พระธาตุอิงฮัง (อินทรปราสาท) แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว
พระธาตุอิงฮัง ตั้งอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว เป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และ สําคัญแห่งหนึ่งในพระราชอาณาจักรลาว เป็นมิ่งขวัญของชาวสุวรรณเขต มีงานบุญ เฉลิมฉลองประจําปี ระหว่างเดือนอ้ายเพ็ญ (แต่ก่อนจัดงานนี้ระหว่างเดือน 12 เพ็ญ) พระธาตุองค์นี้มีลักษณะงดงามมาก และเป็นที่สงวนรักษาไว้ซึ่งศิลปกรรมลาวสมัยโบราณเกือบครบถ้วน ดูเหมือนว่าเป็นพระธาตุองค์เดียวที่ยังเหลือรูปทรงเดิมอยู่ และไม่ได้ถูกทําลายแต่ประการใด ตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างสุวรรณเขตกับเซโดน ห่างจากตัวเมืองสะหวันนะเขต ประมาณ 15 กิโลเมตร
ประวัติทางโบราณคดี (ราวศตวรรษที่ 1-13)
กล่าวกันว่าพระธาตุนี้ เริ่มสร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีโคตบอง มีอํานาจ (ประมาณศตวรรษที่ 6) พระเจ้าสุมินทราชาธิราชแห่งอาณาจักรศรีโคตบอง ได้วางรากฐานสร้างขึ้น ตามคําแนะนําของพระเถระชาวอินเดีย เพื่อเป็นสัญลักษณ์สถานที่ พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานที่ป่าไม้รังเมืองกุสินาราย ประเทศอินเดีย เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้นําเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ ลักษณะของพระธาตุในสมัยนั้น เป็นรูปสี่เหลี่ยมชั้นเดียว
แต่หนังสืออุรังคธาตุกล่าวว่า พระองค์ทรงสร้างขึ้นเป็นเครื่องหมายสถานที่ ประทับนั่งของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งพระองค์เสด็จมาโปรดระยาศรีโคตบอง คงจะมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนมองเห็นความสําคัญ ของปูชนียสถานแห่งนี้มากขึ้น จึงได้เอาสถานที่นี้ไปเชื่อมโยงกับพระพุทธเจ้า
ครั้นต่อมา เรื่องราวของอาณาจักรศรีโคตบองก็หายไป คงจะเป็นพวกเขมรโบราณแผ่อํานาจเข้ามาครอบครองดินแดนส่วนนี้ เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา
มีแต่นิทานพระยาศรีโคตบองเท่านั้นที่เล่าสืบๆ กันมาอันว่านิทานพระยาศรีโคตบองนี้มีเล่ากันเกือบทุกประเทศในอินโดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลาวและไทย แต่ก็ลงเอยเอาว่าพระยาศรีโคตบอง เป็นชาวล้านช้าง ได้เอาไม้ม้อนเหล็กมาตีช้างตาย
ระหว่างเขมรมีอํานาจ พระธาตุนี้ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นเทวสถานของฮินดู และได้สร้างต่อเติมขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ลวดลายตกแต่งตามบานประตูและผนัง ก็ได้แกะสลักเกี่ยวกับเทพเจ้าฮินดู โดยเฉพาะเรื่องเมถุนสังวาส ลักษณะของพระธาตุก็กลายเป็นปราสาทหรือพระปรางค์ของเขมรโบราณไป คงจะเรียกว่า “อินทรปราสาท” แล้วกลายมาเป็นอิงฮังไปในสมัยที่ชาติลาวได้มีอํานาจแทนขอม เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา
เชิงประวัติศาสตร์ (ราวศตวรรษที่ 13-19)
ชนชาติลาวเริ่มมีอํานาจครอบคลุมดินแดนส่วนนี้อย่างแท้จริง ในศตวรรษ ที่ 13 แต่ก็ไม่ได้รวมเป็นประเทศเดียวกัน ได้แยกย้ายกันตั้งอาณาจักรขึ้นหลายแห่ง อาณาจักรซาติลาวในดินแดนแถบนี้คงเรียกว่า อาณาจักรกะบอง ตามชื่ออาณาจักรศรีโคตบอง (ศรีโคตปุระ) โบราณ
เจ้าผู้ครองเมืองกะบองในศตวรรษที่ 14 มีนามว่าพระยาแปดบ่อ ในปี ค.ศ. 1349 พระยาฟ้างึ่มผู้รวบรวมแผ่นดินลาว ได้ยกทัพมาปราบพระยาแปดบ่อ จนถึงแก่ความตาย แล้วตั้งน้องชายพระยาแปดบ่อ เป็นพระยากะบองครองเมืองแทน
ในสมัยที่เชื้อพระวงศ์ของพระยาแปดบ่อ ครองเมืองกะบองนี้ เรื่องราวเกี่ยวกับพระธาตุสําคัญต่างๆ ในดินแดนส่วนนี้ก็ไม่ได้กล่าวถึง แต่เข้าใจว่าเจ้าเมืองกะบองทุกๆ องค์คงจะเอาใจใส่ดูแลปูชนียสถานต่างๆ ในอาณาจักรของตน รวมทั้งพระธาตุอิงฮังด้วย
เรื่องราวของพระธาตุอิงฮัง ปรากฏแจ้งชัดขึ้นในรัชกาลของสมเด็จพระโพธิสารราช และสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชตามลําดับ ในระหว่างที่สมเด็จพระโพธิสารราช ลงมาประทับที่นครเวียงจันทน์ในปี ค.ศ. 1539 พระองค์ก็ได้เสด็จลงไปนมัสการปูชนียสถานที่สําคัญในเขตเมืองกะบอง คือพระธาตุออิงฮังนี้และพระธาตุศรีโคตบอง พระธาตุพนม และพระธาตุโพ่น พระองค์ได้มอบถวายข้าทาสไว้บํารุงรักษาพระธาตุ ดังกล่าวทุกองค์
พระธาตุอิงฮัง ได้รับการสร้างต่อเติมขึ้นอีก ในรัชสมัยของสมเด็จพระไชย เชษฐาธิราชที่ 1 หลังจากที่ได้ทรงสถาปนานครเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวง ระหว่าง ค.ศ. 1548 พระองค์ได้ดัดแปลงพระธาตุองค์นี้ ให้กลับคืนเป็นเจดีย์ในทางพระพุทธศาสนา สร้างยอดเจดีย์ตามแบบศิลปกรรมลาวโบราณ ครั้นสร้างเสร็จแล้วก็ได้จัดงานเฉลิมฉลอง และมอบถวายข้าทาสไว้บํารุงรักษาเช่นกัน
พระมหากษัตริย์ล้านช้างทุกพระองค์ ต่อจากสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชก็ได้ เอาใจใส่บํารุงรักษาพระธาตุอิงฮังนี้เหมือนพระธาตุองค์อื่น มิให้ขาดราชประเพณีจน ถึง ค.ศ. 1829 สมัยที่อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ถูกทําลาย หลังจากนี้พระธาตุก็เศร้าหมอง ปราศจากการดูแลรักษา มีแต่ชาวบ้านใกล้ๆเท่านั้นเคารพบูชา และถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังที่เคยเชื่อถือกันมาแต่โบราณกาล
สมัยปัจจุบัน (ค.ศ. 1893 – ปัจจุบัน)
ต่อมาถึง ค.ศ. 1893 ฝรั่งเศสเข้าครอบครองเมืองลาวทางฝั่งซ้ายแม่น้ําโขง ในระหว่าง 11 ปี ต้นสมัยฝรั่งเศสปกครอง องค์พระธาตุก็เศร้าหมองปกคลุมด้วยเถาวัลย์ต้นโพธิ์เล็กๆ และต้นไม้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามองค์พระธาตุมากมาย จนกลายเป็นป่าน้อยๆ หาที่จะเป็นที่น่าดูน่าชมมิได้
หลังจากปี 1930 เจ้าหน้าที่โบราณคดีฝรั่งเศสลงมือซ่อมแซมโบราณสถานใน พระราชอาณาจักรลาว เขาก็ได้ซ่อมแซมพระธาตุอิงฮังเพียงเล็กน้อย รูปนายทวารบาลก็ได้ซ่อมแซมใหม่ในลักษณะเดิม ส่วนบานประตูธาตุเก่าด้านหนึ่ง ได้นําเอามาไว้ที่หอพระแก้วเวียงจันทน์ แล้วทําบานประตูใหม่ขึ้นแทน
นับแต่ปี ค.ศ. 1949 เป็นต้นมา เมื่อลาวได้รับเอกราชแล้ว ข้าราชการ ทหาร ตํารวจ เมืองสะหวันนะเขต โดยมีเจ้าแขวงเป็นประธาน พร้อมด้วยประชาชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ก็ได้วางแผนบูรณะพระธาตุอิงฮังให้เป็นที่น่าเลื่อมใส ปรับบริเวณรอบพระธาตุให้กว้างขึ้น สร้างระเบียงและกําแพงพร้อมประตูโขง หลังคาเรือนยอด ขึ้นรอบองค์พระธาตุ และกําหนดจัดงานฉลองประจําปีขึ้นในวันเพ็ญเดือนยี่ทุกปี ซึ่งแต่ก่อนนั้นจะจัดระหว่างเดือน 2 เพ็ญ ด้วยเห็นว่าอยู่ในระยะเวลาเดียวกับงาน ประเพณีไหว้พระธาตุหลวง และให้ถือว่าเป็นงานประเพณีของชาติ สมเด็จเจ้ามหาชีวิต องค์มกุฎราชกุมาร หรือผู้แทนพระองค์ ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพระราช พิธีนี้มิได้ขาด เหมือนกับงานประเพณีของชาติอย่างอื่นๆ ในพระราชอาณาจักร
ลักษณะพระธาตุ
พระธาตุมีรูปร่างสี่เหลี่ยมย่อมุม เหมือนพระปรางค์ หรือปราสาท เป็นเจดีย์แบบผสมวิหาร คือใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปศักดิ์สิทธิ์ก็ได้เพราะมีประตูปิด-เปิดได้ ข้างในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์พระธาตุมีสามชั้น ชั้นล่างเป็นศิลปะดั้งเดิม ยอดพระธาตุเป็นศิลปะแบบลาวสมัยล้านช้าง มีรูปทรงเป็นดอกบัวตูม หรือปลีกล้วย ที่เรียกว่า “ดวงปี ฐานของพระธาตุมีความกว้างด้านละ 9 เมตร องค์พระธาตุสูง 25 เมตร