ประวัติและปฏิปทา
พระครูนวกิจโสภณ (หลวงปู่ประพันธ์ พนฺธญาโณ)
วัดพยัคฆภูมิวราราม(วัดนอก) อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม
● ชาติภูมิ
พระครูนวกิจโสภณ (หลวงปู่ประพันธ์ พนฺธญาโณ) นามเดิมชื่อ “ประพันธ์ จูมพะลา” เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๗ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด เกิดที่ตำบลปะหลานเดิม ปัจจุบันเป็น ตำบลเวียงสะอาด อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม บิดาชื่อ “นายหลวง” และมารดาชื่อ “นางพุฒ จูมพะลา”
มีพี่น้องร่วมสายโลหิต ๖ คน ดังนี้
๑.นางเเพง ราชเนย เสียชีวิตแล้ว
๒.นายเเดง จูมมาลา ยังมีชีวิตอยู่
๓.นางอ่อนจันทร์ กมล ยังมีชีวิตอยู่
๔.หลวงพ่อพระครูนวกิจโสภณ (หลวงปู่ประพันธ์ จุมพลา)
๕.นายทองสุข จูมมาลา ยังมีชีวิตอยู่
๖.นางโสน กฐินเทศ เสียชีวิตแล้ว
หลวงพ่อพระครูนวกิจโสภณ ในวัยเด็กนั้น พ่อ แม่ ได้พากันอพยพไปอยู่ที่บ้านภูดิน อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด และต่อมาได้ย้ายไปอยู่ บ้านดอนหมี ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
● การศึกษา
เรียนจบชั้นประถมศึกษา บริบูรณ์ (ป.๔) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ ที่โรงเรียนวัดดอนหมี บ้านดอนหมี ตำบลปะหลาน (ปัจจุบันเป็น ตำบลเวียงสะอาด) อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
● อุปสมบท
หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาบริบูรณ์แล้ว คุณพ่อหลวง ได้นำเข้าบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ ที่วัดบ้านดอนหมี ในสมัยนั้น ขึ้นกับตำบลปะหลาน เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี ที่วัดสระทอง (สมัยนั้นชื่อว่าวัดสระทอง) ปัจจุบันคือวัดทองนพคุณ (วัดใน) หลังจากนั้นได้ขอลาไปศึกษาต่อที่วัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๗ อายุครบ ๒๐ ปี บริบูรณ์ ได้เข้าอุปสมบทเป็น พระภิกษุที่วัดทศบางไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมี พระครูอุดมสมณคุณ (กิมชุ้น สุริยะจันทร์) เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอินทร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัด สุรินทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พนฺธญาโณ”
จากการที่หลวงพ่อ เป็นผู้ฟังฝักใฝ่ในการศึกษา เล่าเรียนพระธรรมวินัยให้แตกฉาน จึงได้ขอกราบลาเจ้าอาวาส เดินทางไปศึกษาต่อพระธรรมวินัย ที่กรุงเทพมหานคร โดยไปจำพรรษาที่วัดม่วงเเค (ปัจจุบันคือวัดบางบอน เเขวงบางเเค กรุงเทพมหานคร) พร้อมกับศึกษาพระธรรมบาลี จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าอาวาส วัดม่วงเเค ให้เป็นพระอาจารย์สอน ประปริยัติธรรม ที่วัดม่วงเเค ในต่อมาได้ย้ายเข้าไปสอน พระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ และได้พำนักจำพรรษาอยู่ที่นั่น ซึ่งอยู่ในความปกครองของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสมหาเถระ) เจ้าอาวาสในสมัยนั้น จากนั้นได้ขออนุญาต กราบลาพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ไปจำพรรษาเพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดกับโยมพ่อ โยมแม่ ที่บ้านดอนหมี ตำบลเวียงสะอาด อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นการได้กลับมาบ้านเดิม อีกครั้ง
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๔๙๘ ชาวบ้าน ทายกทายิกา และคณะสงฆ์ ได้กราบนิมนต์ หลวงพ่อ (พระประพันธ์) ไปจำพรรษา ที่วัดทองนพคุณ(วัดใน) เพื่อช่วยเหลืองานทางด้านพระศาสนา หลวงพ่อพระครูพินิตพยัคฆภูมิ เจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ซึ่งหลวงพ่อ(พระประพันธ์) ก็ได้เอาใจใส่ในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม และช่วยงานกิจการของสงฆ์ ด้วยความรู้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มความสามารถ และยังเป็นพระนักเทศน์ฝีปากเอก เป็นผู้มีความสามารถในการถ่ายทอดพระธรรมอย่างเเยบคาย(ธรรมถึก) เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนเป็นที่ประจักษ์ จนได้รับการยอมรับจากพระสงฆ์ด้วยกันเอง จากญาติโยม และจากเจ้าคณะอำเภอฯ เป็นอย่างมาก จึงได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นเจ้าคณะตำบลปะหลาน และแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส วัดพยัคฆภูมิวนาราม(วัดนอก) ในเวลาพร้อมกันนี้ด้วย เนื่องจากหลวงพ่อกวี ฐิตธัมโม เจ้าอาวาสรูปเดิมของวัดพยัคฆภูมิวนารามได้มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๘ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนชื่อวัดพยัคฆภูมิวนาราม เป็นวัดพยัคฆภูมิวราราม ในเวลาต่อมา
● งานบริหารงานพระสงฆ์ และสมณศักดิ์
- พ.ศ. (ไม่ทราบ) เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านดอนหมี
- พ.ศ. (ไม่ทราบ) เป็นเจ้าอาวาสวัดพยัคฆภูมิวนาราม เป็นเจ้าคณะตำบลปะหลาน
- พ.ศ.๒๕๐๑ เป็นพระอุปัชายะ ในเขตตำบลปะหลาน
- พ.ศ.๒๕๑๐ ได้รับพระราชทานเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ในพระราชทินนามว่า พระครูนวกิจโสภณ
- พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นรองเจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย
- พ.ศ.๒๕๑๒ เป็นเจ้าคณะฝ่ายเผยแผ่การศึกษาพระธรรมวินัย
- พ.ศ.๒๕๑๕ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นโท ในพระราชทินนามเดิม
- พ.ศ.๒๕๑๘ พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในพระราชทินนามเดิม
- พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นกรรมการสอบสนามหลวงแผนกธรรม
● ด้านการพัฒนา
หลังจากที่ชาวบ้าน และพระสงฆ์ ได้กราบนิมนต์หลวงพ่อ ไปจำพรรษาอยู่ที่ วัดพยัคฆภูมิวนาราม(ชื่อเดิม) หลวงพ่อก็ได้เริ่มสร้างถาวรวัตถุ อย่างเป็นรูปธรรม อันได้แก่ สร้างกุฏิ สร้างศาลาการเปรียญ ในสมัยนั้นต้องพระต้อง นำชาวบ้านไปหาไม้เนื้อแข็ง ในป่า ในดง (บ้านเเคนดง บ้านดงยายเภา อำเภอสตึก) เเละ ดงอื่นๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งการไปแต่ละครั้งกว่าจะได้ไม้ตามขนาดที่ต้องการ ก็ต้องไปปักหลักอยู่เป็นแรมเดือน จำพวกทรายและหิน กรวด ก็ต้องให้คนเดินเท้าไปหาบจากแม่น้ำมูล ดังนั้นการก่อสร้างวัดจึง ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ส่วนการก่อสร้างอุโบสถ ท่านได้มุ่งมั่น ทุ่มเทเสียสละ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังทุนทรัพย์ โดยส่วนตัวก็ดี โดยการบริจาคจากญาติโยมก็ดี ได้ ฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคนานาประการ เพื่อให้งานก่อสร้างสำเร็จลุล่วง บรรลุถึงเป้าหมายที่ได้วางไว้ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือ ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนชาวอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ตลอดจนแรงศรัทธา จากพุทธศาสนิกชน ในเขตใกล้เคียง ด้วยดีเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุโบสถนั้น ได้ใช้เวลาในการก่อสร้าง เป็นระยะเวลายาวนานมากถึง ๑๙ ปี จึงสำเร็จลุล่วงไปในส่วนของตัวอุโบสถ และได้ใช้ประโยชน์ในการประกอบพิธีตามกิจ อันควรของคณะสงฆ์ โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง จำนวน ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สิบเอ็ดล้านบาทถ้วน)
● จริยาวัตร และ การอาพาธ
หลวงพ่อพระครูนวกิจโสภณ (ประพันธ์ พันธญาโณ) เป็นผู้ที่มีกิจวัตรแห่งสงฆ์อย่างงดงาม เป็นผู้ที่มากด้วยพรหมวิหารแห่งธรรม เป็นผู้บริสุทธิ์มีเมตตาธรรมแก่คนทุกชนชั้น อย่างเสมอต้นเสมอปลายโดยไม่เลือกปฏิบัติ หลวงพ่อเป็นผู้รักในการศึกษาเล่าเรียน และมีความประสงค์ปรารถนาที่จะให้บุคคลอื่น ได้มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนด้วย โดยการส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสทางด้านการศึกษา ให้เข้ามาบวชเรียน ซึ่งสามารถที่จะเรียนได้ทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไปได้ ส่วนลูกหลานใครที่พอจะมีทุนทรัพย์อยู่บ้าง ก็รับเข้ามาเป็นลูกศิษย์วัด พร้อมกับสนับสนุนให้ได้ศึกษาเล่าเรียน ในภาคการเรียนการสอนตามปกติในโรงเรียนที่อยู่ใกล้วัด ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลวงพ่อ พระครูนวกิจโสภณ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ไปสอบรับราชการเป็นครู เป็นตำรวจ เป็นทหาร เป็นพ่อค้าคหบดี จำนวนมาก ล้วนแต่อาศัยใบบุญของหลวงพ่อ ได้ช่วยให้ความอนุเคราะห์ส่งเสริมทั้งสิ้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อ เป็นพระที่เตรียมไปด้วยเมตตาธรรมนั่นเอง คุณความดีที่หลวงพ่อได้สร้างได้ทำไว้อย่างมากมายนั้น ได้เป็นอานิสงส์ส่งผลให้เกิดความศรัทธาแก่บุคคลทั่วไป ทั้งในเขตการปกครองและพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย
● มรณกาล
กิจวัตรที่หลวงพ่อได้ปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา ได้ดำเนินมาตรวจจนวาระสุดท้ายของชีวิต จากการที่หลวงพ่อได้ตรากตรำทำงานหนัก หนักกว่าชาวบ้านหรือฆราวาสวัดด้วยซ้ำ ไป เพราะหลวงพ่อยังต้องปฏิบัติภารกิจหลักของสงฆ์ ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาอีกด้วย โดยในสมัยก่อนนั้น ต้องเดินด้วยเท้าเปล่า เดินทางด้วยเกวียน เดินทางด้วยม้า จนกระทั่ง ระยะเวลาต่อมาจึงได้เดินทางด้วยรถยนต์ เพื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามกิจนิมนต์ ซึ่งถือได้ว่าหลวงพ่อเป็นปูชนียบุคคล ในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ และเพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อให้ประชาชนดำรงตนเป็นคนดีของสังคม และในที่สุด หลวงพ่อก็ต้องพ่ายแพ้แก่สุขภาพ ได้มีอาการเจ็บป่วยมาโดยตลอด แต่หลวงพ่อก็ไม่เคยเอ่ยปากบอกให้ญาติโยมได้ทราบ จนกระทั่งป่วยหนักเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จึงมีข่าวเผยแพร่ออกไปให้ทราบ
อนิจจา วะตะ สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ ชีวิตถูกความเกิด ความเจ็บ ความแก่เบียดเบียนให้เสื่อมสิ้นไปตามกาลเวลา ครั้นถึงกาลเวลากำหนดแล้ว ก็ย่อมต้องแตกสลายไป คำว่า ความตาย ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดในโลกล่วงพ้นไปได้ ชีวิตและความตายเป็นของคู่กัน เมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับเป็นธรรมดา เป็นของคู่กันมาเช่นนี้ หลวงพ่อพระครูนวกิจโสภณ ก็เช่นเดียวกัน หลังจากที่ญาติโยม ได้นำส่งเข้ารับการรักษาครั้งสุดท้าย ที่โรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัย และอาการทรุดหนักลงเรื่อยๆ
จนกระทั่ง ถึงวันอังคารที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๐ เวลา ๐๓.๐๐ น. กาลเวลาแห่งการพลัดพรากก็มาถึง หลวงพ่อได้ละสังขาร มรณภาพจากพวกเราไปด้วยอาการสงบ สิริอายุรวมได้ ๗๒ ปี ๘ เดือน ๑๐ วัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : พิษณุ แพงสร้อยน้อย