ประวัติและปฏิปทา
ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน
ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม พระเกจิอาจารย์ผู้เป็นดั่งเพชรน้ำเอกแห่งภาคเหนือ มีบารมีธรรมสูงเป็นที่ยอมรับกันว่าท่านมีอภิญญาขั้นสูง
◉ ชาติภูมิ
ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา นามเดิมชื่อ “วงศ์” หรือ “ชัยวงศ์” นามสกุล “ต๊ะแหนม” เกิดที่ ตำบลหันก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนเมื่อวันอังคาร เดือน ๗ แรม ๒ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๖ เวลา ๒๔.๑๕ น. บิดาชื่อ “นายน้อย จันต๊ะ” และมารดาชื่อ “นางบัวแก้ว” จำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๘ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ มีน้องต่างบิดาอีก ๑ คน รวมเป็น ๙ คน
◉ ชิวิตในวัยเด็ก
ท่านเกิดในตระกูลชาวไร่ชาวนาที่ยากจน พ่อแม่ของท่านมีสมบัติติดตัวมาแค่นา ๓-๔ ไร่ ควาย ๒-๓ ตัว ทำนาได้ข้าวปีละ ๒๐-๓๐ หาบ ไม่พอกินเพราะต้องแบ่งไว้ทำพันธุ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเอาไว้ใส่บาตรทำบุญบูชาพระ ส่วนที่เหลือจึงจะเก็บไว้กินเอง ต้องอาศัยขุยไผ่ขุยหลวกมาตำเอาเม็ดมาหุงแทนข้าว และอาศัยของในป่า รวมทั้งมันและกลอยเพื่อประทั้งชีวิต บางครั้งต้องอดมื้อกินมื้อก็มี แม่ต้องไปขอญาติพี่ๆน้องๆ เขาก็ไม่มีจะกินเหมือนกัน แม่ต้องกลับมามือเปล่า พร้อมน้ำตาบนใบหน้ามาถึงเรือน ลูกๆก็ร้องไห้เพราะหิวข้าว
แม้ว่าครอบครัวของท่านต้องดิ้นรนต่อสู้กับความอดทนอยากแต่ก็ไม่ได้ละทิ้งเรื่องการทำบุญให้ทาน ข้าวที่แบ่งไว้ทำบุญ แม่จะแบ่งให้ลูกทุกคนๆละปั้น ไปใส่บาตรบูชาพระพุทธทุกวันพระ
โยมพ่อเคยสอนว่า..“ตอนนี้พ่อแม่อด ลูกทุกคนก็อด แต่ลูกๆทุกคนอย่าท้อแท้ใจ ค่อยทำบุญไปเรื่อยๆ บุญมีภายหน้าก็จะสบาย” และโยมพ่อเคยพูดกับท่านว่า..“ลูกเอ๋ยเราทุกข์ขนาดนี้เชียวหนอ ข้าวจะกินก็ไม่มี ต้องกินไปอย่างนี้ ค่อยอดค่อยกลั้นไป บุญมีก็ไม่ถึงกับอดตายหรอก ทรมานมานานแล้ว ถึงวันนี้ก็ยังไม่ตาย มันจะตายก็ตาย ไม่ตายก็แล้วไป ให้ลูกอดทนไปนะ ภายหน้าถ้าพ่อยังไม่ตายเสียก่อนก็ดี ตายไปแล้วก็ดี บางทีลูกจะได้นั่งขดถวายหงายองค์ตีน (บวช) กินข้าวดีๆ อร่อยๆ พ่อนี่จะอยู่ทันเห็นหรือไม่ทันก็ยังไม่รู้”
◉ ผู้มีความขยันและอดทน
ในสมัยที่ท่านยังเล็กๆอายุ ๓-๔ ขวบ ท่านมีโรคประจำตัวคือ โรคลมสันนิบาต ลมเปี่ยวลมกัง ต้องนั่งทุกข์อยู่เป็นวันเป็นคืน เดินไปไกลก็ไม่ได้ วิ่งก็ไม่ได้เพราะลมเปี่ยว ตะคริวกินขากินน่อง เดินเร็วๆก็ไม่ได้ ต้องค่อยไปค่อยยั้ง เวลาอยู่บ้านต้องคอยเลี้ยงน้อง ตักน้ำติดไฟไว้คอยพ่อแม่ที่เข้าไปในป่าหาอาหาร
ในช่วงที่ท่านมีอายุได้ ๕-๑๐ ขวบ ท่านต้องเป็นหลักในบรรดาพี่น้องทั้งหมดที่ต้องช่วยงานพ่อแม่มากที่สุด เวลาพ่อแม่ไปไร่ไปนาก็ไปด้วย เวลาพ่อแม่ไปหากลอยขุดมัน หาลูกไม้ในป่า ท่านก็ไปช่วยขุดช่วยหาบกลับบ้าน บางครั้งพ่อแม่หลงทางเพราะไปหากลอยตามดอยตามเนินเขา กว่าจะหากลอยได้เต็มหาบก็ดึก ขากลับพ่อแม่จำทางไม่ได้ ท่านก็ช่วยพาพ่อแม่กลับบ้านจนได้
ครั้นถึงหน้าฝน พ่อแม่ออกไปทำนา ท่านก็ติดตามไปช่วยทุกอย่าง พ่อปั้นคันนาท่านก็ช่วยพ่อ พ่อไถนาท่านก็คอยจูงควายให้พ่อ เวลาแม่ปลูกข้าวก็ช่วยแม่ปลูกจนเสร็จ
เสร็จจากหน้าทำนา ท่านก็จะเผาไม้ในไร่เอาขี้เถ้า ไปขุดดินในถ้ำมาผสม ทำดินปืนไปขาย ได้เงินซื้อข้าวและเกลือ บางครั้งก็ไปอยู่กับลุงน้อยเดชะรับจ้างเลี้ยงควาย บางปีก็ได้ค่าแรงเป็นข้าว ๒-๓ หาบ บางปีก็เพียงแต่ขอกินข้าวกับลุง พอตุนท้องตุนไส้ไปวันๆ
พอถึงเวลาข้าวออกรวง นกเขาจะลงกินข้าวในนา ท่านก็จะขอพ่อแม่ไปเฝ้าข้าวในนาตั้งแต่เช้ามืด กว่าจะกลับก็ตะวันลับฟ้าไปแล้ว
◉ ผู้มีความกตัญญู
ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ท่านมีความกตัญญูมาตั้งแต่เด็ก ท่านช่วยพ่อแม่ทำงานต่างๆ ทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ตั้งแต่อายุได้ประมาณ ๕ ขวบ ท่านก็ช่วยพ่อแม่เฝ้านา เลี้ยงน้อง ตลอดจนช่วยงานทุกอย่างของพ่อแม่ เมื่อเวลาที่พ่อแม่หาอาหารไม่ได้ ท่านก็จะไปรับจ้างชาวบ้านแถบบ้านก้อทำความสะอาด หรือช่วยเฝ้าไร่นา เพื่อแลกกับข้าวปลาอาหารมาให้พ่อแม่และน้องๆกิน
ในบางครั้งอาหารที่ได้มาหรือที่พ่อแม่จัดหาให้ไม่เพียงพอกับคนในครอบครัว ด้วยความที่ท่านมีนิสัยเสียสละ และไม่ต้องการให้พ่อแม่ต้องเจียดอาหารของท่านทั้งสองซึ่งมีน้อยอยู่แล้วออกมาให้ท่านอีก ท่านจึงได้บอกว่า.. “กินมาแล้ว” เพื่อให้พ่อแม่สบายใจ แต่พอลับตาผู้อื่น หรือเมื่อผู้อื่นในบ้านหลับกันหมดแล้ว ท่านก็จะหลบไปดื่มน้ำ หรือบางครั้งจะหลบไปหาใบไม้ที่พอจะกินได้มาเคี้ยวกิน เพื่อประทังความหิวที่เกิดขึ้น ท่านเติบโตขึ้นมาโดยพ่อแม่เลี้ยงข้าวท่านไม่ถึง ๑๐ ถัง แต่ท่านในสมัยเป็นเด็ก กลับหาเลี้ยงพ่อแม่มากกว่าที่พ่อแม่หาเลี้ยงท่าน
◉ บรรพชาเป็นสามเณร
เมื่อท่านอายุย่าง ๑๓ ปี (พ.ศ.๒๔๖๘ ) ด้วยผลบุญที่ท่านได้บำเพ็ญมาตั้งแต่ปางก่อนในอดีตชาติ และได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระสงฆ์ครูบาอาจารย์ในชาตินี้จึงดลบันดาลให้ท่านมีความเบื่อหน่ายต่อชีวิตทางโลก อันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ท่านจึงได้รบเร้าขอให้พ่อแม่ท่านไปบวช เพื่อท่านจะได้บำเพ็ญธรรมะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อบิดามารดาได้ฟังก็เกิดความปิติยินดีเป็นยิ่งนัก
ไม่นานหลังจากนั้นพ่อแม่ก็ได้นำท่านไปฝากกับหลวงอาท่านได้อยู่เป็นเด็กวัดกับหลวงอาได้ไม่นาน หลวงอาจึงนำท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์และบวชเณรกับครูบาชัยลังก๋า ( ซึ่งเป็นธุดงค์กรรมฐานรุ่นพี่ของครูบาศรีชัย ) ครูบาชัยลังก๋าได้ตั้งชื่อให้ท่านใหม่หลังจากเป็นสามเณรแล้วว่า ” สามเณรชัยลังก๋า” เช่นเดียวกับชื่อของครูบาชัยลังก๋า
◉ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
เมื่ออายุ ๒๐ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมี ครูบาพรหมจักร วัดพระบาทตาก ผ้าเป็นอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ชัยยะวงศา” ในระหว่างนั้น ท่านได้อยู่ปฏิบัติและศึกษาธรรมะกับครูบาพรหมจักร ในบางโอกาสท่านก็จะเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปในที่ต่างๆ ทั้งลาวและพม่า ท่านได้อยู่กับ ครูบาพรหมจักร ระยะหนึ่งแล้ว จึงได้กราบลาครูบาพรหมจักรออกจาริกธุดงค์ไปแสวงหาสัจจธรรมความหลุดพ้นจากวัฏสงสารแห่งนี้เพียงลำพังองค์เดียวต่อ เพื่อเผยแพร่สั่งสอนธรรมะขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กับพวกชาวเขาในที่ต่างๆ เช่นเคย
◉ ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ
เมื่อท่านได้ ๒๘ ปี ขณะนั้นท่านได้จาริกธุดงค์สั่งสอนชาวป่าชาวเขาดอยต่างๆ ท่านได้ทราบข่าวการมรณภาพของครูบาศรีวิชัย จึงได้เดินทางลงจากเขาเพื่อไปนมัสการพระศพ และช่วยจัดทำพิธีศพของครูบาศรีวิชัย ร่วมกับครูบาขาวปีและคณะศิษย์ของครูบาศรีวิชัย ที่วัดบ้านปาง เมื่อเสร็จจากพิธีบรรจุศพครูบาศรีวิชัยแล้ว กรมทางได้นิมนต์ให้ท่านไปช่วยสร้างเส้นทางบ้านห้วยกาน – บ้านห้วยหละ ซึ่งในตอนนั้นท่านก็ยังห่มผ้าสีขาวอยู่ เมื่อการสร้างทางได้สำเร็จลงแล้ว ชาวบ้านห้วยหละจึงได้มานิมนต์ท่านไปจำพรรษา และอบรมสั่งสอนพุทธบริษัทที่สำนักสงฆ์ห้วยหละ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
◉ ห่มเหลืองอีกครั้ง
ขณะนั้นหลวงพ่ออายุได้ ๒๘ ปี ได้รับนิมนต์ไปอยู่ช่วยบูรณะวัดป่าพลู และในปีนี้ท่านได้มีโอกาสห่มเหลืองเช่นพระสงฆ์ทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง โดยมีครูบาบุญมา วัดบ้านโฮ่ง เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาใหม่ว่า “จันทวังโส”
ในการห่มเหลืองในครั้งนี้ คณะสงฆ์ได้ออกญัตติให้ท่านต้องจำพรรษาที่วัดป่าพลูเป็นเวลา ๕ พรรษา เมื่อออกพรรษาในแต่ละปีท่านจะเดินทางไปธุดงค์และจาริกสั่งสอนธรรมะให้กับชาวป่าชาวเขาในที่ต่างๆ เสมอเหมือนที่ท่านเคยปฏิบัติมาในอดีต และบ่อยครั้งท่านจะไปช่วยครูบาขาวปีบูรณะวัดพระพุทธบาทตะเมาะ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
◉ ตรงตามคำทำนาย
เมื่อท่านอยู่วัดป่าพลูครบ ๕ พรรษาตามบัญญัติของสงฆ์แล้ว ในขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๓๔ ปี นายอำเภอลี้และคณะสงฆ์ในอำเภอลี้ ได้ให้ศรัทธาญาติโยมวัดนาเลี่ยงมานิมนต์ครูบาขาวปีหรือท่านองค์ใดองค์หนึ่ง เพื่อไปอยู่เมตตาบูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม แต่ครูบาขาวปีไม่ยอมไป และบอกว่า.. “ไม่ใช่หนึ่งที่ของกู” ครูบาศรีวิชัยเคยพูดไว้ว่า.. “วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มนั้น มันเป็นหน้าที่ของครูบาวงศ์องค์เดียว”
ด้วยเหตุนี้ ครูบาขาวปีจึงขอให้ท่านไปอยู่โปรดเมตตาสร้าง วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม ซึ่งต่อมาในภายหลังจากที่ท่านได้ไปอยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มแล้ว ท่านได้เปลี่ยนชื่อให้สั้นลงเป็น “วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม”
ในขณะที่ท่านอยู่ที่เมืองตื๋นนั้น ชาวบ้านและชาวเขาต่างเรียกท่านว่า “น้อย” เมื่อท่านมาอยู่ที่วัดพระบาทห้วยต้ม ชาวบ้านทั้งหลายจึงเชื่อกันว่า ท่านคงเป็น “พระน้อยเมืองตื๋น” ตามคำโบราณที่ได้จารึกไว้ ณ วัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้ม เหตุการณ์นี้ก็ตรงตามคำพูดของครูบาชัยลังก๋าและครูบาศรีวิชัย ดังที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อท่านย้ายมาประจำที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ท่านก็ยังออกจาริกไปสั่งสอนธรรมะแก่ชาวบ้านและชาวเขาในที่ต่างๆอยู่เสมอๆเหมือนที่ท่านเคยปฏิบัติมา
◉ ผู้เฒ่าผู้รู้เหตุการณ์
ในระยะแรกที่หลวงพ่อมาที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ผู้เฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้านนาเลี่ยงได้พูดกับชาวบ้านในละแวกนั้นว่า.. “ต่อไปบริเวณเด่นยางมูล (คือหมู่บ้านห้วยต้มในปัจจุบัน ) จะมีชาวกะเหรี่ยงอพยพติดตามครูบาวงศ์มาอยู่ที่นี่ จนเป็นหมู่บ้านใหญ่ในอนาคต ในครั้งนี้จะใหญ่กว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยง ๔ ยุคที่เคยอพยพมาอยู่ที่นี่ในสมัยก่อนหน้านี้” คำพูดอันนี้ในสมัยนั้นชาวบ้านนาเลี่ยงฟังแล้วไม่ค่อยเชื่อถือกันนัก แต่ในเวลาต่อมาไม่นาน คำพูดอันนี้ก็เป็นความจริงทุกประการ
หลวงพ่อได้เล่าให้คณะศิษย์ฟังเพิ่มเติมว่า คนเฒ่าผู้นี้เป็นผู้รู้เหตุการณ์ในอนาคต และมักจะพูดได้ถูกต้องเสมอ มีอยู่ครั้งหนึ่งหลังจากที่ท่านได้สร้างวิหารที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มเป็นรูปร่างขึ้นแล้ว ผู้เฒ่าคนนี้ในสมัยก่อนเคยเห็นคำทำนายโบราณของวัดพระพุทธบาทห้วยต้มมาก่อน ได้มาพูดกับท่านว่า .. “ท่านครูบาจะสร้างให้ใหญ่เท่าไหร่ก็สร้างได้ แต่จะสร้างใหญ่จริงอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ต่อไปจะมีคนๆหนึ่งมาช่วย ถ้าคนนี้มาแล้วจะสำเร็จได้ ”
◉ ชาวเขาอพยพตามมา
เมื่อท่านอยู่ที่วัดห้วยต้มได้ไม่นาน คำพูดของผู้เฒ่าคนนี้ก็เป็นความจริง เพราะชาวเขาจากที่ต่างๆที่ท่านได้อบรมสั่งสอนมา ได้อพยพย้ายถิ่นฐานติดตามมาอยู่กับท่านเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน เพื่อมาขอพึ่งใบบุญและปฏิบัติธรรมะกับท่าน
ในระยะแรกๆ นั้น ท่านได้ตั้งกฎให้กับพวกกะเหรี่ยงที่มาอยู่กับท่านว่า พวกเขาจะต้องนำมีดไม้ที่เคยฆ่าสัตว์มาถวายวัด และให้สาบานกับท่านว่า จะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและจะกินมังสวิรัติตลอดไป ท่านได้เมตตาให้เหตุผลว่า ท่านต้องการให้เขาเป็นคนดี ลดการเบียดเบียน มีศีลธรรม หมู่บ้านห้วยต้มจะได้มีแต่ความสงบสุขทั้งทางโลกและทางธรรม และจะได้ไม่เป็นปัญหาของประเทศชาติต่อไป ดังที่เราจะเห็นได้จากการที่ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านห้วยต้มนี้มีความเป็นอยู่ที่เป็นระเบียบและมีความสงบสุข ตามที่ท่านได้เมตตาอบรมสั่งสอนมา ทั้งที่ในหมู่บ้านนี้มีกะเหรี่ยงอยู่หลายพันคน
แต่ในสมัยนี้ กฎและระเบียบที่ชาวกะเหรี่ยงที่จะย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านห้วยต้มที่จะต้องนำมีดไม้ที่เคยฆ่าสัตว์มาสาบานกับหลวงพ่อนั้นได้ยกเลิกไปโดยปริยาย เพราะหลวงพ่อเห็นว่า ทางราชการได้ส่งหน่วยงานต่างๆเข้ามาจัดการดูแลช่วยเหลือ และให้การศึกษาแก่พวกเขา คงจะช่วยพวกเขาให้มีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสงบสุขเป็นระเบียบเหมือนที่ท่านเคยอบรมสั่งสอนมา
◉ ลำดับสมณศักดิ์
๔ เมษายน ๒๕๑๔ เป็นพระครูใบฎีกาชัยยะวงศาพัฒนา
๕ เมษายน ๒๕๓๐ เป็นพระครูพัฒนากิจจานุรักษ์
๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๓ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ เป็นพระครูพัฒนกิจจานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท
◉ ละสังขาร
นับตั้งแต่ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศา ได้มาอยู่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๘ ที่หลวงปู่ ได้เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จนกระทั่งมรณภาพในเวลา ๐๑.๐๐ น. ของวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นเวลาถึง ๕๔ ปี หลวงปู่ได้ใช้ความพยายามพัฒนาวัด จนสามารถพลิกสภาพความเป็นวัดร้างให้เป็นวัดที่มีความเจริญ จนทำให้ผู้คนจากทุกสารทิศ ทั้งในและต่างประเทศ ทุกระดับชั้นทางสังคม หลั่งไหลเข้ามาสักการะ สมกับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ของประเทศไทย
◉ โอวาทธรรม
“อย่าเข้าใจว่า มาทำบุญที่นี่ จะตัดบาป ตัดกรรม ตัดเวร ได้นะ … ตัดไม่ได้
อโหสิกรรม … ถือว่าตัดได้
จะต้องขอเอง … ให้คนอื่นไปขอไม่ได้ ไม่พ้นจากกรรม
เราต้องของเอง ต้องอ่อนน้อม กล่าวคำสารภาพกับตัวเขา
เขาจึงจะอโหสิ งดโทษให้เรา…”
พระพุทธองค์ กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า …
เรามีกรรมเป็นของตน เรามีกรรมเป็นผู้ให้ยล เรามีกรรมเป็นแดนเกิด เรามีกรรมเป็นผู้ติดตาม
เรามีกรรมเป็นผู้อาศัย
กรรมอันใดที่ทำไว้ … ความดี หรือ ความชั่ว ตัวเราเป็นผู้รับผลกรรมนั้น”
“เวลาเราก็มีไม่มาก เกิดมาชาติหนึ่ง
เวลาสูญเปล่ามีมาก เวลาทำงานจริงๆ มีไม่มาก
เวลาสูญเปล่ามีตลอดชีวิต
เวลาเหลือน้อ จะทำอะไรก็ให้รีบทำ”
◉ ด้านวัตถุมงคล
เหรียญ ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา รุ่นแรก เรียกว่ารุ่น “บล็อกข้าวต้ม” ลักษณะเหรียญรูปไข่ ขอบเป็นเกลียว ด้านหน้าเป็นรูปแกะท่านเต็มตัวนั่งขัดสมาธิ สลักหน้าเหรียญว่า ครูบาชัยวงษ์ พระบาทข้าวต้ม ด้านหลังเหรียญสลักเป็นยันต์
เป็นเหรียญหลักแห่งเมืองลำพูน การสร้างทั้งหมดประมาณ ๑๒,๐๐๐ เหรียญ โดยบล็อกแรกเหรียญข้าวตม มีจํานวนการสร้าง ๕,๐๐๐ เหรียญ และเหรียญข้าวต้ม จํานวนการสร้าง ๗,๐๐๐ เหรียญ มีพุทธคุณทางด้านเมตตามหาลาภ ค้าขาย ทางธุรกิจการงานและแคล้วคลาด
เหรียญรุ่นแรกครูบาชัยวงค์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ปี พ.ศ.๒๕๐๙ บล็อกข้าวตม-ต้ม จัดสร้างเพื่อสมทบทุนจัดสร้างศาลายาว ๕๔ ห้อง (จำนวนห้องเท่ากับจำนวนหลวงปู่ครูบาวงค์ ท่านเกิดปี พ.ศ.๒๔๕๖ในขณะนั้น ปี พ.ศ.๒๕๐๙ อายุ ๕๔ ปี) หลวงปู่เมตตาอธิฐานจิตเดี่ยว และได้นำเหรียญรุ่นแรก ทั้ง ๒ บล็อกข้าวตมและต้ม
บล็อกข้าวตม เป็นเนื้อทองแดงผิวไฟ เกิดจากการแกะบล็อกผิดพลาดครั้งแรกช่างลืมแกะไม้โท
บล็อกข้าวต้ม เป็นบล็อกที่ได้รับการแก้ไข้ข้อผิดพลาดโดยการแกะ ไม้โทเพิ่ม เป็นข้าวต้ม หลวงปู่สั่งทำเป็นเหรียญกะไหล่ทอง
เข้าร่วมปลุกเสกเพิ่มในพิธีตั้งธรรมหลวงเทศมหาชาติ ปลุกเสกด้วยคาถาพัน โดยสุดยอดเกจิคณาจารย์ที่หลวงปู่นิมนต์มาเทศพลัดเวียนกันสวดเจริญพุทธมนต์เทศธรรมหลวงมหาชาติ ถือเป็นสุดยอดแห่งพระคาถา
○ การเตรียมพิธีตั้งธรรมหลวง
ก่อนการจัดพิธีตั้งธรรมหลวง พระเณรและชาวบ้านต้องช่วยกันเตรียมงานเป็นการใหญ่ ล่วงหน้าอย่างน้อยเป็นเดือน เพราะต้องเตรียมการในหลายส่วน เช่น การ “ตกธรรม” คือการไปนิมนต์พระเสียงดีมาเทศน์ การตกแต่งสถานที่ การทำรั้วราชวัตร ประตูป่า ประดับโครงซุ้มด้วยทางมะพร้าว ประดับด้วยฉัตร ธง ช่อช้าง ต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นข่า ต้นกุก มาปักไว้ให้ดูเหมือนกับประตูเข้าป่า การที่จัดทำประตูป่านี้ คาดว่าคงจำลองมาจากเรื่องในเวสสันดรชาดก คือตอนที่พระเวสสันดรถูกขับให้ออกจากเมือง พร้อมทั้งพระมเหสีและโอรสธิดา จึงพากันเข้าไปอยู่ในป่าเพื่อบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญบารมี เมื่อไปถึงประตูป่าที่มีพรานเจตบุตรเป็นผู้เฝ้า ได้ชี้ทางไปเขาวงกตให้และอาจมีการจำลองเขาวงกตไว้ภายในวัดให้ได้เดินเล่น โดยตรงกลางเขาวงกตจะมีแท่นบูชาพระพุทธรูปอยู่ หากหลงก็วนเวียนอบยู่จนกว่าจะเข้าไปสักการะพระพุทธรูปได้ จึงเป็นที่สนุกสนานของผู้ที่มาร่วมทำบุญ
สถานที่ใช้ในการ ตั้งธรรมหลวง จะนิยมใช้วิหาร ภายในจะต้องตกแต่งไปด้วยเครื่องบูชาเวสสันดรชาดก ได้แก่ ดอกบัว ดอกพ้าน(บัวสาย) ช่อสามเหลี่ยม ติดกนะดาษต้อง(กระดาษฉลุ) รูปช้าง ม้า วัว ควาย ทาสหญิง ทาสชาย แก้ว แหวน เงิน ทอง อย่างละ ๑๐๐ รูป ประดับโคมผัดที่เล่าเรื่องเวสสันดรชาดก มีการทำค้างโคมแขวนบูชา มีเชือกสำหรับดึงขึ้นลงได้ จึงเรียกว่า โคมล้อ ล้อ หมายถึงรอกที่ใช้สำหรับชักเชือกขึ้นลงเพื่อจุดประทีสบูชา
ส่วนธรรมมาสน์สำหรับเป็นที่นั่งเทศน์ของพระสงฆ์ก็จะประดับตกแต่งด้วยม่าน และห้อยดอกพัน ที่อยู่ใน หับดอก ที่สานโดยแตะไม้ไผ่ประกบกัน ดอกไม้พันดอก หรือ สหสสฺปุปฺผานิ เป็นเครื่องบูชาพระธรรม บูชาพระคาถาจำนวน ๑,๐๐๐ พระคาถา ที่เรียกว่า สหสฺสคาถา ดอกไม้ที่นิยมได้แก่ดอกกาสะลอง ดอกจีหุบ(มณฑา) ดอกสารภี เป็นต้น ดอกไม้เหล่านี้เป็นดอกไม้หอมทำช่วยให้บรรยากาศเหมือนอยู่ในป่าหิมพานต์ที่พระเวสสันดรบำเพ็ญบารมีอยู่ที่นั่น ส่วนด้านข้างก็จะมีการจำลองเป็นป่าหิมพานต์ ปัจจุบันมีการตกแต่งด้วยซุ้มต้นไม้ดอกไม้ใส่กระถางไปประดับตกแต่งให้งดงาม
ด้านข้างพระประธานในวิหารก็จะมีการอ่างน้ำมนต์ โดยใช้น้ำมันงา หรือน้ำมันมะพร้าว ใส่ลงไป โยงสายสิญจน์จากพระประธาน ไปยังธรรมมาสน์ โยงมาพันที่อ่างน้ำมนต์สามรอบ แล้วโยงกลับไปยังธรรมมาสน์ให้พระถือไว้ขณะเทศน์กัณฑ์ต่างๆ เชื่อว่าอานุภาพของการเทศน์ตั้งธรรมหลวงจะทำให้น้ำมนต์นี้ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ทาแผล แก้ปวดเคล็ดขัดยอก แก้ผื่นคัน และเชื่อว่าจะทำให้อยู่ยงคงกระพัน
○ ลำดับพิธีการตั้งธัมม์หลวง
เกี่ยวกับลำดับพิธีการตั้งธัมม์หลวงนี้ ประมวลจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ(๒๕๔๒, หน้า ๒๓๕๖) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มณี พยอมยงค์ (๒๕๔๗, หน้า ๒๖๐) และชูเกียรติ วงศ์รักษ์ (๒๕๓๙, หน้า ๔๔) และพระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ) (สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
○ วันแรก
วันแรก ในการเทศน์ นิยมเทศน์ในวันเดือนยี่เหนือขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น ศรัทธาชาวบ้านจะมาฟังเทศน์คาถาพัน คือเรื่องราวของเวสสันดรชาดกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นภาษาบาลี รวมทั้งหมดมี ๑,๐๐๐ พระคาถา และเทศน์คัมภีร์ต่อไปอีก คือ คัมภีร์มาลัยต้น มาลัยปลายและอานิสงส์เวสสันตระ และธัมม์ไขวิบากเวสสันตระ
คาถาพัน หรือสหัสสคาถา คือคำบาลีที่แต่งด้วยฉันทลักษณ์ต่างๆ กล่าวเรื่องย่อของพระเวสสันดรตั้งแต่ต้นจนจบ
คัมภีร์มาลัยต้น กล่าวถึงพระมาลัยเถร พระสงฆ์ชาวลังกาเป็นพระอรหันต์ เดินทางไปเยี่ยมนรก ได้พบพญายมราชและเห็นสัตว์นรกจำนวนมาก พญายมราชบอกกับพระมาลัยว่า การทำบุญทำทาน การฟังเทศน์ และอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตายนั้น อาจทำให้ผู้ที่อยู่ในนรกพ้นจากความทุกข์ได้
คัมภีร์มาลัยปลาย กล่าวถึงพระมาลัยเดินทางไปสวรรค์ ได้พบพระอริยะเมตไตรเทวบุตร ผู้ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป พระมาลัยถามว่า ทำอย่างไรจะได้ร่วมศาสนากับพระศรีอริยะเมตไตร ได้คำตอบว่า ผู้ที่ได้สดับฟังการเทศมหาชาติตั้งแต่ต้นจนจบจะได้พบกับศาสนาพระศรีอริยะเมตไตรพุทธเจ้า
ธัมม์อานิสงส์เวสสันตระและธัมม์ไขวิบากเวสสันตระ กล่าวถึงอานิสงส์ต่างๆของการฟังเทศน์มหาชาติ รวมถึงการได้อยู่ร่วมพระศาสนาของพระศรีอริยะเมตไตร และชาติต่างๆของพระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี ชูชก จึงทำให้เกิดเป็นเรื่องราวพระเวสสันดรชาดกชาติสุดท้ายก่อนเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในยุคปัจจุบัน
○ วันที่สอง
วันที่สอง รุ่งขึ้นวันเดือนยี่เหนือเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเช้าตรู่จะเริ่มฟังกัณฑ์ทศพรและกัณฑ์ต่อ ๆ มาตามลำดับ มีเวลาพักตักบาตรตอนเช้าและฉันเพล จากนั้นเทศน์ติดต่อกัน การฟังเทศน์และเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์ สามารถเป็นเจ้าภาพร่วมกันหรือฟังแบบสืบชาตาต่ออายุ ตามปีเกิดของแต่ละคน เมื่อเทศน์กัณฑ์ใด ให้เจ้าภาพของกัณฑ์จุดธูปเทียน (ผางประทีส) เท่าจำนวนพระคาถา เพื่อบูชาคาถาของกัณฑ์นั้น จนครบคาถา ดังนี้
๑. กัณฑ์ทศพร มี ๑๙ คาถา ปีใจ้(ปีชวด)
๒. กัณฑ์หิมพาน มี ๑๓๔ คาถา ปีเป้า(ฉลู)
๓. ทานกัณฑ์ มี ๒๐๙ คาถา ปียี(ปีขาล)
๔. กัณฑ์ประเวสน์ มี ๕๗ คาถา ปีเหม้า(ปีเถาะ)
๕. กัณฑ์ชูชก มี ๗๙ คาถา ปีสี(ปีมะโรง)
๖. กัณฑ์จุลพล มี ๑๕ คาถา ปีใส้(ปีมะเส็ง)
๗. กัณฑ์มหาพน มี ๘๐ คาถา ปีสะง้า(ปีมะเมีย)
๘. กัณฑ์กุมาร มี ๑๐ คาถา ปีเม็ด(ปีมะแม)
๙. กัณฑ์มัทรี มี ๙๐ คาถา ปีสัน(ปีวอก)
๑๐. กัณฑ์สักกบรรพ มี ๔๓ คาถา ปีเร้า(ปีระกา)
๑๑. กัณฑ์มหาราช มี ๖๙ คาถา ปีเส็ด(ปีจอ)
๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์ มี ๓๙ คาถา ปีใค้(ปีกุน)
๑๓. นครกัณฑ์ มี ๔๘ คาถา ทุกปีเป็นเจ้าภาพร่วมกัน
รวมทั้งหมด ๑,๐๐๐ คาถา
เหรียญสุดยอดประสบการณ์ของหลวงปู่ครูบาวงค์