ประวัติและปฏิปทา
ครูบาคำพันธุ์ คัมภีรญาโณ
วัดคลองแจง (วัดเขาแจงเบง)
อ.สอยดาว จ.จันทบุรี
ท่านครูบาคำพันธุ์ จัดได้ว่าเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง ท่านเป็นศิษย์ของ ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย แห่งวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี
ท่านครูบาคำพันธุ์ เป็นพระภิกษุสงฆ์ที่มีจริยวัตรงดงามมาก จิตใจอ่อนโยน มีเมตตา ยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา กิริยาวาจาก็ละมุนละไม สมกับเป็นผู้นําหมู่คณะ
การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ท่านได้รับถ่ายทอดมาจาก พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ซึ่งเป็นศิษย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต องค์หนึ่ง
นอกจากนี้แล้ว คุณธรรมที่ท่านได้รับมาจาก หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านพระอาจารย์สมชาย ก็ได้เมตตาสอนท่านพระอาจารย์คำพันธุ์ ในการมุ่งปฏิบัติถือเป็น แบบอย่างตามธรรมนั้น จนเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันว่า ท่านพระอาจารย์คำพันธุ์ มีคุณวุฒิและวัยวุฒิ ที่สืบต่อจากพระอาจารย์สมชาย ในกาลข้างหน้าอย่างแน่นอน ธรรมทั้งปวง มิได้หมายจําเพาะเจาะจงให้แก่ผู้ใด แต่ธรรมะจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยปฏิบัติและอํานาจบารมี
บัดนี้ การปฏิบัติทางจิตของ ครูบาคำพันธุ์ สามารถเลี้ยงตนเองได้แล้ว เชื่อว่ารักษาความดีงามนั้นได้ด้วยชีวิต
ท่านพระอาจารย์สมชาย ได้ให้ไปตั้งสํานักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งในเขตชายแดนไทย ชื่อว่า สํานักสงฆ์เขาแจงเบง ต.สตรอน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี (ปัจจุบันคือ วัดคลองแจง (วัดเขาแจงเบง))
ครูบาคำพันธุ์ คัมภีรญาโณ ท่านได้ถือกําเนิดในตระกูล “นามูลทัศน์” ณ หมู่บ้านดงบัง หมู่ ๘ ต.ท่าคันโท อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ เกิดวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ปีมะเส็ง บิดาท่านชื่อ นายไทย นามูลทัศน์ และมารดาชื่อ นางเคน นามูลทัศน์ ท่านเป็นคนสุดท้องในจํานวนพี่น้อง ๓ คน
ครูบาคำพันธุ์ สมัยเป็นฆราวาส ท่านช่วยบิดามารดา ทํากิจการงานบ้านอย่างแข็งขัน ไม่อิดเอื้อนขณะทํางาน จนเป็นที่รักและวางใจมากเป็นพิเศษ
ต่อมาอายุท่านได้ ๒๑ ปี ท่าน ตั้งความปรารถนาที่จะบวช แต่วิบากกรรมยังไม่สิ้น ทําให้ล้มป่วยอย่างหนักแทบเอาชีวิตไม่รอด ทุกขเวทนาเกินกําลังจนต้อง สลบไป จิตส่วนหนึ่งได้อธิษฐานว่า “ขอให้เราหายป่วย เราจะบวชอย่างหลวงปู่มั่นและหลวงปู่เสาร์ เมื่อบวชแล้วได้ปฏิบัติสัก ๑๐ ปี จะตายก็ไม่ว่าไม่เสียดายเลย” แล้วอาการป่วยก็หายไปจริง ๆ…
บิดามารดาจึงนํามาเพื่ออุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดคามวาสี ต.ตาลเนิ้ง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
โดยมี พระครูพุฒิวรคม (หลวงปู่พุฒิ ยโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สาน ปัญญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา “คัมภีรญาโณ”
เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว บุญวาสนาก็บันดาลให้ได้พบ พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ที่ วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร เนื่องในงานฌาปนกิจศพของ หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ และได้ฝากตัวเป็นศิษย์ที่ ถ้ำเป็ด ติดตามท่านพระอาจารย์สมชาย ออกเดินธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ แล้วยังได้ย้อนกลับมาที่ จ.อุดรธานี ร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ที่ วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี
จากนั้นได้มาอยู่ปฏิบัติธรรม จําพรรษาที่ จ.จันทบุรี ที่ วัดเนินดินแดง ต่อมาได้ไปอยู่จําพรรษาที่ วัดเขาสุกิม
ครูบาคำพันธุ์ คัมภีรญาโณ ท่านเป็นศิษย์องค์หนึ่ง ที่ได้ถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ และได้รับแนะนําอุบายธรรมจากพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย เป็นอันมาก ธรรมะ ที่เกิดจากการปฏิบัตินั้น ท่านได้นํามาเป็นเครื่องดําเนินจิตต่อไป
ครูบาคำพันธุ์ คัมภิรญาโณ ท่านเป็นพระภิกษุหนุ่ม ที่มีประสบการณ์ในภาคปฏิบัติ ธรรมอยู่มาก เพราะว่าท่านได้ติดตามท่าน พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ออกเดินธุดงคกรรมฐานมาโดยตลอด และมีความสนใจเป็นพิเศษ สมัยเป็นเด็กอยู่ด้วย
ครูบาคำพันธุ์ เป็นพระที่มีอัธยาศัยจิตใจดี มีเมตตา วาจาก็ไพเราะ อารมณ์จิตแจ่มใส ตลอดเวลาสมกับเป็นผู้นําของ บรรดาพุทธบริษัทต่อไป
ครูบาคำพันธุ์ ท่านเคยแสดงธรรมะชนะจิตใจของ ชาวกรุงเทพฯ มาแล้ว ท่านมีการสอนที่สามารถยกเหตุยกผล ให้เป็นเรื่องเด่นชัด และได้น้อมนําธรรมปฏิบัติ จากท่านพระอาจารย์ สมชายเป็นแม่บท
ท่านเทศนาธรรมว่า..
“ขอให้โยมทั้งหลาย จงจําไว้ว่า การปฏิบัติภาวนานี้ เพื่อขจัดขัดเกลากิเลส ที่มีอยู่ฝังอยู่ภายในจิตใจของพวกเราทั้งหลาย ได้ออกไปสิ้นไป
การปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องอาศัยสติ ที่ควบคู่กับจิต ส่วนการพิจารณาจงอย่า พิจารณาไกลตัว ธรรมทั้งปวงไม่ ต้องมองที่อื่น มองลงมาในตัว วัดจิตใจตนเองให้ขาวรอบบริสุทธิ์ จริง ๆ ก็ดีแล้วนะโยม”
ครูบาคำพันธุ์ คัมภีรญาโณ ท่านได้ติดตาม ท่านพระอาจารย์สมชาย (ในครั้งนั้น คณะศิษย์ติดตามจํานวน ๑๐ รูป) ไปในที่ทุกแห่งเพื่อขอปฏิบัติธรรม อยู่กับท่านเท่านั้น ในที่สุด ท่านพระอาจารย์คำพันธุ์ ได้มาอยู่เป็นเจ้าอาวาส วัดเขาสุกิม โดยการแต่งตั้งอันถูกต้อง ท่านได้อยู่ช่วยกิจวัตรต่าง ๆ ของท่านพระอาจารย์สมชายได้ มากมาย อีกทั้งยังได้มีหน้าที่ต้อนรับขับสู้คณะญาติโยมที่เดินทางมา จากแดนไกลแต่ละวันไม่เคยว่างเว้น
จริยนิสัยอันนุ่มนวลอ่อนโยน วาจาที่ทักทายก็มีแต่ความจับใจ จิตใจก็เต็มไปด้วยความเมตตา กรุณาอย่างเด่นชัดนี้ บุคคลจํานวนมากได้กล่าวเป็นเสียงเดียว กันว่า “ท่านพระอาจารย์สมชาย มีผู้สืบต่อแนวทางธรรมแล้ว และเป็นทายาทต่อไป”
บัดนี้ครูบาคำพันธุ์ เปรียบดังดอกปทุมชาติที่พ้นโคลนตมแล้ว จะไม่กลับคืนไปยัง โคลนตมอีกต่อไป อุปมาเหมือนพระโยคาวจรผู้ประพฤติพากเพียรประโยคพยายาม ย่อม พิจารณาซึ่งสิ่งสกปรกน่าเกลียด จิตจึงพ้นสิ่งสกปรกน่าเกลียดนั้น ได้ฉันใด ครูบาคำพันธุ์ ก็ฉันนั้น
ครูบาคำพันธุ์ คัมภีรญาโณ ท่านจึงเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง ที่สืบสาย ปฏิบัติธรรมจาก พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ผู้พระอาจารย์ ของท่านโดยแท้ ๆ