วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่ขัน โสวตฺถิโก วัดอมฤต อ.เมือง จ.นนทบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ขัน โสวตฺถิโก

วัดอมฤต
อ.เมือง จ.นนทบุรี

พระครูนนทสมาจาร (หลวงปู่ขัน โสวตฺถิโก) วัดอมฤต ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี
พระครูนนทสมาจาร (หลวงปู่ขัน โสวตฺถิโก) วัดอมฤต ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี

หลวงปู่ขัน โสวตฺถิโก วัดอมฤต ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี เกจิดังเมืองนนท์ ที่ถูกลืมเลือน

◉ ชาติภูมิ
พระครูนนทสมาจาร (หลวงปู่ขัน โสวตฺถิโก) วัดอมฤต นามเดิมชื่อ ‘ขัน จันทร์เหมือน’ เกิดวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๖ เป็นลูกชาวสวนย่านบางกรวย

◉ บรรพชาอุปสมบท
เข้าสูร่มกาสาวพัสตร์เมื่ออายุ ๑๖ ปี โดยบวชเป็นสามเณร ที่วัดชัยพฤษมาลา (สมัยก่อนขึ้นอยู่กับจังหวัดนนทบุรี แต่ปัจจุบันนี้ขึ้นอยู่กับเขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ) โดยมี ท่านเจ้าคุณนันทวิริยะ(โพธิ์) เป็นพระอุปฌาย์

จนกระทั่งอายุ ๑๙ ปี ท่านเจ้าคุณนันทวิริยะ ก็ฝากสามเณรขัน ให้มาเรียนักธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราษฎร์รังสฤษดิ์ ครั้งนั้นสมเด็จพระวันรัตน์ (เฮง เขมจารี) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น ท่านเจ้าคุณพระยาราชสุทธี เจ้าคณะ ๕

สามเณรขัน ได้อยู่ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม จนกระทั่งอายุครบบวช ก็อุปสมบทที่วัดชัยพฤษมาลา โดยที่ ท่านเจ้าคุณนันทวิริยะ(โพธิ์) เป็นพระอุปฌาย์, พระอธิการกิมเจิง เจ้าอาวาสวัดสำโรง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ ท่านเจ้าคุณราชสุทธี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “โสวตฺถิโก

หลวงพ่อแก้ว วัดอมฤต (วัดไฟไหม้) จ.นนทบุรี
หลวงพ่อแก้ว วัดอมฤต (วัดไฟไหม้) จ.นนทบุรี

หลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านก็ศึกษาเล่าเรียนที่วัดมหาธาตุอยู่ ๖ ปี สอบนักธรรมได้เปรียญ ๓ ประโยค ซึ่งท่านจะขอเรียนต่อ แต่ติดที่ท่านเป็นโรคประสาท ต้องพักรักษาตัวเสียก่อน หมอลงความเห็นว่าต้องหยุดเรียน สาเหตุเพราะท่านปวดศีรษะบ่อยมาก “สมเด็จพระวันรัตน์” ท่านก็ให้มหาขันเป็นครูสอนปริยัติธรรม ที่วัดมหาธาตุฯ เสียเลย

ครั้นพระมหาขัน ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดอมฤต หรือวัดไฟไหม้ก็ได้ทำนุบำรุงวัดไฟไหม้มาโดยตลอด ท่านสร้างกุฏิสงฆ์ สร้างโบสถ์ ในการรื้อโบสถ์เก่าออกนั้น กรุพระแตกออกมา ชาวบ้านเข้ามายื้อแย่งเอาพระเก่าไปจนหมด มีพระโคนสมอ พระยอดธง พระบูชาสมัยสุโขทัย สมัยเชีงแสน เป็นเก่าที่ล้ำค่า สันนิษฐานว่าเมื่อตอนสร้างโบสถ์ครั้งแรก หลวงปู่แก้ว ท่านได้สร้างทับฐานโบสถ์เดิม เมื่อขุดโบสถ์เก่าออกมา พบใบเสมาและแหวนทองคำตลอดจนเบี้ยจั่นมากมาย

พระครูนนทสมาจาร (หลวงปู่ขัน โสวตฺถิโก) วัดอมฤต ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี
พระครูนนทสมาจาร (หลวงปู่ขัน โสวตฺถิโก) วัดอมฤต ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี

พระครูนนทสมาจาร (หลวงปู่ขัน โสวตฺถิโก) ท่านพระบริสุทธิ์ศีล ตลอดชีวิต ไม่เคยล่วงมาตุคาม เพราะบวชตั้งแต่เป็นสามเณร และบวชพระต่อเลย ว่ากันว่า หลวงปู่ขัน เคยมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง จึงนับว่า หลวงปู่ขัน เป็นศิษย์สายวัดสะพานสูงองค์หนึ่ง นอกจากนั้น ท่านยังเป็นศิษย์เจ้าคุณโพธิ์ เกจิชื่อดังแห่งวัดชัยพฤกษ์มาลา

เหรียญ พระครูนนทสมาจาร (หลวงปู่ขัน โสวตฺถิโก) วัดอมฤต รุ่นแรก ปี ๒๕๑๖
เหรียญ พระครูนนทสมาจาร (หลวงปู่ขัน โสวตฺถิโก) วัดอมฤต รุ่นแรก ปี ๒๕๑๖

◉ มรณภาพ
พระครูนนทสมาจาร (หลวงปู่ขัน โสวตฺถิโก) ท่านเป็นพระรัตตัญญู ซึ่งหลวงปู่ขันมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๖ สินิรวมอายุได้ ๙๙ ปี ๘ เดือน ๑๐ วัน

ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๖ ท่านจะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี ทางวัดได้เตรียมงานทำบุญใหญ่ไว้ และได้เตรียมเหรียญ ๑๐๐ ปี ของหลวงปู่ขันไว้แจกในงานด้วย แต่ต้องยกเลิกงานทั้งหมดเสียก่อน

พระครูนนทสมาจาร หลวงปู่ขัน เสกตะกรุดภายในพระอุโบสถ วัดอมฤต ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี
พระครูนนทสมาจาร หลวงปู่ขัน เสกตะกรุดภายในพระอุโบสถ วัดอมฤต ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี

◉ ประวัติวัดอมฤต
วัดอมฤต ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒ คลองบางศรีทอง หมู่ที่ ๑ ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๓ งาน ๙๐ ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือ ใต้และตะวันออกติดต่อกับสวนของเอกชน ทิศตะวันตกติดต่อกับคลองบางศรีทอง ที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๒ แปลง เนื้อที่ ๑๙ ไร่ ๓ งาน ๖๘ ตารางวา
พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มอยู่ริมคลองบางศรีเมือง แวดล้อมไปด้วยที่สวนของชาวบ้าน อาคารเสนาสนะมีอุโบสถกว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๐ เมตร เป็นรูปทรงเรือโบราณ ภาพจิตรกรรมภายในลบเลือน ขณะนี้ทางวัดกำลังสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทนแล้ว กุฎีสงฆ์จำนวน ๗ หลัง มีทั้งที่เป็นแบบสมัยเก่าและสมัยใหม่ หอสวดมนต์สร้าง พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นอาคาร ๒ ชั้น ศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูง

รูปเหมือนบูชา พระครูนนทสมาจาร (หลวงปู่ขัน โสวตฺถิโก) วัดอมฤต ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี
รูปเหมือนบูชา พระครูนนทสมาจาร (หลวงปู่ขัน โสวตฺถิโก) วัดอมฤต ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี

วัดอมฤต สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๒๔ สมัยกรุงธนบุรีตอนปลายไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้าง เดิมมีนามว่า ‘วัดคงคา’ คงถือเอาเหตุที่วัดตั้งอยู่ริมคลองเป็นนิมิตหมาย ต่อมาเข้าใจว่าวัดคงถูกไฟไหม้ ชาวบ้านจึงได้เรียกนามว่า ‘วัดไฟไหม้’ ครั้น พ.ศ.๒๔๖๓ เสด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้มาทอดผ้ากฐินและได้ประทานทรัพย์ไว้สำหรับบูรณะปฏิสังขรณ์ พร้อมกับได้เปลี่ยนนามวัดเสียใหม่เป็น ‘วัดอมฤต’ และใช้มาตราบเท่าทุกวันนี้ วัดอมฤตได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๔ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๒๒.๑๕ เมตร ยาว ๓๖.๘๐ เมตร
เจ้าอาวาสวัดมี ๖ รูป คือ
รูปที่ ๑ พระอุปัชฌาย์แก้ว เกสโร
รูปที่ ๒ พระอธิการแดง
รูปที่ ๓ พระอธิการแสง
รูปที่ ๔ พระอธิการดี
รูปที่ ๕ พระอธิการอินทร์
รูปที่ ๖ พระครูนนทสมาจาร (ขัน) อายุ ๙๐ ปี พรรษาที่ ๗๐ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดรูปปัจจุบัน (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. ๒๕๒๖)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก พี่เจี๊ยบเล็ก