ประวัติและปฏิปทา
ท่านเทวธมฺมี (ม้าว)
วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง)
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
◎ ชาติภูมิ
ท่านเจ้าคุณพระเทวธัมมีเถระ (ม้าว) หรือ ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) นามเดิม ม้าว เกิด วัน เดือนใดไม่ปรากฏหลักฐานทราบเฉพาะปีเกิด คือ พ.ศ.๒๓๖๑ ที่คุ้มเหนือ ในเมืองอุบลราชธานี เป็นผู้มีรูปร่างสัณฐาน สันทัด ผิวขาว กิริยามารยาทสุภาพ น่าเลื่อมใส และรักความสงบมาแต่ยังเยาว์ นามบิดา มารดาไม่ปรากฏเช่นกัน เพียงแต่ทราบว่าบิดาเป็นญาติกับบิดาของท่านพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ซึ่งเดิมอยู่ที่บ้านหนองไหล ตาบลหนองขอน เมืองอุบลราชธานี และต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นกรมการเมืองอุบลราชธานี ได้ตั้งภูมิลาเนาอยู่ในเมืองอุบลราชธานีตลอดมา
◎ การศึกษา บรรพชาและอุปสมบท
ท่านเทวธมฺมี อุปสมบทที่วัดเหนือท่า อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี (วัดเหนือท่าเป็นวัดร้างตั้งอยู่บริเวณสานักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน) ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและอักษรธรรม อักษรไทย พอสมควรแล้ว เมื่ออายุได้ ๒๔ ปี พรรษา ๓ ท่านพนฺธโล (ดี) ได้นาตัวเข้าไปเรียนในกรุงเทพมหานครโดยพานักที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนรอบรู้โดยควรแก่ภาวะผู้ใหญ่ที่ชักนาให้ศึกษาเล่าเรียนมุ่งมั่นที่จะให้เข้าสอบไล่ความรู้ทางปริยัติธรรมในสนามหลวงแต่เจ้าตัวมีความมุ่งหมายเพียงเล่าเรียนเพื่อให้รู้หลักการปฏิบัติจึงไม่ได้เข้าสอบไล่ความรู้ด้านปริยัติธรรมในสนามหลวงแต่ก็ได้รับคาชมเชยจากพระผู้ใหญ่ว่า การที่ท่านผู้นั้นเข้ามาเรียนก็เพื่อข้อสัมมาปฏิบัติจริง
◎ ปฏิปทาจริยวัตร
เมื่อท่านเทวธมฺมี (ม้าว) มาเป็นพระผู้ใหญ่ปกครองดูแลกิจการคณะสงฆ์เมืองอุบลราชธานี ได้เล่าเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้คณะศิษย์ฟัง โดยมีข้อความมุ่งหมายเพื่อให้บรรดาคณะศิษย์ที่เข้ามาเล่าเรียน ได้ทราบว่าเป็นการเรียนเพื่อ สัมมาปฏิบัติ ไม่อยากให้เรียนเพื่อลาภยศ ใช้พระคุณมากกว่าพระเดชจึงเป็นเหตุให้อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ สามเณร มีความรักใคร่เคารพนับถือมากรวมทั้งการดำเนินชีวิตก็เรียบง่าย พูดแต่ความจริงไม่พูดเล่น มีอาการหัวเราะเพียงเล็กน้อย บำเพ็ญจิตภาวนาตลอดเวลา ตื่นนอนเป็นเวลา ถ้าไม่มีกิจนิมนต์ก็อยู่ประจำที่วัด ไม่ชอบเที่ยวสัญจรไปในที่ต่าง ๆ และประกอบกิจวัตรตามเวลาทุกอย่าง
ในวันธรรมสวนะ ให้ภิกษุสามเณรสมาทานตนยึดมั่นในการฉันหนเดียวเป็นวัตรปฏิบัติ ส่วนตัวเองนั้น ฉันหนเดียวเป็นนิจ เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก เมื่อมีแขกมาเยือนหากเป็นมาตุคาม (หญิง) จะต้อนรับที่ระเบียงกุฏิหรือนอกชาน หรือศาลาที่ปราศจากสิ่งกำบังเท่านั้น
เกี่ยวกับเรื่องวัตรปฏิบัติในแต่ละวันของท่านเทวธมฺมี (ม้าว) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้กล่าวไว้บางตอนว่า
“…ท่านเป็นผู้มีปฏิปทาสม่ำเสมอตัวอย่างเช่น ย่ำรุ่ง ตีระฆังสัญญาณบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาต นำภิกษุ สามเณรทำวัตรเช้าก่อนฉันภัตตาหารเวลา ๐๘.๓๐ น. สอนปริยัติธรรมถึงเวลา ๑๑.๐๐ น. หยุดพักจำวัด (นอน) เวลา ๑๓.๐๐ น. สอนปริยัติธรรมอีก จนถึงเวลา ๑๕.๓๐ น. หยุดบอกปริยัติเพื่อสรงน้ำ เวลา ๑๖.๓๐ น. ตีระฆังสัญญาณฟังเทศน์ที ศาลาการเปรียญพร้อมทั้งภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาทุกวัน เวลา ๒๐.๐๐ น. ตีระฆังสัญญาณไหว้พระสวดมนต์ เวลา ๒๒.๐๐ น. ตีระฆังเลิกการท่องบ่นสาธยายเข้าที่ไหว้พระ สวดมนต์ตามกุฏิของตน และจ่าวัด ถึงเวลา ๐๔.๐๐ น. ตีระฆังสัญญาณตื่นจากจำวัด ไหว้พระสวดมนต์ตามกุฏิของตนอีกแล้วท่องมนต์สาธยายไปจนสว่าง การกระทำเช่นนี้ เพื่อให้ถูกต้องตามธรรมวินัยเป็นการรักษาสหไสย์ด้วยเพราะเสนาสนะมีน้อยไม่พอต้องนอนร่วมอนุปสัมบัน (สามเณรและศิษย์วัด)…”
◎ หน้าที่การงาน
ท่านเทวธมฺมี เอาภารธุระการคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติในยุคสมัยเริ่มต้นร่วมกับท่านพนฺธุโล (ดี) จนมารับตำแหน่งเจ้าวัด (เจ้าอาวาส) วัดศรีทอง โดยสรุปดังนี้
พ.ศ.๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเครื่องบริขารมาถวายพระคณะธรรมยุติกนิกายในหัวเมืองอีสาน ๑๘๕ รูป ซึ่งเครื่องบริขารนั้นเป็นส่วนที่เนื่องในการฉลองวัดราชประดิษฐ์มหาศรีมาราม มีนาฬิกาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องบริขาร แต่นั้นมาจึงได้ใช้นาฬิกาเป็นเครื่องบอกเวลา แทนการใช้นาฬิกาแบบโบราณที่ทำจากกะลามะพร้าวเจาะเป็นรูขนาดพอสมควร แล้ววางบนน้ำเมื่อน้ำไหลเข้าเต็มกะลาจมลงเป็น ๑ นาฬิกา หรือใช้เชือกเปลือกมะพร้าวฟั่นเป็นเชือกชุดกะเป็นเวลาพอดีแล้วมีเครื่องหมายไว้เอาไฟจุดชุดเชือกนั้นไหม้หมดนับเป็นช่วงนาฬิกาหนึ่งทำให้ผู้คอยรักษาเวลาไม่ได้หลับนอน
นอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้น ท่านเทวธมฺมี นับได้ว่าประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและขนบธรรมเนียมประเพณี มีความละเอียดลออ แม้แต่เครื่องสักการบูชารวมทั้งเครื่องใช้สอย ตั้งผิดที่ก็ไม่ได้ ต้องว่ากล่าวตักเตือน โดยนิยมยกตัวอย่างพระบรมจริยาวัตรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติเป็นแบบอย่างในขณะทรงออกผนวชให้คณะศิษยานุศิษย์ฟังเสมอ เพื่อให้ถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ส่วนการเพาะปลูก การก่อสร้างไม่สันทัด แต่ถนัดในการสร้างตู้หนังสือ สร้างพระพุทธรูป เป็นสิ่งพอใจที่จะทำมาก เช่น การสร้างพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในศาลาการเปรียญวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนารามปัจจุบัน) โดยสร้างจากไม้มันปลา (กันเกรา) หน้าตักสี่คืบ พระสุคตนับเป็นพระพุทธรูปที่สวยสง่างามองค์หนึ่ง
นอกจากนั้นยังสนใจและพอใจในการรวบรวมพระพุทธรูปเก่า ๆ ที่นามาจากเวียงจันทน์บ้าง ที่อื่นบ้าง ที่ชาวเมืองนิยมนับถือมากมารวมไว้และที่สำคัญมากมีอยู่องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนเรียกว่า พระทองทิพย์ สร้างด้วยสัมฤทธิ์สูงสองศอกเศษเป็นพระพุทธรูปที่เจ้ากรมเทวนุเคราะห์วงศ์ อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์คราวไปตีทัพฮ่อ ร่วมกับพระยามหาอามาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร์) ที่เป็นแม่ทัพเมื่อราวพ.ศ.๒๔๑๘ ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่หน้าพระประธานในอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม
การเอาใจใส่ทะนุบำรุงศาสนานั้น ได้แก่ ส่งเสริมการศึกษาสงฆ์โดยการส่งศิษย์เข้าไปศึกษาเล่าเรียนในพระนคร(กรุงเทพฯ) มีการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม ซึ่งมีเกณฑ์อย่างหนึ่งคืออายุ ๒๔ ปี ขึ้นไป มีภิกษุที่สำเร็จตามความมุ่งหมาย ๔ องค์คือ องค์ที่ ๑ พระปลัดผา ซึ่งเป็นฐานานุกรมของพระอริยมุนี (เอม) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส องค์ที่ ๒ พระอริยกวี (อ่อน ธมฺมรกฺขิโต) องค์ที่ ๓ พระอุบาลี คุณูปมาจารย์ (จันทร์ ศิริจันโท) องค์ที่ ๔ พระพรหมุนี ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ก่อนที่จะส่งเข้าไปศึกษาในพระนครได้สั่งสอนมิให้หลงระเริง มิให้ลืมตัว ไม่ให้เห็นแก่ลาภยศ สรรเสริญ สุขใด ๆ ขยันหมั่นเพียร เล่าเรียนให้สำเร็จ ถ้าใครจะลาสิกขา ก็ให้กลับคืนถิ่นเดิมเสียก่อน พร้อมทั้งมีลิขิต (หนังสือ) ถึงพระเถระผู้ใหญ่เป็นการรับรองความประพฤติ และฝากฝังเป็นศิษย์ต่อไป ดังตัวอย่าง
“ที่วัดศรีทอง เมืองอุบล
วันที่ ๑ เมษายน
รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙
ข้าพระพุทธเจ้าพระเทวธมฺมี วัดศรีทอง
เมืองอุบลขอถวายบังคมมายังพระเจ้าน้องยาเธอในกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสวัดบวรนิเวศวิหารทรงทราบ ข้าพระพุทธเจ้า ได้จัดเทียนน้ำมันฉบกเป็นเครื่องสักการะมอบให้พระมหาศิริจันโทลงมาถวายใต้ฝ่าละอองพระบาท ขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง ด้วยพระมหาศิริจันโท๑ พระอมโร๑ พระกิตติวัณโณ๑ เป็นสัทธิวิหาริก อันเตวาสิกข้าพระพุทธเจ้าลาลาข้าพระพุทธเจ้าจะลงมาศึกษาเล่าเรียนยังกรุงเทพฯ เธอเป็นผู้บริสุทธิ์จะมีอธิกรณ์เกี่ยวข้องในสังฆกรรมสิ่งใดสิ่งหนึ่งหามิได้ ข้าพระพุทธเจ้าขอฝากเธอทั้งสามนี้ ในใต้ฝ่าละอองพระบาทขอพระบารมีเป็นที่พึ่งเพื่อที่จะได้เป็นผู้ศาสนูปธรรมภกต่อไป
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ได้ประทับตราอักษรพันธุละมาเป็นส่าคัญ”
ท่านเทวธมฺมี ได้สร้างวัดเพิ่มอีกขึ้นอีก ๕ วัด ที่เมืองอุบลราชธานี ๒ วัด ได้แก่วัดบ้านกลาง วัดบ้านผึ้งเนื่องจากท่านสงฺฆรกฺขิโต (พูน) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามออกไปทำความวิเวกอยู่ ณ ที่ตั้ง ๒ แห่งนี้ ราษฎรในหมู่บ้านจึงได้ก่อสร้างวัดขึ้น และมีความมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้ที่เมืองจำปาศักดิ์ ๑ วัด คือ วัดมหามาตยาราม โดยวัดนี้เจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ์และพระมหาอามาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ) ข้าหลวงประจำหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกตั้งกองบัญชาการอยู่ที่นครจำปาศักดิ์พร้อมกันสร้างขึ้น ต่อมาได้อารธนาพระอุบาลีคุโณปมาจารย์ (จันทร์ ศิริจันโท) ทั้งยังเป็นพระเปรียญไปเป็นเจ้าอาวาส และอีก ๒ วัดคือ วัดบ้านนาคำ ที่อำเภอยโสธร (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร) วัดศรีมงคลเหนือ ที่อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร)
เมื่อเกิดกรณีพิพาทบาดหมางกัน ก็ตั้งอยู่ในความเป็นกลาง สืบเนื่องจากคราวที่เจ้ากรมเทวานุเคราะห์วงศ์ กับเหล่าอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตรเมืองอุบลราชธานีไม่ปรองดองสามัคคีกัน แต่ทั้งสองฝ่ายก็นับถือท่านเทวธมฺมี ด้วยความจริงใจจึงหาอุบายไกล่เกลี่ยเพื่อปรองดองกันด้วยขันติธรรมและสามัคคีธรรม ทำให้ทุกฝ่ายกลับมาสามัคคีกันเช่นเดิม
อีกกรณีหนึ่ง คณะสงฆ์มหานิกายกับธรรมยุติกนิกายไม่ปรองดองสามัคคีต่อกัน มีอธิกรณ์ (คดีความ) ต่าง ๆ เกิดขึ้น ก็เป็นผู้วินิจฉัยโดยเด็ดขาด อธิกรณ์ต่าง ๆ จึงระงับไป คณะสงฆ์ก็กลับมาสามัคคีกันดังเดิม ก็เนื่องจากเป็นผู้รู้มีความเป็นกลาง เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังตั้งอยู่ในความไม่ประมาท มองเห็นชีวิตของทุกคน ตั้งอยู่ในกฎเกณฑ์แห่งความเป็นจริง คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงได้เตรียมการฌาปนกิจศพ โดยการเตรียมหีบศพ เตรียมฟืนสำหรับเผาสรีระของท่านไว้ ตลอดทั้งได้เชิญกรรมการผู้ใหญ่ คณะศิษยานุศิษย์ผู้ใหญ่มาประชุมปรึกษาหารือกัน ไม่ให้เก็บศพไว้นานวัน โดยอ้างเอากรณีถวายพระเพลิงศพ พระบรมศาสดา เมื่อปรินิพพาน ก็ไม่เก็บพระบรมศพไว้นาน ขอให้คณะศิษย์ทั้ง ฝ่ายบรรชิตและคฤหัสถ์จดจำไว้ เมื่อละสังขารลงในวันใด ก็ให้ฌาปณกิจเลย ในวันนั้น ไม่ให้เป็นภาระของญาติโยม ไม่ประสงค์ที่จะสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์ ตามประเพณีสืบต่อกันมาของเมืองอุบลราชธานี ที่ต้องจัดงานฌาปนกิจศพพระผู้ใหญ่และบุคคลสำคัญของบ้านเมืองในยุคนั้น
◎ บั้นปลายของชีวิตและมรณภาพ
ท่านเทวธมฺมี ปฏิบัติกรรมฐานโดยยึดอาณาปาณสติ เป็นหลักยิ่งกว่าเรื่องอื่น ๆ และนำมาสั่งสอนภิกษุสามเณรอยู่เสมอ โดยยกย่องอาณาปาณสติ ว่าหากปฏิบัติคล่องแคล่วชำนาญในภาวนาบทนี้แล้ว อาจ
รู้จักภาวะที่ตนเองจะแตกดับและที่สำคัญท่านเคยแสดงในที่ชุมนุมคณะศิษยานุศิษย์อยู่เสมอว่า ท่านจะแตกดับเมื่ออายุได้ ๗๒ ปี เป็นเรื่องแปลกประหลาดอัศจรรย์ยิ่งนัก เมื่ออายุได้ตามกำหนดท่านจึงรีบเร่งพยายามในข้อสัมมาปฏิบัติมากขึ้นกว่าปกติหลายเท่า แนะนำสั่งสอนคณะศิษย์ทั้งหลายให้เอาใจใส่ อุตสาหวิริยะ ในการเจริญภาวนา ทั้งขนบธรรมเนียม ประเพณี แบบแผนต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติ
เมื่อถึงวันมหาปวารณา (วันออกพรรษา) ตอนเช้ายังสบายดี พูดกับน้องชายว่า ชีวิตของฉันนึกว่าจะไม่ตลอดมาจนถึงวันมหาปวารณาต่อมาก็ลงฟังเทศน์ที่ศาลาการเปรียญเสร็จแล้วกลับกุฏิ บ่ายลงธรรมปวารณากรรมที่อุโบสถ เสร็จกิจกลับมาสรงน้ำที่กุฏิ เพื่อเตรียมที่ลงฟังเทศน์ในตอนเย็น ท่านเกิดเป็นลมขึ้นในขณะสรงน้ำ ศิษยานุศิษย์และแพทย์ประกอบยารักษาก็ไม่ฟื้น พอรุ่งขึ้น ก็ละสังขารด้วยอาการสงบ วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๓ ตรงกับวันพุธแรม ๑ ค่า เดือน ๑๑ ปีขาล และได้ฌาปนกิจศพในวันต่อมา ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จภายใน ๑ วัน ตามที่ได้สั่งไว้
ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) เป็นพระเถรธรรมยุติ รุ่นบุกเบิกที่นำคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตมาเผยแผ่ ตั้งมั่นที่เมืองอุบลราชธานีและขยายวงศ์ธรรมยุตออกไปทั่วภาคอีสานในกาลต่อมา เป็นสัทธิวิหารริกของท่านพนฺธุโล (ดี) ซึ่งเป็นผู้ชักนำให้ไปศึกษาเล่าเรียนที่ในกรุงเทพฯ จนกลายเป็นสัทธิวิหาริก ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชในพระนามวชิรญาณเถระ เป็นเรี่ยวแรงสาคัญของท่านพนธุโล (ดี) ในการสร้างวัดสุปัฏนาราม วัดศรีทองและวัดอื่น ๆ ต่อมาเป็นเจ้าวัด (เจ้าอาวาส) องค์แรกของวัดศรีทอง เป็นผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรอันงดงามน่าเลื่อมใสและพัฒนาการคณะสงฆ์ตลอดจนถาวรวัตถุให้เจริญก้าวหน้ามีความมั่นคงถาวรมาจนถึงทุกวันนี้ จึงนับได้ว่าท่านเทวธมฺมี ได้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ชาวอุบลราชธานีและอื่น ๆ เป็นอย่างมาก สมควรได้รับการยกย่อง เชิดชูเป็น ปราชญ์ อย่างแท้จริง