้ปลูกจิตสำนึกให้ผู้อยู่ใต้ปกครอง เกิดความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ของตน เหตุนั้นท่านจึงเป็นนักปกครองบริหารหมู่คณะให้เจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆด้วยดีเสมอมา
◉ สมณศักดิ์
พ.ศ.๒๔๙๖ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นโท ที่ “พระครูพินิตพยัคฆภูมิ”
พ.ศ.๒๕๐๕ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก
พ.ศ.๒๕๑๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ
◉ มรณภาพ
พระเดชพระคุณหลวงปู่พระครูพินิตพยัคฆภูมิ ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลมหาสารคาม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๐ รวมสิริอายุได้ ๙๐ ปี พรรษา ๗๐
◉ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ ๔๖ ปี (๒๔๙๖-๒๕๔๐)
เมื่อท่านได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว คณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมือง ได้ร่วมกันบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานกิจ อุทิศถวายท่านมาตลอดไม่ได้ขาดสายมีการทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐วัน ตามประเพณีนิยมมาตามลำดับ เกี่ยวกับการขอไฟพระราชทาน คณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองได้ประชุมปรึกษาหารือกัน เห็นควรกำหนดเอา วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๑
งานพระราชทานเพลิงศพจัดขึ้น ณ เมรุชั่วคราววัดทองนพคุณ (วัดใน) ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก กรรมการมหาสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
ที่มาข้อมูล:
หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูพินิตพยัคฆภูมิ
ขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อคำผาย กนฺตสีโล
ภาพหลวงปู่,เรียบเรียง ลงเผยแผ่ประวัติโดย พิษณุ แพงสร้อยน้อย