วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย พระพุทธรูปล้านช้าง ศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองหนองคาย

ตำนาน ประวัติ
หลวงพ่อพระใส

วัดโพธิ์ชัย
อ.เมือง จ.หนองคาย

หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย

“อุกาสะ วันทามิ ภันเต เจติยัง สัพพัง สัพพัตถะ ฐาเน สุประติฏฐิตั้ง สารีริกธาตุง มะหาโพธิง พุทธะรูปัง สะกะลัง สะทา กายะสา วะจะสา มะนะสา เจวะ วันทาเมเต ตะถาคะเต สะยะเน อาสะเน ฐาเน คะมะเน จาปี สัพพะทา”

ข้าพเจ้าขอเคารพกราบไหว้บูชา ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธบาท พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ์ พระพุทธรูป มีหลวงพ่อใส เป็นต้น

และพระพุทธสถานทั้งหลายที่ พระพุทธเจ้าทรงประทับ โปรดสัตว์โลก ไม่มีประมาณ ทั้งในมนุษย์ ในสวรรค์ แม้ตลอดพรหมโลก ด้วยเครื่องสักการบูชา มีดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องสักการะ พร้อมกาย วาจา ใจ ด้วยคารวะอันยิ่ง เทอญ

หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูป ที่ชาวเมืองหนองคายเชื่อกันว่า “ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก” และมีประชาชนทั้งหลาย เข้ากราบสักการะเป็นจํานวนมาก

เช่นเดียวกัน ถ้าท่านผู้อ่านท่านใด เดินทางไปยังจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นดินแดนฝั่งแม่น้ำโขงของไทยและฝั่ง

ตรงข้ามของนครเวียงจันทน์แล้ว มิได้แวะเข้าไปยัง วัดโพธิ์ชัย เพื่อกราบสักการะหลวงพ่อพระใสก็นับได้ว่า ยังไปไม่ถึงเมืองหนองคายที่แท้จริง

ดังนั้น เมื่อไปถึงเมืองหนองคาย ก็สมควรที่จะเข้ากราบไหว้บูชาหลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง

หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย

หลวงพ่อพระใส จากคําบอกเล่าของคนโบราณโดยอ้างถึงพระพุทธลักษณะ ได้ดังนี้

หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย มีพระพุทธลักษณะงดงามมาก หล่อด้วยทองสีสุก หรือที่เราเรียกกันว่าทองลูกบวบ สีสดใส มีขนาดหน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว สูงจากพระชงฆ์เบื้องล่างถึงยอดพระรัศมี (เกตุ) 4 คืบ 1 นิ้ว ปัจจุบันได้ประดิษฐานอยู่ ณ พระ อุโบสถวัดโพธิ์ชัย อําเภอเมือง จังหวัดหนองคาย

การหล่อมีประวัติน่าอัศจรรย์มาก ตามประวัติกล่าวไว้ว่า ประวัติการหล่อเชื่อแน่ว่าเป็น พระพุทธรูปหล่อสมัยล้านช้าง ในอดีตเมื่อครั้งอาณาจักรล้านช้างมีความเจริญรุ่งเรืองมากพระพุทธศาสนาในแคว้นล้านช้าง ก็เจริญรุ่งเรืองด้วยพระมหากษัตริย์ ทรงใฝ่พระทัยยิ่งต่อพระพุทธศาสนา (เราจักมองเห็นภาพความเจริญในอดีตได้จากการหล่อสร้าง ว่ามีความสวยสดงดงามเพียงใด)

อนึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรม พระยาดํารงเดชานุภาพ ทรงลงความเห็นไว้ในหนังสือตํานานพุทธเจดีย์ ว่า “พระพุทธรูปล้านช้างที่งดงามยิ่งกว่าองค์อื่นคือ พระเสริม อยู่ในวิหาร วัดปทุมวนาราม

ดังนั้นจึงเชื่อได้อย่างแน่นอนว่า พระใสก็คือพระพุทธรูปในสมัยแคว้นล้านช้างที่กําลังเจริญรุ่งเรือง เพราะพระพุทธรูป 3 องค์ ซึ่งมี พระสุก พระเสริม พระใส นั้นหล่อในคราวเดียวกัน

ตํานานพระใส

จากประวัติโบราณแห่งวงศ์กษัตริย์แคว้นล้านช้าง พระเจ้าแผ่นดิน มีพระราชธิดาผู้เลอโฉมถึง 3 พระองค์ “พระราชธิดาทั้งสามพระองค์นั้น ก็ล้วนทรงเป็นเจ้าศรัทธาอันยึดมั่นต่อคุณงามความดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา พระธิดาทั้งสาม ในตํานานเพียงแต่กล่าวไว้โดยย่อว่า พระธิดาสุก คือพระพี่นางองค์ใหญ่ พระธิดาเสริม คือองค์กลาง และพระธิดาใส คือพระองค์น้องสุดท้อง

ความที่พระราชธิดาทั้งสามเป็นเจ้าศรัทธา เป็นที่รักของปวงประชาทั้งหลาย จึงทรงตั้งพระทัยว่า ควรสร้างพระพุทธรูปประจําองค์ไว้สักการบูชา จึงเสด็จไปขอพรจากพระบิดาและพระบิดาเห็นชอบจึงทรงประทานพร ทั้งยังให้ช่างหลวงหล่อพระพุทธรูป 3 องค์พร้อมๆ กัน

ในประวัติกล่าวไว้ว่า มีเทวดาคือมนุษย์ผู้ทรงศีลทรงธรรม นุ่งขาวห่มขาวมาช่วยทําการหล่อจึงสําเร็จ การหล่อต้องสูบเตาหลอมทอง ถึง 8 วัน จึงจะแล้วเสร็จ และเมื่อทําการหล่อเสร็จแล้วจึงขนานพระนาม ตามลําดับว่า

1. หลวงพ่อพระสุก (ประจํา องค์พี่ใหญ่)

2. หลวงพ่อพระเสริม (ประจํา องค์กลาง)

3. หลวงพ่อพระใส (ประจําองค์ สุดท้อง)

ลักษณะพิเศษของหลวงพ่อพระใส จะมีห่วงกลมๆ อยู่ 3 ห่วง สําหรับเป็นที่ร้อยเชือก ติดอยู่กับพระแท่นขนาดนิ้วมือลอดได้

ในประวัติศาสตร์แคว้นล้านช้าง ได้จารึกไว้ว่า “พระสุก พระเสริม และพระใส พระพุทธรูปสําคัญของสามพระธิดานี้ แต่เดิมได้ประดิษฐานอยู่ ณ นครสําคัญๆ มานานแค่ไหนก็ไม่ปรากฏแต่ที่ระบุไว้ก็คือ พระพุทธรูปทั้งสามองค์ได้มาประดิษฐาน ณ นครเวียงจันทน์เป็นเวลาช้านานแล้ว

ต่อมาพระเจ้าธรรมเทวงษ์ พระมหากษัตริย์แห่งนครเวียงจันทน์ ได้อัญเชิญไปประดิษฐานเสียที่เมืองเชียงคําหรือเมืองตุลาคม เพราะในกาลนั้นเมืองเวียงจันทน์เกิดกลียุค ชาวประชาเดือดร้อนวุ่นวายมาก

จากนั้นหลังจากเมืองเวียงจันทน์ เปลี่ยนแปลงเจ้าผู้ครองนคร จะเป็นยุคใดไม่ปรากฏหลักฐาน ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปสําคัญทั้ง 3 องค์ มาประดิษฐ์เสียที่นครเวียงจันทน์ อีกครั้ง”

ครั้นในปีพ.ศ.2321 เมื่อรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงครองราชได้ 10 ปี ก็เกิดสงคราม ขึ้นระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์)

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จดํารงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้เป็นจอมพลยกทัพไปตีนครเวียงจันทน์ พระพุทธรูปทั้งสามพระองค์จึงถูกพาไปหลบซ่อนเสียในเมืองเชียงคําดังกล่าว นี่เป็นเหตุผลในการถูกย้ายหนี อยู่หลายครั้งหลายคราว ดังที่มีการจารึกไว้ในประวัติเมืองเวียงจันทน์

สู่เมืองสยาม

ยุคต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่ง ราชวงศ์จักรี ก็ปรากฏว่าเมืองเวียงจันทน์เกิดเป็นกบฏขึ้น ในสมัยของเจ้าอนุวงศ์ ตรงกับปี พ.ศ.2369 ปีจอ

เมื่อข้าศึกเกิดมีการแข็งข้อขึ้นมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ต้องหาทางกําจัดปราบปรามเสีย โดยสั่งให้สมเด็จบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ เป็นจอมทัพยกพลมาปราบ ลงอย่างราบคาบ

หลังจากนั้นสมเด็จบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสําคัญ สามพี่น้องคือ พระสุก พระเสริม พระใส มาประดิษฐานเสีย ณ ฝั่งประเทศสยาม จากป่าภูเขาควาย เมืองเวียงจันทน์ มายังวัดโพธิ์ชัย เมืองหนองคาย (จังหวัดหนองคาย)

เกิดเหตุอัศจรรย์

คราวที่อัญเชิญพระทั้ง 3 องค์ มาประดิษฐาน ณ สยามประเทศนั้น มีเรื่องเล่าไว้ว่า

“เมื่อเห็นทีท่าว่าเจ้าอนุวงศ์ต้อง พ่ายแพ้แก่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นที่แน่นอนแล้ว ชาวเมืองจึงได้นําพระ พุทธรูปทั้ง 3 องค์ ไปซ่อนไว้ ณ ภู เขาควาย ซึ่งเป็นป่าไม้อันหนาแน่น ทั้งยังเป็นภูเขาสูงชันมาก

ครั้นเวลาต่อมาสมเด็จบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ จึงได้อัญเชิญมาจากภูเขาควาย โดยการต่อแพไม้ไผ่แล้ว นําประดิษฐานล่องมาทางน้ำงึ่ม

ความจริงแพที่ถูกต่อขึ้นมานั้น เป็นแพขนาดใหญ่แข็งแรงมากเพราะ ต้องอัญเชิญมาพร้อมกันทั้ง 3 องค์ คือ พระสุก พระเสริม และพระใส อนึ่งลําน้ำงึ่มครั้งกระนั้น ก็เป็นแม่น้ำที่มีสายน้ำพัดไหลเชี่ยว ตลอดเส้นทางมิได้มีสิ่งใดผิดปกติในการล่องลอยมาตามกระแสน้ำนั้น

ครั้นขบวนแพอัญเชิญล่องมาถึง บ้านเวิน ซึ่งเป็นคุ้งน้ำ กระแสน้ำแรงกระทบตลิ่งพังเป็นคุ้งกว้าง ก็ปรากฏว่าเหตุอัศจรรย์ได้เกิดขึ้น คือ พระแท่นทองของพระสุก เกิดแหวกแพจมลงไปในน้ำ คล้ายกับว่า พระแท่นนั้นหนักเหลือกําลังจนแพจะต้านทานไหว และในขณะเดียวกัน ก็ปรากฏว่ามีพายุพัดจัดจนแพขนาดใหญ่นั้นเอนเอียง

เหตุการณ์เกิดขึ้นโดยฉับพลัน แล้วก็สงบเงียบไปอย่างไร้ร่องรอย นับเป็นสิ่งอัศจรรย์อันเกิดจากอานุภาพของพระราชธิดาสุก ผู้ยังยึดมั่นอยู่กับองค์พระและพระแท่นทองรองรับนั้น

บริเวณดังกล่าวชาวเวียงจันทน์ จึงได้เรียกว่า “เวินแท่น” ไปตามเหตุการณ์นั้น”

พุทธปาฏิหาริย์

“เมื่อบรรดาทหารไทยผู้มีหน้าที่อัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ เห็นเหตุการณ์ตอนพระแท่นจมน้ำแล้ว ก็ไม่มีใครจะหาญงมเอาขึ้นมา เพราะคิดเสียว่า เสียแท่นไปส่วนองค์ยังอยู่ดี

ครั้นเมื่อแพขบวนล่องมาถึงปากน้ำงึ่ม คือมาถึงแม่น้ำโขงเฉียงกับบ้านหนองกุ้ง อําเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคายเพียงเล็กน้อย

พอถึงบริเวณนั้น ก็เกิดเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ขึ้นอีก คือท้องฟ้า สายลม เคยเป็นปกติไม่มีเค้าอันใดจะเกิดขึ้น ทั้งสิ้น

ฉับพลัน…ก็เกิดกระแสลมพายุ พัดอย่างรุนแรง ทั้งยังมีสายฟ้าฟาดเปรี้ยงปร้างขึ้น ท้องฟ้าเริ่มดําทะมึน

บรรดาทหารหาญทั้งหลาย ได้พบกับเหตุการณ์ซ้ำสอง หวาดหวั่นภัยจะเกิดขึ้นเป็นที่สุด

ท่ามกลางสายฝนและพายุพัด กระหน่ำอยู่นั้นพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานของราชธิดาสุก เริ่มมีอาการเคลื่อนไหวแล้วแพก็เริ่มแหวกออก จากนั้น พระสุก อันเป็นพระพุทธรูปทองคํา ก็จมลงสู่กระแสน้ำ อันเชี่ยวกรากในวังวนปากน้ำงึ่ม

ครั้นพระสุกจมลงไปในน้ำแล้ว เหตุการณ์พลันหยุดสงบลงอย่างสิ้นเชิง!

จึงทําให้คิดว่า นี่เป็นพุทธปาฏิหาริย์ของพระพุทธรูปสุก หรือเป็นด้วยอํานาจแห่งดวงพระวิญญาณของ พระธิดาสุก แห่งเจ้านครล้านช้างที่ยังมีจิตใจผูกพันกับสิ่งเคารพบูชาของ พระองค์ท่าน จนเกิดความทุกข์ที่ยึดมั่นถือมั่นของพระองค์ท่าน

และบริเวณดังกล่าวนั้น ชาวบ้านโดยทั่วไปได้ขนานนามว่า “เวินสุก” ซึ่งเป็นที่ที่พระสุกจมอยู่ในน้ำจนกระทั่งทุกวันนี้

เหลือเพียงสอง

คณะอัญเชิญพระพุทธรูปจากภูเขาควายมาถึงจังหวัดหนองคาย ก็ได้ทําการอัญเชิญพระเสริมและพระใส เพียงสองพระองค์นี้ขึ้นประดิษฐาน ตามความเหมาะสม

เมื่อได้อัญเชิญมาได้สององค์ ประวัติได้กล่าวไว้ว่า

“อัญเชิญขึ้นเมืองหนองคาย แล้วได้แยกย้ายนําไปประดิษฐานเสีย ดังนี้

1. พระเสริม เป็นพระพุทธ ประธานของพระธิดาองค์กลาง ได้นําไปประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย เมืองหนองคาย

2. ส่วน พระใส เป็นพระพุทธประธานของพระธิดาองค์เล็ก แห่งเจ้านครล้านช้าง ได้นําไปประดิษฐาน เสียที่วัดหอก่อง (ปัจจุบันเป็นวัดประดิษฐธรรมคุณ) เมืองหนองคาย

แสดงปาฏิหาริย์

ต่อมาในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น (ข้าหลวง) ไปอัญเชิญพระเสริมจากวัดโพธิ์ชัย ลงมายังกรุงเทพฯ

ท่านขุนวรธานีมาถึงเมืองหนองคาย ก็คงจะทราบว่าพระใส เป็นพระพุทธรูปคู่กับพระเสริม จึงอัญเชิญ พระใสจากวัดห่อก่องมาขึ้นสู่เกวียน เป็นอันดับแรก

แล้วก็ขับเกวียนมุ่งมา ณ วัดโพธิ์ชัย เพื่อทําการอัญเชิญพระเสริมเป็นองค์ที่สอง เพื่ออัญเชิญมากรุงเทพฯ พร้อมๆ กัน

แต่เมื่อขบวนเกวียนผู้อัญเชิญ มาถึงวัดโพธิ์ชัย อันเป็นสถานที่พระเสริมประดิษฐานอยู่ ก็บังเกิดเหตุอัศจรรย์ทําความตกตะลึงให้แก่บุคคล ทั้งหลายในสมัยนั้นมาก

คือเกวียนที่อัญเชิญมาเกิดไม่ขยับเขยื้อนอีกต่อไป เหมือนถูกสลักตรึงล้อ ยิ่งอาศัยสิ่งต่างๆ ลากกันอย่างสุดกําลังเกวียนนั้นก็พลันหักโครมลงไปกองกับพื้นดิน ทําความสงสัยให้แก่หมู่คณะอัญเชิญเป็นอันมาก

ด้วยพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ท่ามกลางผู้คนเป็นอันมากนั้นเป็นที่กล่าวขวัญกันว่า

“หลวงพ่อพระใส แสดงปาฏิหาริย์ เพราะการอัญเชิญนั้นเป็นไปนอกพระราชโองการแห่งพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยรัชกาลที่ 4 พระมหากษัตริย์เจ้าทรงมีพระกระแสอัญเชิญแต่พระเสริมเท่านั้น

คงจะเป็นด้วยเหตุนี้ จึงทําให้คณะผู้ไปอัญเชิญประสบปาฏิหาริย์ดังกล่าวจากพุทธบารมีและพุทธานุภาพแห่งพระพุทธองค์…”

อยู่คู่หนองคาย

เป็นอันว่า หลวงพ่อพระใส จึงอยู่คู่กับจังหวัดหนองคายเพราะท่านมีความผูกพันอยู่กับจังหวัดหนองคาย และยังเป็นที่พึ่งทางใจของมหาชนชาวไทยแถบลุ่มแม่น้ำโขงทั้งสองฝั่งอีกด้วย

สําหรับพระพุทธรูปหลวงพ่อใสนั้น ท่านได้มาประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย แล้วก็มีสิ่งอันเรียกว่า อิทธิปาฏิหาริย์ มากมายหลายประการ

ทั้งยังเป็นพระพุทธรูปที่พึ่งที่บูชา ของมหาชนทั้งปวง ต่างก็ได้ทํานุบํารุงให้ความสําคัญหวงแหนเป็นอย่างยิ่ง

ในงานประจําปีนั้น ชาวบ้านทั้งหลายในจังหวัดหนองคาย ได้จัดให้มีการอัญเชิญแห่แหนไปรอบๆ เมือง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลานชาวเมืองหนองคายตลอดไปด้วย

หลวงพ่อพระใส ท่านเคยแสดง ปาฏิหาริย์ให้แก่พระมหากษัตริย์เมืองเวียงจันทน์ได้ประจักษ์สายตาและประจักษ์ใจมาแล้ว

เมื่อครั้งพระเจ้าสุริยวงศ์ จะเสด็จเสวยราชย์ครองเมืองเวียงจันทน์ พระองค์ก็ได้ทรงอธิษฐาน ต่อพระพักตร์แห่งหลวงพ่อพระใสว่า…

“ถ้าการปกครองไพร่ฟ้าของ ข้าพเจ้าจะเป็นไปด้วยความสันติสุข ปราศจากศัตรูหมู่ไพรีที่จะมาเบียดเบียนแล้ว ขอให้องค์พระใสโปรดแสดงเหตุอัศจรรย์ให้ประจักษ์ในวันเสวยราชย์ อันเกิดด้วยอานุภาพของหลวงพ่อฯ นั้นเองเถิด…”

นี่เป็นคําอธิษฐานของพระมหากษัตริย์ผู้ไม่ประสงค์ความทุกข์เดือดร้อน พระองค์ประสงค์ที่จะให้ไพร่ฟ้า แผ่นดินของพระองค์มีสันติสุขมากกว่า

ครั้นแล้ววันเสวยราชย์ของพระเจ้าสุริยวงศ์ตรงกับเดือนอ้ายก็เกิด เหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้นตามคําอธิษฐาน

คือ วันนั้นฟ้าคะนองครืนร้องอย่างสนั่นหวั่นไหว สายฟ้าแลบ แปลบปลาบฟาดสะท้านสะเทือน จนเป็นที่ประจักษ์แก่จิตใจของพระองค์ และไพร่ฟ้าทั้งปวง

พระเจ้าสุริยวงศ์ทรงปลื้มปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ประชาไพร่ฟ้าโห่ร้องเทิดเกียรติบารมีอย่างกึกก้อง

นิมิตอัศจรรย์ปรากฏขึ้นด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธองค์จริงแท้ ยังประโยชน์ให้พระองค์ทรงเสวยราชย์ ปกครองไพร่ฟ้าได้อยู่เย็นเป็นสุขโดย ทั่วหน้ากันตลอดรัชสมัยของพระองค์ เลยทีเดียว (นับได้ว่าประเทศลาวเจริญ มากที่สุดในสมัยนั้น)

ขอฝนก็ได้

พิธีอัญเชิญ หลวงพ่อพระใส ในเทศกาลสงกรานต์

ครั้งหนึ่งในภาคอีสานมีสภาวะแห้งแล้ง แล้งอย่างชนิดพืชไร่ ข้าวกล้า ต้องเที่ยวเฉา ล้มตายอย่างน่าใจหาย

บรรดาชาวเมืองชาวไร่ต่างก็ พร้อมใจกันทําพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใสออกสู่ขบวน มีน้ำอบ ดอกไม้ เป็นเครื่องสักการบูชา ทั้งได้อธิษฐานขอฝนฟ้าให้ตกลงมาเป็นที่ชื่นใจ เพื่อให้พืชทั้งหลายได้งอกงาม

พิธีอัญเชิญ หลวงพ่อพระใส ในเทศกาลสงกรานต์

เมื่อขบวนแห่มาถึงปะรําพิธี ก็ได้อัญเชิญหลวงพ่อพระใส ขึ้นสู่แท่นจัดรับรองไว้ จากนั้นก็ได้ตั้งฉลองบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน

เมื่อได้บวงสรวงอธิษฐานขอฝนแล้ว ด้วยอํานาจแห่งพระพุทธบารมีของพระองค์ ชลธารก็มาสู่ดินอย่างชุ่มโชก