ประวัติ ญาท่านเภา จันทธัมโม วัดบ้านเวิน อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
ญาท่านเภา จันทธัมโม วัดบ้านเวิน จ.หนองคาย
“ญาท่านเภา” เกิดในสกุล “สาวรักษณ์” เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ณ บ้านดงกะลึม เมืองหาดทรายฟอง (ปัจจุบันขึ้นกับเมืองปากงึ่ม แขวงนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว) ท่านเป็นบุตรคนที่สามจากจํานวนพี่น้อง ทั้งหมดสี่คน บิดาของท่านชื่อ “จารย์อุ่น” มารดาของท่านชื่อ “วรรณี” ชีวิตในวัยเด็กของท่านก็ใช้ชีวิตเหมือนชาวชนบททั่วไป โดยมีอาชีพทำนา เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ท่านจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ณ วัดบ้านเลิด เมื่อวันที่ ๕ เมษายน (เดือน ๕) พ.ศ. ๒๔๙๑ โดยมี “พ่อแม่บุ” เป็น พระอุปัชฌาย์ โดยได้รับฉายาว่า “จันทธัมโม”
ญาท่านมีความสนใจใฝ่ในการศึกษา จึงออกเดินทางไปศึกษาหาความรู้ที่ตัวเมืองเวียงจันทน์ ท่านฝากตัวเป็นศิษย์ “หลวงปู่อุ่น” หรือ “พ่อแม่อุ่น” ที่วัดธาตุหลวงใต้ ญาพ่ออุ่นท่านเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญคัมภีร์มูลกัจจายน์เป็นชาว เมืองอุบล (ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง) แต่มาอยู่พํานักในประเทศลาว เนื่องจากท่านได้ลาสิกขาบทเพื่อมาสมรสกับหญิงสาวชาวบ้านสีเมือง และในบั้นปลายชีวิตของท่านก็ได้กลับมาอุปสมบทอีกครั้ง โดยท่านได้ตั้งใจมุ่งมั่นปฏิบัติกรรมฐานจนวาระสุดท้ายของชีวิต (บางท่านกล่าวว่าท่านเป็นศิษย์ของ หลวงปู่สีทัตถ์ วัดพระธาตุท่าอุเทน จ.นครพนม) ญาท่านอุ่นมีศิษย์ที่สําคัญ อยู่หลายรูป เช่น หลวงปู่เครือง บ้านนายูง หลวงปู่คําดี วัดวังซาย ญาท่านป้อง บ้านนากุง และญาท่านเภา วัดป่าจอมตาล เป็นต้น
ในช่วงนี้เองทําให้ท่านมีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับญาท่านป้องและไปมาหาสู่กันตลอด ตั้งแต่ญาท่านป้องอยู่ที่บ้านนาชัยจนย้ายไปนากุง ญาท่านป้องเป็นผู้ที่สอนวิชามูลกัจจายน์ให้แก่ “ญาท่านเภา” โดยท่านใช้เวลาเรียนถึง ๑๘ ปีจึงสําเร็จ นอกจากนี้ญาท่านป้องยังสอนไสยเวทย์วิทยาคมให้แก่ญาท่านเภาอีกด้วย
ญาท่านป้องมักจะชวนญาท่านเภาและหลวงปู่เครื่อง ธัมมจาโร วัดเทพสิงหาร บ้านนายูง ออกเดินธุดงค์ร่วมกันในป่าแถวภูพาน ว่ากันว่าท่านไปเรียนวิชา ไสยเวทย์วิทยาคมเพิ่มเติมที่ “ภูกระเดื่อง” เลยปากกระดิ่งขึ้นไปอีก เมื่อท่านพร้อมทั้งภูมิรู้ ภูมิธรรม ท่านจึงกลับมาจําพรรษาอยู่ที่บ้านวังโพธิ์ และที่นี่ท่านเริ่มช่วยเหลือผู้คน โดยการรักษาโรคต่างๆ ด้วยสมุนไพรและไสยศาสตร์ตามที่เล่าเรียนมา และเป็นที่พึ่งทางโหราศาสตร์ในการดูฤกษ์ดูยามแก่ผู้คน ในยุคนั้นท่านมีชื่อเสียงในการลงน้ำมันงา จารตัวคน การฝังทองคําดิบ และสักยันต์ต่างๆ เช่น หมวกเหล็ก เป็นต้น
ยุคนั้นเริ่มมีคนมาเรียนวิชากับท่าน เช่น การสะเดาะกุญแจ การสะเดาะเชือก ผู้มาเรียนวิชาที่เรียนไปใช้ในการต่อสู้กับฝ่ายหัวก้าวหน้า (พรรคคอมมิวนิสต์ลาวในยุคนั้น ที่ไม่มีท่าทีชัดเจนเกี่ยวกับการศาสนา) โดยเฉพาะการทําคงกระพันนี่เอง ที่ทําญาท่านเภาถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายหัวก้าวหน้า และจะจับตัวท่านมาลงโทษ เนื่องจากให้การสนับสนุนต่อฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองของฝ่ายก้าวหน้า (แต่อันที่จริงแล้วญาท่านเภา ท่านสงเคราะห์ผู้คนทุกคนที่เดือดร้อนโดยไม่แบ่งแยกฝ่ายใด) กล่าวกันว่าจากเหตุการณ์ที่ฝ่ายหัวก้าวหน้าไม่มีที่ท่าที่ชัดเจนเกี่ยวกับศาสนานี่เอง ทําให้มีพระถูกกดดันจนต้องผูกคอตาย และพระสังฆราชบุญทัน บุผารัตน์ ในสมัยนั้น ต้องทรงเสด็จลี้ภัยมายังฝั่งไทย
กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ญาท่านเภา จึงตัดสินใจข้ามมายังฝั่งไทย ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่า “ฝ่ายตรงข้ามส่งคนมาหมายที่จะเอาชีวิตท่าน ท่านจึงต้องใช้วิชากําบังกายหนีมา (บ้างก็ว่าท่านจำแลงกายเป็นควายเผือก บ้างก็ว่าท่านจำแลงกายเป็นกระรอก บ้างก็ว่าท่านจำแลงกายเป็นพังพอน กําบังตัวหนีมา) ครั้งแรกที่ท่านข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมานั้นท่านมาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านเวิน จากนั้นจึงย้ายไปอยู่ที่วัดร่องถ่อน และย้ายไปสร้างวัดป่าจอมตาลขึ้นที่บ้านโพนทัน (ต่อมาภายหลัง ท่านก็ย้ายกลับมาจําพรรษาที่วัดบ้านเวิน อันเป็นสถานที่แรกที่ท่านมาพัก อยู่ในฝั่งไทย) ท่านก็ช่วยเหลือเกื้อกูลชาวบ้านด้วยความรู้ความสามารถที่ท่านได้ร่ำเรียนมา ทั้งทางด้านสมุนไพร ควบคู่กับทางไสยเวทย์พุทธาคมของท่าน เหมือนที่อยู่ในประเทศลาว จนมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดหนองคาย และทางวัดโพธิ์ชัยมักจะนิมนต์ท่านมาร่วมพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคลของหลวงพ่อพระใสมาโดยตลอด ซึ่งชาวบ้านนิยมมาขอพึ่งท่านในด้านต่างๆ ได้แก่
- ให้ท่านเทศน์มหาชาติให้ฟัง ซึ่งท่านมีเสียงที่ไพเราะมากจนเป็นที่เลื่องลือ
- ให้ท่านช่วยดูฤกษ์ยามทําการต่างๆ
- ให้ท่านช่วยเสียเคราะห์ (สะเดาะเคราะห์) ทําพิธีพรหมชาติ สูตร ถอน ฯลฯ
- ให้ท่านช่วยสักยันต์ สักหมวกเหล็ก ลงน้ํามันงา เข้าคําดิบ ฝังคําดิบ
- ให้ท่านช่วยผ่าจ้านด้วยหมากน้ำ ทําฟันทอง เป็นต้น
- ให้ท่านอธิษฐานจิตวัตถุมงคล ซึ่งท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าจะเสก ทั้งที่จะต้องทําให้ดี ประเดี๋ยวจะเสียชื่อถึงครูบาอาจารย์ได้” โดยการ อธิษฐานจิตของท่านในแต่ละครั้ง ไม่เคยต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง
สําหรับวัตถุมงคลที่ท่านสร้างเพื่อไว้เป็นที่พึ่งทางใจสาธุชน มีดังนี้
๑) ประเภทเครื่องรางของขลัง เช่น ตะกรุด วัวธนู ช้างน้ําไม้ฟ้าผ่า (ซึ่งยังไม่เคยพบว่ามีเกจิอาจารย์ท่านใดในประเทศไทยที่สามารถสร้างช้างน้ำได้ขลัง เช่น ญาท่านเภา) สีผึ้ง (นวด) เป็นต้น
๒) ประเภทพระหล่อต่างๆ ตามแบบฉบับของสายวัดธาตุหลวงใต้ เช่น พระหล่อคําตัน (พระที่ใช้ทองคําบริสุทธิ์ในการหล่อ) เป็นต้น
๓) ประเภทเหรียญต่าง ๆ เช่น เหรียญรุ่นแรก (รุ่นเอกมงคล) ออกที่วัดป่าจอมตาล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย และเหรียญพระอุปคุตมหาเถระ เจ้า ปราบมาร บันดาลสุข ซึ่งจัดได้ว่าเป็นเหรียญพระอุปคุตรุ่นแรกของท่าน โดยเหรียญรุ่นนี้ท่านอธิษฐานจิตให้ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ นาน หนึ่งชั่วโมงครึ่ง (๔๐ นาที) ณ วัดบ้านเวิน อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
๔) ประเภทรูปถ่ายต่าง ๆ เช่น ล็อกเก็ต เป็นต้น
วัตถุมงคลของท่านแต่ละรุ่น ล้วนต่างได้รับความหวงแหนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความศักสิทธิ์ และประสบการณ์ต่างๆมากมาย
แม้ว่าปัจจุบันท่านได้มรณะภาพไปแล้ว แต่คุณงามความดี ชื่อเสียงกิตติคุณของท่าน ก็ยังคงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณเอก นาครทรรพ