วันเสาร์, 11 มกราคม 2568

หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป วัดป่าปทีปปุญญาราม เทพเจ้าแห่งบ้านเซือม

ประวัติ หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป วัดป่าปทีปปุญญาราม ต.เซือม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร

หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป วัดป่าปทีปปุญญาราม

จากเด็กบวชเณรหน้าไฟวัย ๑๐ ขวบ บุญสร้างกุศลนำ ทําบาปไม่ขึ้น มองเห็น สัจจะชีวิตจนล่วงรู้ข้อธรรมทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ติดสอยห้อยตามแม่ทัพธรรมภาคอีสาน หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จนละสังขาร ฝากชีวิตอุทิศพระศาสนา

บ่นท่องปาติโมกข์จนขึ้นใจ มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นพระป่าสายหลวงปู่มั่น ที่งามด้วยปฏิปทา เป็นเนื้อนาบุญเขตต์แหล่งธารบุญ

หลวงปู่ผ่าน ปญญาปทีโป วัดป่าปทีปปุญญาราม บ้านเชื่อม ต.โพนแพง อ.อากาศอํานวยจ.สกลนคร

หลวงปู่ผ่าน ท่านมีนามเดิมว่า ผ่าน หัตถสาร เกิดเมื่อ วันพฤหัสบดีขึ้น ๔ ค่ํา เดือนยี่ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๘๔ ตรงกับวันที่ ๒๑ ธ.ค. ๒๔๖๕ ที่บ้านเชื่อม เป็นบุตรของโยมพ่อต่าง โยมแม่จันทร์เพ็ง มีพี่น้องร่วมอุทร ๑๓ คน

ตอนเป็นเด็กโยมมารดาตั้งครรภ์ ได้ฝันว่าได้มีดด้ามงาแล้วก็เอาไปซ่อนไว้เพราะกลัวคนเห็น ครั้นเมื่อคลอดออกมาแล้วปรากฏว่าท่านเลี้ยงยาก ร้องไห้เก่งจึงนําไปให้พระผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือ จึงเลี้ยงง่าย เมื่อโตขึ้นมาก็ช่วยพ่อแม่ทําไร่ไถนาหา กินตามปกติวิสัย

หลวงปู่ผ่าน มีนิสัยเฉยๆ เป่าปี่สีซอ เป่าแคนอย่างเพื่อนและคนอื่นไม่เป็น ไม่เคยเต้นรําวง ไม่ชอบกินเหล้าเมาสุรา ไปหว่านแหหาปลาและยิงนกก็ไม่เคยได้กับเขาสักครั้งผิดกับคนอื่นและนิสัยเป็นอย่างนี้มาแต่เกิดแล้ว มีใจใฝ่รสพระธรรมแต่ครั้งบวชหน้าไฟให้กับพ่อเฒ่าสุขผู้มีคุณในหมู่บ้านด้วยวัย เพียง ๑๐ ปีแล้วก็บวชหน้าไฟอีกหลายครั้ง

ปีพ.ศ. ๒๔๘๐ ขณะอายุ ๑๕ ปีจึงบรรพชาเป็นสามเณรที่บ้านอากาศ โดยมีพระครูวิรุฬห์นวกิจ (ผาง ฐิตสัทโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ และสอบได้นักธรรมชั้นตรี ลุถึงพ.ศ. ๒๔๘๓ เพื่อนที่บวชด้วยกัน ชวนท่านสึก แม้ใจไม่ปรารถนาก็จําใจสึกออกมา ช่วยพ่อแม่ทํานาทําไร่ ๒ ปี

ล่วงถึงปีพ.ศ. ๒๔๘๕ พ่อใหญ่ป้อง เศรษฐาไชย พ่อเลี้ยงของหลวงปู่เสียชีวิต จึงได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้งที่วัดทุ่ง โดยมีพระอุปัชฌาย์รูปเดิม ได้รับฉายาว่า “เฉโก” แปลว่าผู้ฉลาดหลักแหลม

บวชแล้วไปอยู่ที่วัดศรีบุญชู บ้านเซือม เรียนนักธรรมโทด้วยตนเองจนสามารถสอบได้ ถึงพ.ศ. ๒๔๘๘ เรียนนักธรรมเอกแต่สอบตกจึงไม่สอบอีก ในช่วงปีนี้ เอง วันหนึ่งได้เข้าป่าไปหาไม้มาสร้างกุฏิจนเลยเพล ชาวบ้านนําอาหารมาถวาย พระเณรฉันเกือบทุกรูป เว้นแต่ท่านและเจ้าอาวาสเท่านั้น

หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป วัดป่าปทีปปุญญาราม

เมื่อเห็นความประพฤติย่อหย่อนของพระภิกษุสงฆ์ ทั้งขุดดิน ตัดต้นไม้ ดายหญ้า รับเงิน รับทอง แต่หลวงปู่หาได้ทําตามไม่ เพราะตั้งใจรักษาธรรมวินัยมิให้ผิด เพี้ยน จึงตั้งจิตอธิษฐานยึดแนวปฏิบัติตามแบบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เป็นที่ตั้ง

ซึ่งห้วงนั้นกิตติศัพท์หลวงปู่มั่นเลื่องลือไม่มีหยุดหย่อน

ครั้นถึงปีพ.ศ. ๒๔๘๙ แสงสว่างในใจยิ่งปรากฏชัดขึ้น เมื่อได้มีโอกาสเข้ากราบหลวงปู่อุ่น อุตตโม (พระครูบริบาลสังฆกิจ) ที่วัดอุดมรัตนาราม บ้านอากาศ ซึ่งเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น แล้วไปแจ้งความประสงค์ขอบวชสายธรรมยุต หลวงปู่อุ่นได้บอกให้ท่านลาสึกแล้ว ให้นุ่งขาวห่มขาวเพื่อหัดท่องขานนาคเป็น เวลา ๓ เดือน

เกี่ยวกับการนี้ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม กล่าวว่าถ้าผิดอักขรฐานกรณ์แล้วจะเป็นอักขรวิบัติ ทําให้ภาวนายากมีอุปสรรคขัดข้องอยู่เสมอ จึงต้องทําญัตติจตุตถกรรมซ้ําอีก จึงภาวนาได้สะดวกราบรื่น

ย่างเข้าปีพ.ศ. ๒๔๙๐ เมื่อพร้อมจะบวชจึงได้เดินทางไปกับเพื่อนนาคหลายท่านเพื่อไปบวชกับท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ที่วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี ปรากฏว่าท่านเจ้าคุณจูมเดินทางไปกรุงเทพเพื่อร่วมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๘ จึงพากันไปบวชที่วัดจอมศรี อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี โดยมีพระครูพิทักษ์คณานุการ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ปญญาปทีโป” แปลว่า ผู้มีปัญญา ใหมือนแสงสว่าง

บวชแล้วกลับมาศึกษาข้อกรรมฐานกับหลวงปู่อุ่น ตั้งแต่วิธีนั่งภาวนา เดินจงกรมเสริมด้วยปริยัติ ระหว่างนั้นหลวงปู่อุ่นได้พาเข้ากราบหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ไปๆมาๆอยู่ ๒-๓ ครั้ง ครั้งหนึ่งพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร วัดเทพประดิษฐาราม นครพนม ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่นมาเยี่ยมหลวงปู่อุ่น โดยท่านจําพรรษาที่บ้านม่วงไข่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โดยมีสามเณรวัน (ต่อ มาคือพระอาจารย์วัน อุตตโม) วัดถ้ําอภัยดํารงธรรม เป็นกัปปียการก

และต่อมาพระอาจารย์วังได้ไปจําพรรษาที่วัดป่าบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม และไปจําพรรษาที่ภูลังกาซึ่งเต็มไปด้วยความยากลําบากห่างไกลจากหมู่บ้าน ญาติโยมจึงต้องนําข้าวสารอาหารแห้ง ขึ้นไปส่งให้ถึงภู หลายวัน ไปสักครั้งหนึ่ง

ช่วงที่อยู่ภูลังกานี้มีศิษย์หลายคนเข้าไปศึกษาธรรมกับพระอาจารย์วัง อาทิ หลวงพ่อชา สุภัทโท, พระอาจารย์วัน อุตตโม, หลวงปู่โง่น โสรโย, หลวงปู่คําพันธ์ จันทูปโม วัดศรีวิชัย

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้พาสามเณรรูปหนึ่งไปกราบหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ หลวงปู่ผ่านเป็นพระผู้น้อยเพียง ๑ พรรษา ได้ถูหลังถูเท้า หลวงปู่มั่น ในครั้งนั้นมีพระเณรกว่า ๒๐ รูป อาทิ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร, พระอาจารย์วัน อุตตโม, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, หลวงปู่ คําพอง ติสโส เป็นต้น

ร่วมศึกษาข้อวิปัสสนากับหลวงปู่มั่น ท่านอยู่ฝึกจิตกับพระอาจารย์มั่น นานพอสมควรแล้วก็รีบลามาพักที่บ้านนาใน โดยมีหลวงปู่นิล หลวงปู่สม และหลวงปู่จ้อยมาด้วย เวลานั่งสมาธิบางที่จิตรวมลงเอกัคคตาแล้วก็ล้มไป แต่หลวงปู่ผ่านก็ไม่ลดถอยวิริยะอุตสาหะ คืนหนึ่งได้ยินเสียงพระอาจารย์มั่น เทศน์ว่า

“บ่มหมากมี่ (ขนุน) ให้แทงหัว แทงกลาง แทงกัน”

หลวงปู่ผ่านครุ่นคิดปริศนาธรรมอยู่พักใหญ่ จนแน่ใจว่าแทงหัวหมายถึงบ่มตัวเราเอง คือให้ภาวนา อบรมบ่มนิสัยเหมือนอย่างพวกแตง เมื่อคิดได้ดังนั้น จึงหมั่นฝึกฝนจนจิตเริ่มกล้าแกร่งขึ้นตามลําดับ กระทั่งใกล้เข้าพรรษาจึงกลับไปหาหลวงปู่มั่นที่วัดบ้านหนองผือ แล้วกราบลาพระอาจารย์มุ่งสู่วัดบ้านหนองโดน อ.พรรณานิคม กับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เพื่อฝึกจิตขั้นต่อไป

ออกพรรษาแล้วลาหลวงปู่อ่อน มาอยู่ที่วัดบ้านม่วงไข่กับพระอาจารย์สิงห์ ซึ่งท่านสั่งให้ท่องปาติโมกข์ หลวงปู่ท่องอยู่ ๓ เดือนจึงจําขึ้นใจ สวดได้แต่นั้นมา

พรรษาต่อมาได้พักที่วัดหนองโดน วันหนึ่งออกจากสมาธิแล้วเห็นตัวบุ้งคืบตัวเล็กๆ คลานอยู่ตรงหน้า จึงสงสัยว่า

“บุ้งตัวเล็กๆ นี้จิตมันใหญ่ไหม ช้างตัวใหญ่ จิตมันเล็กไหมหรือว่าเท่ากัน”

หลังจากออกพรรษาแล้วได้ไปอยู่กับพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ ได้ฟังเทศน์ตอนหนึ่งว่า

“บุ้งตัวน้อยๆ ช้างตัวใหญ่ๆ จิตมันก็เท่ากันนั้นแหละ”

จึงหายสงสัยเกิดความอัศจรรย์ใจ ไม่คิดนอกทาง ตั้งใจเดินจงกรมภาวนาเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่คิดย่อท้อหวนคืนสู่เพศฆราวาสอีกเลย

ปีพ.ศ. ๒๔๘๒ หลวงปู่มั่น แม่ทัพธรรมภาคอีสาน ได้อาพาธและพักอยู่ที่วัดป่าบ้านภู่ ระหว่างนี้หลวงปู่ผ่านได้เข้าไปถวายการพยาบาลอยู่หลายวัน จนกระทั่งได้มีรถมารับไปสกลนคร และหลวงปู่มั่นได้มรณภาพที่ วัดป่าสุทธาวาส หลวงปู่ผ่านในฐานะลูกศิษย์รูปหนึ่งจึงมีโอกาสเข้าไปถวายการปรนนิบัติครูบาอาจารย์เป็นครั้ง สุดท้าย

หลังจากงานประชุมเพลิงศพท่านอาจารย์มั่นแล้ว ช่วงเดือนมี.ค. ๒๔๙๓ หลวงปู่ผ่าน พร้อมด้วยพระอาจารย์คําพอง ติสโส และสามเณรจํานวนหนึ่งได้ติดตามพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไปหาพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ก่อนที่จะไปวัดป่าบ้านท่าควาย จ.นครพนม ซึ่งที่นี่พระอาจารย์ฝั้นเร่งความเพียรอย่างหนัก วันๆ หนึ่งจะฉันนมเพียงแก้วเดียวกับขนมปัง ๑ ชิ้น

หลวงปู่ผ่านและพระเณรพากันฉันวันเว้นวัน และธุดงค์ไปหลายแห่ง ทั้งภูวัว ถ้ําแอ่น ภายหลังหลวงปู่ผ่านมาอยู่ที่ วัดป่าปทีปปุญญาราม ได้เกิดนิมิตเห็นควายเดินออกจากถ้ําจึงกําหนดจิตถามว่าทําไมจึงมีควายเดินออกมาจากถ้ําแอ่น ก็เกิดความรู้ขึ้นว่า อดีตชาติท่านเคยเป็นควายและอยู่ที่ถ้ําแห่งนี้

หลวงปู่เล่าว่า ตอนที่มาอยู่ที่นี่ (วัดป่าปทีป) บรรดาปีศาจที่อาศัยอยู่พากันมาถวายสถานที่ให้ท่าน แล้วก็หนีไปอยู่ที่อื่น สถานที่แห่งนี้เดิมเป็นป่าช้า ต่อมามีโยมถวายที่ดินเพิ่ม จึงตั้งชื่อว่าวัดป่าปทีปปุญญาราม เพื่อเป็นที่ระลึกแก่โยมผู้ถวายที่ดิน

จากนั้นก็ธุดงค์ไปหลายแห่ง จนกระทั้งปีพ.ศ. ๒๕๒๘ ท่านได้ไปกราบหลวงปู่หลุย จันทสาโร ที่ภูทอก จ.หนองคาย (ปัจจุบัน จ.บึงกาฬ) หลวงปู่หลุยถามว่าท่านคือใคร จึงตอบว่าชื่อผ่าน หลวงปู่หลุยถึงกับอุทานออกมาด้วยปีติ

ลงจากภูทอกหลวงปู่ก็นั่งภาวนาอยู่ข้างล่าง พอจิตเป็นเอกัคคตา ปรากฏเห็นต้นไม้ที่ภูทอกนั้น ตายหมด ท่านว่าทําไมหนอ จึงกลับมายังวัดป่าปทีปภาวนาดูก็เห็นต้นไม้ในวัดเป็นเช่นนี้อีก จึงรู้ว่า

“โลกนี้แผ่นดินนี้มีมาอยู่ก่อนแล้ว แต่ใครมาเกิด อยู่ที่ไหนก็มายึดถือเอาว่าเป็นของเรา ไร่เรา นาเรา ยื้อแย่งกันอยู่อย่างนั้น สัตว์ในโลกจึงออกจากวัฏสงสารไม่ได้ เราไม่เอาหรอก”

แล้วคิดต่อไปว่า “เราบวชอยู่นี้กินข้าวชาวบ้านมันบาปนะ พระพุทธเจ้าตรัสว่าบุคคลใดบวชแล้วไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติธรรม กินข้าวชาวบ้านนั้นกินเหล็กแดงดีกว่า”

จากนั้นก็เพ่งดูกระดูกเป็นอสุภสัญญา เกิดเสียงขึ้นมาทางโสตประสาทว่า

“ให้ถึงสุตธรรม”

ท่านจึงพิจารณาดูได้ความว่า สุตธรรม คือ ผู้สดับธรรมครั้งแรก รู้ขึ้นมาในจิต เรื่อง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์คือ ชาติ ความเกิด เป็นทุกข์ ชรา ความแก่เป็นทุกข์ มรณะ ความตายเป็นทุกข์

ท่านเพ่งพิจารณากระดูกเป็นอารมณ์กรรมฐานอยู่อย่างนั้น จนจิตสงบนิ่งปรากฎนิมิตว่าตัวท่านลอยขึ้นๆ มองลงมาแผ่นดินไม่มีบ้านเรือน มีแต่หิน ภูเขา ได้ยินเสียงหลวงปู่มั่นมาเตือนสติ หลวงปู่จึง ล่วงรู้ว่ายังมีกามะอยู่ ละกิเลสอย่างหยาบได้แต่ยังละ กิเลสอย่างละเอียดที่เรียกว่าอนุสัยไม่ได้

จากนั้นจึงเร่งพิจารณาความเกิด แก่ เจ็บตาย เรื่อยไป คราวนี้ลอยขึ้นสูงอีกมองลงมาเห็นมหาสมุทร มองขึ้นไปด้านบนเห็นแสงสว่าง ท่านลอย ขึ้นไปจนพบถ้ําใหญ่ภายในถ้ํามีโบสถ์และมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งเทศน์ได้ เทศน์เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย

หลวงปู่พิจารณาตามเห็นเทวทูตทั้ง ๔ ภายในถ้ําแห่งนี้ มีทั้งเด็ก คนหนุ่มสาว คนชรา พากันเดินไปเรื่อยๆ แล้วก็เกิดแก่เจ็บตายวนเวียนอยู่อย่างนี้

ท่านน้อมจิตเข้าไปๆลงสู่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คิดว่าตัวเราก็ต้องตายเหมือนกัน แล้วกําหนดเอาไฟเผาตัวท่านเอง พิจารณาอัฐิสัญญาอยู่ที่หน้าโบสถ์ นั้นทุกวันๆ ยังไม่ได้เข้าโบสถ์

หลวงปู่ผ่านท่านออกโปรดสัตว์เป็นวัตร แล้วกลับมาฉัน ออกรับญาติโยมที่เข้ากราบศึกษาข้อธรรมทั้งวัน โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า

ยังรักษาศรัทธาชาวภูไทไว้มั่นเหมาะ เป็นเกราะกันภัย ไม้ใหญ่ยืนต้นงามสง่าแผ่ไพศาลท่ามกลางป่าคนสกลนคร

หลวงปู่ผ่าน เริ่มอาพาธด้วยโรคต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.สกลนคร อาการของหลวงปู่มีแต่ทรงกับทรุด หลวงปู่มีความประสงค์จะกลับไปรักษาตัวที่วัด ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ได้สั่งให้แพทย์พยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด ต่อมาความทราบถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดรับหลวงปู่ไว้เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์

จนวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๘.๐๐ น. หลวงปู่ผ่าน จึงได้ละสังขารด้วยอาการอันสงบ สิริรวมอายุได้ ๘๙ ปี ๖๔ พรรษา การจากไปของหลวงปู่ นับเป็นการสูญเสียพระเถระชั้นผู้ใหญ่อีกรูปหนึ่งของจังหวัดสกลนคร ที่มีพุทธศาสนิกชนให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก จากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของท่าน ทำให้วัดป่าปุญญาประทีปแห่งนี้ กลายเป็นศูนย์กลางแห่งความดี เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศ พากันหลั่งไหลมาที่วัดในแต่ละวันไม่ขาดสาย

หลวงปู่จากไปเพียงร่างกายเท่านั้น ส่วนคุณงามความดี บารมีธรรมะจะยังคงจารึกไว้ในความทรงจำของบรรดาศิษยานุศิษย์อยู่ตลอดเวลา

หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป วัดป่าปทีปปุญญาราม
เจดีย์ หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป
พิพิธภัณฑ์ หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป